fbpx

แด่คนเศร้า เหงา รักและร้าวราน สี่ทศวรรษในฐานะนักแสดงของ เหลียง เฉาเหว่ย

มานึกดูแล้ว เหลียง เฉาเหว่ย น่าจะอยู่ในเส้นทางการดูหนังของผู้เขียนมากว่าครึ่งชีวิต -หากนับกันตั้งแต่ว่า เคยเห็นเขาสวมบทบาทเป็นนายตำรวจคนเศร้าคุยกับก้อนสบู่ สมัยที่ใครสักคนในบ้านเปิดผ่านแผ่นซีดีเก่าๆ เอาเข้าจริงก็ดูรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ถึงที่สุด ยิ้มหม่นๆ กับบุหรี่ที่เหน็บอยู่หลังใบหู และเพลง Dreams ที่ เฟย์ หว่อง ขับร้อง (และต้องใช้เวลาอีกหลายปีทีเดียวกว่าที่ผู้เขียนจะรู้ว่า ต้นฉบับเพลงมาจากวง The Cranberries) ก็ติดอยู่ในห้วงความทรงจำมาจนทุกวันนี้

ไล่เรียงอีกหลายปีหลังจากนั้น เหลียง เฉาเหว่ยยังอยู่ในครรลองสายตามาตลอด ทั้งในบทสายลับเฉือนคม, บทเกย์หนุ่มจากฮ่องกงที่ใช้ชีวิตในบัวโนสไอเรส, เป็นจิวยี่แห่งมหากาพย์สามก๊ก ฯลฯ มีทั้งหนังเก่าที่ผู้เขียนไล่เก็บไล่ดูและหนังใหม่ที่เขาร่วมแสดงรายปี ก็อาจไม่เกินเลยนักที่จะบอกว่าเหลียง เฉาเหว่ยอยู่จักรวาลการดูหนังของผู้เขียนมาหลายปีเหลือเกิน 

ดังนั้น การได้เห็นเขาในระยะประชิดจากงาน Masterclass ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวครั้งที่ 36 ก็ถือเป็นเรื่องเกินความคาดหมาย เด็กหญิงที่เพิ่งเริ่มดูหนังและสับสนงุนงงกับเส้นเรื่องของนายตำรวจ 663 เมื่อสิบกว่าปีก่อนคงไม่คาดฝันว่าในอนาคตจะได้มาเจอเจ้าตัวในระยะใกล้เช่นนี้ -ในชุดลำลองและรองเท้าสุดเก๋จากแบรนด์ญี่ปุ่นแท้

เหลียง เฉาเหว่ยหวนรำลึกถึงโมงยามแรกๆ ที่ส่งให้โลกรู้จักเขาในฐานะนักแสดง A City of Sadness (1989) หนังที่คว้ารางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังเวนิส พูดถึงประวัติศาสตร์บาดแผลของชาติไต้หวันโดย โหว เสี่ยวเสี้ยน -คนทำหนังชาวไต้หวันที่เพิ่งประกาศข่าวเศร้าไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนว่า จำต้องปลดระวางอาชีพการทำหนังหลังได้รับวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองเสื่อม (dementia)- หนังเล่าถึงช่วงเวลาความรุนแรงของไต้หวันภายใต้การปกครองของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง โดยเหลียงรับบทเป็นช่างภาพใบ้ผู้ทุกข์ระทม ดิ้นรนต่อสู้กับระบอบเผด็จการเงียบเชียบ 

“ผมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไต้หวันมากมายก็จากการร่วมงานกับคุณโหว เสี่ยวเสี้ยนนี่แหละครับ” เหลียงเล่าย้อนถึงขวบปีที่ 27 ของชีวิต “อันที่จริง ตอนนั้นผมไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าคนไต้หวันพูดกันแบบไหน แต่ตัวละครของผมพูดไม่ได้ ผู้กำกับหาหนังสือให้ผมมาอ่านเยอะมาก ส่วนมากเป็นงานวรรณกรรม และเพื่อจะทำความเข้าใจตัวละคร การอ่านหนังสือเป็นจำนวนมากในคราวเดียวนี่ทำให้ผมเข้าอกเข้าใจอะไรต่อมิอะไรขึ้นเยอะมาก โดยเฉพาะความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ทั้งนี้ ช่วงแรกผมจึงเก็บตัวอยู่ในโรงแรมเป็นส่วนใหญ่ สันโดษตัวเองออกมาเพื่อจะได้เข้าใจการใช้ชีวิตในความเงียบงัน

“ช่วงนั้นผมดูหนังต่างประเทศเยอะมากเพราะอยากพัฒนาทักษะการแสดงของตัวเอง พลางนึกสงสัยอยู่เสมอว่าตัวผมจะทำแบบที่นักแสดงคนอื่นๆ ทำในหนังเหล่านั้นได้ไหม แล้วพอมาถ่ายทำจริงๆ ที่กองถ่าย อยู่ร่วมกันกับนักแสดงอาชีพคนอื่นๆ ผมก็ตะลึงไปเลยเพราะพวกเขาเก่งกันมากๆ” เขาว่า “ถึงขั้นผมกลับมาครุ่นคิดว่า ความสามารถผมอยู่ระดับไหนแล้วหากเทียบกับพวกเขา และจากนี้เองที่ผมค่อยๆ ขัดเกลา พัฒนาทักษะตัวเองให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เหลียง เฉาเหว่ยขยายความว่า ในกองถ่ายนั้น โหว เสี่ยวเสี้ยนมักจะง่วนอยู่กับงานเสมอ และบ่อยครั้งก็ดูเหมือนจะปล่อยให้เฉาเหว่ยแสดงโดยอิสระ ปราศจากการกำหนดทิศทาง “ด้านหนึ่ง ผมว่าเขายุ่งมากเสียจนไม่ได้สนใจผมด้วยมั้ง” เขาหัวเราะ “แต่ก็เพราะอย่างนี้ล่ะ ผมเลยได้ศึกษาการแสดงด้วยตัวเองผ่านการสังเกตการแสดงของนักแสดงคนอื่นๆ ในกองถ่าย”

จุดนี้เองที่เส้นทางการแสดงของเหลียง เฉาเหว่ยมาบรรจบกับ หว่อง การ์ไว (Wong Kar-wai) คนทำหนังสัญชาติฮ่องกงที่เพิ่งแจ้งเกิดจาก As Tears Go By (1988) และในเวลาต่อมา ได้กลายเป็นคนทำหนังคู่บุญของเหลียงอีกหลายปีนับจากนั้น โดยเหลียงวัย 28 ปีร่วมแสดงในหนังยาวเรื่องที่สองของหว่องอย่าง Days of Being Wild (1990) จับจ้องไปยังชีวิตอันร้าวรานของ ยกไจ๋ (เลสลี จาง) ชายผู้หลบสายตาต่อความสัมพันธ์ลึกซึ้ง กับวลี “ผมเคยได้ยินเรื่องราวของนกไร้ขา มันทำได้เพียงออกบินและบินไป เหนื่อยก็นอนพักกับสายลม ชั่วชีวิตของมันนั้น มันจะร่อนลงดินได้เพียงครั้งเดียว นั่นคือเมื่อมันตายจากลง” 

ในหนัง เหลียงรับบทเป็นตัวละครเล็กๆ ที่ออกมาเพียงไม่กี่ฉาก กระนั้น เขาก็ทำสถิติถ่ายอยู่สิบกว่าเทค -ถือว่ามากกว่านักแสดงคนอื่นๆ เป็นเท่าตัว “จาง ม่านอวี้ (Cheung Man yuk หรือ Maggie Cheung -นักแสดงนำหญิงในเรื่อง) ถ่ายอยู่สองหรือสามเทคนี่แหละครับ แต่ผมนี่กดไปจะ 20 เทค ก็ยังไม่ถูกใจหว่องเขาเลย” เหลียงหัวเราะ “มีอยู่ครั้งหนึ่งน่าจะถ่ายไป 26 เทคได้ จนผมถอดใจแล้วเพราะไม่รู้ว่าต้องแสดงอย่างไร ทำไม่เป็นอย่างใครเขา ก็พอดีกับที่คุณหว่องเดินมาบอกผมว่า ‘คุณนี่มีเทคนิคทางการแสดงเยอะดีนะ แต่ผมว่าเราไม่ต้องใช้เทคนิคพวกนั้นหรอก แสดงออกมาจากหัวใจก็พอ’ เขาบอกผมแค่นั้นจริงๆ แล้วพอหนังออกฉายและผมได้เห็นตัวเองในนั้น ยิ่งรู้สึกว่าคุณหว่องนี่ช่างเป็นผู้กำกับที่ดึงศักยภาพนักแสดงออกมาได้เก่งกาจเหลือเกิน และนี่เองที่ทำให้ผมตัดสินใจว่าจะร่วมงานกับเขาต่อไปเรื่อยๆ” 

เหลียงสาธยายว่า ช่วงที่เขารู้จักหว่องแรกๆ นั้น เขาต้องพยายามทำความเข้าใจจักรวาลแบบหว่องด้วยการไปหาผู้กำกับที่ออฟฟิศทุกวัน ใช้เวลาด้วยกันในมื้อค่ำ ฟังเพลงที่หว่องแนะนำ รวมทั้งการตะบี้ตะบันอ่านวรรณกรรมที่หว่องมอบหมายให้เป็นหนึ่งในภารกิจที่เขาต้องปฏิบัติให้ลุล่วง “มีอยู่ครั้งหนึ่งนะครับ ที่หว่องเขาพูดถึงเรื่อง Norwegian Wood (นวนิยายสัญชาติญี่ปุ่นโดย ฮารูกิ มูราคามิ พูดถึงความสัมพันธ์ของชายหนุ่มกับหญิงสาว และเพื่อนผู้จากไป) เขาชวนผมคุยว่า ‘คุณว่าเรื่องระหว่างวาตานาเบะกับนาโอโกะนี่เป็นยังไง ฮึ’ ส่วนผมนึกสงสัยไปอีกแบบ เพราะตอนที่อ่านหนังสือ ผมครุ่นคิดว่าสีหน้าของนาโอโกะนั้นเป็นสีหน้าแบบไหนกันนะ” เหลียงบอก (ซึ่งสำหรับผู้เขียนที่ชอบนิยายเรื่องนี้ไม่น้อย ก็รู้สึกเสียดายที่เขาไม่ได้ขยายความเพิ่มว่าบทสนทนาระหว่างเขากับหว่อง ว่าด้วยนิยายของมูราคามิเรื่องนี้ลงเอยอย่างไร และสำหรับเขาแล้ว สีหน้าของนาโอโกะที่เขาจินตนาการนั้นเป็นแบบไหน)

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของหว่อง การ์ไว คือการทำหนังโดยไม่มีสคริปต์ และแม้จะฟังดูเป็นเรื่องน่าพรั่นพรึงสำหรับเหล่านักแสดงและทีมงานมากเพียงไหน แต่นั่นก็ดูเป็นเรื่องแสนสามัญของเหลียงไปแล้ว -และเป็นความสามัญอันเกิดจากการกำกับอันแม่นยำ มีทิศทางแน่วแน่ของหว่อง “เขาทำหนังโดยไม่มีสคริปต์น่ะ ถึงมีก็ไม่ยอมบอกพวกเราๆ ที่เป็นนักแสดงหรอก” เหลียงหัวเราะ “แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่าเขามีบทอยู่ในมือนะ แต่ไม่เอามาให้คนอื่นๆ ได้ดู นักแสดงแค่รู้ก็พอว่ากำลังรับบทเป็นใคร -อีกประการหนึ่งคือ ผมคิดว่าหว่องเป็นผู้กำกับที่ชัดเจนมากว่าเขาอยากได้อะไร อยากให้เราแสดงแบบไหน พวกเราจึงมีหน้าที่แค่แสดงและปล่อยให้หนังมันไหลไปกับเรื่องราว

“เวลาอยู่ในกอง หว่องเขาแค่มาดูๆ ว่าสถานการณ์โดยรวมเป็นยังไง มีบ้างบางครั้งที่จู่ๆ เขาก็เปลี่ยนบทหน้ากองนั่นแหละ” เหลียงบอก “และเพราะแบบนี้ เขาจึงไม่ค่อยบอกอะไรนักแสดง บอกไปก็อาจเปลี่ยนเอาได้ในที่สุด อีกอย่างคือเขาบอกผมว่า เวลาให้ข้อมูลนักแสดงไปเยอะๆ แล้วนักแสดงจะเตรียมตัวมาดีเกินไป ทำให้ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ ดังนั้น หว่องก็จะไม่ค่อยบอกอะไรเรานัก และถ้าอยากจะเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยนกันดื้อๆ แบบนั้นเลยนั่นล่ะ”

ตลอดช่วง Masterclass เหลียง เฉาเหว่ยอธิบายถึงการ ‘กลืนกลาย’ เป็นตัวละครของเขาหลายบทบาทและหลายวิธีการ นับตั้งแต่การใช้ชีวิตสันโดษอยู่ในโรงแรมเพื่อเข้าถึงตัวละคร จนถึงการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ดังที่ปรากฏใน 2046 (2004) ว่าด้วยคนผู้แสนอ่อนไหวในโรงแรมเปลี่ยวเหงา โจวมู่หวัน (เหลียง) นักเขียนหนุ่มที่ชอกช้ำเพราะรัก เยียวยาหัวใจด้วยการเข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งที่ห้อง 2046 และหากใช้ภาษาของยุคสมัยนี้ ก็อาจจะกล่าวได้ว่า 2046 เป็น ‘มัลติเวิร์ส’ ของภาพยนตร์เรื่อง In the Mood for Love (2000) หนังที่ส่งเหลียงคว้ารางวัลนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และส่งหว่องเข้าชิงปาล์มทองคำ โดยในเรื่อง เหลียงรับบทเป็นตัวละครที่ชื่อโจวมู่หวันเหมือนกัน ต่างกันก็ตรงที่ว่า มู่หวันใน In the Mood for Love คือชายที่แอบมองหญิงสาวข้างห้องด้วยสายตาของคนเศร้าร้าวรานไปทั้งชีวิต 

“ตอนที่อ่านบทเรื่อง In the Mood for Love ผมถามหว่องว่า ขอไว้หนวดได้ไหม แน่นอนว่าหว่องปฏิเสธ” เหลียงหัวเราะ “ยิ่งเมื่อมาทำเรื่อง 2046 ที่หว่องบอกว่าผมต้องเล่นเป็นตัวละครเดิม แต่อยู่คนละเรื่อง ผมยิ่งรู้สึกว่าต้องไว้หนวดแล้วล่ะ แต่หว่องก็ยืนยันว่า ‘คุณไม่ต้องไว้หรอก คุณแค่ต้องแสดงให้ต่างไปจากเดิม คนดูก็รู้เองล่ะน่า’ ผมก็บอกเขาไปว่า ‘ที่คุณพูดก็ถูก แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังต้องการสิ่งที่มากระตุ้นผม หรือทำให้ผมยึดติดกับตัวละครนี้อยู่ดี’ 

“เราเถียงกันอยู่พักหนึ่ง จนพอเขาเห็นผมไว้หนวด เขาก็บอกว่า ‘คุณดูดีนี่หว่าเวลามีหนวด’ แล้วเลยยอมให้ผมไว้หนวดแสดงเรื่อง 2046 นี่น่ะ” เหลียงบอกพร้อมยิ้มน้อยๆ อย่างไรก็ดี สำหรับชาวไทย 2046 ยังเป็นหนังที่พิเศษมากเนื่องจาก เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ร่วมแสดงด้วย โดยในตัวอย่างหนัง เราจะได้ยินเสียง ‘พี่เบิร์ด’ พูดประโยค “เจอกันที่บาร์ 2046” (ออกเสียงว่า ทู-โอ-โฟร์-ซิกซ์) แต่ถูกตัดออกในหนังฉบับเต็ม

พ้นไปจากการกลืนกลายเป็นตัวละคร เหลียงยังเล่าถึงการ ‘กลับ’ มาเป็นตัวเองซึ่งถือเป็นกระบวนการที่นักแสดงอาชีพต้องเผชิญ “บางที พอผมแสดงหนังไปเรื่อยๆ ผมก็เริ่มลืมเหมือนกันว่าแท้จริงแล้วผมเป็นใคร การกลับมาเป็นตัวเองอีกครั้งหนึ่งนั้นเป็นเรื่องชวนสับสน และต้องใช้เวลาพักใหญ่ทีเดียวกว่าจะกลับมาเป็นตัวเองได้… บ่อยครั้ง ตัวละครที่ผมแสดงก็อยู่กับผมต่อไปอีกนานแม้เมื่อปิดกล้องไปแล้ว”

เหลียงปิดท้ายด้วยการกล่าวสรุปถึงการทำงานร่วมกับหว่องว่า “ผมร่วมงานกับหว่องมา 20 ปีได้แล้ว และได้เรียนรู้อะไรต่อมิอะไรก็จากการทำงานกับเขาเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาทักษะทางการแสดงของตัวเอง ที่ผ่านมา ผมวาดหวังมาตลอดว่าจะเป็นนักแสดงที่เก่งขึ้น และการร่วมงานกับหว่องก็ทำให้ผมได้บรรลุเป้าประสงค์นั้น”

และอย่างที่กล่าว สำหรับผู้เขียนที่โตมากับเหลียง เฉาเหว่ย การได้เห็นเขาในระยะใกล้ ฟังเขาย้อนวัยถึงบทบาทเก่าๆ ที่ทำให้เรารักนั้น ก็นับเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ล้ำค่าสำหรับคนดูหนังตัวเล็กๆ -และออกจะถือเป็นเรื่องเกินฝันสำหรับเด็กคนหนึ่งที่รู้จักเขาครั้งแรกจากบทนายตำรวจ 663 เมื่อสิบกว่าปีก่อนหน้านี้เหลือเกิน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save