fbpx
เราจะไปโลกที่หนึ่งแบบเกาหลีกลาง?

เราจะไปโลกที่หนึ่งแบบเกาหลีกลาง?

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพ

 

ที่ผ่านมา Worst cases ของเศรษฐกิจไทยมีคนพูดถึงกันพอสมควร

แต่ถ้าลองมองอีกด้านให้ไกลขึ้น Best-case scenario ของเศรษฐกิจไทยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

เมื่อดูความเป็นได้ทางตัวเลข อาจกล่าวได้ว่าไม่ไกลเกินฝันตามยุทธศาสตร์ชาติ

หากก่อนจะได้สัมผัส “ชีวิตหลังความรวย” ของสังคมไทย เราอาจจะต้องเรียนรู้กลยุทธ์การเติบโตจากประเทศเพื่อนบ้านและย้อนมองบริบทแบบไทยๆ เสียก่อน

 

ความเป็นไปได้ทางตัวเลข

 

ข้อมูลจากธนาคารโลกล่าสุด ปี 2018 ไทยมีรายได้ประชากรต่อหัว 6,610 ดอลลาร์

ในขณะที่เส้นแบ่งประเทศรายได้สูง (high-income country) ปัจจุบันอยู่ที่ 12,376 ดอลลาร์

ถ้าคิดแบบแง่บวกว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาเป็นปกติแน่นอน

แล้วโตได้ต่อเนื่องปีละ 3% เราก็จะใช้เวลาอีก 22 ปี เพื่อไปถึงจุดนั้น

หรือถ้าเราโตได้ต่อเนื่องปีละ 4% ก็จะใช้เวลาอีกแค่ 16 ปี

แปลว่าหากเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่องได้ปีละ 3–4% เราจะกลายเป็น “ประเทศร่ำรวย” ได้ภายในปี 2035 (พ.ศ. 2578) หรืออย่างช้าก็ปี 2040 (พ.ศ. 2583)

ใกล้เคียงกับที่ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ขีดเป้าหมายไว้ว่า “ในปี 2580 ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว”

แต่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเบื้องหลังตัวเลขดังกล่าวจะมีรูปร่างหน้าตาแบบไหนกัน

 

หัวหอกเศรษฐกิจ

 

เศรษฐกิจประเทศหนึ่งสามารถเลือกใช้ “หัวหอกเศรษฐกิจ” ที่ต่างกันเพื่อสร้างการเติบโตได้หลายวิธี

หากเปรียบเทียบกับเอเชียตะวันออก ไทยจะใกล้เคียงกับเกาหลีใต้มากที่สุด เพราะเลือกใช้ “บริษัทยักษ์ใหญ่” เป็นหัวหอกเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

ดังที่เห็นได้จากเวทีนโยบายต่างๆ ใต้ร่มประชารัฐเปิดให้บริษัทเอกชนชั้นนำเข้ามากำหนดทิศทางเศรษฐกิจ พลังงาน การเกษตร หรือแม้แต่การศึกษา

ต่างจากไต้หวันที่เน้น SMEs หรือสิงคโปร์ที่ขาหนึ่งเปิดเสรีให้บรรษัทข้ามชาติลงทุน ส่วนอีกขาหนึ่งใช้รัฐวิสาหกิจคุมอุตสาหกรรมสำคัญ

แน่นอนว่าในแง่เศรษฐกิจ เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

เพียงหนึ่งชั่วอายุคนหลังสงครามกลางเมืองอันโหดร้าย เกาหลีใต้ก็ผงาดขึ้นมาเป็นประเทศร่ำรวยได้อย่างเหลือเชื่อ

ในเวลาเดียวกัน ทั่วโลกก็รู้จัก “แชโบล” อย่าง Samsung Hyundai LG ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วจนไล่กวดและแซงหน้าประเทศตะวันตกและญี่ปุ่นได้ในหลายผลิตภัณฑ์ กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความภูมิใจของชาติ

และทำให้เกาหลีใต้เป็นหนึ่งใน “เสือเศรษฐกิจ” ผู้สร้างปาฏิหาริย์แห่งเอเชียตะวันออก

 

บทเรียนจากโซล

 

อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์การเติบโตของเกาหลีใต้ที่ยอมแลกทุกอย่างเพื่อสร้างบริษัทระดับโลกส่งผลสะเทือนทางสังคมและการเมืองในรูปแบบที่ต่างออกไปจากไต้หวันและสิงคโปร์

อันดับแรกคือ เป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่สร้างผู้ชนะและผู้แพ้ชัดเจน

รัฐบาลเผด็จการอัดฉีดเงินกู้นโยบายให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กดค่าแรงให้ถูกที่สุดเพื่อรักษาต้นทุน แชโบลกลายเป็นผู้ชนะ ส่วนแรงงานกับบริษัทขนาดเล็กกลายเป็นผู้แพ้

ตั้งแต่ปี 1980 แชโบลยักษ์ใหญ่ 4 บริษัทแรกก็มีทรัพย์สินรวมกันเท่ากับงบประมาณของรัฐบาลทั้งหมดแล้ว

อิทธิพลของรัฐที่เคยสั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ให้ซ้ายหันขวาหันเริ่มหมดลง ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับธุรกิจเริ่มกลับหัวกลับหาง

ยิ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวเมื่อไหร่ รัฐยิ่งต้องง้อแชโบลเหล่านี้ให้ลงทุน ขออะไรก็แทบจะได้หมด

SMEs ทำได้เพียงเข้าเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของแชโบลเพื่อความอยู่รอด

บทเรียนต่อมาคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ

งานศึกษาพบว่าช่องว่างผลิตภาพ (productivity gap) ระหว่างบริษัทขนาดเล็กกับขนาดใหญ่มีแนวโน้มถ่างออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 1980 จนถึงปัจจุบัน

สถานะของประเทศในเวทีโลกขยับตามสถานะทางเศรษฐกิจ เกาหลีใต้ได้เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกในปี 1988 และได้เป็นสมาชิกของ OECD ในปี 1996

แต่ตัวชี้วัดทางสังคมหลายด้านของเกาหลีใต้นับว่าอยู่ท้ายๆ ของประเทศสมาชิก OECD โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำของค่าจ้าง (wage inequality) และ ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิง (gender wage gap)

ผลสืบเนื่องทางการเมืองก็น่าสนใจ เพราะเส้นทางประชาธิปไตยของเกาหลีใต้เต็มไปด้วยขวากหนาม การต่อรองอะไรสักอย่างกับผู้นำต้องอาศัยการรวมตัวประท้วงของผู้คนมหาศาล ต่อสู้กันแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน

แม้แต่ตอนที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยมั่นคงแล้วในปี 2016–2017 ประชาชนก็ยังต้องรวมตัวกันหลักล้านคน จึงจะสามารถกดดันประธานาธิบดี ‘พักกึนฮเย’ เข้าสู่กระบวนการถอดถอนจากปัญหาการทุจริตหลายกรณี หนึ่งในนั้นคือรับเงินสินบนจากผู้บริหาร Samsung

นอกจากนี้ ยังมีสถิติว่า กว่าครึ่งของครอบครัวที่เป็นเจ้าของแชโบล 10 อันดับแรกล้วนถูกตรวจพบว่าพัวพันกับการทุจริตหรือไม่ก็มีความผิดฐานหนีภาษีทั้งสิ้น

ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ว่ามานี้เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน แต่หนึ่งในนั้นคือการเลือกยุทธศาสตร์การเติบโตที่ให้บริษัทธุรกิจเป็นหัวหอก รัฐกดผู้เล่นอื่นๆ ในสังคม ใช้มาตรการการเงินการคลังสนับสนุนเต็มที่ ปิดตาข้างหนึ่งเพื่อสร้างกิจการระดับโลก แรงงานและบริษัทขนาดเล็กไม่ได้รับโอกาสอย่างเป็นธรรม

อันที่จริง โมเดลของเกาหลีใต้นั้นนับว่าง่ายกว่าของไต้หวันที่รัฐต้องสร้างเทคโนโลยีให้เอื้อต่อบริษัทขนาดเล็กจำนวนมาก และง่ายกว่าของสิงคโปร์ที่ต้องเปิดเสรี แต่กระตุ้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีของบริษัทต่างชาติไปพร้อมกัน

การปิดห้องคุยระหว่างผู้นำการเมืองกับนักธุรกิจใหญ่ไม่กี่คนย่อมง่ายกว่า สะดวกกว่า

เส้นทางนี้สร้างการเจริญเติบโตสูง แต่การจัดการความเหลื่อมล้ำก็ยากทวีคูณ

แม้ในเวลาต่อมา รัฐบาลเกาหลีใต้จะหันมาหนุน SMEs อย่างไรก็แทบไม่ได้ผล เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจถูกแชโบลควบคุมไว้หมด ลูกหลานแชโบลยังต่อยอดด้วยการขยายไปธุรกิจอื่น ไม่เว้นแม้แต่ร้านเบเกอรีและร้านกาแฟ

หากไทยเลือกยุทธศาสตร์เติบโตโดยให้บริษัทยักษ์ใหญ่เป็นหัวหอกผู้ควบคุมทิศทางเศรษฐกิจ ภาพเกาหลีใต้ในปัจจุบันอาจจะเป็น Best-case scenario ที่เราควรมองไว้เป็นบทเรียน

 

เกาหลีใต้ + เกาหลีเหนือ?

 

อย่างไรก็ดี ไทยก็ไม่ได้เหมือนเกาหลีใต้ขนาดนั้น เพราะองค์ประกอบทางการเมืองต่างกัน

รัฐบาลทหารปกครองเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 1961 จนกระทั่งปี 1993 คิมย็องซัมได้กลายเป็นประธานาธิบดีพลเรือนที่ไม่มีภูมิหลังเป็นทหารคนแรกในรอบสามทศวรรษ

แม้เส้นทางประชาธิปไตยจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่หลังจากนั้น เกาหลีใต้ก็ไม่เคยหวนกลับสู่รัฐบาลทหารอีก มีกลไกการเลือกตั้งและกระบวนการยุติธรรมที่ค่อนข้าง free and fair

เกาหลีใต้จึงรับมือโลกาภิวัตน์และเข้าสู่ยุค 4.0 ด้วยรัฐบาลและอุดมการณ์พลเรือน

ในแง่นี้ องค์ประกอบทางการเมืองของไทยจะใกล้กับเกาหลีเหนือมากกว่า เพราะระบอบทหารฝังรากลึกในสังคมทั้งในเชิงสถาบันและอุดมการณ์

ใช้ความมั่นคงทางการทหารเป็นหัวใจในการจัดสรรงบประมาณ มีผู้นำทหารและเครือข่ายเป็นผู้กำหนดทิศทางการกระจายอำนาจ ความสงบเรียบร้อยคือเป้าหมายในตัวเอง ใช้แนวทางทหารในการจัดการสังคม แม้ในห้วงยามประเทศเผชิญเศรษฐกิจชะลอตัวและโรคอุบัติใหม่

องค์ประกอบทางเศรษฐกิจการเมืองของไทยจึงมีลักษณะเป็น “ลูกผสม” ระหว่างเกาหลีเหนือ + เกาหลีใต้

ซึ่งหากคิดในทางตัวเลข ก็เป็นไปได้ที่รูปแบบ “เกาหลีกลาง” เช่นนี้จะพาประเทศไทยไปสู่ความร่ำรวยในเวลาอีก 16–22 ปี

แต่นอกจากตัวเลขแล้ว การเลือกหัวหอกการพัฒนาประเทศก็ส่งผลข้างเคียงทางการเมืองและสังคมด้วย

เพราะในโลกเศรษฐกิจ การเลือกใช้แมวขาว แมวดำ กรงดัก หรือสเปรย์ มีผลต่อตัวหนูและผู้ใช้ไม่เหมือนกัน

Be careful what you wish for.

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save