fbpx

“ถ้าเราเปลี่ยนจุดยุทธศาสตร์ของฝ่ายอนุรักษนิยมได้ ก็พลิกโฉมการเมืองได้” คุยกับกลุ่มนครเสรีเพื่อประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวการเมืองในภาคใต้

นับตั้งแต่เกิดการประท้วงของคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าภูมิทัศน์การเมืองไทยจะไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิม กระแสต่อต้านรัฐบาล การเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการตั้งคำถามกับชุดคุณค่าหลักในสังคม กลายเป็นกระแสสูงและเป็นประเด็นที่พูดถึงโดยทั่วไปในหมู่คนรุ่นใหม่และคนที่สนใจการเมือง

ไม่ใช่แค่ในศูนย์กลางประเทศอย่างกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ในแต่ละจังหวัดก็มีการรวมกลุ่มเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างหลากหลาย ไม่เว้นแม้แต่ภาคใต้ ที่หลายคนมองว่าเป็นพื้นที่ของกลุ่มอนุรักษนิยม ซึ่งสะท้อนผ่านผลคะแนนเลือกตั้งในหลายสมัยที่ผ่านมา

101 ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อพูดคุยกับกลุ่มนครเสรีเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มคนรุ่นใหม่ในนครฯ ที่รวมตัวกันเพื่อต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่แค่สร้างเพจเฟซบุ๊กเป็นแหล่งสื่อสารเท่านั้น แต่พวกเขายังมีการรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ในดิสคอร์ด และเข้าร่วมต่อสู้ในประเด็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน เช่น ประเด็นชาวนาบอนเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการไฟฟ้าชีวมวล เป็นต้น

พวกเขาเริ่มเจอกันในช่วงเดียวกับที่กระแสของม็อบคนรุ่นใหม่ขึ้นสูง โดยมี 3 คนหลัก คือ เบนซ์ (สงวนชื่อจริง),โต-นวพล พลึกรุ่งโรจน์ และดำ (สงวนชื่อจริง) ที่เป็นคนเริ่มก่อตั้ง พวกเขามีทั้งคนที่ยังเรียนอยู่มัธยม และบางคนเพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน – และด้วยสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอยู่ มีเพียงโตเท่านั้นที่ยินดีเปิดเผยชื่อและหน้า ส่วนคนอื่นยังกังวลเรื่องผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็พร้อมจะเล่าความคิดให้ฟังผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

เรานัดเจอเบนซ์และโตที่สตูดิโอศิลปะแห่งหนึ่งใกล้มหาวิทยาลัย พูดคุยว่าด้วยเรื่องการเมืองในภาคใต้ ภาวะโดดเดี่ยวในพื้นที่อนุรักษนิยม และความหวังความฝันต่อภาพสังคมไทย

ย้อนไปตั้งแต่แรกเริ่ม พวกคุณมารวมตัวเป็นกลุ่มนครเสรีเพื่อประชาธิปไตยได้อย่างไร

เบนซ์: ก่อนหน้านี้ในนครศรีธรรมราชมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่หลายครั้ง เราก็เริ่มรู้จักกันว่าใครมีแนวคิดทางการเมืองอย่างไร ไปครั้งแรกไม่รู้จักกัน แต่พอรู้จักแล้วเลยเริ่มชวนกัน ชุดก่อตั้งแรกมี 3 คนคือเบนซ์ โต พี่ดำ

ตอนนั้นคนภายนอกมองเข้ามาในนครศรีธรรมราชจะเห็นว่าเป็นเมืองอนุรักษนิยมจ๋าเลย ฉายาคือเมืองหลวงสลิ่มด้วยซ้ำ ซึ่งเราจะทำอย่างไรให้คนที่มีแนวคิดเหมือนเราเข้ามาจอยกัน อย่างน้อยๆ มีพื้นที่พูดคุยหรือแสดงออกอย่างปลอดภัย เพราะก่อนหน้านี้ความปลอดภัยแทบจะไม่มีเลย ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองเดียวดาย ก่อนจะมีการเคลื่อนไหวในปี 2563 ตัวผมเองหันไปทางไหนก็เจอแต่คนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมทั้งนั้น โดดเดี่ยวมาก แต่พอมีม็อบก็ได้เข้าร่วมขบวนการ

พวกคุณเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่

เบนซ์: ผมเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร 2557 แต่เริ่มแสดงออกทางการเมืองตอนที่รัฐบาลจะทำ single gateway เพราะโดยส่วนตัวผมเรียนคอมพิวเตอร์ธุรกิจมา ใช้คอมพิวเตอร์ค่อนข้างเยอะ เล่นเกมออนไลน์กับเพื่อนด้วย เราคิดว่านี่คือผลกระทบจึงชักชวนเพื่อนที่เล่นเกมออนไลน์มาร่วมกันต่อต้าน single gateway ในช่วงเริ่มต้น

พอเรานำน้องๆ ที่เล่นเกมออนไลน์ด้วยกัน เราก็ต้องหาข้อมูลเพื่อตอบน้องให้ได้มากขึ้นๆ พอยิ่งลงลึกไปก็ยิ่งทราบว่ามีปัญหาอีกมาก ไม่ใช่แค่ single gateway นี่คือจุดเริ่มต้นที่ผมออกมาเคลื่อนไหว

โต: ผมเริ่มมาจากการที่พ่อเป็นคนเสื้อแดง ตอนนั้นผมยังเด็กมาก ไม่เข้าใจหรอกว่าคืออะไร มีรัฐประหารก็ยังไม่เข้าใจ ยังคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาอยู่เลย แต่เริ่มมาสนใจการเมืองจริงๆ ช่วงมัธยมต้น ตอนนั้นการเมืองกำลังระอุขึ้นมา ผมเห็นพรรคอนาคตใหม่ก็เริ่มตามดูตามฟัง วันหนึ่งเมื่อเขายุบพรรคอนาคตใหม่ผมเลยตัดสินใจไปม็อบ ตอนนั้นยังเป็นแฟลชม็อบอยู่ จัดที่ ม.วลัยลักษณ์

เริ่มมาศึกษาข้อมูลจริงจังตอนรู้จักกับพี่ดำ พี่เบนซ์ เขาพาไปศึกษาตามสถานที่ต่างๆ เราเรียนรู้อดีตจนกลายเป็นความเจ็บปวดที่อยากจะต่อสู้

จากที่ศึกษาการเมืองมา คุณเห็นว่าแก่นของปัญหาการเมืองไทยคืออะไร ทำไมเราต้องออกมาต่อสู้

เบนซ์: ปัญหาอยู่ที่อำนาจของชนชั้นนำ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับไม่ให้คนเท่าเทียมกันได้ คนที่จนก็จนอยู่วันยันค่ำไม่ว่าจะดิ้นรนอย่างไรก็ตาม ไม่มีโอกาสลืมหูลืมตา แต่การแบ่งสรรปันส่วนทรัพยากรภายในประเทศนี้ไปอยู่กับคนแค่ 1% แล้วคนที่เหลือต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก

อีกปัญหาคือเรื่องประเด็นกฎหมาย เพื่อนเราอยู่ในคุกเพียงแค่เขาพูด แต่คนที่ฆ่าคนตายได้ออกมาใช้ชีวิต หรือคนที่มีอิทธิพลในพื้นที่ทำผิดแค่ไหนก็ยังได้ออกมา กฎหมายไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างเป็นธรรม แต่ถูกใช้เพื่อปิดปากคน

ถ้าเราจะแก้ ก็ต้องพูดถึงปัญหาให้ได้ก่อน เพราะถ้าพูดถึงปัญหาไม่ได้ เราก็แก้ปัญหาไม่ได้

โต: ทุกคนรู้ดีว่าตอนนี้สังคมมีปัญหาตรงไหน ก็เหมือนที่พี่เบนซ์บอกว่ามีปัญหาตรงโครงสร้างทางสังคม ซึ่งหยั่งรากลึกมายาวนานโดยไม่ได้รับการแก้ไข คนจนก็จนต่อไป ต่อให้คุณพยายามแค่ไหนก็ไม่มีวันเจริญขึ้นมาได้ถ้าคุณไม่มีต้นทุนมาก่อน

อย่างผมได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ประเด็นสิทธิในเรือนร่างอย่างเรื่องทรงผม ทุกวันนี้แม้จะมีกฎหมายรองรับก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรในโรงเรียน ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อคนรุ่นเก่ามีอำนาจกดขี่ เขาก็ไม่อยากสูญเสียอำนาจตรงนี้ไป เลยพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกดพวกเราไว้ให้ได้มากที่สุด ปัญหาของสังคมทุกวันนี้คือผู้มีอำนาจไม่อยากสูญเสียอำนาจ ปัญหาในระบบต่างๆ ก็ไม่ได้รับการแก้ไข

เบนซ์: ผมอยากเสริมประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทุกคนรู้ดีว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำแค่ไหน เรามีคนรวยติดอันดับโลกอยู่ในประเทศนี้ แต่ลองดูคุณภาพชีวิตของเยาวชน มีเด็กหลายคนต้องออกจากโรงเรียน อีกหลายคนกำลังตกงาน มีใครอีกหลายคนที่วันนี้อาจนั่งรอความตาย หลายคนต้องหางานทำวันต่อวัน

ถามว่าประเทศไทยค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท แต่ต่างประเทศทำงานชั่วโมงเดียวได้ 450 บาท หนึ่งวันเขาได้หลักพัน เราทำงาน 1 วัน เหนื่อยเท่ากัน แต่เราได้น้อยกว่า แถมเขายังมีสวัสดิการ มีค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน ฯลฯ นี่คือสิ่งที่ทุกคนควรได้รับในฐานะมนุษย์ แต่ ณ วันนี้ ทรัพยากรทุกอย่างถูกเทไปอยู่กับคนแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์

สิ่งที่ผมกำลังพูดวันนี้ ไม่ได้พูดแค่เพื่อตัวเอง แต่พูดถึงคนอื่นด้วย ที่ลงมาทำตรงนี้ก็เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้คนที่ไม่มีเครื่องมือและโอกาส

ในฐานะคนที่เคลื่อนไหวอยู่เหมือนกัน คุณมองภาพรวมขบวนการเคลื่อนไหวของม็อบปี 2563 เป็นต้นมาอย่างไรบ้าง ควรจะเดินไปในทิศทางไหน หลายคนก็วิจารณ์ว่าม็อบแผ่วแล้ว

เบนซ์: ม็อบไม่ได้แผ่ว แต่ประชาชนกังวลเรื่องโรคระบาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมเชื่อว่าถ้าไม่มีโรคระบาดมาเป็นเงื่อนไข ทุกวันนี้ก็ยังเข้มข้นกันอยู่ จำนวนประชาชนที่ออกมาต่อต้านอาจจะลดลง แต่ต้องย้อนกลับไปว่าทำไมประชาชนถึงไม่กล้าออกมา ระบบรักษาพยาบาลคุณดีพอหรือยัง ถ้าคุณบอกว่าดีแล้ว ยังมีคนนอนตายข้างถนนอยู่นะ ยังมีคนที่หาโรงพยาบาลสนามไม่ได้ หลายคนทำงานวันต่อวัน ถ้าเขาหยุดไปจะเอาอะไรให้ลูกกิน

ม็อบของเราไม่ใช่ม็อบชนชั้นสูง ไม่ใช่ม็อบที่อยู่กันสบายแล้วออกมาต่อสู้เรียกร้อง แต่เป็นม็อบของราษฎรจริงๆ คนที่ลำบาก ถูกกดขี่ ถ้าเขามาร่วมชุมนุมแล้วติดเชื้อไป เขาต้องหยุดทำงาน 14 วัน รายได้เขาหาย ลูกเขาจะอยู่อย่างไร

โต: ส่วนตัวผมมองว่าภาพรวมด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่นมีการยัดคดีแกนนำ คนเรามีปัจจัยหลายอย่าง เช่นครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบจึงเลือกที่จะไม่ไปตรงนั้น คุณหยุดพวกเขาได้ แต่คุณหยุดความคิดของพวกเขาไม่ได้

ทุกคนรู้ดีว่าประเทศเกิดอะไรขึ้น ปัญหาอยู่ตรงไหน อย่างไรคุณก็หยุดคนพวกนี้ไม่ได้หรอกครับ

ชวนถอยออกมามองคนรุ่นใหม่ในภาพกว้างหน่อย ที่เขาบอกว่าความคิดของคนรุ่นใหม่ทั้งเจเนอเรชันเป็นไปในทิศทางก้าวหน้าทั้งหมดแล้ว คุณคิดว่าจริงไหม

โต: เพื่อนผมไม่มีใครเป็นสลิ่ม แต่ก็อาจจะไม่ได้ตื่นตัวทางการเมืองทุกคน ด้วยความเป็นวัยรุ่นก็มีความรักสนุกเข้ามา อยากใช้ชีวิตวัยรุ่นเลยไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองมาก แต่โดยรวมคนก็ตื่นตัวทางการเมืองเยอะ เวลามีประเด็นอะไร เพื่อนผมก็เข้ามาคุยการเมืองด้วย เวลาเราพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เด็กรุ่นใหม่ก็รู้ว่าสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างไร นี่คือหนึ่งความเปลี่ยนแปลงของการต่อสู้ในครั้งนี้

เวลาคนแซวว่านครศรีธรรมราชเป็นเมืองหลวงสลิ่ม แล้วอะไรที่ทำให้เด็กที่เติบโตในพื้นที่นี้มีความคิดแตกต่างออกไป

เบนซ์: เขามีเครื่องมือเข้าถึงข้อมูล ณ เวลานี้เรื่องเกิดที่ยูเครนแต่เขาก็รับรู้ได้ มีทวิตเตอร์ให้ติดตามประเด็นต่างๆ โซเชียลมีเดียนี่แหละที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบความคิดของคนในสังคม ยิ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ก็คุ้นเคยกับอุปกรณ์อยู่แล้ว

หลายคนยังมองว่าคนนครฯ หรือคนใต้ส่วนใหญ่ยังมีแนวคิดอนุรักษนิยม ชวนคุณวิเคราะห์หน่อยว่ามีปัจจัยทางสังคมอะไรที่ทำให้เป็นแบบนี้

เบนซ์: ต้องย้อนไปตั้งแต่ระบบความเชื่อความศรัทธา เมืองนครฯ ผูกอยู่กับความเชื่อความศรัทธามาเนิ่นนาน แนวคิดเรื่องอนุรักษนิยมก็ถูกฝังรากลึกเรื่องความเชื่อความศรัทธาของพื้นที่ด้วย

เราไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์ของนครศรีธรรมราช แต่เราจะรับรู้กษัตริย์ของภาคกลาง ทั้งๆ ที่นครศรีธรรมราชคือเมืองใหญ่มากๆ ถามว่ากษัตริย์ของนครศรีธรรมราชชื่ออะไรบ้าง ผมเชื่อว่าแทบจะไม่มีใครรู้เลย เราจำได้แต่กษัตริย์ของสุโขทัย อยุธยา แต่ถามว่าเรารู้จักทุกพระองค์ไหม ก็ไม่ เรารู้จักแต่องค์ที่ดีๆ ในด้านดีเท่านั้น มีความพยายามเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์อยู่เยอะพอสมควร จึงทำให้คนในพื้นที่นี้มีความเชื่อแบบนี้

อย่างที่สองคือบริบททางพื้นที่ภูมิศาสตร์ ภาคใต้อุดมสมบูรณ์ คนใต้ไม่ค่อยเดินทางไปที่ไหน เพราะคนใต้หากินง่าย มีทุกอย่างสมบูรณ์ พอทุกอย่างสมบูรณ์ก็ไม่เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ถ้าคุณไปทำงานไม่ได้ คุณกลับมาที่บ้านคุณก็ยังมีกินมีใช้อยู่อย่างสบาย

ทีนี้พอมามองทางการเมือง พรรคประชาธิปัตย์รู้จักบริบทคนใต้เป็นอย่างดี คนใต้รักใครรักจริง รักพวกพ้อง ต่อให้เพื่อนทำผิดเราก็พร้อมปกป้องเพื่อน แคมเปญการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ ‘พรรคของเรา คนของเรา’ จี้ตรงจุดเลย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคอนุรักษนิยมอยู่แล้ว

โต: เคยได้ยินคนใต้พูดไหมครับว่าโผงผางแต่จริงใจ เอาจริงๆ คนเหล่านี้ยากที่จะเปลี่ยนแนวคิดของเขา ถ้าเขาได้เชื่ออะไรสักหนึ่งอย่างแล้ว

แล้วพวกคุณต่างจากคนในพื้นที่อย่างไร ทำไมถึงมีมุมมองที่ต่างออกไป

เบนซ์: ตอนเด็กๆ เราก็ถูกปลูกฝังว่าโตไปต้องเลือกพรรคนี้นะ อีกพรรคหนึ่งโกงนะ นิสัยไม่ดี แต่เราอาจจะโตมาในยุคที่มีอุปกรณ์ไอที มีโซเชียลฯ ที่ค้นหาข้อมูลเองได้ จนเอาความเชื่อที่เขาบอกมางัดกับข้อมูลชิ้นใหม่ เมื่องัดกันแล้วเราก็ตัดสินใจได้ว่าข้อมูลไหนคือข้อเท็จจริง ข้อมูลไหนน่าเชื่อถือมากกว่า

เราต้องมาดูก่อนว่าหลักการคืออะไร เช่นเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งแล้วให้ทำรัฐประหาร มีคนบอกว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ทีนี้เราก็ต้องมาดูว่าหลักการระบอบประชาธิปไตยคืออะไร พอเป็นแบบนี้เราก็จะเห็นว่ามันผิดหลักการ เรายึดหลักการเป็นหลัก ถ้าผิดจากนี้แปลว่าไม่ใช่

โต: ผมเกิดมาในยุคที่อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูแล้ว พ่อผมเป็นคนอีสาน เป็นคนเสื้อแดง เราสงสัยมาตั้งแต่เด็ก แล้ววันหนึ่งเราสามารถนำข้อมูลมาเพื่อคิดวิเคราะห์แยกแยะ และเราเดินทางหาความรู้ด้วย พอเป็นแบบนี้เราก็สามารถเลือกเชื่อในสิ่งที่ผมใช้หลักการชั่งน้ำหนักข้อมูล หากฝังไหนน่าเชื่อถือกว่าก็จะเชื่อถือฝั่งนั้น เพราะเมื่อผมได้ข้อมูลมาใหม่ผมจะเอาไปถามคนรุ่นเก่าที่มาแย้งผม พอสุดท้ายเขาตอบผมไม่ได้ ผมก็จะเชื่อในชุดข้อมูลใหม่ที่ผมคิดวิเคราะห์แล้ว

เราเห็นตรงกันแล้วว่าประเทศมีปัญหา รัฐมีปัญหา แล้วถ้าเรามองไปข้างหน้าของขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย คุณคิดว่าควรจะเดินไปอย่างไรต่อ

เบนซ์: จนสุดทางแล้วขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ เราต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความชอบธรรมและเป็นธรรมมากกว่านี้ อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาจากการรัฐประหาร ชนชั้นใดร่างกฎหมายก็ร่างเพื่อชนชั้นนั้น แน่นอนว่าประชาชนไม่เคยได้ร่างจริงๆ จังๆ ที่ดีที่สุดก็คือรัฐธรรมนูญ 2540 หากจะย้อนไปเก่าๆ คือช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งหลังจากนั้นรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ก็มาจากการรัฐประหาร ฉีกทิ้ง ฉีกแล้วฉีกอีก

ผมมองไปถึงว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไม่มีการรัฐประหารอีกแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปควรจะเป็นฉบับสุดท้ายจริงๆ แล้วถ้าจะมีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ทันโลกทันสมัยก็ว่ากันไป แต่ตอนนี้เราต้องมีระบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งก่อน

ถ้าก้าวเริ่มต้น ผมมองไปที่การทำให้ทุกคนเข้าใจหลักสิทธิของตนเอง ต้องรู้ว่าคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร หากคุณมีรัฐธรรมนูญที่ดีอาจจะส่งผลไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคุณด้วย อำนาจอะไรที่ทำให้การรัฐประหารถูกต้องได้ก็ควรต้องเลิกได้แล้ว

โต: แน่นอนครับ กองทัพมีบทบาทสำคัญในการรัฐประหาร อย่างแรกเราต้องลดอำนาจกองทัพ ทำให้ไม่มีการรัฐประหารได้สำเร็จ แล้วแก้รัฐธรรมนูญทำให้เป็นฉบับของประชาชนจริงๆ ผมมองว่ากระบวนการต่อไปคือการที่เรามีผู้แทนที่ทำงานเพื่อประชาชนจริงๆ โดยมีพวกเราซึ่งเป็นนักกิจกรรมคอยทำงานควบคู่กันไป นี่คือผมฝันไว้เองนะ

เห็น ส.ส. บ้านเราไหม กว่าจะทำงานให้จริงๆ จังๆ เวลาก็ล่วงเลยไปเท่าไหร่แล้ว เราก็เลยอยากเป็นปากเสียงให้กับชาวบ้านต่อ ไปหลังจากที่แก้ปัญหาตรงนี้ได้แล้ว เพื่อนำไปยังตัวแทนที่เขาบอกว่าจะมาทำงานให้ประชาชน

ฟังดูเป็นเรื่องใหญ่และยากทั้งหมดเลย กลุ่มนครเสรีฯ เองคิดว่าจะทำอย่างไรภายใต้การขับเคลื่อนที่ใหญ่ขนาดนี้

เบนซ์: เราอาจมีดาวดวงเดียวกันของทั้งประเทศ ซึ่งเราอาจเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่ยิ่งใหญ่อะไร แต่อย่าลืมว่าเราก็ต้องพยายามสร้างความตื่นรู้ก่อน คนไม่กี่คนก็จริงแต่ถ้าเราสร้างความตื่นรู้ได้มากก็จะมีพลังยิ่งขึ้น

การที่เราออกมาทำกลุ่ม ผมเชื่อมั่นในพลังของประชาชน ผมมีความศรัทธาว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แม้กระทั่งคนที่เป็นอนุรักษนิยม เราอาจโดนดูแคลนว่าเราเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่สามารถรวมตัวกันได้ใหญ่ เพราะจังหวัดนี้คงไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้ ผมอยากบอกว่าสุดท้ายแล้วถ้ายังมีการกดขี่อยู่ พื้นที่ตรงนี้ก็จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับคุณ ยิ่งในจังหวัดนี้เรายิ่งต้องรวมกลุ่มกันให้มากขึ้นเพื่อความปลอดภัย

เราอาจเป็นส่วนน้อยแต่จะส่งพลังไปยังการต่อสู้ระดับประเทศ เพราะนี่คือยุทธศาสตร์สำคัญของฝ่ายอนุรักษนิยม ถ้าเราสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในบริเวณตรงนี้ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ แม้อาจจะไม่เยอะแต่ค่อยๆ สะสม วันนี้เราเริ่มปลูกต้นกล้าประชาธิปไตยไว้ ต้นอาจจะยังเล็กอยู่ ไม่ได้เติบโตเท่าที่อื่น แต่หลังจากนี้ต้องดูแลประคับประคองให้ดีที่สุด

โต: บทบาทของนครศรีธรรมราช ปัญหาหลักๆ ของคนสนใจการเมืองคือไม่กล้าออกมาแสดงบทบาท เพราะเขาไม่มีพื้นที่ปลอดภัยมากพอ กลุ่มเรามีจุดประสงค์ที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้คนตื่นรู้และกล้าพูดเรื่องการเมืองในพื้นที่ปลอดภัยตรงนี้ เราทุกคนพร้อมรับฟัง ตรงนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์หลักของฝ่ายอนุรักษนิยม วันหนึ่งถ้าเราทำสำเร็จ ก็จะสร้างแรงกระเพื่อมพลิกโฉมการเมืองไทยในภาคใต้ได้เยอะ

มีคนที่ไม่เห็นด้วยหรือมีใครเคยมาต่อว่าหรือคัดค้านกลุ่มบ้างหรือยัง

เบนซ์: เยอะครับ มีทั้งกลุ่มที่เขาไม่เห็นด้วย แช็ตมาด่าก็มี คอมเมนต์ก็มี ยิ่งตอนออกมาม็อบช่วงแรก เราโดนถล่มพอสมควร  แต่หลายคนสุดท้ายต้องจำนนด้วยหลักฐานแล้วก็เงียบไป

จุดสำคัญคือเราต้องยืนอยู่บนหลักการให้ได้ เราต้องชัด มีหลักฐานไปโต้แย้ง เช่นกรณีที่เขาบอกว่ามีการปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่สมัย ร.5 แล้วนะ เราก็บอกว่าใช่ครับ ไม่ปฏิเสธ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นตอนยุคคณะราษฎร อย่าลืมว่าในสมัยนั้นเราสามารถผลิตประชากรในระดับอุดมศึกษาได้แค่ปีละ 70 คน ซึ่งต้องเป็นชนชั้นสูงหรือคนที่ใกล้ชิดกับกษัตริย์เท่านั้นถึงจะมีโอกาสศึกษา พอมายุคคณะราษฎรจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมจริงๆ คำตอบที่ได้รับมาก็คือ ฉันไม่รู้ค่ะฉันเป็นคนดี (หัวเราะ)

เราก็เอาหลักฐานไปให้ดูว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ก็เกิดมหาวิทยาลัยกระจายไปทั่วประเทศ เพื่อที่จะผลิตครู เพราะโจทย์ของคณะราษฎรในตอนนั้นจะกระจายการศึกษาได้ก็ต้องเริ่มจากการผลิตครูไปทั่วประเทศก่อน

การแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้เหล่านี้ นอกจากตอบคอมเมนต์แล้ว มีการจัดเสวนาบ้างไหม

เบนซ์: มีครับ แต่เป็นวงเสวนาปิด พื้นที่สำคัญของพวกเราอยู่กันบนออนไลน์ ผมจะคอยสแตนด์บายซัพพอร์ตน้องๆ ถ้ามีปัญหาอะไร เราใช้แอปฯ ดิสคอร์ดพูดคุยกัน เราคุยกันทั้งวันทั้งคืนครับ ทุกคนเข้ามาคุยกันได้

เราส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ มีการรวบรวมเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น บันทึกไว้หมดเลยว่าจัดกิจกรรมอะไรไปบ้าง มีบันทึกข้อมูลการคุกคาม ลิสต์รายชื่อไว้ มีข้อมูลการเรียนรู้ต่างๆ เราไปเจอที่ไหนก็เอามาแชร์กัน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่เข้ามาร่วมกลุ่ม

โต: อย่างที่บอกว่าเราสร้างพื้นที่ปลอดภัย มีนักเรียนเข้ามาหมุนเวียน หายไปบ้าง มาใหม่บ้าง

ในบางจังหวัดที่มีกลุ่มการเมืองเหนียวแน่นหน่อย เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ฯลฯ มักจะมีการจัดงานเสวนา เอาอาจารย์มหาวิทยาลัยมานั่งคุยกัน ที่นครศรีธรรมราชมีการจัดรวมกลุ่มแบบนี้บ้างไหม

เบนซ์: มีแต่น้อย สาเหตุส่วนหนึ่งคือเรื่องพื้นที่ พอนึกขึ้นมาว่าจะไปจัดงานเสวนาที่พูดเรื่องการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยในนครฯ ที่ร้านไหน นึกไม่ออกเลยครับ มีลิสต์แค่ไม่กี่ที่เท่านั้นเอง ตอนนี้ก็ใช้สตูดิโอจัดงานแสดงศิลปะบ้าง เพื่อลดแรงปะทะ ทำให้ซอฟต์ลง คนก็เข้ามาง่ายขึ้น ค่อยๆ แทรกซึมไป แต่เราก็มีแพลนจะจัดเสวนาในอนาคต

ถ้าให้ลองประเมินฝ่ายที่ไม่เอาเผด็จการในนครฯ ตอนนี้คิดว่ามีเยอะน้อยแค่ไหน จากที่เห็นๆ กัน

เบนซ์: ถ้าหากจะชี้วัดตอนเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา อนาคตใหม่ได้คะแนนหลักหมื่นจากประชากรหลักแสน อาจจะดูน้อย แต่ผมคิดว่าตัวเลขอาจจะเปลี่ยนไปแล้ว เพราะมีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจนเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิด อีกอย่างเรามีเด็กรุ่นใหม่เติบโตขึ้น ผ่านไปสี่ปีก็คือสี่รุ่นที่กำลังจะเลือกตั้งได้ คิดว่าคงไม่ไปเลือกฝั่งเผด็จการแน่นอน ทางพรรคการเมืองเองต้องเล็งเห็นความสำคัญของเยาวชนด้วยถ้าต้องการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับการทำงานของพรรคการเมืองด้วยว่าจะทำในพื้นที่มากพอหรือเปล่า

โต: ผมมองว่าบริบทครอบครัวก็สำคัญนะครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ คนรุ่นผมเมื่อโตมาแล้ว ด้วยความที่มีความเชื่อแบบนั้น ครอบครัวว่าอย่างไรก็ต้องว่าอย่างนั้น คะแนนอาจจะเยอะ แต่ก็ไม่ได้เยอะมากถึงขั้นได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น เด็กยังฟังพ่อแม่อยู่

คุยมาถึงตรงนี้ อยากรู้ว่าอะไรที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เราออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้นจริงจัง แล้วคาดหวังจะเห็นสังคมเป็นแบบไหนในภาพจินตนาการ

โต: อย่างที่ผมพูดไปตอนแรกว่า ผมเริ่มสนใจการเมืองจากการที่พรรคอนาคตใหม่โดนยุบ แล้วเริ่มมาจริงจังตอนที่เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง ศึกษาถึงความเจ็บปวดของนักต่อสู้สมัยก่อนว่าเขาโดนกดขี่อย่างไร และถึงปัจจุบันเขาก็ยังโดนกดขี่อยู่ ศึกษาจากการที่ได้ไปสัมผัสเขาโดยตรง มันเปลี่ยนให้เราให้เกิดความแค้นและเจ็บปวดขึ้นมา

สิ่งเหล่านี้ทำให้เราอยากจริงจังมากขึ้น เอาจริงๆ ผมก็มีช่วงที่แย่ เหนื่อย แต่ไปพักกลับมาพี่เขาก็ยังต้อนรับอย่างดี เราทุกคนมีความเชื่อว่าประเทศเราดีกว่านี้ได้นะ ระบบรัฐราชการจะดีกว่านี้ได้ ทำให้คนกินอิ่มอยู่ดีได้ เรื่องพวกนี้เป็นความเชื่อที่เราอยากทำต่อ ง่ายๆ คือเพื่อให้คนไทยกินอิ่มเท่ากันทุกคน

เบนซ์: เมื่อเราอยู่ตรงนี้เราต้องมีความรับผิดชอบในส่วนหนึ่งด้วย เราเป็นคนหลักในการขับเคลื่อน ถามว่าท้อหรือเหนื่อยไหมเวลาเจอแรงกดดันเยอะ เหนื่อยครับ แต่เป้าหมายเราไกลกว่านั้น ถามว่าภาพฝันคืออะไร ของผมอาจจะดูธรรมดามากนะครับ คือทุกคนสามารถเข้าถึงรัฐสวัสดิการได้อย่างถ้วนหน้า ผมอาจจะไม่ได้คิดถึงตัวเองในวันนี้ด้วยซ้ำไป ผมคิดว่าในวันหนึ่งแม่ผมต้องแก่ แล้วแม่ผมที่ทำงานให้ประเทศนี้มาจนอายุ 60 ปี ในวันที่เขาทำงานไม่ไหว รัฐให้เขาแค่เดือนละ 600 บาท ตกวันหนึ่ง 20 บาท ถามว่าในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ เราจะเอาเงิน 20 บาทไปใช้จ่ายอย่างไร แค่ข้าวมื้อหนึ่งก็ไม่พอแล้ว

ส่วนหนึ่งเป็นห่วงแม่ และยังคำนึงไปถึงลูกในอนาคต ทำไมคนไทยถึงมีลูกน้อยลง ก็ต้องกลับมาทบทวนว่าการมีลูกนั้นค่าใช้จ่ายสูงมาก แล้วไม่มีอะไรรองรับที่จะทำให้คนไทยส่วนใหญ่อยากมีลูกเลย

ทำไมวันนี้ต้องออกมาพูด เพราะเราไม่อยากส่งต่อสังคมแบบนี้ให้ลูกของเราอีกแล้ว การศึกษาแบบนี้ สังคมแบบนี้ ระบบสาธารณูปโภคแบบนี้ คุณสังเกตไหม ทุกคนมีรถส่วนตัว เพราะเราไม่มีระบบคมนาคมที่ดี ถ้าเรามีลูก ลูกเราก็ต้องดิ้นรนหาซื้อรถ ทั้งๆ ที่รัฐควรมอบขนส่งสาธารณะที่ดีให้

อย่างน้อยเราทำให้มากที่สุดเพื่อเปลี่ยนแปลงไปยังรุ่นของเขา สุดท้ายแล้วรุ่นเขาก็จะตัดสินเอง สิ่งที่เราส่งต่อไปวันนี้อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด เขาอาจมีแนวคิดที่เปลี่ยนไป เราก็ต้องเคารพความคิดเห็นของคนอีกรุ่นหลังจากนี้ด้วย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save