fbpx
6 New Year resolutions ที่ดีต่อคุณและโลก

6 New Year resolutions ที่ดีต่อคุณและโลก

ใกล้สิ้นปีอีกแล้ว หลายคนตั้งใจว่าปีหน้าจะต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพื่อให้ชีวิตดีขึ้นหรือมีความสุขมากขึ้น ต่อไปนี้คือคำแนะนำในการเปลี่ยนแปลงง่ายๆ ที่นอกจากจะช่วยให้เราสุขใจขึ้นแล้วยังมีส่วนสนับสนุนให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้นอย่างมาก

 

1. ลดซื้อเสื้อผ้าใหม่

 

คุณอาจตั้งเป้าว่าปี 2018 นี้ คุณจะไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ แต่ถ้ามันยากไปล่ะก็ ลองเริ่มจากลดการซื้อลงก่อน เช่น

“ปีหน้านี้ทั้งปี ฉันจะซื้อเสื้อผ้าใหม่แค่ 5 ชิ้น เท่านั้น” แน่นอนว่าคุณจะประหยัดเงินไปได้จำนวนมาก แต่รู้ไหมว่าคุณกำลังช่วยโลกไปพร้อมๆ กันอีกด้วย

เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ต่างใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตทั้งสิ้น ตั้งแต่ที่ดิน น้ำ และพลังงานที่ใช้ในการเพาะปลูก หรือเพื่อมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อเอาหนัง ตลอดจนการขนส่งข้ามทวีปที่ใช้พลังงานฟอสซิลมหาศาล ขณะที่คุณอ่านบทความนี้ เป็นไปได้อย่างมากว่าเสื้อที่คุณใส่อยู่ทำมาจากฝ้ายหรือโพลีเอสเตอร์ สองเส้นใยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ขณะที่ฝ้ายต้องใช้น้ำในการเพาะปลูกจำนวนมาก โพลิเอสเตอร์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากอุตสากรรมก๊าซและปิโตรเลียม

เสื้อผ้าที่ไม่เป็นที่ต้องการจำนวนมากจบลงด้วยการฝังกลบหรือเตาเผา หลายคนอาจเข้าใจว่าเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติสามารถย่อยสลายได้เอง และไม่น่าจะสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่จริงแล้วในขั้นตอนการผลิตสินค้าเหล่านี้ประกอบด้วยการใช้สารเคมี เช่น การย้อมสี พิมพ์สี การฝังกลบอย่างผิดวิธีทำให้สารเคมีเหล่านี้ปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำได้ สำหรับเส้นใยสังเคราะห์ที่มีส่วนประกอบของพลาสติกสามารถอยู่ได้เป็นร้อยๆ ปีกว่าจะย่อยสลาย

 

เคล็ดลับ: ลองดัดแปลงเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วเป็นผลงานชิ้นใหม่ หากจำเป็นต้องซื้อควรเลือกเสื้อผ้าคุณภาพดีที่สามารถใช้ได้นานและดีไซน์ไม่ตกยุคได้ง่ายๆ

 

2. พกถุงชอปปิงและขวดน้ำส่วนตัว

 

รู้ไหมว่าประเทศไทยติด TOP5 ประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากที่สุด คุณสามารถเป็นพลังเล็กที่ช่วยกันพาประเทศเราออกจากตำแหน่งผู้นำได้ โดยเริ่มจากการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single-use plastic) หันมาพกถุงชอปปิง (ถุงผ้าหรือวัสดุอื่นที่ใช้ซ้ำได้) และพกขวดน้ำแทนการซื้อน้ำบรรจุขวด

ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 จึงถึงปัจจุบัน พลาสติกถูกผลิตขึ้น 8.3 ล้านตัน และเกือบทั้งหมดยังคงอยู่ในสภาพแวดล้อม เฉพาะในปี 2016 มีการจำหน่ายน้ำในขวดพลาสติกถึงเกือบ 5 แสนล้านขวด ไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่มีการรีไซเคิล และเปลี่ยนกลับมาเป็นขวดใหม่เพียงแค่ 7% เท่านั้น หมายความว่ามีขวดพลาสติกกว่า 2 แสนล้านขวด ถูกทิ้งในสภาพแวดล้อม

นี่ยังไม่รวมถึงพลาสติกจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก หลอดพลาสติก และซีลขวดพลาสติก ซึ่งทั้งหมดนี้จำนวนหนึ่งถูกฝังกลบ ซึ่งจะแตกตัวและปล่อยสารพิษออกมา จำนวนหนึ่งออกสู่ทะเลและแตกเป็นพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก กลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำ และถูกส่งต่อผ่านห่วงโซ่อาหาร จนมาสู่มนุษย์ นอกจากปรับปรุงเรื่องประสิทธิภาพในการจัดเก็บและรีไซเคิลแล้ว ต้องยอมรับว่าเราต้องลดการใช้ขวดพลาสติกลงให้มากที่สุด

 

เคล็ดลับ: หากอยากมีส่วนร่วมมากกว่านี้ คุณสามารถพกภาชนะไปจากบ้านเพื่อบรรจุอาหารแทนการใช้ถุงพลาสติก ปฏิเสธการใช้หลอดพลาสติกหรือใช้หลอดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้

 

3. เพิ่มมื้อปลอดเนื้อสัตว์

 

หลายคนอาจจะละเนื้อสัตว์ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม แล้วจะเป็นไปได้ไหมกับการงดบริโภคเนื้อด้วยเหตุผลทางสิ่งแวดล้อม ความจริงที่ว่าเนื้อเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมคงขัดใจหลายคน (รวมถึงผู้เขียนด้วย) เพราะอะไรน่ะหรือ การทำปศุสัตว์ ใช้พื้นที่ น้ำ และทรัพยากรมากกว่า โดยเฉพาะเนื้อแดงอย่างเนื้อวัว เมื่อเทียบต่อแคลอรี่แล้ว การเลี้ยงวัวใช้พื้นที่มากกว่าปลูกพืช (เช่น ข้าวสาลี ข้าว และมันฝรั่ง) ถึง 160 เท่า และสร้างก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 11 เท่า การบริโภคเนื้อวัว 100 กรัม สร้างรอยเท้าคาร์บอนเทียบเท่ากับการขับรถราว 10 กิโลเมตร (เป็นรองเพียงแค่เนื้อแกะ ที่การบริโภค 100 กรัม สร้างรอยเท้าคาร์บอนเทียบเท่ากับการขับรถราว 15 กิโลเมตร) นอกจากนี้ ปศุสัตว์ยังเป็นที่มาหลักของก๊าซมีเทน ในปี 2015 16% ของก๊าซเรือนกระจกมาจากมีเธน ซึ่งมีศักยภาพทำให้เกิดโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 28 เท่า

 

เคล็ดลับ: ขณะที่หลายๆ คนคงไม่สามารถจะเปลี่ยนมาเป็นมังสวิรัติได้ 100% การลดบริโภคเนื้อว่ากันว่าเป็นวิธีหนึ่งที่เร็วที่สุดในการลดรอยเท้าคาร์บอน คุณอาจตั้งเป้างดเนื้อสัก 1-2 วันต่อสัปดาห์ ลดเนื้อลงนิดและบริโภคผักผลไม้ให้มากขึ้นหน่อย นอกจากดีต่อสุขภาพคุณแล้วยังดีต่อโลกอีกด้วย

 

4. ใช้โทรศัพท์มือถือต่ออีกปี

 

ถ้าไม่พังจริงๆ ลองใช้ต่ออีกปีดีกว่าไหม? ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ บางทีอาจจะยังไม่จำเป็นต้องซื้อรุ่นใหม่ล่าสุดทั้งที่เครื่องเก่าก็ยังใช้ได้ดี

นอกจากจะประหยัดเงินไปได้มากโข คุณยังช่วยกอริลล่าอีกด้วยนะ !!

โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มีส่วนประกอบที่ทำจากแร่ ซึ่งแร่บางชนิดเกี่ยวข้องกับปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแร่ที่อยู่ภายใต้ข้อขัดแย้ง หรือ conflict minerals 4 ชนิด ได้แก่ โคลแทน ทองคำ ดีบุก และทังสเตน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองท้องถิ่นผิดกฎหมาย

วัตถุขนาดเล็กที่มีมูลค่ามหาศาล นำไปสู่การต่อสู้เพื่อครอบครองที่ดิน การทำเหมืองแบบไม่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ทำให้ปัญหาด้านความปลอดภัย สภาพแวดล้อมการทำงานที่เลวร้าย รวมถึงการใช้แรงงานเด็กและการกดค่าแรง

อย่างกรณีของประเทศคองโกซึ่งเป็นแหล่งโคลแทนใหญ่ที่สุดและเป็นบ้านของ Grauer’s gorilla เหมืองแร่ผิดกฏหมายทำลายที่อยู่อาศัยของกอริลล่าโดยตรง แล้วยังทำให้สัตว์ป่าชนิดต่างๆ ถูกล่าเพื่อเป็นอาหารแก่คนงานและเพื่อนำไปจำหน่ายในตลาดมืดอีกด้วย กอริลล่าชนิดนี้เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าที่นักล่าโปรดปราน ประชากรกอริลล่า Grauer’s gorilla ลดลงจาก 17,000 เหลือเพียง 3,800 ตัว ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก

การซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่จึงหมายถึงการสนับสนุนภัยคุกคามต่อสิ่งมีชิวิต สัตว์ป่า รวมถึงกอริลล่า การสำรวจในปี 2012 พบว่าในอังกฤษมีจำนวนโทรศัพท์ที่ผลิตเกินความต้องการและไม่ได้นำไปใช้ประมาณ 160 ล้านเครื่อง ขณะที่สหรัฐอเมริกามีประมาณ 130 ล้านเครื่อง น่าคิดว่าเราเปลี่ยนโทรศัพท์เครื่องใหม่กันบ่อยแค่ไหนและทำอย่างไรกับเครื่องเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว

 

เคล็ดลับ: ลองเปรียบเทียบคะแนนความยั่งยืนของแบรนด์ก่อนตัดสินใจซื้อ Rank a Brand และ Ethical Consumer

 

5. อย่าเหลืออาหาร จัดการขยะ

 

ในแต่ละวันครัวเรือนสร้างขยะจากเศษอาหารจำนวนมาก เป็นของเหลือทั้งจากขั้นตอนการประกอบอาหารและการกินเหลือ ซึ่งกว่าจะมาเป็นอาหารต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ตั้งแต่การเพาะปลูก ปศุสัตว์ ขนส่ง การแปรรูป ฯลฯ อาหารเหลือทิ้ง นอกจากจะหมายถึงทรัพยากรที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ในขั้นตอนเหล่านี้ยังสร้างของเสียสู่สภาพแวดล้อมอีกด้วย การวางแผนการซื้ออาหารสามารถลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งลงได้ แต่อย่างไรเสียคงมิใช่ทั้งหมด ซึ่งเมื่อเกิดขยะอาหารแล้ว คุณควรแยกของเหลือทิ้งเหล่านี้ ไม่ควรทิ้งรวมกับขยะอื่นที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ (reuse) หรือนำไปรีไซเคิลได้ (recycle) เพราะจะทำให้กระบวนการนำวัสดุประเภทอื่นกลับมาใช้ประโยชน์เป็นไปได้ยากขึ้น

นอกจากนี้ คุณควรแยกขยะที่เป็นสารพิษอันตราย เช่น บรรจุภัณฑ์สารเคมี หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย วัสดุเหล่านี้เป็นอันตรายหากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง หากเดินทางไปดูการฝังกลบก็มีโอกาสจะปนเปื้อนสู่สภาพแวดล้อมทั้งดิน น้ำ และอากาศ ย้อนกลับมาสร้างผลกระทบต่อมนุษย์ในที่สุด

 

เคล็ดลับ: วางแผนการซื้ออาหารและประกอบอาหารสามารถประหยัดเงินและลดของเหลือทิ้งได้ ทำความเข้าใจกับ “หมดอายุ” “ควรบริโภคก่อน” เพื่อลดอาหารเหลือทิ้ง ขยะบางประเภทแยกไว้สามารถขายได้ และเรียนรู้จัดการขยะที่ย่อยสลายภายในบ้าน เปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ย ไม่ยากอย่างที่คิด

6. เป็นหนึ่งใน social movement

 

คงยากที่คนตัวเล็กเพียงคนเดียวจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเหตุนี้ชวนเพื่อนและครอบครัวของคุณมาร่วมขบวนการตั้งเป้าหมายปีใหม่ 2018 ที่ดีต่อคุณ ดีต่อโลก คุณสามารถแบ่งเวลาสักเล็กน้อยเพื่อติดตามข่าวสาร การเปลี่ยนแปลง และผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห่วงโซ่การผลิต วิกฤตขยะพลาสติก การบริโภคที่ไม่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ตลอดจนมีส่วนร่วมการรณรงค์เมื่อสามารถทำได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเกิดขึ้นหรือไม่ จะสำเร็จไม่สำเร็จก็อยู่พวกเราซึ่งเป็นส่วนประกอบในสังคมนั้นๆ

 

เคล็ดลับ: ตัวอย่างเว็บไซต์ที่คำนวณผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของคุณในด้านต่างๆ ผลต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Footprint), รอยเท้าน้ำ (Water Footprint), จำนวนแรงงานทาสที่ทำงานให้คุณ (Slavery Footprint)

 

ปีใหม่นี้ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุขแบบยั่งยืน sustainably yours 🙂

 

อ้างอิง

บทความ 10 GREEN NEW YEARS REVOLUTIONS โดย Dawn Gifford จาก Smallfootprintfamily

บทความ 10 green New Year’s resolutions – Making 2011 sustainable โดย JulietteH จาก Greenpeace

บทความ Beef: The ”King” of the Big Water Footprints โดย Kai Olson-Sawyer จาก Gracelinks

บทความ The Lazy person’s guide to saving the world จาก UN

บทความ Eat less meat to avoid dangerous global warming, scientists say โดย Fiona Harvey จาก Theguardian

บทความ Giving up beef will reduce carbon footprint more than cars, says expert โดย Damian Carrington จาก Theguardian

รายงาน Meat Eater’s Guide To Climate Change + Health จาก Environment Working Group

อินโฟกราฟิก Eat Smart. Your Food Choices Affect the Climate จาก Environment Working Group

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save