fbpx
เปิดโนว์ฮาวดูแลคนป่วยติดเตียงด้วยชุมชน กับ นพ.สันติ ลาภเบญจกุล

เปิดโนว์ฮาวดูแลคนป่วยติดเตียงด้วยชุมชน กับ นพ.สันติ ลาภเบญจกุล

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

สังคมผู้สูงอายุเป็นโจทย์ที่ท้าทายทั้งสังคมโลกและสังคมไทยมาสักพักแล้ว แต่นั่นอาจยังไม่เท่ากับผู้สูงวัยที่กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ภาพความทุกข์ของคนชราที่ไร้การดูแลปรากฏในสายตาของ นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาแพทย์ลงไปทำกิจกรรมในชนบท

นี่อาจเป็นแรงปรารถนาให้เขาเดินในทางที่เชื่อ ทางของแพทย์ชนบทคือฝังตัวอยู่ในชนบท แม้จะเกิดที่กรุงเทพฯ แต่แน่นอนว่าเมื่อเรียนจบ เขาตัดสินใจไปประจำการที่โรงพยาบาลใน จ.ลพบุรี ก่อนจะขยับมาเป็น ผอ.โรงพยาบาลลำสนธิ ใน อ.ลำสนธิ ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองมากที่สุด

นพ.สันติ ถูกไฮไลท์จากแวดวงสาธารณสุข เนื่องจากโครงการ “คนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน” ที่เขาปลุกปั้นมาตั้งแต่ปี 2549 กลายเป็นโมเดลการดูแลผู้ป่วยสูงวัยด้วยพลังของชุมชน จนคนเรียกกันติดปากว่า “ลำสนธิโมเดล”

นี่เองที่ทำให้เขาได้รางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นปี 2554

แต่ทั้งสิ้นทั้งปวงอะไรคือวิธีคิดเบื้องหลังการปลุกปั้นลำสนธิโมเดล การสร้างทีมสุขภาพที่ไม่ได้มีแค่หมอ แต่ยังหมายถึงคนในชุมชนและฝ่ายปกครองท้องถิ่นด้วยนั้นต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง และความท้าทายที่รออยู่ในอนาคต การยกระดับลำสนธิโมเดลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในประเทศนี้จะเป็นไปได้อย่างไร

101 ชวนนพ.สันติ เปิดใจถึง passion และหลักคิดทั้งหมด เพื่อมองหาความเป็นไปได้ของเส้นทางระบบสุขภาพอย่างยั่งยืน

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้ป่วยติดเตียง

คุณหมอเติบโตมาแบบไหน อะไรหล่อหลอมให้คุณหมอลงไปคลุกคลีงานสาธารณสุขในชนบท

ผมก็เป็นคนกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เกิด แต่สมัยเป็นนักศึกษาได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตชนบท แล้วรู้สึกว่ามีความชอบส่วนตัว การทำงานในชนบทก็เรียบง่ายดี ไม่วุ่นวาย แล้วก็ตั้งใจอยู่แล้วว่าหลังจากเรียนจบจะต้องไปทำงานในชนบทสักช่วงเวลาหนึ่ง ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะอยู่ยาวขนาดนี้

ผมเริ่มทำงานที่ลพบุรีมาตั้งแต่เรียนจบ แต่อย่างที่บอก พออยู่ไปเรื่อยๆ รู้สึกว่ามันเป็นชีวิตที่เรียบง่าย มีความสุขดี ไม่วุ่นวาย

ระหว่างที่เราได้ทำงานอยู่ท่ามกลางความขาดแคลนต่างๆ นานา เห็นความทุกข์ความเจ็บป่วยของคนที่มาจากความยากจน ขณะเดียวกันก็เห็นมิตรภาพความเอื้ออาทรของชาวบ้าน เลยรู้สึกดีจังเลย ก็อยู่มาเรื่อยๆ จนเพลิน

ที่คุณหมอรู้สึกดีคือการได้ทำเรื่องอะไร

เรื่องผู้สูงอายุ ผมทำเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่าเป็นงานที่ดี ผมมีความสุขที่ได้ทำได้ เลยอยู่มาเรื่อยๆ จนกระทั่งอยู่ที่ลำสนธิมา 17 ปี และเพิ่งย้ายมาที่ อ.ท่าวุ้ง ไม่กี่เดือน

ความตั้งใจแรกที่ไปอยู่ชนบท แค่คิดว่าควรจะทำอะไรให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับคนในชุมชน ในมุมของผม คนเรามีการเจริญเติบโต ซึ่งมีพื้นฐานที่มาที่ไป

ส่วนตัวผมตั้งแต่วัยเด็กมา ผมถูกปลูกฝังให้เห็นใจคนอื่น ช่วยเหลือคนอื่น มองไปที่ความทุกข์ของคนอื่นเสมอ ผมถูกปลูกฝังมาแบบนี้ จากทั้งในครอบครัวและในโรงเรียน ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นรากของเรา

ความเอื้ออาทรเห็นใจคนของคุณหมอไม่ต้องอาศัยหนังสือเล่มไหน ไม่ต้องอิงทฤษฎีอะไรเลย

เรารู้สึกว่าการทำแบบนั้นมันมีความสุข แต่ก็อาจจะแปลกกว่าคนทั่วไป ผมคิดว่าประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ว่าคนทุกคนอยากมีความสุข แต่ความสุขของแต่ละคน ความลึกซึ้งในการมองความสุขแต่ละคน อาจจะไม่เหมือนกัน

ในมิติหนึ่ง ถ้าเราอยากมีอำนาจ วันหนึ่งอำนาจก็หมด แต่ความสุขที่เกิดจากการทำงานให้คนอื่น ทั้งที่ไม่ใช่คนที่เรารู้จัก เป็นคนที่อยู่ในความทุกข์ที่สุด มันเป็นสิ่งที่สวยงาม เป็นความสุขที่เรียบง่าย ละเอียดอ่อนแล้วก็ไม่หายไปไหน เป็นความปิติ

หลายครั้งที่ผมได้รับรางวัลมาเยอะ เขาก็บอกว่าเป็นรางวัลแห่งความเสียสละ พอคิดจริงๆ แล้วผมว่าผมไม่ได้เสียสละ แต่เผอิญผมทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ถ้ามันไม่มีความสุขเราก็คงไม่ทำ

แปลว่าไม่ต้องมีรางวัลอะไรก็ได้ คุณหมอก็ยังทำเหมือนเดิม

แรงบันดาลใจคือสิ่งที่เราได้ทำงานทุกวัน และเป็นงานที่มีความหมายกับคนอื่น เป็นทั้งแรงบันดาลใจและเป็นรางวัลด้วยตัวมันเอง แต่วิธีคิดนี้กว่ามันจะเกิดกับผมได้ มันใช้เวลานานนะ ความคิดแบบนี้ไม่ใช่เกิดมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ การเห็นอะไรต่างๆ มา

ผมมีนิสัยอย่างหนึ่ง คือ ตอนเช้าๆ เวลาออกกำลังกาย ผมชอบทบทวนในสิ่งที่ผ่านไปในแต่ละวัน เราจะค่อยๆ เห็นการเติบโตในชีวิตของตัวเอง พอเราเข้าใจตรงนี้แล้ว ผมก็เพียงแค่เดินตามในสิ่งที่ผมเข้าใจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำมันจึงไม่ใช่อะไรที่เสียสละ ไม่ใช่อะไรที่ต้องใช้แรงผลัก แค่ใช้ความพยายาม

งานสาธารณสุขมีหลายด้าน ทำไมคุณหมอเลือกโฟกัสเรื่องผู้สูงอายุ

แต่ละคนจะมี passion หรือการให้คุณค่าที่แตกต่างกัน ชีวิตงานของผมมี passion อยู่สามอย่าง

เรื่องแรก ผมสนใจผู้สูงอายุ เพราะว่าโรงพยาบาลที่เราอยู่ในต่างจังหวัด และลำสนธิเป็นอำเภอที่ไกลที่สุดของตัวเมืองลพบุรี เรียกว่ากันดารและยากจนที่สุดอำเภอหนึ่งของลพบุรีก็ได้ ห่างจากตัวเมือง 120 กิโลเมตร คนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน เวลาไปเยี่ยมคนตามบ้าน บางคนเขาทุกข์เหลือเกิน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

คนต่างจังหวัด เวลานี้มีความ globalization ส่วนใหญ่เข้าไปในเมืองกัน เพราะฉะนั้นเวลาเราเดินเข้าไปในชุมชน จะเห็นคนแก่อยู่กับเด็กเต็มไปหมด บางบ้านมีคนแก่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องนอนติดเตียง

คนที่รับภาระหนักเป็นภรรยาหรือคุณยาย ซึ่งตัวเองก็จะไม่ค่อยไหวอยู่แล้ว บางทีมีหลานเล็กๆ อีกสองสามคนต้องเลี้ยง แล้วเวลาเรามองไปที่แววตาคนแก่ เราจะเห็นอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกรักเขา และสงสารเขา เราคิดจะแปลงไอ้ความรักความสงสารให้เป็นรูปธรรมด้วยการช่วยเหลือได้อย่างไร นี่เป็น passion แรก

คุณหมอสะท้อนใจกับความจริงที่เห็นเมื่อ17 ปีก่อน สมัยนั้นสังคมก็ยังไม่มีการยกประเด็นเรื่องโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเลย

ตอนนั้นผมยังเด็กมาก และก็ไม่รู้หรอกว่าทิศทางของโลกใบนี้มันจะเป็นอย่างไร ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่มันเป็นยังไง แต่วันนั้นเราเห็นแค่ภาพตรงหน้าแล้วเรารู้สึกว่าเราอยากช่วย

ผมคิดว่าถ้าเราเกิดความคิดหรือเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมา หัวใจสำคัญคือต้องลงมือทำให้มันเป็นรูปธรรมให้ได้ ไม่ใช่หยุดแค่สงสารแล้วก็บ่น แล้วก็จบไป

แต่รู้สึกว่าเราสามารถทำภารกิจอะไรบางอย่างจนกระทั่งความทุกข์มันเจือจางลงหรือน้อยลงไป แล้วผมมีความโลภอยู่ในตัว เวลาผมเห็นหนึ่งเคส ผมก็ไม่คิดว่ามันมีแค่เคสเดียว ผมคิดว่ามันคงก็ต้องมีแบบนี้อีกเต็มไปหมดในพื้นที่ที่ผมดูแลอยู่ ความโลภของผมคือผมอยากจะช่วยคนทั้งหมด ผมจะต้องทำอย่างไร

คุณหมอกระหายอยากจะช่วยต่อ

ผมไม่คิดว่าการสงเคราะห์เคสนั้นนิดหน่อยก็จบไป แล้วจะพอใจกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ประเด็นคือจะทำยังไงให้มันได้รับการดูแลจริงๆ จนกระทั่งเราพอใจที่สุด

ผมเป็นคนโชคดีอย่างหนึ่ง ที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ ผมเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ไม่ปิดกั้นความคิดใหม่ๆ แล้วถ้าตัวเองคิดผิด จะยอมรับว่าตัวเองคิดผิด และพร้อมจะหาวิธีที่ถูกต้อง พอเรียนรู้แล้วเราก็ไม่ค่อยมีตัวตนเท่าไหร่

พอได้ลงมือทำ โจทย์ใหญ่คือทำยังไงให้เขาพ้นจาก suffering นั้น ส่วนโจทย์เล็กคือถ้าวิธีการไหนเหมาะสม แล้วทำให้ suffering เขาน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ก็ควรขยายไปสู่คนอื่นๆ ได้ด้วย

คนจีนมีสุภาษิตหนึ่งคือ “ถอยหลังก้าวหนึ่ง ขอบฟ้ากว้างขึ้น” ผมโชคดีที่ผมไม่ค่อยติดกับดักความคิดตัวเองอะไร เวลามีความคิดใหม่ๆ จะรู้สึกดี

ส่วน passion ที่ 2 คือ เรื่องเด็ก ผมสนใจเรื่องประถมวัย

เรื่องประถมวัยมันมีปัญหาในเชิงสาธารณะอย่างไร

ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเรามีลูก เราก็รักลูก เด็กๆ เป็นอะไรที่ผู้ใหญ่ต้องดูแลด้วยความรักและความอบอุ่น มันเป็นความรู้สึกแบบนี้แหละ เวลาเห็นเด็กร่าเริงก็เป็นความสุข โดยเฉพาะเด็กเล็ก เด็กประถมวัย

ในขณะที่เรื่องผู้สูงอายุ ถ้ามองในเชิงวิชาการ สำหรับผมวิชาการมันตามมาทีหลัง ถ้าพูดถึงผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเสมอ ความเป็นธรรม หรือมนุษยธรรมที่เพื่อนมนุษย์พึงดูแลเพื่อนมนุษย์ แต่ถ้าพูดในแง่ความคุ้มค่า ผู้สูงอายุอาจจะไม่ได้อยู่ในประเด็นนั้น เนื่องจากผู้สูงอายุไม่ได้สร้างอนาคตเรื่องเศรษฐกิจ นี่คือเชิงวิชาการนะ

แต่พอเป็นเรื่องเด็กแล้ว มัน super effective ถ้าเราปลูกฝังเขาดีๆ ในช่วงสองถึงสามปี สิ่งนี้มันจะอยู่ยาวไปจนกระทั่งเขาแก่เฒ่าเลย

มีงานวิจัยชัดเจนโดยเฉพาะงานวิจัยชิ้นหนึ่งในระดับคนที่ได้รับรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ คือ James Heckman เขาบอกว่าการลงทุนในเด็ก ประสิทธิผลจะกลับมาอย่างน้อยที่สุดคือ7 เท่ามากที่สุดคือ 12 เท่า สมมติถ้าเป็นเรื่องผู้สูงอายุ คุณ funding ไป 1 บาท ได้คืนมา 1บาท แปลว่าไม่ขาดทุน แต่สำหรับเด็กเนี่ย 7-12 เท่า

พอไปดูในรายละเอียด มีอย่างน้อย 2 มิติ มิติแรกคือ productivity เด็กคนนั้นจะสร้าง productivity ได้มากกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างดีและถูกต้องในระดับประถมวัย

มิติที่สอง คือ ปัญหาทางด้านสังคมจะลดลง ทุกวันนี้วงการสาธารณสุขเจอปัญหา health and social problem เช่นยาเสพติด ท้องก่อนวัยอันควร พฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและอาชญากรรม ซึ่งมันแก้ยากมาก

มีงานวิจัยเรื่อง Perry Preschool Project เขาทำกับคนผิวสีอเมริกัน เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งอย่างที่รู้ว่าคนผิวสีเมื่อก่อนยังโดนสังคมกีดกันอยู่มาก งานนี้เขาแบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกมีการ intervention ที่ดีมากในช่วงเวลา 2 ปี อีกกลุ่มหนึ่งคือไม่ทำอะไร แล้วเด็กสองกลุ่มนี้ถูก random

พอผ่านไป 2-3 ปี เด็กๆ ก็ถูกปล่อยไปตามธรรมชาติ อีก 20 ปีโดยประมาณ เขาตามไปดูเด็กสองกลุ่มนี้ใหม่ ปรากฏว่าแตกต่างกันอย่างชัดเจนในทั้งสองมิติ พูดแบบสรุป คือ ในเชิงวิชาการ การลงทุนในเด็กประถมวัยคุ้มมาก มันตอบคำถามเรื่องประสิทธิผลได้ดี

แต่ด้วยเงื่อนไขบริบทของสังคมไทยมันยากสำหรับคุณคุณหมอไหมในการพัฒนาเด็กปฐมวัย

ผมเป็นคนโชคดีที่มีพื้นที่ให้ผมได้ทำ เราพยายามออกแบบกระบวนการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็ก เราพยายามอาศัยองค์ความรู้ตามงานวิจัยของ Perry Preschool Project พยายามจะผสมผสานกันระหว่าง education กับ health พอลองทำที่ลำสนธิไปได้สัก 8 เดือน เราเห็นว่าเด็กเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทั้งเรื่อง productivityและมีภูมิต้านทานทางสังคมที่ดีขึ้น

ถ้าพูดในเชิงรายละเอียดหน่อยเราพบว่าภายหลังจากการดำเนินการเด็กมีร่างกายที่เจริญเติบโตปกติ และมีพัฒนาการที่ดี ซึ่งวัดด้วยวิธีของ health ทั้งไอคิวและอีคิว แต่ที่ยากที่สุดแต่เกิดขึ้นกับเด็กที่ผ่านกระบวนการในศูนย์เด็กเล็กของลำสนธิคือ executive function ซึ่งเป็นเรื่องที่คุยกันมันนานแล้วว่าถ้าเด็กคนไหนมี executive function มันจะเป็นต้นทุนที่ดีของเด็ก จนกระทั่งได้ผลลัพธ์ที่ดีในทั้งสองมิติ

executive function มีหลายองค์ประกอบ แต่ที่สำคัญคือการที่เด็กรู้จักการอดทดรอคอยมีการทดลองในต่างประเทศที่น่าสนุกมาก เขาให้เด็กมานั่งรอแล้วก็มีขนมมาร์ชเมลโลมาให้ ครูบอกกินได้ เด็กก็จะกินคนเดียวอยู่ในห้อง แต่ก่อนจะกินครูบอกว่าถ้าอีกสัก 5 นาที 10 นาที ครูเข้ามาใหม่แล้วถ้าหนูยังไม่กิน ครูจะให้เพิ่มอีกหนึ่งชิ้น

มันมีเด็กกลุ่มหนึ่งพยายามจะไม่กินเพราะอยากได้สองชิ้น แต่ไม่สำเร็จก็กินเข้าไป อดทนไม่ได้ แต่มีเด็กอีกกลุ่มที่อดทนได้ หาวิธีการต่างๆ เพื่อไม่กิน และครูก็ให้เขาเพิ่ม

การทดสอบนี้ก็ตามเด็กไปตอนโต กลุ่มที่อดทนรอคอยได้จะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าคนที่อดทนรอคอยไม่ได้ นี่เป็นเพียงเรื่องเดียว

อีกเรื่องคือ เด็กสามารถที่จะจดจำข้อมูล และอาศัยข้อมูลสะท้อนกับเพื่อนหรือกับคนรอบตัวได้ ผมกำลังพูดถึงเด็กสองถึงสี่ขวบนะ สิ่งที่พบคือเด็กรู้จักเปลี่ยนแผนได้เมื่อเจอเหตุการณ์ไม่ได้ดั่งใจ เขาจะไม่หงุดหงิดกับมัน แล้วสามารถเปลี่ยนแผนได้ ถ้าแผนเอไม่ได้ดั่งใจก็เปลี่ยนเป็นแผนบีแผนซีแผนดี เขารู้จักจัดการยืดหยุ่นกับปัญหาได้

อย่างพื้นที่ลำสนธิ มีศูนย์เด็กเล็กเขาน้อย ซึ่งกันดารและไกลมาก มีเด็กประมาณ 80 คน ผ่านมา 8 เดือน เราพบพัฒนาการที่ดีมาก เกิด executive function และเขารู้จักการตอบโต้กับครูได้

ปัญหาคือเมื่อก่อนเราทำงานกันแบบไม่มีเป้าหมาย ศูนย์เด็กที่ผ่านมาเป็นที่ฝากเด็กเท่านั้น แล้วพ่อแม่ก็ไปทำงาน ครูก็เปิดหนังให้ดู ดูไปกินนมไป ถึงเวลาพ่อแม่ก็มารับกลับบ้าน ตรงนี้เป็นปัญหาที่เราต้องเปลี่ยน แต่ที่เขาน้อยพอทำไปสักพักเห็นเด็กเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด มันเกิดแรงบันดาลใจเกิดโนฮาว ครูก็มีแรงบันดาลใจขับเคลื่อนต่อ

คำถามก็คือว่า ไอ้ความโลภของผม เราจะขยายไปที่อื่นๆได้อย่างไร สิ่งนี้คือความท้าท้าย

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้ป่วยติดเตียง

นอกจากคุณหมออยากยกระดับในเชิงระบบ ทั้งเรื่องผู้สูงอายุและเด็ก โนว์ฮาวที่คุณหมอมีจะสามารถขยายไปทั้งระบบสุขภาพได้ไหม

นี่เป็น passion ที่ 3 ของผม คือ ผมอยากจะสร้างระบบสุขภาพที่ดีที่สุดสำหรับชาวบ้านที่อยู่ใกล้บ้าน ผมจะทำให้มันเกิดขึ้นได้อย่างไรสำหรับคนลำสนธิ และคนท่าวุ้ง มันไม่ใช่ระบบสุขภาพแบบ high technology แต่เป็นแบบที่อยู่ใกล้ชาวบ้าน และสามารถพึ่งพากันเองได้

ผมอยากพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพและสามารถสร้างผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีขึ้นได้จริง พิสูจน์ได้ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม

ผมอยู่กับคนยากคนจนที่ไม่ได้มีเงินมีทองมาก เขาไม่สามารถจะเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก เพราะฉะนั้นผมคิดถึง primary health care ที่จะทำยังไงให้คนมีที่พึ่งอย่างแท้จริง คือมีคุณหมอประจำครอบครัวเป็นที่พึ่งเขาได้ และเป็นหมอที่เขารู้สึกว่าไม่มีช่องว่าง เขาอุ่นใจที่จะมาแล้วมาหาได้ไม่ยาก มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน

คำว่าหมอไม่ได้หมายถึงแค่นายแพทย์ อาจจะเป็นพยาบาล เจ้าหน้าที่อนามัย หรือทีมสุขภาพที่ดูแลเขาได้ เปรียบประดุจกับเขาเป็นคนในครอบครัว รู้เรื่องราวรู้ชีวิตรู้ข้อจำกัด พูดคุยกันได้ เป็นหมอที่เชี่ยวชาญในตัวคุณมากที่สุด เพื่อจะนำปัญหาไปสู่การออกแบบในการแก้ปัญหาสุขภาพร่วมกัน

ที่สำคัญทีมสุขภาพต้องเป็นทีมที่เก่งพอสมควร ไม่ใช่รู้งูๆ ปลาๆ อย่างเช่นที่ลำสนธิ ถ้ามีคนป่วยติดเตียงแล้วเขาไม่รู้จะไปพึ่งที่ไหน ถ้าเราเห็นความเป็นไปได้ที่เขาจะหายได้ ทีมเราต้องสามารถดูแลจนกระทั่งเขาลุกขึ้นมาเดินได้ ใช้วิชาการทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ทำให้ผู้ป่วยกลับมาช่วยเหลือตัวเองได้

แปลว่าทีมสุขภาพนี้ต้องมี passion ด้วยใช่ไหม

ครับ ความจริง primary health care มีรากฐานมาจากการดูแลด้วยหัวใจความเป็นเพื่อนมนุษย์ ต้องมีความรักคนไข้ นอกจากจะต้องดูแลเปรียบประดุจเป็นคนในครอบครัวแล้ว ทำยังไงให้ชาวบ้านสามารถดูแลตัวเองได้ เข้าอกเข้าใจ รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพในการดูแลตัวเองได้ ไม่ใช่เรื่องของการที่เราไป care อย่างเดียว แต่ empowerment ให้เขาด้วย

ในมุมผม primary care นอกจากการดูแลรักษาแบบให้ชาวบ้านมีที่พึ่งมีหมอประจำครอบครัวแล้ว ยังต้องสามารถออกแบบกระบวนการดูแลคนในชุมชนจนกระทั่งคนทั้งชุมชนมีสถานะทางสุขภาพ (health status) ดีขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้การมีส่วนร่วมของหลากหลายภาคส่วนและต้นทุนที่เหมาะสม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ผมแอบคาดหวังว่าการพัฒนาระบบปฐมภูมิในครั้งนี้สามารถส่งผลไปให้ผลลัพธ์ในการจัดการโรคเรื้อรังในประเทศไทยดีขึ้น ทั้งในแง่ลดคนที่จะเป็นโรครายใหม่ และสามารถดูแลคนที่เป็นโรคแล้วไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ผมคิดว่าหลังจากนี้เราต้องพูด primary care ในเชิงรูปธรรมมากขึ้น

คนชอบพูดว่าหัวใจสำคัญคือ self-care ซึ่งเป็นหลักการที่ถูก คำถามคือทำยังไงล่ะ พูดกันมานานแล้วถึงเวลาต้องแปลงหลักการที่ดีไปสู่การออกแบบกระบวนการเพื่อให้เกิด self-care self-management กันจริงๆ

ตอนนี้โชคดีที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 258 มีเขียนไว้ให้พัฒนาปฐมภูมิโดยมีหมอเวชศาสตร์ครอบครัวดูแลคนที่เหมาะสม

ผมเข้าใจว่าเป็นครั้งแรกเลยที่เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญ สามารถแปรเป็นนโยบายคลินิกหมอครอบครัวได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เฉพาะแค่เรื่องการจัดการกำลังคนก็แย่แล้ว วิชาชีพหมอส่วนใหญ่เขาก็จะเทไปที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ค่อนข้างเยอะ ถ้าเป็นหมอครอบครัวก็ทำทุกเรื่อง

อะไรที่เป็นช่องว่างที่คุณหมอคิดว่าเติมเต็มได้

ก็คือความเป็นทีมที่ร่วมมือกันจากหลายฝ่ายหลายผู้เชี่ยวชาญ เพราะอย่างที่บอกว่าไม่ใช่นายแพทย์ที่จะดูแลคนเดียว แต่เป็นทีมสุขภาพทั้งหมด

ประเด็นคือทั้งหมดมันคือเส้นทางชีวิตที่ต้องเดิน เราก็เดินไปเรื่อยๆ ตราบใดที่เรามีความสุขกับการเดิน เราก็เดินไปเรื่อยๆ เพราะบอกตั้งแต่แรกว่าเรามองเห็นในสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข มันก็ยังประโยชน์ให้คนอื่นด้วย เราก็เดินไปเรื่อยๆ ได้

การจะทำแบบนี้ได้อาจจะพูดถึงความยากง่ายก็ได้นะ ผมคิดว่ามันมีองค์ประกอบอยู่เยอะพอสมควร แต่ถ้าเราคิดว่าเราเดินไปเรื่อยๆ แล้วเรามีเวลา และมันเป็นเรื่องที่เป็นชีวิตจิตใจเราก็ทำไป เลิกทำก็ต่อเมื่อเราหมดแรง

ตัวอย่างเรื่องการขยายผลการพัฒนาเด็กปฐมวัยผมคิดว่ามันต้องมีการดีไซน์กระบวนการและระบบในเรื่องนั้นๆ เรากำลังจะเอาลพบุรีเป็นพื้นที่ที่จะขยายอย่างน้อยก็อยากได้สักครึ่งจังหวัดภายใน 5 ปี เป้าหมายเราชัดเจน

ผมเชื่อว่าคนที่ทำเรื่องเด็กหลายๆ คนไม่รู้ว่าทำไปทำไม คุณค่าอยู่ตรงไหน ผลลัพธ์ที่คาดหวังคืออะไร

ชีวิตคนมันเป็นไปไม่ได้ที่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ใครคนใดคนหนึ่งไปทำแล้วจะสำเร็จ มันมีความจำเป็นที่จะต้องใช้หลายๆ sector มาช่วยกัน เรื่องเด็กนี่ชัดมาก ขาดหมอก็ไม่มีองค์ความรู้เรื่องสุขภาพ ขาดครูก็ไม่มี provider ขาด อบต. ก็ไม่มี policymaking

เรื่องคนแก่ยิ่งชัดเจนมาก มันคือ health กับ social sector ต้องมีนักบริบาลชุมชน health อย่างเดียวก็ไปไม่รอด แต่นักบริบาลไปโดยไม่มี health ก็ดูผิดดูถูก ผมได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า ประเทศไทยต้องบูรณาการ ถ้าไม่ทำมันจะไปต่อลำบาก

คุณหมอเห็นความเป็นไปได้ที่จะปลดล็อกเรื่องการดูแลผู้สูงอายุในด้าน social care นี้ยังไง

ไม่รู้ผมเข้าใจถูกไหมนะ ในพื้นที่มันจะบูรณาการไม่ได้ ถ้าระดับนโยบายไม่ปลดล็อก มันก็เลยส่งผลกระทบกันมา เช่น เรื่องของผู้สูงอายุที่ลำสนธิ อบต. เขาจ้างนักบริบาลด้วยเงินประมาณ 6,000 บาท ด้วยกลไกแบบนี้ ช่วงที่พีคที่สุดมีอยู่เกือบ 40 คนทั้งอำเภอ มีอบต. 6 ที่

ในแง่การลงทุนมีงานวิจัยออกมาชัดเจนว่ามันคือการจ้างงานคนในพื้นที่ แล้วก็ได้ทำงานอยู่ในท้องถิ่นตัวเอง กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างงานให้คนได้ทำงานในพื้นที่ แล้วก็ไม่ใช่งานร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นกึ่งอาสากึ่งอาชีพมีคุณค่า ไม่ต้องไปไหน อยู่กับครอบครัวได้ แล้วก็ดูแลคนในหมู่บ้าน ในตำบล เงินนิดเดียวเอง แค่ 6,000 บาทต่อคนต่อเดือน

เทียบกับการลงทุนสาธารณูปโภค อันนี้ถูกกว่าเยอะเลย ทุกอย่างดีหมด ต่างประเทศมาดูงานร้องห่มร้องไห้กลับไปว่ามันดีจังเลย ต่างประเทศมาดูก็บอกประเทศไทยทำได้ด้วยเหรอ ไม่น่าเชื่อ ทุกคนยอมรับว่าดีหมด ปรากฏว่าติดเรื่องกฎระเบียบ

ด้วยความซับซ้อนของกลไกต่างๆ มันทำให้แค่เรื่องนี้ง่ายๆ คนพูดกันผ่านมา 5-6 ปีแล้ว ยังปลดล็อคเรื่องนี้ไม่ได้ ระดับล่างบูรณาการกันดี แต่ในเชิงข้อระเบียบต่างๆ มันไม่ปลดล็อก เพราะกฎระเบียบ อบต. บอกว่าไม่สามารถนำเงินอันน้อยนิดของอบต. มาเป็นค่าจ้างให้กับตัวนักบริบาลได้

โรงพยาบาลก็ไม่มีระเบียบให้

ไม่เกี่ยวกับโรงพยาบาล นักบริบาลคือตัวเชื่อม sector โรงพยาบาลเต็มที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขเต็มที่แล้วเต็มที่จริงๆ มีทั้งพยาบาล ทั้งเจ้าหน้าที่อนามัย ทั้งนักกายภาพ ทั้งหมอครอบครัว แพทย์ลงเต็มที่แล้ว แต่เรื่องของท้องถิ่นคือ social sector นักบริบาลไม่ใช่ health นะ เขาคือ social sector

สิ่งที่เขาดูคือไปดูแลกิจวัตรประจำวัน อาบน้ำป้อนข้าว อันนี้ไม่ใช่สุขภาพ มันเป็นชีวิตประจำวันในมิติสังคมเพราะฉะนั้นตรงนี้มันต้องเป็นกลไกลของท้องถิ่นที่จะทำให้เกิดขึ้น ซึ่งลำสนธิก็เดินแบบนี้มาตลอด แล้วสองส่วนนี้มัน join เป็นทีมเดียวกัน

แต่พอ อบต.ไม่มีระเบียบที่จะทำเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่มองในแง่ของเศรษฐกิจ คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนให้คนในครอบครัวได้ทำงานในชุมชน ทุกอย่างดีหมดเลยในแง่ของ outcome เป็นที่ยอมรับมาก แต่ติดตรงระเบียบฉบับเดียว ผ่านมา 7 ปีแล้วก็ยังไม่สามารถแก้ได้ ทุกวันนี้ก็ใช้กองทุน สปสช. มาช่วยไปก่อน แต่ก็ทำแบบยากลำบาก

ถ้าปลดล็อคได้ก็จะไม่ต้องมาเหนื่อยกัน

เรื่องนี้มันกระเทือนหัวใจความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน พอมาเห็นแล้วทุกคนร้องอ๋อ มันทำได้ มันช่วยได้ไม่ยาก คนได้รับแรงบันดาลใจกลับไปทำในพื้นที่ของตัวเองเต็มไปหมดเลยนะ

ผมคิดว่ามันมีความต้องการทำเยอะไปหมดเลย และอบต. ผมว่าเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ที่มีความอยากทำเรื่องนี้ แต่เขาจะไม่กล้าทำเต็มตัว เพราะกลัวผิดระเบียบ เมื่อไหร่ก็ตามที่ปลดล็อคตรงนี้ได้ เรื่องนี้จะเกิดทั้งประเทศ

 

17 ปีที่คุณหมอลงใจลงแรงกับลำสนธิ ถ้าอนาคตปลดล็อคสำเร็จ เกิดกับทั้งประเทศได้ ยังมีอะไรท้าทายอีกไหม

อย่างน้อยพอเกิดเรื่องนี้ทั้งประเทศ หรือเกิดขึ้นเกินครึ่งหนึ่งของประเทศ ในแง่เบสิคที่สุด ผมคิดว่าความทุกข์คนมันจะลดลง คนแก่คนป่วยที่ติดบ้านติดเตียงมันจะได้รับการดูแลกว่านี้ และที่สำคัญคือไม่ถูกทอดทิ้ง แค่นี้ก็ดีมากแล้วสำหรับคนที่ฐานะยากจน

ผมว่าถูกแล้วที่รัฐให้ในสิ่งที่เป็นพื้นฐาน มันไม่ต้องไปมากเกินไป มีนักบริบาลทุกหมู่บ้าน แล้วสาธารณสุขก็มาเป็นพี่เลี้ยง ร่วมมือกันไป แต่มันยังมีอีกหลายเรื่อง

เช่น บางคนไม่มีแพมเพอร์ส บางคนยากจน ไม่มีข้าวปลากิน บางคนต้องปรับปรุงสิ่งแวดล้อม บางคนบอกว่าฉันไม่ไหวฉันอยากได้คนไปดูแลประจำตัวเลย 24 ชั่วโมง แต่เงินก็ไม่ค่อยมีหรือมีบ้าง อันนี้คือสิ่งที่คิดว่าบริการให้มันดีกว่านี้ใช่ไหม

ผมคิดว่ารัฐให้แค่นั้นโอเคแล้วในมุมผม เพราะฉะนั้นถ้าต่อไปถ้าจะทำต่อ ทำยังไงให้บริการพรีเมี่ยมมากขึ้นหรือว่าดีขึ้น ซึ่งมันไม่ได้มีกลไกภาครัฐอย่างเดียว แต่ภาครัฐเป็นพื้นฐาน ผมคิดว่ามันมีกลไกอื่นที่จะมาช่วยได้

อันหนึ่งที่ผมฝันมานานแล้ว คือ social enterprise กลไกประชารัฐนั่นแหละ จะเป็นไปได้ไหม ผมเห็นบริษัทเอกชนใหญ่ๆ จำนวนมากทำซีเอสอาร์ รู้สึกว่าเสียดายนิดหนึ่ง เจตนาดีแล้วแต่มันเป็นการสงเคราะห์ให้แล้วจบ ให้แล้วจบ

แต่เป็นไปได้ไหมที่จะเปลี่ยนแนวคิดจากซีเอสอาร์เป็น social investor มาลงทุนให้เกิดระบบ แล้วระบบนั้นมันไปต่อเองได้อย่างมีคุณภาพ

คุณหมอจะทำยังไงให้เป็นรูปธรรม

ผมคิดว่าเรื่องหนึ่งที่ผมอาจจะทำในอนาคต ถ้ามีโอกาสได้ทำนะ ผมอยากจะทำเป็น social enterprise เช่นผมทำเป็นบริษัท

ยกตัวอย่างบริษัทที่ดูแลคนติดบ้านติดเตียงตามบ้าน คนที่พอจะมีกำลังซื้อ บางคนต้องการนักบริบาลไปเฝ้า 24 ชั่วโมง แต่เงินไม่มากนัก

บางคนบอกว่าต้องการแค่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ช่วง 9 โมงถึง 5 โมงเย็น บางคนบอกต้องการแค่วันนี้บางคนบอกขอแค่ 3 ชั่วโมงได้ไหม เพราะว่าไม่มีใครพาคุณยายไปหาหมอ

ถ้าผมมีบริษัททำเรื่องนี้ในพรุ่งนี้นะ ต้องมีบริการที่เขาเข้าถึงได้ และให้มันเกิดกำไรเลี้ยงตัวเอง แปลว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่เลือกรับบริการที่ดีเยี่ยมภายใต้การจ่ายเงินที่ไม่แพงมาก เพราะมันคือ social enterprise ไม่ใช่กำไรสูงสุด

ในขณะเดียวกันผมก็ funding ให้กับคนยากจนที่ไม่มีเงินจ่าย เช่น อยากได้แพมเพอร์ส กำไรที่บริษัทได้ส่วนหนึ่งที่เหลือก็ไป donate ให้กับคนยากคนจนที่คิดว่ามีความจำเป็นต้องการบริการมากกว่านักบริบาลประจำชุมชนที่รัฐจัดให้

แบบนี้ถ้าทำได้ ก็ไม่ต้องพึ่งเงินภาครัฐมาก บริการที่ดี ผมว่ามันเป็นหน้าที่ของประชาชนร่วมกัน แล้วภาคธุรกิจมาเติมต่อ

การจะเปิดได้ผมมีเงื่อนไข 2-3 ข้อ ข้อแรกผมจะหาทุนมาจากไหน ผมไม่เคยเปิดคลินิก ไม่ได้มีเงินสะสม แต่มันมีบริษัทเอกชนจำนวนมากที่เขาทำซีเอสอาร์ อันนี้เป็นโจทย์หนึ่ง

อย่างที่สองผมก็ต้องการโนว์ฮาว เพราะงานลักษณะนี้มันต้องบริหารแบบภาคธุรกิจใช่ไหม ซึ่งภาคธุรกิจเขาบริหารแบบคิดถึงการทำกำไรของผู็ถือหุ้น แต่กำไรที่เกิดขึ้นในที่นี้ทั้งหมดก็คืนสู่สังคม ไม่ได้เข้าสู่ผู้ถือหุ้นนะ เงื่อนไขคือไม่คืนสู่ผู้ถือหุ้น ถ้าทำได้คงดีมาก

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้ป่วยติดเตียง

ไอเดียนี้คือการเริ่มทำในสิ่งที่รัฐยังไม่อยากทำหรือยังไม่อยากจะลงทุนใช่ไหม

ผมคิดว่ารัฐลงทุนได้ในระดับหนึ่ง ในความเห็นผมมันไม่จำเป็นว่ารัฐต้องลงทุนแบบพรีเมี่ยม คนติดบ้านติดเตียงเหมือนกับคนจมน้ำอยู่ รัฐจัดให้มีนักบริบาลประจำทุกชุมชนโดยท้องถิ่น ทำให้เขาขึ้นฝั่งได้เท่านี้พอแล้ว

ที่เหลือการที่จะทำให้เขามีบ้านที่ดีอยู่ อะไรที่มันเหลือมากกว่านั้นผมว่ามันเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องร่วมมือกัน เพราะรัฐเขามีค่าใช้จ่ายเรื่องอื่นที่จะต้องทำอีกมากมาย

ดังนั้นในมุมมองผมมันจึงไม่ใช่ภาครัฐอย่างเดียว แต่รัฐทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ basically ทำให้เกิดนักบริบาลชุมชนประจำหมู่บ้าน แล้วก็ทีมสุขภาพหมอประจำตัวอย่างที่เล่ามาลิงค์กัน แล้วลงไปดูแล แค่นี้ก็สุดยอดแล้ว ที่เหลือที่มันมากกว่านั้นมันน่าจะเป็นหน้าที่ของภาคประชาสังคม ประชารัฐมาช่วยกัน

ผมว่า social enterprise ก็เป็นโมเดลหนึ่ง ต้องเข้าใจก่อนว่ามันไม่ใช่กำไรเข้าสู่ผู้ถือหุ้น แต่มันคือเข้าสู่สังคม เราเลี้ยงตัวเองได้แค่นั้นเอง กิจการที่ดีแล้วเลี้ยงตัวเองได้อันนี้ผมคิดว่ามันเป็นแพลตฟอร์มที่มันจะมาช่วยแก้ปัญหาสังคมได้นะ

แต่ผมก็เชื่อว่าประสบการณ์ในแง่การขยับขยายวิธีคิดอะไรต่างๆ มันต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นว่าทำได้จริง พอคนเห็นว่าทำได้จริง มันจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ทฤษฎี แต่มันจะบันดาลใจให้คนรู้สึกว่าทำได้ อยากทำตาม

social enterprise ในระบบสาธารณสุขไทยมีตัวอย่างเป็นรูปธรรมบ้างหรือยัง

ยังไม่ค่อยเห็นนะ ตอนนี้ผมกำลังแก้ปัญหาเรื่องผู้ป่วยเบาหวานกับความดันอยู่ ทุกวันนี้ผู้ป่วยเหล่านี้มาหาหมอ หมอก็แนะนำว่าควรกินโน่นกินนี่ แล้วเขาก็ไปจัดการต่อไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้จะไปหาซื้อที่ไหน

แต่ถ้าเรามีร้านค้าที่เป็นร้านที่รวมอาหารทั้งหมดสำหรับให้คนไข้เบาหวานซื้อไปกินได้อย่างถูกต้อง แล้วก็มีทีม health มาคอยแนะนำ ถ้ามันเป็น social enterprise ปุ๊บ คนมันจะต้องทำให้สำเร็จ เพราะว่ามันมีแรงจูงใจด้วยแนวคิดแบบ business ตอนนี้อยู่ในช่วงจินตนาการ

เป็นเส้นทางอันยาวไกลที่คุณหมออยากเดินไปข้างหน้าอยู่แล้วใช่ไหม

อยากเดินต่อยอดกันไป ท้ายที่สุดมันจะกลับมาที่จุดเดิม คือความสุข

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save