fbpx
interview 101 วรพจน์ พันธุ์พงศ์

ถ้าข้างหน้าทางมันมืด

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

สุมาลี เอกชนนิยม ภาพลายเส้น

 

ใกล้ปีใหม่ แสงไฟสุกสว่างละลานตากว่าปกติ ห้างร้านบ้านช่องสองฝั่งถนนมีแสงหลากสี ต้นไม้ที่เคยมืดๆ ยังถูกแต่งแต้มประดับประดาดุจดังว่ามีแสงสว่างในตัวเอง

หันไปทางไหน โลกช่างดูส่องสว่าง แต่บางใครรู้สึกไปไม่เป็น ไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิต

ไม่ใช่วิกฤตวัยกลางคน ก็มันยังเพิ่งสามสิบต้นๆ หรือบางคนเพียงยี่สิบปลายๆ แต่มันคล้ายห่อเหี่ยวไร้เรี่ยวแรง การงานที่รักที่ทำมา เหมือนฝืดๆ ตันๆ สิ่งที่เคยใฝ่ฝัน สิ่งที่เคยมองเห็นและขยับเข้าไปใกล้ วันนี้มันคล้ายลอยละล่อง จับต้องไม่ได้ อนาคตที่ดีเป็นเหมือนซอยส่วนบุคคลของคนอื่น

 

ผมเคยยืนอยู่ตรงนั้นเหมือนกัน

เคยเป็นพนักงานประจำ เป็นสื่อมวลชนที่มีองค์กรสังกัด องค์กรที่มั่นคง มีศักยภาพสูง นี่เป็นจุดแข็ง ทว่าก็เป็นจุดอ่อนในตัวเอง เพราะมันมองไม่ออกว่าถ้าออกไปแล้วจะทำอะไรกิน

ให้อยู่สังกัดนั้นไปจนตายหรือ–มันเป็นไปไม่ได้ นึกออกไหมว่าสมมุติเราอยากอยู่ แต่ใครจะบอกได้ว่าท่านเจ้านายอยากเหมือนเราหรือเปล่า โอเค อยากวันนี้ แล้วเกิดวันหน้าไม่อยากล่ะ

แปลว่าความมั่นคงที่แท้มันไม่มี

หรือถ้าจะมี ในความหมายที่ใกล้เคียงที่สุด เราต้องเป็นผู้สร้างความมั่นคงนั้นด้วยตัวเอง ยืนอยู่ด้วยลำแข้งของตัวเอง

พ.ศ. นั้น (ราวปี 2000) ยังไม่มีคำว่า ‘นักสัมภาษณ์’ มีคนมากมายทำงานนี้ นักข่าวทุกคนสัมภาษณ์กันอยู่ทุกวัน แต่ ‘นักสัมภาษณ์’ ยังไม่ถูกเรียก ผู้พูดระคายลิ้น ผู้ฟังงง เข้าใจไม่ตรงกัน กล่าวโดยย่นย่อ อาชีพนักการภารโรง นักมวย นักร้อง กระทั่งนักพนัน หรือนักเลง ชั่วๆ ดีๆ เรายังนึกภาพออก แต่นักสัมภาษณ์ฟังแล้วมันไม่รู้เรื่อง มองไม่เห็นอนาคต

พอๆ กับช่างภาพ พ.ศ. นั้น พ้นจากช่างภาพแฟชั่นแมกกาซีนซึ่งเห็นที่อยู่ที่ยืน ช่างภาพสายอื่นๆ เรามองไม่เห็นเลย หรือเห็นอีกที ก็พวกวิ่งรับจ็อบ ถ่ายงานบวช งานแต่ง

มีเท่านั้นจริงๆ

เทียบกับวิชาชีพอื่น เช่น ทหาร ตำรวจ แต่ละเดือน แต่ละปี เราพออ่านกันออก ว่าจากวันนี้ จะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ถึงจุดนี้แล้ว ชีวิตจะลากเส้นไปยังจุดไหน กะเกณฑ์คำนวณ ออกแบบ วางแผนได้ ว่าควรจะแต่งงานเมื่อไร มีลูกเต้ากี่คน ส่งเข้าโรงเรียนไหน เอาแบบทางหลักหรือทางเลือก

ย้อนมามองตัวเอง หรือนั่งคิดถึงอนาคตขึ้นมาคราใดก็เป็นอันว่าเปลืองเหล้ายา

เปลือง เหนื่อยใจ และไร้คำตอบ

เส้นทางที่เราชอบ ถนนที่เราเลือก ไม่มีใครเดินอยู่ข้างหน้า พูดง่ายๆ ว่าไร้รอยแผ้วถาง

ในสายวิชาชีพสื่อ หรือคนเขียนหนังสือ มองขึ้นไปดูผู้คนที่อายุมากกว่า พบว่ามีสองแบบคือ หนึ่ง, ทำงานประจำในองค์กรสื่อ และสอง, เป็นนักเขียนอิสระ วงเล็บด้วยว่า นักเขียน fiction

นักเขียนสารคดีไม่ใช่ไม่มี แต่จำนวนน้อยมาก และทั้งสิ้นทั้งปวงก็มักเป็นคอลัมนิสต์ คือส่งงานเป็นวาระประจำให้สื่อบางสำนัก เท่าที่สังเกต นักเขียนจำนวนน้อยที่ว่านี้มักทำงานถ่ายภาพควบคู่ไปด้วย

เนื้อหาใจความหลักก็ด้วยการงานมันเกี่ยวเนื่องส่งเสริมกันและกัน สำคัญกว่านั้น ถ้ายืนยันที่จะเขียนอย่างเดียวอาจไม่พอกิน

สื่อมวลชนอิสระมีน้อย นับนิ้วได้ ส่วนนักสัมภาษณ์นั้นไม่ปรากฏ

สำหรับคนรักและเลือกเส้นทางสายนี้ ถนนข้างหน้ามืดมนโดยแท้จริง มืด หนาว และสิ้นหวัง

คืนข้างแรมยังอาจมองเห็นดวงดาว คืนข้างเรามองไม่เห็นอะไรเลย

มืดก็จะไป มองไม่เห็นก็จะเดิน–ไม่รู้เหมือนกัน ทำไมเกิดมาเป็นคนแบบนี้

ก้มหน้าก้มตาเดินทุกวัน เดินจนทุ่งหญ้าป่าเปลี่ยวมันเริ่มเปลี่ยนเป็นทาง

 

ร่วมๆ 20 ปีผ่านไป ถ้อยคำภาษาไทยออกเสียงว่า ‘นักสัมภาษณ์’ เริ่มฟังง่าย เข้าใจตรงกัน แม้มีคนเลือกทำอาชีพนี้น้อย ยังน้อย เมื่อเทียบกับกาลเวลาและความน่าสนใจของงาน แต่ก็ถือว่าแสงไฟสองข้างถนนเริ่มสุกสว่าง ทัศนวิสัยเปิดกว้าง ไกล

นี่ย่อมเป็นข้อบวกของคนทำงาน อย่างน้อย ร่องรอยรกทึบข้างหน้ามันถูกแผ้วถางแล้ว อนาคตที่แปลว่าความมืดถูกจ้องมองส่องไฟ ซึ่งคราวนี้ก็อยู่ที่สายตาใครจะเห็น จะเลือก สัจจะคือสิ่งที่เคยมืด ดำ และไม่มีข้อมูลให้เข้าถึงความรู้ บัดนี้ถูกเปิดเปลือยในที่แจ้ง

เมื่อเปรียบเทียบกัน ผมเห็นว่านี่คือข้อบวก ปัญหาก็คือความมืดความสว่างของถนนไม่ใช่เรื่องเดียวของชีวิต และไอ้ที่ ‘วิกฤต’ กันอยู่อาจเป็นเรื่องอื่น ที่แย่อย่างยิ่งก็คือบางเราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร

รู้แต่ว่างง เหนื่อยหน่าย ไปไม่เป็น

อยากหยุดพัก อยากหาทางออก

พักอย่างไร พักไปอีกนานเท่าไร หรือหาทางออกจากไหน ไปสู่ไหน ก็ไม่รู้อีกนั่นแหละ

อย่าหมิ่นประมาทปรามาสกัน ภาวะง่อยๆ งงๆ เช่นนี้มันเป็นกันได้ทุกคน

ประเด็นคือเป็นแล้ว เจอแล้ว จะเอายังไงกับมันดี ฆ่าตัวตายเลยไหม

เอ้า นี่มีด แทงเลยๆ

จะเอาแบบนั้นเหรอ

 

ผมเลือกอยู่ฝ่ายคนรักตัวกลัวตาย อาจไม่กลัวเท่าไร แต่ถ้าให้ฆ่าตัวเอง–บอกตรงๆ ก็ยังมองไม่เห็นแง่งามหรือความสนุก ถึงไม่มีหวังกับสังคมนี้นัก ก็ยังอยากอยู่เป็นเสี้ยนหนาม หรือก้อนกรวดในรองเท้ามาเฟียเจ้าของคอกม้า

ทุกข์ใดครอบครองเข้ามา ก็หาวิธีดับทุกข์

ดับไม่ได้ ก็ลองชะลอ ซื้อเวลาไว้ไปพลาง

ทดลองมาหลายทาง ผมพบว่าประตูที่จะก้าวข้ามความสับสน หนทางพ้นทุกข์ หรือเคล็ดวิชาสูงสุดของนักสัมภาษณ์คือการสัมภาษณ์

ไปฟังเรื่องราวของคนอื่น แล้วแผลในใจจะหายไปเอง

ไปทำงาน แล้วการงานจะเยียวยาทุกสิ่ง

งานสัมภาษณ์ไม่ใช่ยาวิเศษ บางบาดแผลที่ว่าหายจริง หากวันหนึ่งก็อาจย้อนคืนกลับมา แต่เราจะมีท่าทีใหม่ๆ กับมัน ด้วยงานสัมภาษณ์ ด้วยการเปิดใจเรียนรู้ทุกมิติของความเป็นมนุษย์ ในที่สุดเราจะสามารถปะทะเผชิญ และอยู่กับมันได้

อยู่อย่างเบิกบาน

ด้วยมนุษย์มีเรื่องราวใหม่ๆ เสมอ มีแง่มุมใหม่ๆ เสมอ มีสิ่งที่คาดคิดไม่ถึงเสมอ มีความรู้สึกที่ลึกลับและลึกซึ้งเสมอ แม้ในความเก่า แม้ในกฎเกณฑ์ข้อจำกัดธรรมชาติ

เหน็ดเหนื่อยจากอาชีพสัมภาษณ์จึงต้องแก้ด้วยการนัดสัมภาษณ์

ใช่–เกลือจิ้มเกลือ หนามยอกเอาหนามบ่ง

ความสุขของแหล่งข่าวจะทำให้เราพลอยยินดีมีความสุข ชะตากรรมหรือความทุกข์ของแหล่งข่าวจะทำให้ความทุกข์ทรมานของเราเป็นเพียงฝุ่นละออง

เทปที่กองๆ ไว้ เอามาถอดสิ

ตัวละครคนใดคั่งค้าง คาใจ ยังไม่ได้นัด ส่งสุ้มเสียงสัญญาณนัดหมาย ขอสัมภาษณ์

ลุกขึ้นจากเตียง แต่งตัว เดินทาง ไปพบเจอ ซักถามแลกเปลี่ยน

เดินออกจากโลกส่วนตัว ไปสู่การเรียนรู้โลก

บรรพบุรุษผู้คิดค้นงานสัมภาษณ์ออกแบบและก่อสร้างถนนเส้นนี้ไว้งดงามแล้ว เราผู้มาภายหลังพึงละเลียดใช้อย่างประณีต

 

ถ้าข้างหน้าทางมันมืด ก็จุดไฟสิ

พูดแบบนี้มันง่าย ใครๆ ก็พูดได้

ใครก็รู้ทั้งนั้นแหละว่า บ้านมืดๆ ชีวิตมืดๆ ต้องจุดไฟ คำถามคือจะจุดยังไง สวิตช์มันอยู่ตรงไหน นึกออกใช่ไหม ในวันที่แข็งแรง เราอาจรู้วิธี รู้ที่มาแหล่งกำเนิดแสงสว่าง แต่บางวันที่เคว้งคว้างหวั่นไหว มันมองหาไม้ขีดไฟไม่เจอ

ในโชคร้าย อาจนับเป็นความโชคดีด้วยก็ได้ ผมเคยเดินในความมืดมาบ้างแล้ว เดินจนสว่าง ในป่าเปลี่ยวรกทึบ ผมเดินย่ำทุกวันจนมันเปลี่ยนเป็นทางซูเปอร์ไฮเวย์

เหงื่อ งาน และการลงแรง ทำให้ผมรู้

เหงื่อ งาน และการลงแรง ทำให้ผมเห็นว่ามนุษย์มีศักยภาพ

มากบ้างน้อยบ้าง แตกต่างกันออกไป แต่เหงื่อ งาน และการลงแรง ทำให้ผมเชื่อมั่นเสมอว่าเดินไปเถอะ เลือกแล้วก็เดินไป

นรกรออยู่ข้างหน้า–บางหมอดูพยากรณ์แบบนี้ อาจถูก อาจผิด ไม่มีใครรู้หรอกว่าเบื้องหน้าคือนรกหรือเปล่า

ที่รู้แน่ๆ เลยก็คือ สำหรับประเทศไทยวันนี้ ตรงนี้น่ะนรก

ถ้าข้างหน้าทางมันมืด ยังมีแรง ก็เดินไป แม้เหนื่อย แม้หนาว หาไม้ขีดได้ ก็จุดไฟ พยายามหาวิธีก่อไฟให้แสงสว่างตัวเอง หรือบางคืนมันไม่ไหวจริงๆ ทุ่มทั้งตัวแล้ว สู้จนนาทีสุดท้ายแล้ว สู้ไม่ไหว ก็นอน

มันจะเป็นไร โลกไม่แตกหรอก ก็แค่คนคนหนึ่งล้มตัวลงนอน

นอนด้วยตระหนักรู้ว่าพรุ่งนี้ก็เช้า.

 

_________

หมายเหตุบรรณาธิการ – ผู้เขียนเห็นพ้องว่าเมื่อผู้อ่าน อ่านความเรียงชิ้นนี้จบ ควรได้ฟังเพลงต่อไปนี้แกล้มมวลรู้สึกอย่างยิ่ง

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save