fbpx
วิกฤตประชาธิปไตยอเมริกา: จาก Black Lives Matter สู่ศึกชิงทำเนียบขาว กับ กัลยา เจริญยิ่ง

วิกฤตประชาธิปไตยอเมริกา: จาก Black Lives Matter สู่ศึกชิงทำเนียบขาว กับ กัลยา เจริญยิ่ง

กองบรรณาธิการ เรียบเรียง

 

ความตายของจอร์จ ฟลอยด์ สั่นสะเทือนการเมืองเรื่องสีผิวในสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรง อะไรคือที่มาที่ไปของความขัดแย้งอันร้าวลึกไม่รู้จบ วิกฤตการเมืองครั้งนี้เปิดให้เห็นประเด็นและข้อถกเถียงใหม่ของปัญหาประชาธิปไตยในอเมริกาอย่างไร และนับจากนี้ศึกชิงทำเนียบขาว 2020 ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดน จะพลิกโฉมหน้าไปอย่างไร

101 สนทนากับ ดร.กัลยา เจริญยิ่ง ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรายการ 101 One-on-One Ep.152 : “วิกฤตประชาธิปไตยอเมริกา: จาก Black Lives Matter สู่ศึกชิงทำเนียบขาว”

 

 

:: ประวัติศาสตร์การเหยียดผิว ที่เกิดขึ้นพร้อมนโยบายจัดการวิกฤต ::

 

 

หลายคนชอบเทียบเหตุการณ์การประท้วงปี 2020 #blacklivesmatter กับปี 1968 ที่มีการประท้วงและเหตุการณ์จลาจล ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ในปี 1968 จะเกิดขึ้นหลังจากคนผิวสีสามารถเลือกตั้งได้ แต่รากฐานของการเหยียดผิวฝังลึกมานานในประวัติศาสตร์อเมริกา

ในอดีต เมื่อเกิดวิกฤตสงครามกลางเมือง และวิกฤตเศรษฐกิจ The great depression ผู้นำจะมีบทบาทมาก รัฐบาลกลางสามารถแก้ไขปัญหาระดับประเทศได้ ปัญหาในยุค The great depression แก้ไขโดยประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ โดยการออกนโยบาย New Deal เป็นนโยบายที่มีบทบาทมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือ นโยบายนี้เหยียดสีผิวอย่างรุนแรง และทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนผิวดำและคนผิวขาวมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นนโยบายกระตุ้นให้คนมีงานทำ แต่พุ่งเป้าไปที่คนผิวขาวเท่านั้น ขณะที่คนผิวดำในยุคนั้นจะทำงานในไร่

สมัยก่อนคนผิวสีจะถูกแบ่งแยกทั้งโรงเรียน ที่นั่งบนรถเมล์ รวมไปถึงที่อยู่อาศัย การแบ่งแยกที่อยู่อาศัยนี้มีมาตั้งแต่สมัยสร้างประเทศ เมื่อมีการซื้อขายบ้าน และเกิดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พื้นที่ที่คนผิวดำอยู่รวมกันจะถูกมาร์กด้วยปากกาสีแดง เป็นพื้นที่ที่รู้กันว่าห้ามให้กู้ยืมเงิน เพราะถ้าให้คนสีผิวกู้ อาจจะไม่ได้เงินคืน เรียกกันว่า ‘Red Lining’ คนผิวสีจึงไม่สามารถกู้เงินมาพัฒนาพื้นที่ได้ เมื่อสังคมพัฒนามาเรื่อยๆ กลุ่มการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ (civil rights movement) ก็เริ่มเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกัน และสิทธิในการเลือกตั้ง จนเข้าสู่ยุคของประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน จากพรรคเดโมแครต

เมื่อเกิดการจลาจลในปี 1968 ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน จึงให้มีการตั้ง Kerner Commission เพื่อทำรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้ง รายงานออกมาชี้ว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีสองสังคม สังคมผิวขาวและผิวดำ โดยประเด็นเหยียดผิวทำให้เกิดการประท้วงและการจลาจลครั้งนี้ สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ลินดอน บี. จอห์นสัน ไม่ยอมรับข้อเสนอเท่าไหร่ แต่รายงานนี้ก็มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในอเมริกา ในสภาคองเกรสและสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นก็เป็นพรรคเดโมแครตเหมือนกัน จึงสามารถผ่านนโยบายของพรรคที่พยายามระบุปัญหาและแก้ไขความไม่ยุติธรรมในอดีต เช่น การทำให้นโยบายแยกที่อยู่ของคนดำ และการที่แบงค์ไม่ให้เงินกู้ กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

 

:: ความรุนแรงที่กระทำโดยตำรวจ ::

 

 

หลังจากอเมริกามีนโยบายแก้ไขปัญหาให้คนผิวดำเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ แก้ไขการกู้เงินธนาคารได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน ไม่ลงเลือกตั้งสมัยต่อไป สมัยต่อไปเป็นของริชาร์ด นิกสัน ที่ใช้นโยบาย Law and Order และเป็นนโยบายที่ถูกทรัมป์พยายามนำมาใช้อีกในยุคนี้

ในยุคนิกสัน Law and Order  ได้ผลเพราะนิกสันบอกว่า มีคนส่วนใหญ่ในประเทศที่ไม่ออกมาแสดงความเห็นว่าต้องการอะไร แต่แน่นอนว่าพวกเขาไม่ต้องการเจอวิกฤต ไม่ต้องการสงครามกลางเมืองอีกแล้ว แต่ต้องการกฎหมายที่บังคับใช้ สร้างระเบียบและวินัย แต่ Law and Order ของนิกสันไปทำให้ฝ่ายตำรวจหรือฝ่ายดูแลความสงบค่อยๆ มีอำนาจมากขึ้น จากที่ตำรวจก็ใช้ความรุนแรงตั้งแต่ยุคก่อนแล้ว

ในอเมริกาก็มีอีกนโยบาย (war on drugs) สงครามต่อต้านยาเสพติด ซึ่งนโยบายนี้ให้อำนาจตำรวจเยอะมาก พอเป็นเรื่องยาเสพติด แม้ว่าคนขาวจะมีปัญหาเรื่องยาเสพติดเหมือนกัน แต่ความเหยียดผิวยังมี ประเด็นปัญหาก็เลยไปอยู่ที่คนผิวสี หรือคนละติน

ภายหลังอเมริกามีคอนเซ็ปต์เศรษฐกิจการเมืองของความมั่นคง ถ้าดูข่าวตอนนี้จะเห็นตำรวจถืออาวุธคล้ายอาวุธสงคราม สวมชุดเหมือนจะไปรบที่ไหน พวกกลุ่มค้าอาวุธมักจะขายให้อเมริกาไปใช้รบกับประเทศอื่น แต่ อาวุธเหล่านี้กลับถูกนำมาให้ตำรวจซื้อ และเกี่ยวข้องกับงบประมาณของตำรวจด้วย ยกตัวอย่าง เมืองนิวยอร์กจัดสรรงบประมาณให้ตำรวจ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภาพจึงออกมาเป็นตำรวจมีอาวุธทันสมัยครบมือ ทั้งที่ผู้คนประท้วงอย่างสันติ

งบประมาณที่เยอะขนาดนี้ทำให้ไม่สามารถนำงบประมาณมาใช้กับอย่างอื่นที่ทำให้กลุ่มต่างๆ เช่น คนสีผิว คนชาติพันธุ์อื่น เข้าถึงสวัสดิการทั้งหลาย ทั้งโรงเรียน หรือสวนสาธารณะ นี่คือที่มาว่าทำไมผู้ประท้วงใช้คำว่า “defund the police” (ตัดงบตำรวจซะ!) ซึ่งตอนนี้นิวยอร์กก็กำลังเสนอให้ตัดงบตำรวจ 1 พันล้านเหรียญ จาก 6 พันล้านเหรียญ แล้วให้นำงบนี้ไปสนับสนุนโรงเรียน สาธารณูปโภคทั้งหลาย และให้คนสีผิวและชาติพันธุ์อื่นเข้าถึงสวัสดิการ และมีแนวคิดใหม่ว่าตำรวจไม่ควรจะรุนแรงขนาดนี้ ไม่ควรจะมีเหตุอะไรก็ชักปืนยิง ควรจะมีวิธีเกลี้ยกล่อมอย่างอื่นด้วย

 

:: กระแสโต้กลับ และการโจมตีหน่วยงานต่างๆ ของรีพับลิกัน ::

 

 

ในยุคของริชาร์ด นิกสัน และ โรนัลด์ เรแกน เกิดกระแสโต้กลับ มีคนผิวขาวที่มองว่าก่อนหน้านั้นรัฐบาลไปอุ้มคนผิวดำมากเกินไป ทำไมต้องช่วยคนผิวดำด้วย ฉันก็จนเหมือนกันทำไมฉันไม่ได้ จึงมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคเดโมแครต เพราะเดโมแครตเป็นคนผ่านนโยบายช่วยเหลือคนผิวดำ ถ้ามองคู่ขนานไปกับยุคของทรัมป์ จะเห็นว่าก่อนหน้านี้อเมริกามี บารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดีผิวดำ มันก็เกิดกระแสโต้กลับ ในยุคโอบามามีนโยบายอะไร ทรัมป์พยายามกำจัดนโยบายพวกนั้นออกไปหมด

นอกจากนี้ อเมริกาโดยเฉพาะพรรคริพับลิกันและทรัมป์ จะชอบต่อต้านสถาบันต่างๆ ที่มีผู้เชี่ยวชาญกำกับดูแล เช่น ศูนย์ควบคุมโรคที่ต้องดูแลเกี่ยวกับโรคระบาด ทรัมป์ไม่ให้ออกมามีบทบาทเลย ซึ่งพรรคริพับลิกันทำแบบนี้มานานแล้ว และมีแนวโน้มที่จะผลักให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดการบริหารเรื่องต่างๆ แทน ซึ่งมันมาควบคู่กับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ พูดง่ายๆ คือไม่ให้รัฐบาลกลางมีบทบาทอะไรเลย และปล่อยให้ภาคเอกชน หรือรัฐบาลมลรัฐเป็นคนจัดการ

ในบริบทของเสรีนิยมใหม่ คุกและโรงเรียนก็ถูกบริหารจัดการโดยเอกชน การบริหารจัดการโดยเอกชนทำให้มีไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่รวย สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วอเมริกาถือเป็นประเทศที่มีผู้ต้องขังมากที่สุดในโลก และส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำ บางมลรัฐ ผู้ต้องขังไม่สามารถเลือกตั้งได้ ทำให้คนที่สามารถเลือกตั้งได้ยิ่งน้อยลง ขณะที่พรรคริพับลิกันโจมตีระบบผู้เชี่ยวชาญ ทรัมป์ก็พยายามโจมตีระบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย โดยออกมาพูดว่ามีการโกงการเลือกตั้ง แต่ผลสำรวจออกมาแล้วว่าไม่ได้มีการโกงเกิดขึ้น คือทรัมป์กุเรื่องขึ้นมา เพื่อไม่ให้คนสามารถไปเลือกตั้ง นี่คือวิธีที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยถอยหลัง

ในสหรัฐอเมริกา คนแบบทรัมป์มีเยอะมาก คือคนผิวขาวที่เหยียดผิว มีการศึกษาดี และพยายามคงไว้ซึ่งอำนาจของคนผิวขาว หลายๆ เมืองก็อยู่อย่างแยกกัน คือคนผิวดำอยู่พื้นที่หนึ่ง คนผิวขาวอยู่อีกพื้นที่หนึ่ง ในที่นี้จะเห็นภาพว่าทรัมป์ไม่แคร์ ทรัมป์ต่อว่าผู้ว่าการรัฐ และนายกเทศมนตรีว่า ถ้าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในรัฐได้ เดี๋ยวจะส่งทหารไปเอง ซึ่งเอาจริงๆ ก็เป็นคำถามเหมือนกันว่าประธานาธิบดีมีสิทธิทำแบบนั้นได้หรือ เพราะจริงๆ ไม่สามารถส่งทหารไปได้ นอกเสียจากว่าฝ่ายมลรัฐเป็นฝ่ายร้องขอ

 

:: อเมริกาและวิกฤตประชาธิปไตย ::

 

 

วิกฤตทั้งสามของอเมริกาตอนนี้คือ วิกฤตโรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตการเหยียดผิว ต้องการรัฐบาลกลางเป็นตัวจัดการ แต่ตอนนี้อเมริกามีรัฐบาลกลางที่ผลักปัญหาไปให้มลรัฐจัดการ รัฐบาลกลางไม่ทำอะไรเลย แต่คอยต่อว่าว่ามลรัฐจัดการไม่ดี เหตุการณ์ในอดีตที่เป็นวิกฤตระดับประเทศของอเมริกา รัฐบาลกลางเป็นคนจัดการ แต่ตอนนี้มันไม่ได้ออกมาแบบนั้น เลยนำมาสู่คำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของอเมริกา

สหรัฐอเมริกามีระบบการปกครองที่ระดับมลรัฐมีอำนาจเยอะมาก เป็นประเทศที่กลัวว่าอำนาจของรัฐบาลกลางจะมีมากเกินไป เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญของเขาก็จะมีหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ มลรัฐมีอำนาจที่รัฐบาลกลางไม่สามารถไปบังคับได้ ขณะที่มาตรการบางอย่างก็ต้องออกมาจากรัฐบาลกลาง เช่น ปัญหาที่มีผลกระทบต่อทั้งประเทศ

การที่ทรัมป์ตัดงบประมาณหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลกลาง รวมไปถึงงบที่ต้องใช้ในการควบคุมและดูแลปัญหาโรคระบาด องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากส่วนกลาง ก็ถูกตัดงบมาตั้งแต่ยุคจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ทรัมป์โจมตีไปจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ตัดงบประมาณไม่พอ แต่ยังเอาคนที่ต่อต้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปดูแลหน่วยงานนี้ด้วย

หรืออย่างตอนที่โอบามายังเป็นประธานาธิบดี แล้วมีประเด็นคนผิวดำถูกยิง ก็มีการตั้ง consent decree ของตำรวจ เป็นการปฏิรูปตำรวจว่าห้ามใช้ความรุนแรงกับคนผิวดำ แต่สิ่งที่ทรัมป์ทำก็คือ ยกเลิก decree นี้ไป ตำรวจทำอะไรก็ได้ไม่โดนฟ้อง

อีกอันที่ทรัมป์โจมตีคือระบบการเลือกตั้ง ทรัมป์พยายามการหยุดยั้งการไปโหวตหรือเลือกตั้ง เพราะเมื่อไหร่ที่คนไปเลือกตั้งน้อย พรรคริพับลิกันจะได้

อเมริกากำลังเจอวิกฤตประชาธิปไตยแน่นอน สามวิกฤตที่เกิดขึ้นต้องการรัฐบาลกลางเป็นตัวจัดการ ซึ่งประวัติศาสตร์อเมริกาให้อำนาจมลรัฐเยอะ แต่ยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหาระดับประเทศมันยาก และเมื่อเจอปัญหาระดับประเทศขนาดนี้คุณต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ถ้าถามว่าทรัมป์ทำให้ประชาธิปไตยในอเมริกาถดถอยไหม แน่นอน แต่ประชาธิปไตยในอเมริกามันถดถอยมาก่อนหน้านั้นแล้วด้วยการกระทำของพรรคริพับลิกันด้วยที่ชอบโจมตีผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานสำคัญๆ

 

:: ข้อดีของการถ่วงดุลอำนาจ และการมีพื้นที่แสดงออก ::

 

 

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนการถดถอยของประชาธิปไตยอย่างชัดเจนคือระบบยุติธรรมของสหรัฐฯ และสิ่งนี้แหละที่ทำให้คนออกมาประท้วง เช่น แต่ละครั้งที่มีความรุนแรงโดยตำรวจต่อคนผิวดำ ตำรวจพวกนี้ส่วนใหญ่รอด บางคนถูกโดนไล่ออกไปเดี๋ยวเดียวก็ถูกดึงมาทำงานใหม่ ไม่ถูกลงโทษอะไร ถ้าไม่มีบันทึกเอาไว้ก็เหมือนไม่มีความผิด

ในระบบยุติธรรม อัยการสูงสุดที่ทรัมป์เลือกมา ก็เข้าข้างประธานาธิบดี แทนที่จะเข้าข้างผลประโยชน์ของประเทศ ดังนั้นอัยการสูงสุดในระดับรัฐซึ่งมาจากการเลือกตั้ง การถ่วงดุลอำนาจจึงขึ้นอยู่กับว่าแต่ละมลรัฐเลือกใครเข้า

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าการปกครองที่มีระบบหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่ให้อำนาจกับมลรัฐ ก็ทำให้สามารถคานอำนาจรัฐบาลกลางได้ในหลายเรื่อง ขณะที่หลายๆ ประเทศไม่มี และถูกบังคับปิดกั้นไม่ให้คานอำนาจ

ในอเมริกาประท้วงได้โดยไม่โดนหมายเรียก แม้จะมีความรุนแรงเกิดขึ้น ลองไม่มีพื้นที่ให้คนออกมาสิ ความรุนแรงจะมากกว่านี้ แต่ในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตยจะเห็นว่า รัฐพยายามใช้อำนาจเต็มที่ เช่น พอออกไปประท้วงอย่างสันติก็มีหมายเรียกมาแล้ว นี่สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจที่ปกครองอยู่เริ่มเปราะบาง เพราะถ้าไม่เปราะบางคุณไม่ส่งหมายจับไปทุกเรื่องขนาดนี้ คือยิ่งเปราะบางเท่าไหร่ ก็ยิ่งพยายามเล่นทุกระดับ

 

:: โจทย์ของการเลือกตั้งปี 2020 ในอเมริกา ::

 

 

หลายๆ ครั้งการเลือกตั้งจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงอะไรเท่าไหร่ แต่การประท้วงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เหมือนปี 1968 ที่การประท้วงนำมาซึ่งนโยบายที่อยู่อาศัยและการกู้เงินของคนผิวดำ สถานการณ์การประท้วงในปัจจุบันก็คงนำไปสู่นโยบาย แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ แนวทางของ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตที่เป็นคู่แข่งของทรัมป์ และพรรคริพับลิกัน สิ่งที่ไบเดนทำคือ อะไรที่ทรัมป์ทำ เขาจะทำตรงข้าม พอมีเหตุการณ์จอร์จ ฟลอยด์ เสียชีวิต ไบเดนก็ไปงานศพจอร์จ ฟลอยด์ สะท้อนว่าเขาเป็นผู้นำที่เห็นอกเห็นใจ ขณะที่ทรัมป์ไม่ออกมาแสดงความเห็นอกเห็นใจอะไรเลย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้นำ ว่าในสถานการณ์ต่างๆ คุณจะทำตัวอย่างไร

ไบเดนออกมาพูดว่าเขาจะพยายามมีนโยบายระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและตำรวจ แต่จะเป็นนโยบายระดับชาติที่มาผสานกับมลรัฐ แต่ก็ตลกที่ไบเดนไม่เห็นด้วยกับการตัดงบตำรวจ จริงๆ ไบเดนก็อยู่ในสถานะที่ไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องริเริ่มนโยบายอะไรเลย เขาก็แค่ทำในสิ่งตรงกันข้ามกับทรัมป์ แสดงให้เห็นว่าเขามีภาวะผู้นำ ประเด็นนี้แย่ตรงที่ มันทำให้การเลือกตั้งคราวนี้ ไม่มีการริเริ่มนโยบายมาแข่งกันเท่าไหร่ สมัยก่อนในการเลือกตั้ง ต้องดูว่าพรรคนี้เสนอนโยบายอะไรที่จะสามารถดึงคนให้มาโหวตได้ แต่ตอนนี้นโยบายที่พรรคเดโมแครตทำคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนเกลียดทรัมป์มากขึ้น แล้วไม่ไปเลือกเขา แค่นั้นเอง หลายๆ คนจึงมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีการแข่งขันเรื่องนโยบายที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ตอนนี้คะแนนเสียงของไบเดนนำอยู่ และต้องยอมรับว่าสองอาทิตย์ที่ผ่านมาชื่อเสียงและคนที่นิยมทรัมป์ลดลงมาก ทรัมป์พยายามทำทุกอย่างเพื่อกู้ชื่อเสียงตัวเองขึ้นมา แต่มันไม่เวิร์กสักอย่าง แม้แต่คอนเซ็ปต์ Law and Order ก็ไม่เวิร์ก สิ่งที่ทรัมป์ทำยังเริ่มทำให้กลุ่มชนชั้นนำเริ่มระแวงในตัวทรัมป์ด้วย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save