fbpx

เรื่องเล่าเจ้าสยามแห่งบันดุง: การลี้ภัยของราชวงศ์ไทยในอินโดนีเซียหลังการปฏิวัติ 2475

เมืองบันดุง (Bandung) เป็นเมืองที่มีภูมิประเทศและอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมืองบันดุงอาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนไทยมากเท่าบาหลี ยอกยาการ์ตา หรือเมืองหลวงที่รถติดสาหัสเช่นจาการ์ตา หากทว่าบันดุงเป็นเมืองที่มีความสำคัญซึ่งสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เสด็จพระพาสชวาถึงสามครั้ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และบันดุงยังเป็นที่ลี้ภัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสองค์ที่ 36 ในรัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระเจ้าปิตุฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวีและพระราชวงศ์อีกหลายพระองค์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475

บันดุง: ปารีสแห่งชวา (Parijs van Java)

บันดุงเป็นเมืองเอกของจังหวัดชวาตะวันตก เป็นเมืองใหญ่อันดับสามของอินโดนีเซียรองจากจาการ์ตาและสุราบายา บันดุงตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจาการ์ตา ความสวยงามของบันดุงทำให้เจ้าอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ถึงกับขนานนามบันดุงว่าเป็น ‘ปารีสแห่งชวา’ และเคยคิดจะย้ายเมืองหลวงจากปัตตาเวีย (จาการ์ตา) มาที่บันดุง แต่เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงทศวรรษ 1930 ทำให้แผนการนี้ถูกล้มเลิกไป แต่อย่างไรก็ตาม ดัตช์ได้สร้างสถาปัตยกรรมแบบดัตช์ไว้ในบันดุง โดยเฉพาะบ้านหรือวิลล่าตามสไตล์ดัตช์ รัฐบาลอาณานิคมเนเธอร์แลนด์เริ่มวางแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณเมืองบันดุงเหนือ (Bandung Utara) ในพ.ศ. 2460 พื้นที่บันดุงเหนือตั้งอยู่สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ และมีอาณาเขตกว้างขวางถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ มีการสร้างถนนกว้างและมีพื้นที่ธรรมชาติสีเขียวล้อมรอบ

บันดุงเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาลัยเทคโนโลยีบันดุง (The Bandung Institute of Technology หรือ Institut Teknologi Bandung – ITB) ที่ซึ่ง ซูการ์โน บิดาแห่งชาติ, นักชาตินิยมและประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซียเข้าศึกษา ดัตช์ก่อตั้ง ITB ขึ้นในพ.ศ. 2463 โดยในตอนแรกมีชื่อว่า de Technische Hoogeschool te Bandung (THB) ต่อมาหลังจากขบวนการชาตินิยมประกาศเอกราชจากดัตช์ในพ.ศ. 2488 ITB ได้ถูกผนวกรวมเข้ากับมหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซีย (University of Indonesia หรือ Universitas Indonesia – UI) และแยกตัวออกไปเป็น ITB ในพ.ศ. 2502 ITB ติดอันดับท็อปห้าของสถาบันอุดมศึกษาของอินโดนีเซียในระดับเดียวกับมหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซีย ในจาการ์ตา หรือมหาวิทยาลัยกาจาห์มาดา (Gajah Mada University) ที่ย็อกยาการ์ตา ทั้งยังมีประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาในช่วงพ.ศ. 2521 ด้วยการเป็นหัวหอกของการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในครั้งนั้น

ในระดับนานาชาติ บันดุงถูกรู้จักและจดจำในฐานะเมืองที่เป็นสถานที่จัดที่ประชุมร่วมของกลุ่มประเทศเอเชียแอฟริกา (Asian–African Conference) ทั้งสิ้น 29 ประเทศเมื่อพ.ศ. 2498 ซึ่งประเทศที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราช และมีเจตนารมณ์ไม่ต้องการเป็นหมากของการแข่งขันระหว่างขั้วมหาอำนาจของโลกในช่วงสงครามเย็น การประชุมในครั้งนี้ที่บันดุงเป็นหมุดหมายหลักสำคัญที่ก่อให้เกิดขบวนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในเวลาต่อมา

รูปภาพที่ประดับในพระตำหนักดาหาปาตีหรือ ‘ครัวดาหาปาตี’ ในปัจจุบัน ถ่ายในพ.ศ. 2561 โดยอรอนงค์ ทิพย์พิมล

เจ้าสยามลี้ภัยไปบันดุง

หนึ่งในบุคคลสำคัญที่พักอาศัยอยู่ในย่านบันดุงเหนือก็คือกรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือที่ในสื่ออินโดนีเซียเรียกว่า ‘ปาแงรันบริพัตร’ (Pangeran Paribatra) แปลตรงตัวว่า ‘เจ้าชายบริพัตร’ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้เสด็จจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 โดยรถไฟขบวนพิเศษไปยังปีนัง หลังจากนั้นได้นั่งเรือต่อไปยังสิงคโปร์และอินโดนีเซีย หนังสือพิมพ์ Soerabaijasch Handelsblad รายงานว่ากรมพระนครสวรรค์โดยสารเรือมาถึงท่าเรือเบอลาวัน (Belawan) ที่เกาะสุมาตราเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ต้นเดือนสิงหาคมมีรายงานข่าวในสื่อท้องถิ่นว่าพระองค์เดินทางไปถึงเกาะชวาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2475 หนังสือพิมพ์ Algemeen Handelsblad ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ลงข่าวว่ากรมพระนครสวรรค์และครอบครัวและพำนักถาวรที่บันดุง ซึ่งก่อนหน้านั้นมีข่าวลือว่าพระองค์จะเสด็จไปประทับที่ยุโรป หนังสือพิมพ์ De Locomotief ฉบับวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2475 รายงานข่าวว่าบรรดาญาติของเจ้าชายบริพัตรได้เดินทางมาถึงตันจุงปริยก (Tanjungpriok) ด้วยเรือซีบายัก (Sibayak) หลังจากนั้นหนึ่งเดือนหนังสือพิมพ์ De Locomotief ฉบับวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 รายงานข่าวว่าเจ้าชายบริพัตรได้ขึ้นทะเบียนเป็นชาวบันดุงพร้อมด้วยพระธิดาห้าพระองค์และชาวสยามเก้าคน

ที่ประทับของกรมพระนครสวรรค์วรพินิตประกอบไปด้วยอาคารสามหลังได้แก่ พระตำหนักประเสบัน (Praseban), ดาหาปาตี (Dahapati) ที่ถนนจีปากันตี (Cipaganti) และ ปันจาเรอกัน (Pancarekan) ที่ถนนลัมปิง (Lamping) ถนนจีปากันตีและถนนลัมปิงเป็นถนนสองเส้นที่ตัดกัน นอกจากนี้กรมพระนครสวรรค์วรพินิตยังทรงมีบ้านพักตากอากาศอีกหลังหนึ่งชื่อว่าวิลล่าเซอตามัน (Vila Setaman) ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ถนนเซอเตียบูดี (Setiabudhi) พระตำหนักประเสบันเป็นที่ประทับของกรมพระนครสวรรค์วรพินิตและพระชายา ในบทความเรื่อง ‘Ngaleut Bandung: Cerita Pangeran Paribatra di Bandung’ ระบุว่า ‘ปาแงรันบริพัตร’ ทรงพำนักที่ตำหนักกับภรรยาสองคน ได้แก่หม่อมเจ้าประสงค์สม และหม่อมสมพันธ์ พร้อมด้วยบุตรธิดา ส่วนพระตำหนักดาหาปาตีเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี

พระตำหนักประเสบันในปัจจุบัน ถ่ายในพ.ศ. 2561 โดยอรอนงค์ ทิพย์พิมล

นอกจากนี้ยังมีเจ้านายสยามพระองค์อื่นไปประทับที่บันดุงเช่นกัน คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี พระราชธิดาพระองค์ที่ 94 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเหม พระองค์เสด็จไปประทับที่บันดุงจนถึงพ.ศ. 2489 พระองค์สิ้นพระชนม์ในปี 2516 และมีงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพในปีเดียวกัน โดยได้มีการพิมพ์หนังสือในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จประพาสชวาครั้งที่ 2 เรื่อง ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน: พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อรัตนโกสินทรศก 115 เป็นที่ระลึกในงานด้วย โดยหนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกในพ.ศ. 2468 เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธเคยตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ในคราวเสด็จประพาสชวาเมื่อพ.ศ. 2439 และพ.ศ. 2444

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดาพระองค์ที่ 60 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสวยสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา เสด็จตามกรมพระนครสวรรค์วรพินิตไปประทับที่เมืองบันดุงเช่นกัน พระองค์สิ้นพระชนม์ที่บันดุงเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2479 ข่าวการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้านิภานภดลถูกรายงานในหนังสือหลายฉบับในชวาขณะนั้น เช่น หนังสือพิมพ์ De Locomotief ฉบับวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2479 และหนังสือพิมพ์ De Indische Courant ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 รายงานว่าพิธีพระศพของเจ้าฟ้านิภานภดลถูกจัดแบบของชาวยุโรปและฝังพระศพที่สุสานของชาวยุโรปก่อนหน้าที่จะมีการนำพระศพกลับมาทำพิธีพระราชทานเพลิงศพที่ประเทศไทย ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 หนังสือพิมพ์ De Indische Courant ได้ลงข่าวเกี่ยวกับการนำพระศพเจ้าฟ้านิภานภดลกลับไทยผ่านสิงคโปร์แล้วไปยังกรุงเทพฯ โดยรถไฟจากบันดุงและต่อเรือเพื่อไปสิงคโปร์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตและครอบครัวได้ร่วมเดินทางไปส่งพระศพด้วยจนถึงสิงคโปร์

ชีวิตของกรมพระนครสวรรค์วรพินิตหลังจากกลายเป็นประชากรของบันดุงได้ถูกเล่าในบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อ Mooi Bandoeng ฉบับวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2480 โดยรายงานว่ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตไม่เคยทรงเสียพระทัยที่เลือกบันดุงเป็นที่ประทับ พระตำหนักของพระองค์เป็นที่รู้จักไปทั่วและมีผู้มาเยือนทั้งจากในและต่างประเทศ พระตำหนักของพระองค์ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวดัตช์ชื่อ เซ. ฮา. ลุงเทน (C. H. Lungten) ผู้ช่วยของอาจารย์ที่สอนอยู่ที่ ITB ในขณะนั้น ในบทความดังกล่าวยังให้ข้อมูลว่ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้เป็นสมาชิกองค์กรชาวเมืองบันดุงที่ชื่อ ‘บันดุง ฟอเราต์’ (Bandoeng Vooruit) และพระองค์ยังเป็นผู้อ่านที่เหนียวแน่นของนิตยสาร Mooi Bandoeng อีกด้วย กรมพระนครสวรรค์มีส่วนร่วมในกิจกรรมหลายอย่างของเมืองบันดุงผ่านองค์กรบันดุงฟอเราต์ เช่น การสร้างถนนไปยังปล่องภูเขาไฟบาปันดายัน (Papandayan) และการสร้างเมรุที่บันดุง

กรมพระนครสวรรค์วรพินิตยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เชี่ยวชาญสวนกล้วยไม้ พระองค์ทำสวนกล้วยไม้ตรงสวนหน้าตำหนัก ซึ่งตรงบริเวณนี้ชาวบันดุงในขณะนั้นเรียกขานกันว่าวงเวียนสยาม (Bunderan Siam) ปัจจุบันกลายเป็นสถานีบริการน้ำมันตั้งอยู่ตรงข้ามพระตำหนักประเสบันและดาหาปาตี ในพระตำหนักของพระองค์นอกจากจะประดับรูปพระองค์ในเครื่องแต่งกายทหารแล้วยังมีรูปที่พระองค์ทรงสูทมีกล้วยไม้ที่พระองค์ทรงปลูกเองประดับที่รังดุม นอกจากนี้กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้เสด็จไปยังเมืองอื่นๆ ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเมืองที่พระองค์เคยตามเสด็จรัชกาลที่ 5 มาก่อนในเกาะชวาและบาหลี

พระตำหนักดาหาปาตีในปัจจุบัน ถ่ายในพ.ศ. 2561 โดยอรอนงค์ ทิพย์พิมล

กรมพระนครสวรรค์วรพินิตยังทรงเป็นผู้ที่ชื่นชอบการดนตรีเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ได้ทรงนิพนธ์เพลงจำนวนมาก ที่เมืองบันดุงพระองค์ทรงได้พบกับ เซลิก (Seelig) นักแต่งเพลงจากเนเธอร์แลนด์และเจ้าของสำนักพิมพ์และร้านเครื่องดนตรีชื่อว่า ‘มาตาตานี’ (Matatani) อีกครั้ง ครั้งแรกทั้งสองได้พบกันในคราวที่กรมพระนครสวรรค์วรพินิตตามเสด็จพระราชบิดาไปที่เมืองสุราการ์ตา (Surakarta) หรือเมืองโซโล (Solo) ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองแน่นแฟ้นมากถึงขนาดที่เซลิกตั้งชื่อบุตรชายคนแรกของเขาว่า พอล บริบัตร (Paul Paribatra) กรมพระนครสวรรค์วรพินิตมักจะเชิญเซลิกไปร่วมรับประทานอาหารและชมการแสดงกาเมอลันที่สวยหน้าพระตำหนักของพระองค์ ซึ่งในหลายครั้งพระองค์ได้ทรงร่วมเล่นเครื่องดนตรีด้วย

กรมพระนครสวรรค์วรพินิตสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคไตและพระหทัยเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2487 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้พระศพของพระองค์ถูกฝังที่บันดุงก่อน ต่อมาเดือนกันยายน พ.ศ. 2491 จึงได้มีการนำพระศพกลับประเทศไทยและมีการทำพิธีแบบทหารเพื่อเชิดชูพระเกียรติของพระองค์ที่สนามบินอันดีร์ (Bandara Andir) ในโอกาสดังกล่าว หลังการสิ้นพระชนม์ของกรมพระนครสวรรค์วรพินิตและสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัวของพระองค์ที่ยังเหลือได้เดินทางกลับประเทศไทย

จากพระตำหนักที่ประทับสู่ร้านอาหาร ‘ครัวดาหาปาตี’

(Dapur Dahapati)

ในบรรดาคณะของกรมพระนครสวรรค์วรพินิตที่ลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองบันดุง มีข้าหลวงของหม่อมเจ้าประสงค์สมชื่อคุณ กรับ นิลวงศ์ ติดตามไปด้วย ทายาทของคุณกรับได้เล่าให้สื่อที่ไปสัมภาษณ์ฟังว่า คุณกรับเกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2460 ครอบครัวของเธอเป็นผู้ที่ทำงานรับใช้ราชวงศ์ คุณพ่อของคุณกรับเป็นนักดนตรีในราชสำนัก คุณแม่เป็นข้าหลวงรับใช้สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พี่ชายของคุณกรับเป็นผู้รับใช้ของรัชกาลที่ 7 ซึ่งได้ติดตามพระองค์ลี้ภัยไปที่อังกฤษด้วย เมื่อเกิดการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 คุณกรับอายุได้ 15 ปี ตั้งแต่แรกที่ไปอยู่บันดุงคุณกรับพักที่ตำหนักดาหาปาตี คุณกรับได้สมรสกับชาวอินโดนีเซียสร้างครอบครัว มีบุตรธิดาเก้าคนและไม่ได้กลับไทยหลังจากที่ราชวงศ์ไทยเดินทางกลับประเทศหลังการสิ้นพระชนม์ของกรมพระนครสวรรค์วรพินิตและสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง

ก่อนหน้าที่กรมพระนครสวรรค์วรพินิตจะสิ้นพระชนม์ได้ลงนามมอบอำนาจการครอบครองพระตำหนักดาหาปาตีให้คุณกรับ และคุณกรับได้สัญญาว่าจะดูแลดาหาปาตีและจะไม่ขายให้ผู้ใด ในขณะที่พระตำหนักประเสบันที่อยู่ข้างๆ ดาหาปาตี และปันจาเรอกันที่ตั้งอยู่ที่ถนนลัมปิง และวิลล่าเซอตามันที่ถนนเซอเตียบูดีถูกขายโดยทายาทของกรมพระนครสวรรค์หมดสิ้น ต่อมาในพ.ศ. 2519 คุณกรับได้เปิดร้านอาหารโดยใช้ศาลาข้างๆ ดาหาปาตีเพื่อที่จะมีรายได้เพื่อดูแลดาหาปาตีต่อไปได้ โดยแรกเริ่มนั้นเมนูที่ขายคือไก่ทอดและอาหารซุนดา ต่อมาในพ.ศ. 2549 ร้านอาหารได้กลายเป็นที่รู้จักและขยายไปใช้ห้องหลักของดาหาปาตีและมีเมนูขึ้นชื่อของร้านคือซุปหางวัว แต่คุณกรับไม่ได้รับรู้ถึงความสำเร็จนี้ เนื่องจากว่าเธอเสียชีวิตไปเมื่อพ.ศ. 2526 ส่วนพระตำหนักประเสบันปัจจุบันเปิดเป็นโรงเรียนอนุบาล

ตั้งแต่เหยียบเท้าที่เมืองบันดุง คุณกรับไม่ได้กลับไทยอีกเลย ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิตคุณกรับได้ส่งสิ่งของที่เป็นมรดกของกรมพระนครสวรรค์ที่ยังหลงเหลือที่บันดุงกลับมายังไทย สิ่งของต่างๆ เหล่านั้นได้ถูกจัดรวมในคอลเล็คชั่นที่พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยที่วังบางขุนพรหมและวังสวนผักกาด และคุณกรับยังได้สั่งเสียให้ลูกหลานของตนดูแล ‘บ้านดาหาปาตี’ ให้ดีที่สุด ปัจจุบันพระตำหนักดาหาปาตีรู้จักกันในชื่อ ‘ครัวดาหาปาตี’ ที่ร้านอาหารมีการประดับรูปภาพของพระราชวงศ์ที่เคยประทับในพระตำหนัก และยังคงเปิดต้อนรับผู้เยี่ยมชมทั้งชาวอินโดนีเซียและชาวไทยที่ต้องการไปซึมซับประวัติศาสตร์ผ่านสิ่งก่อสร้างและสิ่งของที่เป็นประจักษ์พยานถึงชีวิตการลี้ภัยของราชวงศ์ไทยในเมืองบันดุง

สถานีบริการน้ำมันบริเวณที่เคยเป็น ‘วงเวียนสยาม’ มาก่อน ถ่ายในพ.ศ. 2561 โดยอรอนงค์ ทิพย์พิมล

ข้อมูลประกอบการเขียน

อรอนงค์ ทิพย์พิมล, “บันดุง, ปารีสแห่งชวา กับฝันร้ายของเจ้าสยาม,” ประชาไท บล็อกกาซีน, https://blogazine.pub/blogs/onanong/post/3891

Agithyra Nidiapraja, “7 Fakta Pangeran Paribatra, Pangeran Thailand yang Dibuang ke Bandung,” (7 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเจ้าชายบริพัตร, เจ้าชายไทยที่ลี้ภัยที่บันดุง), idntimes.com, https://www.idntimes.com/science/discovery/agithyra-nidiapraja/pangeran-paribatra-thailand-c1c2?page=all

Alex Ari, “Ngaleut Bandung: Cerita Pangeran Paribatra di Bandung,” (เที่ยวเมืองบันดุง: เรื่องเล่าเจ้าชายบริพัตรที่บันดุง),  BandungBergerak.id, https://bandungbergerak.id/article/detail/1885/ngaleut-bandung-cerita-pangeran-paribatra-di-bandung

Alex Ari, “Ngaleut Bandung: Cerita Putra Rama V di Bandung,” (เที่ยวเมืองบันดุง: เรื่องเล่าพระโอรสรัชกาลที่ 5 ที่บันดุง), BandungBergerak.id, https://bandungbergerak.id/article/detail/1815/ngaleut-bandung-cerita-putra-rama-v-di-bandung

Iyos Kusuma, “Cerita Pangeran Siam dalam Semangkuk Sop,” (เรื่องราวเจ้าชายสยามในชามซุป), GuratanKaki.com, https://guratankaki.com/2016/01/04/dapur-dahapati-cerita-pangeran-muangthai-di-semangkuk-sop/comment-page-1/

Prima Mulia, “Jejak Raja Siam di Bandung,” (ร่องรอยราชาสยามที่บันดุง), BandungBergerak.id, https://bandungbergerak.id/foto/detail/73/jejak-raja-siam-di-bandung

Ridwan Hutagalung, “Pangeran Paribatra di Bandung,” (เจ้าชายบริพัตรที่บันดุง), Mooibandoeng, https://mooibandoeng.com/2013/05/30/pangeran-paribatra-di-bandung/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save