fbpx

บันทึกการเดินทางจากภูมิภาคเหนือไกล

นักประวัติศาสตร์หลังอาณานิคมทั้งหลายเห็นมาหลายทศวรรษแล้วว่า บันทึกการเดินทาง (travelogue) นั้นมิใช่เพียงข้อเขียนเล่าเรื่องสัพเพเหระ ความประทับใจ หรือความทรงจำของผู้เขียนเท่านั้น หากแต่แฝงด้วยบริบท อุดมการณ์ และปฏิบัติการทางอำนาจอย่างถึงที่สุด

ผู้เขียนบันทึกการเดินทาง ต่างมองออกไปที่สถานที่และผู้คนที่เขา/เธอรับรู้ทางผัสสะ และพรรณนาออกมาด้วยมุมมองและ ‘อคติ’​ ของตน  ซึ่งวางอยู่บนความสัมพันธ์อันมีลำดับชั้น การเขียนจึงเป็นการกระทำที่มีความย้อนแย้งในตัวเอง คือในหะแรกแสดงตนออกมาในฐานะผู้ไถ่ ผู้ปลดปล่อย แต่ในขณะเดียวกัน การเขียนก็กักขัง กำหนด จำกัด กำจัด

การเดินทางในต้นศตวรรษที่ 20

บันทึกการเดินทาง (ที่มาภาพ)

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้นำบทแปลบันทึกการเดินทางของ เจ้าชายวิลเฮล์มแห่งสวีเดน (Prince Wilhelm, 1884-1965) บางส่วน ตีพิมพ์ซ้ำและเผยแพร่ในชื่อ ดินแดนแห่งแสงตะวัน: บันทึกความทรงจำจากการเดินทางในดินแดนตะวันออก (2563) เป็นบันทึกของการเดินทางในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 1911 ถึงฤดูใบไม้ผลิปี 1912 

อันที่จริงแล้วเจ้าชายวิลเฮล์มเป็นนักเดินทาง เพราะอยู่ในชนชั้นและฐานะที่จะเดินทางได้ เขาเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1907 ก่อนจะเดินทางครั้งนี้ และหลังจากนี้ก็มีการเดินทางไปล่าสัตว์ที่แอฟริกาใต้ช่วงปี 1913-1914 และอีกหลายครั้งในที่อื่นๆ 

แต่ว่ากันเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้ เจ้าชายวิลเฮล์มและ เจ้าหญิงมาเรีย พระชายา ได้รับเชิญมางานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 6 แห่งสยาม ณ กรุงเทพฯ ในฐานะผู้แทนพระองค์กษัตริย์สวีเดน  

เจ้าชายวิลเฮล์มผู้พิสมัยการล่าสัตว์ ในรูปคือการล่ากอริลล่าในรวันดาในปี 1920 (ที่มาภาพ)

เอ็กโซติก

ผมเคยเล่าว่า หลังจากนี้สักครึ่งศตวรรษ มีนักเขียนสารคดีของไทยเดินทางไปสแกนดิเนเวียและเสนอภาพเอ็กโซติกในงานบันทึกการเดินทาง ในที่นี้เพื่อจะย้ำว่า กระบวนการนี้เป็นไปทั้งสองทาง

เห็นได้ไม่ยากทีเดียว เมื่อเจ้าชายวิลเฮล์มเปิดหัวเรื่องการเดินทางแล้ว ก็บรรยายถึงตะวันออกว่า

ดินแดนตะวันออก เป็นคำที่ฟังแล้วดูมีเสน่ห์ เป็นภาพในฝันที่ล่วงล้ำเข้าสู่จิตใจได้โดยไม่มีสิ่งใดเคลือบแคลง ความลับอะไรหนอที่มันซุกซ่อนเอาไว้ท่ามกลางตำนานแห่งยุคสมัยเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ มันทำให้คนบางคนเกิดเผลอตัวคิดขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องขุมทรัพย์อันมากมายมหาศาล ความดีเด่นเป็นเลิศที่มิอาจเปรียบได้ของอากาศอันอบอุ่น คืนแห่งแสงจันทร์ที่สาดแสงอันลึกลับซับซ้อนและภยันตรายที่ซุกซ่อนอยู่ใกล้ตัวในทุกขณะ เพชรพลอยและอัญมณีที่ส่องประกาย อาวุธอันแหลมคมและถ้วยใส่ยาพิษ ความรัก ความเกลียดชัง และความแค้น (12)

สวีเดนเคยมีอาณานิคมที่แซ็ง-บาร์เตเลมี (ที่มาภาพ)

เหล่านี้คงเป็นตะวันออกแบบบูรพาคดีนิยมของ เอ็ดเวิร์ด​ ซาอิด (Edward Said -นักวรรณคดีศึกษาชาวปาเลสไตน์-อเมริกัน) มากกว่าอะไร กล่าวคือ สิ่งที่เขียนขึ้นไม่ได้กล่าวถึงตะวันออกเท่ากับว่าเป็นกระจกสะท้อนความเป็นตะวันตกเสียเอง และเป็นสิ่งสะท้อนยุคสมัยต้นศตวรรษที่ 20 อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งอาจจะคงไม่ต้องต่อความให้ยาวสาวความให้ยืดกัน

ประวัติศาสตร์และช่วงชั้นทางอารยธรรม

สายตาของชาวสวีเดนชนชั้นนำ ย่อมจะพ้องกับสายตาของชาวยุโรปในช่วงเวลาเดียวกัน มีร่องรอยของความรู้เรื่องการจัดช่วงชั้นทางอารยธรรมอยู่ในข้อเขียนของเจ้าชายวิลเฮล์มทั่วไป

ในบทที่สามของ ดินแดนแห่งแสงตะวัน มีการพรรณนาประวัติศาสตร์สังเขปว่าชาวสยามมีที่มาอย่างไร ซึ่งอ้างอิงจากทฤษฎีว่าด้วยการอพยพมาจากจีนตอนใต้ซึ่งแพร่ไปในเวลานั้น

เป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน [ของสยาม] ซึ่งต่างก็เป็นประเทศที่มีระดับสติปัญญาสูง จึงย่อมทำการแผ่ขยายอิทธิพลอำนาจของตนสู่ประชาชนชาวฉาน [บรรพบุรุษของชนชาติไทย] ในขณะที่ได้อพยพลงสู่ดินแดนทางตอนใต้…การมีต้นกำเนิดจากชาวจีน จึงทำให้ชาวสยามสมควรที่จะได้รับเรียกขานว่าเป็นชนชาติอินโดจีนมากกว่าชนชาติอื่นๆ (42)

เรื่องที่สำคัญ คงไม่ใช่ว่ามีหลักฐานอื่นๆ มาแย้งความเห็นนี้ เท่ากับว่านี่เป็นมุมมองช่วงชั้นทางอารยธรรมที่ปรากฎขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อระบอบอาณานิคมยุโรปหยั่งรากไปทั่วโลก การจัดลำดับช่วงชั้น จัดระเบียบ จัดประเภทจึงเป็นปฏิบัติการทางอำนาจที่สำคัญในการปกครอง

ดังนั้น แม้ว่าจะไม่ได้สัมพันธ์กับสยามในฐานะอาณานิคม (สวีเดนมีอาณานิคมของตนในที่อื่น) แต่ความรู้ของการปกครองนั่นย่อมจะกล่าวได้ว่ามาจากความรู้แบบอาณานิคม

เรือพระที่นั่งมหาจักรี รับเจ้าชายวิลเลียมเมื่อเดินทางถึงสิงคโปร์ (ที่มาภาพ)

ชาวพื้นเมืองผู้เกียจคร้าน

หนึ่งในความรู้แบบอาณานิคม คือการจัดให้ชาวพื้นเมืองเป็นผู้เกียจคร้าน เพราะเมื่อพวกเขาเกียจคร้านแล้ว เราจึงมีสิทธิในการเข้าไปปกครองเขา ช่วยยกระดับชีวิตของพวกเขา

เมื่อเจ้าชายวิลเฮล์มบรรยายถึงลักษณะนิสัยของคนสยาม

บรรดาลูกหลานชาวจีนมีบทบาทสำคัญยิ่งในประเทศสยาม จากข้อเท็จจริงที่ว่าเจ้าของถิ่นฐานที่แท้จริงของประเทศนี้ล้วนแต่เกียจคร้าน และไม่มีนิสัยกล้าเสี่ยงภัยใดๆ จึงเป็นเรื่องปกติที่พวกเขาจะไม่ยอมทำงานทำการ ชอบแต่จะนั่งเฉื่อยชาเคี้ยวหมากหรือไม่ก็คาบบุหรี่ไว้ระหว่างฟันที่เป็นสีดำจากคราบน้ำหมาก ดังนั้น ทั้งการค้าและการอุตสาหกรรมจึงตกอยู่ในมือชาวจีนผู้มีความมานะพากเพียร ผู้ไม่เคยดูถูกงานที่แม้จะสาหัสสากรรจ์ที่สุด พวกเขาหาหนทางประกอบอาชีพไปทั่วทุกหนแห่งไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า นักธุรกิจ เสมียน พ่อค้าขายปลีก หรือคนรับใช้ ในขณะที่ชาวสยามพากันนั่งและจ้องดูอย่างเกียจคร้าน ปล่อยให้ผู้รุกล้ำชาวต่างชาติเข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์ทั้งหลายทั้งปวงไปต่อหน้าต่อตา… (97-98)

เหล่านี้เป็นเกร็ดจากบันทึกการเดินทางโดยชนชั้นกษัตริย์จากสวีเดน ที่ทั้งเหนือและไกล ในเวลาเดียวกัน


อ้างอิง

– วิลเลียมแห่งสวีเดน, เจ้าชาย, ดินแดนแห่งแสงตะวัน: บันทึกความทรงจำจากการเดินทางในดินแดนตะวันออก (2563)

– Prins Wilhelm, Där solen lyser : minnen och anteckningar från en resa i Orienten (1913)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save