fbpx
อัสดงคต ณ บูรพทิศ

อัสดงคต ณ บูรพทิศ

ยุกติ มุกดาวิจิตร เรื่อง

มองตะวันตกทางทิศตะวันออก

ผมเพิ่งเดินทางไปปากีสถานเมื่อวันที่ 21-31 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง นี่เป็นการไปปากีสถานครั้งแรกของผม แล้วผมก็โชคดีที่ได้ไปเยือนหลายถิ่น ทั้งเมืองหลวงเดิมคือละฮอร์ (Lahore) เมืองโบราณหลายพันปีคือโมเฮนโจ-ดาโร (Mohenjo-daro) ในลุ่มน้ำสินธุ (Indus Valley) และดินแดนอาณาจักรคันธาระโบราณ ทั้งที่ตักศิลา (Taxila) เปชะวาร์ (Peshawar) และลุ่มน้ำสวัต (Swat Valley)

บนเส้นทางเหล่านี้ ผมได้ความคิดอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง แต่ประเด็นที่จะขอนำมาเล่าถึงในโอกาสนี้ คือการคิดย้อนกลับมายังอุษาคเนย์ในฐานะดินแดนตะวันออกที่พระอาทิตย์หวนย้อนกลับมาตกดิน หรือพูดสั้นๆ คือ ผมได้เห็นตะวันตกทางทิศตะวันออกอย่างชัดเจน

เมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความคิดแบ่งแยกขั้วตะวันตก-ตะวันออกถูกวิจารณ์จนกระทั่งในปัจจุบันต้องทบทวนวิธีคิดนี้กันอย่างถอนรากถอนโคน การวิจารณ์ที่แหลมคมจนได้รับความสนใจกันไปทั่วมาจากผลงานของนักวรรณคดีศึกษาชื่อเอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said) ในหนังสือ Orientalism (บูรพคดีศึกษา) พิมพ์ปี ค.ศ. 1978

ก่อนจะเล่าถึงหนังสือเล่มนี้ ผมขอทักไว้ก่อนว่า หากใครจะตั้งข้อรังเกียจด้วยคิดว่าการอ่าน การอ้างถึงผลงานภาษาอังกฤษเล่มนี้แล้วหมายความเป็นการตามก้นตะวันตกอีกล่ะก็ ต้องถือว่าเป็นความเข้าใจที่คับแคบมาก เพราะซาอิดเป็นลูกครึ่งปาเลสไตเนียน-เลบานีส ผลงานชิ้นเองนี้ก็วิพากษ์ความคิดแบบตะวันตกอย่างรุนแรงจนกลายเป็นงานชิ้นเอกที่ใครก็ตามที่ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมในศตวรรษที่ 20 ตามแนว “หลังยุคอาณานิคม” (post-colonialism) จะต้องได้อ่านหรือไม่ก็เห็นหนังสือเล่มนี้ผ่านหูผ่านตาบ้าง

ผมไม่แปลคำว่า orientalism ว่า “บูรพทิศนิยม” (หรือที่แย่กว่านั้นแต่นักบัญญัติศัพท์ไทยอย่างทื่อมักใช้กันคือ การแปลคำต่อท้าย (suffix) ที่ว่า -ism ทั้งหมดด้วยคำว่า “ลัทธิ” ทำให้คำนี้กลายเป็น “ลัทธิบูรพทิศนิยม”) ก็เพราะว่าไม่ต้องการให้เข้าใจผิดคิดไปว่าคำนี้หมายถึงความนิยมชมชอบที่มีต่อตะวันออก ผมจึงขอใช้คำว่า “บูรพคดีศึกษา” นั่นคือหมายถึงแนวทางการศึกษาวิจัย การกล่าวถึง การเขียนถึง การทำความเข้าใจ การสร้างวาทกรรม และการสร้างภาพแทนความจริง (representation) เกี่ยวกับตะวันออกของกลุ่มคนที่นับตนเองว่าเป็นชาวตะวันตก

บูรพคดีศึกษา

เอ็ดเวิร์ด ซาอิด ชี้ให้เห็นว่า บูรพคดีศึกษาเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับคนในซีกโลกหนึ่งว่าเป็น “ชาวตะวันออก” ที่แตกต่างอย่างยิ่งจาก “ชาวตะวันตก” ความเข้าใจเช่นนี้ถูกผลิตขึ้นมาโดยนักเขียนและนักวิชาการของประเทศอาณานิคมตะวันตก

งานศึกษาชาวตะวันออกจำนวนมากถูกผลิตขึ้นในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ในยุโรปและสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ศตวรรษแห่งการแผ่ขยายอำนาจอาณานิคมตะวันตกในศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 20 แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีการทำงานศึกษาในแนวทางนี้อยู่ และสถาบันวิจัยใหญ่ๆ เช่นในอังกฤษและฝรั่งเศส ที่ยังใช้ชื่อที่มีคำว่า oriental ก็ยังมีอยู่และยังคงเป็นสถาบันวิจัยที่สำคัญ แม้ว่างานวิจัยในสถาบันเหล่านั้นในปัจจุบันจะปฏิเสธแนวทางการทำงานแบบดั้งเดิมไปมากแล้วก็ตาม แต่กลิ่นอายของความเป็นบูรพคดีศึกษาแบบเดิมก็ยังคงหลงเหลืออยู่

มีเกร็ดเล็กน้อยเรื่องหนึ่งที่แสดงอิทธิพลของวิธีคิดแบบนี้ต่อคนทั่วไปก็คือ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เคยมีชาวอเมริกันในวัย 70 ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ มีการศึกษาดี เป็นครูสอนหนังสืออยู่ ถามผมว่า “ที่เมืองไทย เธอยังไปไหนมาไหนด้วยช้างหรือเปล่า” เจอคำถามนี้ผมถึงกับงุนงงในระบบการศึกษาและการสั่งสมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอีกซีกโลกหนึ่งของชาวอเมริกัน แต่ก็มาเข้าใจได้มากขึ้นภายหลังว่า ภาพแทนความเป็นตะวันออกแบบนี้คงฝังอยู่ในความคิดของชาวอเมริกันและชาวยุโรปไม่น้อยทีเดียว

ปัญหาของวิธีคิดแบบนี้คือ นอกจากจะเป็นการสร้างภาพแทนผิดๆ เกี่ยวกับชาวตะวันออก ทั้งทางด้านศาสนา วัฒนธรรม และเขื้อชาติแล้ว ยังเป็นการผลิตซ้ำภาพแทนเหล่านั้นต่อไปเรื่อยๆ จนคิดเอาว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับตะวันออก ภาพแทนเหล่านี้แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย เสมือนกับว่าความเป็นตะวันออกเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างอย่างนั้นต่อเนื่องไปไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นภาพความเข้าใจที่ชาวซีกโลกตะวันตกหรือที่คิดว่าตนเองเป็นตะวันตก มีต่อชาวซีกโลกตะวันออก จึงไม่ใช่แค่ไม่ตรงกับความเป็นไปของชีวิตผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปและมีความหลากหลายอย่างยิ่ง หากแต่ยังเป็นความเข้าใจที่ถูกแช่แข็งไว้จนทำให้เข้าใจไปว่า ชาวตะวันออกอย่างไรเสียก็จะยังคงเป็นชาวตะวันออกแบบที่พวกเขาเข้าใจกันมาอย่างนั้นเป็นร้อยๆ ปี

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่เลวร้ายไม่น้อยไปกว่าความเข้าใจที่บิดเบือนดังกล่าว คือการที่บูรพคดีศึกษามีทัศนะว่า ตะวันออกนั้นต่ำต้อยกว่าตะวันตก แล้วความรู้เกี่ยวกับตะวันออก ก็จะต้องนำเสนอโดยชาวตะวันตก ซึ่งรู้จัก เข้าใจ สรุปรวบยอดความรู้เกี่ยวกับชาวตะวันออกได้ดีที่สุด นี่ทำให้เห็นได้ชัดว่า ความรู้เกี่ยวกับตะวันออกถูกผลิตขึ้นมาในโครงครอบของอำนาจเหลื่อมล้ำระหว่างคนสองซีกโลก และด้วยโครงสร้างความรู้ที่ไม่เท่าเทียมกันนี้เอง ที่ทำให้ไม่เพียงแต่ชาวตะวันออกจะต้องดั้นด้นไปเรียนความรู้เกี่ยวกับตะวันออกเองในซีกโลกตะวันตก และต้องอ่านเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองในภาษาของซีกโลกตะวันตก หากแต่ความรู้แบบตะวันตกยังมีความเหนือกว่าในการกำหนดแนวทางการพัฒนา หรือกลายเป็นแบบแผนการดำเนินชีวิตให้กับชาวโลกนอกซีกโลกตะวันตก

อย่างไรก็ดี ซาอิดก็ไม่ได้ยืนยันว่าความรู้ที่ชาวตะวันออกผลิตเกี่ยวกับตัวเอง หรือผลการศึกษาตะวันออกโดยชาวตะวันออกเอง จะดีหรือบิดเบือนน้อยกว่าที่ชาวตะวันตกทำ เขาไม่ได้คิดว่าจะมีความรู้แบบใดหรือโดยใครทำได้ดีกว่าแบบใดโดยใคร หากแต่ประเด็นสำคัญคือ เขาเสนอให้พิจารณาว่า การสร้างภาพแทนที่ตายตัว แน่นิ่ง และทำให้อิทธิพลของอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ผลิตความรู้กับผู้ถูกศึกษา ไม่ว่าจะเป็นความเป็นตะวันออกหรือตะวันตก ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการที่มีปัญหาทั้งสิ้น

สำรวจวัฒนธรรมลุ่มน้ำสินธุ

หันกลับไปที่การเดินทางของผมในปากีสถาน ผมเดินทางไปในฐานะตัวแทนของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับเพื่อนอาจารย์รวมทั้งสิ้น 9 คน พวกเราไปเป็นแขกของสภาศิลปะละฮอร์ (Lahore Arts Council) อันเป็นสถาบันที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์และเผยแพร่ศิลปะร่วมสมัยของประเทศปากีสถาน นอกจากจะไปลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองสถาบันแล้ว ยังเป็นการไปทัศนศีกษา “ความเป็นตะวันตก” ที่ฝังตัวอยู่ในดินแดนตะวันออกมายาวนานในดินแดนสำคัญหลายถิ่นด้วยกัน

เส้นทางการเดินทางของคณะเราเริ่มต้นที่ละฮอร์ เมืองหลวงรัฐปัญจาบแห่งประเทศปากีสถาน ละฮอร์มีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นสถานที่ตั้งสำคัญของศาสนาหลายศาสนา ทั้งฮินดู อิสลาม และซิกข์

นอกจากเสน่ห์ของเมืองที่เต็มไปด้วยราชวัง มัสยิดขนาดใหญ่ และอาคารอาณานิคมอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองในกำแพง (Walled City) แล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งละฮอร์ (Lahore Museum) คือขุมทรัพย์ของโบราณวัตถุที่เล่าเรื่องราวความหลากหลายของละฮอร์เองและของปากีสถานได้เป็นอย่างดี

โบราณวัตถุสำคัญๆ ทั้งของพุทธศาสนา เชน อิสลาม ซิกข์ จนนับย้อนกลับไปถึงอิทธิพลของกรีกและอเล็กซานเดอร์ ล้วนถูกเก็บและจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ให้ได้ชื่นชมและศึกษาอย่างอิ่มเอมจุใจผู้เข้าชม

(ซ้าย) ภาพ 1 เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญทุกขกิริยา, พิพิธภัณฑ์แห่งละฮอร์ | (ขวา) ภาพ 2 พระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี, พิพิธภัณฑ์แห่งละฮอร์
(ซ้าย) ภาพ 1 เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญทุกขกิริยา, พิพิธภัณฑ์แห่งละฮอร์ | (ขวา) ภาพ 2 พระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี, พิพิธภัณฑ์แห่งละฮอร์

ห้องจัดแสดงห้องหนึ่งที่ดึงดูดใจชาวคณะมากที่สุดเห็นจะไม่พ้นห้องแสดงพระพุทธรูป รูปสลักพระพุทธประวัติ และประติมากรรมพุทธศาสนายุคคันธาระ (ประมาณ 1st-5th AD หรือ 500 ปีถึง 1,000 ปีหลังพุทธกาล) อันเป็นยุคสมัยที่เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

ประติมากรรมสลักหินยุคคันธาระที่คนไทยจำนวนมากคุ้นเคยอย่างประติมากรรมเจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญทุกขกิริยา (ภาพ 1) หรือประติมากรรมสลักหินพระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี (ภาพ 2) เมื่ออยู่ต่อหน้ายิ่งทำให้น่าทึ่งถึงอายุที่เก่าแก่เกินกว่า 1,000 ปี หากแต่ว่ายังคงงดงามและสมบูรณ์แบบ

สิ่งที่ทำให้ผมเองยิ่งตื่นเต้นมากขึ้นก็คือเมื่อได้รู้ว่า ในช่วงท้ายของการเดินทาง คณะพวกเราจะไปเยือนถิ่นฐานที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของศิลปะคันธาระ ซึ่งกินอาณาบริเวณกว้างตั้งแต่แม่น้ำสินธุตอนบนของประเทศปากีสถานปัจจุบัน ไปทางตะวันตก เลยไปจนดินแดนส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน

ก่อนที่จะได้ไปตื่นเต้นกับศูนย์กลางของพุทธศิลป์คันธาระ คณะของพวกเราเดินทางไปยังดินแดนที่ย้อนอดีตกลับไปไกลโพ้นถึง 9,000 ปีที่แล้ว คือบริเวณลุ่มน้ำสินธุตอนกลางถึงตอนล่าง อันเป็นแหล่งโบราณคดีที่เรียกว่าวัฒนธรรมลุ่มน้ำสินธุ

วัฒนธรรมลุ่มน้ำสินธุมีอายุอานามเทียบกันได้กับวัฒนธรรมโบราณลุ่มน้ำไนล์ และวัฒนธรรมโบราณลุ่มน้ำไทกรีส ยูเฟรทีส หากแต่เป็นวัฒนธรรมที่ถูกค้นพบหลังสุด จึงเป็นที่รู้จักหรืออยู่ในแบบเรียนทั่วโลกน้อยกว่า อย่างไรก็ดี ผมคงไม่มีเนื้อที่พอที่จะเล่าเรื่องวัฒนธรรม หรือที่บางคนเรียกว่าอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ เพราะเรื่องราวที่เป็นประเด็นเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องความเป็นตะวันออกและตะวันตก อยู่ที่การเดินทางหลังจากดินแดนสินธุขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน

จากดินแดนชาวซินธ์ ผมและเพื่อนอาจารย์ก็เดินทางขึ้นเหนือด้วยเครื่องบินไปยังอิสลามาบัด (Islamabad) เมืองหลวงของปากีสถานปัจจุบัน เพื่อใช้รถบัสขนาดเล็ก เดินทางไปยังหุบเขาสวัต ถิ่นฐานที่เป็นที่อยู่ของชาวพาชทูน (หรือที่มักเรียกกันว่า “ปาทาน”) และเป็นดินแดนแห่งพุทธศิลป์แบบคันธาระ

ตลอดเส้นทางของการสำรวจดินแดนคันธาระ นอกจากจะได้สัมผัสภูมิประเทศ อากาศที่เย็นสบายขึ้น และผู้คนที่ต่างออกไปจากถิ่นชาวซินธ์แล้ว ผมก็ไล่หาซื้อหนังสือ เก็บสูจิบัตร ทั้งจากพิพิธภัณฑ์และร้านหนังสือต่างๆ มาร่วม 10 กว่าเล่ม เพื่ออ่านทำความเข้าใจบรรดาซากโบราณสถานที่เป็นวัด แหล่งการศึกษาพุทธศาสนาที่หลายแห่งอยู่ร่วมกับชุมชนที่คนอาศัยหนาแน่นในปัจจุบัน สถูปตามเนินเขาหลายแห่ง พระพุทธรูปสลักบนหน้าผา ตลอดจนโบราณวัตถุและแหล่งโบราณคดีต่างๆ ตลอดการเดินทางในถิ่นนี้ พวกเราได้ผู้นำทางกิตติมศักดิ์ผู้เป็นคนท้องถิ่นที่มีความรู้และมีคุณูปการต่อดินแดนแห่งนี้อย่างสูง พาไปเยี่ยมชมมานับสิบๆ แห่งภายในระยะเวลาเพียง 4-5 วัน ทั้งๆ ที่ท่านยังต้องถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน

เมื่อได้รับคำอธิบายและพยายามปะติดปะต่อเรื่องราวที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ความตื่นตะลึงที่ได้ยืนต่อหน้าโบราณสถานที่สร้างจากการวางหินสกัดจากแหล่งหินในท้องถิ่นซ้อนๆ กัน แทนที่จะใช้อิฐเผาขนาดเท่าๆ กันแบบที่ลุ่มน้ำสินธุเมื่อกว่า 1,000 ปีก่อนยุคพุทธศาสนา จนกลายเป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ แล้วประดับประดาตกแต่งด้วยพระพุทธรูปสลักหินและเรื่องราวทางพุทธศาสนาสลักหิน ส่วนใหญ่ในที่ค่อนข้างห่างไกล บนเขาสูงชัน ก็ค่อยๆ คลายลง

แต่กลับกลายเป็นรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมพุทธศาสนาในปากีสถานและอัฟกานิสถาน ที่ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พุทธศาสนาที่สำคัญที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด แรกเริ่มที่สุดในโลก หากแต่ยังได้รับความสนใจไม่มากนักจากชาวพุทธทั่วโลก เมื่อเทียบกับพุทธสถานโบราณในอินเดีย

พุทธศาสนาในคันธาระ : จุดบรรจบของตะวันตกและตะวันออก

หากจะกล่าวอย่างย่นย่อรวบรัดที่สุด พัฒนาการของพุทธศาสนาในดินแดนคันธาระจะต้องเข้าใจผ่านการติดต่อสัมพันธ์ของดินแดนนี้กับซีกโลกตะวันตก คือยุโรปใต้และเอเชียกลาง ตลอดจนการเป็นจุดเชื่อมต่อและเป็นศูนย์กลางของการแพร่ขยายพุทธศาสนาจากเอเชียใต้ไปยังเอเชียตะวันออก

การเชื่อมโยงนี้เริ่มมาอย่างขนานใหญ่ในสมัยอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) ผู้ซึ่งเคยศึกษากับอริสโตเติล (Aristotle) นักปรัชญากรีกคนสำคัญที่เป็นลูกศิษย์ของเพลโต (Plato) ในราว 326 ปีก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์ขยายอำนาจเข้ามายังดินแดนที่เป็นอัฟกานิสถานและตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานปัจจุบัน กองทัพอเล็กซานเดอร์นำประชากรชาวกรีก โรมัน เข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่นานหลังจากนั้น ในราว 317 ปีก่อนคริสตกาล ราชวงค์โมริยะ (Mauryan) สถาปนาขึ้นในดินแดนปัญจาบ พระเจ้าอโศกมหาราช (Ashoka the Great) ถูกส่งมาปกครองตักศิลา ที่ขณะนั้นเป็นเมืองสำคัญในดินแดนแห่งนี้แล้ว

เมื่อพระเจ้าอโศกขึ้นเป็นกษัตริย์ของราชวงศ์นี้สืบมา พระองค์ก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธในปี 262 ก่อนคริสตกาล แล้วพระองค์ก็สร้างสถูปเพื่อเก็บพระสารีริกธาตุไปทั่วหุบเขาสวัตและดินแดนตักศิลา ทั้งยังได้สร้างวัดเพื่อเผยแพร่พุทธศาสนา สถูปและวัดแห่งหนึ่งที่ผมไปเยือนชื่อ ธรรมราจิกะสถูป (Dharmarajika Stupa) ที่เมืองตักศิลา อันเป็นสถูปแห่งหนึ่งที่พระเจ้าอโศกสร้าง เป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจน

ภาพ 3 พระพุทธรูปสลักบนฐานสถูปองค์หนึ่ง, จูเลี่ยน, ตักศิลา
ภาพ 3 พระพุทธรูปสลักบนฐานสถูปองค์หนึ่ง, จูเลี่ยน, ตักศิลา

หลังพระเจ้าอโศกสิ้นพระชนม์ ราชวงศ์โมริยะก็เสื่อมลง ดินแดนนี้กลายเป็นดินแดนที่คนหลายกลุ่มเข้ามาครอบครอง ทั้งพวกกรีกและชาวเอเชียกลางจากดินแดนต่างๆ จนชาวกรีกจากอาณาจักรคุชาน (Kushan) เข้ามาครองอำนาจเมื่อไม่กี่สิบปีหลังคริสตกาล

จากนั้นราว ค.ศ. 78 สมัยของกษัตริย์คานิชกะ (Kanishka) จึงได้เกิดการพัฒนาพุทธศาสนาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เกิดการสร้างพระพุทธรูปที่เรียกกันว่าพุทธศิลป์คันธาระขึ้น เกิดการพัฒนาพุทธศาสนานิกายมหายาน เกิดการสร้างวัดและเผยแพร่ศาสนา ตัวอย่างพุทธสถานสำคัญของยุคนี้ที่ผมได้ไปเยือนได้แก่วัดขนาดใหญ่บนเขาที่ไม่สูงนักในเมืองตักบาหิ์ (Takht-i-Bahi) และวัดขนาดใหญ่บนเนินเขาในอาณาบริเวณเดียวกันกับตักศิลาที่ชื่อ จูเลียน (Jualian)

เฉพาะที่จูเลียน ได้เห็นการประดับประดาสถูปด้วยพระพุทธรูปและรูปสลักอื่นๆ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ (ภาพ 3) จนทำให้ไม่สามารถหักห้ามใจจนเผลอจินตนาการไปว่า ในยุครุ่งเรืองซึ่งสถูปในที่อื่นๆ จะยังคงมีความสมบูรณ์เช่นเดียวกันนี้ สถานที่เหล่านั้นจะงดงามน่าตื่นตะลึงและเรียกศรัทธาจากชาวพุทธได้มากเพียงใด

ในยุครุ่งเรืองของพุทธศิลป์คันธาระนี้ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ได้เสนอแนวทางการทำความเข้าใจศิลปะยุคนี้หลายแนวทางด้วยกัน แต่ผมคิดว่าข้อสรุปจากหนังสือภาพ Gandhara: Geography, Antiquity, Art & Personalities (คันธาระ : ภูมิศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ และบุคคลสำคัญ) เขียนโดยมูฮามัด อาชราฟ คาน และอับดุล กาฟอร์ โลน (Muhamad Ashraf Khan and Abdul Ghafoor Lone พิมพ์ครั้งแรกปี 2004 นับเป็นข้อสรุปได้ดี เขาทั้งสองกล่าวว่า

“คันธาระเป็นดินแดนซึ่งเฮเลนิสม์ (Hellenism) ที่เดินทางไปยังตะวันออก และพุทธศาสนาที่เดินทางไปยังตะวันตก มาบรรจบกันโดยตรงแล้วหาจุดลงตัวกลายเป็นการสังเคราะห์ทางศิลปะที่เรียกกันว่า ศิลปะคันธาระ” (หน้า 39)

ทั้งสองสรุปว่า ลักษณะสำคัญของความเป็นเฮลเลนนิสม์แบบกรีกในการสร้างพระพุทธรูปสมัยนี้คือ การแสดงให้เห็นถึงความสมจริง ความเป็นมนุษย์จริง การมีตัวตนอยู่จริงของพระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์ ในทำนองเดียวกับที่ชาวกรีกและชาวโรมันสร้างเทพเจ้าและบรรดาบุคคลในศาสนา แต่ในขณะเดียวกันพระพุทธรูปก็แสดงลักษณะของความเป็นท้องถิ่นของเอเชียใต้เอง คือลักษณะของศิลปะตามคติฮินดู เชน และพุทธ ผ่านการนุ่งจีวร ทรงผมพระพุทธเจ้า การมีอุณณา (Unna) หรืออุณาโลม จุดบนหน้าผากระหว่างดวงตาสองข้าง ตลอดจนใบหน้าอิ่มเอมปราศจากทุกข์ (สรุปจากหน้า 41-42)

ไม่เพียงแต่ศิลปะวิทยาการยุคนี้เป็นที่บรรจบของจิตวิญญาณแบบตะวันตก (คือแบบเฮลเลนิสม์กรีก) และตะวันออก (คือฮินดู เชน และพุทธ) ในยุคนั้นเป็นต้นไป ศาสนาพุทธจากคันธาระได้ถูกพาเดินทางไปยังดินแดนตะวันออกไกลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเดินทางมาแสวงบุญ ศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์พุทธศาสนาแล้วนำกลับไปแปลเป็นภาษาจีนโดยพระสงฆ์จีนหลายรุ่นด้วยกันในระยะ ค.ศ. 300-700

หากแต่ความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในดินแดนนี้เองที่นำพุทธศาสนาไปสู่ความเสื่อม เพราะเมื่อวัดพัฒนาขึ้น ก็ยิ่งห่างไกลจากชาวบ้าน จนเมื่ออิทธิพลของฮินดูที่มีอยู่เดิมพัฒนาขึ้นในหมู่ชาวบ้าน และศาสนาอิสลามที่ขยายอิทธิพลเข้ามา พุทธศาสนาที่คันธาระจึงเปลี่ยนเป็นนิกายตันตระ ในช่วงที่พระถังซัมจั๋ง (Xuanzang, ค.ศ. 602-664) เดินทางมายังดินแดนแห่งนี้ ท่านได้บันทึกถึงความเสื่อมโทรมลงของศาสนาพุทธและพุทธสถาน แล้วในที่สุดศาสนาพุทธก็เสื่อมลงไปจากดินแดนนี้จนแทบจะไม่เหลือเลยตั้งแต่คศวรรษที่ 10 เป็นต้นมา

พ้นไปจากตะวันตก-ตะวันออก

ไม่นานมานี้เองที่เรา (ทั้งชาวเอเชียส่วนหนึ่งและชาวตะวันตกรุ่นใหม่ๆ) คลั่งไคล้ความคิดเรื่องความเป็นตะวันออก ที่แตกต่างอย่างเป็นคนละขั้วกับความเป็นตะวันตก ในอดีตอันเนิ่นนานมาแล้ว ชาวตะวันออกไม่ได้คิดถึงตนเองว่าเป็นตะวันออกอย่างแตกต่างคนละขั้วกับตะวันตกมาก่อนหรอก ทั้งนี้เพราะ ในความเป็นตะวันตกเอง ก็มีตะวันออกอยู่ และความเป็นตะวันออกเองก็มีตะวันตกอยู่ แต่ความคิดเรื่องความเป็นตะวันออกที่ตรงข้ามกับเป็นความเป็นตะวันตกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิดแบบตะวันตกที่เกิดขึ้นมาหลังศตวรรษที่ 19

ความคิดเกี่ยวกับความเป็นตะวันออกที่หันมาเชิดชูว่าตะวันออกเต็มไปด้วยความดีงาม ไม่ยึดติดวัตถุ เน้นความเรียบง่าย อย่างที่มักจะกล่าวถึงกัน จึงเป็นวิธีคิดที่ไม่ได้ดีไปกว่าบูรพคดีศีกษาที่สร้างโดยนักวิชาการในซีกโลกตะวันตกแต่อย่างใด

ความเป็นตะวันตกและตะวันออกถูกสร้างขึ้นมาไม่ใช่แค่เพียงเพื่อจะแบ่งแยกซีกโลกทางภูมิศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม หากแต่ยังกลายเป็นเครื่องมือของการข่มเหง ใช้อำนาจควบคุม ที่ตะวันตกมีเหนือตะวันออก หรือในทางกลับกัน คือการสร้างความเป็นตะวันออกขึ้นมาเพื่อปิดกั้นคุณค่าตะวันตกที่ท้าทายระบอบอำนาจนิยมในตะวันออก

ถ้าจะให้ดี เราน่าจะหาทางไปให้พ้นจากความเป็นตะวันตกและตะวันออก เพื่อเข้าใจการแลกเปลี่ยนถ่ายเทวัฒนธรรมกันไปมาของผู้คนในซีกโลกต่างๆ ตลอดจนเพื่อเรียนรู้กันโดยไม่ตั้งข้อรังเกียจหรือยกย่องกันเกินจริง

จากเหตุเพียงแค่ว่าเขาหรือเรามาจากคนละซีกโลกกัน

……………………………..

ภาพประกอบ: ณัฐชนินท์ บุญฤทธิ์

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save