fbpx

ชุมชนตึกร้าง 95/1: หลากชีวิตบนซากคอนกรีต

1

ที่สวมอยู่นั่นไม่ใช่รองเท้าคอนเวิร์ส และเสื้อลายสก็อตก็ไม่ใช่ยูนิโคลคอลเล็กชันใหม่ 

แม้แดดเช้าจะอุ่น แต่เมื่อเรายืนอยู่บนดาดฟ้าของตึกสูง 4 ชั้น แสงแดดก็พอจะเรียกเหงื่อได้เต็มแผ่นหลัง ลุงดำในวัยกว่า 70 ปี เดินทุลักทุเลบนแผ่นคอนกรีต หญ้าแย่งกันแทงยอดขึ้นจากรอยพื้นปริร้าว ไม้เลื้อยที่คล้ายอยู่บนนี้กว่าร้อยปีไหลคดเคี้ยวเป็นกับดักบนพื้น เศษปูนเศษหินแตกระเกะระกะอยู่ทั่วบริเวณ ไม่มีร่องรอยของการใช้ชีวิตที่นี่ นอกจากเสื้อผ้าที่ตากบนราวเชือกพลาสติก โดยมีตัวยึดเป็นเหล็กเส้นที่ชี้โก่โด่เก่เด่จากเสาปูน

“ปกติไม่ค่อยได้ขึ้นมาที่นี่” ลุงดำพูดในลำคอ เสียงรถวิ่งบนทางยกระดับกลบเกือบหมด 

พอจะเดาได้ไม่ยาก อากาศร้อนถึงใจนั่นหนึ่ง แต่สภาพบันไดสูงชันไร้ราวกั้นของตึกสร้างไม่เสร็จ ย่อมไม่ใช่เส้นทางที่น่าเดินผ่านทุกวันแน่ๆ ยังไม่นับว่าช่วงเดือนที่ผ่านมา ลุงดำเพิ่งโดนตัวเงินตัวทองขย้ำ – ขย้ำแบบที่เนื้อน่องหายไปทั้งก้อน ทำให้เดินเหินไม่สะดวกนัก

“เจอกัดข้างล่างนี่แหละ เราไปเด็ดตำลึง มันซุกอยู่ในหญ้า มองไม่เห็น เผลอปุ๊บ มันกัดขวับเอาเนื้อกระจุยกระจาย เลือดไหลอย่างกับน้ำก๊อก วิ่งมาเรียกไอ้เดชให้พาไปส่งโรง’บาลที ตอนนั้นตกใจสุดขีดเลย แผลลึกมาก ฉีกออกมาเหวอะหวะน่ากลัว” ลุงดำเล่าย้อนเหตุการณ์ให้ฟัง แม้เรื่องจะน่าตื่นเต้นแต่น้ำเสียงยังราบเรียบ

เดช หรือ สิทธิเดช คือชายวัยปลาย 40 ที่อาศัยกับลุงดำบนตึกร้างแห่งนี้ แม้ไม่ใช่ญาติแท้ๆ แต่ก็คอยดูแลกันมาหลายปีแล้ว และตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมาของการรักษาแผล พี่เดชก็เป็นคนพาลุงดำไปล้างแผลที่โรงพยาบาล แผลที่เย็บ 20 กว่าเข็มนั้น ลุงดำใช้สิทธิบัตรทองในการรักษา – ยังดีที่ลุงดำเข้าถึงสวัสดิการรัฐได้บ้างเพราะมีบัตรประชาชน แต่ยังมีอีกหลายคนในชุมชนนี้ หรือคนไร้บ้านบริเวณอื่นในกรุงเทพฯ ที่ไม่มีบัตรประชาชน จนทำให้แทบไร้ตัวตนในสายตารัฐ

หากมองจากภายนอก ตึกที่ลุงดำกับพี่เดชอาศัยอยู่นั้นเป็นตึกร้างสมบูรณ์แบบ ในที่นี้คือมีเพียงโครงสร้างตึกพอให้เห็นเค้าของอาคาร ปูนฉาบเรียบเฉพาะบางจุด เหล็กเส้นชี้ออกมาจากทุกที่ที่มีเสา อาคารไร้ผนัง บันไดไร้ราวจับ และประตูไร้วงกบ มีร่องรอยของซุ้มประตูที่ถ้าสร้างสำเร็จคงเป็นทางเข้าที่โอ่โถงไม่น้อย แต่เมื่องานศิลปะยังไม่ได้แต่งแต้ม อาคารเหล่านี้ก็เป็นเพียงซากคอนกรีตเท่านั้น

ใต้ถุนอาคารเต็มไปด้วยขยะ มีบ่อน้ำลึกเกิน 2 เมตรที่ลุงดำกับพี่เดชเอาไว้เลี้ยงปลาดุก ห้องน้ำและบริเวณซักล้างถูกสร้างไว้ลวกๆ ด้วยสังกะสีกั้นแค่เอว มีโอ่งดินกับขันพลาสติกวางรอทำหน้าที่ทุกวัน

อาคารสูง 4 ชั้นที่ยังสร้างไม่เสร็จนี้เป็น 1 ใน 8 ตึกของกลุ่มอาคารที่เจ้าของหมายมั่นจะสร้างเป็นทาวน์โฮม แต่ไม่สำเร็จเพราะเจอพิษฟองสบู่แตก จากแต่เดิมที่มีผู้คนย้ายมาจากบริเวณเลียบทางรถไฟบางกรวยอยู่แล้ว พอตึกถูกทิ้งร้าง หลายคนก็เข้าไปจับจองพื้นที่บนตึก และยังมีคนไร้บ้านหรือคนที่ถูกไล่ที่จากที่อื่นเข้ามาอยู่ด้วย พวกเขารวมตัวกันหลวมๆ เป็น ‘ชุมชนตึกร้าง 95/1’ ตั้งชื่อตามซอยจรัญสนิทวงศ์ 95/1 มีผู้อยู่อาศัยทั้งบนตึกและบนพื้นรวมแล้วกว่า 140 ครัวเรือน

ลุงดำเข้ามาเป็นสมาชิกของชุมชนนี้เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อก่อนอยู่บ้านเช่า แต่โดนทางหลวงไล่รื้อที่ ตึกร้างแห่งนี้จึงกลายเป็นที่มั่นสุดท้ายที่ลุงดำหาเจอ

“มาตอนแรกเป็นโถงโล่งเลย แต่ก็มีเศษใบไม้รก เราก็มาเก็บกวาดเอานะ พวกต้นไม้ เถาวัลย์ ตึกนี้ยังไม่มีคนอยู่ เราก็มาอาศัยอยู่ เพราะเราไม่รู้จะไปเช่าบ้านที่ไหน ค่าเช่าเดือนละ 2,000-3,000 บาท จะเอาที่ไหนไปจ่ายเขา มาอยู่ที่นี่ก็พออยู่อาศัย คุ้มฟ้าคุ้มฝน ประทังชีวิตไป”  

ทีแรก ลุงดำมาอยู่ตึกร้างกับภรรยา แต่พออยู่ได้ 7-8 ปี ภรรยาก็เป็นมะเร็งเสียชีวิต หันไปหาญาติพี่น้องก็ไม่มีใคร “พ่อแม่พี่น้องก็ตายหมดแล้ว” ลุงดำเล่า เขาจึงเลือกอาชีพเก็บผักขายเพื่อพยุงชีวิตคนเดียวให้อยู่รอด ก่อนที่ไม่กี่ปีจะมีพี่เดชเข้ามาอยู่ร่วมตึกด้วย พอให้ได้พึ่งพาอาศัยกัน

ที่จริงแล้ว จะว่าใช้ชีวิตแค่สองคนก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะยังมีแมวอีกกว่า 20 ตัวอยู่ด้วย 

“ตัวนี้ชื่อสำเริง สองตัวนี้ชื่อสำรวยกับสำราญ ส่วนไอ้นี่ชื่อสยิว” ลุงดำไล่ชื่อแมวที่เดินตามขึ้นมาบนดาดฟ้าให้ฟัง มันเข้ามาคลอเคลียตาตุ่ม และวิ่งทั่วดาดฟ้าเหมือนไม่รู้ว่าโลกนี้มีแรงโน้มถ่วง

หากเป็นวัตรปกติ ลุงดำจะตื่นเช้าเตรียมข้าวให้ปลาและแมว ล้างหน้าล้างตัวเสร็จ ประมาณ 8-9 โมง ก็ออกไปเก็บผัก นั่งรถเมล์ไปเก็บบ้าง เดินเลาะเก็บแถวนี้บ้าง ส่วนมากเป็นผักกระถิน ผักบุ้ง ตำลึง เอามาขายที่ตลาดนัดข้างถนน ถ้าโชคดีขายหมดจะได้เงินวันละ 200 บาท แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกวันที่ทำได้แบบนั้น 

ตกเย็น ถ้าโชคดีมีตังค์หน่อย พี่เดชจะซื้อกับข้าวมากินกับลุงดำได้เยอะ แต่ถ้าไม่ ข้าวต้มหนึ่งถุงก็อาจต้องแบ่งกินกันสองคน พอฟ้าเริ่มมืด หลอดไฟที่ต่อสายจากตึกอื่นจะเริ่มเปิดที่ชั้นสอง ซึ่งเป็นบริเวณที่นอนของลุงดำ พื้นที่ตรงนั้นไม่มีผนังที่แข็งแรง มีเพียงฝาไม้อัดจากป้ายโฆษณากับกิ่งไม้ขนาดใหญ่ที่เอาไว้บังฝนเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นลุงดำก็บอกว่าตรงนี้เป็น ‘มุมโปรด’ เพราะเปียกฝนน้อยกว่าบริเวณอื่น 

เตียงไม้ยกสูงมีมุ้งกางไว้ถาวร ด้านล่างเตียงมีโต๊ะไม้เตี้ยๆ เอาไว้นั่งพักหรือแต่งตัวหลังตื่นนอน ตั่งที่เอาไว้นั่งเป็นกรอบรูปรับปริญญาที่ถ่ายรวมคณะของใครสักคน เมื่อถูกถามว่าเป็นรูปของใคร ลุงดำบอกว่า “เก็บมาทั้งนั้นแหละ” 

ตรงข้างๆ ห้องนอน มีผนังเปลือยกั้นไว้ ลุงดำและพี่เดชทำเป็นห้องพระ มีพระพุทธรูป พระเครื่อง รูปเคารพเทพหลายองค์ ไปจนถึงภาพพระมหากษัตริย์ พวกเขาไหว้เพื่อให้อุ่นใจ 

ท่ามกลางชีวิตวันต่อวันแบบนี้ เมื่อถูกถามว่าถ้ามีอะไรที่รัฐบาลพอจะช่วยได้ อยากให้ช่วยอะไร ลุงดำตอบว่า

“เอาจริงนะ ผมอยากมีที่อยู่ มีสวนสำหรับคนแก่ ปลูกผักปลูกหญ้า เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ นี่ข้างล่างตึก ผมก็ถางปลูกกล้วยไป เมื่อก่อนรกนะแถวนี้ รกอย่างกับป่า ผมก็ค่อยๆ ถาง แล้วเอากล้วยไปลง” พูดจบแล้วเงียบไป ก่อนพูดต่อสั้นๆ ว่า “แต่เขาจะมาช่วยหรือ” 

มีเพียงเสียงรถวิ่งเป็นคำตอบ

2

“คนส่วนมากที่อยู่ที่นี่ คือโดนไล่ที่จากที่อื่นมา อาชีพหลักคือเก็บขยะ เป็นแม่บ้าน ขับวินมอเตอร์ไซค์ ค้าขาย รับจ้างทั่วไป อย่างเราก็ทำรถเข็นขายน้ำชง มีรายได้วันละ 100-200 บาท ก็พอจับจ่ายใช้สอยในครอบครัวได้” เปิ้ล-สุนันท์ พวงประเสริฐ ผู้ประสานงานชุมชนตึกร้าง 95/1 ซึ่งเป็นครอบครัวแรกๆ ที่มาอยู่บริเวณนี้เล่าถึงภาพรวมชุมชนให้ฟัง

พี่เปิ้ลใช้ชีวิตวัยเด็กแถวตลาดบางอ้อ แต่บ้านก็โดนไล่ที่ จนเข้ามาบุกเบิกที่ตรงท้ายซอยจรัญฯ 95/1 ตั้งแต่ปี 2524 ตอนนั้นพื้นที่นี้ยังเป็นป่าโล่ง พื้นถนนดินแดง มีบ้านอยู่เพียง 3 หลัง โดยมีครอบครัวของพี่เปิ้ลเข้ามาเป็นหลังที่ 4 อยู่บริเวณริมทางรถไฟ 

“เจ้าของที่ใจดี เขาให้เราอยู่แบบสบายๆ โดยไม่ต้องเช่าที่ เพราะเป็นที่รถไฟ เขาให้เราปลูกอยู่เป็นเพิง ที่บ้านก็ไม่มีตังค์ พ่อแม่มีลูก 6 คน ก็ระหกระเหมาอยู่กันทั้ง 6 คนอยู่แบบไม่มีอะไรเลย เอาต้นทองหลางทำเป็นเสาบ้าน แล้วก็เอาผ้าใบปูขึงกัน เพราะไม่มีอะไรเลยตอนนั้น” พี่เปิ้ลเล่า 

หลังจากนั้นเกือบปี ก็เริ่มมีคนโดนไล่ที่จากที่อื่นขอเข้ามาอยู่ด้วย พอรวมตัวกันเยอะขึ้น ทางสำนักงานเขตบางพลัดจึงออกบ้านเลขที่ชั่วคราวให้ แต่ได้ไม่เกินสิบหลัง ครอบครัวของพี่เปิ้ลและคนอื่นๆ ก็อยู่กันมาแบบนั้น จนกระทั่งเริ่มมีการไล่ที่ทำรางรถไฟ จึงค่อยๆ ขยับกันมาเรื่อยๆ กระทั่งช่วงใกล้ปี 2540 มีนายทุนมากว้านซื้อที่ทำเป็นทาวน์โฮม แต่สุดท้ายทำไม่สำเร็จ จึงกลายเป็นกลุ่มอาคารร้าง 8 ตึกที่ไร้การเหลียวแล

“พวกเราก็ต้องแห่กันขึ้นตึก พอแห่กันขึ้นตึก บางบ้านก็มีทะเบียนบ้าน บางบ้านก็ไม่มี เราก็อยู่กันมาจนทุกวันนี้” พี่เปิ้ลเล่า

 

เรื่องน้ำ-ไฟ บ้านที่มีบ้านเลขที่เข้าถึงสาธารณูปโภคจะคอยเป็น ‘hub’ คอยปล่อยน้ำ-ไฟให้คนที่อยู่บนตึกพ่วงไป คิดราคากันบ้านละ 100-200 บาท ตัวบ้านพี่เปิ้ลเองกั้นฝาบ้านด้วยไม้อัด จัดต้นไม้หน้าบ้านดูร่มรื่น ตั้งอยู่บนพื้นดิน ไม่ได้ขึ้นไปอยู่ตึกเหมือนคนอื่นๆ คอยเป็นผู้ประสานงานและดูแลชุมชนร่วมกับทีมอีก 3 คน

“ถามว่าพวกเราลำบากไหม จริงๆ ลำบากมาก แต่เราก็ทำตัวไม่ลำบาก เพราะถ้าลำบากแล้ว เราจะไปทำอะไร เพราะเราเป็นหน่วยเก็บขยะ เก็บของเก่า ใครจะมาต้อนรับเรา แต่เราก็ไม่ทำตัวเป็นสังคมขยะนะ ไม่ทำตัวเป็นภาระสังคม อยู่กันแบบสบายๆ ทำตามพอมีพอกิน แต่ถ้ามีหน่วยงานรัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเราก็น้อมรับ” พี่เปิ้ลว่า

หากเป็นไปได้ ภาพฝันหนึ่งที่พี่เปิ้ลอยากให้มีการปรับปรุงพื้นที่นี้คือ ภาครัฐเข้ามาเจรจากับเอกชน ปรับปรุงอาคารร้างให้ได้มาตรฐานเบื้องต้น แบ่งเป็นห้องให้แต่ละครอบครัวและให้ทะเบียนบ้าน เพื่อให้คนไร้บ้านหรือคนโดนไล่ที่เข้าสู่ระบบและเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น

“ถ้ารัฐมาทำให้ ถึงจะต้องจ่ายค่าเช่า คนน่าจะแฮปปี้กันทั้งซอย” พี่เปิ้ลพูดด้วยรอยยิ้ม “เราไม่ได้อยากจะมาบุกรุกที่ เพราะเราไม่มีที่ไปจริงๆ ไม่มีใครอยากบุกรุกที่ไปตลอดชีวิตหรอก” 

3

“ที่นี่มีพวกมาล่าท้าผีกันเยอะ” ยายทองคำวัยกว่า 90 ปี กล่าวบนโซฟาบุนวมบนลานดินหน้าบ้าน 

โชคดีที่สุดที่ตอนนั้นเป็นยามเช้า อากาศเย็นสบาย เพียงพอที่จะไม่ทำให้หัวใจวูบไหว หลังจากเดินผ่านซากอาคารเก่าและมองเห็นศาลพระภูมิแตกหักใต้ต้นโพธิ์

“กาแฟไหม” ยายทองคำพูด พลางยกแก้วกาแฟสีขาวนวลขึ้นมา มีซองกาแฟทรีอินวันวางอยู่ข้างตัว “ยายอยู่แบบนี้แหละ อยู่นี่หลายปีแล้ว ตอนแรกอยู่ทางรถไฟ แล้วเขาก็ไล่ บ้านเกิดยายอยู่ท่าเขียวไข่กา ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แน่ะ ไปโรงเรียนยังต้องหนีลงหลุมหลบภัยเลย” ยายทองคำเล่าด้วยน้ำเสียงแข็งแรง

เมื่อถูกถามถึงเหตุผลที่ต้องย้ายมาอยู่ที่นี่ ยายตอบเร็วว่า

“ไฟไหม้ไง ต้นตะเคียนล้มทับ เสร็จแล้วย้ายมาปลูกบ้าน พอปลูกเสร็จยังไม่ทันได้อยู่ ไฟไหม้อีก คนกินเหล้ากินเลี้ยงกัน ยายไม่ได้อะไรเลย ยายขายส้มตำ ทุน 700 บาท เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานมาถึงทุกวันนี้”

ระหว่างพูดคุย ลูกชายของยายทองคำก็เดินลงมาจากตึก สวมเสื้อยืดเดินคนกาแฟมา “กาแฟไหมครับ” ฟังแล้วนึกถึงวลี Like mother, like son 

พี่รุ่ง ลูกชายวัย 40 ของยายทองคำ ยิ้มแย้มแจ่มใส แม้ไม่ช่างเจรจาเท่าแม่ แต่ก็อยู่นั่งคุยอย่างเป็นมิตร พี่รุ่งทำงานเก็บขยะขาย ส่วนมากเป็นขวดและกระป๋องพลาสติก

“เดี๋ยวผมก็ออกไปแล้ว สัก 8 โมง” พี่รุ่งว่า พลางนั่งยิ้มมองบทสนทนาที่ว่าด้วยเรื่องสมัยสงครามโลกที่ยายทองคำเล่า

ยายทองคำมีลูกหลายคน ที่ยังอยู่ด้วยกันก็ประกอบหลายอาชีพ ทั้งเก็บขยะขาย ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือเป็นแม่บ้าน อาศัยอยู่ที่นี่มาเกินสิบปี และไม่คาดหวังอะไรแล้วนอกจากเห็นลูกหลานมีชีวิตที่ดีขึ้น

ชุมชนตึกร้าง 95/1 มีคนวัยชราอยู่จำนวนมาก แต่ที่เยอะกว่านั้นคือเด็กเล็กเด็กโตที่มีอยู่กว่า 40 คน เสียงเด็กๆ วิ่งเล่นเจี๊ยวจ๊าวเป็นเสียงฉากหลังของที่นั่น หลายคนที่เข้าสู่วัยเรียนแล้ว ต้องอยู่บ้านเรียนออนไลน์จากโทรศัพท์เครื่องเก่า บางคนเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ต้องการหาที่ทางส่วนตัวของตัวเอง ก็ต้องหาไม้อัดมากั้นห้อง สร้าง ‘บ้าน’ ของตัวเองขึ้นมาจากตึกร้างแห่งนี้

“คนอยู่ที่นี่มีภาวะต่างกันไป บางคนมีภาวะชรา ลูกหลานทิ้ง ภาวะผู้พ้นโทษ ฯลฯ หลากหลายมาก ซึ่งต้นตอปัญหาก็คือเรื่องโครงสร้างการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่ได้มองเรื่องการพัฒนาคน พอการพัฒนาคนไม่ได้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อคนวิ่งตามไม่ทัน จึงมีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังเยอะมาก” พี่จ๋า-อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ที่ทำงานเรื่องคนไร้บ้านมากว่าสิบปีเปิดประเด็น

จริงอย่างว่า ท่ามกลางชุมชนตึกไร้สีนี้ มีคนกำลังเผชิญปัญหาที่หลากหลาย บางคนเดินทางจากอุบลราชธานีมาตั้งแต่อายุ 12 ขวบเพื่อทำงานแม่บ้าน มาตอนนี้อายุกว่า 60 ปี ตาบอดหนึ่งข้าง และประกอบอาชีพเป็นหมอดูลายมือ บางคนอายุกว่า 80 ปี ลูกอยู่ในเรือนจำ ทิ้งหลานที่คลอดในเรือนจำมาไว้ให้เลี้ยง หรือหญิงแขนพิการที่อาศัยอยู่กับลูกชายวัย 11 ขวบ เผชิญโลกระหกระเหินด้วยกันสองแม่ลูก โดยลูกมีความหวังว่าการเรียนหนังสือจะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ฯลฯ

แม้คนในชุมชนนี้จะแตกต่างจากคนไร้บ้านตามพื้นที่สาธารณะตรงที่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่ทุกคนก็รู้ดีว่าที่แห่งนี้ไม่ใช่บ้านของพวกเขาจริงๆ หลายคนโดนไล่ที่มาตลอดชีวิต โดยไม่รู้เลยว่าจะไปจบลงที่ไหน 

“เรื่องคนไร้บ้านในประเทศไทย ไม่ใช่การไร้บ้านโดยไร้ตัวบ้าน แต่คือการไร้บ้านโดยความอบอุ่น ภาวะของการเข้าไม่ถึงรัฐสวัสดิการ แต่สิ่งที่เห็นที่ชัดสุดคืออสังหาริมทรัพย์หรือสิ่งปลูกสร้างล้น ถูกทิ้งร้างไว้หลายที่ สิ่งเหล่านี้ถ้าทำให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าการสร้างใหม่ น่าจะเกิดประโยชน์กับการพัฒนาคนมากกว่า” พี่จ๋าชี้ประเด็น ซึ่งเชื่อมโยงกับความต้องการของคนในชุมชนที่ต้องการการพัฒนาตึกร้างให้เป็นที่ ‘อยู่อาศัย’ ได้จริง

“ชุมชนบ้านร้างเป็นโมเดลที่มูลนิธิอิสรชนเคยเสนอรัฐตั้งแต่ช่วงที่ปิดสนามหลวงหรือช่วงโควิดระบาด ที่เขาหากันว่าจะเอาคนไร้บ้านไปไว้ไหนดี เพราะถ้าพูดถึงสถานสงเคราะห์ในประเทศไทย คนไร้บ้านจะหันหลังแล้ววิ่งหนี เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสถานสงเคราะห์ที่เขาพบเจอมาคืออะไร แต่คงไม่มีใครอยากไปอยู่ในกฎระเบียบที่ต้องตื่นมากินข้าวสามมื้อ กำหนดกิจกรรมให้ทำ ไม่ได้เป็นอิสระในชีวิต 

“เพราะฉะนั้นเราเสนอโมเดลมาตลอดว่า บ้านร้างที่ถูกยึด หรือบ้านร้างที่ไม่มีใครทำอะไรแล้ว รัฐน่าจะเจรจา ทำเป็น CSR ก็ได้ หรือมีข้อตกลงร่วมกันกับเอกชน แล้วรัฐเข้ามารีโนเวต พอให้เขาอยู่อาศัยได้ มีน้ำมีไฟให้ หรือคุณจะเก็บค่าเช่าราคาถูกก็ได้ เราเชื่อว่ากฎระเบียบต่างๆ สามารถสร้างเงื่อนไขร่วมกันได้” พี่จ๋าขยายความเรื่องโมเดลชุมชนบ้านร้าง

อย่างที่พี่เปิ้ลว่า—ไม่มีใครอยากบุกรุกที่ไปตลอดชีวิตหรอก

4

แม้แดดเช้าไม่ร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ แต่แดดสายร้อน 

เรื่องผีที่ยายทองคำเล่ายังวนอยู่ในหัว ท่ามกลางร่มเงาของต้นโพธิ์ ซากอิฐซากปูน ถนนดินโคลน กับกองขยะจำนวนมหาศาล สิ่งเหล่านี้บอกกับเราว่า ผีแท้จริงที่อบอวลอยู่ทั่วกลุ่มอาคารร้างไม่ใช่ใดอื่น นอกจากความยากจน 

รับชมในรูปแบบวิดีโอได้ที่

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save