fbpx
เมื่อร่างกายต้องการดาว

เมื่อร่างกายต้องการดาว

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

“ฟ้ายิ่งมืด ดาวยิ่งพราวฟ้า”

หากถามคนรอบตัวว่า ใครชอบดูดาวยามรัตติกาลบ้าง  เชื่อว่าคงไม่มีใครปฎิเสธการดูแสงดาวระยิบระยับบนท้องฟ้า

ในความเป็นจริง ปัจจุบันผู้คนในเมืองแทบจะเห็นดาวน้อยมาก

ตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อน เมื่อหลอดไฟฟ้าดวงแรกได้ถูกประดิษฐ์ขึ้น ท้องฟ้าอันมืดสนิทในยามค่ำคืนค่อยๆ เลือนหายไป จากแสงไฟตามอาคารบ้านเรือน ป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ตามตึกระฟ้า หลอดไฟตามท้องถนนที่สว่างฟุ้งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า แสงสว่างกระทบชั้นบรรยากาศ ทำให้ท้องฟ้าเรืองแสงไปทั่วมากขึ้นเรื่อยๆ จนผู้คนห่างไกลจากความงดงามในยามค่ำคืนไปนานแล้ว

คืนหนึ่งในปี 1994 เมืองลอสแองเจลิส เวลาประมาณตีสี่ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงขนาด 6.7 แมกนิจูด ทำให้ไฟฟ้าดับทั้งเมือง ไม่มีไฟตามท้องถนนหรืออาคารบ้านเรือนเป็นเวลานาน

พอหลายคนมองขึ้นไปบนท้องฟ้า พวกเขาเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต คือ ดาวระยิบระยับและทางช้างเผือกพาดกลางท้องฟ้า มันงดงามมาก

แต่ทำให้บางคนตื่นตกใจ ถึงกับโทรไปแจ้งความที่สายด่วน 911 ของตำรวจ บอกว่า

“มีเมฆสีเงินประหลาดขนาดยักษ์ ลอยเหนือท้องฟ้า มันน่ากลัวมาก”

ชาวเมืองลอสแองเจลิสจำนวนมากก็เช่นเดียวกับผู้คนจำนวนมากบนโลกที่ไม่เคยเห็นทางช้างเผือกมาก่อนในชีวิต และพากันตื่นเต้นที่เห็นว่าท้องฟ้างดงามเพียงใดยามมืดมิด

มีการศึกษาพบว่า แม้ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่คนอเมริกันกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยเห็นทางช้างเผือกมาก่อนในชีวิต เพราะหากมองจากนอกโลกในยามค่ำคืน ประเทศนี้สว่างไสวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

และคนทั่วโลกราว 2,000 ล้านคน ไม่เคยเห็นทางช้างเผือกเช่นกัน

เมื่อร่างกายต้องการดาว

ปัญหาใหญ่เกิดจากแสงสว่างที่ฟุ้งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า

การใช้แสงสว่างในยามค่ำคืนเป็นสิ่งจำเป็น แต่ทุกวันนี้เราใช้แสงสว่างยามค่ำคืนเกินความจำเป็น จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า มลภาวะทางแสง อันหมายถึง แสงประดิษฐ์ที่เกิดจากการกระทำกิจวัตรของมนุษย์ในเวลากลางคืน รวมถึงมลภาวะของแสงที่สว่างจ้าจนเกินความจำเป็น

มลภาวะทางแสงไม่ได้ทำให้เราไม่เห็นดาวหรือทางช้างเผือกเท่านั้น  แต่ยังก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะแสงสว่างจากนอกบ้านในตอนกลางคืน ที่รบกวนการหลับนอนของมนุษย์ ส่งผลต่อเมลาโทนิน

เมลาโทนิน (Melatonin) เป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากต่อมไพเนียลที่อยู่ในบริเวณส่วนกลางของสมอง ต่อมไพเนียลนี้จะถูกกระตุ้นให้สร้างเมลาโทนินออกมาสู่กระแสเลือดในเวลาที่ไม่มีแสงหรือแสงสว่างน้อย ทำให้เรารู้สึกง่วง พักผ่อนนอนหลับได้ลึกและเต็มที่

ความมืดเป็นตัวกระตุ้นการหลั่งของเมลาโทนินและหยุดหลั่งเมื่อเจอแสงสว่าง ในช่วงเวลากลางวันต่อมไพเนียลไม่ได้ทำงานเนื่องจากมีแสงสว่าง

เมลาโทนิน ช่วยให้เราหลับสนิท สุขภาพดี มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยลดคลอเรสเตอรอล และช่วยให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ ตับอ่อน รังไข่ อัณฑะ ต่อมหมวกไตดีขึ้น

แต่หากแสงรบกวนการนอน ทำให้เมลาโทนินหลั่งในร่างกายน้อยลง นอนไม่พอเพียง จะทำให้นาฬิกาชีวภาพ หรือวงจรระบบการทำงานในร่างกายคนเราที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการตื่นนอน การนอนหลับ หรือการหลั่งฮอร์โมน เกิดอาการเครื่องรวน

สิ่งที่ตามมา คือ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และมะเร็งเต้านม

การเปิดแสงสว่างจ้ามากเกินไป ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก

นกอพยพจำนวนมากที่เดินทางเวลากลางคืน โดยใช้แสงสว่างจากดวงดาวและดวงจันทร์เป็นเครื่องมือชี้ทิศทาง ก็หลงทิศได้ง่ายๆ จากแสงสว่างของมนุษย์

ทุกปีในประเทศสหรัฐอเมริกา มีนกจำนวนมากหลงทิศและบินชนกระจกตึกอาคารสูงที่เปิดไฟสว่างไสวยามค่ำคืน ตายปีละ 100-1,000 ล้านตัว

ในยามค่ำคืน ลูกเต่าทะเลจำนวนมากที่ฟักออกมา แทนที่จะคลานลงทะเล กลับหลงทิศ เดินลึกเข้าไปบนฝั่ง ตามแสงสว่าง เพราะคิดว่าเป็นแสงเรืองๆ จากท้องทะเล

หิ่งห้อยในหลายพื้นที่ ค่อยๆ หายไป เพราะความสว่างมากเกินไปทำให้การผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยลดน้อยลง

ไม่นับรวมสัตว์หากินกลางคืน ที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางแสง

แสงสว่างจากหลอดไฟยามค่ำคืน ทำให้พืชหลายชนิดหยุดเจริญเติบโต แมลงกลางคืนหลายชนิดไม่ผสมเกสร ทำให้พืชหลายชนิดอาจค่อยๆ สูญหายไป

ผลการวิจัยในสหราชอาณาจักรเผยว่าต้นไม้ในบริเวณที่มีไฟส่องสว่าง จะออกดอกเร็วกว่าปกติ 1 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับต้นไม้ที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณที่มีแสงไฟ

ปัญหาจากมลภาวะทางแสงไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ แต่ในความเป็นจริงการแก้ปัญหาเรื่องนี้กลับง่ายดายมากและแทบจะไม่มีใครเสียผลประโยชน์อะไรเลย

ปัญหามลภาวะแสง แก้ไขง่ายกว่าปัญหามลภาวะเรื่องอื่น ไม่สร้างความขัดแย้งในสังคม เพียงแค่จัดการไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ

เพราะกิจกรรมการใช้แสงสว่างยังดำเนินต่อไป เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหลอดไฟและโคมไฟให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้โคมไฟที่บังคับให้แสงมีทิศทางตกลงบนพื้นดิน ไม่ต้องฟุ้งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างไม่จำเป็น แต่ความสว่างยังเหมือนเดิม

โดยเฉพาะไฟนอกอาคาร อาทิ ไฟฟ้าตามท้องถนนที่มุ่งความปลอดภัยของผู้คนเป็นหลัก การปรับทิศของแสงให้ตกลงบนพื้นก็ได้ความสว่างเท่าเดิม ไม่ต้องฟุ้งขึ้นสู่ท้องฟ้า

เพียงเท่านี้ ความงดงามของแสงดาวระยิบฟ้าก็กลับคืนมา

นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาเคยคำนวณว่า ถ้าเราเปิดหลอดไฟจำนวน 100 หลอดทิ้งไว้หนึ่งปี คิดเป็นพลังงานจากเชื้อเพลิงถ่านหินครึ่งตัน และบนโลกนี้มีหลอดไฟหลายพันล้านดวงที่เปิดทิ้งไว้ทั้งคืนโดยไม่จำเป็น นั่นคือพลังงานมหาศาลที่เสียไป

ทุกวันนี้หลายประเทศเริ่มตื่นตัวในการจัดการมลภาวะทางแสง อาทิ ในประเทศสิงคโปร์มีการจัดทำแผนแม่บทการใช้แสงสว่างตามพื้นที่ต่างๆ  มีการแบ่งโซนการใช้หลอดไฟและความเข้มของแสงตามความจำเป็น เพื่อควบคุมมลภาวะทางแสงและการประหยัดพลังงาน

แผนแม่บทการใช้แสงสว่าง ฟังแล้วน่าทึ่ง เพราะประเทศเรามีทุกแผน ยกเว้นแผนแม่บทแบบนี้

ที่สำคัญคือได้เกิดแนวคิดในการรณรงค์ให้เกิดเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า (Dark Sky Reserve) ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก

อาทิ พื้นที่หลายแสนไร่บนเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ ได้รับการประกาศจากสมาคมพิทักษ์ความมืดแห่งท้องฟ้าสากล (International Dark-Sky Association) ให้เป็นเมืองดาว หรือ ‘เขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า’ และเป็นหนึ่งในสถานที่ดูดาวที่ดีที่สุดในโลก เพราะยามค่ำคืนมีท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มี ‘มลภาวะทางแสง’ บริเวณแห่งนี้ใช้อุปกรณ์ควบคุมแสงนอกอาคาร ไม่ให้ฟุ้งกระจายมาร่วมสี่สิบปีแล้ว และผลของการควบคุมแสง นอกจากทำให้เป็นพื้นที่ปลอดมลภาวะทางแสงแล้วยังช่วยประหยัดพลังงานด้วย

สมาคมแห่งนี้เชื่อว่า “ท้องฟ้ายามค่ำคืนที่เต็มไปด้วยดาวนั้นเป็นมรดกพื้นฐานของมนุษยชาติ และการปกป้องท้องฟ้าที่มืดมิดนั้นเป็นเรื่องจำเป็นในการสร้างความมั่นใจว่าคนในรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไปนั้นจะมีโอกาสได้มองเห็นดวงดาว”

นักดูดาวจากทั่วโลกต่างพากันเดินทางมาดูดาวบนเกาะใต้แห่งนี้ จนกลายเป็นรายได้สำคัญของประเทศนิวซีแลนด์ไปโดยปริยาย

แต่เป็นที่น่ายินดี สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เริ่มโครงการ ‘ลดมลภาวะทางแสงในเขตชุมชนและอุทยานแห่งชาติ’ เพื่อคาดหวังว่าในอนาคตจะเกิด เขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า (Dark Sky Reserve) โดยมีโครงการนำร่องในหลายพื้นที่ อาทิ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ในชุมชนอำเภอเชียงดาว ฯลฯ

หากแสงสว่างคือสัญลักษณ์แห่งความทันสมัย ความเจริญของมนุษย์

การเห็นทางช้างเผือกและดาวระยิบระยับในรัตติกาล อาจเป็นสิ่งบอกเหตุได้ว่า

มนุษย์กำลังหันกลับไปหาธรรมชาติอีกครั้งหนี่ง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save