fbpx
กินเนื้อย่างสะเทือนถึงไฟป่าแอมะซอน

กินเนื้อย่างสะเทือนถึงไฟป่าแอมะซอน

[et_pb_section admin_label=”section”] [et_pb_row admin_label=”row”] [et_pb_column type=”4_4″][et_pb_text admin_label=”Text”]

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หากอเมริกาเหนือมีทรัมป์ที่ไม่สนใจปัญหาโลกร้อน แถมยังสนับสนุนให้โลกร้อนขึ้น อเมริกาใต้ก็มีประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู แห่งบราซิล ที่สนับสนุนให้ทำลายป่าแอมะซอนเพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ถั่วเหลืองจนเกิดไฟป่าลุกลามไปทั่ว

อวสานของโลกมาเร็วจริงๆ

เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เขาประกาศเลยว่า ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมทั้งความเสียหายที่เกิดกับสุขภาพของประชาชน และยังตัดงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมหาศาล

หลังจากนั้นไม่นาน ก็ประกาศให้สหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส อันเป็นกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศร่วมกับอีก 187 ประเทศ ที่ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ทรัมป์มองว่านโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเพิ่มต้นทุนให้กับการผลิตสินค้าและทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯต้องถดถอย

ผู้นำสหรัฐคนนี้ทำทุกอย่างเพื่อสวนกระแสการแก้ปัญหาโลกร้อน

ห่างกันไม่นาน การบุกรุกพื้นที่ป่าแอมะซอนหลายร้อยล้านไร่ในบราซิล อันเป็นปัญหาอยู่แล้วมายาวนาน ก็หายนะหนักมากขึ้น เมื่อ ฌาอีร์ โบลโซนารู นักการเมืองขวาจัด ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

เขาประกาศนโยบายจะเปลี่ยนป่าแอมะซอนให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด ด้วยการสนับสนุนการบุกรุกป่า เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร เหมืองแร่ และเลี้ยงสัตว์

ผู้นำฝ่ายขวารายนี้ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน สนับสนุนให้ตัดป่าอย่างมโหฬาร อาทิ การลดค่าปรับให้แก่ผู้ที่ฝ่าฝืนตัดไม้ทำลายป่า ยกเลิกสภาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สั่งย้ายข้าราชการปากกล้าที่รายงานปัญหาการทำลายป่าแอมะซอน

ไม่กี่เดือนผ่านไป มีการบุกรุกทำลายป่าร่วมสามสิบล้านไร่ เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตร เหมืองแร่ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และความแห้งแล้งของฤดูกาล เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไฟป่าเกิดขึ้นลุกลามอย่างรุนแรงจนกลายเป็นไฟไหม้ป่าครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ เกิดไฟป่ามากกว่า 74,000 ครั้ง ไฟลุกไหม้ติดต่อกันตั้งแต่ต้นปี จำนวนไฟป่าเพิ่มจากปีที่แล้วถึง 84 เปอร์เซ็นต์ และยังไม่มีหนทางจะดับง่ายๆ

แต่ละนาที พื้นที่ป่าแอมะซอนขนาด 1 สนามฟุตบอลถูกไฟป่าเผาผลาญ คาดว่าขณะนี้มีพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ไปแล้วกว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร หรือเกือบสองล้านไร่

หมอกควันไฟได้แผ่ขยายปกคลุมท้องฟ้าไปทั่วบราซิล มหานครเซาท์เปาโล ห่างออกไปทางใต้ไกลถึง 2,700 กิโลเมตร ยังปกคลุมไปด้วยหมอกควัน

ป่าดิบชื้นทั้งหมดในโลก ครึ่งหนึ่งอยู่ในป่าแอมะซอนบนพื้นที่กว่า 5,500,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 9 ประเทศ และประมาณร้อยละ 60 อยู่ในประเทศบราซิล

ป่าแอมะซอนได้ชื่อว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก เป็นที่อยู่ของสัตว์จำนวนถึง 1 ใน 10 ของทุกชนิดบนโลก มีต้นไม้ประมาณ 390,000 ล้านต้น และพันธุ์พืชประมาณ 40,000  ชนิด ทั้งยังเป็นแหล่งกักเก็บและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนถึงปีละ 2,000 ล้านตัน

ที่สำคัญคือ ป่าแอมะซอนเปรียบเสมือน ‘ปอดของโลก’ เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนสำคัญให้กับชาวโลกถึงร้อยละ 20

ป่าดิบผืนใหญ่ที่สุดในโลกกำลังจะตายลงเรื่อยๆ จากความแห้งแล้งและไฟป่า นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20-40 ปี กว่าจะฟื้นฟูให้ป่าแอมะซอนกลับคืนมาได้

แต่อันที่จริง ต้นเหตุของปัญหาคงไม่ต่างจากปัญหาหมอกควันพิษจากไฟป่าในเมืองไทยเมื่อต้นปีเลย สาเหตุคือการบุกรุกป่า เผาป่า เปลี่ยนพื้นที่เป็นไร่ข้าวโพด เพื่อเป็นอาหารสัตว์

ที่ผ่านมา ป่าแอมะซอนถูกเผา บุกรุกเพื่อแผ้วถางป่าให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง เพื่อเป็นอาหารสัตว์มากกว่าปีละ 20  ล้านไร่

ทุกวันนี้ หลังจากประธานาธิบดีคนปัจจุบันขึ้นครองตำแหน่ง บราซิลกลายเป็นประเทศที่ส่งออกเนื้อรายใหญ่ที่สุดของโลก เพื่อตอบสนองความต้องการเนื้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บราซิลส่งเนื้อวัวเป็นสินค้าขาออกมากที่สุดถึง ปีละ 1.64 ล้านตัน เป็นมูลค่าสองแสนกว่าล้านบาท โดยส่งไปขายที่ฮ่องกงและจีนถึงร้อยละ 43

คนอเมริกันเคยครองแชมป์ประเทศที่กินเนื้อมากที่สุดในโลก คือคนละ 120 กิโลกรัมต่อปี แต่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อประเทศจีนกลายเป็นผู้บริโภคเนื้อสัตว์อันดับต้นๆ ของโลก

หลายสิบปีก่อน เศรษฐกิจของประเทศจีนยังไม่ได้ดี คนยากจนเยอะ เนื้อสัตว์ราคาแพง คนจีนกินเนื้อน้อยปีละสองสามมื้อ เนื้อเป็นอาหารของคนมีอันจะกิน เรียกกันว่า เนื้อเงินล้าน แต่ตอนนี้เศรษฐกิจดี คนจีนกินเนื้อเกือบทุกวันจนเป็นเรื่องปกติ

เมื่อสามสิบปีก่อนประชากรจีนมีประมาณ 1,000 ล้านคน กินเนื้อสัตว์เฉลี่ยคนละ 13.5 กิโลกรัมต่อปี ตอนนี้ประชากรเพิ่มเป็น 1,400 ล้านคน เฉลี่ยกินเนื้อสัตว์คนละ 63 กิโลกรัมต่อปี คิดเป็นปริมาณเนื้อรวมกันร่วม 100 ล้านตันต่อปี หรือเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อสัตว์ที่ประชากรทั้งโลกกิน

ปัจจุบันการบริโภคเนื้อของคนทั่วโลกเป็นขาขึ้นในรอบห้าสิบปีที่ผ่านมา ทั่วโลกกินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 70 ล้านตันเป็น 300ล้านตันต่อปีจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจาก 3 เป็น 7 พันล้านคน และเมื่อรายได้ดีขึ้น การบริโภคเนื้อก็ตามมา ดังตัวอย่างประเทศจีน

เมื่อความต้องการบริโภคเนื้อของคนจีนมีมากขึ้น ก็กระทบกับภูมิภาคทั่วโลก ความต้องการข้าวโพด ถั่วเหลือง เพื่อทำอาหารสัตว์จึงเพิ่มขึ้นมหาศาล จีนนําเข้าผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองจากบราซิลถึงร้อยละ 20 ของถั่วเหลืองทั้งหมดที่บราซิลส่งออก เช่นเดียวกับที่จีนไปตั้งบริษัทรับซื้อข้าวโพดเพื่อทำอาหารสัตว์จากรัฐฉาน ในประเทศเมียนมาร์ และรัฐฉานในฤดูแล้งที่ผ่านมามีการบุกรุกเผาป่ามหาศาลเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

ล่าสุดหลายประเทศในยุโรปเริ่มระงับการสั่งเนื้อวัวจากประเทศบราซิล จนกว่ารัฐบาลจะหามาตรการดับไฟป่าอย่างจริงจัง แต่ดูเหมือนบราซิลไม่สนใจ ตราบใดที่ความต้องการตลาดเนื้อทั่วโลกยังเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา

ยิ่งคนกินเนื้อมากเท่าไร การทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดและถั่วเหลืองก็ลุกลามไปเรื่อยๆ

ป่าแอมะซอนและป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนมีชะตากรรมเดียวกัน

กินเนื้อย่าง น้ำตก หรือเนื้อกระทะวันนี้ พึงระลึกเสมอว่า มีส่วนในการทำลายป่าแอมะซอน และป่าดิบชื้นทั้งโลก[/et_pb_text][/et_pb_column] [/et_pb_row] [/et_pb_section]

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save