fbpx
รัฐธรรมนูญคณะราษฎรในประวัติศาสตร์ (กฎหมาย) กษัตริย์นิยม

รัฐธรรมนูญคณะราษฎรในประวัติศาสตร์ (กฎหมาย) กษัตริย์นิยม

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

“อำนาจเก่าที่ยังไม่หายไป อำนาจใหม่ที่ยังไม่ตั้งมั่น”[1]

ภายหลังจากการอภิวัฒน์สยามเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้มีความพยายามในการสร้างระบอบการปกครองที่ ‘กษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย’ โดยมีการสถาปนารัฐธรรมนูญให้กลายเป็นกฎหมายสูงสุดเหนือกว่าอำนาจอื่นใด

คณะราษฎรในฐานะขององค์กรนำท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้มีบทบาทต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญที่บังเกิดขึ้น จวบจนกระทั่งการสูญเสียอำนาจนำทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 2490 หรือกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรได้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างมากปรากฏให้เห็นในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ กล่าวคือ

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม 2475, รัฐธรรมนูญ 2475 (10 ธันวาคม) และรัฐธรรมนูญ 2489

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ที่ “อำนาจเก่ายังไม่หายไป อำนาจใหม่ยังไม่ตั้งมั่น” ทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการต่อรอง ต่อสู้ และการช่วงชิงความหมายระหว่างฝ่ายต่างๆ กล่าวได้ว่าคณะราษฎรเป็นกลุ่มที่มีอำนาจนำเหนือกว่ากลุ่มการเมืองอื่นในห้วงเวลาดังกล่าว แต่บทบาทของคณะราษฎรในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับก็อาจมีน้ำหนักและความหมายที่แตกต่างกันไป

ธรรมนูญการปกครองฯ 2475 ถือกำเนิดภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การจัดทำจึงอยู่ภายใต้อุดมการณ์ของคณะราษฎรเป็นสำคัญ แต่เมื่อทูลเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มีการเพิ่มเติมคำว่า ‘ชั่วคราว’ เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2475 เป็นจังหวะแห่งการ ‘รอมชอม’ ระหว่างคณะราษฎรและฝ่ายกษัตริย์นิยม ซึ่งพิจารณาได้จากบุคคลที่มีส่วนในการจัดทำรัฐธรรมนูญและกระบวนการในการจัดทำ รวมทั้งได้มีการอธิบายว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก”[2]

ส่วนรัฐธรรมนูญ 2489 เกิดขึ้นภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในจังหวะที่คณะราษฎรภายใต้การนำของปรีดี พนมยงค์ ต้องการประนีประนอมกับฝ่ายต่างๆ รวมทั้งฝ่ายกษัตริย์นิยม และได้มีการแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์สามารถกลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้ ภายหลังจากที่ถูกจัดวางสถานะไว้ให้ ‘อยู่เหนือการเมือง’ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2475 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม คณะราษฎรก็ยังคงมีอิทธิพลต่อการออกแบบโครงสร้างทางการเมืองอยู่อย่างมาก

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับก็จะสามารถพบถึงหลักการพื้นฐานร่วมกันที่ดำรงอยู่ในรัฐธรรมนูญเหล่านี้ได้ โดยหลักการสำคัญมีดังต่อไปนี้

ประการแรก อำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร หลักการดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ประชาชนคือที่มาของความชอบธรรมพื้นฐานทางการเมือง การดำรงอยู่และอำนาจหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้

ประการที่สอง รัฐสภาถือเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจเหนือกว่าสถาบันการเมืองอื่นๆ (the supremacy of the parliament) โดยเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญของการใช้อำนาจอธิปไตย ในด้านของฝ่ายบริหารก็จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและตรวจสอบของรัฐสภา เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือคณะ การลงมติไม่ไว้วางใจในนโยบายของรัฐบาล เป็นต้น ในด้านของฝ่ายนิติบัญญัติ การตรากฎหมายเป็นบทบาทหลักของรัฐสภา หากฝ่ายบริหารตราพระราชกำหนดขึ้นบังคับใช้ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาในภายหลัง จึงจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายอย่างสมบูรณ์

ประการที่สาม การมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภาวางอยู่บนเงื่อนไขพื้นฐานว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภาแบบเดี่ยวหรือรัฐสภาแบบคู่ เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องมาจากการเลือกตั้งและมีอำนาจมากกว่าวุฒิสภา (หรือพฤฒสภา) การเลือกตั้งถูกพิจารณาว่าเป็นกลไกสำคัญในการคัดเลือก ‘ผู้แทน’ ให้เข้าทำหน้าที่แทนประชาชน และเป็นการใช้สิทธิเพื่อกำหนดอนาคตของตนเอง (self determination) ของประชาชนโดยไม่ปล่อยให้อำนาจอื่นใดมาเป็นผู้มีอำนาจเหนือในการกำหนดชะตากรรม

ประการที่สี่ พระมหากษัตริย์จะดำรงอยู่ในสถานะ ‘เหนือการเมือง’ อันมีความหมายว่าพระองค์จะไม่มีบทบาทในทางการเมือง การใช้อำนาจใดๆ ของพระมหากษัตริย์จะต้องมีบุคคลลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว สถานะดังกล่าวจึงสอดคล้องกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบบรัฐสภาซึ่งวางหลักการว่า King can do no wrong หรือ “พระมหากษัตริย์ไม่อาจกระทำผิด” ในระยะเริ่มต้นของระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้รวมถึงการห้ามมิให้พระบรมวงศานุวงศ์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในทางการเมือง ก่อนที่จะเปิดกว้างให้สามารถเข้ามามีบทบาทได้ในรัฐธรรมนูญ 2489

 

‘รื้อสร้าง’ ความหมายโดยฝ่ายกษัตริย์นิยม

 

ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสำคัญในทศวรรษ 2490 การรัฐประหารที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2490 ถือเป็นระยะเวลาที่อำนาจนำของคณะราษฎรได้เสื่อมคลายลงพร้อมกับการก้าวขึ้นสู่อำนาจของคณะนายทหาร รวมถึงบุคคลที่อยู่ในฝ่ายกษัตริย์นิยมก็ได้กลับมาแสดงบทบาทในทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับการนำเสนออุดมการณ์ที่ให้ความสำคัญกับพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันที่มีความหมายและความสำคัญสำหรับสังคมไทยอย่างยิ่ง

การปรากฏตัวของฝ่ายกษัตริย์นิยมได้เสนอมุมมองและความเข้าใจต่อการอภิวัฒน์ 2475 ที่แตกต่างออกไป ดังความพยายาม ‘รื้อถอน’ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ให้มีความหมายว่าเป็นการกระทำที่นำมาซึ่งความมืดมนอนธการ ส่วนรัฐประหาร 2490 เป็นการนำมาซึ่ง ‘วันใหม่ของชาติ’[3] เป็นต้น ในส่วนของประวัติศาสตร์กฎหมายก็ได้มีการปรับเปลี่ยนความหมายของการอภิวัฒน์และรวมถึงความหมายของรัฐธรรมนูญที่ได้ถูกจัดทำขึ้นนับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา

หากพิจารณาในทางขอบเขตความรู้ทางด้านนิติศาสตร์ นักกฎหมายจำนวนหนึ่งได้มีบทบาทอย่างมากต่อการสร้างประวัติศาสตร์กฎหมายแบบ ‘กษัตริย์นิยม’ นับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เช่น พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์, หลวงสุทธิวาทนฤพุฒิ, พระยามานวราชเสวี, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นต้น กล่าวโดยรวม แนวความคิดของนักกฎหมายกษัตริย์นิยมจะพิจารณาความหมายของการอภิวัตน์ไปในทิศทางที่นำมาสู่ความเสื่อม และให้คำอธิบายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงสังคมไทยก็มีระบบกฎหมายที่มีความเป็นธรรมดำรงอยู่มาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในบรรดานักกฎหมายกษัตริย์นิยมดังกล่าว ม.ร.ว.เสนีย์ นับได้ว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความหมายทางประวัติศาสตร์กฎหมายแนวกษัตริย์นิยมได้อย่างชัดเจน และอาจถือได้ว่า ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นผู้เสนอกรอบความคิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก เขาได้มีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่เป็นจำนวนมาก ผลงานสำคัญปรากฏอยู่ในงาน 3 ชิ้น ดังนี้ คิงมงกุฎในฐานะทรงเป็นนักนิติศาสตร์ (พ.ศ. 2492)[4] ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. 2509)[5] กฎหมายสมัยอยุธยา (พ.ศ. 2510)[6] โดยเนื้อหาของงานทั้งสามชิ้นจะเป็นการทำความเข้าใจรูปแบบการปกครองในประวัติศาสตร์ของไทยใน 3 ช่วงเวลาตามโครงร่างประวัติศาสตร์กฎหมายกระแสหลักซึ่งพิจารณาความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์โดยอิงกับพระมหากษัตริย์ เริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์

ผลงานที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากภายหลังจากที่ได้มีการนำเสนอต่อสาธารณะก็คือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในวารสารดุลพาหะสองฉบับติดต่อกันเมื่อต้น พ.ศ. 2509 ประเด็นหัวใจสำคัญของงานชิ้นนี้ก็คือการเสนอว่า “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย เทียบได้ไม่ต่างกับแม็กนาคาร์ตา (Magna Carta – ผู้เขียน) ของพระเจ้าจอห์นที่ออกมาในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งคนอังกฤษถือกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของเขา”[7]

ม.ร.ว.เสนีย์ ชี้ให้เห็นว่าหากเปรียบเทียบกับเอกสารทางการเมืองที่ปรากฏขึ้นในการปฏิวัติแล้ว ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมีความแตกต่างอย่างมากเพราะเอกสารที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นมักมีการ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ เจือปนอยู่

“บรรดาเอกสารทางการเมืองที่เขียนขึ้น ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้นน้อยนักที่จะหาอันไหนอิงความจริงและเทิดทูนบ้านเมืองตลอดจนประชาชนพลเมืองได้เท่าเทียมศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เอกสารการเมืองที่ประกาศใช้ในการปฏิวัติล้มเลิกระบบการเมืองเก่า เช่น ประกาศอิสรภาพของอเมริกาประกาศในคริสต์ศตวรรษที่ 18 หรือประกาศคณะกรรมการราษฎรเมื่อ พ.ศ. 2475 ในเมืองไทยนี้เอง เหล่านี้เมื่อเป็นเอกสารการพลิกแผ่นดินจึงมักจะมีการใช้โฆษณาชวนเชื่อเจือปน เพื่อโน้มนำให้คนทั้งหลายเห็นด้วยกับการพลิกแผ่นดินนั้นๆ”[8]

ขณะที่ศิลาจารึกเป็นการ “ประกาศปีติอุทานความเลื่อมใสในบ้านเมืองและประชาชน” ของผู้ปกครองด้วยใจรักและเอ็นดู

“ประกาศปฏิญญาของพ่อขุนรามคำแหงไม่ใช่ประกาศคณะปฏิวัติรัฐประหาร ไม่ใช่เอกสารทางการเมืองที่ขุนนางหรือราษฎรบังคับให้พระเจ้าแผ่นดินเซ็นเหมือนแมกนาคาร์ตาของพระเจ้าจอห์น แต่เป็นปฏิญญาของผู้ปกครองบ้านเมือง ประกาศปีติอุทานความเลื่อมใสในบ้านเมืองและประชาชนพลเมืองของตนเอง เป็นการที่พ่อเมืองประสิทธิ์ประสาทสิทธิเสรีภาพให้แก่ลูกเมือง โดยอำเภอใจด้วยใจรักและเอ็นดู”[9]

ไม่เพียงชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างศิลาจารึกกับเอกสารทางการเมืองของตะวันตก ในทรรศนะของเขาเป็นที่ชัดเจนว่าศิลาจารึกมีความเหนือกว่าทั้งในแง่ที่ไม่มีการโฆษณาชวนเชื่อ และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ปกครองได้กระทำขึ้นด้วย “ใจรักและเอ็นดู” ดังนั้น ในประสบการณ์ของ ม.ร.ว.เสนีย์ แล้ว “เอกสารทางการเมืองเช่นนี้ ข้าพเจ้ายังไม่เคยพบเห็น”[10]

หากพิจารณาในแง่มุมนี้ ปฐมรัฐธรรมนูญของไทยจึงมิใช่ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองสยามฯ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากการอภิวัฒน์เมื่อ พ.ศ. 2475 แต่สังคมไทยมีรัฐธรรมนูญมาเป็นระยะเวลานานแล้วและก็ยังเกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับ Magna Carta ที่เกิดขึ้นในอังกฤษใน ค.ศ. 1215 รวมทั้งพระมหากษัตริย์เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการ “ประสิทธิ์ประสาท” ให้เกิดขึ้น อันแตกต่างไปจากที่เกิดขึ้นในอังกฤษซึ่งพระมหากษัตริย์จำใจต้องกระทำจากการบีบบังคับของขุนนาง

ไม่ใช่แต่เพียงการอธิบายถึงศิลาจารึกในฐานะของปฐมรัฐธรรมนูญของไทยเท่านั้น งานของ ม.ร.ว.เสนีย์ ยังได้แสดงให้เห็นว่ากฎหมายของไทยมีลักษณะที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการจำกัดอำนาจของผู้ปกครองเป็นอย่างมาก เขาได้อธิบายว่าแม้กระทั่งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังมีกฎหมายที่จำกัดการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ ด้วยการตราไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่าถ้าพระมหากษัตริย์วินิจฉัยราชการต่างๆ โดยมิชอบ ให้เจ้าพนักงานทัดทานได้ถึง 3 ครั้ง และหากยังไม่รับฟังก็ยังมิให้ปฏิบัติตามพระราชวินิจฉัย หากให้ทัดทานในที่รโหฐานอีกครั้ง หากยังไม่รับฟังจึงค่อยปฏิบัติตาม[11] หรือกรณีที่ทรงโกรธและเรียกหาพระแสงดาบ กฎหมายก็ห้ามเจ้าพนักงานถวาย หากมีการฝ่าฝืนแล้วโทษของเจ้าพนักงานนั้นถึงตาย[12]

คำอธิบายในลักษณะเช่นนี้เป็นการตอบโต้ต่อฝ่ายคณะราษฎรที่พยายามสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นแทนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเป็นการยืนยันถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ว่าเป็นผู้ทรงคุณธรรมในการปกครอง อีกทั้งยังมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนทั้งในด้านการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและในด้านการจำกัดอำนาจในการปกครอง พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจในการปกครองก็เป็นไปเพื่อความสงบร่มเย็นมิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแต่อย่างใด

หากเป็นไปตามแนวทางคำอธิบายประวัติศาสตร์กฎหมายแบบกษัตริย์นิยมแล้ว การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ย่อมมิใช่เป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความเจริญของชาติแต่อย่างใด รวมทั้งการสถาปนารัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสูงสุดก็อาจนำไปสู่ความเสื่อมได้เช่นเดียวกัน เฉพาะอย่างยิ่งหากได้บุคคลที่ไม่มีคุณธรรมมาเป็นผู้ปกครอง

“ไม่จำเป็นว่าการปกครองที่ดีนั้น จะต้องเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ขอแต่ให้เป็นการปกครองที่ดี ช่วยดับทุกข์อำนวยสุขแก่ประชาชนเท่านั้นก็พอแล้ว บ้านเมืองไทยก้าวหน้ามาได้อย่างรวดเร็วเป็นพิศดาร ในสมัยเมื่อยังมีพระมหากษัตริย์ทรงสมบูรณาญาสิทธิราช ก็เพราะได้ทรงบำเพ็ญลัทธิพ่อเมือง ปกครองไพร่ฟ้าประชาชนด้วยความเอ็นดูเหมือนบุตร บ้านเมืองจึงอยู่เย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล”[13]

คำอธิบายประวัติศาสตร์กฎหมายแบบกษัตริย์นิยมได้ถูกอธิบายในทศวรรษ 2490 โดยงานของ ม.ร.ว.เสนีย์ ได้เริ่มต้นในห้วงเวลาดังกล่าวและในทศวรรษต่อมา แนวทางคำอธิบายในลักษณะเช่นนี้ได้นำเสนอแนวความคิดที่แตกต่างไปจากคำอธิบายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง 2475 และเป็นการให้ความหมายที่ลดทอนคุณค่าและความหมายของสถาบันการเมืองที่สัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญภายใต้การผลักดันของคณะราษฎร หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นมุมมองที่ยืนอยู่คนละด้านกับอุดมการณ์ที่สืบเนื่องกับการอภิวัฒน์อย่างสำคัญ

 

อุดมการณ์เก่าที่ยังคงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยไทย

 

ประวัติศาสตร์กฎหมายแนวกษัตริย์นิยมได้ถูกเผยแพร่อย่างมากนับจากทศวรรษ 2490 และกลายเป็นแนวความคิดสำคัญประการหนึ่งในแวดวงทางด้านความรู้ของนิติศาสตร์ในสังคมไทย หากกล่าวโดยสรุป ประวัติศาสตร์แนวกษัตริย์นิยมได้วางรากฐานทางความคิดที่สำคัญ ดังนี้

ประการแรก ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่มีความสำคัญมากเท่ากับการได้ผู้ปกครองที่ดี ซึ่งสังคมไทยมีความแตกต่างจากสังคมตะวันตกเพราะมีกษัตริย์ที่ดีมานับตั้งแต่อดีตในสมัยสุโขทัยและสืบเนื่องต่อมาในภายหลัง

ประการที่สอง ในกรณีที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญ สังคมไทยก็มีรัฐธรรมนูญมาในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการเกิดขึ้นของ Magna Carta โดยปฐมรัฐธรรมนูญของไทยคือศิลาจารึกซึ่งกำเนิดขึ้นโดยพ่อขุนรามคำแหง ในสมัยสุโขทัย ศิลาจารึกมีสถานะเป็น ‘สัญญาประชาคม’ มีผลใช้บังคับให้พระมหากษัตริย์ต้องปฏิบัติตาม ปฐมรัฐธรรมนูญของไทยจึงควรนับที่ศิลาจารึกมิใช่ธรรมนูญการปกครองฯ 2475

ประการที่สาม แม้สังคมไทยจะอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่พระมหากษัตริย์ก็ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎรด้วยความเอ็นดูด้วยความต้องการให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข มีบทบัญญัติของกฎหมายที่จำกัดการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ไม่ให้เป็นไปโดยมิชอบหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้คน คุณวิเศษของผู้ปกครองจึงมีความสำคัญอย่างมาก (มากกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน) ต่อการจรรโลงความร่มเย็นเป็นให้เกิดขึ้น แน่นอนว่าคุณลักษณะอันพิเศษเช่นนี้ปรากฏอยู่ก็เฉพาะแต่ในสถาบันพระมหากษัตริย์มิใช่ในหมู่นักการเมือง

หากพิจารณาจากแนวความคิดที่ประวัติศาสตร์แนวกษัตริย์นิยมได้นำเสนอ ย่อมสะท้อนให้เห็นได้ว่ามีความแตกต่างไปจากแนวความคิดที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญภายใต้อิทธิพลของคณะราษฎรทั้งสามฉบับ การพลิกเปลี่ยนมุมมองและคำอธิบายดังกล่าวไม่ได้เป็นความเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น และยังกลายเป็นกระแสความคิดที่มาท้าทายต่อแนวความคิดที่ขยายตัวมากับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวความคิดทางประวัติศาสตร์กฎหมายแบบกษัตริย์นิยมได้ส่งผลและมีอิทธิพลต่อแนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญไม่น้อย และไม่ได้จำกัดไว้เพียงในห้วงเวลาดังกล่าวหากสืบเนื่องต่อมาอีกยาวนาน

คำถามสำคัญก็คือว่าแนวความคิดเช่นนี้ได้ส่งผลต่อความเข้าใจถึงสถานะ ความหมาย และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญและสถาบันพระมหากษัตริย์มากน้อยเพียงใด ในแง่มุมแบบใด เพราะความเข้าใจดังกล่าวมีผลสืบเนื่องถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนสังคมไทยในการก้าวไปสู่สังคมที่ต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงมากยิ่งขึ้นในห้วงเวลาปัจจุบันอย่างสำคัญ

 

 


[1] ถ้อยคำดังกล่าวหยิบยืมมาจากของ อาสา คำภา, การเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495 – 2535, ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2563, หน้า 50

[2] “คำแถลงของประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” ใน รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 34/2475 (วิสามัญ) พุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 359 – 360

[3] ใน อัตตชีวประวัติ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร อ้างใน ณัฐพล ใจจริง, ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475 – 2500), (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556) หน้า 169

[4] เสนีย์ ปราโมช, คิงมงกุฎ ในฐานะทรงเป็นนักนิติศาสตร์ (พระนคร: สหอุปกรณ์การพิมพ์, 2492) งานชิ้นนี้มาจากปาฐกถาของ ม.ร.ว.เสนีย์ ที่ได้แสดงเป็นภาษาอังกฤษ ณ สยามสมาคม เมื่อ พ.ศ. 2492 สำหรับการอ้างอิงในงานชิ้นนี้จะใช้ฉบับที่พิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน เมื่อ พ.ศ. 2558

[5] เสนีย์ ปราโมช, “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง”, ดุลพาหะ ปีที่ 13 เล่ม 2 (กุมภาพันธ์ 2509) หน้า 15 – 62 และเล่ม 3 (มีนาคม 2509) หน้า 22 – 52 บทความดังกล่าวมาจากปาฐกถาของ ม.ร.ว.เสนีย์ ซึ่งได้แสดง ณ หอประชุมคุรุสภา เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2508 ภายหลังจากนั้นได้นำมาพิมพ์เผยแพร่ในวารสารฉบับนี้มีความยาว 2 ตอนจบ

[6] เสนีย์ ปราโมช, ปาฐกถาเรื่อง กฎหมายสมัยอยุธยา, พิมพ์ครั้งแรก (คณะกรรมการจัดงานอนุสรณ์อยุธยา, 2510) หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงมาจากปาฐกถาของ ม.ร.ว.เสนีย์ ซึ่งได้แสดง ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี พระนคร เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2510 สำหรับการอ้างอิงในงานชิ้นนี้จะใช้ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน เมื่อ พ.ศ. 2559

[7] เสนีย์ ปราโมช, “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง”, ดุลพาหะ ปีที่ 13 เล่ม 2 (กุมภาพันธ์ 2509) หน้า 21

[8] เสนีย์ ปราโมช, “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง”, ดุลพาหะ ปีที่ 13 เล่ม 2 (กุมภาพันธ์ 2509) หน้า 25

[9] เสนีย์ ปราโมช, “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง”, ดุลพาหะ ปีที่ 13 เล่ม 2 (กุมภาพันธ์ 2509) หน้า 26

[10] เสนีย์ ปราโมช, “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง”, ดุลพาหะ ปีที่ 13 เล่ม 2 (กุมภาพันธ์ 2509) หน้า 26

[11] เสนีย์ ปราโมช, ปาฐกถาเรื่อง กฎหมายสมัยอยุธยา, พิมพ์ครั้งแรก (คณะกรรมการจัดงานอนุสรณ์อยุธยา, 2510) หน้า 163

[12] เสนีย์ ปราโมช, ปาฐกถาเรื่อง กฎหมายสมัยอยุธยา, พิมพ์ครั้งแรก (คณะกรรมการจัดงานอนุสรณ์อยุธยา, 2510) หน้า 164

[13] เสนีย์ ปราโมช, “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง”, ดุลพาหะ ปีที่ 13 เล่ม 2 (กุมภาพันธ์ 2509) หน้า 25

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save