fbpx

สตรีในทัศนะของพระพันวษา

ทั้งๆ ที่เป็นแฟนตัวยงของเสภาเรื่อง ‘ขุนช้าง-ขุนแผน’ แต่ผมมีเหตุผลที่ไม่สามารถทำใจดูละครโทรทัศน์ ‘วันทอง’ ทางช่อง ONE31 ที่ดัดแปลงจากบทเสภาเรื่องนี้ได้ลุล่วง ประการแรกคือการขยายบทให้มีฉากทะเลาะเบาะแว้งระหว่างเมียหลวง-เมียน้อย วันทอง-ลาวทอง จนกลายเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งนอกจากจะเป็นการนอกบทอย่างไม่จำเป็น เพราะตามท้องเรื่องสองนางเคยทะเลาะกันครั้งเดียวเท่านั้น และในเนื้อเรื่องตามบทเสภา นางลาวทองก็ไม่เคยแสดงความหึงหวงหรืออิจฉาริษยาวันทองเลย

ถ้าใครอ่านขุนช้าง-ขุนแผนละเอียดหน่อยจะชอบนางลาวทอง แม้ว่าจะมีบทเจรจาไม่มากนัก เพราะนางลาวทองเป็นคนเฉลียวฉลาด รักในวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน อดทนต่อความยากลำบาก และไม่เคยสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้ใครเลย ทั้งๆ ที่ว่ากันตามสถานการณ์บีบคั้นแล้ว ลาวทองเป็นหญิงต่างเผ่าต่างภาษาผู้พลัดนาคาที่อยู่มาแสนไกล และต้องทนอยู่ตามลำพังภายในวัง ‘ปักสะดึงกรึงไหม’ โดยปราศจากสามีนับเป็นเวลาสิบกว่าปี พอผมเห็นบทนางลาวทองในละครช่อง ONE31 ผมก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยแฟร์กับตัวละครหญิงที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์สักเท่าไหร่

เหตุผลประการที่สองคือโทนเรื่องของ ‘วันทอง’ เป็นดราม่าโรแมนติก ซึ่งแน่นอนว่าเปลี่ยนจุดเน้นจากขุนแผนในฐานะวีรบุรุษโรแมนติก ‘นักรบ-นักรัก’ มาเป็นวันทองและปมขัดแย้งของเธอ ‘รักคนที่รักเรา-รักคนที่เรารัก’ ซึ่งสะท้อนออกมาในเพลง OST. ชื่อ ‘สองใจ’ ที่มีทำนองและเนื้อร้องสุดโรแมนติก

ถึงแม้การตีความขุนช้าง-ขุนแผนใหม่ในมุมของ ‘วันทอง’ จะโรแมนติกสักเท่าไร และสะท้อนความขัดแย้งในจิตใจของผู้หญิงที่มีความรู้สึกนึกคิดมากกว่าในบทประพันธ์เดิม แต่ก็ยังห่างไกลจากสารัตถะของขุนช้าง-ขุนแผนในทัศนะของผมอยู่ดี ผมเห็นว่า ‘ขุนช้าง-ขุนแผน’ มีความเป็นดราม่าการเมืองที่มีรักโรแมนติกเป็นไส้ปรุงรส มากกว่าจะเป็นดราม่าโรแมนติกที่มีสงครามและการเมืองระหว่างรัฐศักดินาเป็นฉากหลัง

โดยจุดพลิกผันในชีวิตของตัวละครสำคัญเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองและการวินิจฉัยของ ‘พระพันวษา’ ทั้งสิ้น

พลายแก้วต้องเป็นกำพร้าและนางทองประศรีต้องเป็นม่ายสิ้นเนื้อประดาตัวก็เพราะขุนไกรต้องราชอาญา (ขุนไกรฆ่าควายป่าที่กำลังตื่นเพราะไม่ต้องการให้วิ่งตะลุยเข้าไปทำร้ายคน แต่พระพันวษาโกรธจัดที่ขุนไกรฆ่าควายป่าที่ถูกต้อนมาให้พระองค์ ‘ล่า’ ก็เลยสั่งประหารชีวิตขุนไกร)

วันทอง (พิม) ที่เพิ่งแต่งงานใหม่ก้นหม้อข้าวยังไม่ทันดำ ต้องมาพรากกับขุนแผน (พลายแก้ว) ก็เพราะพระพันวษาตัดสินใจส่งกองทัพไปทำศึกกับ ‘เชียงใหม่’ เพื่อช่วงชิง ‘เชียงทอง’ (ตอนที่ 8)


เจ้าพลายแก้วกลับมาเห็นหน้าพิม   ไม่ยิ้มเดินตรงเข้าในห้อง

บ่าวถือเงินผ้ามาวางกอง   พิมเห็นผัวมัวหมองไม่นำพา

ผลีผลามตามผัวเข้าในห้อง           เจ้าแก้วเห็นหน้าน้องลุกผวา

ระทวยทอดกอดพิมปริ่มน้ำตา       พระพันวษาตรัสใช้พี่ไปทัพ

ด้วยเมืองเชียงทองเป็นขบถ          คิดคดกับเชียงใหม่เอาใจกลับ

ถ้าขัดขืนรับสั่งแล้วหลังยับ           พี่จึงแข็งใจรับอาสามา


เมื่อขุนแผนกลับมาจากราชการทัพและเอาเมียใหม่มาด้วย เกิดเรื่องทะเลาะกับวันทองจนบ้านแตกเข้าหน้ากันไม่ติด ขุนช้างได้ทีก็ปลุกปล้ำเอาวันทองเป็นเมีย ต่อมาขุนแผนไปเห็นวันทองนอนกอดกับขุนช้างในมุ้งก็เลยกลั่นแกล้งให้ทั้งคู่ได้อาย จากนั้นก็เจรจาตกลงกันจนเลิกติดใจเอาความกัน เพราะขุนแผนทำใจได้ว่าวันทองตกเป็นเมียขุนช้างแล้ว ครั้งจะรับกลับไปเป็นเมียเหมือนเดิมก็คงจะไม่สนิทใจ (ตอนที่ 14)


เพราะกูเองเด็ดด่วนหวนหัน         บุกบั่นถือโทษเอาเป็นผิด

 จึงเสียใจยอมให้ขุนช้างชิด          คิดฤาหนึ่งเล่าจะเอาไป

 แต่ก็หวนสงสัยน้ำใจนาง           เมื่อขุนช้างสู่สมเข้าชมได้

 เป็นกินน้ำเห็นปลิงทุกสิ่งไป         จะคืนรักเข้ากระไรให้รำคาญ

 ครั้นจะทูลก็กระเทือนถึงวันทอง    สงสารน้องจะขายหน้าอยู่คาศาล

 ได้เสียตัวชั่วผิดเพราะคนพาล       ถ้าให้ทานเห็นจะเป็นประโยชน์ ไป


ความขัดแย้งระหว่างขุนช้างและขุนแผนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตเมื่อทั้งสองไปทำหน้าที่มหาดเล็กในวัง และขุนแผนขอให้ขุนช้างเข้าเวรแทน เพราะตนจะแอบไปเยี่ยมนางลาวทองที่กำลังป่วยอยู่ที่กาญจนบุรี แต่ขุนช้างกลับฟ้องว่าขุนแผนหนีราชการ ตนทัดทานก็ไม่ฟัง พระพันวษากริ้วและแทนที่จะเรียกขุนแผนมาสอบสวนให้ได้ความ กลับมีรับสั่งให้ไปจับตัวนางลาวทองมาแทน ทั้งๆ ที่นางไม่ได้ทำผิดอะไรเลย (ตอนที่ 15)


ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ           ฟังจบก็กริ้วเป็นหนักหนา

กระทืบพระบาทตวามา             อ้ายนี่ตกว่าไม่เกรงใคร

อ้ายขุนช้างว่ากล่าวกลับห้าวหาญ  บังอาจปีนปราการออกไปได้

โทษถึงฆ่าฟันให้บรรลัย             เสียบหัวอย่าให้ดูเยี่ยงกัน

หากคิดนิดหนึ่งความชอบมี         ถ้าหาไม่ชีวีจะอาสัญ

อีเมียอย่างไรไม่จากกัน            ฤาลอยมาแต่สวรรค์จึงลืมกลัว

เหวยราชามาตย์ไปบัดนี้           พาอีลาวทองมาจากผัว

อ้ายขุนแผนกูไม่ขอเห็นตัว         มันทำชั่วให้อยู่กาญจนบุรี

ให้คุมไพร่ไปเที่ยวตระเวนด่าน     ต่อราชการเกิดศึกในกรุงศรี

จึงจะเกณฑ์มันให้ไปต่อตี           แต่ในราตรีจงรีบไป


หลังจากเหตุการณ์นี้ขุนแผนจึงได้ไปชิงตัวนางวันทองเพื่อล้างแค้นขุนช้างที่ทำให้ตัวเองต้องพรากจากนางลาวทองก่อน จนเกิดเรื่องราวใหญ่โตเพราะขุนแผนสังหารทหารหลวงที่ออกติดตามขุนแผนและนางวันทอง ซึ่งต่อมาก็ตั้งครรภ์ในระหว่างที่หนีการจับกุม ทำให้ขุนแผนมอบตัวกับทางการ และเมื่อพระพันวษาไต่สวนความแล้วก็ยกนางวันทองให้กลับมาอยู่กินกับขุนแผนตามเดิม แต่เมื่อขุนแผนขอให้จมื่นศรีกราบทูลขอนางลาวทองที่ถูกคุมตัวอยู่ในวังคืนกลับไปด้วย พระพันวษาก็กริ้วหนักและสั่งจำคุกขุนแผนเป็นเวลาถึงสิบกว่าปี


ครานั้นพระองค์ทรงธรณี           ได้ฟังจมื่นศรีแถลงสาร

ฉุนพิโรธพระพักตร์เผือดเดือดดาล อ้ายนี่หาญเห็นกูนี้ใจดี

ครั้งขุนเพชรขุนรามตามออกไป     บังอาจใจฆ่าคนเสียป่นปี้

กูก็งดอาญาไม่ฆ่าตี         ซ้ำยกอีวันทองให้แก่ตัว

ยังลวนลามตามขออีลาวทอง       จองหองไม่คิดผิดท่วมหัว

พูดเล่นตามใจไม่เกรงกลัว           เพราะตัวอีลาวทองต้องอยู่วัง

ไกลตาตกว่าไม่ไว้ใจ        มันกลัวกูนี้จะไพล่เอาข้างหลัง

ฟังมันเจรจาดูน่าชัง        ถ้าแม้นตั้งหน้ารับราชการไป

ทำดีแล้วอย่าว่าแต่ลาวทอง        อีกสักสองสามคนกูจะให้

เห็นไม่ทำแล้วยิ่งซ้ำทะนงใจ        ละไว้จะกำเริบทุกเวลา

ถ้าตามใจยอมให้อีลาวทอง          จะจองหองเย่อหยิ่งขึ้นหนักหนา

เป็นว่าไรไม่ขัดสักเวลา      ทีหลังจะชะล่าไม่เกรงใคร

เฮ้ยเอาตัวมันไปส่งไว้คุก   ประทุกห้าประการหมดอย่าลดให้

เชื่อมหัวตะปูซ้ำให้หนำใจ           สั่งเสร็จเสด็จในที่ไสยา


จนกระทั่งพลายงามลูกขุนแผนโตเป็นหนุ่มและได้รับมอบหมายให้คุมทัพไปรบเชียงใหม่ จึงได้ขอตัวขุนแผนออกจากคุกมาช่วยราชการทัพ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการดำเนินไปของโครงเรื่อง เราจะพบว่าการใช้ดุลพินิจของ ‘พระพันวษา’ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการดำเนินเรื่องที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตัวละครอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครฝ่ายหญิง ซึ่งพระองค์มองเห็นเหมือนเป็น ‘สมบัติ’ มากกว่าจะคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงเหล่านั้น

สองตัวอย่างในกรณีของนางลาวทองนั้นก็คงแสดงให้เห็นชัดถึงทัศนะของพระพันวษา ว่าไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของนาง ซึ่งต้องตกระกำลำบากทั้งที่ไม่ได้มีส่วนกระทำผิด ถึงกระนั้นเราจะเห็นได้ว่าพระพันวษาไม่ได้นึกว่าการถูกคุมตัวหรือถูกจำอยู่ในวังเป็นการลงโทษนางลาวทอง ในทางกลับกัน พระองค์มองว่านั่นเป็นการลงโทษขุนแผนโดยการ ‘ริบสมบัติ’ ที่มีค่าของขุนแผนไปเสีย

ในกรณีของ ‘พลายงาม’ ซึ่งมีคู่หมั้นคู่หมายอยู่แล้ว (นางศรีมาลา) และเตรียมที่จะแต่งงานหลังเสร็จราชการทัพเชียงใหม่ แต่พระพันวษาที่ได้รับเจ้าหญิงจากเมืองเชียงทอง (นางสร้อยทอง) และจากเมืองเชียงใหม่ (นางสร้อยฟ้า) ก็กลับพระราชทานนางสร้อยฟ้าให้แก่พลายงาม (จมื่นไวย) เพื่อตัดปัญหายุ่งยากที่อาจจะเกิดขึ้นกับพระองค์เองเนื่องจากนางสร้อยฟ้า ซึ่งในที่สุดการประทานนางสร้อยฟ้าให้แต่งกับจมื่นไวยก็ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่โตในครอบครัวของจมื่นไวยและขุนแผน จนลุกลามไปเป็นศึกสงครามระหว่างขุนแผนและพลายชุมพลข้างหนึ่งกับจมื่นไวยอีกข้างหนึ่ง

มีข้อความตอนหนึ่งที่พระพันวษาพรรณนาลักษณะเปรียบเทียบระหว่างนางสร้อยทองและนางสร้อยฟ้า หากพิจารณาดี ๆ จะพบว่าความเปรียบในตอนนี้สะท้อนให้เห็นทัศนะเกี่ยวกับสตรีของพระพันวษาในอีกแง่มุมหนึ่ง คือนอกจากพระพันวษาจะเห็นผู้หญิงเป็นสมบัติในการครอบครองของผู้ชายแล้ว ยังมองเห็นว่าผู้หญิงที่ดีต้องสงบเสงี่ยม และผู้หญิงที่พูดเก่งและ ‘ควบคุม-บังคับ’ ได้ยากนั้นเป็นผู้หญิงอันตราย สังเกตได้จากความเปรียบ ‘เรือแข่ง’ ‘ม้า’ ‘ช้าง’ ซึ่งเป็นพาหนะที่ต้องควบคุมบังคับด้วยความระมัดระวัง (ตอนที่ 32)


พินิจทรงสร้อยทองละอองพักตร์  นรลักษณ์งามเลิศเฉิดฉัน

ละมุนละม่อมพร้อมพริ้งทุกสิ่งอัน  สมเป็นขวัญของประเทศเขตลาวกาว

ดูสงบเสงี่ยมงามทรามสวาท        มารยาทสนิทสนมสมเป็นสาว

กระนี้ฤาจะมิลือในแดนลาว         จนเชียงใหม่ได้ข่าวเข้าช่วงชิง

แล้วผินพักตร์มาพิศเจ้าสร้อยฟ้า    ดูจริตกิริยากระตุ้งกระติ้ง

ท่าทางท่วงทีก็ดีจริง                จะเสียอยู่แต่สักสิ่งด้วยรายงอน

หูตากลอกกลมคมคายเหลือ        พิศแล้วเบื่อดูได้แต่ร่อนร่อน

จะเปรียบก็เหมือนอย่างนางละคร   งามงอนอ้อนแอ้นบั้นเอวกลม

เพราพริ้งเพรียวเหลือดังเรือแข่ง    กล้องแกล้งพายจิบก็เจียนล่ม

ดูริมฝีปากบางลูกคางกลม          เห็นลาดเลาเจ้าคารมเป็นมั่นคง

ถ้าเป็นม้าก็ม้าขึ้นระวาง           ถ้าเป็นช้างก็ช้างอย่างต้องประสงค์

ถึงจะผูกเครื่องทองเป็นรองทรง     ถ้าคนขี่ไม่ประจงคงเจ็บตัว

สร้อยทองลูกของเจ้าล้านช้าง       ยศอย่างมารยาทจะยังชั่ว

แต่ข้างนางสร้อยฟ้าดูน่ากลัว      กระซิบตรัสแก่เจ้าขรัววรจันทร์

แน่ะขรัวนายท่วงทีอีสองคน        ดูชอบมาพากลฤาไม่นั่น

สร้อยทองดูทำนองจะดีครัน        สร้อยฟ้านั้นท่าทางเหมือนนางละคร

จะเอาไว้เป็นช้างระวางใน           ลองใจขับขี่ดูทีก่อน

ก็นึกกลัวตัวแก่ไม่แน่นอน           ฤาจะควรผันผ่อนประการใด ฯ


ในตอนที่พระพันวษาตัดสินคดีความที่จมื่นไวยลักพานางวันทองแม่ของตัวเองไปอยู่ด้วย หวังจะให้กลับมาอยู่กินกับขุนแผน และขุนช้างถวายฎีกา (ตอนที่ 35) เพื่อร้องเรียน จนกระทั่งนำไปสู่การที่นางวันทองถูกตัดสินประหารชีวิต เพราะอารามตกใจกลัวจึงไม่สามารถตอบคำถามพระพันวษาให้แน่ชัดได้ว่าต้องการจะอยู่กับขุนแผน ขุนช้าง หรือจมื่นไวย

กล่าวตามข้อเท็จจริงในเรื่อง นางวันทองเป็นฝ่ายที่ถูกคร่ากุมตัวไปมาอยู่เป็นระยะๆ จนกระทั่งตนเองถูกประหาร เมื่อเลิกรากับขุนแผนไปอยู่กินกับขุนช้างก็ถูกขุนแผนตามไปฉุดจากบ้านขุนช้างไปอยู่ป่า ต่อมาเมื่อขุนแผนถูกจำคุกก็ถูกขุนช้างฉุดกลับไปเป็นเมียอีกรอบทั้งๆ ที่มีลูกติด จนเมื่อจมื่นไวยมีครอบครัวแล้วก็ตามไปบังคับให้แม่แกลับมาอยู่ด้วย แต่ถึงกระนั้น ในทัศนะของพระพันวษากลับเห็นว่านางวันทองคือ ‘ตัวปัญหา’ ซึ่งเป็นการประณามผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง (victim blaming) แทนที่จะประณามผู้ที่ก่อความรุนแรงต่อเหยื่อ (ตอนที่ 35)


มันเกิดเหตุทั้งนี้ก็เพราะหญิง         จึงหึงหวงช่วงชิงยุ่งยิ่งอยู่

จำจะตัดรากใหญ่ให้หล่นพรู        ให้ลูกดอกดกอยู่แต่กิ่งเดียว

อีวันทองตัวมันเหมือนรากแก้ว     ถ้าตัดโคนขาดแล้วก็ใบเหี่ยว

ใครจะควรสู่สมอยู่กลมเกลียว       ให้เด็ดเดี่ยวรู้กันแต่วันนี้


หากเราอ่าน ‘ขุนช้าง-ขุนแผน’ ตอนที่พระพันวษาสั่งประหารนางวันทองโดยดูเฉพาะความเป็นเหตุเป็นผลกัน ระหว่างการที่วันทองไม่ยอมเลือกไปให้ขาดว่าจะอยู่กับผัวเก่า ผัวปัจจุบัน หรือลูกชาย และการสั่งตัดหัวนางวันทองโดยพระพันวษา เราก็จะเห็นว่าความโลเลของนางวันทองนำมาซึ่งความตาย แต่ถ้าเราพิจารณาชะตากรรมของวันทองที่ต้องยอมรับการใช้อำนาจของผัวและลูกชายมาอย่างต่อเนื่อง การที่นางไม่ตัดสินใจเลือกใครกลับเป็นการเลือกที่มีอิสรภาพที่สุด เพราะการเลือกใครก็เท่ากับว่ายอมตามใจชายคนนั้น การไม่เลือกให้ตรงใจใครเลยแต่บอกกล่าวความรู้สึกของตนเองที่มีต่อชายทั้งสามคือสิ่งที่ตรงใจวันทองมากที่สุด

ในอีกฟากหนึ่ง หากเราพิจารณาว่าการที่พระพันวษาลงโทษวันทองคือผลของความโกรธในความโลเลของวันทอง เราก็อาจจะเห็นการสั่งประหารวันทองมีที่มาจากคำพูดของวันทองเอง แต่ถ้าเรามองเห็นเค้าโครงในทัศนะเกี่ยวกับผู้หญิงชองพระพันวษาและแบบแผนในการลงทัณฑ์ของพระองค์ที่กระทำต่อคนที่ทำให้พระองค์กริ้ว เราก็จะเห็นความสม่ำเสมอในวิธีการพิจารณาคดีของพระพันวษา และมองเห็นทัศนะรังเกียจสตรี (misogyny) ของพระพันวษา ที่เห็นผู้หญิงเป็นสมบัติ เป็นสิ่งอันตราย เป็นรากเหง้าของความขัดแย้ง และเป็นสิ่งที่ต้องทำลายหากมีความประพฤติเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมชายเป็นใหญ่ (ตอนที่ 35)


ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ           ฟังจบแค้นคั่งดังเพลิงไหม้

เหมือนดินประสิวปลิวติดกับเปลวไฟ         ดูดู๋เป็นได้อีวันทอง

จะว่ารักข้างไหนไม่ว่าได้           น้ำใจจะประดังเข้าทั้งสอง

ออกนั้นเข้านี้มีสำรอง       ยิ่งกว่าท้องทะเลอันล้ำลึก

จอกแหนแพเสาสำเภาใหญ่         จะทอดถมเท่าไรไม่รู้ลึก

เหมือนมหาสมุทรสุดซึ้งซึก          น้ำลึกเหลือจะหยั่งกระทั่งดิน

อิฐผาหาหาบมาทุ่มถม              ก็จ่อมจมศูนย์หายไปหมดสิ้น

อีแสนถ่อยจัญไรใจทมิฬ           ดังเพชรนิลเกิดขึ้นในอาจม

รูปงามนามเพราะน้อยไปหรือ      ใจไม่ซื่อสมศักดิ์เท่าเส้นผม

แต่ใจสัตว์มันยังมีที่นิยม           สมาคมก็แต่ถึงฤดูมัน

มึงนี้ถ่อยยิ่งกว่าถ่อยอีท้ายเมือง    จะเอาเรื่องไม่ได้สักสิ่งสรรพ์

ละโมบมากตัณหาตาเป็นมัน         สักร้อยพันให้มึงไม่ถึงใจ

ว่าหญิงชั่วผัวยังคราวละคนเดียว    หาตามตอมกันเกรียวเหมือนมึงไม่

หนักแผ่นดินกูจะอยู่ไย     อ้ายไวยมึงอย่านับว่ามารดา

กูเลี้ยงมึงถึงให้เป็นห้าหมื่น คนอื่นรู้ว่าแม่ก็ขายหน้า

อ้ายขุนช้างขุนแผนทั้งสองรา      กูจะหาเมียให้อย่าอาลัย

หญิงกาลกิณีอีแพศยา      มันไม่น่าเชยชิดพิสมัย

ที่รูปรวยสวยสมมีถมไป    มึงตัดใจเสียเถิดอีคนนี้

เร่งเร็วเหวยพระยายมราช ไปฟันฟาดเสียให้มันเป็นผี

อกเอาขวานผ่าอย่าปรานี  อย่าให้มีโลหิตติดดินกู

เอาใบตองรองไว้ให้หมากิน       ตกดินจะอัปรีย์กาลีอยู่

ฟันให้หญิงชายทั้งหลายดู  สั่งเสร็จเสด็จสู่ปราสาทชัยฯ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save