fbpx

หม่าล่า กาแฟ กางเกงช้าง หนังมะเดี่ยว และโฟล์กซอง: ความแมส/ไม่แมสของล้านนาร่วมสมัย

เมื่อเร็วๆ นี้มีข้อถกเถียงในโลกออนไลน์ขึ้นมา (อีกครั้ง) ว่าเพราะเหตุใด อาหารล้านนาจึง ‘ไม่แมส’ หรือไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเมื่อเทียบกับอาหารของภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศไทย แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่วัฒนธรรมล้านนาถูกหยิบยกขึ้นเป็นข้อถกเถียง เพราะก่อนหน้านี้ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ก็เคยเปิดประเด็นถอดรื้อสำรวจองค์ประกอบของวัฒนธรรมล้านนาในหนังสือ ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น กางเกงใน มาแล้ว[1] กระทั่งประเด็นอาหารล้านนาหรืออาหารเหนือ ‘แมส/ไม่แมส’ นี้ ผมก็จำได้ว่ามีการถกเถียงกันมาตั้งแต่ปลายปีก่อน ซึ่งผมก็ได้ไปร่วมแลกเปลี่ยนสนทนาด้วย แต่ในคราวนี้ ประเด็นข้อถกเถียงดังกล่าวได้ขยายไปจนมีการตั้งคำถามว่านอกจากอาหารล้านนาแล้ว วัฒนธรรมล้านนาโดยภาพรวมนั้นแมสหรือไม่? เพราะเหตุใด? ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ย่อมจะเป็นภาพสะท้อนพลังทางวัฒนธรรมของสังคมล้านนาปัจจุบันไปในตัวด้วย

คำถามดังนี้ จะตอบให้ง่ายมันก็ง่าย จะตอบให้ยากมันก็ยาก หากตอบให้ง่าย ก็อาจตอบได้ทันทีว่าอาหารล้านนานั้น ‘ไม่แมส’ เหตุเพราะว่าอาหารล้านนาอันเป็นที่รู้จักกันดี เช่น ข้าวซอย น้ำพริกหนุ่ม ขนมจีนน้ำเงี้ยว ฯลฯ นั้น หากินนอกล้านนาได้ยากเหลือเกิน ดังเช่นในกรุงเทพฯ นั้น ร้านอาหารล้านนามีจำนวนแทบจะนับนิ้วได้ ร้านที่มีขายก็ขายกันราคาค่อนข้างสูง แต่ร้านอาหารอีสานและร้านข้าวแกงปักษ์ใต้นั้นมีทุกตรอกซอกซอย และทั้งส้มตำไก่ย่างและแกงใต้ต่างเป็นอาหารที่โดยทั่วไปมีราคาจับต้องได้สำหรับคนหมู่มาก ยังมิพักจะต้องกล่าวถึงว่าร้านอาหารล้านนาที่มีให้กินในกรุงเทพฯ นั้น มีรสชาติ ‘เมือง’ เพียงใด เพราะในเมื่อมาขายต่างถิ่นก็ต้องปรับรสให้เข้ากับถิ่นนั้นๆ เป็นธรรมดา ยิ่งหากจะถามหาเมนูที่เฉพาะถิ่นขึ้นมา เช่น แกงกระด้าง คั่วแค น้ำพริกน้ำปู ฯลฯ ก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่อีก

ที่เป็นเช่นนี้ เคยมีผู้วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะอาหารล้านนามีรสชาติไม่ถูกปากคนภาคอื่นและใช้วัตถุดิบเฉพาะถิ่นมากเกินไปจึงไม่แมส ผมไม่เห็นด้วยกับชุดวิเคราะห์ดังกล่าว เพราะรสชาติเป็นเรื่องปัจจัตตังดังที่คำผญา (สุภาษิต) ล้านนาได้กล่าวไว้ว่า “ของกินอยู่ที่คนมัก ของรักอยู่ที่เพิงใจ” และที่สำคัญ ทั้งเรื่องรสชาติและวัตถุดิบต่างเป็นเรื่องที่ปรับเปลี่ยนกันได้ ดังเช่นอาหารอีสานที่ว่าแมสๆ นั้น ทำกินอยู่อีสานก็มีรสชาติหนึ่ง ออกไปทางเผ็ดเค็ม (จริงๆ ก็คล้ายๆ กับล้านนา) แต่เมื่อมาทำขายอยู่กรุงเทพฯ ก็ต้องปรับให้เข้ากับรสลิ้นคนกรุงเทพฯ เช่น จะตำส้มตำก็เติมหวานนิด เติมเปรี้ยวหน่อย ปลาร้าก็ไม่ต้องใส่เพราะคนกรุงเทพฯ ไม่ชอบจนออกมาเป็นตำไทย คนกรุงเทพฯ ชอบไข่เค็มก็ใส่ไข่เค็มลงไปด้วยเป็นตำไข่เค็ม อาหารทะเลกรุงเทพฯ มีหลายชนิดก็ใส่อาหารทะเลเข้าไปเป็นตำปูม้า ตำหอยดอง ฯลฯ เป็นต้น ถ้าปลุกบรรพบุรุษคนลาวอีสานมาลองชิมดูก็คงจะร้องว่าผิดผี แต่เพราะการปรับตัวดังนี้เองที่ทำให้อาหารอีสานแมส เข้าถึงลิ้นของทุกคน

ผมเชื่อว่าคนล้านนาก็มีพลังการปรับตัวไม่ต่างกัน อาหารล้านนาก็สามารถดัดแปลงให้เข้ากับลิ้นต่างถิ่นได้ไม่ต่างกับอาหารอีสาน สิ่งที่ต่างกันน่าจะเป็นบริบททางสังคมที่ก่อให้เกิดการปรับตัวที่ว่ามากกว่า ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้แล้วว่าอาหารอีสานเผยแพร่ไปยังภูมิภาคอื่นๆ ผ่านการอพยพของประชาชนคนธรรมดาชาวอีสาน ในยุคแรกก็เป็นเชลยลาวที่ถูกกวาดต้อนมา ในยุคหลังๆ ก็เป็นแรงงานหนุ่มสาวชาวอีสาน อาหารอีสานจึงเป็นวัฒนธรรมรากหญ้าอันเป็นวัฒนธรรมของประชาชน (popular culture) ที่ประชาชนชาวอีสานใช้ในชีวิตประจำวัน เผยแพร่ได้รวดเร็วและแข็งแรง เพราะคนอีสานมีอยู่ทุกที่ และคนอีสานย่อมชอบกินอาหารอีสาน ร้านอาหารอีสานจึงขายได้แน่นอน

นอกจากนี้ เนื่องจากอาหารอีสานเผยแพร่พร้อมกับคนอีสานซึ่งต้องดิ้นรนและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์รอบตัวตลอดเวลา วัฒนธรรมอาหารอีสานจึงมีความยืดหยุ่น เพราะถูกกระตุ้นให้ต้องปรับตัวตลอดเวลา ผิดกับอาหารล้านนาที่ถูกนำเข้ามาเมืองกรุงในฐานะวัฒนธรรมสูง (high culture) คือเป็นวัฒนธรรมที่ปรุงแต่งให้ประณีตกว่าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นของชนชั้นบนของสังคม ในช่วงแรกก็ถูกนำเสนอผ่านการจัดสำรับของเจ้าดารารัศมีเพื่อให้ ‘ท่าน ๆ’ ในวังหลวงได้ลอง ‘เหวย’ กัน และในช่วงหลังๆ ก็นำเสนอกันผ่านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเรื่องของชนชั้นกลางขึ้นไป อาหารที่ถูกขายในฐานะวัฒนธรรมสูงดังนี้มีจุดขายคือความประณีต เป็นแบบแผน และลุ่มลึกซับซ้อน ทำให้น่าลิ้มลอง แต่ก็เป็นจุดอ่อนในตัวคือทำให้ดูยุ่งยาก วุ่นวาย ไม่อาจเสพได้ทุกวัน และที่สำคัญคือแพง อาหารล้านนาจึงไม่สู้ ‘แมส’ นักด้วยเหตุนี้[2] เพราะวัฒนธรรมใดที่จะแมสต้องเข้าถึงได้ง่ายโดยคนทุกชั้นชน และมีข้อจำกัดน้อยที่สุด โดยเฉพาะเรื่องอาหารซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นกิจวัตรประจำวัน

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าหากเป็นวัฒนธรรมที่ไม่จำเป็นต้องทำทุกวันเสมอไป เช่น ศาสนา วัดวาอาราม เครื่องรางของขลัง (คนส่วนมากไม่ได้เข้าวัดทำบุญทุกวัน) การท่องเที่ยว กระทั่งเสื้อผ้า (แม้ทุกคนต้องใส่เสื้อผ้าทุกวันแต่ถ้าถือว่าชุดไทย ชุดล้านนา ฯลฯ คือผ้าพื้นเมือง คนส่วนมากไม่ได้ใส่ผ้าพื้นเมืองทุกวัน) ก็คงเป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่าวัฒนธรรมล้านนายังสามารถแข่งขันกับวัฒนธรรมของภูมิภาคอื่นๆ ได้ไม่ยากเกินไป

ผมขอย้ำเสียก่อนว่าผมมิได้หมายถึงว่าอีสานมีแต่วัฒนธรรมรากหญ้า ไม่มีวัฒนธรรมสูง และมิได้หมายถึงว่าล้านนามีแต่วัฒนธรรมสูง ไม่มีวัฒนธรรมรากหญ้า ทุกสังคมย่อมมีทั้งวัฒนธรรมรากหญ้าและวัฒนธรรมสูงอยู่แล้ว แต่ผมกล่าวถึงวิธีการหยิบมานำเสนอให้คนต่างถิ่นเท่านั้น และผมก็ไม่ได้มีเจตนาจะตำหนิผู้ที่นำวัฒนธรรมล้านนามาขายในลักษณะนี้ด้วย เพราะโดยสภาพสังคมและประชากรล้านนาแล้ว ประชากรล้านนามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรของภูมิภาคอื่นๆ อีกทั้งชาวล้านนายังไม่ใคร่จะอพยพโยกย้ายไปที่ไหนมากนัก การจะขายอาหารล้านนาให้ ‘แมส’ ด้วยวิธีการเดียวกับการเผยแพร่อาหารอีสานนั้นก็เห็นจะลำบากอยู่ เพราะภาคอีสานคือภาคที่มีประชากรมากที่สุด และมีการอพยพโยกย้ายมาก[3]

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการตอบแบบผิวเผินเท่านั้น เพราะเป็นการตอบคำถามโดยนิยามอาหารล้านนาอย่างแคบ คือต้องเป็นอาหารที่ตรงตามภาพจำความเป็นล้านนาแบบอนุรักษนิยมหรือแบบที่นักท่องเที่ยวคาดหวังเท่านั้น ถ้าเป็นในกรณีของอาหารไทยสยาม ก็คือต้องเป็นอาหารจำพวก ต้มยำ ผัดไทย (หลังๆ เริ่มรวมผัดกะเพรา) เท่านั้น ถ้าเป็นอาหารที่มียี่ห้อความเป็นจีนแปะอยู่บ้าง เช่น ข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยว ก็จะเริ่มก้ำกึ่ง และถ้าเป็นอาหารไทยสมัยใหม่ เช่น หมูกระทะ ก็จะกระอักกระอ่วนขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม หากใช้นิยามแบบใจกว้าง เมนูทั้งหมดที่กล่าวมา ซึ่งล้วนแล้วแต่นิยมกินกันในไทย และคิดค้นในไทย หรือดัดแปลงให้เป็นแบบไทยไปแล้วนั้น ล้วนแต่ถูกเหมาว่าเป็น ‘อาหารไทย’ ทั้งสิ้น ผมคิดว่าเราก็สามารถปรับนิยามของอาหารล้านนาและวัฒนธรรมอื่นๆ ของล้านนาได้ในลักษณะเดียวกัน

หากลองถามคำถามว่าอาหารล้านนาแมสหรือไม่ตามนิยามอย่างกว้าง ผมไม่แน่ใจว่าจะยังตอบว่าอาหารล้านนาไม่แมสเหมือนที่ตอบมาก่อนหน้านี้ได้หรือเปล่า เพราะผมก็เห็นว่ามีอาหารชนิดหนึ่งที่แม้จะรับจากอาหารต่างชาติ แต่ก็ตั้งต้นดัดแปลงและเริ่มกินกันในล้านนา และปัจจุบันนิยมกินกันแพร่หลายทั่วราชอาณาจักร นั่นคือ ‘หม่าล่า’ โดยเฉพาะประเภทที่เป็นหม่าล่าเสียบไม้ปิ้ง หรือที่คนจีนเรียกว่า ‘ซาวข่าว’

จริงอยู่ว่าอาหารประเภทซาวข่าวหรือหม่าล่าเสียบไม้ปิ้งนี้จะเป็นอาหารจีน หากสืบหาที่มาจริงๆ ก็คงต้องโยนไปที่มณฑลเสฉวนของจีนแผ่นดินใหญ่ หากแต่เส้นทางการเดินทางเข้ามาเป็นที่นิยมในสังคมไทยนั้น มีล้านนาเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่ผมกล่าวเช่นนี้ มีผู้ได้ศึกษาไว้ว่าเมนูหม่าล่าปิ้งย่างมิได้เดินทางจากมณฑลเสฉวนตรงเข้าสู่กรุงเทพฯ แต่รับผ่าน ‘คนไทลื้อ’ ที่อาศัยอยู่ในสิบสองปันนา และได้ดัดแปลงสูตรให้มีความเผ็ดร้อนยิ่งขึ้นตามรสนิยมการกินของคนไท-ลาว จากนั้นเมนูหม่าล่าปิ้งย่างจึงแพร่หลายเข้าสู่ประเทศไทยทางเชียงใหม่และเชียงราย[4] เพราะสิบสองปันนากับล้านนานั้นใกล้ชิดกันมาก มีภาษาและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน อีกทั้งยังกล่าวกันว่าชาวจีนที่ขับรถจากจีนเดินทางมาท่องเที่ยวในล้านนาก็มักจะแวะท่องเที่ยวสิบสองปันนาก่อน หรือผู้ที่ต้องการสัมผัสล้านนาในราคาประหยัดก็จะท่องเที่ยวอยู่ที่สิบสองปันนานั้นเลย และล้านนาก็มีเครื่องเทศที่คล้ายคลึงกับผงหม่าล่าอยู่แล้วนั่นคือ ‘มะแขว่น’ ที่นิยมนำมาทำ ‘พริกลาบ’ สำหรับปรุงรส ‘ลาบเมือง’ จึงไม่แปลกที่หม่าล่าจะเผยแพร่ในล้านนาได้อย่างรวดเร็ว ด้วยปัจจัยความใกล้ชิดและความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม

ผมเองก็จำได้ว่าราว พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นช่วงที่หม่าล่า (ทั้งแบบปิ้งย่างและหม้อไฟ) ยังไม่แพร่หลายทั่วประเทศขนาดนี้ หากนึกอยากกินหม่าล่าขึ้นมาต้องเดินทางไปถึงเชียงใหม่และเชียงรายทีเดียวจึงจะได้กิน เท่าที่ผมได้ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าหม่าล่าแบบปิ้งย่างคงจะเริ่มกินกันแถวอำเภอแม่สายก่อนเพราะมีกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ (รวมถึงไทลื้อ) อาศัยปะปนกัน ร้านแรกที่ขายหม่าล่าคือร้านอาหารชื่อ ‘ตุงคบุรี’ ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวไทขืนจากเมืองเชียงตุงที่ข้ามฝั่งมาประกอบธุรกิจในล้านนา

ต่อมาวัฒนธรรมการกินหม่าล่าปิ้งย่างจึงเริ่มแพร่ขยายเข้าไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ และเริ่มมามีชื่อเสียงในระดับประเทศเมื่อร้าน FUNKY GRILL (ซึ่งยังเป็นร้านหม่าล่าที่มีชื่อเสียงในเชียงใหม่จนทุกวันนี้) ประสบความสำเร็จในการโฆษณาเมนูหม่าล่าปิ้งย่าง เมนูนี้จึงเริ่มเป็นที่รู้จักของคนต่างถิ่นก่อนจะแพร่หลายเป็นที่รู้จักทั่วไป หากความเป็นมาของหม่าล่าปิ้งย่างในสังคมไทยเป็นดังที่ผมว่า จะถือว่าหม่าล่าปิ้งย่างเป็นส่วนหนึ่งของอาหารล้านนาได้หรือไม่? และหากนับว่าหม่าล่าปิ้งย่างเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมอาหารล้านนาร่วมสมัย ในทำนองเดียวกับที่หมูกระทะอาจเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารไทยร่วมสมัยแล้ว ในเมื่อหม่าล่าปิ้งย่างเป็นอาหารที่ ‘แมส’ อย่างไม่ต้องสงสัย จะถือว่าแท้จริงแล้ว อาหารล้านนาก็ ‘แมส’ ด้วยหรือไม่ ?

นอกจากหม่าล่าปิ้งย่าง ยังมีวัฒนธรรมอีกหลายอย่างที่ ‘แมส’ และเกี่ยวข้องกับล้านนาแบบก้ำกึ่งในทำนองเดียวกัน เช่น วัฒนธรรมการทอดอารมณ์จิบกาแฟในร้านกาแฟที่จัดบรรยากาศมาอย่างดีนั้น เคยเป็นจุดขายทางวัฒนธรรมที่เด่นมากๆ ของเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่วิถีการเสพกาแฟทำนองนี้จะแพร่หลายไปทั่วบ้านทั่วเมืองดังเช่นปัจจุบัน วัฒนธรรมการจิบกาแฟแบบ ‘ฮิปสเตอร์’ ดังนี้ ‘แมส’ ในตัว และกำลังสร้างรายได้ให้กับล้านนาในฐานะแหล่งผลิตกาแฟสำคัญของประเทศไทย แต่เราจะถือว่าวัฒนธรรมการจิบกาแฟดังนี้เป็นวัฒนธรรมการดื่มหรือวัฒนธรรมการฆ่าเวลาของล้านนายุคร่วมสมัยได้หรือไม่?

ในเรื่องของวัฒนธรรมการแต่งกาย ‘กางเกงช้าง’ หรือกางเกงผ้าพิมพ์ลายช้างขายาว เบา สบาย เป็นกางเกงที่ ‘แมส’ ถึงขนาดเป็นหนึ่งในภาพจำของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติไปแล้วว่ามาเมืองไทยต้องใส่กางเกงช้างสักครั้ง โดยที่ไม่ค่อยรู้กันว่ากางเกงช้างดังกล่าวนี้ ริเริ่มผลิตกันอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่นี่เอง จึงได้มีลักษณะคล้ายกับ ‘เตี่ยวเมือง’ หรือกางเกงดั้งเดิมของล้านนาที่มีขาใหญ่โพรก เบา สบายเหมือนๆ กัน[5] เช่นนี้ จะถือว่ากางเกงช้างเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายแบบล้านนาร่วมสมัยได้หรือไม่? หรือวัฒนธรรมการแต่งกายของล้านนาจะต้องกำหนดตายตัวว่าเป็นเสื้อหม้อฮ่อม ผ้าซิ่น ปิ่นปักผม เพียงอย่างเดียว?

ในส่วนของวัฒนธรรมความบันเทิง ผมก็เห็นว่านักแสดง ผู้กำกับหนัง และโปรดิวเซอร์ค่อนวงการบันเทิงก็เป็นคนล้านนา และผลงานของหลายท่านก็แทรกความเป็นล้านนาไว้ในผลงานของตัวเองอยู่บ้างไม่มากก็น้อย เช่น มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ซึ่งเป็นผู้กำกับที่ผมชอบมากที่สุดคนหนึ่ง มีพื้นเพเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ และผมก็สังเกตว่าหนังของมะเดี่ยวมักจะแทรกความเป็นเชียงใหม่ในภาพยนตร์ของตัวเองตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ฉากเป็นจังหวัดเชียงใหม่ การเลือกใช้ตัวละครเป็นคนเมือง หรือการแทรกเอาวัฒนธรรมล้านนาเล็กๆ น้อยในองค์ประกอบของหนัง เป็นต้น รวมไปถึงในเรื่อง รักแห่งสยาม ซึ่งเป็นผลงานอมตะที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้ชมทั่วประเทศ

ข้ามไปฟากฝั่งดนตรี ก็มีศิลปินดนตรีคนล้านนาอยู่หลายคน ทั้งศิลปินแร็ป เช่น ปู่จ๋าน ลองไมค์ กอล์ฟ ฟัคกลิ้งฮีโร่ และศิลปินโฟล์กซองอย่างเขียนไขและวาณิช ฯลฯ แม้ผลงานของศิลปินเหล่านี้จะไม่ได้เชื่อมต่อกับจ๊อยซอและสะล้อซอซึงโดยตรง แต่ก็สามารถสัมผัสถึงบรรยากาศล้านนาได้ไม่มากก็น้อยในผลงานเพลงของศิลปินเหล่านี้ และถึงต่อให้ศิลปินเหล่านี้จะไม่ได้ตั้งใจแทรกความเป็นล้านนาอะไรในผลงานของตัวเองเลย แต่ในเมื่อทุกคนที่กล่าวถึงมานี้ต่างนับตนเป็น ‘คนเมือง’ ‘คนเหนือ’ หรือ ‘คนล้านนา’ เราจะนับว่าผลงานของเขาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมความบันเทิงของล้านนาร่วมสมัยได้หรือไม่? อย่าลืมว่าหากเราไม่นับเขียนไขและวาณิชในวัฒนธรรมล้านนาไปแล้ว เราก็คงต้องไม่นับจรัล มโนเพ็ชรในวัฒนธรรมล้านนาด้วย ทั้งที่คงไม่มีใครปฏิเสธว่าจรัลเป็นหนึ่งในบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วงวัฒนธรรมของล้านนา

ทั้งหม่าล่า กาแฟ กางเกงช้าง หนังมะเดี่ยว และโฟล์กซองที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นอาจไม่ตรงตามกรอบคำนิยามความเป็นล้านนาแบบเคร่งครัด หลายท่านอาจไม่นับเป็นวัฒนธรรมล้านนา ไม่เหมือนจิ๊นส้ม เมี่ยง เสื้อหม้อฮ่อม ฟ้อนเล็บ และสะล้อซอซึงที่หรือเป็นวัฒนธรรมล้านนาแบบเบ้า ตรงตามจารีตประเพณี และเป็นของล้านนาแน่ๆ ชนิดไม่มีใครคิดเถียง แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็ล้วนแต่เป็นผลิตผลทางวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ในล้านนาหรือโดยคนล้านนาทั้งสิ้น จึงไม่เห็นเหตุผลใดที่จะไม่นับสิ่งเหล่านี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในจักรวาลวัฒนธรรมล้านนา และหากปฏิเสธวัฒนธรรมเหล่านี้ทั้งหมดด้วยเหตุผลว่ามัน ‘ไม่เมือง’ พอ ล้านนาก็คงจะไม่มีวัฒนธรรมร่วมสมัย และคงไม่มีวันท่ีจะมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อสังคมอื่นนอกล้านนาได้ เพราะสิ่งที่จะได้รับความนิยมจนถึงขั้น ‘แมส’ ได้นั้นจะต้องมีความร่วมสมัย จับต้องได้ เข้าถึงได้โดยคนทุกคน มิใช่จำกัดไว้เฉพาะผู้มีภูมิหลังเป็นคนล้านนา คุ้นชิ้นกับล้านนา หรือพื้นความรู้เกี่ยวกับล้านนามากพอเท่านั้นจึงจะเข้าถึงวัฒนธรรมดังกล่าวได้ หากล้านนามีแต่ ‘วัฒนธรรมแบบเบ้า’ หรือวัฒนธรรมแบบจารีตดั้งเดิม ก็จะส่งออกนอกล้านนาได้เพียงในฐานะวัฒนธรรมสูงหรือวัฒนธรรมแปลกใหม่เท่านั้น แต่จะไม่มีวันติดตลาดขนาดแทรกในชีวิตประจำวันของทุกคนได้

สำหรับท่านใดที่ตะขิดตะขวงใจว่าของที่ดูไม่ ‘เมือง’ เช่นนี้จะหนุนเสริมและเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นล้านนาได้อย่างไร โปรดระลึกเถิดว่าเกมส์และการ์ตูนของญี่ปุ่นซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลกนั้น แม้จะไม่มีเนื้อหาเป็น ‘ญี่ปุ่นแบบเบ้า’ แต่ทุกคนก็ยอมรับว่าเกมส์และการ์ตูนเหล่านั้นเป็นของญี่ปุ่น ซีรีส์เกาหลีที่คนไทย (และคนล้านนา) จำนวนมากติดตามดูเป็นชีวิตจิตใจนั้น แม้ไม่ได้เป็นเรื่อง “เกาหลีแบบเบ้า” แต่ทุกคนก็ยังยอมรับว่าเป็นซีรีส์ของเกาหลี นอกจากนี้ เกมส์ การ์ตูน และซีรีส์ที่ไม่ใช่ของแบบเบ้าเหล่านี้นี่เองมิใช่หรือที่เป็นพลังทางวัฒนธรรมอันดึงดูดให้คนต่างชาติหันมาสนใจ “ญี่ปุ่นแบบเบ้า” และ “เกาหลีแบบเบ้า” เพิ่มเติมหลังจากที่ได้เสพวัฒนธรรมร่วมสมัยของทั้งสองประเทศจนชื่นชอบแล้ว[6] ในทำนองเดียวกัน แม้หม่าล่า กาแฟ กางเกงช้าง หนังมะเดี่ยว และโฟล์คซองอาจไม่ ‘เมือง’ เท่ากับจิ๊นส้ม เมี่ยง เสื้อหม้อฮ่อม ฟ้อนเล็บ และสะล้อซอซึง แต่ก็ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาได้ ในทางตรงกันข้าม หากยืนยันให้ชัดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของล้านนา สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นพลังทางวัฒนธรรมที่ดึงดูดให้คนต่างถิ่นหันมาสนใจ ‘ล้านนาแบบเบ้า’ มากขึ้นก็ได้

ความ ‘แมส’ ของวัฒนธรรมล้านนาร่วมสมัยดังที่ได้ยกตัวอย่างมานั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าแท้ที่จริง สังคมล้านนาไม่ได้ขาดศักยภาพที่จะผลิตและผลักดันวัฒนธรรมให้เป็นที่นิยมนอกล้านนาเลย เพียงแต่วัฒนธรรมอันเป็น ‘ผลิตผล’ ในล้านนาหรือโดยฝีมือคนล้านนานั้น ไม่ได้ถูกขายให้เป็น ‘ผลิตภัณฑ์’ ของล้านนา แต่กลับถูกนำเสนอว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของไทยในภาพรวมทั้งประเทศ แก่นของปัญหาว่าด้วยพลังทางวัฒนธรรมล้านนาจึงไม่น่าจะอยู่ที่ประเด็นว่าล้านนาแมสหรือไม่แมส แต่น่าจะเป็นประเด็นว่าเพราะเหตุใด ของ ‘แมสๆ’ ที่มาจากล้านนานั้นไม่ถูกแปะฉลากความเป็นล้านนาแต่กลับถูกแปะฉลากความเป็นไทยทับเข้าไปแทน จะเป็นเพราะอัตลักษณ์ความเป็นล้านนาในโลกปัจจุบันถูกกลืนหายเข้าไปกับอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่กำหนดมาจากกรุงเทพฯ หมดแล้ว จนเหลือแต่อัตลักษณ์จากโลกอดีตอันได้แก่วัฒนธรรมล้านนาแบบเบ้าตามจารีตเท่านั้น? หรือเป็นเพราะคนล้านนา (หัวอนุรักษ์) ไม่ต้องการเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ๆ เข้ามาเจือปนกับวัฒนธรรมที่สู้อุตส่าห์อนุรักษ์มา?

หรือทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงเพราะว่าคนล้านนาไม่ต้องการเปิดเผยตนว่าเป็น ‘คนเมือง’ เหมือนกับที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้คนล้านนาจะมีความภาคภูมิใจกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนมาก แต่กลับไม่ค่อยพูดคำเมืองหรือภาษาล้านนากันเท่าไหร่นัก และไม่นิยมสอนลูกให้พูดภาษาล้านนา แม้กระทั่งเมื่อจะสนทนากับคนล้านนาด้วยกันเองนอกล้านนา ก็มักสนทนาเป็นภาษาไทยกลางหรือภาษาไทยสยาม ผิดกับคนอีสานและคนใต้ที่จะพูดภาษาของตนด้วยความภาคภูมิอยู่เสมอ ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเพราะล้านนาเป็นภูมิภาคที่รัฐสยามในยุคอาณานิคมเพ่งเล็งและให้ความสำคัญกับการกลืนวัฒนธรรม (assimilation) โดยเฉพาะในเรื่องภาษามากที่สุดนั่นเอง[7]

การอันวัฒนธรรมใดๆ จะทรงอิทธิพลถึงขนาด ‘แมส’ ในนอกพื้นที่ของตนได้นั้น จะต้องมีความเข้มแข็งจากภายใน นั่นคือกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมจะต้องรู้จักและใช้วัฒนธรรมทั้งเก่าและใหม่ของตนได้อย่างเชี่ยวชำนาญ มั่นใจ และเต็มภาคภูมิ ผมเชื่อว่าหากคนเมือง/คนล้านนารู้จักและภาคภูมิในวัฒนธรรมของตนมากพอที่จะแสดงอัตลักษณ์ความเป็นคนเมือง/คนล้านนาอย่างมั่นใจให้สังคมภายนอกรับรู้ วัฒนธรรมล้านนาจะแมสขึ้นมาเป็นที่ประจักษ์ ไม่ตกค้างเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมอย่างแน่นอน


บรรณานุกรม

ไชยันต์ รัชชกูล, อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อ่าน, 2564.

นิธิ เอียวศรีวงศ์, ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น กางเกงใน และ ฯลฯ ว่าด้วยประเพณี ความเปลี่ยนแปลง และเรื่องสรรพสาระ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.

พริษฐ์ ชิวารักษ์, “จริงหรือไม่ที่อาหารเหนือไม่แมส อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ใน the101.world. 25 ธันวาคม 2565. https://www.the101.world/northern-thai-food-and-lanna-culture/ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566)

“มาทำความรู้จักกางเกงช้าง แฟชั่นแบบไทย ดังไกลไปทั่วโลก” ใน เชียงใหม่นิวส์. 17 มีนาคม 2566. https://www.chiangmainews.co.th/economics/2907588/ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566)

ศุภมาศ วงศ์ไทย. “ความจริงของ “หมาล่า” ปิ้งย่างสไตล์สิบสองปันนา คำที่ไม่ได้เรียกชื่ออาหารแบบที่เข้าใจ” ใน ศิลปวัฒนธรรม. 13 เมษายน 2566. https://www.silpa-mag.com/culture/article_7732 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566)

สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สถิติประชากรศาสตร์ ประชากรและเคหะ.  http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/01.aspx (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566)

Nunthapol Ajawakom, ข้อเขียนไม่มีชื่อ. วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566. https://www.facebook.com/bob.ajawakom/posts/pfbid02gu6JNakwSj5bgkDMA5fSwNojYYqCg3fzp3YYsPVAnHyjiqQVYm5UGCV9YAjuNmhpl (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566)


References
1 นิธิ เอียวศรีวงศ์, ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น กางเกงใน และ ฯลฯ ว่าด้วยประเพณี ความเปลี่ยนแปลง และเรื่องสรรพสาระ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.
2 พริษฐ์ ชิวารักษ์, “จริงหรือไม่ที่อาหารเหนือไม่แมส อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ใน the101.world. 25 ธันวาคม 2565. https://www.the101.world/northern-thai-food-and-lanna-culture/
3 จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2565 ประชากรของจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน มีจำนวนรวมกันประมาณ 5.9 ล้านคน ในขณะที่ประชากรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรวมกันประมาณ 21.8 ล้านคน ต่างกันเกือบ 4 เท่า โปรดดู สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สถิติประชากรศาสตร์ ประชากรและเคหะ.  http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/01.aspx
4 ศุภมาศ วงศ์ไทย. “ความจริงของ “หมาล่า” ปิ้งย่างสไตล์สิบสองปันนา คำที่ไม่ได้เรียกชื่ออาหารแบบที่เข้าใจ” ใน ศิลปวัฒนธรรม. 13 เมษายน 2566. https://www.silpa-mag.com/culture/article_7732
5 “มาทำความรู้จักกางเกงช้าง แฟชั่นแบบไทย ดังไกลไปทั่วโลก” ใน เชียงใหม่นิวส์. 17 มีนาคม 2566. https://www.chiangmainews.co.th/economics/2907588/
6 โปรดดูข้อเขียนของนันทพล อาชวาคม ที่ https://www.facebook.com/bob.ajawakom/posts/pfbid02gu6JNakwSj5bgkDMA5fSwNojYYqCg3fzp3YYsPVAnHyjiqQVYm5UGCV9YAjuNmhpl
7 โปรดดู “บทที่ 6 กำเนิดชาตินิยมไทย” ใน ไชยันต์ รัชชกูล, อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อ่าน, 2564.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save