fbpx

‘ธุรกิจสอดไส้’ ทางรอดของญี่ปุ่น

ช่วงสิบปีมานี้ ข่าวคราวการรับรู้ของคนทั่วโลกต่อญี่ปุ่นค่อนข้างเป็นไปในทางที่น่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนประชากรของคนวัยทำงานน้อยเรื่อยๆ รวมถึงอัตราการเกิดต่ำติดต่อกันมา 7 ปีแล้ว ไหนจะปัญหาภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ โอลิมปิกที่ถูกเลื่อน เศรษฐกิจชะลอตัว อดีตนายกรัฐมนตรีถูกลอบยิง ทั้งหมดทำเอาแฟนคลับอย่างเราต้องคอยลุ้นไปกับเขาด้วยว่าญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรต่อไปหนอ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของชาติมหาอำนาจระดับตัวท็อปของโลกนั้น ญี่ปุ่นกำลังเพลี่ยงพล้ำหรือไม่  

หากมองอย่างผิวเผิน เราอาจมองเห็นแต่การถดถอยของญี่ปุ่น เพราะในมุมมองแบบตะวันตก ตัวเลขการเติบโตเพียง 1-2% ต่อเนื่องอย่างยาวนานไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ แถมในฐานะผู้บริโภคที่โตมากับคำว่า ‘made in Japan’ ก็เห็นกันชัดๆ ว่า สินค้าที่เราคุ้นเคยจากญี่ปุ่นหดหายไปเยอะ เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำ แต่ไม่เหลือแล้วในปัจจุบันก็ว่าได้ 

โทรทัศน์สีโซนี่และเครื่องเล่นวีดีโอพานาโซนิกคือที่สุดของแจ้ในห้องนั่งเล่น ไม่แตกต่างจากซันโยและฮิตาชิที่แข่งกันเป็นหนึ่งในห้องครัว ฟูจิฟิล์ม โคนิก้า ผู้เชี่ยวชาญเรื่องฟิล์มถ่ายรูปที่หาตัวจับยาก หรือพูดถึงกล้องถ่ายรูปก็ต้องนิคอน แคนอน ยาชิก้า ฯลฯ ทว่าปัจจุบันชื่อเหล่านี้ถูกเข้ามาแทนที่ด้วยด้วยแบรนด์จากเกาหลีใต้และจีน ชนิดที่คนที่โตมากับแบรนด์ญี่ปุ่นอย่างผมหรือคุณคงต้องถามแหละว่ากลายเป็นเช่นนี้ได้ยังไง   

แต่การหายไปของสินค้าและแบรนด์เหล่านี้อาจไม่ใช่สัญญาณของการล่มสลายของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ทว่าญี่ปุ่นกำลังปรับตัวเองเข้าสู่การสร้างความได้เปรียบใหม่ที่นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่ามันคือการทำ ‘ธุรกิจสอดไส้’ นั่นคือกลับไปเน้นธุรกิจต้นน้ำ เน้นจุดเล็กๆ ที่สำคัญจริงๆ แต่จะทำแบบนั้นได้ญี่ปุ่นต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลง และพูดได้ว่าเป็นบทเรียนราคาแพงอยู่ไม่น้อย

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือระบบการจ้างงานของญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่าระบบจ้างงานตลอดชีวิต โดยความสำเร็จของญี่ปุ่นในช่วงปี 1980 ที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า ‘ไคฉะ’ (Kaisha) น่าจะเป็นภาพที่ทุกคนจดจำได้เป็นอย่างดี นั่นคือการทำงานอย่างหนักเพื่อชดชเยการเป็นชาติที่แพ้สงคราม การทุ่มเทเพื่อบริษัทและประเทศชาติ ซึ่งประเทศและบริษัทก็ตอบแทนกลับมาด้วยการดูแลประชาชนและพนักงานด้วย ‘ระบบการจ้างงานตลอดชีวิต’ สิ่งนี้สร้างความได้ปรียบให้กับญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่ต้องการสร้างเนื้อสร้างตัว ทำให้เกิดความต่อเนื่องของกระบวนการทำงานและความเชี่ยวชาญ สามารถส่งงานต่อได้อย่างมีระเบียบแบบแผน สิ่งนี้สร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ว่าเป็นสินค้าที่มีความประณีต คัดมาแล้วว่าดี คิดเผื่อสำหรับผู้บริโภค ทนทานและคุ้มราคา ด้วยเหตุนี้ สินค้าของญี่ปุ่นจึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในช่วง 30 ปีก่อน 

ทว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มเปลี่ยน การเข้ามาของบริษัทต่างชาติในทศวรรษ 1990 ทำให้ระบบการจ้างงานตลอดชีวิตในญี่ปุ่นเร่ิมส่อเค้าไม่ดี  ไม่ตอบโจทย์ค่านิยมใหม่ของสังคม รวมถึงความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงเพราะบริษัทต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลในการจ้างพนักงานมากเกินไป การต้องทำกำไรมากขึ้น ไปจนถึงการเพียรหาตลาดใหม่ ขณะที่มีเสียงจากผู้บริโภคว่าสินค้าที่คุณภาพดีเกินไปของญี่ปุ่นทำให้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องซื้อของใหม่เพิ่ม รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลงเป็นระยะเวลานานจากปัญหาการเงินของโลกที่ส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่น และการกีดกันทางการค้าที่ตัดแข้งตัดขาจากสหรัฐฯ การโจมตีค่าเงินการสกัดกั้นการลงทุนของญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกา (สถานการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้วที่ญี่ปุ่นเผชิญ ไม่ต่างจากจีนที่กำลังโดนอยู่ตอนนี้) ทำให้ญี่ปุ่นอยู่ในสถานะที่ลำบาก 

ไม่เพียงเท่านั้น การเข้ามาของบริษัทต่างชาติที่เปิดบริษัทในญี่ปุ่นทำให้เริ่มมีการซื้อตัวพนักงานเก่งๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่น อีกทั้งวัฒนธรรมการทำงานแบบตะวันตกก็ท้าทายความเชื่อเดิมๆ ทำให้ญี่ปุ่นต้องปรับตัว แต่หากคุณมีเพื่อนเป็นคนญี่ปุ่นหรือทำงานกับคนญี่ปุ่น จะรู้เลยว่าญี่ปุ่นเป็นชาติที่เน้นเรื่องกระบวนการ ไม่ชอบทำอะไรแบบทางลัด ทุกอย่างต้องทำตามระบบ การเปลี่ยนผ่านจึงทำได้ช้ากว่าตะวันตกอยู่มาก เอาแค่เรื่องของการผ่อนปรนการจ้างานตลอดชีวิต ญี่ปุ่นใช้เวลายาวนานนับสิบปี รัฐบาลญี่ปุ่นถึงขั้นต้องออกเป็นหนังสือขอความร่วมมือกันในช่วงที่นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรก ว่าขอให้บริษัทใหญ่ๆ ลดละเลิกธรรมเนียมเดิมนี้เพื่อก้าวสู่การเป็นญี่ปุ่นใหม่ 

อย่างไรก็ดี จริงๆ แล้วเบื้องหลังการจ้างงานแบบตลอดชีพของญี่ปุ่น คือรากฐานทางสังคมของญี่ปุ่นเองที่เน้นความความเป็นกลุ่มก้อนและความเสมอภาคเท่าเทียม รวมถึงบทบาทของบริษัทใหญ่ต่อสังคมที่ว่ากันว่ามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของพนักงาน ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นผลดีกับญี่ปุ่นไม่น้อยนะครับ เพราะหากไปดูสถิติของความเหลื่อมล้ำและความรำ่รวยจะพบว่า ในฐานะประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่ง และในฐานะของพลเมืองของประเทศนี้ ก็ถือว่าชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองก็ดีกว่าในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว 

ถ้าไปดูข้อมูลที่เก็บโดย Capgemini บริษัทที่ปรึกษาและให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศของฝรั่งเศส เรื่องความมั่งคั่งของคนในประเทศต่างๆ ในปี 2018 โดยวัดจากอันดับของคนที่ถือครองสินทรัพย์สุทธิสูง (High Net Worth Invester-HNWI) ทั่วโลก เกณฑ์ที่ใช้คือในประเทศนั้นๆ คนที่มีความสามารถลงทุนได้มากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ (ราว 360 ล้านบาท) จากข้อมูลพบว่าญี่ปุ่นยังมาเป็นอันดับสองของโลกด้วยผู้ที่มีสินทรัพย์สุทธิสูงถึง 3.16 ล้านคนรองจากสหรัฐอเมริกา ที่ 5.3 ล้านคน ตามมาด้วยเยอรมนี จีนและฝรั่งเศสตามลำดับ

ขณะเดียวกันเมื่อไปดูความเหลื่อมล้ำ สัดส่วนความไม่เสมอภาคของญี่ปุ่นนั้นน้อยกว่าสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดช่องว่างของความเสมอภาค แต่โดยรวมแล้ว หากเทียบกับสหรัฐฯ หรือจีน สถานการณ์ในญี่ปุ่นนับว่าดีกว่ามาก นั่นหมายถึงคนญี่ปุ่นมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกันมากกว่าประเทศอื่น นั่นเพราะญี่ปุ่นไม่ได้เน้นการทำตัวเลขเศรษฐกิจที่ต้องโตมากทุกปีต่อเนื่อง แต่เน้นที่การโตที่ไม่กระทบกับรากฐานทางสังคม ค่อยเป็นค่อยไป ทำงานให้หนัก นิสัยช่างเก็บและอดทนของคนญี่ปุ่นถือเป็นโบนัสให้กับการอยู่รอดของประเทศ ทั้งเอื้อกับการปรับตัวของญี่ปุ่นที่กำลังเขยิบไปทำธุรกิจสอดไส้มากขึ้นเรื่อยๆ   

ธุรกิจสอดไส้ สิ่งสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นแข็งแรง 

เห็นภาพคนไปเที่ยวญี่ปุ่นมากมายขนาดนี้ เราอาจคิดไปว่าภาคการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นนั้นน่าจะเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ และเป็นปัจจัยอุ้มชูเศรษฐกิจของญี่ปุ่น แต่จริงๆ แล้วอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ของ GDP เพราะภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นยังคงถือครองสัดส่วนของตัวเลขจีดีพีสูงถึง 21% เพียงแต่เราอาจไม่รู้มากเท่าไร เพราะญี่ปุ่นหันมาใช้กลยุทธ์ ‘เลือกและโฟกัส’ หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า ‘เซ็นตาคุ โตะ ชูจู’ หมายถึงปรับตัวเองไปเน้นเฉพาะกลุ่มตลาดที่สำคัญที่ทำเงินสร้างรายได้และตัวเองถนัดจริงๆ พร้อมกับการปรับเปลี่ยนการบริหารงานองค์กรภายในเพื่อสร้างกระบวนการที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจ จนเข้าไปเป็นผู้เล่นคนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานโลกในธุรกิจต้นน้ำ ที่ไม่ว่าใครก็ต้องพึ่งพาญี่ปุ่น ซึ่งทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงอันยาวนานนี้เริ่มเห็นผลลัพธ์บ้างแล้ว 

ช่วงปี 2000-2006 ราว 75% ของบริษัทใหญ่สุด 500 อันดับในญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวอย่างน้อยหนึ่งอย่าง จากสถิติพบว่า 34% ของบริษัทเหล่านี้ทยอยถอนตัวจากธุริจอย่างน้อยหนึ่งอย่าง โดยตัดส่วนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักหรือที่ไม่ทำรายได้ออกไป เช่น การยกเลิกธุรกิจร้านอาหาร ‘มักซีมงส์ เดอ ปารีส’ ของบริษัทโซนี่(ใช่ครับ โซนี่เคยทำร้านอาหาร) เป็นต้น หรือแม้แต่ตัดธุรกิจหลักของตัวเองออกก็มี เช่น ฟูจิฟิล์มลดสัดส่วนการผลิตฟิล์มสำหรับกล้องถ่ายรูปลงแทบไม่เหลือ แล้วไปโฟกัสธุรกิจอื่นที่คิดว่าจะทำให้ตัวเองอยู่รอดแทน

ส่วนคนที่ไม่ปรับตัวเท่าไรก็ลำบากหน่อย อย่าง ซันโย ชาร์ป หรือไพโอเนีย เราน่าจะเห็นภาพของการถูกซื้อกิจการหรือยังลุ่มๆ ดอนๆ ไปต่อไม่เป็นแม้กระทั่งตอนนี้ โดยขอยกตัวอย่างของสองบริษัทที่เราอาจคุ้นชื่อกันดี คือฟูจิฟิล์มและโซนี่ 

บริษัท ฟูจิ โฟโต้ ฟิล์ม ปัจจุบันมีมูลค่าของกิจการอยู่ที่ประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท แต่ก่อนเป็นผู้นำเรื่องของฟิล์มถ่ายรูป ปัจจุบันผันรูปแบบธุรกิจมาเน้นเรื่องเคมีภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยต่อยอดจากความเชี่ยวชาญเดิมของตัวเองด้วย นั่นคือธุรกิจด้านเคมีเคลือบผิววัสดุ หลังจากที่เริ่มรับรู้ถึงภัยคุกคามจากการเข้ามาของกล้องดิจิตัล ความนิยมในการใช้กล้องฟิล์ลดน้อยลงอย่างมาก ฟูจิก็เริ่มผันตัวเองไปทำธุรกิจที่อยู่ได้มากกว่า เช่น พวกฟิล์มเอกซเรย์ และเริ่มขยับไปที่พวกเครื่องมือแพทย์ประเภทที่ต้องใช้ฟิล์มเคมีต่างๆ ผลิตเครื่องฉายแสงความเข้มข้นสูง เป็นต้น

เรียกว่าฟูจิ ฟิล์มเริ่มเข้าไปเป็นผู้เล่นคนสำคัญในธุรกิจเครื่องมือแพทย์ แต่ก็นำเอาความเชี่ยวชาญเรื่องการเคลือบฟิล์มผลิตฟิล์มมาทำอย่างอื่นด้วย เช่น การผลิตฟิล์มเคมีซึ่งเป็นส่ิงจำเป็นสำหรับการผลิตจอ LCD และยังเป็นผู้ผลิตสารกึ่งตัวนำ ไปจนถึงเทคโนโลยีด้านภาพและเครื่องสำอาง แม้ว่าภาพรวมของฟูจิ ฟิล์มอาจยังไม่ได้กลับมามีกำไร(ปีล่าสุดก็ยังขาดทุนอยู่) แต่แนวโน้มของการเติบโตในระยะยาวนั้นถือว่าไปได้สวย เพราะสัดส่วนของธุรกิจใหม่นั้นกำลังขึ้นทดแทนรายได้ที่หายไปอย่างมีนัยยะสำคัญ  

อีกบริษัทที่น่าสนใจมากก็คือโซนี บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นผู้คิดค้นระบบอัดวีดีโอแบบเบต้าที่ใช้กันในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาอย่างยาวนาน เป็นผู้คิดค้นหลอดภาพที่มีลิขสิทธิ์ของตนเองอย่าง ‘ไตรนิตรอน’ ที่ให้ภาพคมชัดและทำให้โทรทัศน์สีโซนี่กลายโทรทัศน์ที่ขายดีที่สุดในโลกติดต่อกัน 30 ปี โซนี่ยังเป็นผู้ผลิตเครื่องเล่นวิทยุแบบพกพา ‘วอล์กแมน’ และกล้องถ่ายวีดีโอขนาดเล็ก ‘แฮนดี้แคม’ ความเป็นผู้นำเทคโนโลยีในยุคเมื่อสัก 30 ปีก่อนทำให้ฝ่ายวิจัยและพัฒนาของโซนี ได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่ล้ำสมัยที่สุดในโลก ณ เวลานั้นถือเป็นจุดขายสำคัญของแบรนด์ก็ว่าได้ แม้แต่สมาร์ทโฟนแบบจอสัมผัสเหมือนกับที่ไอโฟนทำได้ โซนี่สร้างเครื่องต้นแบบได้ก่อนแอปเปิลตั้งแต่ปี 2003 แต่โซนี่กลับมองไม่เห็นศักยภาพในการผลักดันมัน

นอกจากนี้ การไม่ทำงานสอดประสานกันระหว่างฝ่ายผลิตและการตลาด การขายแตกไลน์ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องจากความสามารถของตนเองมากเกินไป (เช่น การเปิดร้านอาหาร) ก็ทำให้ภาพรวมของโซนี่แกว่งไปเหมือนกัน และทำให้โซนี่กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีหนี้สะสมติดต่อกันยาวนานถึง 7 ปีและมีจำนวนหนี้สูงแตะ 7 พันล้านดอลลาร์ กระนั้นโศนี่ก็ยังประคับประคองตัวเองมาได้ด้วยธุรกิจเกมและธุรกิจการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการปรับโครงสร้างภายในบริษัทครั้งใหญ่ที่สุด ทว่าสถานการณ์โดยรวมก็ไม่ง่ายขนาดนั้น 

การปรับโครงสร้างนั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี 1995 โดยซีอีโอของบริษัทอย่าง โนโบยุกิ อิเดอิ ที่ต้องการกอบกู้สถานสภาพของบริษัทที่ตอนนั้นขาดทุนมากนับพันล้านดอลลาร์ติดต่อกันนานถึง 7 ปี ด้วยการปิดโรงงาน ตัดธุรกิจที่ไม่จำเป็น ลดพนักงาน ยุบหน่วยธุรกิจที่ไม่ทำเงิน และหันมาโฟกัสเฉพาะส่วนที่สามารถทกำไรให้กับบริษัท ในปัจจุบันธุรกิจหลักของโซนี่ กลายเป็นมาทำ ‘ธุรกิจสอดไส้’ เสียส่วนมาก โดยเฉพาะอยู่ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนทั้งชิปเซ็ทและโมดูลกล้องที่โซนี่พัฒนาต่อมาจากระบบ CMOS ของตัวเอง รวมถึงความเชี่ยวชาญเรื่องจอรับภาพ ธุรกิจเกม ธุรกิจภาพยนตร์และธุรกิจเกี่ยวกับเสียงในอุตสาหกรรมบันเทิง

ในกรณีของโซนี่ อาจดูเหมือนว่าพวกเขาลดบทบาทและความยิ่งใหญ่ของตัวเองลงอย่างมาก แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของธุรกิจนวัตกรรมของญี่ปุ่นที่กลายเป็นธุรกิจสอดไส้เข้าไปอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ใหญ่ระดับโลกแทน 

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพความสำคัญของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นต่อธุรกิจผลิตสมาร์ทโฟน หนังสือพิมพ์นิเคอิ ชิมบุน ทำการประเมินเรื่องของชิ้นส่วนประกอบที่อยู่ในสมาร์ทโฟนในปี 2010 นั่นคือช่วง 3 ปีหลังจากที่ไอโฟนออกวางจำหน่าย ตอนนั้นโจทย์ของการทำการสำรวจก็คืออยากรู้ว่า อุตสาหกรรมไฮเทคของญี่ปุ่นจะสามารถสร้างมูลค่าจากการเติบโตของสมาร์ทโฟนด้วยการขายชิ้นส่วนต่างๆ ในสมาร์ทโฟนได้เท่าไหร่กัน ปรากฎว่า ณ ปี 2010 ญี่ปุ่นหารายได้จากสมาร์ทโฟน 1 เครื่องคิดเป็น 34% ในการผลิตโทรศัพท์ ตามมาด้วยเยอรมนี 17% เกาหลีใต้ 13% สหรัฐฯ 6% และจีนได้ไป 3.6 % ในฐานะผู้ประกอบเครื่อง 

จากนั้นในปี 2019 หนังสือพิมพ์นิเคอิ ชินบุน ก็ทำการสำรวจอีกครั้งหนึ่ง เพราะอยากรู้ว่าสัดส่วนของมูลค่าที่ญี่ปุ่นได้จากธุรกิจสมาร์ทโฟนนั้นเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง โดยประเมินจากสมาร์ทโฟนหัวเหว่ยรุ่นท็อปที่ติดแบรนด์ไลก้า (Leica) มาที่เครื่องด้วย (ณ เวลานั้นยังไม่โดนแบนจากสหรัฐฯ) พบว่าในจำนวนชิ้นส่วนรวมทั้งสิ้น 1,631 รายการ ญี่ปุ่นสร้างมูลค่าได้ 23% จากชิ้นส่วน 869 รายการโดยเฉพาะจากกล้อง 4 ตัวที่ติดอยู่บนโทรศัพท์ ในขณะที่จีนเจ้าของแบรนด์มีสัดส่วน 38% จากชิ้นส่วน 80 รายการ สหรัฐฯ 16% จากชิ้นส่วน 16 รายการ ไต้หวันและเกาหลีใต้อยู่ที่ 8% จำนวนชิ้นส่วนอยู่ที่ 562 และ 83 รายการ นั่นหมายถึงว่าความสำคัญของญี่ปุ่นต่อตลาดสินค้านวัตกรรมนั้นยังคงมีอยู่

ทั้งนี้ การสอดไส้ของญี่ปุ่นไม่ได้มีแต่ในธุรกิจสมาร์ทโฟน เพราะในห่วงโซ่อุปทานโลกในอุตสาหกรรมหลายอย่าง ญี่ปุ่นยังคงเป็นผู้เล่นคนสำคัญ เช่น ตลาดมอเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมเบาะนั่ง หน้าต่าง ที่ปัดน้ำฝน พวงมาลับพาวเวอร์ คาร์บอนไฟเบอร์หรือเซ็นเซอร์ประสิทธิภาพสูง เหล่านี้ญี่ปุ่นยังคงครองส่วนแบ่งในตลาด 40-80% ในอุตสาหกรรมส่วนประกอบทางการแพทย์หรืออุปกรณ์สำนักงานญี่ปุ่นก็ยังมีส่วนแบ่งในตลาดค่อนข้างสูง ถึงแม้จะเป็นตลาดขนาดเล็ก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความจำเป็นต่อการผลิตสินค้า และแน่นอนความเชี่ยวชาญต่างเชื่อมั่นและเชื่อใจว่าสินค้าญี่ปุ่นมีคุณภาพดี ทำให้ธุรกิจอยู่ได้และเติบโตได้

นอกจากนี้ ความเป็นจริงแล้วคนญี่ปุ่นไม่ได้เดือดร้อนกับการที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจของเขาจะโตแค่ 1-2% นะครับ แต่สิ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากกว่าคือกระบวนการและความต่อเนื่องต่างหาก กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ประเมินผลกระทบของประเทศญี่ปุ่นต่อโลกผ่านการรวมตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยศึกษาส่วนแบ่งการตลาดโดยรวมทั่วโลก ของบริษัทญี่ปุ่นในกลุ่มผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนตั้งต้นหลายประเภท ข้อสรุปจากการสำรวจนี้พบว่า แม้ว่าญี่ปุ่นจะสูญเสียตลาดเครื่องใช้ในครัวเรือนไปค่อนข้างมาก แต่ยังคงได้เปรียบในธุรกิจต้นน้ำ โดยครองตลาดชิ้นส่วนได้ 51% และตลาดวัตถุดิบได้มากถึง 70% และแม้ว่าจีนซึ่งถือว่าเป็นโรงงานของโลกจะมีนโยบาย Made In China 2025 อัพเกรดแบรนด์จีนให้น่าเชื่อถือ ในขณะที่เกาหลีใต้พยายามครองส่วนแบ่งของการเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและโทรทัศน์ของโลก หรือไต้หวันที่ต้องการเป็นเจ้าแห่งการผลิตชิพคุณภาพสูง แต่ทั้งหมดนี้หากไปดูไส้ใน ทุกคนยังต้องพึ่งพาญี่ปุ่นชนิดที่เรียกว่าต้องงอนง้อกันเลยทีเดียว

สิ่งที่น่าสนใจต่อจากนี้คือ ญี่ปุ่นหลังยุคของชินโสะ อาเบะ ความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจะยังทำได้ต่อเนื่องมากเพียงใด แรงงานที่ลดลงจะสามารถทำให้ญี่ปุ่นจะแข่งขันได้ในช่วง 10 ปีต่อจากนี้หรือไม่ เราต้องเอาใจช่วยเขาพอๆ กับเอาใจช่วยตัวเราให้หา(ซอฟต์หรือฮาร์ด)พาวเวอร์ของเราให้เจอสักที

  


ส่วนหนึ่งของบทความนี้สรุปความมาจากหนังสือของ ดร.อูริเก เชเด(Ulrike Schaede) ชื่อ ‘The Business Reinvention of Japan: How to Make Sense of the New Japan and Why It Matters’ หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล Ohira Memorial Prize ในปี 2021 ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิ Masayoshi Ohira Memorial Foundation และเหรียญเงินจาก Axiom Business Book Awards ประจำปี 2021 ในสาขาเศรษฐศาสตร์   

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save