fbpx
เปิดโลก 'รังสีรักษา' กับ พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ

เปิดโลก ‘รังสีรักษา’ กับ พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

แพทย์หญิงปฐมพร ศิรประภาศิริ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขารังสีวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์

เธอเข้าสู่โลกของรังสีรักษาจากการดูแลคนไข้ที่ต้องใช้บริการฉายรังสี ซึ่งกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ป่วยเป็นมะเร็ง–และแม้หลายคนมองว่าหมอมะเร็งค่อนข้างน่าหดหู่ แต่เธอออกตัวว่าเธอชอบดูแลรักษาคนไข้กันไปนานๆ

“การรักษาโรคหวัดมาพบแพทย์ครั้งเดียวก็หาย แต่หมอชอบดูแลคนไข้ในกลุ่มโรคเรื้อรัง หรือ chronic disease ถ้ารักษากันครั้งเดียว เราก็จะลืมกันไป แต่ถ้าได้พบกันบ่อยขึ้น ยาวนานขึ้น ก็มีความคุ้นเคยกัน ได้รู้จักครอบครัว” 

“เมื่อถึงปลายทางชีวิต คำแนะนำจึงไม่ใช่ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ แต่เป็นคำแนะนำจากลูก หลาน เพื่อน พี่น้อง เพื่อป้องกันการยื้อชีวิตในระยะท้ายที่มักจะสร้างความทุกข์ทรมานด้วย เรียกว่าจะทำบุญแล้วก็ควรมีโอกาสทำให้ครบถ้วน”

“โรคมะเร็งมักทำให้คนเราเห็นคุณค่าของชีวิต สิ่งที่หมอรู้สึกคืออยากใช้เวลาช่วยคนที่เขาเห็นคุณค่าของชีวิต ตั้งแต่เรียนเป็นนักเรียนแพทย์หมอชอบคุยกับคนไข้ คนไข้หลายคนนอกจากจะเป็นผู้ที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้โรคแล้ว คนไข้ยังช่วยให้เราเรียนรู้โลกด้วย”

ข้างต้นคือคำอธิบายของเธอที่ระหว่างบรรทัดเต็มไปด้วย passion ของวิชาชีพ คำถามก็คือ แล้วโลกของรังสีรักษา เกี่ยวพัน-สำคัญกับคนไทยอย่างไร ทำไมคนป่วยมะเร็งถึงต้องฉายแสง และแสงรังสีนั้นเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งอย่างไร

มากไปกว่านั้น หากมองในความก้าวหน้าทางการแพทย์ หมุดหมายของศาสตร์ด้านรังสีในประเทศไทยมาถึงแล้ว หนทางข้างหน้าของกลุ่มงานด้านรังสีต้องเผชิญความท้าทายอะไร

คำอธิบายทั้งหมดของเธออาจไม่ได้สะท้อนแค่เพียงลำแสงรังสีเท่านั้น แต่อาจฉายไปกระทั่งวงการสาธารณสุขไทยด้วย

แพทย์หญิงปฐมพร ศิรประภาศิริ

การดูแลคนป่วยแบบระยะยาวมีตั้งหลายทาง ทำไมคุณหมอเลือกมาทางรังสีรักษา

รังสีรักษามีเสน่ห์ตรงที่ใช้ภาพทางรังสีมาวางแผนการรักษาในระบบคอมพิวเตอร์ หมอจะได้วาดรูปด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งหมอชอบวาดรูปอยู่แล้ว และรังสีรักษาเป็นวิชาที่ไม่ตาย แต่ยังมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว 

พอทำรังสีรักษา สิ่งหนึ่งที่เราได้พ่วงมาด้วยก็คือการรักษาแบบประคับประคอง เราพอจะประมาณได้ว่าคนไข้แต่ละคนมีช่วงเวลาเหลือเท่าไหร่ และเราสามารถช่วยให้คนไข้และญาติร่วมกันวางแผนชีวิตได้ 

ไม่ว่าจะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย เราก็ควรมีการเตรียมตัววางแผน อย่างเช่น การตั้งครรภ์ ก่อนตั้งครรภ์เราก็อยากวางแผนให้ท้องตอนพร้อม และเรามีเวลาเตรียมตัว 9 เดือน ไม่ใช่จู่ๆ พรุ่งนี้มีลูกเกิดมาเลย ดังนั้นการเตรียมการมาก่อนล่วงหน้า ก็จะทำให้คนที่จะจากไป ได้จากไปอย่างสงบ ไม่กังวล และคนที่ยังอยู่ต่อก็ยอมรับได้ ไม่ทุกข์จนเกินไป การดูแลแบบประคับประคอง หรือ palliative care เป็นศิลปะของการดูแลคนไข้ในโรคที่เป็น life threatening

พอต้องอยู่กับโรคที่สุดท้ายคนไข้หนีความตายไม่ได้ ความท้าทายในฐานะแพทย์คืออะไร

เราทำให้เขาอยู่ได้นานที่สุดเท่าที่ร่างกายเขาจะอยู่ได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ ถ้าถึงเวลาที่ร่างกายและอวัยวะต่างๆ ของเขาไม่ไหวแล้วเราก็จะทำตามความประสงค์สุดท้ายของคนไข้ หรือ last wish ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ประสงค์จะให้ยื้อความทุกข์ทรมาน 

คนไข้กลุ่มที่เป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และมีการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็งเข้าไปที่ตับ ปอด สมอง กระดูก แบบนี้ร่างกายไม่ไหวแล้ว ญาติบางคนก็ไม่ยอมให้คนไข้หยุดหายใจ เมื่อเขาหยุดหายใจก็ปั๊มหัวใจ ใส่ท่อช่วยหายใจ สายระโยงระยาง แบบนี้เราไม่ค่อยจะทำกันในหมู่หมอโรคมะเร็ง 

ถ้าเป็นคนไข้อุบัติเหตุ หรือโรคที่อวัยวะสำคัญจะกลับมาทำงานได้ เราควรยื้อ เพราะร่างกายโดยรวมของเขายังสมบูรณ์ เราสามารถรักษาให้เขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ ถ้าถามว่าหมอกลัวความตายไหม หมอไม่กลัว เพราะทุกคนจะกลัวกับสิ่งที่ต้องเกิดแน่ๆ ทำไม 

คุณพ่อของหมอเป็นหมอนิติเวช หมอจึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่หมอก็ไม่เร่งให้เกิดขึ้น และไม่ยื้อออกไป หมอส่วนหนึ่งเมื่อต้องมาสู้กับโรคที่คนไข้มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลังการรักษาแล้วก็ไม่ค่อยชอบ จึงเลือกไปรักษาโรคที่ทำให้หายขาดแทน แต่หมอละคนก็มีเหตุผลต่างกันไป

กล่าวเฉพาะรังสีรักษา อยากให้คุณหมอเล่าให้ฟังว่ามีพัฒนาการมาอย่างไร วงการแพทย์ค้นพบว่าใช้รักษาคนได้ตั้งแต่เมื่อไหร่

รังสีถูกค้นพบมากกว่าร้อยปีแล้วในต่างประเทศ ตั้งแต่การเอกซเรย์ ที่ถูกนำมาใช้ในการดูภาพถ่ายเพื่อวินิจฉัยโรค ต่อมา แมรี่ คูรี (Marie Curie) นักฟิสิกส์ที่สนใจด้านแร่กัมมันตรังสี ทำการศึกษาพบว่ารังสีทำให้ก้อนมะเร็งยุบได้ในช่วงประมาณปี 1890 โดนแร่กัมมันตรังสีที่ใช้สมัยเริ่มการรักษาคือ ‘แร่เรเดียม’ แมรี่เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล เธอได้รับรางวัลทั้งในสาขาฟิสิกส์ และสาขาเคมี เป็นคนเดียวที่ได้รับรางวัลโนเบลสองสาขา

เวลานี้ เท่าที่คุณหมอติดตาม ความก้าวหน้าของรังสีรักษาทำให้คุณภาพชีวิตคนไข้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

คนไข้โรคมะเร็งมีวิธีรักษาหลายวิธีประกอบกัน จะเริ่มจากการวินิจฉัยที่ถูกต้องเพื่อให้ทราบชนิดของเซลล์มะเร็ง ด้วยการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ตามด้วยการตรวจทางรังสีเพื่อกำหนดระยะโรค แล้วไปประเมินว่าต้องรักษาด้วยวิธีไหนต่อ

หมอในประเทศไทยจะรักษาตามขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานสากลต่อเนื่องกันไป ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นการรักษาวิธีแรก ด้วยการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออกไปให้มากที่สุด ถ้าเอาก้อนออกไม่หมดหรือเอาออกไม่ได้ หรือมีข้อห้ามของการผ่าตัด หรือผลการศึกษาวิจัยบอกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่นดีกว่า ก็จะรักษาด้วยวิธีอื่น

การรักษาด้วยวิธีที่สองคือให้เคมีบำบัด โรคและระยะของโรคจะกำหนดว่าหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาเคมีหรือไม่ แม้ว่าจะผ่าตัดออกหมดแล้วก็ตาม แต่เมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ผู้ป่วยก็ต้องให้ยาอยู่ดี ข้อบ่งชี้และมาตรฐานสากลเกิดจากผลการศึกษาวิจัย ที่บอกว่าให้ยาเคมีด้วยแล้วระยะเวลาการรอดชีวิตจะยาวขึ้น ยาเคมีบำบัดในปัจจุบันจะมียากลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มยาต้านฮอร์โมน กลุ่ม Target therapy และ Precision medicine หรือการผลิตยาเพื่อทำลายเซลล์ที่ผิดปกติเฉพาะรายด้วย

การรักษาวิธีที่สามคือกลุ่มของการรักษาด้วยรังสี ประกอบด้วยรังสีรักษา เวชศาสตร์นิวเคลียร์ หรือที่บางคนเรียกว่ากลืนแร่ และรังสีร่วมรักษา สาขานี้คนฟังมักสับสนและเข้าใจว่าเหมือนกับรังสีรักษา แต่ความจริงต่างกันมาก ส่วนผู้ป่วยคนไหนจะได้รับรังสีบ้างก็เป็นไปตามมาตรฐาน และผลการวิจัยเช่นเดียวกัน

แพทย์หญิงปฐมพร ศิรประภาศิริ

ทำไมรังสีรักษาถึงมาเป็นส่วนประกอบในการรักษามะเร็ง ร่วมกับการผ่าตัดและเคมีบำบัด มันสามารถเป็นการรักษาทางหลักได้ไหม

ปัจจุบันมะเร็งส่วนใหญ่แทบไม่มีรังสีรักษาเพียงอย่างเดียว ยกเว้นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น โรคมะเร็งเนื้อสมองที่ผ่าไม่ได้ และยาเคมีเข้าไม่ถึง โรคมะเร็งบริเวณอื่นที่ใช้รังสีรักษาเพียงอย่างเดียวมีน้อย มักเป็นเนื้องอก ไม่ใช่โรคมะเร็ง เช่น การฉายรังสีใส่เนื้องอกเยื้อหุ้มสมอง เนื้องอกของหูชั้นใน ฉายรังสีอย่างเดียวได้

รังสีรักษาเป็นวิธีการรักษาหลักได้ในบางโรค เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งกล่องเสียง เวลาหมอจะเลือกวิธีการรักษาไหนเป็นทางหลัก การรักษาร่วม ก่อนหรือหลัง ก็จะทำตามมาตรฐานและผลการศึกษาวิจัยอย่างที่กล่าวมาแล้ว 

ในการรักษามะเร็ง รังสีรักษากับเคมีจะทำลายการแบ่งตัวของเซลล์คนละจุด จึงมักให้การรักษาร่วมกัน หรือเรียงลำดับต่อกัน เช่นการรักษามะเร็งปากมดลูก ก็ใช้รังสีรักษาและเคมีบำบัดควบคู่กันไป ฉายรังสีสัปดาห์ละ 5 วัน และให้ยาเคมีสัปดาห์ละครั้งในวันที่ฉายรังสีวันใดวันหนึ่ง

คนป่วยส่วนใหญ่ที่ต้องพึ่งพารังสีรักษา ไม่ค่อยรู้ว่ากลไกมันทำงานแบบไหน เวลาเข้าไปในเครื่องฉาย รังสีมันทำงานยังไง

รังสีที่ใช้ในรังสีรักษาเป็นคนละชนิดกับรังสีที่ใช้เอกซเรย์ เพราะมีปริมาณรังสีสูงกว่ามาก ในรังสีรักษานิยมใช้รังสีสองชนิด แบบแรกคือรังสีโฟตอน แบบที่สองคือรังสีอิเล็กตรอน ชนิดใหม่ที่กำลังจะมีในประเทศคือรังสีโปรตอน

รังสีมีต้นกำเนิดมาจากสองทางหลักๆ คือการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นรังสี อีกแบบคือแร่กัมมันตรังสี เช่น โคบอลต์ 60 รังสีทุกประเภททำงานเหมือนกันคือ เข้าไปทำให้ออกซิเจนในเซลล์เกิดการแตกตัว เป็นสารอันตราย และทำลายการแบ่งตัวของเซลล์ เมื่อเซลล์แบ่งตัวไม่ได้ เซลล์ก็จะตาย สลายเข้าสู่เส้นเลือด แล้วขับออกไปโดยผ่านกลไกของร่างกายในตับและไต 

วิธีการสลายตัวของเซลล์จะตายจากผิวด้านนอกของก้อนมะเร็งก่อน เพราะเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดไปเลี้ยงมาก คือบริเวณที่ออกซิเจนเยอะ ในขณะที่เซลล์ปกติโดยรอบ ถามว่าโดนรังสีไหมก็โดน แต่เซลล์ปกติมีคุณสมบัติในการซ่อมแซมตัวเองได้ แต่เซลล์มะเร็งซ่อมแซมตัวเองไม่ได้ หลังฉายรังสีก้อนมะเร็งในกลุ่มที่ไม่ดื้อต่อรังสี จะค่อยๆ เล็กลงจนหมดไป 

ถ้ารังสีเข้าไปทำงานกับเซลล์มะเร็ง ทำไมคนรักษาด้วยรังสีส่วนใหญ่ถึงมีผิวหนังที่ไหม้ดำ

อย่างที่บอกไปแล้ว รังสีมีทางเข้าออกของรังสีผ่านผิวหนัง และเซลล์โดยรอบก็ยังได้รับรังสี ผลของการฉายรังสีเกิดได้ดีในเซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว เช่น เซลล์มะเร็ง เซลล์ไขกระดูกที่สร้างเม็ดเลือด เซลล์เยื่อบุช่องปาก หลอดอาหาร ผนังลำไส้ ตลอดจนถึงทวารหนัก และเซลล์ผิวหนัง เซลล์ประเภทนี้จะ sensitive ต่อรังสี เมื่อได้รับรังสีในระหว่างการรักษามะเร็ง จึงมีผลข้างเคียงได้เร็ว ผิวหนังเป็นสิ่งที่มองเห็นง่าย จึงเห็นว่าผิวจะแดงขึ้น เปลี่ยนเป็นสีดำและลอก แต่จะกลับเป็นปกติหลังรักษาครบประมาณ 3-6 เดือน

ส่วนเหตุผลที่ปากเจ็บ เพราะมันเป็นเซลล์เยื่อบุ มีอาหารผ่านตลอดเวลา เมื่อกระทบการกินอาหาร จึงทำให้เรารู้สึกว่ารังสีรักษามีผลข้างเคียงมาก ส่วนคนไข้ที่ต้องฉายรังสีบริเวณท้อง จะมีอาการท้องเสียเพราะเยื่อบุมันหลุดลอกไป กลุ่มนี้ห้ามรับประทานอาหารรสเปรี้ยวและเผ็ด เพราะจะทำให้เยื่อบุอักเสบรุนแรงขึ้น ผลข้างเคียงจะเยอะขึ้นตามมาด้วย

หมอบอกคนไข้ที่ฉายรังสีให้เข้าใจง่ายๆ ภาษาชาวบ้านคือห้ามกินแกง ต้มยำ น้ำพริก และทุกอย่างที่มีพริก แม้กระทั่งน้ำปลาพริก และห้ามปรุงก๋วยเตี๋ยว และห้ามกินน้ำจิ้มผลไม้ที่มีพริกด้วย 

ส่วนรสเปรี้ยวก็ต้องกำชับกันว่าห้ามกินมะนาว น้ำส้มสายชู น้ำมะขาม น้ำผลไม้ รวมทั้งผลไม้รสเปรี้ยวทุกชนิด น้ำผลไม้ที่ไม่ได้ทำเองและมีรสหวาน ก็อาจจะเกิดจากการปรุงรส แต่ความเป็นกรดในน้ำผลไม้นั้นยังอยู่และเข้าไปทำลายเซลล์เยื่อบุได้

สำหรับไขกระดูกที่สร้างเม็ดเลือดซึ่งแบ่งตัวเร็ว ก็จะต้องมีการตรวจติดตาม เพราะมองไม่เห็นจากภายนอกและรู้สึกไม่ได้ คนไข้ที่ฉายรังสีต้องเจาะเลือดตรวจทุกสัปดาห์ เพื่อดูว่าผลของการฉายรังสีไปทำให้การแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดลดลงไหม ถ้าต่ำลงก็ต้องพักการฉายรังสีชั่วคราว ในขณะที่ถ้าเป็นเซลล์กล้ามเนื้อซึ่งแบ่งตัวช้า เซลล์กระดูกแทบไม่แบ่งตัวเลย หลังจากร่างกายโตเต็มที่ก็จะไม่เกิดผลข้างเคียงจากการฉายรังสี 

รังสีรักษาเข้ามาในวงการแพทย์ไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ สมัยนั้นเครื่องฉายต่างจากปัจจุบันแค่ไหน

ในประเทศไทยรังสีรักษาเริ่มเข้ามาประมาณ 60 ปีที่แล้ว อาจารย์รุ่นแรกๆ ก็เกษียณไปกันหมดแล้ว หลายท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังมาร่วมงานประชุมวิชาการประจำปี

ช่วงเริ่มต้นของรังสีรักษาในประเทศไทย หมอจะกำหนดขอบเขตของก้อนมะเร็งจากการดูและคลำก้อนว่าน่าจะอยู่ตรงไหน หมอรุ่นแรกจะขีดเส้นเผื่อขอบเขตให้ลำรังสี และคำนวณปริมาณรังสีที่จะให้แต่ละครั้งด้วยหนึ่งสมองกับสองมือของแพทย์ เครื่องที่ใช้เป็นกลุ่มที่พลังงานต่ำ และเป็นเครื่องที่ใช้แร่กำเนิดรังสีโคบอล์ต

ต่อมาไม่นาน การวางแผนฉายรังสีก็เป็นแบบสองมิติ มีเครื่องจำลองการฉายรังสีหรือ Simulator ช่วยถ่ายเอกซเรย์แบบสองมิติ ได้ภาพขาวดำ เห็นกระดูกกับเนื้อเยื้อมาช่วยในการขีดเส้นกำหนดตำแหน่งรังสีบนตัวคนไข้ และคำนวณปริมาณรังสีด้วยหนึ่งสมองและสองมือเช่นเดิม

ต่อมาเริ่มมีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาช่วยแพทย์ทำงานในการคำนวณปริมาณรังสี เราเรียกผู้ช่วยคนสำคัญนี้ว่า ‘นักฟิสิกส์’ เริ่มมีเครื่องคิดเลขแบบทีม มีสูตรเข้ามาช่วย และในบางแห่งก็ออกแบบระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยคำนวณกันเองในสถาบัน 

การให้รังสีแบบสองมิติทำได้แนวเดียว หรือสองแนวที่ตั้งฉากกัน ไม่สามารถกำหนดแนวของลำรังสีในองศาแบบอื่น เพราะไม่สามารถคำนวณปริมาณรังสีได้ และเครื่องฉายรุ่นเก่าก็ให้รังสีได้เป็นรูปสี่เหลี่ยมเท่านั้น ถ้าอยากให้รังสีออกมาเป็นรูปทรงอื่น ต้องใช้ตะกั่วมาหล่อให้เป็นทรง เพื่อปิดและควบคุมทิศทางให้ลำรังสีไปอยู่ที่ก้อนเนื้อ ต่อมาก็เริ่มมีเครื่องฉายรังสีพลังงานสูงที่เกิดจากการเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าเป็นรังสี เรียกว่า Linear accelerator หรือ LINAC 

ยุคต่อมามีการพัฒนาเทคโนโลยีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่เรียกกันว่า CT Scan รังสีรักษาของเราก็พัฒนา CT Simulation เป็นการจำลองการฉายรังสีจากภาพเอกซเรย์ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งช่วยทำให้หมอเห็นภาพอย่างละเอียด แล้วหมอก็จะวาดตำแหน่งที่เป็นก้อนเนื้อในคอมพิวเตอร์ และทิศทางของรังสีก็เข้าได้มากขึ้นจากสองแนว สามารถฉายรังสีได้ถึง 360 องศารอบตัวคนไข้  เพราะมีเครื่องวัดรังสีแบบสามมิติที่ทันสมัยที่ช่วยตรวจสอบความถูกต้องได้ และเครื่องฉายรังสีก็พัฒนาขึ้น สามารถให้รังสีเป็นรูปทรงต่างตามต้องการได้ 

เราไม่ต้องหล่อตะกั่วแล้ว LINAC เดิมที่มีแผ่นปิดรังสีแผ่นเดียวเป็นแผ่นใหญ่ๆ ก็เริ่มมีการซอยแผ่นกั้นรังสีเป็นซี่ย่อยๆ เหมือนมูลี่ แล้วก็สั่งได้ว่าซี่ไหนจะเคลื่อนไปบังรังสีที่ตรงไหน ทำให้สามารถสั่งให้ลำรังสีเป็นรูปทรงต่างๆ ตามรูปร่างของก้อนได้ และการวางแผนมีเครื่องคอมพิวเตอร์วางแผนการรักษาตามคำสั่งแพทย์และนักฟิสิกส์ เป็นการวางแผนไปข้างหน้า หรือ Forward planning

พอมาถึงยุคนี้ มีการพัฒนามากขึ้น มนุษย์ไม่ต้องกำหนดแล้วว่าจะให้รังสีอย่างไร เพื่อให้ได้ผลลัพธ์รังสีไปรวมที่ก้อนมะเร็งตามต้องการ เมื่อหมอวาดก้อนมะเร็งในคอมพิวเตอร์เสร็จ ก็สั่งเครื่องว่าผลลัพธ์รังสีรวมบริเวณไหนต้องได้รังสีเท่าไหร่ เครื่องก็จะไปคำนวณให้เรา เพื่อให้ได้ลำรังสีออกมาในรูปที่สวย และใกล้เคียงกับก้อนมะเร็งในปริมาณสูงสุดที่ปลอดภัย แต่เครื่องจะคิดนาน หลายชั่วโมงอยู่ ก็ต้องทำหุ่นจำลองที่สามารถวัดปริมาณรังสีแบบสามมิติ แล้ววัดรังสีได้ตรงกันกับแผนก่อนฉายคนไข้จริง

ทุกวันนี้เครื่องฉายรังสีแบบสองมิติเลิกผลิตแล้ว สำหรับประเทศไทยทุกโรงพยาบาลที่ให้บริการ มีเครื่องฉายรังสีแบบสามมิติแล้ว และทางสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย ก็สนับสนุนให้ปรับมาตรฐานการฉายรังสีในประเทศเป็นสามมิติด้วย 

ตอนที่หมอเรียนแพทย์ประจำบ้าน ยังทันเรียนแบบสองมิติ แต่น้องๆ แพทย์ประจำบ้านรุ่นใหม่ได้เรียนด้วยเครื่องสามมิติ และเครื่องที่พัฒนาไปมากกว่านั้น เช่น Cyber Knife ที่รังสีเข้าได้ทุกทิศทางเหมือนลูกบอล เครื่องล่าสุดที่กำลังจะเข้ามาคือ Proton Therapy สำหรับประเทศไทย การรักษาด้วยรังสีรักษาเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีการควบคุมกำกับโดยหน่วยงานต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

เคยได้ยินคำพูดที่ว่า คนไข้ไม่ได้ตายเพราะโรค แต่ตายเพราะวิธีการรักษา คุณหมอคิดอย่างไร

รังสีรักษาทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีอัตราการรอดชีวิตดีขึ้นมาก ในระยะแรกคนไข้ส่วนหนึ่งอาจเสียชีวิตจากโรคของตนเอง อีกส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากผลข้างเคียงของการฉายรังสี เนื่องจากเทคนิคที่ทำมีข้อจำกัดตามเครื่องมือที่มี สมัยก่อนอาจมีคนไข้เป็นมะเร็งปากมดลูก เกิดผลข้างเคียงด้วยการปัสสาวะเป็นเลือด แต่ปัจจุบันก็ไม่มีแล้ว

ปัจจุบันเครื่องจำลองการฉายรังสี เครื่องฉายรังสี เครื่องวางแผน และแนวทางการรักษาพัฒนาไปมาก แนวทางการรักษาจะมีระบุไว้เลยว่าโรคอะไรให้รังสีปริมาณเท่าไร บริเวณไหนห้ามฉายรังสีเกินปริมาณเท่าไหร่ที่ปลอดภัย ไม่มีใครทำการรักษานอกแนวทาง

ก่อนที่จะได้รับการฉายรังสี คนไข้ต้องถูกประเมินสภาพความพร้อมของร่างกายก่อน ว่าจะรับรังสีปริมาณสูงได้หรือเปล่า ซึ่งไม่ใช่แค่การดูด้วยตาภายนอกแล้วมาบอกว่าพร้อม ต้องมีการตรวจการทำงานของอวัยวะภายในด้วย เช่น การสร้างเม็ดเลือด การทำงานของตับและไต หากร่างกายไม่พร้อม แพทย์ก็ไม่ได้ฉายรังสีให้

นอกจากนี้ กรณีที่ก้อนมะเร็งอยู่ที่ก้านสมอง ไขสันหลัง ไต ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่ทนรังสีได้จำกัด ก็อาจจะไม่สามารถใช้รังสีปริมาณสูงในการรักษาให้หายขาดได้

การใช้รังสีรักษามีหลายขั้นตอน ทุกขั้นตอนก็มีวิวัฒนาการมาต่อเนื่อง มีการเพิ่มขั้นตอนการควบคุมความปลอดภัยเพิ่มขึ้น การที่คนไข้เสียชีวิตโดยตรงจากการฉายรังสีจึงไม่เกิดแน่ๆ แต่เรื่องผลข้างเคียงบวกกับปัญหาด้านจิตใจของผู้ป่วย อาจทำให้คนไข้ได้รับอาหารไม่พอแล้วโทรมลง และเสียชีวิต กรณีแบบนั้นเป็นปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน หรือบางครั้งหลังฉายรังสีไปแล้ว คนไข้กลับมาเป็นซ้ำที่เดิม หรือมีโรคแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น คนไข้กลุ่มนี้จะเสียชีวิตจากอาการที่ตามมาทีหลัง

เมื่อรักษามาจนถึงเพดานหรือข้อจำกัดของคนไข้ ในฐานะหมอรังสีรักษา ต้องทำอย่างไร

วิธีการรักษามะเร็งไม่ได้มีอยู่วิธีเดียว หมอรังสีรักษาต้องดูว่ามีสาขาอื่นที่อาจรักษาอาการของคนไข้ได้หรือไม่ เราก็ต้องปรึกษาเขา มีการประชุมร่วมกันระหว่างหมอแต่ละฝ่ายเพื่อดูว่าใครจะทำอะไร และผลของการรักษาจะเป็นอย่างไร เราก็จะช่วยกันทำให้การรักษานั้นเป็นไปได้จนถึงที่สุด ตามความประสงค์ของคนไข้ หากหมอทุกคนบอกว่าไม่มีการรักษาที่ดีกว่านี้ให้เขาแล้ว ก็ยังเหลือการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ 

การดูแลแบบประคับประคอง หรือ palliative care เป็นแนวทางหนึ่งในการรักษาโรคที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดว่าประเทศสมาชิกต้องมีขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิตให้ทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วนน้อยที่สุด 

ในเมื่อสุดท้ายทุกคนหนีความจริงที่ว่ามีเกิดย่อมมีดับ คนไข้ก็มีสิทธิเลือกการรักษาต่อหรือขอไม่ยื้อชีวิต สำหรับประเทศไทยเรามีกฎหมายมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550  คือ บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

หมอรังสีรักษาทุกคนเรียนรู้เรื่องนี้จากการฝึกอบรมตอนเรียนแพทย์ประจำบ้าน และช่วยเหลือคนไข้ตามแนวทางที่คนไข้และครอบครัวต้องการ ในแง่นี้จึงไม่มีคำว่าเพดานสำหรับเรา คนไข้ส่วนใหญ่ก็อยากให้หมอคนเดิมที่ดูแลอาการมาตลอด เป็นคนดูแลไปเรื่อยๆ มากกว่าส่งคนไข้ไปให้หมออีกคนที่ไม่ได้ดูแลเขามา ซึ่งเป็นเรื่องที่พบปกติ

แต่ในบางครั้งคนไข้บ้านไกล โรงพยาบาลที่มีเครื่องฉายรังสีจะเป็นโรงพยาบาลใหญ่ที่แออัด เราอาจจะส่งกลับไปให้เครือข่ายในพื้นที่โรงพยาบาลใกล้บ้านช่วยดูแล ทีม palliative care ของพื้นที่จะลงเยี่ยมถึงบ้าน

แต่ไม่ใช่คนไข้ทุกคนจะได้เลือกหมอที่สามารถดูแลตัวเองไปจนตลอดรอดฝั่ง เป็นไปได้หรือที่คนไข้ทุกคนจะสนิทใจกับหมอที่รักษาตัวเอง

คนไข้ที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพคงเลือกหมอยากหน่อย และการเลือกไปตลอดทางยิ่งยากมากขึ้น เพราะระบบจะรวนไปหมด

ส่วนคนไข้จะสนิทกับหมอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราได้คุยเรื่องสำคัญในการรักษามะเร็งด้วยกันอย่างเปิดใจ เชื่อใจหรือไม่ คือการที่คนไข้ได้คุยกับหมอ ได้รับทราบโรคในขณะนั้น อาการของโรคในขั้นต่อไป และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจพร้อมๆ กับคนในครอบครัว ช่วยกันตัดสินใจในทางเลือกการรักษา และผลเป็นไปอย่างที่หมอได้แจ้งไว้แต่แรก มันจะสร้างความสนิท คุ้นเคย และความศรัทธาระหว่างกันได้

ทั้งนี้คนไข้จะสนิทกับหมอ จะเชื่อหรือไม่เชื่อหมอ และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนหรือถามอะไร ก็ขึ้นอยู่กับศิลปะในการดูแลคนไข้ของหมอแต่ละคน อารมณ์หรือความรู้สึกของคนไข้แต่ละคนที่มีกับหมอก็ต่างกัน ความสนิทสนมหรือดูแลได้ทุกคนอย่างใกล้ชิด จึงไม่ใช่ความเสมอภาคที่วัดกันได้ด้วยตัวเลข 

สิ่งที่คนไข้จะได้รับเสมอภาคกันคือ ถ้าคนไข้มีอาการที่เหมือนกัน หมอต้องให้การรักษาทุกคนได้แบบเดียวกัน ถ้าคนไข้คนนั้นไม่มีข้อจำกัด เช่น แพ้ยา สำหรับคนไข้มะเร็ง เขาไม่ได้มีหมอรังสีรักษาเพียงแค่คนเดียว เขายังมีหมอผ่าตัด หมอเคมีบำบัด เราก็หวังว่าในบรรดาหมอที่ดูแลเขา เขาอาจจะรู้สึกดีพร้อมจะปรึกษาด้วยความศรัทธากับใครสักคน

ความเข้าใจของคนป่วยมะเร็งส่วนใหญ่ มักเข้าใจว่าจะเจอหมอรังสีรักษาเป็นคนสุดท้ายหรือเปล่า

การรักษาทุกอย่างมีลำดับตามมาตรฐานสากล ทุกสาขาที่เกี่ยวกับมะเร็งจะใช้ลำดับมาตรฐานการรักษาเดียวกัน ซึ่งมีงานวิจัยรับรอง ในมาตรฐานจะระบุเหตุผลว่าอ้างอิงจากงานวิจัยใด พร้อมความน่าเชื่อถือของงานวิจัย

มะเร็งส่วนใหญ่ต้องผ่าตัดก่อน ลำดับต่อไปเป็นเรื่องของเคมีบำบัด ส่วนรังสีรักษาทำทีหลัง เพราะหลังฉายรังสีแล้วแผลผ่าตัดจะหายยาก หมอผ่าตัดจะไม่ชอบ เราก็ไม่ชอบ 

ที่ให้รังสีรักษาหลังเคมีบำบัด เพราะการรักษาด้วยรังสีรักษาใช้เวลานาน บางครั้งทำให้ไขกระดูกของคนไข้ถูกทำลาย ทำให้ต้องเลื่อนเคมีบำบัดนานไปด้วย 

ถ้าต้องการเปลี่ยนลำดับมาตรฐานที่กำหนดไว้ ต้องทำงานวิจัยเพื่อให้มีหลักฐานข้อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยได้ประโยชน์มากกว่า อย่างถูกต้องตามหลักการวิจัยที่ดี จริยธรรมแพทย์ และกฎหมาย 

ที่ผ่านมาเคยมีการเปลี่ยนลำดับในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่สำเร็จ โดยเปลี่ยนจากการผ่าตัดก่อนแล้วฉายรังสี เป็นการให้รังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัดเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็ง แล้วจึงผ่าตัดเก็บทวารหนักไว้ หลังการรักษาคนไข้ยังขับถ่ายทางปกติได้ ไม่ต้องเปิดถุงหน้าท้อง 

แพทย์หญิงปฐมพร ศิรประภาศิริ

ในทางการแพทย์ ปัจจุบันรังสีรักษาเจอความท้าทายอะไรใหม่ๆ บ้าง

ความท้าทายเป็นเรื่องของเทคโนโลยี เนื่องจากเราไม่ได้ใช้ยา เราก็ต้องดูว่าเทคโนโลยีแบบไหนที่ให้ผลการรักษาได้ดีที่สุด ก็คือทำให้ก้อนมะเร็งยุบได้มากที่สุด และอวัยวะโดยรอบมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด

วันนี้ประเทศไทยสามารถรักษาได้แบบสี่มิติ คือ เข้าได้ทุกทิศทาง ขยับหัวเครื่องฉายรังสีตามการเคลื่อนที่ของอวัยวะภายในและจังหวะการหายใจ ถ้าเทียบกับสากลเราไม่ได้ล้าหลัง ทั้งชนิดและการกระจายตัวของเครื่องฉายรังสี เรามีเครื่องตั้งแต่หลักสิบล้านบาท ไปจนถึงพันล้านบาท ไม่ได้หมายความว่าทุกโรคต้องใช้เครื่องฉายรังสีแพงถึงจะรักษาหายนะ แต่ละโรคมีข้อบ่งชี้สำหรับการเลือกเครื่อง

สิ่งที่เครื่องมีความต่างกันคือ ความแม่นยำในการฉายรังสีที่ก้อนมะเร็ง การทำให้รังสีโดนบริเวณอื่นน้อยที่สุดเพื่อลดผลข้างเคียง ในต่างประเทศ โรคทั่วไปเขาก็ใช้เครื่องแบบที่เราใช้กัน ส่วนเครื่องพันล้านก็เน้นไปที่การศึกษาวิจัย และหรือการรักษาที่ต้องเรียกเก็บเงิน เป็นเครื่องกลุ่มที่ใช้พลังงานรูปแบบใหม่ ไม่ใช่รังสีโฟตอน หรืออิเล็กตรอน แต่เป็นโปรตอน

เครื่องโปรตอนจะเป็นความหวังในการรักษามะเร็งอย่างไร

เร็วๆ นี้ประเทศไทยกำลังจะมีเครื่องฉายโปรตอนในโรงเรียนแพทย์บางแห่ง เพื่อการพัฒนาทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ และการนำไปสู่การเป็นหนึ่งในสามของเอเชีย ตามวิสัยทัศน์ 20 ปี จึงต้องมีการพัฒนาความรู้และทักษะเชิงลึกในทุกสาขา 

เครื่องฉายรังสีโปรตอนมีข้อกำหนดการนำมาใช้ชัดเจนว่ารักษาโรคอะไรบ้าง การวิจัยยืนยันผลค่อยเป็นค่อยไปทีละโรค ดังนั้นเมื่อเครื่องเข้ามาในไทย เราก็ไม่ได้นำมารักษาทุกโรค ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนแพทย์จะเริ่มที่โรคอะไรก่อน

ส่วนบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข เราคงยังไม่วางแผนว่าจะต้องมีเครื่องโปรตอนซึ่งมีราคาแพงมาก และมีข้อบ่งชี้การรักษาจำกัดบางโรค  หน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นการขยายบริการเชิงกว้าง เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการระดับมาตรฐานให้ได้ทั้งประเทศ โดยบทบาทของโรงเรียนแพทย์ และกระทรวงฯ จะเสริมกัน เพื่อให้การแพทย์ของเราเป็นหนึ่งในสามของเอเชียได้

วันนี้ประเทศไทยมีเครื่องฉายรังสีกระจายอยู่ทั้งหมด 36 ศูนย์รังสีรักษาทั่วประเทศ รวมกันทั้งในภาครัฐ ซึ่งจะมีส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและของโรงเรียนแพทย์ และภาคเอกชน ทำงานเป็นเครือข่ายทางวิชาการและบริการเดียวกัน เครื่องฉายรังสีประมาณ 80 เครื่องก็ทันสมัย ได้มาตรฐาน ไม่ด้อยกว่าประเทศอื่น 

มีความเป็นไปได้ที่จะยกระดับไปสู่โรงพยาบาลขนาดเล็กได้บ้างไหม

การตั้งศูนย์รังสีรักษา จะเลือกพัฒนาจากโรงพยาบาลจังหวัดที่มีศักยภาพในการรักษามะเร็ง สามารถทำการผ่าตัดรักษามะเร็งและให้เคมีบำบัดได้สมบูรณ์ และมีจำนวนคนไข้มะเร็งของโรงพยาบาลและจังหวัดใกล้เคียงที่เป็นเครือข่ายการส่งต่อมากพอ แล้วเสริมรังสีรักษาเข้าไปเพื่อให้คนไข้ที่ผ่าตัดและเคมีบำบัด ได้รับการรักษาต่อในโรงพยาบาลแห่งเดียว ไม่ต้องไปเริ่มนับหนึ่งทำบัตรและบันทึกประวัติทั้งหมดใหม่

เหตุผลต่อมาคือการสร้างศูนย์รังสีรักษาหนึ่งแห่ง ใช้งบประมาณสูงมาก ต้องมีเครื่องฉายรังสีอย่างน้อย 1 เครื่อง เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จำลองการฉายรังสี 1 เครื่อง ระบบคอมพิวเตอร์วางแผนการฉายรังสี 1 ระบบ และมีห้องที่สร้างพิเศษเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสีรั่วไหล งบประมาณเริ่มต้นประมาณ 200 ล้านบาท เราจึงต้องมีการวางแผนการขยายศูนย์รังสีรักษา ที่มีความคุ้มค่าการลงทุนในเชิงสุขภาพด้วย

การทำสถิติจำนวนคนไข้มะเร็งเพื่อวางแผน ทำต่อเนื่องกันมาสี่ปีแล้ว เพื่อดูว่าคนไข้ที่ต้องฉายรังสีแยกตามภูมิลำเนาในจังหวัดต่างๆ มีอยู่เท่าไหร่ แล้วนำไปวางตำแหน่งของศูนย์รังสีรักษาที่เหมาะสม เครื่องฉายรังสีแบบปัจจุบันหนึ่งเครื่อง ให้บริการผู้ป่วยแบบสามมิติได้ประมาณ 500 คนต่อปี การวางแผนจะวางแผนเครื่องฉายรังสี 2 เครื่องตามคำแนะนำสากล ที่เป็นแบบนี้เพราะเครื่องฉายรังสี  2 เครื่อง จะใช้งานเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จำลองการฉายรังสี และชุดประกอบการวางแผนร่วมกันได้ ห้องฉายรังสีจะสร้างเป็นคู่ก็ได้ โดยใช้กำแพงร่วมกัน และเมื่อเครื่องใดเครื่องหนึ่งเสีย ก็สามารถย้ายผู้ป่วยได้ ไม่ต้องหยุดการรักษา ดังนั้นการจับกลุ่มจังหวัดจะนับรวมให้มีคนไข้ที่ต้องการฉายรังสีประมาณ 1,000 คนต่อปี 

เหตุผลต่อไปคือการให้การรักษาด้วยรังสีรักษา ต้องใช้บุคลากรหลายสาขามาทำงานร่วมกันจำนวนมาก ทั้งแพทย์รังสีรักษา นักฟิสิกส์การแพทย์ทางรังสีรักษา นักรังสีการแพทย์ที่ทำหน้าที่ควบคุมการจำลองการฉายรังสี และควบคุมการฉายรังสีประจำวัน รวมทั้งพยาบาลและผู้ช่วย ทีมใหญ่ขนาดนี้ โรงพยาบาลอำเภอจัดสรรตำแหน่งไม่ได้

ปี 2562 นี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังจะเปิดที่จันทบุรี กับสมุทรสาคร ทั้งสองโรงพยาบาลนี้ได้รับเงินบริจาคสนับสนุนการซื้อเครื่องฉายรังสีด้วยเป็นความโชคดีของประชาชนในพื้นที่มาก

ตอนนี้บุคลากรทำงานกันอย่างไร เห็นความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มบุคลากรในระบบราชการไหม

เนื่องจากต้นทุนของรังสีรักษามีทั้งต้นทุนค่าเครื่อง ต้นทุนอาคารสถานที่ ต้นทุนค่าแรงบุคลากรและการพัฒนาบุคลากร ต้นทุนส่วนวัสดุสิ้นเปลือง เช่น หน้ากากฉายรังสี เรามักถูกมองว่าเป็นหน่วยงานที่ใช้ของแพงเมื่อเทียบกับสาขาอื่น คนสนใจมาเรียนน้อย บุคลากรที่มีจำกัดตอนนี้จึงทำงานกัน overload มาก

คนที่เป็นหมอ หรือนักฟิสิกส์การแพทย์ด้านนี้ เขาต้องรู้ว่าเขาจะไปทำงานเอกชนไม่ได้ และเปิดคลินิกเองก็ไม่ได้ เพราะคนไทยใช้สิทธิการฉายรังสีตามมาตรฐานในโรงพยาบาลรัฐฟรี เขาก็ไม่ไปเอกชนที่ต้องจ่ายค่ารักษาหลักแสนหรืออาจจะถึงหลักล้าน จึงมีโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่บางแห่งเท่านั้นที่สามารถลงทุนซื้อชุดเครื่องฉายรังสี เพื่อพัฒนาการรักษาให้ครบวงจรได้ เมื่อคนไข้น้อย โรงพยาบาลเอกชนก็เปิดโอกาสให้หมอรังสีเข้าไปช่วยน้อย 

นักฟิสิกส์การแพทย์ และนักรังสีการแพทย์ มีปัญหาเรื้อรังในเรื่องตำแหน่งข้าราชการซึ่งถูก freeze ไว้ เราบรรจุนักฟิสิกส์การแพทย์ที่เรียนจบปริญญาโท เข้าไปอยู่ในตำแหน่งนักรังสีการแพทย์ปริญญาตรี มา 20 กว่าปีแล้ว ส่งผลเป็นโดมิโนให้ตำแหน่งนักรังสีการแพทย์มีไม่เพียงพอ ขณะที่การจ้างด้วยอัตราเงินเดือนข้าราชการ ก็ไม่สามารถดึงคนเอาไว้ได้ นี่เป็นสาเหตุที่คนไม่เพียงพอ และคนที่มีอยู่ก็ต้องทำงานหนักกว่าเดิม

ทุกคนต้องใช้งานเครื่องฉายต่อวันให้นานมากที่สุด เพื่อความคุ้มค่า ด้วยการอยู่เวรนอกเวลาราชการ คนฉายรังสีอยู่เวรถึงสองทุ่มก็หมดแรงแล้ว พวกเราช่วยได้มากที่สุดคือทำงานให้ได้ถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน เกินกว่านั้นก็ต้องไปแก้ไขด้วยการบริหารจัดการบุคลากร เช่น ให้มีเจ้าหน้าที่ 2 ชุดสลับกันขึ้นเวรคล้ายการจัดเวรพยาบาล

แต่การเพิ่มบุคลากรเป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้ยากมาก เพราะไม่ใช่สาขาเราขาดอยู่สาขาเดียว ทุกสาขาขาดหมด คนไข้เยอะขึ้นทุกวัน ตอนนี้มีอีกวิธีคือช่วยกันทำให้คนไทยสุขภาพดี ถ้าไม่ป่วยก็ไม่ต้องไปโรงพยาบาล 

ในอนาคตเครื่องฉายรังสีจะถูกลงไหม หรือไทยจะผลิตเองได้บ้างไหม

เครื่องฉายรังสีไม่เคยลดราคา เมื่อมีการพัฒนาทางเทคนิค ก็เพิ่มราคาไปเรื่อย ส่วนตัวคิดว่าถ้าถามวิศวกรทางการแพทย์ว่าสนใจทำการวิจัยและผลิตเครื่องฉายรังสีเองได้ไหม อาจจะได้คำตอบว่าทำได้ แต่ไม่คุ้มค่า เพราะความต้องการซื้อต่อปีน้อยมาก ในโลกนี้มีบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องฉายรังสีรุ่นมาตรฐานที่ใช้กันมาเพียงแค่ 3 บริษัท สำหรับเครื่องโปรตอน เราจะต้องสั่งซื้อก่อน ถึงจะมีการผลิตชิ้นส่วน มันไม่เหมือนเวลาเราซื้อรถ

แปลว่าตอนนี้คนไข้ที่อยู่ไกลจากโรงพยาบาล ก็ต้องอดทนไปก่อน 

คำถามนี้คงเป็นความเข้าใจผิด ทุกคนในประเทศไทยมีโอกาสได้รับการรักษาเท่ากัน เว้นแต่จะมีความเชื่อบางอย่างที่ทำให้ไม่อยากมาฉายรังสี คนต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงการฉายรังสีผ่านระบบส่งต่อ และหากต้องเดินทางไกลเพื่อฉายรังสีทุกวัน เขาจะได้นอนโรงพยาบาล หรือไม่ก็อยู่บ้านพักผู้ป่วยฉายรังสีที่มีผู้บริจาคเงินสนับสนุน หรือบ้านพักเอกชนใกล้โรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลร้อยเอ็ด มีจัดบริการที่พักให้ เรียกว่าหมอดูแลให้หมดทุกอย่าง เราคิดว่าทำยังไงให้คนไข้มาฉายรังสีให้ได้ครบแล้วจะได้หายป่วย 

คนที่เหนื่อยที่สุดไม่ใช่คนอยู่ไกล แต่คือคนกรุงเทพฯ เพราะว่ารถติด การเดินทางไม่ว่าอยู่ใกล้หรือไกลก็รถติด และโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เองก็ไม่มีเตียงพอสำหรับคนไข้ฉายรังสี จริงๆ แล้วการรักษาด้วยการฉายรังสี ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ยกเว้นในวันที่คนไข้ที่จำเป็นต้องรับเคมีบำบัดสูตรที่ต้องนอนพร้อมกับการฉายรังสี

ถ้าว่ากันจริงๆ คนที่มารักษาในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ แต่เป็นคนที่ย้ายถิ่นเข้ามาหรือเป็นคนที่มีครอบครัวลูกหลานมาอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วทำให้อยากมารักษาที่กรุงเทพฯ คนกลุ่มนี้ยอมเดินทางมา เพราะการเป็นคนสูงอายุอยู่ต่างจังหวัด ถ้าเกิดป่วยเป็นมะเร็ง การไปโรงพยาบาลคนเดียวก็ลำบาก เมื่อลูกอยู่กรุงเทพฯ ก็ต้องมาอยู่กรุงเทพฯ แล้วให้ลูกพาไปหาหมอง่ายกว่า เพราะเขาไม่อยากรักษาอย่างโดดเดี่ยว

คนบางส่วนมีความเข้าใจผิดว่าโรงพยาบาลจังหวัดทำไม่ได้ จะต้องเดินทางมารักษาที่กรุงเทพฯ ความแออัดจึงเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เพราะประชากรแฝงในกรุงเทพฯ เยอะมาก 

และจากปัญหาการขาดบุคลากรที่บอกไป ถ้าเราตั้งเครื่องฉายรังสีทุกจังหวัด มันจะกลายเป็นอนุสาวรีย์เครื่องฉายรังสีที่ไม่มีคนไป operate เครื่อง

แพทย์หญิงปฐมพร ศิรประภาศิริ

แล้วจะแก้เรื่องนี้อย่างไรดี ให้คนต่างจังหวัดได้เข้าถึงการรักษาโดยไม่ต้องลำบากมากรุงเทพฯ 

นี่เป็นเรื่องการแก้ปัญหาสังคมในภาพใหญ่ ต้องอาศัยวิวัฒนาการทางสังคม คงมองแต่เรื่องการแพทย์อย่างเดียวไม่ได้ เช่น การสร้างความมั่นคงในสวัสดิการของภูมิลำเนาของตัวเอง มีงานทำที่บ้านเกิด มีโรงเรียน มีโรงพยาบาลที่ดี ทำให้คนอยากย้ายกลับไปอยู่บ้าน ซึ่งจะลดความแออัดในกรุงเทพฯ ลงได้

ต้องทำให้ภูมิภาคเจริญขึ้น จึงจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ ปัญหาสาธารณสุขและปัญหาอื่นๆ ก็จะค่อยๆ คลี่คลาย จะเห็นว่าทุกวันนี้คนก็กลับไปอยู่ต่างจังหวัดเยอะขึ้น เพราะเมืองก็เจริญขึ้น โดยที่ค่าครองชีพยังถูกกว่า 

กระแสการรักษามะเร็งด้วยทางเลือกอื่นๆ มีผลต่อแพทย์แผนปัจจุบันบ้างไหม เช่น การใช้กัญชา

เราเข้าใจเรื่องการรักษามะเร็งสองส่วน คือหนึ่ง การทำลายก้อนมะเร็ง การนำแพทย์ทางเลือกมาใช้ตรงนี้ต้องพิสูจน์กันผ่านการวิจัยในระบบที่เป็นสากลว่าได้ผล โดยไม่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ถ้าทำให้ก้อนมะเร็งยุบได้โดยไม่มีผลข้างเคียงก็ดีมาก

ส่วนที่สอง การรักษาอาการอื่นๆ เช่น การกินไม่ได้นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย สมุนไพรอาจจะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อยืนยัน ถ้าไม่มีการวิจัยผล หมอจะสั่งการรักษาบนพื้นฐานของความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้ได้ยังไง คนไข้แต่ละคนเชื่อไม่เหมือนกัน คนที่เชื่อสมุนไพรแล้วก็อาการดีขึ้น เขาก็รักหมอ ส่วนคนที่ไม่เชื่อสมุนไพร พอไม่ดีขึ้นก็กลับมาว่าหมอ 

ประเด็นคือการวิจัยในแบบยุโรป-อเมริกา มันอาจจะติดขัดตรงที่ว่า ต้องบอกให้ได้ว่ามีอะไรอยู่ในใบไม้นี้ และสารที่อยู่ในใบไม้ใบที่หนึ่งกับใบที่สองต่างกันอย่างไร ในขณะที่ระเบียบวิจัยการใช้สมุนไพรทางตะวันออกอย่างแพทย์แผนจีน อาจทำให้การศึกษาวิจัยเป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่ไม่แน่ใจนะ ยังไม่เคยศึกษาการวิจัยยาจีนแผนโบราณ

ส่วนตัวหมอไม่ขัดข้องถ้ามีสมุนไพร หรือแพทย์ทางเลือกที่จะมาช่วยรักษาคนไข้ แต่คนไข้ต้องสมัครใจ ต้องได้ผลจริง และไม่เสี่ยงกับคนไข้ วันนี้หมอยังไม่เห็นว่าสมุนไพรมีผลอย่างไร ก็เลยไม่แนะนำให้ใช้พร้อมกับการรักษาปกติ แต่ถ้าคนไข้อยากจะใช้ แอบใช้ เราก็ห้ามไม่ได้ เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกการรักษาด้วยตัวเอง.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save