fbpx

มาเรีย อุลฟะฮ์ : ผู้หญิงหนึ่งเดียวในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินโดนีเซีย

“พลเมืองทุกคนมีสถานภาพเหมือนกันในกฎหมายและการปกครอง และมีหน้าที่ต้องเคารพกฎหมายและการปกครองโดยไม่มีข้อยกเว้น”

รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ค.ศ. 1945 มาตราที่ 27 วรรค 1

ข้อความข้างต้นที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย มาจากการผลักดันของผู้หญิงที่ชื่อ มาเรีย อุลฟะฮ์  (Maria Ulfah) ที่เน้นย้ำว่าผู้หญิงและผู้ชายควรมีสิทธิพื้นฐานเท่าเทียมกัน ควรถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันและต้องได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ เธอยืนยันความเห็นนี้ในการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซียในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1945

อินโดนีเซียประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945 และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 18 สิงหาคม ก่อนหน้านั้นสองเดือนเศษ มีการก่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเอกราชชองอินโดนีเซีย (Investigating Committee for Preparatory Work for Indonesian Independence) หรือเรียกโดยย่อว่า BPUPKI โดยกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ายึดครองดัตช์อีสอินดีสจากเจ้าอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คณะกรรมการชุดนี้ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 62 คน ในจำนวนสมาชิกทั้ง 62 นี้มีผู้หญิงอยู่เพียงสองคน คือ มาเรีย อุลฟะฮ์ และ ซีตี ซูกัปตีนะฮ์ ซูนาร์โจ (Siti Sukaptinah Soenarjo) ในช่วงระหว่างประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเอกราชของอินโดนีเซีย สมาชิกของ BPUPKI ถูกแบ่งออกเป็นคณะกรรมการสามด้านเพื่อทำงานในแต่ละด้าน มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการศึกษาด้านเศรษฐกิจและการคลัง และคณะกรรมการศึกษาด้านการพัฒนาประเทศ ในบทความนี้จะขอกล่าวถึง มาเรีย อุลฟะฮ์ เพียงคนเดียว เพราะเธอเป็นเพียงผู้หญิงหนึ่งเดียวในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่อินโดนีเซียใช้ในปัจจุบัน โดยมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ช่วงค.ศ. 1999-2002

มาเรีย อุลฟะฮ์ เป็นใคร ทำไมได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

มาเรีย อุลฟะฮ์ เกิดที่เมืองเซอรัง (Serang) บันเต็น (Banten) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1911 ในครอบครัวขุนนางเมืองเซอรัง เธอเป็นลูกคนที่สองจากบรรดาพี่น้องสี่คน ด้วยภูมิหลังของครอบครัวทำให้เธอได้รับสิทธิพิเศษในด้านการศึกษา เธอได้รับการศึกษาขั้นต้นที่เมืองคูนิงงัน (Kuningan) ที่ซึ่งบิดาของเธอดำรงตำแหน่งปูบาตี (Bupati – ในปัจจุบันคือตำแหน่งนายอำเภอ ในยุคนั้นคือผู้ว่าราชการเมือง) หลังจากนั้นบิดาได้ส่งเธอไปอยู่ที่ปัตตาเวีย (จาการ์ตาในปัจจุบัน) กับครอบครัวชาวดัตช์ ทำให้เธอได้ศึกษาในโรงเรียนของดัตช์ ซึ่งเด็กผู้หญิงพื้นเมืองที่จะมีโอกาสเช่นเธอมีน้อยมาก ต่อมาในค.ศ. 1929 บิดาของเธอถูกส่งไปศึกษาเกี่ยวกับกิจการสหกรณ์ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เธอก็ได้ติดสอยห้อยตามบิดาไปด้วย และเป็นช่วงเวลาที่เธอจบการศึกษาชั้นมัธยมและกำลังต้องเลือกสาขาที่จะศึกษาต่อพอดี มาเรีย อุลฟะฮ์จึงได้ขอบิดาศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยไลเดน (Leiden University) แม้ว่าบิดาของเธอจะต้องการให้เธอเรียนแพทย์ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างยิ่งของยุคสมัยนั้นก็ตาม แต่เธอก็ยืนยันว่าต้องการเรียนกฎหมาย และในที่สุดเธอก็สำเร็จการศึกษาในค.ศ. 1933 ได้เป็นนิติศาสตรบัณฑิตหญิงคนแรกของอินโดนีเซีย ช่วงที่ศึกษาที่เนเธอร์แลนด์เธอได้เข้าร่วมขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซียและได้รู้จักนักชาตินิยมหลายคนที่นั่น เช่น ฮัตตา และ ซูตัน ชะฮ์รีร์ (Sutan Sjahrir)

เมื่อสำเร็จการศึกษา เธอกลับมายังอินโดนีเซียค.ศ. 1934 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ขบวนการชาตินิยมกำลังเข้มข้น ก่อนหน้านี้หกปีได้เกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง ในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1928 นั่นคือเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า ‘การสาบานของเยาวชน’ (Sumpah Pemuda) ที่บรรดานักเรียน นักศึกษา นักชาตินิยมมาประชุมกันและได้เห็นพ้องต้องกันว่าดินแดนดัตช์อีสอินดีสอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์จะรวมตัวกันเป็นชาติเดียว ดินแดนเดียว และภาษาเดียวคือภาษาอินโดนีเซีย จากเหตุการณ์นี้ทำให้วันที่ 28 ตุลาคมถือเป็นวันกำเนิดภาษาอินโดนีเซีย แม้กระนั้นก็ตามในช่วงเวลานั้นภาษาอินโดนีเซียที่เป็นมาตรฐานยังไม่สมบูรณ์ และคนจำนวนมากยังคงใช้ภาษาของกลุ่มตนเองหรือภาษาดัตช์สำหรับผู้ที่ได้รับการศึกษา มาเรีย อุลฟะฮ์มุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะสนับสนุนการใช้ภาษาอินโดนีเซีย

หลังกลับมาบ้านเกิด เนื่องด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมที่บ่มเพาะจนแรงกล้า มาเรีย อุลฟะฮ์ จึงปฏิเสธที่จะสอนในโรงเรียนหรือวิทยาลัยของดัตช์ เธอกลับเลือกเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยประชาชน (Perguruan Rakyat) และวิทยาลัยมูฮัมหมัดดิยะฮ์ (Perguruan Muhammadiyah) สถาบันการศึกษาของชาวพื้นเมือง เธอสอนช่วงระหว่างค.ศ. 1934-1942 พร้อมๆ กับทำงานเคลื่อนไหวเพื่อกลุ่มผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานเย็บผ้า เธอเขียนงานหลายชิ้นที่แตะประเด็นปัญหาที่ผู้หญิงอินโดนีเซียประสบ เช่น การบังคับแต่งงาน ปัญหากรรมกรหญิง และการขาดตัวแทนผู้หญิงในสภาดัตช์อีสอินดีส เธอชูประเด็นเรื่องการปกป้องผู้หญิงจากการถูกละเมิดโดยกฎหมายศาสนาที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ชายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน หรือการที่ฝ่ายสามีสามารถขอหย่ากับภรรยาได้โดยไม่ต้องมีเหตุผล เรื่องนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความฝังใจของเธอในวัยเด็ก ในช่วงที่เธอศึกษาที่เมืองคูนิงงัน ป้าของเธอได้ไปเยี่ยมไปดูแล และจู่ๆ ป้าของเธอก็ได้รับจดหมายขอหย่าจากสามีโดยไม่มีเหตุผล หลังจากนั้นป้าเธอก็เสียชีวิต ทำให้เธอเศร้าโศกเป็นอันมากและคิดว่านี่คือความไม่ยุติธรรมที่ผู้หญิงต้องเผชิญ

ในค.ศ. 1942 เมื่ออินโดนีเซียถูกญี่ปุ่นยึดครองช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มาเรีย อุลฟะฮ์ได้ออกจากงานสอนและเป็นผู้ช่วยด้านกฎหมายของซูโปโม (Soepomo – นักกฎหมายคนสำคัญของอินโดนีเซีย ผู้ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมคนแรกของอินโดนีเซีย) และเมื่อญี่ปุ่นก่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเอกราชชองอินโดนีเซีย มาเรีย อุลฟะฮ์ก็ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

ในการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มาเรีย อุลฟะฮ์ได้กล่าวถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมสำหรับพลเมืองทั้งผู้หญิงและผู้ชายดังที่ได้กล่าวในตอนต้นบทความนี้ ในตอนแรกซูการ์โนปฏิเสธแนวความคิดของเธอ เพราะเขาเห็นว่าพลเมืองทั้งหญิงและชายมีความเท่าเทียมกันอยู่แล้ว แต่มาเรีย อุลฟะฮ์พยายามอธิบายเน้นย้ำถึงความสำคัญที่ต้องระบุในรัฐธรรมนูญ และเธอยังได้รับการสนับสนุนจากซูโปโม  ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในที่สุดสิ่งที่เธอเสนอก็ได้รับการยอมรับและถูกเขียนอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ

หลังอินโดนีเซียเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ มาเรีย อุลฟะฮ์ ได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีซูตัน ชะฮ์รีร์ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกิจการสังคม เป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินโดนีเซียในขณะอายุ 34 ปี เธอดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1946 – 26 มิถุนายน ค.ศ. 1947 หลังจากนั้นเธอยังคงทำงานกับรัฐบาลอินโดนีเซียในตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมายจนเกษียณ และเธอยังดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้หญิงอินโดนีเซีย (Indonesian Women’s Congress / Kongres Wanita Indonesia) หรือ Kowani ช่วงค.ศ. 1950-1961

มาเรีย อุลฟะฮ์ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทเบื้องหลังการประชุมระหว่างรัฐบาลสาธารณรัฐอินโดนีเซียกับรัฐบาลดัตช์อีสอินดีส (เนเธอร์แลนด์) โดยมีอังกฤษเป็นตัวกลางช่วยไกล่เกลี่ยในความขัดแย้งเรื่องการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย ซึ่งผลออกมาเรียกว่า ‘ข้อตกลงลิงการ์จาตี’ (Linggarjati Agreement) ทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946 เป็นข้อตกลงที่เนเธอร์แลนด์ยอมรับอำนาจของรัฐบาลสาธารณรัฐอินโดนีเซียในเกาะชวา มาดูราและสุมาตรา ข้อตกลงมีชื่อตามสถานที่จัดการประชุม ตอนแรก เนเธอร์แลนด์กับอินโดนีเซียตกลงกันไม่ได้เรื่องสถานที่ประชุม เนเธอร์แลนด์เสนอให้จัดการประชุมที่จาการ์ตา แต่อินโดนีเซียไม่เห็นด้วย ในขณะที่อินโดนีเซียเสนอให้ประชุมที่ยอกยาการ์ตา แต่เนเธอร์แลนด์ไม่ยอมรับเช่นกัน ในที่สุดมาเรีย อุลฟะฮ์ เป็นผู้เสนอให้จัดการประชุมที่หมู่บ้านลิงการ์จาตี ในเขตคูนิงงันบ้านของเธอ เธอรับประกันความปลอดภัยสำหรับการประชุมและผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน

ด้านชีวิตครอบครัว มาเรีย อุลฟะฮ์สมรสสองครั้ง ครั้งแรกกับ ระเด่น ซันโตโซ วีโรดีฮาร์โจ (Raden Santoso Wirodihardjo) เมื่อค.ศ. 1938 จนถึงค.ศ.1946 ทำให้หลายคนเรียกเธอว่า มาเรีย อุลฟะฮ์ ซันโตโซ จากชื่อสามีคนแรกของเธอ มาเรีย อุลฟะฮ์สมรสครั้งที่สองกับ ซูบาดิโย ซัสโตรซาโตโม (Soebadio Sastrosatomo) นักการเมืองฝ่ายซ้ายของพรรคสังคมนิยมอินโดนีเซีย (Indonesian Socialist Party) เมื่อค.ศ. 1964 การเรียกชื่อของเธอตามสื่อต่างๆ จึงปรากฏทั้งแบบ มาเรีย อุลฟะฮ์ ซันโตโซ และ มาเรีย อุลฟะฮ์  ซูบาดิโย ซัสโตรซาโตโม แบบแรกเป็นที่แพร่หลายมากกว่า แต่ไม่ว่าจะแบบใดก็ยึดโยงกับชื่อของสามี มาเรีย อุลฟะฮ์ใช้ชีวิตบั้นปลายหลังเกษียณในจาการ์ตา เธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1988 สิริรวมอายุ 76 ปี

การแต่งงานและการหย่าร้างในความคิดของ มาเรีย อุลฟะฮ์

มาเรีย อุลฟะฮ์ แข็งขันในการเรียกร้องสิทธิเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะด้านชีวิตครอบครัวมาโดยตลอด ช่วงค.ศ. 1938 ปีเดียวกับการสมรสครั้งแรกของเธอ เธอได้ผลักดันการปฏิรูปกฎหมายสมรสเพื่อปกป้องสิทธิของผู้หญิง และกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านร่างกฎหมายและบังคับใช้ในค.ศ.1941 ต่อมาเธอได้เขียนเก้าข้อของการหย่าร้างเรียกว่า ‘ข้อตกลงที่ทำขึ้นโดยว่าที่เจ้าบ่าว ซึ่งจะรวมอยู่ในใบสำคัญการสมรสเป็นสัญญาว่าจะหย่าหากมีเงื่อนไขบางประการเกิดขึ้นในอนาคต’ เก้าข้อสัญญาที่มาเรีย อุลฟะฮ์ เสนอได้แก่

  1. ทิ้งร้างภรรยานานติดต่อกันหกเดือน
  2. หรือไม่ส่งเสียเลี้ยงดูภรรยาเป็นเวลาสามเดือน
  3. หรือทำร้ายร่างกายภรรยา
  4. หรือไม่สนใจภรรยา
  5. หรือประพฤติผิดทางเพศ
  6. หรือเมาสุรา ติดการพนัน
  7. หรือต้องโทษจำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป
  8. หรือมีภรรยาอื่นอีก
  9. หรือมีข้อพิพาทอื่นๆ ที่ไม่สามารถตกลงกันได้

หากสามีกระทำการใดๆ ในข้อใดข้อหนึ่งนี้ ภรรยาสามารถเรียกร้องให้สามีปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ได้นิยามนี้ได้ถูกระบุไว้ในบทบัญญัติมาตรา 1 ตัวอักษร (e) ในประมวลกฎหมายอิสลามที่ถูกรวบรวมขึ้นตามคำสั่งของรัฐบาลในค.ศ. 1991

ปัญหาของความไม่เท่าเทียมหลายชั้นที่สะท้อนผ่านบทบาทมาเรีย อุลฟะฮ์ ซันโตโซ

บรรดานักชาตินิยมอินโดนีเซียมักจะเป็นผู้ชาย หรือเป็นผู้ชายที่มักเป็นที่รู้จักในพื้นที่สื่อต่างๆ มากกว่าผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นแบบเรียน หนังสือประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งสิ่งก่อสร้าง เช่น สนามบินซูการ์โน ฮัตตา ทั้งที่ในขบวนการชาตินิยมก็มีผู้หญิงเช่นกัน แต่ก็อาจจะเป็นการพูดเกินจริงไปหากจะบอกว่าไม่มีพื้นที่ให้กับนักชาตินิยมที่เป็นผู้หญิงเลย เราอาจจะเคยได้ยินชื่อ คาร์ตีนี (Kartini) หรือ เดวี ซาร์ตีกา (Dewi Sartika) ผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิด้านการศึกษาของเด็กผู้หญิงอินโดนีเซีย แต่หากเทียบสัดส่วนแล้วนักชาตินิยมที่เป็นผู้ชายเป็นที่รู้จักมากกว่าอย่างเทียบไม่ได้ และที่ซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงที่เข้าไปมีบทบาทในขบวนการชาตินิยมหรือเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ มักเป็นชนชั้นสูงที่มีโอกาสได้สัมผัสกับการศึกษาแบบตะวันตก มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าอาณานิคมชาวยุโรป เป็นอภิสิทธิ์ชนในสังคม

แม้ชื่อเสียงของมาเรีย อุลฟะฮ์ อาจจะไม่ได้เทียบเท่าคาร์ตีนี หรือ เดวี ซาร์ตีกา ซึ่งทั้งสองได้รับการยกย่องให้เป็นวีรสตรีแห่งชาติ แต่สิ่งที่มาเรีย อุลฟะฮ์ ได้ทำเพื่อต่อสู้สิทธิของผู้หญิงอินโดนีเซียก็สมควรได้รับการบันทึกไว้เช่นกัน อย่างไรก็ตามความเหมือนของผู้หญิงทั้งสามคนนี้คือเป็นชนชั้นสูงและเป็นชาวชวาผู้ซึ่งได้รับการศึกษาแบบตะวันตก ซึ่งผู้หญิงน้อยคนในยุคนั้นจะสามารถทำได้ บทบาทของมาเรีย อุลฟะฮ์ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศระหว่างชายและหญิงในสังคมการเมืองอินโดนีเซียเท่านั้น หากยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างชนชั้น การเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาทั้งเด็กผู้ชายและผู้หญิงพื้นเมืองที่ฐานะยากจน การกระจายรายได้และการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเกาะชวากับเกาะรอบนอกอีกด้วย ซึ่งก็ยังดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้


ข้อมูลประกอบการเขียน

Ahmad Naufal Dzulfaroh, “Mengenal Sosok Maria Ufah Soebadio, Menteri Perempuan Pertama Indonesia dan Pejuang Kaum Wanita,” Kompas, 13 February 2023, https://www.kompas.com/tren/read/2023/02/13/080500765/mengenal-sosok-maria-ulfah-soebadio-menteri-perempuan-pertama-indonesia-dan?page=all

G. A. Ohorella, Sri Sutjiatiningsih and Muchtaruddin Ibrahim, Peranan Wanita Indonesia dalam Masa Pergerakan Nasional, Jakarta: Departeman Pendidikan dan Kebudayaan Direktorat Sejarah dan Nilai Tradisional Proyek Inventarisasi dan Dokumentasi Sejarah Nasional, 1992.

George McT. Kahin, “In Memoriam: Maria Ullfah Soebadio, 1911-1988,” Indonesia, No. 47 (Apr., 1989), 118-120.

Mohammad Azharuddin, “Maria Ullfah: Sarjana Hukum Perempuan Pertama Indonesia,” YoursaySuara, 21 October 2021, https://yoursay.suara.com/kolom/2021/10/21/100435/maria-ullfah-sarjana-hukum-perempuan-pertama-indonesia#:~:text=Seperti%20diketahui%2C%20dari%20seluruh%20anggota,Siti%20Sukaptinah%20dan%20Maria%20Ullfah

Nur Janti, “Dua Perempuan dalam BPUPKI,” Historia, 15 August 2017, https://historia.id/politik/articles/dua-perempuan-dalam-bpupki-PNR57/page/1

Rita Rianti, “Perempuan Masa Pergerakan Nasional,” Kumparan, 27 March 2022, https://kumparan.com/rita-rianti/perempuan-masa-pergerakan-nasional-1xlW3PHkIJa/full

Silvy Mei Pradita, “Sejarah Pergerakan Perempuan Indonesia Abad 19-20: Tinjauan Historis Peren Perempuan dalam Pendidikan Bangsa,” Chronologia, Vol. 2 No. 1, 2020, 65-78.

Itama Citra Dewi Kurnia Wahyu, Peran Maria Ullfah dalam Memperjuangkan Hak-Hak Perempuan Tahun 1935-1988, BA Dissertation, Fakultas Ilmu Sosial, Universitas Negeri Yogyakarta, 2014.

Yuda Sanjaya, “Mariah Ulfah Santoso, Orang Kuningan, Tenaga Honorer yang Pernah Menjadi Menteri Sosial,” RakyatCirebon, 8 June 2023, https://rakyatcirebon.disway.id/read/653106/maria-ulfah-santoso-orang-kuningan-tenaga-honorer-yang-pernah-menjadi-menteri-sosial

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save