fbpx

‘ห้องครัว’ จากพื้นที่ครอบครัวสู่การขับเคี่ยวช่วงสงครามเย็น

แม้ว่าทุกวันนี้การเข้าถึงวัฒนธรรมจากอีกซีกโลกหนึ่งสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จนทลายอุปสรรคในการเข้าถึงวัฒนธรรม แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยยังเคยชินกับสื่อรูปแบบเก่า โดยเฉพาะเจเนอเรชันที่เคยชินกับการรับข้อมูลจากโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือวิทยุที่มีทีมข่าวกลั่นกรองให้โดยไม่ต้องไปลงแรงเสาะหาตามเสิร์ชเอนจิ้นหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

ในช่วงสงครามเย็น หรือหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ซึ่งเป็นช่วงที่เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลยังไม่แพร่หลายเท่าปัจจุบัน รวมไปถึงเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลยังเป็นที่ถกเถียงมาอย่างต่อเนื่องทั้งในวงวิชาการและในพื้นสาธารณะขณะนั้น นอกจากนี้โลกที่ถูกแบ่งออกเป็นสองค่ายระหว่างโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์ต่างนิยามคำว่าเสรีภาพในรูปแบบของตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือไม่ว่าจะฝั่งสหรัฐฯ ที่เรียกตัวเองว่าโลกเสรี หรือฝั่งโซเวียต คอมมิวนิสต์ ก็ต่างเดินหน้าสร้างโฆษณาชวนเชื่อและปิดกั้นข้อมูลอีกด้านจากฝ่ายตรงข้ามด้วยกันทั้งคู่

อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ และโซเวียตเคยมีความร่วมมืออยู่หนึ่งกรอบ ซึ่งก็คือความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการศึกษาที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นฝ่ายอนุญาตให้โซเวียตจัดนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีและศิลปะเป็นครั้งแรกกลางมหานครนิวยอร์กในช่วงฤดูร้อนของปี 1959 เช่นเดียวกันกับฝั่งโซเวียตที่จัดที่ทางสำหรับสหรัฐฯ ในการแสดงวัฒนธรรมซึ่งฝั่งอเมริกันเลือกเอาสินค้าในชีวิตประจำวันมาจัดแสดงกลางกรุงมอสโคว

ความร่วมมือนี้เกิดจากข้อเรียกร้องของฝั่งโซเวียต ที่นำโดยนิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Krushchev) ผู้นำโซเวียตในขณะนั้นที่ปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์อเมริกันที่ชื่อว่า Face The Nation ในปี 1957 ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ครุสชอฟเรียกร้องให้โลกตะวันตกหยุดสาดโคลนใส่โซเวียต โดยกล่าวหาว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์สกัดกั้นแนวคิดการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์และฝั่งตะวันตก

ครุสชอฟยังเรียกร้องให้ฝั่งตะวันตกทบทวนแนวคิดต่อโซเวียต รวมถึงเปิดโอกาสให้การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการค้า ซึ่งการเรียกร้องของครุสชอฟล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามครั้งใหม่ในการปรับตัวของโซเวียตหลังจากสิ้นสุดยุคโจเซฟ สตาลิน

หากย้อนกลับไปดูนโยบายของโซเวียตในยุค 1953-1964 จะพบว่าครุสชอฟพยายามที่จะสลายรากเหง้าของสตาลินที่ฝังตัวอยู่ในโซเวียต มากกว่านั้นครุสชอฟพยายามที่จะเป็นมิตรกับสหรัฐฯ และโลกตะวันตกมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลและการพัฒนาวิทยาศาสตร์ระหว่างกัน นอกจากนี้ในการครองอำนาจช่วงครุสชอฟยังได้แสดงให้เห็นถึงความรุดหน้าทางวิทยาการก้าวหน้าของโซเวียต อย่างการสนับสนุนโครงการอวกาศอย่างเต็มรูปแบบ คือโครงการดาวเทียมสปุตนิก

แม้ว่าโซเวียตจะประสบความสำเร็จเป็นชาติแรกในเรื่องวิทยาการก้าวหน้าในห้วงอวกาศ แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ละทิ้งความพยายามในการเอาชนะคู่แข่งสำคัญจากอีกฟากแนวคิดทางการเมือง อันเห็นได้จากหน้าประวัติศาสตร์การแข่งขันทางอวกาศ

ทว่า ระหว่างความร่วมมือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันนั้น สหรัฐฯ ไม่ได้พุ่งเป้าแสดงเทคโนโลยีอันก้าวหน้า แต่กลับเลือกที่จะสะท้อนภาพความฝันของอเมริกันชน (American Dream) ในเรื่องความเป็นอยู่ผ่านตัวอย่างของบ้านและครัว พร้อมกับแสดงให้โซเวียตเห็นว่าตนมีศักยภาพมากกกว่าผ่านการนำเสนอภาพความเป็นอยู่อันเพอร์เฟ็กต์ในสังคมทุนนิยมที่ทุกคนมีบ้านและมีเทคโนโลยีขั้นสูงในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงในห้องครัว ขณะที่บ้านในแบบสังคมนิยมกลับแออัดเต็มไปด้วยผู้คน พื้นที่ส่วนรวมก็แน่นไปด้วยผู้อยู่อาศัยร่วมที่กำลังรอใช้ครัวรวม

การโต้เถียงเรื่องห้องครัว

หลังจากที่สหรัฐฯ และโซเวียตบรรลุข้อตกลงกันเรื่องการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในปี 1957 จนมีการผลัดกันจัดนิทรรศการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ไม่ใช่แค่รัฐต่อรัฐ แต่ยังทำให้บรรดาผู้คนจากอีกค่ายได้เรียนรู้ความเป็นอยู่ของอีกค่ายหนึ่งด้วย

เหตุการณ์สำคัญอันนำไปสู่การโต้เถียงเรื่อง ‘ห้องครัว’ เกิดขึ้นหลังจากริชาร์ด นิกสัน รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางไปเปิดงานนิทรรศการแห่งชาติอเมริกัน ที่สวนโซโกลนิกิ ในกรุงมอสโคว เมื่อ 24 กรกฎาคม 1959 ซึ่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้โต้เถียงกับนิกิตา ครุสชอฟ อย่างดุเดือดบนพื้นฐานความพยายามนำเสนอความเป็นอยู่อันทันสมัยและเข้าถึงในโลกทุนนิยม

สิ่งที่สหรัฐฯ นำเสนอให้โซเวียตได้เห็นในช่วงสงครามเย็นเป็นภาพของครัวที่ทันสมัยและแยกพื้นที่ระหว่างแต่ละห้องในบ้านอย่างชัดเจน ซึ่งแต่เดิมห้องครัวของครอบครัวชนชั้นกรรมาชีพหรือครอบครัวกสิกรรมในโลกตะวันตกมักจะใช้พื้นที่ร่วมระหว่างพื้นที่ทำครัว ทำงาน และนอน นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ในการจุดไฟทำครัวส่วนใหญ่จะพึ่งพิงเตาจากถ่านหรือน้ำมันเป็นหลัก

ความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมากในสหรัฐฯ ยุคศตวรรษที่ 20 เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีเหตุผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการตลาดแบบทุนนิยม พร้อมกับฟอร์ดนิยม (Fordism) หรือการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าคราวละมากๆ ออกสู่ท้องตลาด เพื่อให้ได้ผู้บริโภคที่ใช้สินค้านั้นจำนวนมาก

การตลาดแบบทุนนิยมยังส่งผลกระทบต่อการขยายเมือง ดังตัวอย่างที่เห็นได้ในหลายประเทศ อย่างสหรัฐฯ หรือประเทศไทยที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มักออกโครงการบ้านที่มีหน้าตาเหมือนกันจำนวนมาก ซึ่งแปลนบ้านจะมีการแบ่งพื้นที่อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นห้องครัว รวมไปถึงระบบการจ่ายน้ำประปา และท่อน้ำทิ้งที่มีการแยกส่วนเป็นระบบและมีมาตรฐานเดียวกัน

การสร้างบ้านไม่ใช่แค่การสร้างที่อยู่อาศัย แต่ยังรวมไปถึงการวางผังเมืองทั้งระบบที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการจ่ายแก๊สตามท่อส่งไปยังบ้านแต่ละหลัง (ในประเทศไทยหาได้ยาก แต่ในประเทศตะวันตกมีการใช้มานานแล้ว) รวมไปถึงการวางแนวไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้ผู้คน

มากกว่านั้น การแสดงศักยภาพเรื่องห้องครัวของสหรัฐฯ ยังรวมไปถึงเครื่องใช้ในครัว ทั้งแบบใช้ไฟฟ้าและไม่ใช้ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เครื่องล้างจาน จนไปถึงเครื่องคั้นน้ำผลไม้แบบใช้แรงบีบ

สหรัฐฯ ฉลาดเลือกในการนำจุดเด่นของตลาดทุนนิยมมานำเสนอโซเวียต ซึ่งกระทบไปถึงเรื่องการแข่งขันในการผลิตสินค้าและเทคโนโลยีในสินค้าที่สามารถใช้ได้ทุกเพศ ทุกวัย ขณะที่โซเวียตพยายามพัฒนาเรื่องวิทยาการก้าวหน้าที่ผู้คนเอื้อมไม่ถึงอย่างเทคโนโลยีขั้นสูงในอวกาศ

การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองมหาอำนาจยิ่งกระตุ้นการแข่งขันของสองค่ายอุดมการณ์ทางการเมือง เทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของโซเวียตกระตุ้นให้สหรัฐฯ ต้องเร่งพัฒนาวิทยาการในด้านดังกล่าว ขณะเดียวกันโซเวียตก็หันกลับมาอุดช่องโหว่ตัวเอง โดยการพยายามสร้างความทัดเทียมหรือแซงหน้าสหรัฐฯ ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค

ริชาร์ด นิกสัน ปะทะคารมกับ นิกิตา ครุสชอฟ / ภาพจาก The Library of Congress โดย Thomas J. O’Halloran

ครัวและแนวคิดทางการเมือง

การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองค่ายแนวคิดทางการเมืองสะท้อนให้เห็นการปะทะกันในแนวคิดของการมีบ้าน ผ่านการใช้ครัวของสองค่าย ซึ่งฝ่ายทุนนิยมเน้นย้ำในเสรีภาพของการเลือกแบรนด์และการใช้อุปกรณ์ที่ช่วยให้ชีวิตมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น อย่างเครื่องดูดฝุ่น ทั้งนี้ก็เพื่อแบ่งเบาภาระของแม่บ้านให้มีเวลาทำอย่างอื่นมากขึ้น

ช่วงนั้นรองประธานาธิบดีนิกสันโต้เถียงกับครุสชอฟว่า เสรีภาพคือเสรีในการริเริ่มกิจการต่างๆ ที่จะทำให้ผู้คนมีตัวเลือกมากขึ้นในการเลือกใช้สินค้าครัวเรือน ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายอเมริกันเน้นย้ำถึงสิทธิในการเลือกตามหลักการแห่งประชาธิปไตยด้วย

ขณะที่แนวคิดของโซเวียตที่ยึดถือตามแบบฉบับของสังคมนิยมก็มีแนวคิดเรื่องบ้านเช่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่เชิงปัจเจกหรือครอบครัวเดี่ยวต่อบ้านต่อหลังซึ่งใช้พื้นที่มากเหมือนของฝั่งอเมริกัน

โซเวียตมีบ้านต้นแบบผ่านตึกที่มีชื่อว่า Narkomfin โดยเดิมทีเป็นตึกที่ทำการคณะกรรมาธิการการคลังของโซเวียตออกแบบโดย Moisei Ginzburg ในช่วงทศวรรษที่ 1920 ซึ่งออกแบบให้หนึ่งตึกสามารถอยู่ได้หลายครอบครัว เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัยและปัญหาครอบครัวเดี่ยวที่มีห้องเยอะกว่าหนึ่งห้อง (ลักษณะคล้ายกับปัจเจกที่อาศัยอยู่คนเดียวในบ้านหลังใหญ่) โดยรูปแบบคล้ายกับห้องในคอนโดมิเนียม ซึ่งแต่ละห้องมีห้องนอนหนึ่งอยู่ข้างบน อีกห้องนอนอยู่ข้างล่าง และมีห้องครัวเล็กๆ อยู่บริเวณตรงกลางระหว่างชั้น (คล้ายกับห้องหนึ่งอยู่บนชั้นหนึ่ง อีกห้องอยู่บนชั้นสองและห้องครัวอยู่บริเวณชานพักบันได)

ตึกลักษณะเช่นนี้ยังไม่แพร่หลายในห้วงเวลานั้น ซึ่งที่อยู่อาศัยอย่าง Kommunalka (communal apartments) ซึ่งเป็นอพาร์ตเมนต์ในรูปแบบสังคมนิยมของโซเวียตที่มีรูปแบบแนวคิดเรื่องการใช้ทรัพย์สินร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ ห้องครัว พื้นที่ซักล้าง หรือห้องนั่งเล่น ที่ผู้อยู่อาศัยทั้งตึกจะต้องแชร์พื้นที่ส่วนดังกล่าวร่วมกัน (ลักษณะใกล้เคียงกับหอในของมหาวิทยาลัยที่มีห้องน้ำรวมหรือครัวรวม)

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ชาวโซเวียตได้สัมผัสความโมเดิร์นของครัวค่ายทุนนิยมสมัยนั้นส่งผลให้ครุสชอฟเร่งผลักดันแนวคิดหนึ่งครอบครัวหนึ่งบ้าน ซึ่งในบ้านแต่ละหลังจะมีระบบทำความร้อนกลาง ครัวที่ทันสมัย ระบบกำจัดขยะ น้ำร้อน ห้องน้ำ และอื่นๆ โดยครุสชอฟเองก็ยอมรับว่าสิ่งที่ฝั่งตะวันตกทำนั้นส่งผลดีมากกว่าในการปรับปรุงคุณภาพชีวิต

สำหรับแนวคิดการสร้างบ้านแบบอเมริกันที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้แม่บ้านใช้ชีวิตได้สะดวกสบายขึ้น หรือที่เรียกว่าการประหยัดแรงงาน (labour saving) แนวคิดนี้อาจนำไปสู่คำถามที่ว่าเป็นการประหยัดแรงงานในครัวเพื่อไปทำงานข้างนอกมากขึ้นหรือไม่เพื่อตอบโจทย์ด้านแรงงาน

ขณะเดียวกันรากวัฒนธรรมรัสเซียที่ฝังอยู่ในโซเวียตได้กำหนดให้พื้นที่ครัวเป็นของสตรีอยู่แล้ว ดังนั้นฝ่ายโซเวียตในขณะนั้นค่อนข้างจะไม่เห็นภาพในการช่วยลดเวลาหรือประหยัดแรงงานในครัวสำหรับแม่บ้าน แต่โซเวียตได้เปลี่ยนนิยามของคำว่าประหยัดแรงงานเป็นการแบ่งเบาภาระงานของแม่บ้านโดยการปฏิวัติเทคโนโลยีครัวเรือน รวมไปถึงการปลดปล่อยปัจเจกเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ทั้งนี้ นักวิชาการหลายคนอธิบายปรากฏการณ์การโต้เถียงกันเรื่องห้องครัวจากสองค่ายว่า เป็นตัวอย่างของ technopolitics ที่ทั้งสองประเทศต่างขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศหลังจากการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งที่ตามมาหลังจากการแลกเปลี่ยนก็ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันทางด้านอวกาศที่เดิมสหรัฐฯ เดินตามหลังโซเวียต รวมไปถึงนโยบายการสร้างบ้านของโซเวียตที่เปลี่ยนจากการเน้นใช้พื้นที่ส่วนรวมร่วมกันไปสู่ลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น โดยยังคงความกะทัดรัดและประหยัด


อ้างอิง

Cultural Competition/Cultural Cooperation: U.S. Trade and Cultural Fair in Moscow and the Kitchen Debate, 1959

– Reid, E. Susan (2009). Soviet Response to American Kitchen, in Ruth Oldenziel, Karin Zachmann, Cold War Kitchen: Americanization, Technology and European Users. Cambridge, MA, MIT Press. p, 90-94

– Ruth Oldenziel, Karin Zachmann (2009). Cold War Kitchen: Americanization, Technology and European Users. Cambridge: MA. MIT Press.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save