เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
1
การดูถูกดูแคลนกันของคนเรามีอยู่ทุกที่และทุกชนชั้น กระทั่งชนชั้นสูงอย่างกษัตริย์ซึ่งเป็นดั่งสมมติเทพ ก็หนีไม่พ้นเรื่องราวซุบซิบนินทาและการดูถูกดูแคลนจากทั้งในหมู่กษัตริย์หรือจากประชาชนของพระองค์เอง เสียงก่นด่ากระแนะกระแหนถึงเรื่องราวตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ถือเป็นราคาที่ราชาต้องจ่าย
กระทั่งต่อมา กษัตริย์ในฐานะผู้ปกครองต้องออกกฎหมายเพื่อให้การดูหมิ่นกษัตริย์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ในยุโรปสมัยยุคกลางที่กษัตริย์ปกครองแว่นแคว้นต่างๆ ก็มีการบังคับใช้กฎหมายกันอย่างแพร่หลายนะครับ โทษหนักเบาก็แล้วแต่รัฐจะกำหนด แต่การล้อเลียนเหล่านี้ก็ไม่ได้จางหายไปไหน ยิ่งในสังคมตะวันตกด้วยแล้ว การล้อเลียนกษัตริย์มีบันทึกไว้ย้อนไปได้เก่าแก่มาก
อย่างกรณีพระเจ้าหลุยส์ที่ 5 ของฝรั่งเศส ที่ขึ้นครองราชย์ในช่วงปี ค.ศ. 986-987 ก็ถูกล้อเลียนว่าเป็น ‘กษัตริย์แห่งความว่างเปล่า’ (Louis the Good-for-Nothing) เนื่องจากประชาชนเห็นว่าพระองค์นั้นไม่มีความสามารถ ทรงไม่ได้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมือง ในแคว้นกาลิเซีย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสเปน) เมื่อศตวรรษที่ 12 ก็มีการตั้งฉายานามให้กับกษัตริย์อัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออนและกาลิเซียว่า ‘อัลฟอนโซน้ำลายไหล’ (Alfonso the Slobberer) เนื่องจากข้ารับใช้เห็นพระองค์นั่งสัปหงกแล้วน้ำลายไหล หรือในปี ค.ศ. 1380-1422 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศส ได้รับพระฉายาว่า ‘ชาร์ลส์เจ้าแห่งความเขลา’ (Charles the Silly) เนื่องจากการกระทำของพระองค์ที่เชื่อว่าพระองค์นั้นทรงแตกหักง่าย เพราะสร้างมาจากแก้ว
แม้แต่ในปัจจุบัน การล้อเลียนก็ยังมีอยู่ ราชวงศ์อังกฤษซึ่งถือว่าเป็นราชวงศ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกนับว่าเป็นราชวงศ์ที่ถูกล้อเลี่ยนมากที่สุด หรือล่าสุดกรณีการสมรสของเจ้าชายแฮร์รี่กับแมแกน มาร์เคิล ก็มีข่าวว่าในหมู่ราชวงศ์ก็ดูถูกดูแคลนถึงตัวเลือกของเจ้าชายแฮร์รี่
เรื่องพวกนี้อยู่คู่สังคมมนุษย์มานานเท่าที่เราจะคิดย้อนไปได้
หลังจากการล่มสลายของสถาบันกษัตริย์ทั้งในฝรั่งเศส รัสเซีย และออสเตรีย กฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ก็ลดความสำคัญลงไปมาก
ในบางประเทศก็มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลง เช่นว่าปรับไปเป็นกฎหมายห้ามการดูหมิ่นดูแคลนผู้นำประเทศหรือตัวแทนของรัฐ (เอกอัครราชทูตหรือเจ้าหน้าที่ทางการทูต) แทน กลายเป็นว่าบทบาทของราชวงศ์แทบจะไม่แตกต่างจากคนทั่วไป
ทว่าในส่วนอื่นๆ ของโลก กฎหมายเหล่านี้ยังคงรุนแรงอยู่ เช่นบางประเทศในแถบตะวันออกกลาง แอฟริกา และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยเองเป็นหนึ่งในนั้น
2
2-3 สัปดาห์ก่อนผมกลับบ้านที่ลำปาง นั่งคุยกับคุณพ่อเรื่องความเป็นคนไทย คุณพ่อผม (ประดิษฐ์ สรรพช่าง) ท่านเป็นนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ใครที่ใกล้ชิดผมจะทราบว่า ท่านสอนในมหาวิทยาลัย สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มาตลอดชีวิตของท่าน
ประเด็นหนึ่งที่เรามักจะพูดคุยกันเสมอก็คือ ความเป็นชาติของเรามีอายุน้อยกว่าที่เราคิด และถูกบิดไปตามแต่ชนชั้นปกครองเขาจะหาเรื่องมาเล่า ซึ่งแน่นอนว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกับประวัติศาสตร์ที่รัฐเขียนนั้นต่างกันราวกับหนังคนละม้วน กำกับโดยผู้กำกับคนละคน
ย้อนหลับไปเมื่อสักศตวรรษที่แล้วช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แถบภาคเหนือของเราส่วนใหญ่อาศัยอยู่เป็นก๊กเป็นเหล่า หัวเมืองต่างๆ เป็นญาติพี่น้องกันเสียส่วนมาก ดินแดนแถบนี้เก่าแก่กว่าลุ่มน้ำข้างล่างเพราะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม จึงอาศัยต่อเนื่องกันมานานเป็นพันปี ส่วนใหญ่กินพื้นที่ไปถึงพม่า ลาวและจีนตอนใต้ ทุกวันนี้นับย้อนไปสองรุ่น บางตระกูลในเชียงรายหรือตามตะเข็บชายแดน คนไทยหลายครอบครัวก็ยังมีญาติอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ไปมาหาสู่กันอยู่เป็นประจำ บางคนถือสองสัญชาติก็ยังมี
กระทั่งสมัยปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มเห็นความสำคัญของการขยายเขตแดนและการรวมหัวเมืองต่างๆ ไว้ด้วยกัน เพราะเห็นว่าชาวตะวันตกรุกคืบเข้ามาในดินแดนแถบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ (ซึ่งแต่เดิมก็มีอยู่แล้ว) ทั้งจากด้านบน ทั้งจากข้างล่าง หลังจากพระองค์ท่านลาสิขา จึงทรงเน้นอยู่สองเรื่อง หนึ่ง คือ branding สยามประเทศกับชาวตะวันตกว่าก้าวหน้า และ สอง คือการสร้างวาทกรรมความเป็นชาติขึ้นมา
สยามสมัยนั้นจึงเริ่มติดต่อกับหัวเมืองต่างๆ พร้อมกับสร้างภาพของกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญ สร้างภาพให้สยามเป็นประเทศที่เจริญแล้วและทัดเทียมกับโลกตะวันตก จนกระทั่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างสมัยรัชกาลที่ 5
การมาถึงของรถไฟในภาคเหนือทำให้การรวมประเทศทำได้ง่ายขึ้น เริ่มมีการแต่งตั้งเจ้าจอม และล้านนาเริ่มเป็นหนึ่งเดียวกับสยาม
แต่แม้จะบอกว่าเราเป็นคนชาติเดียวกัน กระนั้นความรู้สึกดูถูกเหยียดหยามก็ยังมีอยู่ รวมไปถึงในรั้วในวัง
ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกพูดถึงเสมอคือ เรื่องราวของพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ซึ่งเป็นพระโอรสลำดับที่ 44 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับบุตรของเจ้าจอมมารดาเจ้าทิพยเกสร (เจ้าศิริมา ณ เชียงใหม่) เจ้านายฝ่ายเหนือท่านแรกที่เข้ามาเป็นบาทจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่น่านใจคือ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปริญญาเอก (พระองค์จบด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยทูบิงเงน ในทางตอนใต้ของเยอรมนี)
กระนั้นด้วยความที่เป็นพระโอรสที่ประสูตรจากมารดาที่เป็นเจ้าจอมจากทางเหนือ แม้ตอนที่พระองค์ถูกส่งไปเรียนหนังสือในยุโรป ความรู้สึกของการเป็นคนนอกก็ยังถูกถ่ายทอดจากพระราชกระแสรับสั่งกับพระโอรสของตนว่า
“…ชายดิลก เป็นคนตาสั้นข้างหนึ่ง ตามตํารา เขาก็จะไม่เอาเป็นทหารกันอยู่ ควรจะจัดให้เล่าเรียนฝ่ายพลเรือน ดิลกนั้นเป็นคนขยันในการเล่าเรียน มีไอเดียเป็นลาวๆ อยู่บ้าง ถ้าไม่มีความรู้อาจจะฟุ้งซ่านได้เล็กน้อย”
นิตยสารศิลปวัฒนธรรมได้ตีความไว้ว่า ที่ทรงกล่าวว่า “มีไอเดียเป็นลาวๆ” นั้น ส่วนหนึ่งมาจากพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงเป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวที่มีเจ้าจอมมารดาเป็นชาวเหนือ ซึ่งสำหรับคนกรุงแล้วยังถือว่าเป็นคนลาว
พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐไม่ได้รับการยอมรับมากนัก เนื่องจากการใช้ชีวิตแบบตัวคนเดียวมานานในต่างประเทศตั้งแต่ทรงพระเยาว์ กอปรทั้งไม่มีพี่น้องหรือญาติมิตรที่ใกล้ชิดเท่าไร การกลับมาทำงานอยู่ที่ประเทศไทยหลังจากใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศมานานนั้นทำให้พระองค์ทรงรู้สึกแปลกแยก
เรื่องหนึ่งที่พระองค์ได้ติดตัวมาจากการอาศัยอยู่ต่างประเทศ แต่กลับถูกมองว่าเป็นเรื่อง ‘ไม่เข้าท่า’ ในสังคมไทยสมัยนั้นคือการไม่รู้ว่าตัวเองคือเจ้านาย
ผมอ้างจากหนังสือศิลปวัฒนธรรม ที่เคยเขียนถึงประวัติของพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐว่า
“เมื่อปี 2453 ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 วันหนึ่งหลังจากที่ทรงไปร่วมงานพระราชพิธี ได้ขับรถเพื่อเสด็จกลับวัง พอถึงมุมวังเปรมประชากรของกรมหลวงชุมพรฯ รถรางซึ่งแล่นมาเร็วเต็มที่และมิได้ให้สัญญาณก็พ้นมุมออกมา พอชนเอารถของพระองค์ตกลงไปในคลอง ทั้งพระองค์และมหาดเล็กไม่บาดเจ็บอะไรนักนอกจากฟกช้ำดําเขียว สิ่งแรกทรงกระทําเมื่อขึ้นมาจากคลองแล้วแทนที่จะทรงตั้งศาลชําระความคนขับรถรางตรงนั้นเอง กลับเสด็จไปแจ้งความที่โรงพักเพื่อให้ตํารวจตัดสินคดีความ ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงเจ้าพระยายมราชว่า
“แก (พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ) งุ่มง่ามไปโรงพักเปล่าๆ ควรจะไปหาเจ้าพระยายมราชจะสงเคราะห์ได้อย่างไร ขอให้ช่วยสงเคราะห์ด้วย”
การที่พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงไปแจ้งความกับตํารวจ ไม่ตั้งศาลเตี้ย ไม่แม้แต่จะคิดไปหาเจ้าพระยายมราช เสนาบดีนครบาล ทั้งหมดนี้ออกผิดวิสัยของเวลานั้น พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่”
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่หลังจากพระองค์กลับมาทรงงานไม่นานนัก ก็ปลงพระชนม์ตนเองเองด้วยพระแสงปืน มีการอ้างถึงว่าทรงเสียใจจากการสูญเสียพระชายาเนื่องจากการจมน้ำ แต่อีกกระแสส่วนหนึ่งก็อ้างว่าน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน โดยเฉพาะความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ เรื่องความคิดด้านการงาน และการไม่ได้รับการยอมรับจากเชื้อพระวงศ์พระองค์อื่นๆ เพราะความเป็นคนนอก
ความขัดแย้ง ความแปลกแยกไม่เท่าเทียม ความเป็นชาติ การต่อสู้กันระหว่างชนชั้น ทั้งหลายทั้งปวงนี้มีอยู่เป็นปกติวิสัยนะครับ ไม่ว่าจะผ่านมานานเท่าไรมันก็จะยังมีอยู่ และยิ่งเมื่อเทียบอายุของสยามประเทศแล้ว หากเทียบเป็นคนสักคนต้องบอกว่าประสบการณ์เรายังน้อยนิด ต้องใช้เวลาอีกมากมายสำหรับการปรับตัวและเรียนรู้ไปเรื่อยๆ
การด่าทอ ดูถูกกัน เป็นเรื่องที่เราต้องตั้งรับความไม่เจริญทางจิตใจเหล่านี้ด้วยตัวของเราเอง ขออย่างเดียวว่า ใช้กำลังอย่าใช้อำนาจข่มขู่จนเกินขอบเขต อย่าให้มีใครต้องมาสูญเสียเพราะเรื่องเหล่านี้อีก ไม่ว่าจะว้าเหว่ขนาดไหนผมเชื่อว่าเราทุกคนต่างมีคนที่รักรอเราอยู่
และไม่มีใครอยากเห็นคนที่เรารักล้มเจ็บล้มตายไปต่อหน้าต่อตา