fbpx
หยิบมีดของคุณขึ้นมา

หยิบมีดของคุณขึ้นมา

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เรื่อง

 

มีความพยายามตลอดเวลา–ในรัฐอนารยะ พยายามอย่างถึงที่สุด ในหลากหลายรูปแบบ กลไก วิธี ที่จะปิดกั้น ลดพื้นที่และเวลา ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ หยุดการเคลื่อนไหว เพื่อทำให้คนกลายเป็นสัตว์เลี้ยง

กฎหมายอาญามาตรา 112 คือรูปธรรมหนึ่ง

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คือรูปธรรมหนึ่ง

และนาทีนี้ก็คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ‘เคอร์ฟิว’ ที่จับโยงมั่วสั่ว ไร้การศึกษา ว่าถ้าจะเอาสุขภาพ ก็จำต้องละวางเสรีภาพไว้ก่อน

มีใครมองไม่เห็นว่าเป้าหมายที่แท้หวังหยุดโรคหรือหยุดคน มีใครอ่านไม่ได้ ว่านี่คือความห่วงใยประชาชน หรือหวงห่วงอำนาจตนเอง

 

เรานึกไม่ออกหรอกว่ามันสนุกอย่างไร กับการทำให้คนกลายเป็นสัตว์เลี้ยง หมอบคลานเชื่องๆ อยู่ในคอก รอคำสั่ง รอการหยิบหยื่นอุปถัมภ์ แลกด้วยความจงรักภักดี

สำหรับเจ้าพ่อ มาเฟียและรัฐอนารยะ มันอาจเป็นการงานแห่งความรื่นรมย์บันเทิง เลือดเป็นอาหารชั้นเลิศ คุกคือรางวัลแด่คนช่างฝัน

สำหรับเรา มันไม่ใช่

คล้ายเรายืนอยู่คนละฟากฝั่งอย่างสิ้นเชิง คำถามทำให้คนเป็นคน และงานของนักสื่อสารมวลชนคือการเปิด–เปิดพื้นที่ เปิดกว้างทางความคิด การปิดมันเป็นวิสัยของโจร

 

แปรรูป แปลงชื่อ และปรับเปลี่ยนโฉมหน้าผู้เล่นตัวละคร แต่การต่อสู้ระหว่างคณะเจ้ากับคณะราษฎรไม่เคยจบสิ้น โดยฝ่ายแรกแม้ภายหลังจะอ่อนกำลังไปไม่น้อย แต่ยังกุมอำนาจเหนือ กฎหมายอยู่ในปาก ปืนอยู่ในมือ หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรพวกเขาไม่มีทางปล่อยให้ฝ่ายประชาธิปไตยกลับมาโงหัว (การกีดกันและบ่อนทำลาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคณะ ในทุกวิถีทาง เป็นหลักฐานแห่งความ ‘เกลียดและกลัว’ ที่ชัดเจนยิ่ง) สมาชิกวุฒิสภาซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ (แน่นอนว่าไม่ใช่ประชาชน) หน้าด้านและไร้ยางอายอย่างหาที่สุดมิได้

รัฐธรรมนูญ 2560 ยังมองหาหนทางแก้ไม่เห็น ยิ่งฝ่ายค้านบอกว่าจะไม่แตะหมวดหนึ่งและสอง ยิ่งเป็นการละเว้น ถอยหลัง และพลั้งเผลอไปช่วยบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

คล้ายคำว่า ไม่ลงถนน

บทเรียนเก่าๆ หลอกหลอนอยู่ และเลือดจำนวนมากก็ยังเกอะกรังอยู่หลังเสื้อ ไม่มีใครอยากออกไปสู้รบ กิน นอน กลางถนนอีกแล้ว ไม่มีใครอยากเสี่ยงกับกระสุนจริงอีกแล้ว แต่นึกออกใช่ไหม ถนนคือความจริงหนึ่ง เป็นพื้นที่หนึ่ง พื้นที่ของชีวิตประจำวัน พื้นที่ทางการเมือง การบอกว่าไม่ลงถนน ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ แง่หนึ่งจึงหมายถึงการลดและทำลายพื้นที่ของตัวเอง ทำลายความปกติสามัญซึ่งนับวันมีอยู่น้อย และฝ่ายกุมอำนาจก็ไล่ต้อนบดขยี้จนแทบไม่เหลือที่จะยืน

นาทีนี้, สถานการณ์เช่นนี้ จำเป็นต้องรีบขอคืนพื้นที่

 

มาเฟียใหญ่มุ่งก่อสร้างและขยับขยาย ผูกขาดธุรกิจ ควบคู่ไปกับการครอบครองที่ดิน

สองปัจจัยสำคัญนี้สะท้อนและส่งเสริมฐานอำนาจโดยตรง (ต้องไม่ลืมว่ามีกฎหมายและปืนตุนไว้แล้วในกระเป๋า)

ถามว่านักสัมภาษณ์มีอะไร

..

..

มีด–นักสัมภาษณ์มีมีดไว้หักล้างถางพง เปิดพื้นที่ใหม่ๆ พื้นที่ของข่าวสาร ความคิด บุคคล พื้นที่ทางนามธรรมที่ร้อยรัดเชื่อมโยง และส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ทุกครั้งที่สัมภาษณ์ ต้นฉบับทุกชิ้นคือโฉนดที่ดินของนักเขียน ที่ดินในจินตนาการ ที่ดินอุดมที่จะน้อมกายรองรับผืนป่าแห่งสรรพวิทยาหลากหลาย

รูปธรรมอาจแพ้ แต่สนามทางความคิดเราไม่ควรยอมแพ้

ด้วยมีดนี่แหละ ที่จะใช้จ้วงแทงทลายกำแพงประตูข้อมูลที่ปิดตาย

ด้วยมีดนี่แหละ ที่จะใช้ฝ่าฟัน สร้างสนาม ให้เกิดเวทีแห่งเรื่องเล่า ถกเถียง สืบ/สวนศิลปะ ส่องประกาย วิพากษ์วิจารณ์ เป็น public space ให้ผู้คนต่างพื้นฐานที่มามีโอกาสได้ปะทะเสวนากัน

ประเด็นคือเมื่อถือมีด เราต้องรู้จักอำนาจของมัน รู้จักเก็บรู้จักใช้ ที่สำคัญ ต้องหมั่นขยันลับ

สุดยอดสำนักวิชาอยู่ที่ไหน ต้องออกแรงค้นหา ฝึกฝน เคี่ยวกรำให้ช่ำชอง เคี่ยวให้คม

มีด อาจสู้ปืนไม่ได้ แต่มันก็เป็นเครื่องมือเท่าที่มี เครื่องมือของสามัญชน

ปากกา กระดาษ กล้อง หยิบคว้าอะไรได้ใกล้มือ ถนัดหรือไม่ถนัด มันก็ต้องฟัดกันสักตั้ง ใครจะยอมให้ถูกกระทืบอยู่ฝ่ายเดียว

 

บางทีคุณอาจจะไม่ทัน

ในวันว่างๆ การได้หันหลังกลับไปศึกษาเส้นทางนักดาบในอดีตก็นับว่าไม่ว่างเปล่า

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ให้กำเนิด ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’

อดีตนักเรียนอังกฤษและรอยัลลิตส์นามนี้มีหลายบทบาท ไม่ว่าจะอย่างไร การริเริ่มสร้างพื้นที่เวทีอย่าง ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ ถือเป็นคุณูปการระดับมาสเตอร์ เป็น ‘ผู้แผ้วถาง’ และสร้างสรรค์วัฒนธรรมหนังสือให้เกิดขึ้นในแวดวงปัญญาชนไทย

คงไม่เกินเลย หากจะกล่าวว่าบ้านหลังแรกของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็อยู่ที่นั่น

ตัดฉับมาทศวรรษสี่ศูนย์ช่วงต้นๆ นิตยสาร open ของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ก็คือมีดที่แหลมคม บ่มเพาะ แผ้วถางที่ทางใหม่ๆ ตอบโจทย์สังคมหลังฟองสบู่แตก

นิวัต พุทธประสาท กับ alternative writer นิตยสารวรรณกรรมฉบับซีร็อกซ์

วาด รวี นักเขียนและบรรณาธิการผู้สร้าง UNDERGROUND BULETEEN รายหลังนี้ช่วงหนึ่งเคยทำร้านหนังสืออยู่ที่สยามสแควร์ เรียกว่าเปิดแนวรบทุกสนาม พยายามเปิดทั้งพื้นที่ทางตัวหนังสือ ข่าวสาร วิจารณ์วรรณกรรม และมีรูปธรรมจับต้องได้ สร้างพื้นที่ให้คนมาสัมผัสกันแบบตัวเป็นๆ

ผมเคยไปร้านหนังสือของเขาหลายครั้ง มีครั้งหนึ่ง–ตอนนั้นกรุงเทพฯ กำลังแต่งตัวเป็นเมืองแฟชั่น ทั้งขบวนแห่ นางแบบ ดารา และผู้คนเนืองแน่น เสียงไชโยโห่ร้องก้องอึกทึก ทว่า, ในร้านหนังสือใต้ดิน วาด รวี นั่งอยู่โดยลำพัง

ลมหายใจของร้านหนังสือก็อย่างนี้  วันว้าเหว่มีมากกว่าวันเฮฮา

ไม่ว่าจะอย่างไร สำหรับผม วาด รวี คือนักดาบคนสำคัญของยุคสมัย

อีกบางทีคุณอาจจะไม่ทัน

เผอิญว่าผมทัน และอยู่ใกล้ ในตอนที่ บินหลา สันกาลาคีรี ทำร้าน The Writer’s Secret เดิมทีมีเพียงนิตยสาร ต่อมามีนิตยสารและร้านหนังสือ และต่อมา มีร้านหนังสืออย่างเดียว

ตอนนี้ไม่มี, แต่ความทรงจำยังอยู่

บินหลาเป็นนักเขียน ถ้าจะจัดกลุ่มก็อยู่ในประเภทขึ้นชั้น ลอยลำ หรือเอาตัวรอดได้แล้ว ทั้งชิ้นงานและแฟนประจำ พูดสั้นๆ อีกว่าอยู่สบาย แต่เขาก็มีความใฝ่ฝัน มีความมุ่งมาดปรารถนา (หรืออยู่ดีไม่ว่าดี ก็ว่ากันไป) คืออยากเห็นเมืองไทยมีนิตยสารวรรณกรรม อยากเห็นเมืองไทยมีร้านหนังสือที่นั่งสบาย ขายกาแฟและเหล้า

บินหลาได้ทำสมใจ และผมเห็นว่ามันเป็นวันเวลายากลำบากในชีวิตเขา เหน็ดเหนื่อย และเป็นทุกข์เกี่ยวกับทุน ซึ่งที่สุดก็เลิกร้างวางมือ ในวันเวลาเดียวกันนั้นผมเห็นว่าเขาได้สร้างพื้นที่ใหม่ พื้นที่ที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อสังคมไทย โดยเฉพาะในส่วนของกิจกรรมพูดคุยเสวนากว่า 30 ครั้งที่จัดขึ้นในร้านหนังสือ (วงเล็บไว้ด้วยว่าหลายวงในหลายๆ วัน มีผู้มาร่วมงานมากกว่า 50 ชีวิต บางงานเกินร้อย–ข้อนี้สาวเชียร์เบียร์คงมีข้อมูลดีกว่าผม)

ครั้งหนึ่ง เสวนามุมกาแฟของร้านนายอินทร์เคยทำได้ดี และครั้งนี้ บินหลาและ The Writer’s Secret ก็คือผู้สร้าง ผู้เปิด ผู้ให้กำเนิด

ไม่ง่ายนะครับ การจัดงานภายใต้บรรยากาศหลังรัฐประหาร

กับคนอื่น ลองไปไล่ถามกันดู กับตัวเอง ร้านนั้น ห้องนั้น ในตึกแถวเล็กๆ แห่งนั้นมันคือสวนสวรรค์แห่งนางเลิ้ง ทุกครั้งที่คิดถึงกรุงเทพฯ สี แสง กลิ่นบุหรี่และแอลกอฮอล์จางๆ รวมทั้งใบหน้ากวนใจของแมวงามนามเจ้าหงิญ ก็วูบวาบขึ้นมา เสียงกีตาร์ของนักดนตรีพี่น้อง ที่คล้ายยังแว่วดังในเงาอากาศ แก้วชนแก้ว ทัวร์จีนและป๋าใจป้ำ นักเขียนหัวฟู เสียงผู้ลี้ภัย เสียงนักกฎหมาย เก้าอี้หวายตัวนั้น ชั้นหนังสือ รูปอาว์ปุ๊ที่ประตูกระจก ต้นตะแบก เพลงบอย imagine ฯลฯ

มีคำกล่าวว่า without people we are nothing

ผมอยากจะกล่าวว่า ไม่มีพื้นที่ เราจะเอาชีวิตไปวางไว้ที่ไหน

 

มีนักเขียนอีกหลายคนสร้างพื้นที่ พยายามทำงานในทางที่ตัวเองถนัด อาทิ อธิคม คุณาวุฒิ กับ waymagazine.org วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ กับ The Standard ทรงกลด บางยี่ขัน กับ The Cloud กระทั่ง ‘นิ้วกลม’ กับ The Curator ฯ

เราจะวัดความยาวของงูได้ ก็ต่อเมื่อมันตายไปแล้ว–’รงค์ วงษ์สวรรค์ ว่าไว้แบบนี้ กับนักเขียนหรือคนทำสื่อ ไม่ต้องรอให้เลิกหรือตาย เราก็พอเห็นกันอยู่ ว่าใครทำอะไร

ชอบแนวไหนก็ส่งเสียงเชียร์ และดูกันไปยาวๆ

ขอบคุณที่เปิดพื้นที่ ขอบคุณทุกคนที่นำเสนอให้มีทางเลือก

เรื่องแบบนี้เราลอกกันไม่ได้ บางคนมีศักยภาพหลายอย่าง บางคนทำสัมภาษณ์ได้อย่างเดียว–ไม่เป็นไร มากบ้างน้อยบ้าง เราต่างทำหน้าที่เปิดพื้นที่ เปิดสนามทางความคิด ทัศนะ รสนิยม เปิดให้แสงไฟส่องไปอย่างทั่วถึงทุกมุมชื้นอับ อย่างที่รับรู้กัน กับสถานการณ์นี้มันไม่ใช่เกมที่ง่าย เพราะนอกจากต่อสู้กับตัวเอง ในการพัฒนาประสิทธิภาพให้ดีขึ้น แหลมคมขึ้น เราต่างต้องต่อสู้กับรัฐอนารยะซึ่งจ้องแต่จะตัดแขนตัดขา หาทางจำกัดมัดล่ามให้เราเป็นสัตว์เลี้ยง

เวลาที่เคยมี 24 ชั่วโมง ถูกยื้อยุดช่วงชิง

พื้นที่เสรีภาพ พื้นที่แห่งความคิดอิสระถูกคุกคาม ทำลาย

หยุด ยอม หรือลุกขึ้นยืนยัน มีดในมือจะบอกเองว่าใครเป็นคนแบบไหน

ทุกครั้งที่ออกแรง คุณจ้วงแทงสิ่งใด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save