fbpx
“เรามีหวังเสมอว่าจะได้กลับบ้าน” เสียงจากริมน้ำเมย ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้ของผู้หนีภัยกะเหรี่ยง

“เรามีหวังเสมอว่าจะได้กลับบ้าน” เสียงจากริมน้ำเมย ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้ของผู้หนีภัยกะเหรี่ยง

1.

ยามสายวันหนึ่งของกลางเดือนมกราคม ขณะกำลังสาวเท้าเดินเข้าประชิดริมแม่น้ำเมยใกล้ขึ้นเรื่อยๆ เสียงหัวเราะพูดคุยเจื้อยแจ้วของเด็กๆ ก็ค่อยๆ ดังขึ้นมากระทบยังโสตประสาท ใกล้เข้าไปอีก จึงพบที่มาของเสียงอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่งของลำน้ำ

ภาพที่ปรากฏในสายตาคือภาพของเด็กๆ ที่กำลังเล่นน้ำริมเมยกันอย่างสนุกสนาน เมื่อขยับมองขึ้นไปบนผืนดิน ก็มองเห็นเพิงเล็กๆ ไม่กี่หลังตั้งกระจัดกระจายริมฝั่งน้ำท่ามกลางทุ่งหญ้าสูงที่รายล้อม พร้อมด้วยผู้คนหลากช่วงวัยที่ดูกำลังใช้ชีวิตอย่างปกติ บ้างนั่งล้อมวงคุยกัน บ้างซักผ้า ตากผ้า บ้างลงน้ำหาปลา ดูคล้ายฉากชีวิตผู้คนที่เราเห็นได้ทั่วไปตามพื้นที่ชนบท

“ปัง! ปัง! ปัง!…” เสียงดังขึ้นมาเป็นระยะจากแนวภูเขาไกลๆ ด้านหลังของชุมชนที่เรากำลังจ้องมอง แทรกเข้ามากับเสียงหัวเราะเริงร่าของเด็กๆ ที่กำลังเล่นน้ำ

ผู้คนตรงนั้นยังทำกิจกรรมของตัวเองกันต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ราวกับว่าพวกเขาคุ้นชินกับเสียงแปลกประหลาดนั่นไปแล้ว

ผู้หนีภัยสงครามชาวกะเหรี่ยง บนผืนดิน No Man’s Land ริมแม่น้ำเมย แถบตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

“เสียงปืน เสียงระเบิดดังแทบทุกวัน บางทีเห็นเครื่องบินรบอยู่ไกลๆ โน้นเลยด้วยซ้ำ” คนในพื้นที่แถวนั้นเล่าให้เราฟัง

ย้อนไปเมื่อ 15 ธันวาคม 2021 ที่รัฐกะเหรี่ยง อีกฟากฝั่งลำน้ำตรงข้ามอำเภอแม่สอด ทหารพม่ากับกองกำลังกะเหรี่ยง KNU (Karen National Union) เปิดฉากปะทะระลอกใหม่ หลังทหารพม่าพยายามเข้าไปตรวจค้นจับกุมกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหารที่ลี้ภัยจากเมืองต่างๆ เข้าไปพักพิง ซ่องสุมฝึกอาวุธเพื่อต่อสู้กับกองทัพ จนนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่กับกลุ่มกะเหรี่ยง

สถานการณ์การต่อสู้เป็นไปอย่างยืดเยื้อและไต่ระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สัปดาห์ถัดจากนั้น กองทัพพม่ายกระดับการโจมตีสู่การใช้ปฏิบัติทางอากาศ ส่งเครื่องบินรบยิ่งถล่มรัฐกะเหรี่ยง ควบคู่ไปกับการใช้กำลังทหารราบ ทำให้ชาวบ้านจำต้องละทิ้งบ้านเรือนที่พัก หนีเอาชีวิตรอด ข้ามมาพักพิงบนพื้นที่ที่ไม่มีใครจับจองเป็นเจ้าของ (No Man’s Land) ตามแนวพรมแดนริมลำน้ำเมย รวมถึงพื้นที่ตรงหน้าเราตอนนั้น

พื้นที่ตรงนั้นคือพื้นที่หนึ่งในตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไม่ใกล้ไม่ไกลจากพรมแดนพม่านัก เสียงปืน เสียงระเบิดที่ค่อนข้างชัดเจนในหู คือเสียงที่บ่งบอกว่า แม้เวลาจะผ่านมาแล้วเกือบหนึ่งเดือนเต็ม การสู้รบบนดินแดนรัฐกะเหรี่ยงก็ยังไม่ได้จบสิ้น และผลพวงของมันก็คือชาวบ้านรัฐกะเหรี่ยงนับหมื่นที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเรือน โดยที่เกินกว่า 5,000 คน หนีมาติดค้างอยู่ตามแนวพรมแดนฝั่งไทย

แน่นอน ในจำนวนนั้นรวมถึงผู้คนที่เรากำลังมองจากอีกฝั่งลำน้ำเมย

เสียงหัวเราะของเด็กๆ กลุ่มนั้นที่ดังไปทั่วคุ้งน้ำ จึงเป็นเสียงหัวเราะที่ฟังแล้วช่างหดหู่

ผู้หนีภัยสงครามชาวกะเหรี่ยง บนผืนดิน No Man’s Land ริมแม่น้ำเมย แถบตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

2.

“อยู่ตรงนี้กันมา 20 กว่าวันแล้ว ข้ามกลับไปบ้านก็ไม่ได้ ยังยิงกันไม่หยุดเลย”

เสียงตะโกนเป็นภาษาพม่าดังข้ามมาจากคนอีกฝั่งน้ำ ตอบกลับมายัง ‘เชอร์รี่’ ล่ามพม่าในขบวนของเรา หลังจากที่เราขอให้เชอร์รี่ช่วยตะโกนข้ามน้ำถามสารทุกข์สุกดิบพวกเขา ด้วยระยะห่างระหว่างสองฝั่งน้ำที่สั้นมาก ทั้งสองฝั่งจึงได้ยินเสียงของกันและกันชัดเจน

“เด็กป่วยกันเยอะเลย ยาก็ไม่ค่อยมี อยากได้ยาสามัญประจำบ้านทั่วไป”

“มีคุณยายอายุ 80 กำลังปวดขาหนักมาก ถ้ามียา ขอหน่อยนะ”

หลังพูดจบ พวกเขาเรียกคุณยายคนนั้นลุกเดินออกมาจากเพิงใกล้ๆ เหมือนจะอยากยืนยันให้เราเห็นว่าสิ่งที่พวกเขาพูดเป็นความจริง แม้เราจะให้เชอร์รี่ตะโกนบอกไปว่าไม่ต้องพาคุณยายลำบากเดินออกมา แต่ที่สุดคุณยายก็เดินกะเผลกออกมาให้เห็น เราพยายามชูมือบอกให้คุณยายหยุดอยู่แค่นั้น

นอกจากยาที่มีไม่เพียงพอจะเป็นปัญหาใหญ่ พวกเขาบอกว่าปัจจัยสำคัญของชีวิตอย่างอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด ก็กำลังขาดแคลนเหมือนกัน

“เดี๋ยวเอามาให้” พี่ชัย – วิชัย จันทวาโร ผู้ที่นำพาเราเดินทางมาที่นี่ บอกให้เชอร์รี่ตะโกนกลับไป

ผู้หนีภัยสงครามชาวกะเหรี่ยง บนผืนดิน No Man’s Land ริมแม่น้ำเมย แถบตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

บ่ายแก่ๆ วันเดียวกัน ขบวนของเรากลับไปยังพื้นที่นั้นอีกครั้ง ครั้งนี้ท้ายรถตู้ของเราเต็มไปด้วยอาหาร น้ำ และยา ที่พี่ชัยจัดหามาให้พวกเขาตามที่สัญญาไว้

ไม่นานนัก ชายสิบกว่าคนพากันเดินลุยน้ำที่สูงแค่ระดับหน้าแข้ง ข้ามมายังฝั่งเรา ต่างคนต่างช่วยกันแบกข้าวของ ข้ามกลับไปยังผืนดินอันเป็นที่พักพิงชั่วคราวของพวกเขา

ผู้คนแถวนั้นเล่าว่า นับตั้งแต่วันที่ชาวกะเหรี่ยงหนีภัยการสู้รบระลอกใหม่มาอยู่ตรงจุดนั้น ธารน้ำใจจากผู้คนหลั่งไหลสู่พวกเขาแทบไม่ขาดสาย เสบียงอาหาร-ข้าวของเครื่องใช้จำเป็นถูกขนเต็มคันรถมายังริมฝั่งน้ำแทบทุกวัน ภาพของผู้อพยพชายที่เดินขนของจากผู้ใจบุญเหล่านั้นข้ามกลับไปลำน้ำเมยจึงเป็นภาพที่คนแถบนี้เห็นได้ตลอด 20 กว่าวันที่ผ่านมา

ณ ขณะที่เหล่าชายผู้พลัดถิ่นกำลังทยอยมายกของ เราจึงมีจังหวะได้สนทนาสั้นๆ กับชายคนหนึ่งแบบที่ไม่ต้องตะโกนคุยข้ามลำน้ำ

ผู้หนีภัยสงครามชาวกะเหรี่ยง บนผืนดิน No Man’s Land ริมแม่น้ำเมย แถบตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

“ที่จริง ความเป็นอยู่ของพวกเราที่นี่ก็ถือว่ายังพออยู่ได้นะ อย่างน้อยก็ยังมีที่ให้พักพิง และตรงนี้ก็ค่อนข้างปลอดภัย แต่ที่น่าห่วงสุดคือเด็กๆ เพราะไม่ค่อยมีน้ำดื่มที่สะอาด ต้องอาศัยดื่มน้ำจากแม่น้ำ เด็กๆ เลยท้องเสียกันเยอะมาก นี่คือโรคหลักที่เกิดขึ้นที่นี่เลย เราก็อยากได้น้ำดื่มสะอาดๆ อยู่เหมือนกัน” ชายอายุ 40 ผู้ให้นามสมมติว่า Asoe เล่าสถานการณ์ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวตรงนั้นให้ฟัง ก่อนจะเล่าเรื่องราวในพื้นที่บ้านเกิดเขาเอง

“ตั้งแต่เกิดการสู้รบขึ้นมาหลังรัฐประหาร เราแทบจะทำงานหรือหารายได้กันตามปกติไม่ได้เลย ใครมีเงินเก็บบ้างอยู่แล้ว ก็อาจจะพออยู่ได้ แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่มีเงินเลย ก็มีปัญหา ไม่มีจะกิน จะไปขอใครกินได้ก็ไม่รู้ ก็ต้องคอยไปหาว่ามีจุดไหนแจกของ ไปรับของเอาตรงนั้น ก็จะพออยู่รอดได้บ้าง”

“พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา เราแทบใช้ชีวิตกันปกติไม่ได้ แต่ละฝ่ายก็ต่อสู้กัน คนเดือดร้อนก็คือชาวบ้านอย่างพวกเรานั่นแหละ หลายบ้านก็ถูกเผา บ้านที่รอดก็มีบ้าง”

“แล้วชีวิตคุณเองกระทบเยอะไหม” เราถาม

“ส่วนตัวผมไม่ได้กระทบอะไรขนาดนั้น คือผมมีลูกอยู่กรุงเทพฯ ทำงานส่งเงินมาให้ ตอนนี้ก็ยังได้เงินอยู่ คนอื่นน่าห่วงกว่าผมเยอะนะ” เขาตอบ ก่อนจะแบกของ เดินลุยน้ำกลับไปยังผืนดินที่เขาเพิ่งจะมาพักอาศัย

เสียงสตาร์ตของรถตู้ดังขึ้น ก่อนจะหันหลังเดินกลับไปยังรถ สายตาเราจ้องมองไปที่ฝั่งตรงข้ามลำน้ำเป็นครั้งสุดท้าย สิ่งที่เห็นคือมือไม้ของพวกเขาที่ชูขึ้นมาโบกอำลาเรา สีหน้าพวกเขาเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เราโบกมือตอบกลับ ก่อนจะมุ่งหน้าสู่จุดหมายต่อไป

ระหว่างทางก็ย้อนนึกถึงพวกเขาอีกครั้ง พร้อมคำถามที่ผุดขึ้นมาว่า “แล้วพวกเขาจะต้องอยู่ตรงนั้นไปอีกนานแค่ไหน?”

ผู้หนีภัยสงครามชาวกะเหรี่ยง บนผืนดิน No Man’s Land ริมแม่น้ำเมย แถบตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

3.

รถตู้ขับลัดเลาะตามลำน้ำเมยไปเรื่อยๆ ไม่ไกลกันนัก ก็มาถึงพื้นที่อีกจุดหนึ่ง เมื่อมองข้ามไปอีกฝั่งลำน้ำ จะเห็นกลุ่มผู้หนีภัยการสู้รบอีกกลุ่ม คล้ายที่เราเห็นในพื้นที่ก่อนหน้า

จุดพักพิงผู้หนีภัยสงครามจากรัฐกะเหรี่ยงหาได้มีแค่จุดเดียวเท่านั้น หากแต่ตลอดริมฝั่งลำน้ำเมย ยังมีอีกหลายจุดที่ถูกใช้เป็นพื้นที่พักอาศัยชั่วคราว

ณ จุดที่สองที่เราเข้าไปถึง เราพบกลุ่มคนและพระสงฆ์คณะหนึ่งอยู่ตรงนั้นก่อนหน้า ทราบมาว่านั่นคือคณะสงฆ์และญาติโยมที่พากันนั่งรถมาไกลหลายชั่วโมงจากจังหวัดสุรินทร์ ตั้งใจนำข้าวของมาส่งให้เหล่าผู้หนีภัยที่นี่ เช่นเดียวกับภาพที่เราเห็นที่จุดก่อนหน้า ผู้หนีภัยชายพากันเดินลุยน้ำข้ามมา คุกเข่าลงกราบพระ ก่อนจะแบกของข้ามน้ำกลับไป

พื้นที่พักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยสงครามละแวกนี้ที่เราได้ไปพบเห็น เป็นเพียงจุดย่อยๆ เท่านั้น และไม่ใช่จุดที่ทางการไทยเข้ามาดูแลเป็นเรื่องเป็นราวนัก อย่างจุดแรกที่เราไปเยือน เราพบเพียงนายทหารเกณฑ์คนเดียวเท่านั้นที่ยืนเฝ้ามองค่ายผู้หนีภัยห่างๆ จากฝั่งน้ำตรงข้าม ส่วนจุดที่สองก็เจอทหารเพียง 3-4 คนตรงนั้น

ผู้หนีภัยสงครามชาวกะเหรี่ยง บนผืนดิน No Man’s Land ริมแม่น้ำเมย แถบตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

หากมองด้วยสายตา จำนวนผู้ลี้ภัยโซนนี้มีอยู่ราวไม่กี่ร้อยคน เมื่อเทียบกับตัวเลขผู้หนีภัยทั้งหมดจากข้อมูลที่เราทราบมาอย่างไม่เป็นทางการว่ามีอยู่เกินกว่า 5,000 คน ในจำนวนนี้ราว 3,000-4,000 คนกระจุกตัวอยู่ที่จุดหลักที่ชื่อว่า ‘คอกวัวเมยโค้ง’ ซึ่งในวันนั้นถือเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยอย่างเป็นทางการเพียงแห่งเดียว

ช่วงเกิดสถานการณ์ใหม่ๆ มีจุดพักพิงชั่วคราวที่ทางการจังหวัดตากจัดให้อยู่ 4 จุด คือบริเวณคอกวัวกำนันปั่น สนามกีฬาบ้านแม่กุหลวง วัดบ้านหมื่นฤาชัย และคอกวัวเมยโค้ง แต่เมื่อผู้หนีภัยบางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับ ด้วยสถานการณ์ที่ค่อยๆ เบาลง ผู้ลี้ภัยที่เหลือในแถบนี้จึงถูกย้ายไปรวมกันอยู่ที่เดียว ณ คอกวัวเมยโค้ง

ขบวนของเราพยายามเดินทางเข้าไปสำรวจสถานการณ์ที่จุดพักพิงชั่วคราวคอกวัวเมยโค้ง มองไปหน้ารถ เราเห็นจุดหมายอยู่ข้างหน้าเราเพียงไม่กี่เมตร ทว่าด่านทหารเล็กๆ ข้างหน้าทำให้รถตู้ของเราต้องหยุดชะงัก

“ยังไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปนะครับ” เจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านบอกกับเรา แน่นอนว่าเขาไม่สามารถอธิบายเหตุผลที่ชัดเจนได้ เพราะเป็นเพียงผู้ได้รับคำสั่งมาอีกทอดหนึ่ง และเพียงบอกให้เราไปติดต่อทำเรื่องกับหน่วยราชการที่รับผิดชอบตรงนี้ก่อนเท่านั้น

วินาทีนั้น เราจึงรู้ว่าคงหมดหนทางที่จะได้เข้าไป ไม่ว่าใครก็รู้ได้ว่ากระบวนการเดินเรื่องในระบบราชการของไทยนั้น แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเสร็จสิ้นภายในวันเดียว ขณะที่เรามีเวลาอยู่ที่นั่นเพียงไม่กี่วัน และใช่ว่าเขาจะอนุมัติให้สื่อมวลชนอย่างเราเข้าไปได้อย่างง่ายๆ รถตู้ของเราจึงจำต้องกลับรถถอยออกมาในท้ายสุด

ด่านตรวจหน้าศูนย์พักพิงผู้หนีภัยสงครามชั่วคราวคอกวัวเมยโค้ง

ตั้งแต่คอกวัวเมยโค้งถูกทางการใช้เป็นพื้นที่รับผู้หนีภัยชั่วคราว ไม่มีสื่อมวลชนใดๆ ได้รับอนุญาตให้เข้าไปสังเกตการณ์ สถานการณ์โควิด-19 และความปลอดภัยมักถูกยกขึ้นมาเป็นเหตุผลเสมอ จึงไม่แปลกใจหากภาพความเป็นไปในพื้นที่จะถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนได้อย่างจำกัด และแทบไม่อาจรู้ได้แน่ชัดเลยว่าสิ่งที่ทางการรายงานออกมาเป็นความจริงทั้งหมดหรือไม่ เช่นผู้หนีภัยที่ทางการแจ้งว่าสมัครใจเดินทางกลับบ้าน พวกเขาสมัครใจจริงหรือไม่

เรื่องราวในพื้นที่คอกวัวเมยโค้งที่เรารับรู้จึงมาจากเพียงคำบอกเล่าอีกทอดหนึ่งจากคนอื่นๆ

“ถ้าถามว่าผมอยากไปตรงนั้น (คอกวัวเมยโค้ง) ไหม ผมว่าผมอยู่ตรงนี้ที่เดิมดีแล้วล่ะ ที่ได้ยินมาจากคนที่ข้ามไปอยู่ตรงนั้นได้ยินว่าลำบาก คนอยู่กันแออัด ห้องน้ำมีเป็นร้อยๆ ห้อง ก็ไม่พอ เสี่ยงโรคอะไรสารพัด อยู่ตรงโน้นน่าจะลำบากกว่า อยู่นี่ดีแล้ว” คือคำบอกเล่าของ Asoe ชายผู้หนีภัยคนเดิมที่ได้พูดคุยกันที่ริมน้ำเมย

ฟังแล้วช่างน่าฉงนใจที่พื้นที่ที่ทางการไทยไม่ได้เข้าไปดูแลจริงจัง กลับดูเหมือนสะดวกสบายกว่าพื้นที่ที่ทางการควบคุมเป็นเรื่องเป็นราว

จากที่ Asoe ว่า ความแออัดและปัญหาสุขอนามัยดูจะเป็นปัญหาใหญ่ของกลุ่มผู้หนีภัยที่คอกวัวเมยโค้ง หากแต่ที่น่าห่วงยิ่งกว่านั้นคือเรื่องความปลอดภัย

“ตรงนี้ไม่ค่อยมีอะไร ส่วนใหญ่สู้กันอยู่ด้านโน้นมากกว่า” นายทหารเกณฑ์ผู้กำลังยืนเฝ้าจุดพักพิงที่ Asoe อยู่บอกกับเรา พร้อมชี้นิ้วไปทางทิศของคอกวัวเมยโค้ง  

ด้วยพื้นที่ที่อยู่ประชิดแนวชายแดน ทำให้ชาวบ้าน รวมทั้งผู้หนีภัยบริเวณคอกวัวเมยโค้ง ได้สดับฟังเสียงการสู้รบ มองเห็นการปรากฏขึ้นของเครื่องบินลาดตระเวน จากอีกฟากฝั่งของพรมแดนแทบทุกวัน และที่ทำให้ผู้คนขวัญผวายิ่งไปกว่านั้นก็คือลูกกระสุนปืนที่ลอยข้ามเขตแดนมา

เสียงห่ากระสุนปืน ตามด้วยเสียง “ฟิ้ว!” ของกระสุนลูกหนึ่งที่พุ่งเข้ามาเฉียดตัวแบบเส้นยาแดงผ่าแปดชาวบ้านเจ้าของคลิปวิดีโอ ที่ส่งให้เราดูเพียงหนึ่งวันก่อนหน้าที่เราจะลงพื้นที่ ยังคงสะท้านในหู สถานที่ในคลิปนั้นคือด้านหน้าของคอกวัวเมยโค้ง เราได้แต่คิดว่าหากเจ้าของคลิปยืนผิดองศาไปนิดเดียว อะไรจะเกิดขึ้นกับเขา

ช่วงเย็นของวันที่เราลงพื้นที่นั้นเอง เราก็ได้รับข่าวจากแหล่งข่าวในพื้นที่คอกวัวเมยโค้งว่า มีกระสุนปืนใหญ่ลอยข้ามมาตกใส่รถสุขาของเทศบาลในพื้นที่รองรับผู้ลี้ภัยจนเสียหายหนัก

ตั้งแต่กระสุนปืนจากการสู้รบระลอกใหม่ในฝั่งพม่าเริ่มลอยข้ามมายังฝั่งไทยเมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กองทัพไทยประกาศกร้าวว่าพร้อมตอบโต้หากมีกระสุนปืนรุกล้ำอธิปไตยเขตแดนไทย แต่จนถึงวันที่เราไปยังแม่สอด กระสุนปืนยังคงลอยข้ามมาฝั่งไทยแทบทุกวัน

“ก็ไม่เห็นทหารจะทำอะไร” คนในพื้นที่บอกกับเราเป็นเสียงเดียวกัน

คำถามจึงยังคงวนเวียนอยู่ในหัวซ้ำๆ  “ตกลงแล้วทหารไทยมีหน้าที่อะไร”

ผู้หนีภัยสงครามชาวกะเหรี่ยง บนผืนดิน No Man’s Land ริมแม่น้ำเมย แถบตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

4.

รถตู้มุ่งหน้าออกจากแม่สอดขึ้นทางเหนือสู่ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง ไม่นานนักสองข้างทางก็ปรากฏภาพบ้านเล็กๆ หลายหลังตั้งกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ พื้นที่ตรงนั้นช่างกว้างไกลสุดลูกหูลูกตาราวกับว่าเป็นเมืองๆ หนึ่ง หากแต่เราไม่สามารถเดินดุ่มๆ เข้าไปได้ตามใจชอบ ด้วยมีรั้วไม้ทรุดโทรมขึงด้วยลวดหนามขวางกั้นอยู่เกือบตลอดแนว เราทำได้เพียงใช้สายตามองเข้าไปเท่านั้น

ไม่กี่นาทีเราก็ไปถึงหน้าทางเข้าใหญ่ของชุมชนตรงนั้น

“เข้าไม่ได้นะครับ” เจ้าหน้าที่ผู้เฝ้าป้อมจุดตรวจยืนกรานไม่ให้คณะของเราเข้าไป ตามสไตล์เดิม เขาบอกให้เราไปขออนุญาตจากที่ว่าการอำเภอก่อน

คำพูดของเจ้าหน้าที่ตรงหน้าทำให้เราแปลกใจ เพราะวันนั้นเราเดินทางร่วมขบวนไปกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งก่อนหน้านี้ กสม.ได้ส่งเอกสารแจ้งขอเข้าพื้นที่ไปแล้ว

การเจรจาระหว่าง กสม.กับเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นอยู่พักหนึ่ง แต่ท้ายสุดก็ยังคงได้รับคำยืนกรานว่าไม่สามารถเข้าได้ จึงเกิดเป็นความสงสัยว่าเจ้าหน้าที่มีสิทธิปฏิเสธไม่ให้ กสม.เข้าพื้นที่หรือไม่ เพราะตามหลักการ กสม.มีอำนาจหน้าที่เข้าไปยังเคหสถานภายใต้การดูแลของหน่วยงานรัฐ เพื่อตรวจสอบเรื่องที่ได้รับร้องเรียนต่างๆ ได้ ซึ่งในทางปฏิบัติ กสม.มักส่งเอกสารแจ้งไปยังหน่วยงานนั้นๆ ก่อน

“ศูนย์แม่หละเป็นกระทรวงมหาดไทยดูแล เราก็ได้ทำหนังสือไปที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่อาจจะด้วยเหตุผลเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราเข้าไปไม่ได้ แต่เราจะกลับมาอีกครั้งเมื่อพ้นโควิด-19” ศยามล ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติบอกกับเรา

แต่ก็ไม่อาจทำให้คลายสงสัยได้ว่าตกลงแล้วการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานเหล่านี้ไปติดขัดอยู่ตรงไหน และการยกสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นมาเป็นเหตุผลไม่ให้ กสม.เข้าพื้นที่ ถือว่าถูกต้องตามหลักที่ควรจะเป็นหรือไม่

“ที่ กสม. ลงพื้นที่ที่บ้านแม่หละวันนี้ เนื่องจากเราได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่อยู่ค่ายมานานมากกว่า 30 ปี โดยในภาพรวมก็เป็นการร้องเรียนเรื่องวิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ที่เขาอยู่มายาวนาน ซึ่งเราอยากให้มีกระบวนการหาทางออกให้ผู้พักพิงกลุ่มนี้” ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกท่านหนึ่งบอกกับเรา โดยยังไม่อาจให้รายละเอียดข้อร้องเรียนมากกว่านี้ได้ เพราะจำเป็นต้องผ่านกระบวนการพูดคุยตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้ร้องเรียนให้ได้ก่อน  

สถานที่ตรงนั้นไม่ใช่ชุมชนทั่วๆ ไป แต่คือศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบอีกแห่งหนึ่ง แม้จะชื่อว่า ‘ชั่วคราว’ แต่ศูนย์พักพิง ‘บ้านแม่หละ’ ตรงนี้ตั้งมากว่า 30 ปีแล้ว

ศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัยการสู้รบบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

ศูนย์พักพิงบ้านแม่หละตรงนี้คือค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดตามแนวชายแดนไทย-พม่า จนได้ชื่อว่า ‘เมืองหลวงของผู้ลี้ภัย’

ผู้ลี้ภัยบริเวณนี้โดยมากคือชาวกะเหรี่ยง อันเป็นผลผลิตของความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์พม่าและกะเหรี่ยง ด้วยรากเหง้าจากสำนึกแห่งความเป็นชาติที่แตกต่างกัน การสู้รบสืบเนื่องมายาวนานเกินกว่า 7 ทศวรรษ จนนับว่าเป็น ‘สงครามกลางเมือง’ ที่ยาวนานที่สุดในโลก

การหนีภัยสงครามของชาวกะเหรี่ยงหลังรัฐประหารที่เราเห็นในวันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นเพียงอีกระลอกหนึ่งท่ามกลางห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งอันยาวนานเท่านั้น

ตลอดแนวชายแดนไทย-พม่า มีศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยทั้งหมด 9 แห่ง ในช่วงที่พีกที่สุดคาดว่าเคยมีผู้ลี้ภัยรวมกันถึงกว่า 200,000 คน ขณะที่ปัจจุบันคะเนว่ามีอยู่ราว 85,000-90,000 คน โดยในจำนวนนี้อยู่ที่ค่ายแม่หละประมาณ 38,000 คน

“พอเขาอยู่ที่นี่นาน ออกไปข้างนอกก็ไม่ค่อยได้ เขาเลยรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นคนไม่มีศักยภาพ กลายเป็นผู้ที่ต้องรอแต่ความช่วยเหลือ บางคนเคยเป็นทหารมาก่อน ตอนนี้ต้องกลายเป็นผู้รอความช่วยเหลือ” ดร.ชยันต์ วรรณะภูติ นักวิชาการจากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ร่วมเดินทางมากับคณะ กสม. ยืนเล่าให้เราฟังที่หน้าค่าย จากประสบการณ์ที่ทำงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้หนีภัยสงครามในไทยมายาวนาน และเคยเข้าพื้นที่สำรวจค่ายผู้หนีภัยต่างๆ ตามแนวชายแดนไทย-พม่ามาแล้วหลายครั้ง

เพราะถูกล้อมรั้วอยู่ในค่ายมานานกว่า 3 ทศวรรษ ความรู้สึกของการเป็นเพียงผู้รอความช่วยเหลือ ความรู้สึกว่าตนไร้ศักยภาพ ไร้ซึ่งอิสรภาพ ไร้อนาคต จึงตราติดอยู่ในใจเหล่าผู้หนีภัยมากว่าครึ่งค่อนชีวิต ยิ่งกว่านั้น สำหรับผู้หนีภัยจำนวนไม่น้อยที่เกิดและเติบโตในค่าย ความรู้สึกแบบนั้นอยู่กับพวกเขามาแล้ว ‘ทั้งชีวิต’

“สุขภาพจิตที่ย่ำแย่ทำให้หลายครั้งเราพบว่าพวกเขามีปัญหาในครอบครัว บางช่วงก็มีปัญหาฆ่าตัวตายกันเยอะ” ดร.ชยันต์เล่า

จะออกไปหางานทำก็ยาก จะไปประเทศที่สามก็ยาก จะกลับประเทศตัวเองก็แทบเป็นไปไม่ได้ ชีวิตพวกเขาจึงติดแหง็กอยู่หลังรั้วลวดหนามของศูนย์พักพิง

“ช่วงหนึ่งเราเคยสำรวจว่ามีผู้ลี้ภัยต้องการกลับประเทศต้นทางมากน้อยเท่าไหร่ แต่ปัญหาที่พบคือ กระบวนการสำรวจความคิดเห็นไม่ได้ทำให้ผู้ลี้ภัยมีส่วนร่วม เพราะมีข้อจำกัดในการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระยะเวลาที่สั้นหรือความไม่เข้าใจภาษา ทำให้ผู้ลี้ภัยไม่ได้เข้าใจว่าเขามีทางเลือกอะไรบ้าง” ดร.ชยันต์เล่าให้ฟัง

“ตอนนั้นการไปประเทศที่สามเป็นไปไม่ได้แล้ว ก็เหลือแค่ว่าจะเดินทางกลับประเทศต้นทางหรืออยู่ในประเทศไทย แต่การเดินทางกลับต้นทางก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น จะกลับไปทำมาหากินบนที่ดินตัวเองได้หรือไม่ เนื่องจากหลักฐานเอกสารสิทธิก็ไม่ได้มีเป็นทางการ และตามกฎหมายพม่า ถ้าคนไม่ได้ใช้ที่ดิน 2-3 ปี ก็จะตกไปเป็นของรัฐ ที่ดินบางแห่งมีกับระเบิดอีก พวกเขาก็เลยไม่แน่ใจว่าจะกลับไปทำมาหากินได้หรือเปล่า”

“และการจะกลับไปตั้งถิ่นฐานก็ต้องมีความมั่นใจอีกว่าจะได้รับการคุ้มครองจากกองกำลัง โดยเฉพาะกลุ่ม KNU ถ้าไปอยู่แบบนั้น พวกเขาก็ไม่อยากจะอยู่ บางคนอาจจะต้องไปตั้งบ้านเรือนใกล้กับกลุ่มกองกำลังพม่า เขาก็รู้สึกไม่ไว้วางใจ เพราะฉะนั้นนโยบายการส่งกลับประเทศต้นทางของ UN ตอนนั้นปรากฏว่ามีคนสมัครใจกลับไม่ถึงพันคน แถมบางคนไปแล้ว ก็กลับมาอีก”

“นอกจากเหตุผลด้านสังคม ด้านที่ดิน ด้านการทำมาหากิน การเมืองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ยิ่งมีรัฐประหารในพม่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ความหวังที่จะได้กลับบ้านก็หายไปเลย ไปประเทศที่สามก็ไปไม่ได้แล้ว”

“ก็เหลือทางเดียวคือจะอยู่ในไทยได้อย่างไร” ดร.ชยันต์ทิ้งคำถามไว้

ศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัยการสู้รบบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

5.

“อยู่ที่นี่ ออกไปทำงานข้างนอกไม่ได้ อยู่ในนี้รอแต่เขาช่วยเหลือ ก็อยู่กันอย่างนั้นล่ะ”

ระหว่างฟัง ดร.ชยันต์ เล่าเรื่อง เราก็เจอผู้หนีภัยในค่ายคนหนึ่งอยู่แถวนั้น เราใช้เวลาสั้นๆ ก่อนที่เราจะต้องออกไปจากพื้นที่ พูดคุยกับเขา นั่นคือสิ่งที่เขาตอบกลับมา เมื่อเราถามถึงชีวิตเขาในนั้น

“แล้วหาเงินกันยังไง มีอาชีพอะไรไหม” เราถามเขา

“ไม่มี บางคนมีญาติอยู่อเมริกา เขาก็ส่งเงินมาให้ แต่อย่างพวกผมนี่ไม่มีญาติพี่น้อง ก็มีผมกับเมีย เมียผมก็ไม่มีครอบครัว เพิ่งแต่งงานกับผม มาอยู่กับผมที่นี่ได้สามปีเอง ยังไม่ได้ลงทะเบียนเลยด้วย” ชายคนนั้นตอบ

“ตอนนี้ครอบครัวผมมีสามคน มีลูกอีกคนด้วย ก็ไม่พอกินกัน จะออกไปข้างนอกทำงานก็ไม่ได้ เราก็ทำเป็นทุกอย่างนะ แต่ว่าทำไม่ได้” เขาพึมพำให้ฟัง

“ที่นี่เขาก็ช่วยเหลือนะ เมื่อก่อนเราได้ข้าวสาร แต่ตอนนี้ไม่ได้ ได้เป็นเงิน ประมาณ 200-300 บาท” เขาเล่าต่อ

“ต่อวัน?” เราถาม

“ต่อเดือน” คำตอบของเขาทำให้เราตกใจไปพักหนึ่ง

เรื่องเล่าจากชายคนนั้นสอดคล้องกับที่ ดร.ชยันต์เล่าว่า “ความช่วยเหลือจากองค์กรนานาชาติที่ให้ผู้ลี้ภัยจริงๆ ก็มีมากอยู่ แต่ระยะหลังมา ความช่วยเหลือก็ลดน้อยลง ปัญหาที่ตามมาคือการปันส่วนอาหารที่ลดน้อยลง ตอนนี้ก็ได้แค่คนละ 270 บาทต่อเดือน”

“แล้วที่เขาว่ากันว่าของในนี้ราคาแพง จริงไหมครับ” เราถามชายผู้หนีภัยคนนั้น

“จริง” เขาตอบ

“คนที่นี่พอออกไปซื้อของข้างนอก สมมติข้างขวดเขียนไว้ 10 บาท แต่พอเป็นที่นี่ ขายกัน 20 บาทบ้าง 18 บาทบ้าง หรืออย่างต่ำก็ 15 บาท”

“เขาบอกว่าเก็บเป็นค่ารถบ้างอะไรบ้าง จริงๆ ของจากโรงงานมาส่งถึงที่นี่เลยก็มีนะ แต่เขาก็เอาเงินอยู่ดีแหละ ขึ้นราคาอยู่ดี เขาอ้าง!”

“ในค่ายนี่ร้านขายของเยอะมั้ยครับ” เราถาม

“เยอะนะ ร้านเยอะ เขาก็ให้ขายได้ คนข้างในออกไปขายข้างนอกไม่ได้ใช่มั้ยล่ะ ก็ขายกันในนี้ คนที่ซื้อกินก็คนในนี้แหละ” เขาตอบ

“คนก็ขายกัน พอขายแล้ว ก็มีคนมาเก็บเงิน บอกว่าเป็นค่าขยะบ้าง ค่าอะไรบ้าง” เขาเล่าต่อ

“แล้วชีวิตคนในค่ายแย่ไหมครับช่วงนี้” เราถาม

“ตอนนี้ก็ธรรมดานะ ปกติ ก่อนหน้านี้ก็แย่อยู่หน่อย ตอนนี้ปกติขึ้น ไม่รู้เจ้าหน้าที่เขากลัวกันหรือยังไง หลังจากเกิดเรื่องวันนั้น เราก็อยู่กันดีขึ้นหน่อย พอออกไปทำงานข้างนอกได้บ้าง” เขาตอบ

เหตุการณ์ที่ชายคนนั้นพูดถึงคือวันที่ 15 ธันวาคม 2021 วันนั้นผู้หนีภัยหลายร้อยคนรวมตัวกันประท้วง ลามไปสู่เหตุจลาจล เผารถยนต์ รถจักรยนต์ อาคารที่พัก ป้อมจุดตรวจของเจ้าหน้าที่จนเสียหาย วันที่เราไปนั้น เศษซากตอตะโกจากความวุ่นวายเมื่อเดือนก่อนหน้า ยังปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐาน

วันนั้น ผู้หนีภัยสองคนขี่จักรยานยนต์พร้อมขนตู้เย็นท้ายรถกลับเข้าค่าย แต่เมื่อผ่านจุดตรวจ โดนเจ้าหน้าที่ต่อว่าเรื่องไม่ใส่หน้ากากอนามัย และยังยึดจักรยานยนต์ บางข่าวให้ข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่พยายามรีดไถเงิน และถีบจักรยานยนต์ล้มจนตัวรถและตู้เย็นที่ขนมาเสียหายหนัก เป็นชนวนให้ผู้หนีภัยออกมารวมตัวกันประท้วง

อาจเรียกได้ว่าเหตุการณ์วันนั้นคือฟางเส้นสุดท้ายของความไม่พอใจที่สั่งสมมายาวนาน โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้มาตรการคุมเข้มอย่างไม่สมเหตุสมผล และยังอาศัยช่วงเวลาของการล็อกดาวน์ ใช้อำนาจกดขี่ จนสร้างแรงกดดันต่อผู้หนีภัย อย่างการเรียกเก็บเงินจากผู้หนีภัยที่ผ่านเข้าออกค่าย รวมถึงการมีกลุ่มคนที่ควบคุมการค้าภายในค่ายอย่างเบ็ดเสร็จ ขึ้นราคาตามใจชอบ ซ้ำยังห้ามไม่ให้ซื้อของจากข้างนอก มีการเรียกเก็บเงินจากผู้หนีภัยที่หิ้วของข้างนอกเข้ามาในค่าย

เหตุการณ์วันนั้นนำไปสู่การสั่งย้ายข้าราชการผู้ทำหน้าที่หัวหน้าพื้นที่พักพิงแม่หละ โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบกรณีการปฏิบัติอย่างไม่สุจริตของเจ้าหน้าที่ นี่จึงอาจเป็นเหตุให้การควบคุมพื้นที่ค่ายผ่อนคลายลงอย่างที่ชายคนนั้นว่า

ด้วยเวลาที่เร่งรัด เราต้องเดินจากออกมาจากชายคนนั้น เราไม่ทันได้ถามชื่อแซ่ รู้แต่เพียงว่าเขามีอายุ 46 ปี

และรู้เพียงว่าเรื่องราวชีวิตของผู้หนีภัยในค่ายแม่หละจากที่ชายคนนี้เล่าให้ฟัง แม้จะสั้นๆ แต่หลายเรื่องก็สอดคล้องกับสิ่งที่เคยได้ยินมา และสิ่งที่ ดร.ชยันต์เล่าให้ฟัง

ศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัยการสู้รบบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

6.

“ผมว่ารัฐไทยมองแค่มิติเดียวนะ คือมองเรื่องความมั่นคงชายแดน แต่ไม่มองด้านการพัฒนา” ก่อนจะออกจากพื้นที่ ดร.ชยันต์พูดกับเรา เสมือนจะตอบคำถามที่เขาเองทิ้งท้ายไว้ก่อนหน้านี้

“ผู้ลี้ภัยอยู่ที่นี่กันมา 30 กว่าปีแล้ว ผมว่ามันมาถึงจุดที่เราอาจต้องปรับแนวคิดเกี่ยวกับการมองผู้ลี้ภัย แทนที่จะมองว่าเขาเป็นแค่ผู้นั่งรอความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม น่าจะมองว่าเราควรใช้นโยบายในการพัฒนาพวกเขา ทำให้เขาได้ดึงศักยภาพของเขาออกมา” ดร.ชยันต์พูดต่อ

“หลายคนที่นี่เติบโตในค่าย ได้เรียนหนังสือ หลายคนพูดภาษาพม่าได้ พูดภาษากะเหรี่ยง ภาษาอังกฤษก็ได้ บางคนมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ไอที ถ้าให้เขามีโอกาสเข้ามาทำงานเพื่อเป็นประโยชน์ให้กับระบบเศรษฐกิจได้ ก็จะทำให้เราได้ใช้ประโยชน์สูงสุด ที่นี่มีเด็กจบมัธยมหลายพันคนต่อปีเลยนะ เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรกับประชากรเหล่านี้”

“ถ้าเราดูเศรษฐกิจตอนนี้จะเห็นว่าแม่สอดกำลังเติบโต มีการตัดถนนใหญ่ให้เราส่งสินค้าข้ามไปสู่พม่าได้ และต่อไปทางอินเดียได้เลย ตอนนี้จีนก็เข้ามาแล้ว เรายังช้ากว่าเขาอยู่ เยื้องกับแม่สอด จีนก็มาเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วที่เมืองชเวก๊กโก่ ขนาดใหญ่มาก ถ้าจีนใช้ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ BRI (Belt and Road Initiative) แม่สอดต้องเปลี่ยนไปแน่ แล้วเราจะหากำลังพลมาทำงานในเขตเศรษฐกิจตรงนี้อย่างไร เราก็ต้องดึงเอาศักยภาพของคนเหล่านี้มาใช้ เพราะตอนนี้เราขาดแคลนแรงงาน เราจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ได้ใช้ความสามารถให้เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจเราตรงนี้”

“จริงๆ คนเหล่านี้อาจจะไม่จำเป็นต้องทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษเสมอไป จะทำงานในเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติก็ได้” ดร.ชยันต์พูดต่อ

“คนที่อยู่ชายแดน นอกเหนือจากมีส่วนในการค้าขายแลกเปลี่ยนกันแล้ว น่าจะมีส่วนในการดูแลทรัพยากรชายแดน อย่าลืมว่าตรงนี้เป็นเขตที่ยาวติดต่อไปถึงแนวเขตป่าที่เชื่อมกับแก่งกระจาน พวกนี้เป็นผืนป่าที่มีความสำคัญ เราจะทำอย่างไรที่จะรักษาผืนป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ ยิ่งถ้าปล่อยให้มีสงคราม หรือมีต่างชาติที่ต้องการดูดซับทรัพยากรไป พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ตรงนี้ก็จะหมดไป”

“เปลี่ยนความคิดจากที่มองว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย มามองว่าเขาเป็น ‘ผู้ร่วมพัฒนา’ ดีกว่า”

สถานการณ์รัฐประหารที่ยังยืดเยื้อ เสียงปืน เสียงระเบิดจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเมยที่ดังต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน ตอกย้ำว่าความเป็นไปได้ที่เหล่าผู้หนีภัยสงครามในค่ายพักพิงเหล่านี้จะเดินทางกลับไปยังบ้านเกิด แทบจะเหลือศูนย์ ทางเดียวที่เหลือของพวกเขาจึงเป็นอย่างที่ ดร.ชยันต์ว่า คืออยู่ที่ประเทศไทย

คำถามคือเป็นไปได้ไหมที่พวกเขาจะได้ดำรงอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความหวัง ในฐานะ ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้ตัวเองและสังคมได้เหมือนเช่นมนุษย์คนอื่นๆ

คำตอบหลักๆ คงอยู่ที่ว่า รัฐไทยจะปรับความคิด เปลี่ยนมุมมอง ลบล้างอคติเดิมๆ ได้หรือไม่

ผู้หนีภัยสงครามชาวกะเหรี่ยง บนผืนดิน No Man’s Land ริมแม่น้ำเมย แถบตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

และที่น่าห่วงนอกเหนือไปจากกลุ่มผู้หนีภัยที่ติดค้างอยู่ตามค่ายพวกนี้มานาน 2-3 ชั่วรุ่น ก็คือกลุ่มผู้หนีภัยใหม่ที่เพิ่งหลบกระสุน หลบระเบิด จากการสู้รบหลังรัฐประหาร เข้ามาพักพิงบนแผ่นดินร้างตามริมน้ำเมย พวกเขากำลังจะหลุดเข้าสู่บ่วงของการเป็นผู้หนีภัยชั่วคราว (ที่ไม่ชั่วคราว) เหมือนกลุ่มคนที่มาก่อนหน้าพวกเขาหรือไม่

“จริงๆ แล้ว คนที่เพิ่งหนีเข้ามาหลังรัฐประหารไม่ได้เกี่ยวกับคนในค่ายเลย คนละกลุ่มกันเลย แต่แน่นอนเขาอาจจะมีจิตใจร่วมกัน มีความเห็นใจสงสารกัน เพราะก็เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน แต่สาเหตุที่พวกเขาอพยพเข้ามามันแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องช่วงเวลาและสถานการณ์ สองกลุ่มนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน ถ้าใครมองว่าพอมีคนอพยพเข้ามาใหม่ จะทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นมา ผมว่าเป็นไปไม่ได้นะ” ดร.ชยันต์ตอบคำถามข้อนี้

สถานการณ์ของผู้ลี้ภัยในค่ายใหญ่ที่มีอยู่เดิมกับผู้ลี้ภัยที่เพิ่งเข้ามาจากการสู้รบหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กลุ่มแรกอยู่ในค่ายมานานจนยากที่จะกลับไปใช้ชีวิตยังบ้านเกิด ส่วนกลุ่มหลังมีที่ดินทำกิน มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เพียงแต่ต้องทิ้งหนีมาด้วยภัยสงคราม และเฝ้ารอวันที่เสียงปืนจะสงบ เพื่อจะได้ข้ามลำน้ำกลับไปใช้ชีวิตตามครรลองเดิม

ทำให้นึกถึงคำพูดของ Asoe ชายผู้หนีภัยสงครามระลอกล่าสุดบนผืนดินร้างริมน้ำเมยที่เราได้คุยด้วย

“เราทุกคนที่นี่มีความหวังเต็มที่นะว่าจะได้กลับบ้าน”

เช่นกัน เราก็มีความหวังว่าการสู้รบบนแผ่นดินรัฐกะเหรี่ยงจะสงบลง พวกเขาจะได้กลับไปใช้ชีวิตปกติอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะเป็น ไม่ต้องมีชีวิตติดชะงักอยู่หลังแนวรั้วไม้ รั้วลวดหนาม อย่างที่ไม่มีวันรู้ได้เลยว่า อีกนานเท่าไหร่จะได้ออกไปโบยบินอย่างเป็นอิสระ

ผู้หนีภัยสงครามชาวกะเหรี่ยง บนผืนดิน No Man’s Land ริมแม่น้ำเมย แถบตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

7.

เข้าสู่ปลายเดือนมกราคม สองสัปดาห์หลังจากวันที่เราลงพื้นที่อำเภอแม่สอด เราได้ข่าวว่า พื้นที่พักพิงชั่วคราวแห่งสุดท้ายที่คอกวัวเมยโค้ง ปิดตัวลงไปแล้วเมื่อวันที่ 28 มกราคม หลังผู้หนีภัยกลุ่มสุดท้ายสมัครใจเดินทางกลับ

หากแต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งบอกว่า เจ้าหน้าที่ผลักดันให้กลุ่มผู้หนีภัยเดินทางกลับอย่างไม่ทันตั้งตัว โดยให้เหตุผลว่าไม่มีการสู้รบแล้ว ทั้งที่เสียงปืนยังคงดังอยู่

บางส่วนเดินทางกลับประเทศเรียบร้อยแล้ว แต่อีกจำนวนมากยังคงไม่กล้าข้ามกลับไป เพราะกังวลความปลอดภัย ทั้งจากกับระเบิดที่หลงเหลือ และทหารพม่าที่ยังคงตรึงกำลังรายล้อมพื้นที่อยู่

พวกเขาจึงยังคงแยกย้ายกระจัดกระจาย บ้างไปยังพื้นที่อื่นๆ บนเขตแดนพม่า บ้างสมทบกับกลุ่มผู้หนีภัยเดิมที่พักพิงตามผืนดิน No Man’s Land ริมแม่น้ำเมย

การหนีภัยของชาวกะเหรี่ยงจึงยังคงดำเนินต่อไปอย่างที่ไม่อาจรู้เลยว่าจะไปสิ้นสุด ณ เวลาใด

ผู้หนีภัยสงครามชาวกะเหรี่ยง บนผืนดิน No Man’s Land ริมแม่น้ำเมย แถบตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save