fbpx
คำถามถึง “คุณค่า” ของสื่อวารสารศาสตร์ ในวันที่ความรุนแรงถูกเพิกเฉย

คำถามถึง “คุณค่า” ของสื่อวารสารศาสตร์ ในวันที่ความรุนแรงถูกเพิกเฉย

กระแส #แบนสื่อหลัก และ #แบนช่อง3 ทางสื่อสังคมออนไลน์หลังจากการสลายการชุมนุมของประชาชนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำว่า “terrorism from above” ที่มารู้จักตอนที่อ่านการศึกษาเกี่ยวกับการรายงานเรื่องการก่อการร้ายของสื่อมวลชน

งานวิจัยในประเด็นนี้พบว่า ความหมายหลักของศัพท์คำนี้คือความรุนแรงที่เกินบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ที่ตกลงกันไว้ในการทำสงครามหรือสู้รบ ทว่าการใช้ความรุนแรงจากรัฐชาติมักไม่ถูกนำมาพิจารณาว่าเป็น ‘การก่อการร้าย’ แม้จะมีการเสนอนิยามในเชิงวิชาการไว้ว่า การก่อความรุนแรงที่เกินขอบเขตของรัฐก็ถือเป็นการก่อการร้ายรูปแบบหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “terrorism from above” ขณะที่การก่อความรุนแรงโดยกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่มีอำนาจ เรียกว่าเป็น “terrorism from below”

แต่เมื่องานวิชาการและการรายงานของสื่อมวลชนส่วนใหญ่ไม่ได้เรียกการใช้ความรุนแรงโดยรัฐที่ละเมิดหลักการสากลว่าเป็นการก่อการร้าย รัฐจึงมีความชอบธรรมในปฏิบัติการที่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นโดยเปิดเผยหรือในทางลับ เนื่องจากอ้างว่าเป็นไปเพื่อเหตุผลทางความมั่นคงและมนุษยธรรม อย่างไรก็ตาม หากเป็นการกระทำรูปแบบเดียวกันโดยกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมืองจากรัฐ ก็จะถูกแปะป้ายทันทีว่าเป็น ‘การก่อการร้าย’

เหตุที่นึกถึงคำนี้ขึ้นมาเพราะผู้เขียนมีคำถามว่าวิธีการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 13 และ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะเรียกว่าเป็น ‘terrorism from above’ ได้หรือไม่ ในเมื่อมีหลักฐานไม่น้อยในโลกออนไลน์และการรายงานของนักข่าวที่แสดงให้เห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามหลักการจัดการกับผู้ชุมนุมที่เป็นสากล

นอกจากนี้ เมื่อผู้คนวิพากษ์ต่อการตอบโต้ของรัฐด้วยความรุนแรงว่าไม่มีความชอบธรรมและไม่สมเหตุสมผลต่อการกระทำของประชาชนที่รัฐมองว่าเป็นความผิด แต่ทำไมสื่อวารสารศาสตร์จึงไม่สามารถประมวลข้อเท็จจริงมาเป็นคำตอบให้กระจ่างมากกว่าการนำเสนอถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่รัฐ (ว่าชอบธรรมและสมควรแล้ว) จนเกิดเป็นกระแสแฮชแท็กข้างต้นขึ้น

แม้ในแต่ละวันจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายจนสื่อมวลชนอาจไม่สามารถรายงานได้ทุกเรื่อง และบ้านเมืองมีปัญหานานาสารพัดที่มีผลกระทบต่อชีวิตที่เห็นเป็นรูปธรรม แต่การที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อประชาชนไม่ใช่เรื่องปกติที่สังคมควรยอมรับโดยไม่ตั้งคำถาม สื่อมวลชนไม่ควรรายงานด้วยรูปแบบปกติแบบ business as usual โดยไม่ขยายความ ติดตามทวงถาม และตรวจสอบการกระทำของรัฐ เพื่อที่สังคมจะได้ไม่มองว่าการใช้ความรุนแรงเป็นทางเดียวที่จะจัดการกับความขัดแย้ง

การให้พื้นที่อย่างจำกัด (จำเขี่ย) ในการรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงทางตรง อีกทั้งยังขับเน้นข้อมูลและใช้ภาษาที่ชี้ให้เห็นว่าการใช้ความรุนแรงโดยรัฐเป็นเพียง ‘การปะทะ’ ‘ความโกลาหล’ หรือ ‘ความวุ่นวาย’ ที่ ‘ทั้งสองฝ่าย’ ต่างใช้กำลังต่อกัน และมีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ไม่เพียงลดทอนความน่าวิตกของปัญหา แต่ยังสร้างหมอกควันที่ปกคลุมสาระสำคัญของเหตุการณ์นี้ นั่นคือ รัฐไม่มีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีหลักฐานชี้ว่ารัฐไม่ได้ทำตามหลักเกณฑ์สากลทั้งการสลายการชุมนุม การปะทะกับมวลชน และการจัดการกับสื่อมวลชน

นี่ยังไม่นับรวมการที่รัฐใช้ความรุนแรงเพื่อจัดการความขัดแย้งอื่นๆ เช่น การขัดขวางและจับกุมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่กลับไปปักหลักที่ใจแผ่นดิน บ้านบางกลอยบน ซึ่งภาครัฐมักอธิบายผ่านสื่อมวลชนว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและชาวกะเหรี่ยงไม่พอใจการแก้ปัญหาของรัฐ การระดมสรรพกำลังเข้าไปจัดการกับชาวบ้านจึงถือเป็นเรื่องที่ชอบธรรมแล้ว และการรายงานข่าวก็สรุปเนื้อหาตามการให้สัมภาษณ์โดยไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่

ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงความกดดันและความคับข้องใจของผู้ปฏิบัติงานทั้งในภาคสนามและในห้องข่าวต่อข้อจำกัดและความเสี่ยงที่นับวันก็รุนแรงมากขึ้นจากการรายงานความขัดแย้ง ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ในที่นี้จึงไม่ได้มุ่งไปที่ปัจเจก (และหลายคนก็คงแย้งอยู่ในใจหรือพูดออกมาดังๆ แล้วว่า ก็ทำอยู่แล้วนี่ไง จะเอาอะไรอีก) แต่อยากชวนตั้งคำถามในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่ต้องการงานวารสารศาสตร์ที่มีคุณภาพเพื่อนำมาดำเนินชีวิตและลดผลกระทบจากปัญหาที่น่าจะป้องกันได้ ว่าเราออกจากกับดักนี้ไม่ได้จริงๆ และต้องอยู่กันอย่างนี้ต่อไปหรือ

ประวัติศาสตร์ความรุนแรงทั้งในไทยและหลายพื้นที่ของโลกสอนเราหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า การที่สื่อมวลชนและสังคมเพิกเฉยต่อการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ไม่ว่าจะเป็นระดับใดและกับกลุ่มสังคมใด นอกจากจะทำให้เกิดความสูญเสียจนกลายเป็นบาดแผลของสังคมนั้นแล้ว ยังทำให้ความเคลือบแคลงและไม่ไว้วางใจต่อกันทั้งระหว่างรัฐ-ประชาชน และประชาชนด้วยกันเองคงอยู่ต่อไปอีกนาน เพราะไม่สามารถนำวิธีคิดและข้อมูลที่เป็นเหตุแห่งความขัดแย้งมาถกเถียงได้อย่างตรงไปตรงมา เหมือนปัดปัญหาเข้าซุกใต้พรม (ที่ถึงแม้จะรวมกันเป็นกองขนาดใหญ่เท่าช้างอยู่ใต้พรม สังคมก็ยังทำเป็นมองไม่เห็นราวกับพรมเป็นผ้าคลุมล่องหน)

ความขัดแย้งที่ซับซ้อนและยาวนาน โดยเฉพาะในเรื่องที่คนทั่วไปมีอคติต่อกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างได้ด้วยรายงานสรุปเหตุการณ์ขนาดสั้นที่มีความยาวไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ร้อยตัวอักษร หรือด้วย ‘ผู้รู้’ ไม่กี่คน แต่ต้องการข้อเท็จจริงที่รอบด้านและการใช้ภาษาที่ระมัดระวัง อีกทั้งยังต้องนำเสนออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนจดจำและทำความเข้าใจว่าความขัดแย้งและความรุนแรงเหล่านี้เกี่ยวข้องกับชีวิตเขา

การบอกเพียงว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ขยายความบริบทหรือความเกี่ยวโยงกับฐานคิดของเหตุการณ์ จากนั้นก็ย้ายไปเล่าว่ามีปัญหาอื่นๆ ที่สังคมต้องกังวลกว่านี้หรือมีผลกระทบต่อปากท้องของคนทั่วไปโดยตรง เท่ากับสื่อสารว่าการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม (ที่แม้จะเป็นอาสาพยาบาลหรือเยาวชน) สื่อมวลชน หรือชาวกะเหรี่ยงนั้นเป็นเรื่องของ ‘การเมือง’ (ที่มีนัยยะว่าเป็นความชั่วช้าสามานย์) และเป็นเรื่องของ ‘คนอื่น’ ที่ทำผิดกฎหมายหรือโดนลูกหลงเพราะอยู่ผิดที่ผิดทาง ถ้าเราไม่ได้ทำผิด (อย่างเขา) หรือไม่ได้ไปอยู่ตรงนั้น ก็ไม่เห็นต้องใส่ใจ ทั้งๆ ที่ทุกปัญหามีแก่นเรื่องเดียวกัน คือ รัฐไม่สามารถรับรองความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนได้ ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่ในภาพรวมเป็นไปอย่างสงบและสันติ การทวงคืนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน หรือปัญหาปากท้องและความปลอดภัยจากโรคระบาด

การที่คนทำงานวารสารศาสตร์แสดงความคับข้องใจโดยบอกเพียงว่า ผลิตงานเชิงลึกไปก็เท่านั้น ก็ประชาชนเขาไม่สนใจดูหรอก หรือเราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างกล้าหาญและเหน็ดเหนื่อยแล้ว แต่ปัญหามันใหญ่กว่าที่เราจะแก้ได้ ไม่ช่วยให้การปิดกั้นเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนลดลงได้

ในเมื่อนักวารสารศาสตร์ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้เพียงกลุ่มเดียว การฝ่าข้ามอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งเชิงโครงสร้างและทางสังคมที่สื่อมวลชนเผชิญอยู่ก็ต้องอาศัยพลังจากเพื่อนร่วมงานและแนวร่วม เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ต้องระดมพลประชาชนจากหลายภาคส่วนมาช่วยกันผลักดัน หากมุ่งตอบสนองต่อ ‘ลูกค้า’ หรือฐานผู้ติดตามดั้งเดิมของตนเท่านั้นก็คงไม่สามารถสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งและขยายวงกว้างได้

นักวารสารศาสตร์ (โดยเฉพาะระดับผู้บริหาร) ต้องแสดงให้เห็นว่ายืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับการรายงานข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ไม่บิดเบือน ปิดบัง หรือสร้างเรื่องเท็จ ตั้งคำถามต่อความคลุมเครือและไม่ชอบธรรม ให้พื้นที่ในการอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาด้วยข้อมูล ภาษา และน้ำเสียงที่ไม่ตัดสิน (ไม่ต้องวิเคราะห์ก็ได้ ขอแค่อธิบายก็พอว่าเกิดอะไรขึ้นและสิ่งนั้นไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่รัฐบาลไทยไปร่วมรับรองอย่างไร) ช่วยกันส่งต่อข้อมูล และรายงานอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ปัญหาถูกปัดไปซุกไว้ใต้พรมอีก

ขณะเดียวกัน รัฐในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องไม่คุกคามสื่อมวลชน ไม่ว่าจะผ่านการใช้กฎหมายปิดปาก ใช้กำลังเข้าข่มขู่ หรือปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงพื้นที่และข้อมูลโดยอ้างความปลอดภัยหรือความมั่นคง เพราะนี่ไม่ใช่ปฏิบัติการทางทหารต่อศัตรู แต่เป็นการจัดการกับประชาชนของรัฐเอง หากมั่นใจว่าสิ่งที่รัฐทำนั้นเหมาะสมแล้ว ก็ต้องไม่ปิดบังจากสื่อและสาธารณะ ที่สำคัญ หากสื่อมวลชนไม่ย้ำจุดยืนนี้ต่อรัฐในพื้นที่สาธารณะ แต่ไปดีลกันหลังบ้านอย่างเดียว ประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่าคนทำงานลำบากแค่ไหน

การประสานพลังกันระหว่างคนทำงานสื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ประชาชนเห็นว่าผู้สื่อข่าวแต่ละคนหรือแต่ละองค์กรไม่ได้ทำงานอย่างอันตรายและโดดเดี่ยว จะว่าไป การผนึกกำลังของสื่อมวลชนไทยเพื่อตรวจสอบความไม่โปร่งใส-ไม่ชอบธรรมของรัฐและกลุ่มอำนาจไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น ทั้งยังมีผลสะเทือนทางการเมืองทั้งต่อนักการเมือง รัฐบาล หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มาแล้วไม่น้อย ดังนั้นการรายงานเรื่องความรุนแรงของรัฐในปัจจุบันจึงไม่น่าจะเกินความสามารถของนักวารสารศาสตร์ไทยอยู่แล้ว (แต่ก็นั่นแหละ เข้าใจว่าเป็นปัญหาระดับช้าง)

นอกจากนั้น การมองว่า ‘สื่อ’ เป็นองค์กรธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของบริษัทและพนักงาน จนทำให้ไม่สามารถรายงานบางเรื่องได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่มุมมองที่ผิด แต่การชี้ว่าเงื่อนไขนี้เป็นกำแพงอันใหญ่หลวงที่ไม่อาจข้ามไปได้และจำต้องยอมจำนน จนกลายเป็นมนตราที่ท่องวนซ้ำไปซ้ำมาแทนปรัชญาวิชาชีพ นอกจากจะไม่สร้างพลังให้กับคนทำงานที่ยังมีความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังไม่ช่วยให้ประชาชนเห็น ‘คุณค่า’ ของงานวารสารศาสตร์และนักวารสารศาสตร์ต่อสังคมประชาธิปไตย

การปกป้องสื่อวารสารศาสตร์ของประชาชนไม่ได้เป็นเรื่องอุดมคติ กระแส #saveสื่อเสรี บนโลกออนไลน์ การบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนสำนักข่าวประชาไท และผลจากการรณรงค์แบนสปอนเซอร์ของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว น่าจะเป็นรูปธรรมที่สะท้อนได้ว่าประชาชนเริ่มให้คุณค่ากับนักวารสารศาสตร์ที่ยึดหลักการประชาธิปไตย และไม่สนับสนุนสื่อที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย (และ ‘ผู้บริโภค’ เหล่านี้ก็น่าจะมีส่วนกำหนดทิศทางตลาดต่อไปในอนาคต)

แต่หากคนทั่วไปมองว่างานวารสารศาสตร์เป็นเพียง ‘เนื้อหา’ เป็นภาพ เสียง และข้อความที่สนับสนุนความคิดของตัวเองอยู่แล้ว เป็นดราม่าชีวิตของ ‘คนอื่น’ ที่เขาเปิดรับเพียงเพื่อเอามันหรือฆ่าเวลา ไม่ใช่สถาบันทางสังคมในระบอบประชาธิปไตยที่รายงานข้อเท็จจริงและนำเสนอโลกทัศน์ที่หลากหลาย ที่จะทำให้ประชาชนจะนำไปขบคิดต่อว่าจะแก้ปัญหาร่วมกันโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้อย่างไร

เช่นนั้นแล้ว สังคมจะมีสื่อมวลชนไว้เพื่ออะไร ทำไมประชาชนจะต้องจ่ายเงินเพื่อข้อมูลที่นักวารสารศาสตร์บุกฝ่าไปหามา ทำไมจะต้องมาเป็นแนวร่วมในการปกป้องเสรีภาพสื่อเมื่อสื่อถูกคุกคาม ทำไมต้องมีการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ (ในเมื่อใครๆ ‘ก็เป็นสื่อได้’) หรือทำไมจะต้องแคร์ว่าสื่อจะอยู่รอดหรือไม่ในยุคที่ทุกอย่างในชีวิตโดนดิสรัปต์ (ไม่ใช่จากเทคโนโลยีเท่านั้น)

และถ้าสังคมทำให้ประชาชนมองเห็นว่างานวารสารศาสตร์เป็นเพียงความบันเทิงชั่วครู่ชั่วยาม เราก็ควรตั้งคำถามว่าโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมแบบไหนที่ขัดขวางไม่ให้ประชาชนคิดเป็นและวงการวารสารศาสตร์ผลิตงานที่มีสาระ

คำตอบหนึ่งคือ สังคมที่รัฐมีไฟเขียวในการใช้ความรุนแรงกับประชาชนและสื่อมวลชนอยู่เสมอโดยไม่ต้องรับผิดรับชอบใดๆ ไง.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save