fbpx
จับ “ซอมบี้” มาส่องกระจก: เงาสลัวของ Covid-19 ในซีรีส์ Kingdom

จับ “ซอมบี้” มาส่องกระจก: เงาสลัวของ Covid-19 ในซีรีส์ Kingdom

ณัฐดนย์ โกศัยธนอนันท์ เรื่อง

 

[spoiler alert : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์]

 

การที่โลกต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ต่อเนื่องยาวนาน อาจทำให้ภาพดิสโทเปีย (Dystopia) ซึ่งบรรยายถึงโลกที่ถูกคุกคามโดยซอมบี้ กลับมาโลดแล่นและหลอกหลอนผู้คนจำนวนไม่น้อย เพราะต้นกำเนิดของซอมบี้ในเรื่องเล่าสมัยใหม่จำนวนหนึ่ง ก็เป็นผลลัพธ์จากโรคระบาด ซอมบี้กับโรคระบาดจึงมีส่วนเชื่อมโยงกันที่น่าพิจารณาอยู่ไม่น้อย

บางทีการลองหวนกลับมาพิจารณาเรื่องราวเหนือจินตนาการอย่างซอมบี้ อาจช่วยให้เราเห็นแง่มุมต่างๆ ของสถานการณ์ Covid-19 ในปัจจุบันได้อย่างมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น

 

ซอมบี้กับโรคระบาด: จากเรื่องเหนือจินตนาการ สู่โลกความเป็นจริง

 

Daniel W. Drezner ศาสตราจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ ประจำ The Fletcher School of Law and Diplomacy at Tufts University ได้เขียนหนังสือเรื่อง “Theories of International Politics and Zombies”[1] โดยชี้ชวนให้ผู้อ่านได้ลองจินตนาการว่า หากเกิดแพร่ระบาดของซอมบี้ขึ้นมาจริงๆ จะส่งผลกระทบต่อการเมืองโลกอย่างไร และทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีอยู่ในตอนนี้ จะสร้างคำอธิบายและมีนโยบายตอบสนองต่อภัยคุกคามใหม่นี้อย่างไร ซึ่งทำให้เราเห็นถึงจุดเด่นและข้อจำกัดในการมองโลกของแต่ละทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ Daniel W. Drezner ก็ตระหนักถึงความแตกต่างภายใน “วงการซอมบี้ศึกษา (Zombie Study)” โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับความเข้าใจที่ว่า “ซอมบี้คืออะไร มีที่มาอย่างไร และมีขีดความสามารถอย่างไร”

เขาเลือกนิยาม “ซอมบี้” จากแง่มุมเชิงชีววิทยา ว่าหมายถึง “สิ่งมีชีวิตอยู่ในร่างของมนุษย์ และมีความปรารถนาที่จะกินมนุษย์เป็นอาหาร”[2] และเสนอว่าในบรรดาเรื่องเล่าสมัยใหม่เกี่ยวกับซอมบี้ นับตั้งแต่ภาพยนตร์ของจอร์จ โรเมโร เรื่อง Night of the Living Dead (1968) เป็นต้นมา (จนกระทั่งถึงซีรีส์ซอมบี้เรื่องล่าสุดอย่าง Kingdom – ผู้เขียน) ตั้งอยู่บนสมมติฐานสำคัญ 3 ประการ เกี่ยวกับพฤติกรรมของซอมบี้ ว่า (1) ซอมบี้กระหายเนื้อมนุษย์ แต่ไม่กินเนื้อพวกเดียวกัน (2) วิธีฆ่าซอมบี้มีเพียงวิธีเดียว คือ การทำลายสมองของมัน (3) ผู้ใดก็ตามที่ถูกซอมบี้กัด จะต้องกลายเป็นซอมบี้ด้วย

ความสัมพันธ์ในแง่การดำรงอยู่ระหว่างมนุษย์และซอมบี้ของเรื่องเล่ากระแสหลักส่วนมาก จึงเป็นไปในลักษณะแบบ Zero Sum Game กล่าวคือ หากซอมบี้ทั้งหมดไม่ถูกกำจัดให้สิ้นซาก มนุษยชาติก็จะถึงจุดจบ เรื่องเล่าเกี่ยวกับซอมบี้ทั้งหลาย จึงพยายามนำเสนอหลากหลายวิธีการที่มนุษย์ใช้ต่อกรกับฝูงซอมบี้เพื่อเอาชีวิตรอด และปกป้องไม่ให้สังคมมนุษย์ถูกฝูงซอมบี้กลืนกิน

สถานะการดำรงอยู่ของซอมบี้ในสายตาของมนุษย์ ถือเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่มีลักษณะข้ามชาติ เพราะเป็นปัญหาที่ทุกรัฐในโลกต่างมีโอกาสถูกคุกคามเหมือนกัน แตกต่างจากตัวละครเหนือธรรมชาติอื่นๆ ที่ปรากฏในเรื่องเล่าของวัฒนธรรมมหาชน เช่น แวมไพร์ หรือ พ่อมดแม่มด ที่แม้จะมีแนวโน้มคุกคามมนุษย์อยู่บ้าง แต่ตัวละครเหล่านี้ก็ยังสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับสังคมมนุษย์ ภายใต้โครงสร้างทางอำนาจที่มนุษย์เป็นผู้สร้างได้ อีกทั้งพวกมันไม่ได้ลักษณะตามธรรมชาติที่ต้องการกวาดล้างและกลืนกินสังคมมนุษย์เหมือนอย่างซอมบี้

ในแง่นี้ซอมบี้จึงคล้ายกับโรคระบาดอย่าง Covid-19 ตรงที่มันเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เพราะตัวมันเองได้เติบโตและแพร่กระจายไปพร้อมๆ กับปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอันสลับซับซ้อนของมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งจะทำให้โลกใบนี้ไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป

หากเรื่องเล่าเกี่ยวกับซอมบี้ มีความคล้ายคลึงบางประการกับโรคระบาดอย่าง Covid-19 เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะลองจับซอมบี้กระหายเลือดเหล่านี้ไว้ให้ดีๆ (ระวังมันกัด) ไปส่องกระจกดูให้ชัดๆ เผื่อเราจะได้เห็นเงาสลัวๆ ของ Covid-19 เพื่อเก็บไปคิดต่อกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในสังคมไทย

คำถามคือ เราจะใช้เรื่องราวของซอมบี้ จากซีรีส์, ภาพยนตร์, นิยาย ฯลฯ เรื่องไหนมาส่องกระจก เพื่อมองหาเงาสลัวของ Covid-19 ในสังคมไทยดี?

 

ซีรีส์ Kingdom: ซอมบี้เกาหลีในยุค Covid-19

 

นาทีนี้คงไม่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับซอมบี้เรื่องไหน จะร้อนแรงไปกว่าซีรีส์เรื่อง Kingdom อีกแล้ว ด้วยความโดดเด่นของเนื้อเรื่อง ที่นำเข้าเรื่องเล่าของซอมบี้จากบริบททางสังคมวัฒนธรรมแบบฝรั่ง ให้มาเจริญงอกงามในบริบททางสังคมวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างมีชีวิตชีวา ยิ่งซีซันที่ 2 ของซีรีส์เรื่องนี้ ออกอากาศในช่วงเวลาใกล้เคียงการระบาดของ Covid-19 พอดี จึงน่าสนใจอย่างยิ่งที่จะลองหยิบซอมบี้จากซีรีส์ Kingdom มาลองส่องกระจก มองหาเงาสลัวของ Covid-19 เพื่อที่จะติดตามปรากฏการณ์ร่วมสมัยนี้ได้อย่างมีมิติมากยิ่งขึ้น

เรื่องราวของซีรีส์ Kingdom ถูกนำเสนอเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องราวการแย่งชิงอำนาจภายในราชสำนักโชซอนช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาล ระหว่างเครือข่ายของชนชั้นนำฝ่ายองค์ชายอีชาง รัชทายาทที่เกิดจากนางสนม และเครือข่ายของชนชั้นนำกลุ่มแฮวอนโจ ที่นำโดยมหาอำมาตย์โจฮักจู ผู้กุมอำนาจตัวจริงในราชสำนัก

ส่วนที่สองเป็นเรื่องราวการเอาตัวรอดและรับมือกับการแพร่ระบาดของซอมบี้ ซึ่งซีรีส์จะค่อยๆ คลายปมให้คนดูเห็นว่าทั้งสองส่วนจะบรรจบกลายเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างไร

 

สาเหตุของโรคระบาด (ซอมบี้)

 

สาเหตุของโรคระบาด (ซอมบี้) ในซีรีส์เรื่อง Kingdom เกิดจากการที่ชนชั้นนำใช้สมุนไพรชุบชีวิตเปลี่ยนคนตายให้กลายเป็นซอมบี้ เพื่อใช้เป็นอาวุธปกป้องอาณาจักรจากการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่น แต่หลังจากที่ขับไล่ภัยคุกคามจากภายนอกได้สำเร็จ สมุนไพรชุบชีวิตกลับถูกชนชั้นนำใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง ทำให้การเปลี่ยนผ่านรัชสมัยยืดระยะเวลาออกไป ด้วยวิธีการปลุกชีพองค์ราชาที่สวรรคตไปแล้วให้กลายเป็นซอมบี้และปิดบังความจริงเอาไว้ จนกว่าพระมเหสีซึ่งเป็นลูกสาวของมหาอำมาตย์โจฮักจูจะให้กำเนิดพระโอรส สิทธิเหนือราชบัลลังก์ขององค์ชายอีชาง รัชทายาทที่เกิดจากนางสนม จะได้เปลี่ยนมาอยู่ในมือของมหาอำมาตย์โจฮักจูโดยสมบูรณ์

แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของซอมบี้ไปทั่วทั้งอาณาจักรโชซอน เกิดจากการที่มีคนนำซากของมนุษย์ผู้ถูกซอมบี้พระราชากัด ไปปรุงอาหารเพื่อประทังความหิวโหยของประชาชน ส่งผลให้เชื้อร้ายกลายพันธุ์ สามารถระบาดจากคนสู่คนผ่านการกัดหรือถูกกัดได้

เรื่องราวของการต่อสู้กับฝูงซอมบี้และแย่งชิงอำนาจ โดยมีชีวิตของอาณาประชาราษฎร์และราชบัลลังก์เป็นเดิมพัน จึงได้เริ่มต้นขึ้น

 

การเมืองของโรคระบาดในห้วงเวลาแห่งการแย่งชิงอำนาจ

 

การแพร่ระบาดของซอมบี้ในอาณาจักร ยกระดับการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำทั้งสองฝ่ายให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ฝ่ายมหาอำมาตย์โจฮักจูได้ฉวยใช้ซอมบี้เป็นเครื่องมือปราบปรามฝ่ายรัชทายาทอีชาง ในขณะที่ฝ่ายรัชทายาทอีชางก็ฉวยโอกาสนี้ แสดงตนเป็นผู้นำ ปกป้องประชาชนจากฝูงซอมบี้เพื่อสร้างฐานอำนาจให้กับตัวเอง

เพื่อกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองให้สิ้นซาก มหาอำมาตย์โจฮักจู ได้เปลี่ยนชาวเมืองให้กลายเป็นซอมบี้ โจมตีฐานที่มั่นขององค์ชายรัชทายาทอีชาง หวังขจัดเสี้ยนหนามคนสำคัญ ที่ขัดขวางการครองอำนาจเหนือราชสำนักของเครือข่ายแฮวอนโจ การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างมีลำดับชั้น มีการปิดตายประตูเมือง เพื่อไม่ให้เชื้อร้ายแพร่เข้าสู่เมืองหลวง ซึ่งมีเชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงฝ่ายตนเองอาศัยอยู่ แต่ปล่อยให้คนนอกเครือข่ายของตนและชนชั้นล่างนอกกำแพงเมือง ต้องเผชิญกับฝูงซอมบี้ตามยถากรรม

ฝ่ายองค์ชายรัชทายาทอีชาง เพื่อให้ตนเองอยู่รอด ก็จำเป็นต้องเล่นบทผู้นำในการปกป้องประชาชนจากฝูงซอมบี้ และสืบหาความจริงเกี่ยวกับโรคระบาดให้ได้มากที่สุด หวังแก้ต่างต่อข้อกล่าวหากบฏที่ตนได้รับ  เปิดโปงการกระทำอันชั่วร้ายต่างๆ ของมหาอำมาตย์โจฮักจู และทวงสิทธิในฐานะผู้สืบทอดราชบัลลังก์ของตนเองกลับคืนมา

ซอมบี้ในซีรีส์ Kingdom จึงไม่ได้ถูกมองเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ ที่แม้ว่าจะอยู่คนละขั้วทางการเมือง ก็ย่อมได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามนี้ไม่แตกต่างกัน แต่ซอมบี้ในซีรีส์ Kingdom ถูกมองเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมือง เพื่อแย่งชิงและธำรงรักษาไว้ซึ่งอำนาจของชนชั้นนำ

ผลประโยชน์ทางอำนาจเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังที่สำคัญที่สุดของชนชั้นนำในการตัดสินใจทำ/ไม่ทำอะไรบางอย่าง ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม ชนชั้นนำแต่ละฝ่ายในซีรีส์เรื่อง Kingdom เลือกจัดการกับซอมบี้บนฐานคิดเรื่องการได้มาและธำรงรักษาไว้ซึ่งอำนาจของตนเป็นหลัก ไม่ได้ตัดสินใจบนฐานคิดเรื่องสิ่งที่ควรจะทำในการจัดการกับซอมบี้

สำหรับฝ่ายมหาอำมาตย์โจฮักจู ฐานคิดเรื่องการรักษาผลประโยชน์ทางอำนาจของตนเองและพวกพ้อง เป็นหลักในสถานการณ์แพร่ระบาดซอมบี้ กลายเป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้องค์ชายรัชทายาทสามารถผนวกผลประโยชน์ของประชาชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของผลประโยชน์ทางอำนาจของพระองค์ และใช้มันเป็นต้นทุนในการต่อสู้บนสนามการเมืองของโรคระบาดจนได้รับชัยชนะ

ชัยชนะทางการเมืองอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ทำให้พระองค์ไม่จำเป็นต้องครองราชย์บัลลังก์เพื่อความอยู่รอดของตนอีกแล้ว เพราะอำนาจของพระองค์มีอยู่อย่างเปี่ยมล้นในฐานะผู้พิทักษ์ระเบียบทางการเมืองใหม่หลังการแพร่ระบาดของซอมบี้ สิ่งที่พระองค์ต้องทำเพื่อรักษาอำนาจนั้นไว้ จึงเป็นการออกตามล่าหาความจริงเกี่ยวกับสมุนไพรคืนชีพ ซึ่งเราคงต้องมาลุ้นไปพร้อมๆ กันว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไปในซีซันที่ 3

 

จากซอมบี้ในซีรีย์ Kingdom สู่ Covid-19 ของไทย

 

เมื่อหันมามองการจัดการวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในองคาพยพต่างๆ ของรัฐไทย ที่ปล่อยปละละเลย ไม่มีการตรวจคัดกรองหรือติดตามกลุ่มเสี่ยงที่เข้ามาในประเทศ ตั้งแต่การระบาดยังไม่ลุกลาม, ฝ่าฝืนข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และไม่ให้ความร่วมมือสำนักคณะกรรมการกีฬามวยจนเกิดกรณี Super Spreader ทั้งๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้[3] ฯลฯ จนในที่สุด ต้องมีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั่วราชอาณาจักร และตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ขึ้นมาเพื่อรับมือกับวิกฤตครั้งนี้โดยเฉพาะ

หากลองมองเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยสายตาแบบที่ได้วิเคราะห์ซีรีส์ Kingdom ไปในข้างต้น การเลือกที่จะทำ/ไม่ทำอะไรบางอย่างของรัฐไทยในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 อาจไม่ได้ตัดสินใจบนฐานคิดเรื่องสาธารณสุขแต่เพียงอย่างเดียว (?) แต่การตัดสินใจของรัฐไทยนั้นคำนึงถึงเรื่องอะไรอีกบ้าง คงต้องเฝ้าติดตามดูให้เหมือนอย่างที่รอดูว่า ในซีซันที่ 3 ของซีรีส์ Kingdom บทบาทขององค์ชายอีชางจะเป็นอย่างไรต่อไป…

 

เชิงอรรถ

[1] สำหรับฉบับภาษาไทย โปรดพิจารณา แดเนียล เดรซเนอร์. ทฤษฏีการเมืองระหว่างประเทศและซอมบี้ (ฉบับคืนชีพ). บรรณาธิการโดย จิตติภัทร พูนขำ. แปลโดย ธรรมชาติ กรีอักษร. กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2560.

[2] เรื่องเดียวกัน. หน้า 42-43

[3] “เปิดเอกสารมัดตัวกองทัพบก กรณี ‘Super Spreader’ สนามมวยลุมพินี แพร่ Covid-19.” Voice Online (31 มีนาคม 2563). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563. https://voicetv.co.th/read/fpl0YfRTp.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save