fbpx

(สิทธิเสรีภาพของ) ประชาชนอยู่ตรงไหนในการกำกับดูแลสื่อ

เมื่อมีรายงานข่าวว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อร่าง พรบ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา การถกเถียงเรื่องการใช้กฎหมาย ‘กำกับดูแล’ สื่อก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางสภาวะที่ผู้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐยังถูกปิดกั้นและคุกคามอย่างต่อเนื่อง

หากพิจารณาจากเหตุผลที่ว่ากันว่ากฎหมายจะช่วยทำให้การกำกับดูแลตนเอง (self-regulation) ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเข้มแข็งมากขึ้นแล้ว โดยหลักการ การมีกฎหมายรับรองก็น่าจะช่วยให้โครงสร้างของกลไกการกำกับดูแลตนเองมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่

แต่เนื่องจากการทำงานของสื่อมวลชนเกี่ยวข้องกับการใช้และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง หากจะพิจารณา ‘เครื่องมือ’ ที่จะนำมาใช้เพียงอย่างเดียวก็ไม่น่าจะสามารถประเมินผลที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมได้อย่างครอบคลุม ผู้เขียนจึงอยากชวนพิจารณาบริบทและเงื่อนไขที่เครื่องมือนี้จะถูกนำมาใช้ ‘กำกับดูแล’ ด้วยว่ามีแนวโน้มจะช่วยป้องกันการแทรกแซงจากรัฐ รักษาความเป็นอิสระของสื่อ และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้มากขึ้น หรือจะกลายเป็นอำนาจรัฐจำแลงที่ยิ่งปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นของประชาชนเข้าไปอีก จากที่มีอุปสรรคทุกขั้นตอนอยู่แล้ว

‘มาตรฐาน’ แบบไหน? และ ‘จริยธรรม’ ของใคร?

แนวทางกำกับดูแลของสื่อเป็นผลผลิตของระบบสื่อ (media system) ที่ถูกกำหนดโดยระบอบการเมืองและคุณค่าที่สังคมนั้นๆ ยึดถือ หลายประเทศนำทฤษฎี ‘ความรับผิดชอบต่อสังคม’ มาเป็นฐานคิดในการดำเนินงานสื่อสารมวลชน และกำหนดแนวทางกำกับดูแลตนเอง แต่การตีความ ‘ความรับผิดชอบ (responsibility)’ และ ‘การแสดงความรับผิดรับชอบ (accountability)’ ก็แตกต่างกันไปตามลักษณะของการเมืองและสังคม

แม้ในยุโรปที่ว่ากันว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นคุณค่าทางสังคมที่ค่อนข้างจะลงหลักปักฐานแล้ว อำนาจรัฐในการกำกับดูแลสื่อของแต่ละประเทศก็ไม่เท่ากัน ในประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยมายาวนานและค่อนข้างเข้มแข็ง หนึ่งในคุณค่าหลักที่สังคมยึดถือ หรือเห็นว่าเป็นเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึงคือ การยอมรับความเป็นพหุนิยมและความหลากหลาย ดังนั้น แนวคิดหลักของการกำกับดูแลคือ การป้องกันไม่ให้รัฐเข้ามาครอบงำทางความคิดของประชาชน และแทรกแซงความเป็นอิสระของสื่อมวลชน แต่ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้สื่อมวลชนต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยสร้างพื้นที่การสื่อสารที่มีความเป็นพหุนิยมและความหลากหลาย ขณะที่ภาคส่วนการสื่อสารที่รัฐจำเป็นต้องแทรกแซงเพื่อรักษาประโยชน์ของสาธารณะอย่างกิจการแพร่ภาพกระจายเสียงหรือโทรคมนาคม รัฐก็จะต้องรักษาระยะห่างและไม่เข้ามาแทรกแซงด้านเนื้อหาเพื่อไม่ให้ถูกโจมตีได้ว่าปิดกั้นสิทธิการสื่อสารของพลเมือง

อย่างไรก็ตาม ในประเทศยุโรปที่เป็นประชาธิปไตยได้ไม่นาน ซึ่งสื่อมวลชนมีแนวโน้มในการทำงานหรือแสดงจุดยืนที่สอดคล้องกับทิศทางทางการเมือง หรือมีความสัมพันธ์กับผู้แสดงทางการเมืองอย่างใกล้ชิดและชัดเจน (political parallelism) แนวทางการกำกับดูแลสื่อ ไม่ว่าจะเป็นโดยรัฐ กลไกตลาด หรือองค์กรสื่อเอง ก็มีแนวโน้มที่จะปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ กลุ่มทุน และสื่อ มากกว่าที่จะคำนึงถึงสิทธิในการเข้าถึงข่าวสาร เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ความเป็นส่วนตัว และสิทธิผู้บริโภค

ด้วยเหตุนี้ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพิจารณาระบอบการเมือง และคุณค่าทางสังคมของไทยที่จะเป็นฐานคิดในการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพด้วยว่าสอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด คำที่มักถูกตีความอย่างกว้างขวางและคลุมเครือจนนำไปสู่การปิดกั้นการอภิปรายถกเถียงประเด็นที่มีผลกระทบต่อสาธารณะที่ผ่านมา อย่าง ‘จริยธรรม’ ‘ศีลธรรมอันดี’ ‘ความมั่นคง’ ‘ความสงบเรียบร้อย’ จะถูกนำไปนิยามอย่างไรในแนวทางกำกับดูแลตนเองของสื่อตามกฎหมายนี้ หรือแม้กระทั่งการระบุว่าสื่อมวลชนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐต้อง ‘คำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่สังกัด’ (ล้อตามมาตรา 35 วรรค 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560) ก็ยังคลุมเครือว่าสอดคล้องกับปรัชญาและจริยธรรมวิชาชีพสื่อในสังคมประชาธิปไตยอย่างไร

ที่สำคัญ ในบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบันที่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ยิ่งขยายกว้าง ไม่แปลกที่หลายฝ่ายจะตั้งข้อสังเกตว่า องค์กรกำกับดูแลและมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพที่อยู่ภายใต้ระบอบการเมืองที่ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ปราบปราม และปิดปากประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐ รวมถึงอุดมการณ์ที่กดทับและกีดกันผู้ที่มีความเห็นไม่สอดคล้องกับอำนาจนำในสังคม ก็ไม่น่าจะทำให้สื่อมวลชนมีอิสระในการตรวจสอบรัฐ และปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามบทบาทที่ควรจะเป็น แม้จะใช้ถ้อยคำที่ดูสมเหตุสมผลก็ตาม อีกทั้งยังไม่ช่วยให้สังคมได้ทำความเข้าใจและคลี่คลายความขัดแย้งร่วมกันได้

หากความขัดแย้งแบ่งขั้วยังคงขยายกว้างและฝังลึก รัฐเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องและความคับข้องของประชาชน แถมยังใช้นิติสงครามมาจัดการกับผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่ลดละ ไม่ว่าจะเป็นสื่อ ภาคประชาสังคม และคนทั่วไป ขณะที่ประชาชนก็ไม่ไว้วางใจรัฐและสถาบันที่มีอำนาจจนหมดศรัทธากับกระบวนการทางการเมือง ส่วนสื่อมวลชนก็ใช้ ‘ความเป็นกลาง’ เป็นข้ออ้างในการทำหน้าที่ ‘พยาน’ ที่เฝ้ามองความขัดแย้ง แต่ไม่สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงและมุมมองที่แตกต่างหลากหลายให้สังคมได้ร่วมกันทำความเข้าใจได้ ความชอบธรรมขององค์กรและกฎหมายที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยรัฐ ไม่ว่าทางตรงทางอ้อมก็จะถูกตั้งคำถามอยู่เนืองๆ และไม่น่าจะนำไปสู่กลไกการกำกับดูแลตนเองที่ยั่งยืนได้

ประชาชนจะมีส่วนร่วม-ตรวจสอบในการกำกับดูแลสื่อได้อย่างไร

แนวทางการกำกับดูแลสื่อมักถูกดำเนินการโดยรัฐ 3 ทางคือ หนึ่ง–ผ่านการใช้นโยบายและกฎหมาย (political accountability) สอง–โดยกลไกตลาดผ่านอุปสงค์และอุปทาน (market accountability) และสาม–โดยองค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพผ่านแนวปฏิบัติและจริยธรรมวิชาชีพ (professional accountability) อย่างไรก็ตาม แนวทางทั้งสามก็มีจุดอ่อนที่ทำให้สื่อมวลชนมีแนวโน้มที่จะอ่อนข้อให้กับอำนาจรัฐและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มากกว่าการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในระบอบอำนาจนิยมหรือทุนผูกขาด

ด้วยเหตุนี้ การกำกับดูแลโดยสาธารณะหรือภาคประชาชน (public accountability) จึงเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยสร้างความโปร่งใสในการทำงานของสื่อ และอาจเป็นพลังเสริมในกรณีที่สื่อถูกแทรกแซงได้ แนวทางนี้ไม่ได้มองว่าประชาชนและภาคประชาสังคมคือ ผู้สอดส่องและจ้องจับผิดการทำงานของสื่อ แต่มุ่งสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับพลเมืองและประชาสังคม โดยประชาชนตระหนักว่าสื่อมวลชนทำหน้าที่แทนพวกเขาอย่างไร ขณะที่สื่อมวลชนต้องคำนึงถึงความชอบธรรมในการดำรงอยู่คือ การเป็นปากเป็นเสียงและสะท้อนเรื่องราวของประชาชนทุกกลุ่ม และตรวจสอบผู้มีอำนาจ ดังนั้น จึงไม่สามารถผลักไสประชาชนออกไปจากกระบวนการกำกับดูแลสื่อได้

แนวทางนี้สอดคล้องกับนิเวศทางการสื่อสารในปัจจุบันที่ขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากประชาชนสามารถสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ได้เองจนบางคนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด อีกทั้งยังเกิดผู้ประกอบการสื่อรายย่อยจำนวนมาก การจะประทับตราว่าใครเป็น ‘สื่อมืออาชีพ’ และการกำกับดูแลให้ ‘สื่อ’ เหล่านี้อยู่ในกรอบเกณฑ์จริยธรรมหรือแนวปฏิบัติที่ ‘เหมาะสม’ จึงเป็นเรื่องท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทความขัดแย้งที่กลุ่มต่างๆ ใช้ข้อมูลจริงบ้าง เท็จบ้างเพื่อโน้มน้าวใจหรือสร้างความสับสน รวมถึงแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่ทำให้การสื่อสารทางแพลตฟอร์มต่างๆ เน้นความถี่และเนื้อหาที่เร้าอารมณ์มากกว่าการสนทนาที่รื่นรมย์และลุ่มลึก

แม้คนส่วนใหญ่จะไม่ได้ประกาศก้องว่าต้องการสื่อและพื้นที่การสื่อสารที่อิสระและมีคุณภาพ แต่สื่อมวลชนก็ไม่ควรสรุปว่าประชาชนแค่ต้องการดราม่าประจำวัน หรือตนรู้จัก ‘ผู้บริโภค’ อย่างทะลุปรุโปร่งแล้วจากการอ่านผลวิจัยทางการตลาด หรือข้อมูลหลังบ้านของแพลตฟอร์มออนไลน์เพียงเท่านั้น ทั้งนี้เพราะผลิตภัณฑ์และบริการของสื่อมวลชนเกี่ยวพันกับความเป็นอยู่ของสาธารณะ และกระบวนการประชาธิปไตยมากกว่าสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป การรับฟังเสียงของ ‘ผู้รับสาร’ จึงต้องการการมีส่วนร่วมทั้งในระดับการผลิตและนโยบาย ไม่ใช่เป็นเพียง ‘ผู้บริโภค’ ที่คอยรับสินค้าและบริการอยู่ปลายทางเท่านั้น ยิ่งในปัจจุบันที่ความมั่นคงทางธุรกิจของอุตสาหกรรมสื่อสั่นคลอน ก็ยิ่งต้องการความเข้าใจและแรงสนับสนุนจากประชาชนมากกว่าการสร้างฐานลูกค้าหรือแฟนด้อมที่ฉาบฉวย

แน่นอนว่าจุดอ่อนหนึ่งของการกำกับดูแลสื่อโดยสาธารณะคือการขึ้นอยู่กับความใส่ใจและแข็งขันของพลเมือง (ที่ดูเหมือนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในสังคมไทย) แต่ข้อดีคือเป็นแนวทางที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างรูปแบบใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับบริบทแวดล้อมและการขยายตัวของนิเวศสื่อได้เรื่อยๆ หากเป้าประสงค์ของร่างกฎหมายนี้คือ การกำกับดูแลสื่อผ่านการคว่ำบาตรทางสังคมหรือ social sanction ก็ควรมีช่องทางที่ผู้ประกอบการสื่อขนาดย่อม สื่อพลเมือง และประชาชนทั่วไปในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักจะสามารถเข้าถึง-มีส่วนร่วมทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติได้อย่างชัดเจน ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่กระบวนการร่างกฎหมายไปถึงการนำไปใช้ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับฟังความเคลื่อนไหวแล้วต้องตามหาร่างกฎหมายกันเอาเอง หรือร้องเรียนเมื่อเกิดเหตุเท่านั้น

การสร้างกรอบจริยธรรมวิชาชีพและแนวปฏิบัติตามปรัชญาวิชาชีพเป็นสิ่งที่จำเป็น และเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการยืนยัน ‘ความเป็นมืออาชีพ’ และ ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของสื่อ ไม่ใช่เพียงมีสำนักงานเป็นหลักแหล่ง อยู่มานาน หรือปล่อยงานถี่ๆ เท่านั้น การมีอยู่ของกรอบจริยธรรมวิชาชีพและแนวปฏิบัติ (และดำเนินงานตามนั้น) รวมถึงการตรวจสอบและทบทวนตนเองอย่างสม่ำเสมอ จะแสดงให้ประชาชนเห็นว่าสื่อมวลชนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในสังคมประชาธิปไตยและผลกระทบต่อสาธารณะ ไม่ใช่วางตัวเป็นสถาบันทรงอำนาจที่ประชาชนต้องไปร้องขอให้สงเคราะห์ยามประสบปัญหา หรือผลิตเนื้อหาที่เร้าอารมณ์แต่ไม่ชวนให้คิดว่าสังคมจะร่วมกันจัดการกับปัญหาอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร

เมื่อประชาชนเห็นว่าสื่อมวลชนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่จรรโลงจิตใจ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่อง ‘บันเทิง’ เท่านั้น) เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างมีคุณภาพ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้ สังคมก็จะเป็นแนวร่วมในการปกป้องเสรีภาพของสื่อเมื่อถูกรัฐและกลุ่มผลประโยชน์คุกคามหรือแทรกแซง ไม่ทอดทิ้งให้สื่อมวลชนล้มหายตายจากหรือสู้กับอำนาจเพียงลำพัง

แต่หากสื่อมวลชนไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าการมีอยู่ของสื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมที่ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายกลุ่ม ซึ่งนับวันก็ขาดพลังในการต่อรองกับสถาบันที่มีอำนาจต่างๆ หรือในวันที่มีเสียงเรียกร้องให้สื่อมวลชนทำหน้าที่เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เสียงเหล่านั้นกลับถูกเพิกเฉย ประชาชนก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปกป้องเสรีภาพสื่อ ส่วนเครื่องมือต่างๆ ที่นำมาใช้ ‘กำกับดูแลตนเอง’ ก็จะเป็นเพียงการรักษาสถานภาพและสิทธิประโยชน์ของกลุ่มอาชีพ

การรักษาสถานภาพและผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมและกลุ่มอาชีพไม่ใช่เรื่องผิดแปลกในโลกทุนนิยม เพียงแต่อย่านำ ‘อภิสิทธิ์’ ในการใช้สิทธิเสรีภาพแทนประชาชนไปเป็นข้ออ้างในการปกป้องตนเองก็แล้วกัน


อ้างอิง:

– Bardoel, J. (2008). “Converging Media Governance Arrangements in Europe”. In G. Terzis (ed). European Media Governance: National and Regional Dimensions. Bristol, UK: Intellect Books.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save