fbpx
Last Night I Saw You Smiling เรื่องเล่า ‘บ้าน’ กับการเปลี่ยนผ่านความทรงจำสังคม

Last Night I Saw You Smiling เรื่องเล่า ‘บ้าน’ กับการเปลี่ยนผ่านความทรงจำสังคม

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

 

“ถึงแม้ว่าตึกจะว่างเปล่า ไม่มีคน ไม่มีเพื่อนบ้านอาศัยอยู่แล้ว แต่ผมรู้สึกว่าตึกยังมีชีวิตอยู่ ยิ่งเมื่อคิดว่าตึกนี้กำลังจะถูกทำลาย ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าตึกนี้ไม่ใช่แค่ตึก แต่มันคือบางส่วนในหัวใจของผม”

คาวิค เหนียง ผู้กำกับชาวกัมพูชาพูดถึงสารคดีเรื่องล่าสุดของเขา Last Night I Saw You Smiling ที่ตามถ่ายการทุบ ‘ตึกขาว’ อพาร์ตเมนต์ที่ผู้กำกับเติบโตมาในเมืองพนมเปญ เก็บเกี่ยวช่วงเวลาที่ชาวบ้านต่อรองเรื่องเงินชดเชยกับภาครัฐ จับกลุ่มพูดคุยเรื่องการย้ายออก เก็บข้าวของ จนตึกถูกทำลายเหลือเพียงซากปูน

ภาพตึกขาวในปี 2017 ก่อนถูกทุบ เป็นอพาร์ตเมนต์ 5 ชั้นเรียงเป็นแนวยาวรูปทรงแปลกตา คล้ายกล่องสี่เหลี่ยมที่ถูกหยิบมากองเป็นตั้ง มีการเล่นมิติที่ระเบียงแต่ละห้อง ความเสื่อมโทรมและโครงสร้างที่ขาดการดูแลบ่งบอกถึงอายุตึกที่ผ่านเวลามายาวนาน

‘ตึกขาว’ เป็นสิ่งก่อสร้างสำคัญซึ่งเป็นที่จดจำของคนพนมเปญ คล้ายตัวแทนความทันสมัยจากปี 1963 ที่ตึกนี้ถูกสร้างขึ้น และเป็นเสมือนภาพสะท้อนความเจริญของพนมเปญก่อนยุคเขมรแดงที่ทำให้สังคมกัมพูชาหยุดชะงัก

 

 

‘ตึกขาว’ อนุสรณ์ความทันสมัยก่อนเขมรแดง

 

ข้อมูลจาก White Building Project บอกที่มาของตึกนี้ว่า ในช่วงหลังกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส เมืองพนมเปญเกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้านภายใต้การนำของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อนุสาวรีย์ และตึกใหม่จำนวนมาก ประกอบกับในช่วงปี 1953 ถึง 1970 ประชากรในพนมเปญเพิ่มขึ้น 3 เท่า จากราว 370,000 คนเป็น 1 ล้านคน ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย

ในปี 1961 สมเด็จพระนโรดม สีหนุ มีพระราชดำรัสถึงเรื่องนี้ว่า ต้องเริ่มโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงเพื่อให้คนทั่วไปและคนมีรายได้น้อยสามารถเช่าหรือซื้อได้

‘ศูนย์วัฒนธรรมริมแม่น้ำบาสัก’ เป็นหนึ่งในโครงการที่มาตอบรับนโยบายดังกล่าว ควบคุมการออกแบบโดย Vann Molyvann สถาปนิกกัมพูชาคนแรกที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่จากฝรั่งเศส และกลับมาดูแลงานก่อสร้างของภาครัฐหลายโครงการ

สิ่งก่อสร้างในโครงการประกอบด้วย อาคารเคหะ 3 ตึก (1 ใน 3 คือตึกขาว) ศูนย์แสดงสินค้า และโรงละครแห่งชาติ ในแผนก่อสร้างยังมีอาคารอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกสร้างในเวลาต่อมา ได้แก่ พิพิธภัณฑ์, โรงเรียนศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์, โรงเรียนการโยธา, สำนักงานการท่องเที่ยว, แกลลอรี่ศิลปะ และโรงแรม

ตึกขาวออกแบบโดย Lu Bun Hap สถาปนิกกัมพูชาและ Vladimir Bodiansky สถาปนิกโซเวียต ภายใต้การดูแลของ Vann โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ครั้งแรกที่เขานำการออกแบบสไตล์โมเดิร์นมาใช้ในการออกแบบอาคารที่พักอาศัย เขาได้แรงบันดาลใจจากสถาปนิกชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นครูของเขา มีการจัดวางอพาร์ตเมนต์ทรงกล่องสี่เหลี่ยมตั้งซ้อนกัน รายล้อมด้วยพื้นที่สาธารณะ สวน และลานจอดรถ

ในยุคเขมรแดงระหว่างปี 1975-1979 ประชาชนถูกอพยพออกจากเมืองหลวงสู่ชนบท ตึกขาวไร้ผู้อยู่อาศัย พนมเปญกลายเป็นเมืองร้าง

เมื่อสิ้นสุดยุคเขมรแดง ผู้อาศัยเดิมและคนทำงานศิลปะที่รอดชีวิตกลับมาอาศัยที่ตึกขาว มีการขยายชุมชนศิลปิน จนต่อมากลายเป็นย่านชุมชนอันมีชีวิตชีวาที่มีคนอาศัยอยู่กว่า 2,500 คน ประกอบด้วย นางรำ นักดนตรี คนทำงานหัตถกรรม คนทำงานด้านวัฒนธรรม ข้าราชการ คนค้าขาย

ตึกขาวในยุคหลังเหลือเพียงภาพชุมชนแออัด เต็มไปด้วยปัญหาความยากจน ยาเสพติด การค้าบริการ การลักเล็กขโมยน้อย สุขอนามัย กระทั่งตัวตึกที่ผ่านกาลเวลายาวนาน ก็น่ากังวลถึงความปลอดภัยด้านโครงสร้าง ปราศจากภาพความ ‘โมเดิร์น’ ในยุคแรกของตึก มีเพียงโครงสร้างอันแปลกตาที่เป็นสัญลักษณ์อันเลือนรางของความทันสมัยในอดีต

 

 

เรื่องราวสุดท้ายของ ‘บ้าน’

 

ในปี 2017 บริษัทญี่ปุ่นซื้อที่ดินบริเวณตึกขาวเพื่อนำไปพัฒนา ทำให้ 493 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ต้องย้ายออกโดยได้รับเงินชดเชยจากรัฐ

ครอบครัวของ คาวิค เหนียง เป็นหนึ่งในชุมชนตึกขาวที่ถูกบังคับให้ย้ายออกจากบ้าน แม้คนส่วนมากจะพึงพอใจกับเงินชดเชยที่ได้รับ แต่การต้องเก็บของย้ายออกจากบ้านที่อาศัยมายาวนานก็เป็นเรื่องยากจะทำใจ

พ่อของคาวิค เป็นช่างปั้นของกระทรวงวัฒนธรรมที่มาอยู่ตึกขาวพร้อมแม่ของคาวิคในปี 1979 หลังเขมรแดงสิ้นสุดลง คาวิคเกิดและเติบโตที่นี่ เขาใช้ภาพยนตร์ทำให้ตึกเก่าๆ นี้มีชีวิตขึ้นมา ผ่านภาพสะท้อนความผูกพันของผู้อาศัยที่มีความทรงจำถึงบ้านแตกต่างกันออกไป เช่นเมื่อเราคิดถึง ‘บ้าน’ ของตัวเอง สิ่งที่เราหวงแหนไม่ใช่กลอนประตู เพดาน หรือฝาผนัง แต่เป็นชีวิตที่มีความทรงจำร่วมกับ ‘ความเป็นบ้าน’

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เน้นย้ำภาพความโรแมนติกของความทรงจำเรื่องบ้าน แต่เน้นภาพการทุบทำลายอาคาร ตัดสลับกับคำพูดปะติดปะต่อของเพื่อนบ้านมากหน้าหลายตาในภาวะที่กังวลกับการเก็บของย้ายบ้านและหาที่อยู่ใหม่ โดยไม่มีตัวละครหลักในการเดินเรื่อง

คาวิคเล่าว่าเขาถ่ายเรื่องราวเหล่านี้โดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า เพราะในปี 2016 เขาเขียนบทภาพยนตร์ฟิคชั่นโดยมีตึกขาวเป็นฉากในเรื่อง แต่ยังไม่ได้เริ่มถ่ายทำก็ได้ข่าวว่าตึกจะโดนทุบ เขาคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างก่อนตึกจะโดนทำลาย จึงไปยืมกล้องเพื่อนและหาคนอัดเสียงมาถ่ายฟุตเทจเป็นเวลา 30 วัน โดยไม่ได้คิดเรื่องมุมกล้องหรือเรื่องราวอะไร เพียงแค่อยากเก็บช่วงเวลาก่อนที่จะไม่มีตึกนี้อีกต่อไป

เขาเก็บภาพท่ามกลางเพื่อนบ้านที่ยุ่งอยู่กับการเก็บของ เจอใครก็ขอสัมภาษณ์โดยตั้งไม่ได้เตรียมคำถามล่วงหน้า แล้วเรื่องราวถึงความทรงจำของตึกนี้ก็พรั่งพรูออกมา

คาวิคได้ฟุตเทจมา 50 ชั่วโมง และคิดว่าคงเอาไปใช้ในภาพยนตร์ฟิคชั่นของเขาแค่เพียง 2 ช็อต เมื่อเขากลับมานั่งดูซ้ำจึงคิดว่าน่าจะเอาไปทำอะไรได้ แต่ตัวเขามีความรู้สึกร่วมกับเรื่องนี้มากเกินไปจนไม่รู้สึกสดใหม่หรือเห็นสิ่งไหนน่าสนใจเป็นพิเศษ จนได้เจอกับคนตัดต่อชาวฝรั่งเศสที่มีความรู้เกี่ยวกับกัมพูชาอยู่บ้าง

“พอดูฟุตเทจแล้วเขาบอกว่าผมหมกมุ่นอยู่กับระเบียงทางเดิน ทำให้ผมคิดถึงตอนกำลังถ่ายตึกโดนทุบ ผมยืนอยู่กลางระเบียงทางเดินแล้วหลับตา ได้ยินเสียงตึกที่ถูกทุบเรื่อยๆ แล้วภาพความทรงจำวัยเด็กก็ย้อนกลับมา นึกถึงเพื่อนบ้านและคิดว่าตึกที่ถูกทุบอยู่นี้อาจไม่จริงก็ได้ ต่อมาผมจึงคุยกับคนตัดต่อว่าน่าจะทำหนังเกี่ยวกับความทรงจำของผม”

ในสารคดีมีหลายช่วงที่ย้ำภาพตอนที่พ่อแม่ของคาวิคและเพื่อนบ้านพยายามถอดประตูและหน้าต่างติดไปบ้านใหม่ด้วย คาวิคบอกว่าสุดท้ายพ่อแม่ของเขาก็ไม่ได้เอาประตูนั้นไปใช้ประโยชน์อะไร

“การหยิบฉวยประตูหน้าต่างของพ่อแม่หรือชาวบ้านคนอื่น คล้ายเป็นการพยายามเก็บเกี่ยวบางสิ่งจากบ้านที่เคยผ่านแดดผ่านฝนมาร่วมกับเรา สิ่งเหล่านี้พูดกับเราไมได้ แต่เราสัมผัสและรู้สึกกับมันได้ พอคิดว่าตึกจะโดนทุบ เราก็พยายามหยิบฉวยทุกอย่างเท่าที่จะเอาไปได้ เพราะตึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา”

เป็นเรื่องยากสำหรับการเฝ้ามองบ้านที่ตัวเองอยู่มาตั้งแต่เกิดถูกทุบทำลายย่อยยับลงต่อหน้า การบันทึกภาพตึกขาวของคาวิคเหมือนความพยายามจดจำภาพบ้านที่ไม่มีชีวิตให้โลดแล่นอยู่ในเรื่องเล่าของตัวเอง ทำให้ภาพความทรงจำวัยเด็ก เพื่อนบ้าน เด็กวิ่งเล่นบนระเบียง เสียงเพลงรักยุคเก่าจากวิทยุ เสียงหึ่งของพัดลมเพดาน เสียงโทรทัศน์ที่เปิดเผื่อแผ่เพื่อนบ้านให้ได้ยินกันทั้งละแวก เสียงวงเหล้าในมุมตึกยามค่ำคืนเป็นสิ่งที่มีตัวตนอีกครั้งในวันที่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ตึกขาว’ อีกต่อไป

 

 

ประวัติศาสตร์ในความทรงจำต่างยุคสมัย

 

แม้ตัวผู้กำกับจะมองสารคดีเรื่องนี้ในฐานะความทรงจำส่วนตัว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นชวนให้คิดถึงภาพกว้างของสังคมกัมพูชา เมื่อตึกขาวเป็นคล้ายสัญลักษณ์การเปลี่ยนผ่านในพนมเปญตั้งแต่หลังได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ผ่านยุคเขมรแดงที่คนรุ่นพ่อแม่ของคาวิคที่อาศัยในตึกแห่งนี้มีประสบการณ์ตรง มาถึงปัจจุบันคนในรุ่นคาวิคก็มีความทรงจำถึงสังคมกัมพูชาที่แตกต่างออกไป

บทสนทนาในสารคดีมีหลายช่วงตอนที่มีการเอ่ยถึง ‘ยุคพล พต’ ขึ้นมาลอยๆ หลายครั้ง ทั้งที่กำลังพูดถึงเรื่องการเก็บของ การย้ายบ้าน เรื่องชีวิตประจำวันที่ดูไม่เกี่ยวข้องกับเขมรแดง

เพื่อนบ้านของคาวิควัย 60 กว่าปี เล่าว่าการย้ายบ้านครั้งนี้ทำให้นึกถึง ยุคพล พต ที่ถูกบังคับให้ออกจากบ้าน ต่างกันที่ครั้งนี้มีรถบรรทุกขนของให้และได้รับเงินชดเชย

ในการสัมภาษณ์คาวิคไม่ได้เตรียมคำถามล่วงหน้า และไม่ได้คาดคิดว่าจะได้รับคำตอบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขมรแดง แต่เขาอธิบายว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนรุ่นนี้ที่มักจะพูดถึงเรื่องราวต่างๆ โดยอ้างอิงยุคเขมรแดง

“ต้องเข้าใจว่าคนรุ่นพ่อแม่ของผมมีชีวิตช่วงวัยรุ่นผ่านเขมรแดงมา ตอนนั้นพวกเขาอายุ 18-20 ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่รุนแรงและยากที่จะลืมไปตลอดชีวิต เมื่อคุณสูญเสียครอบครัว สูญเสียบ้าน สูญเสียทุกอย่าง ต้องย้ายไปที่อื่น ผมคิดว่าคนรุ่นพ่อแม่ก้าวข้ามผ่านประสบการณ์เรื่องนี้ได้ยากมาก

“ตอนสัมภาษณ์ผมไม่ได้พูดถึงเขมรแดงเลย แต่ผู้หญิงที่ผมคุยด้วยก็ยังให้คำตอบที่อ้างอิงถึงเขมรแดง เวลาคนรุ่นพ่อแม่จะพูดถึงอะไรก็มักจะยกตัวอย่างเขมรแดงขึ้นมา เช่นเวลากินข้าว พ่อแม่ก็ยังพูดถึงเขมรแดงว่า ‘จะเลือกอะไรมากมาย สมัยนั้นไม่มีข้าวจะกินด้วยซ้ำไป’ เขมรแดงเลยเหมือนเป็นสิ่งที่ล่องลอยและยังอยู่ในชีวิตคนรุ่นนั้น”

หรือการที่พ่อของคาวิคพูดถึงบ้านตัวเองว่า “การใช้ชีวิตที่ตึกขาวคือความสงบสุข” ยิ่งเผยให้เห็นภาพบรรยากาศแห่งยุคสมัยของกัมพูชา เมื่อพ่อของคาวิคเริ่มมาตั้งรกรากที่ตึกขาว และมีชีวิตปกติหลังผ่านเหตุการณ์เขมรแดงที่กลายเป็นประสบการณ์เลวร้ายในชีวิต

ชีวิตของตึกขาวและผู้อาศัยผูกพันกับอำนาจรัฐตั้งแต่การก่อสร้าง การอพยพออกในยุคเขมรแดง การย้ายกลับเข้ามาอยู่ และการบังคับให้ย้ายออกโดยจ่ายเงินชดเชย จนถึงการทุบทำลายเพื่อเปลี่ยนมือเจ้าของที่ดิน

ภาพการพังทลายของตึกขาวที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์กัมพูชา ชวนให้คิดถึงช่วงเวลาที่เขมรแดงทุบทำลายสังคมกัมพูชาอันนำมาสู่ความสูญเสียของชีวิตผู้คนจำนวนมาก การทำลายศิลปวัฒนธรรม และการพัฒนาหยุดชะงัก

สำหรับคนรุ่นพ่อแม่ของคาวิคที่ผ่านเขมรแดงมา การสูญเสียบ้านในบั้นปลายชีวิตถูกผูกเข้ากับความสูญเสียครั้งใหญ่ที่ถูกกระทำในวัยหนุ่มสาว อันเป็นความทรงจำของคนร่วมยุคสมัยที่ก้าวข้ามไม่ได้ ต่างจากมุมมองของคนหนุ่มอย่างคาวิค เขมรแดงเป็นเรื่องเล่าและความทรงจำของคนยุคก่อน เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้คิดถึงในชีวิตประจำวัน ตึกขาวสำหรับเขาคือบ้านและความทรงจำครอบครัว ไม่ใช่เรื่องเล่าการกลับสู่เมืองของคนที่ถูกพรรคคอมมิวนิสต์บังคับให้ไปทำงานในชนบท

วันท้ายๆ ของการถ่ายทำ ตึกเริ่มถูกทุบ ยังมีบางครอบครัวที่ยังเก็บของไม่เสร็จ คาวิคเข้าไปเก็บฟุตเทจท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียด เสียงการทุบทำลายดังเป็นจังหวะ ก้อนอิฐหล่นระเกะระกะ ฝุ่นคลุ้งจนหายใจไม่ออก

การรั้นจะอยู่ต่อไปในตึกที่กำลังพังทลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทางเดียวที่ต้องทำคือออกมาจากตึก ก้าวผ่านสู่ช่วงเวลาของคนรุ่นต่อไปโดยไม่ลืมความทรงจำในอดีต

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save