fbpx

รฤกแด่ปัญญาชนแห่งสาธารณะ : ประชาธิปไตยในการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไทย จากปลายปากกาของ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’

7 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา มีข่าวสะเทือนวงการวิชาการและประวัติศาสตร์ เมื่อ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทยเสียชีวิตลงในวัย 83 ปี ที่จังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางความอาลัยของลูกศิษย์และผู้ติดตามหนังสือทุกหมู่เหล่า

ในฐานะบุคคลสำคัญคนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย นิธิได้ทิ้งไว้ซึ่งคุณูปการหลายประการผ่านงานเขียน การแสดงออก และกิจกรรมทางการเมือง นับได้ว่านิธิเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีส่วนประกอบสร้างประชาธิปไตยทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อันเป็นกระแสความคิดให้แก่คนรุ่นหลังไม่น้อย จนเรียกขานกันโดยคุ้นปากว่าเขาคือ ‘ปัญญาชนสาธารณะ’ ของเมืองไทย

ด้วยความอาลัยนี้ 101 ร่วมรำลึกถึงความคิดและผลงานของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผ่านงานเสวนา “อ่าน ‘นิธิ’ ผ่านปฏิบัติการสร้างประชาธิปไตยทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในสังคมไทย” โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และดำเนินรายการเสวนาโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

อ่าน ‘ชีวิต อ.นิธิ’ ก่อนเดินบนเส้นทางปัญญาชนสาธารณะ

“สมัยนั้นนักศึกษาที่อยากจะเป็นนักคิด นักเขียน ส่วนใหญ่ล้วนอ่าน ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ กันทั้งนั้น ซึ่งผมจำได้ว่าฉบับหนึ่งมีบทความของอาจารย์นิธิอยู่”

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เริ่มวงเสวนาด้วยการเท้าความถึงเบื้องหลังชีวิต ณ ตอนที่ทั้งคู่ได้รู้จักและร่วมงานกันครั้งหนึ่ง ก่อนหน้าที่สาธารณะจะได้รู้จักกับนักประวัติศาสตร์คนสำคัญนี้

หลังจากจบปริญญาโท จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาหมาดๆ อาจารย์นิธิได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นได้ไม่นานในขณะนั้น อาจารย์นิธิเองก็เริ่มเขียนงานเชิงประวัติศาสตร์บ้างแล้ว หนึ่งในนั้นคือบทความในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ที่ธเนศได้อ่าน ณ ตอนที่ตัวเขายังเป็นนักศึกษา

หลังจากนั้น อาจารย์นิธิก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ในปีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยพอดิบพอดี นั่นคือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาและกลับมารับราชการต่อในปี 2519 ทำให้ได้เจอกับธเนศที่สมัครเข้ามาเป็นอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มช. เช่นกัน

“อาจารย์นิธิพลาดประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญมากของการเมืองไทยคือ เหตุการณ์ลุกฮือปฏิวัติ 14 ตุลาฯ 2516 แต่ช่วงต้นปี 2519 ผมไปสมัครเป็นอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ เชียงใหม่ วันหนึ่งก็ได้เจออาจารย์นิธิเพราะเขาเพิ่งกลับมา เลยได้คุยกัน”

“คำถามที่อาจารย์ถามผมเกือบทุกวันคือ ‘ผมอยากจะรู้ว่า ตอนเกิด 14 ตุลาฯ มันเกิดมาได้อย่างไร ทำไมมันถึงเกิดขึ้น’ ผมก็ต้องพยายามเล่าทีละตอนทีละช่วง ใครเป็นตัวละครตรงไหนบ้าง เหมือนติวข้อสอบ” ธเนศว่า

ในช่วงระหว่างปี 2518-2519 สถานการณ์ทางการเมืองร้อนระอุในหลายพื้นที่ มีทั้งการประท้วง ลอบสังหาร ใช้ความรุนแรง ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ธรรมศาสตร์หรือ 6 ตุลาคม 2519

เชียงใหม่ ณ ขณะนั้นก็เช่นกัน นักศึกษา ชาวบ้านจัดการชุมนุมประท้วงตลอดทั้งปี และในเดือนสิงหาคม ปี 2519 ก็ได้เกิดการลอบสังหาร ‘อินถา ศรีบุญเรือง’ ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย เหตุจากการต่อสู้กับอำนาจรัฐเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ควบคุมการเช่านา

ความไม่สงบเหล่านี้ทำให้อาจารย์นิธิสามารถต่อติดเรื่องราวตั้งแต่มหาวิปโยคจนถึงสถานการณ์ปัจจุบันในตอนนั้นได้ไม่ยาก ธเนศจึงอธิบายความเป็นนิธิในสายตาของผู้คนไว้ว่า มักจะถูกคนหัวก้าวหน้าวินิจฉัยถึงจุดยืนทางการเมืองอยู่เสมอ ด้วยเพราะมีอภิปรายเมื่อใดก็จะเห็นอาจารย์นิธิเข้าร่วม ขณะเดียวกัน เขาก็มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้หลักผู้ใหญ่ในคณะที่แสดงออกว่าเป็นอนุรักษนิยม แต่นั่นก็เป็นการอธิบาย ‘นิธิ’ อย่างที่หลายต่อหลายคนเข้าใจ

“ตอนพวกกระทิงแดงบุก มช. จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นนายกสโมสรนักศึกษา ถูกกระทิงแดงไล่วิ่งรอบองค์กรนักศึกษา พวกเราก็ต้องไปช่วยกัน อาจารย์นิธิบอกผมว่า ถ้าหากวันไหนที่ผมรู้สึกไม่ปลอดภัย ไปนอนที่บ้านเขาได้ เขามีบ้านพักอาจารย์”

“ด้วยความที่จุดยืนทางการเมืองในขณะนั้นของอาจารย์ไม่ชัดเจน อาจารย์หัวก้าวหน้าก็เห็นกันว่าเขามีความคิดที่เป็นซ้าย ขณะเดียวกันอาจารย์ผู้ใหญ่ คณบดี ก็เป็นคนที่เขามักจะไปทานข้าวด้วยเสมอ ทำให้บ้านของอาจารย์นิธิดูจะเป็นสถานที่ปลอดภัยจากเหล่ากระทิงแดงไม่น้อย นี่เป็นภูมิหลังทางการเมืองในตอนนั้นที่อาจารย์นิธิยังไม่ได้รับสมาทานลัทธิฝ่ายซ้าย หรือแม้แต่ในตอนนี้เองก็ตาม ผมว่าอาจารย์ก็ยังวิพากษ์ทุกสำนักอยู่เช่นเดิม” ธเนศกล่าว

หลังจากเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลาฯ นักศึกษาและประชาชนหลายคนได้หนีจากการคุกคามของรัฐเข้าป่าไป หนึ่งในนั้นคือธเนศ ใช้ชีวิตอยู่ในป่าสักพักก็ออกมาเรียนต่อปริญญาเอก ในช่วงที่ใกล้สำเร็จการศึกษา อาจารย์นิธิเขียนจดหมายมาหาเขาความว่า ตำแหน่งอาจารย์ที่คณะมนุษยศาสตร์ยังคงมีตำแหน่งว่าง หากต้องการจะกลับมาสอนให้รีบสมัครมา ธเนศจึงตอบรับไป และนั่นเป็นอีกครั้งที่ทำให้ธเนศได้คลุกคลีกับปัญญาชนสาธารณะท่านนี้ เป็นตัวตน ความรู้สึกที่ได้สัมผัสนอกเหนือจากกระแสความคิดที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านงานเขียนของเขา

“ผมคิดว่าช่วงหลัง 6 ตุลาฯ จนถึงยุคพลเอกเปรม ก่อนที่อาจารย์จะออกงานชุดกระฎุมพีต่างๆ ผมว่าอาจารย์นิธิไปซุ่มอ่านหลักฐานชั้นต้นทั้งหมดเท่าที่จะหาได้ และผลิตงานชุดนั้นๆ ออกมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันส่งผลต่อวิธีคิด วิธีการทำงาน ของอาจารย์นิธิจนถึงยุคหลังทีเดียว”

“ประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่มองประวัติศาสตร์ไทยอย่างไร มองการมีอยู่ของรัฐไทยอย่างไร ถามว่าทำไมพักหลังอาจารย์ไม่ค่อยวิพากษ์เชิงลบต่อสถาบันกษัตริย์เลย ผมคิดว่าอิทธิพลของการค้นคว้าในยุคแรกของอาจารย์มีผล อันนี้ผมสรุปจากความรู้สึกของตัวเอง”

“การเมืองแบบซ้าย การเมืองแบบที่มีให้เห็นในตอนหลังมันยังไม่เข้ามาในชีวิตของอาจารย์นิธิ” ธเนศว่าอย่างนั้น

‘การสร้างชาติและประชาธิปไตยทางการเมือง’ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์

หากกล่าวถึงการแสดงออกทางการเมืองในชีวิตของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ แล้วนั้น จะเห็นว่ามีการแสดงออกหลากหลายด้าน เช่น งานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ การอภิปรายบนเวทีทางการเมือง การรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112  การยืนหยุดขังเพื่อเรียกร้องให้มีการประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง หรือแม้แต่สะท้อนผ่านงานเขียนอย่างบทความในมติชนสุดสัปดาห์ก็ตาม

พวงทอง ภวัครพันธุ์ ได้มองจุดยืนบนเส้นทางประชาธิปไตยของอาจารย์นิธิไว้ว่า อาจารย์พยายามที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนประชาธิปไตยในฐานะนักวิชาการ โดยการเขียนวิพากษ์บริบทสังคม การเมือง วัฒนธรรมไทย รวมถึงเขียนวิพากษ์แวดวงวิชาการว่าอย่าเก็บตัวอยู่บนหอคอยงาช้าง เรียกร้องให้วงวิชาการมีบทบาททางสังคมมากขึ้นกว่าเดิม

“ในขณะที่สังคมไทยเต็มไปด้วยความอยุติธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ปัญหาระบบทหาร ทุจริต (Corruption) ปัญหาความยากจนแผ่ออกไป อาจารย์นิธิได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งเป็นเพราะปัญญาชนไม่ได้ตั้งคำถามที่ควรจะถาม และไม่พยายามที่จะตอบคำถามด้วย อาจารย์มองว่าปัญญาชนไม่ควรเชื่อคำตอบที่ได้รับมาง่ายๆ และถามคำถามใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ได้มีหน้าที่เชื่อหรือส่งต่อความคิดที่ครอบงำสังคมแต่อย่างใด”

ประเด็นการวิพากษ์สังคมหรือสถาบันกษัตริย์ที่ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า งานของอาจารย์นิธิพยายามเชิดชูและทำให้คนรุ่นหลังคล้อยตามอุดมการณ์กษัตริย์นิยม พวงทองมองว่า เป็นการอ่านงานอย่างอคติ เนื่องจากอาจารย์เป็นอีกหนึ่งนักประวัติศาสตร์ที่แม้เธอจะไม่ได้อ่านงานของเขาทุกเล่ม แต่ไม่รู้สึกถึงความพยายามทำให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็นสมมติเทพหรือวีรบุรุษ  ในทางกลับกันอาจารย์นิธิพยายามชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่า แท้จริงแล้วกษัตริย์ไทยต่างเป็นคนธรรมดาที่มีเครือข่ายอำนาจ รวมถึงพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้สถาบันของตนนี้ดำรงอยู่ได้

“ไม่ว่าจะอยู่ใน ปากไก่และใบเรือ (2527) การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ (2523) การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (2529) อาจารย์จะวิเคราะห์เรื่องสถาบันกษัตริย์ให้เห็นถึงเครือข่ายอำนาจที่พยายามจะต่อสู้แย่งชิงกันอยู่เสมอ ไม่ได้มองว่าสิ่งที่กษัตริย์ทำนั้นมีความยิ่งใหญ่หรือเป็นการกระทำเพื่อชาติ ชาติยังไม่ได้เกิดขึ้นด้วยซ้ำในช่วงเวลานั้น”

“หรือแม้กระทั่งใน ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา (2523) อาจารย์วิเคราะห์วิธีการเขียนประวัติศาสตร์ผ่านการชำระพงศาวดาร การเขียนประวัติศาสตร์ของราชสำนักช่วงต้นรัตนโกสินทร์ที่พยายามจะใช้ประวัติศาสตร์สร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกษัตริย์หลังอยุธยามาจากสามัญชน ไม่ว่าจะเป็นรัชกาลที่ 1 หรือพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง อาจารย์ก็อ่านพงศาวดารแบบใหม่ โดยไม่ได้ตีความพงศาวดารเพื่อยกย่องสถาบันแบบที่นักประวัติศาสตร์สายดำรงนั้นตีความ แต่อาจารย์ชี้ให้เห็นว่า นี่คือการเมืองของสถาบันกษัตริย์ยุคหนึ่ง”

พวงทองกล่าวว่า อาจารย์นิธิไม่ใช่ผู้ที่จะรับกระแสของปัญญาชนเข้ามาง่ายๆ แม้เขาจะพูดอยู่เสมอว่าในการวิจารณ์นั้น เขาไม่ได้ใช้ทฤษฎีประกอบอะไรมาก แต่เธอคิดว่าสำหรับอาจารย์นิธิแล้ว ทฤษฎีเพียงทฤษฎีเดียวไม่สามารถอธิบายความซับซ้อนของบริบททางสังคมได้ทั้งหมด เมื่อต้องวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองหนึ่งๆ อาจารย์จึงมองหลากมิติมาก

ตัวอย่างเช่น หากอ่าน ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา (2523) วิธีที่อาจารย์นิธิอ่านเอกสารชั้นต้น อาจารย์จะพยายามอธิบายว่า ในตัวพงศาวดารกษัตริย์พยายามที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับขุนนางที่สร้างแนวคิดเกี่ยวกับผู้มีบุญญาธิการใหม่ 

หรือในงาน การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ (2523) การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (2529) อาจารย์นิธิพยายามทำให้กษัตริย์เป็นมนุษย์ปุถุชน ชนชั้นนำไทยหรืออนุรักษนิยมในอดีตที่รายล้อมกษัตริย์มีภูมิปัญญาอย่างมากในการที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่กษัตริย์หลากหลายด้าน นอกจากจะสร้างเครือข่ายทางอำนาจแล้ว ชนชั้นนำยังเข้าไปควบคุมปัจจัยการผลิต ปัจจัยทางการค้า อำนาจทางเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับสร้างความชอบธรรมทางศาสนาที่จะรองรับกษัตริย์ด้วย จะเห็นว่า อาจารย์นิธิพยายามอธิบายความชอบธรรมของกษัตริย์ไทยที่ถูกรองรับด้วยอุดมการณ์ความคิดหลายๆ อย่าง ทำให้สถาบันกษัตริย์ไทยสามารถมีบทบาททางการเมืองได้เสมอมา

“นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ถ้าหากคุณใช้ไม้บรรทัดแบบลัทธิมากซ์ (Marxism) ฝ่ายซ้ายมองอาจารย์นิธิ งานของเขาจึงดูไม่เป็นการวิพากษ์ แต่อาจารย์นิธิไม่ใช่ผู้นิยมกษัตริย์ (Royalist) ไม่ได้พยายามทำให้คนหลงใหลได้ปลื้มสถาบัน แต่ทำให้เห็นว่าสถาบันหนึ่งจะดำรงอยู่ได้นั้น มันจะประกอบไปด้วยอำนาจด้านใดบ้าง เมื่ออำนาจเหล่านั้นเสื่อมลง อาจารย์นิธิก็ไม่ลังเลที่จะวิจารณ์ ซึ่งก็ปรากฏชัดเจนมากในงานของอาจารย์หลังปี 2549”

การสร้างประชาธิปไตยในแบบของอาจารย์นิธิยังสะท้อนออกมาผ่านงานเขียนเกี่ยวกับการวิพากษ์กองทัพอย่างตรงไปตรงมา บทความของอาจารย์ที่ถูกกล่าวถึงมากอย่าง ทหารมีไว้ทำไม (2559) และอีกหลายชิ้นกล่าวถึงกองทัพกับการเมืองไทย โดยใช้วิธีตั้งคำถามจาก ทหารไทยอยู่ในระบบแบบใด เมื่อประเทศไทยไม่ใช่กองทัพแบบรัฐราชาธิราชที่มีการเกณฑ์แรงงานไพร่สามเดือนหกเดือนแล้ว แต่เข้าสู่การเป็นรัฐชาติ หมายความว่า กองทัพจะอยู่ด้วยแนวคิดเพื่อปกป้องดินแดน สร้างความมั่นคงให้กับชาติ ป้องกันภัยจากภายนอก อยู่ด้วยภาษีของประชาชน ฉะนั้นแล้วกองทัพก็มีหน้าที่รับใช้ชาติ ซึ่งก็คือประชาชน

แต่อาจารย์นิธิกลับตั้งคำถามว่า ถึงแม้กองทัพไทยจะเป็นกองทัพประจำการ ไม่ใช่กองทัพที่เกณฑ์เป็นครั้งครา แต่กองทัพเป็นกองทัพที่ทำงานให้กับชาติจริงหรือ เนื่องจากงานหลายอย่างของกองทัพไม่เกี่ยวกับทางการทหารเลย กองทัพเข้ามายุ่งในเรื่องของการบรรเทาสาธารณะภัย ยาเสพติด และอื่นๆ ซึ่งไม่ควรจะเป็นเรื่องของกองทัพ

ประชาชนจำเป็นต้องตั้งคำถามในฐานะเจ้าของภาษีถึงหน้าที่ที่แท้จริงของกองทัพ หากกองทัพไทยไม่มีความสามารถในการปกป้องประเทศ ซึ่งตัวอาจารย์นิธิเองก็ยืนยันว่าไม่ได้มีมาตั้งแต่ปี 2492 ลงมา เนื่องจากไม่สามารถที่จะทำการรบได้ กรณีสมรภูมิร่มเกล้าได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หรือการปะทะบริเวณชายแดนปราสาทเขาพระวิหารกับกัมพูชา กองทัพก็ไม่อยากรบ และอาศัยการเจรจาอย่างเดียว 

ความสามารถในการวางยุทธศาสตร์ทางการทหารของกองทัพอ่อนแอ เพราะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในมาก ดังนั้น การตั้งคำถามของเขาคือกองทัพยังจำเป็นอยู่หรือไม่

“กองทัพจะไปรบกับใคร ประเทศเพื่อนบ้านเราก็เป็นพันธมิตรภายใต้อาเซียน จะไปรบกับมหาอำนาจอย่างจีน คุณก็ไม่มีปัญญา ฉะนั้น อาจารย์จึงตั้งข้อสังเกตไปถึงขั้นว่าเราไม่ควรมีกองทัพ”

“แบบเดียวกันกับการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ยังคงดำรงอยู่ในฐานะราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) จริงหรือไม่ ระบบราชการปัจจุบันที่ควรจะรับใช้ประชาชน แต่พยายามทำตัวเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับนักการเมืองที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ราชการจะยังคงเป็นอาชีพเพื่อประชาชนอยู่หรือเปล่า”

“นี่เป็นการตั้งคำถามด้วยวิธีการเข้าสู่ความคิดว่า สถาบันทั้งหลายที่ควรจะมีบทบาทตามที่เข้าใจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นสถาบันภายใต้ระบบรัฐชาติที่อยู่ได้ด้วยภาษีของประชาชน หากคุณไม่ทำตามอย่างที่คุณได้ประกาศกับประชาชนไว้ คุณก็ไม่ควรจะมีอยู่ หรือไม่ก็ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนเสียที”

ในส่วนของประเด็นเรื่อง ‘ชาติ’ พวงทองคิดว่าอาจารย์นิธิมีปัญหาอย่างมากกับแนวคิดราชาชาตินิยม ครั้งหนึ่งในอดีตอาจารย์มองว่าแนวคิดราชาชาตินิยมนั้นทรงพลัง เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการต่อสู้กับภัยคุกคามต่อสถาบันหลักของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อคอมมิวนิสต์หมดไปแล้ว เครือข่ายอนุรักษนิยมหรือชนชั้นนำก็ยังพยายามที่จะใช้อุดมการณ์นี้มาเป็นเครื่องมือที่จะทำให้คนไทยสู้กันเอง เช่น กลุ่มคนเสื้อเหลืองใช้โจมตีพรรคการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร โจมตีคนเสื้อแดง ปัจจุบันก็เอามาใช้โจมตีพรรคก้าวไกล เป็นต้น

“เป้าหมายของอุดมการณ์นี้คือ ด้านหนึ่งแสดงถึงความต้องการให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติที่เป็นราชาชาติ แต่อีกด้านก็กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขัดขวางความเป็นชาติที่หมายถึงประชาชนเช่นกัน ชาติที่ไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น มันไม่มีทางที่จะเป็นชาติได้ งานของอาจารย์นิธิในช่วงหลังสะท้อนให้เห็นแนวคิดนี้อย่างชัดเจนมาก” พวงทองกล่าว

ประชาธิปไตยทาง ‘เศรษฐกิจ’ โดยนักประวัติศาสตร์

นอกจากกลวิธีการเขียนเน้นการตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ในแบบที่นักประวัติศาสตร์ยุคเก่ามักจะไม่นิยมแล้ว แนวคิดในการพยายามตั้งคำถามกับสิ่งที่มีอยู่และหาคำตอบให้กับคำถามใหม่ยังแผ่กระจายถึงงานเขียนในแง่เศรษฐศาสตร์ของอาจารย์นิธิอีกด้วย

สฤณี อาชวานันทกุล เริ่มต้นวิเคราะห์มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ของอาจารย์นิธิด้วยการยกตัวอย่างหนังสือที่อาจารย์เขียนคือ วัฒนธรรมความจน (2541) ซึ่งเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับวัฒนธรรม เช่น วาทกรรมคนจน โง่ จน เจ็บ เพื่อสะท้อนว่าความยากจนที่เป็นการจนตัวเงินหรือจนทรัพย์สินนั้น แท้จริงแล้วมาจากความจนอำนาจ จนโอกาส การเข้าไม่ถึงทรัพยากร หรือการเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ

ด้วยความที่อาจารย์นิธิเป็น ‘ปัญญาชนของสามัญชน’ ฉะนั้น การมองเรื่องทางเศรษฐศาสตร์ เขาจะเริ่มมองจากตัวตนของผู้คนว่า พวกเขามีชีวิตอย่างไร ดีหรือไม่ดี และมองไปที่เรื่องของแรงจูงใจที่เป็นเรื่องเชิงประจักษ์ ไม่ได้อ้างอิงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มากมาย แต่เป็นวิธีคิดที่สฤณีลงความเห็นว่าทันสมัยเป็นอย่างมาก ในยุคที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปยังคงอ้างอิงตำราโดยเริ่มต้นจากคำว่า มนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีภาวะเป็นเหตุเป็นผล (Rational Being)

ความคิดที่เริ่มจากการมองคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมของอาจารย์นี้เอง สอดคล้องกับแนวคิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ (Economic Democracy) ซึ่งเป็นแนวคิดที่พยายามต่อต้านเสรีนิยมใหม่ ที่เชื่อมั่นในตลาดเสรีแบบสุดขั้ว แล้วทำให้ฐานความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้นกว่าเดิม ปุถุชนเข้าไม่ถึงทรัพยากร ขาดการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ โดยอาจารย์นิธิใช้คำว่า “สังคมนิยมข้างบน ทุนนิยมข้างล่าง” อธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจไทย กล่าวคือ ในขณะที่ประชาชนชั้นล่างปากกัดตีนถีบ ดิ้นรนแข่งขันเพื่อเอาตัวรอด คนรวยหรือผู้มีอิทธิพลกลับได้รับการอุ้มชูอุปถัมภ์จากรัฐ ทั้งในแง่นโยบาย ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำโดยการมอบอำนาจผูกขาดให้

“เช่นเรื่อง เขื่อนปากมูล อาจารย์ก็พยายามชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านเขามีวิถีชีวิตตรงนั้น เมื่อเกิดการสร้างเขื่อนมันทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาหมดความหมายไป อาจารย์จึงตั้งคำถามว่า ทำไมเราไม่เน้นนโยบายพัฒนาโดยไม่พุ่งเป้าไปที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่มองเรื่องของความเป็นคน เรื่องของวิถีชีวิต ความมั่นคงทางสังคมแทน ซึ่งหลังจากที่อาจารย์เขียนถึงเขื่อนปากมูลนี้ ก็มีงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ออกมาอย่างชัดเจนว่า มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของเขื่อนนั้นไม่คุ้มค่าเช่นเดียวกัน เท่ากับว่าการสร้างเขื่อนนี้ล้มเหลวในทุกด้าน” 

“อาจารย์เน้นเรื่องทุนโดยใช้คำว่า ‘ทุน’ ในลักษณะที่ค่อนข้างกว้าง ไม่ใช่แค่ในความหมายเชิงตัวเงินหรือทรัพย์สิน แต่เป็นทุนในแง่ของสังคม ชุมชน วัฒนธรรม และอาจารย์ก็พยายามตั้งคำถามเพื่อชี้ให้เห็นว่าทำไมทุนต่างๆ เหล่านี้ถึงมีคุณค่าน้อยกว่าทุนที่เป็นเงินอยู่เสมอ”

ขณะเดียวกัน สฤณีมองว่าอาจารย์นิธิก็ไม่ได้ปฏิเสธระบบทุนนิยมเสียทีเดียว เพียงแต่ทุนนิยมนั้นสามารถมีได้หลายใบหน้า ฉะนั้น โจทย์คือการที่จะทำอย่างไรให้ทุนนิยมมีใบหน้าที่คล้ายมนุษย์มากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ได้ประโยชน์อยู่แค่กับคนรวยเพียงหยิบมือเดียว หากจะต้องมีทุนนิยม เราควรจะกำกับมันอย่างไรบ้าง

“เรื่องการหาอำนาจมากำกับทุนนิยมของอาจารย์ ก็จะคล้ายๆ แนวคิดของโจเซฟ ยูจีน สติกลิตส์ (Joseph Eugene Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่มองเรื่องสวัสดิการเพื่อภาคเอกชน (Corporate Welfare) ว่า รัฐออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนหยิบมือเดียว ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ โดยอาจารย์นิธิยกตัวอย่างว่า พวกสมาคมทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น สมาคมอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร จริงๆ แล้วคือสหภาพของนายทุน”

“อันนี้ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานอาจารย์นิธิ เราคงคิดไม่ถึงว่าอาจารย์จะเอาคำว่าสหภาพไปใช้กับองค์กรธุรกิจใหญ่ อาจารย์มีแนวคิดมองทุนนิยมในแบบที่สวัสดิการรัฐมอบให้กับทุนใหญ่ ทำอย่างไรเราจะสามารถกำกับให้มันยุติธรรมมากขึ้นได้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนได้มีอำนาจในการกำหนดชีวิตตัวเอง ให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ นอกเหนือจากเม็ดเงิน”

อนึ่ง สฤณีมองว่าอาจารย์นิธิได้สร้างคุณูปการต่อแวดวงเศรษฐศาสตร์ไว้อย่างมากคือ ด้วยความที่เขาเป็นผู้ที่มักจะสนใจในแรงจูงใจของผู้คน และเชี่ยวชาญในเรื่องของการตีความวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อมุมมองที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชุมชนของตัวอาจารย์เอง เขามองเห็นขีดความสามารถ (Potential) ที่ชุมชนมีกลที่จะพัฒนาและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้

“กลไกของชุมชนซึ่งสามารถกำกับทรัพยากรสาธารณะที่ชุมชนใช้ร่วมกัน หากมีกติกาที่ออกแบบมาดีพอด้วยเงื่อนไขความสัมพันธ์ที่เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องใช้กลไกตลาดเข้ามาจัดการทุกกรณี อาจารย์นิธิมีความสนใจกลไกเหล่านี้ในฐานะเครื่องมือที่จะช่วยให้ชุมชนมีอำนาจในการกำหนดทิศทางของตัวเอง”

“ความสนใจและฐานคิดของอาจารย์อยู่ที่ความเป็นอยู่ของผู้คนจริงๆ ในสังคม โดยเฉพาะกับคนตัวเล็กตัวน้อยที่เข้าไม่ถึงโอกาส ทรัพยากร ส่วนตัวคิดว่านักเศรษฐศาสตร์โดยพื้นฐานควรจะมองจากฐานแบบนี้ เพราะยุคนี้เป็นยุคที่ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำว่าไม่มีอยู่จริง” สฤณีทิ้งทวน

วัฒนธรรมและความเป็นนิธิ

ธเนศอธิบายตัวตนของอาจารย์นิธิว่าเขาป็นนักอักษรศาสตร์ในความหมายดั้งเดิม กล่าวคือ  ความรู้ในเรื่องวรรณคดี ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ต่างๆ ล้วนอยู่ในคามหมายของอักษรศาสตร์อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ได้มีอะไรน่าสงสัย หากนักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์นิธิจะเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกันโดยไม่ได้สนใจกรอบวัฒนธรรมในแบบที่กระทรวงวัฒนธรรมไทยพยายามทำอยู่

“ยกตัวอย่างเช่นงานชุดสุนทรภู่ต่างๆ อาจารย์ใช้ฝีมือทางด้านอักษรศาสตร์เล่าถึงความยอกย้อนในงานที่เขียน ที่มีคนอ่านงานของอาจารย์เป็นเพราะอาจารย์ไม่ได้หยุดให้งานเป็นแค่ความงดงามเชิงวรรณศิลป์ แต่ถ่ายทอดลงไปสู่ชีวิตจริงของวรรณศิลป์ ชีวิตของคนที่อยู่ในนั้น ชนชั้นล่าง ถ่ายทอดวาทศิลป์ของชาวบ้านต่างๆ เข้ามาอยู่ในวรรณกรรมของค่ายศักดินา”

เมื่อนำมามองสารผ่านสภาพทางการเมือง ธเนศลงความเห็นว่า อาจารย์นิธิอาจจะเหมือนกับนักวิชาการหลายคนซึ่งไม่ค่อยซึมซับกับความหมายของประชาธิปไตยเมื่อหากนิยามมันในแบบเสรีนิยมหรือสังคมนิยม เนื่องจากกรอบทฤษฎีใช้ไม่ได้ในระบบอำนาจแบบที่ไทยเป็นอยู่ และเป็นสิ่งที่อาจารย์นิธิพยายามจะมองให้พ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าปฏิเสธ

“เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อาจารย์พยายามบอกว่านักศึกษาใช้แนวคิดเกี่ยวกับชาตินิยมที่ไม่ใช่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างที่รัฐโฆษณา และไม่ใช่แบบ จอมพลป. พิบูลสงคราม ใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เป็นชาตินิยมที่มาจากความรู้สึกของคนที่ออกมาเดินขบวน 14 ตุลาฯ เอง สิ่งที่ประชาชนต้องการคือ ความยุติธรรม ความเสมอภาค ความเท่าเทียม จึงถือเป็นการเริ่มต้นความคิดว่า ประชาธิปไตยต้องดึงชาติมาเป็นของประชาชน”

“เมื่อมาเจอเดือนขบวนเดือนพฤษภาฯ 2535 คำเรียกร้องการเคลื่อนไหวต่างๆ มาอยู่ในมือของชนชั้นกลาง คราวนี้ชาตินิยมของชนชั้นกลางในเมืองจะไม่เหมือนรุ่น 14 ตุลาฯ แล้ว มันมีลักษณะของการเรียกร้องเสรีภาพมากขึ้น ซึ่งก็ตรงกับอุดมการณ์ชนชั้นกลางในตะวันตกต่างๆ ขณะที่รัฐบาลเปลี่ยนไป ก็เริ่มทำนโยบายที่ชนชั้นกลางมีความสุข เป็นรัฐบาลขวัญใจของชนชั้นกลาง แต่อาจารย์นิธิกลับค้นพบว่า รายงานข่าวเล็กๆ ที่ไม่มีใครสนใจในหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องของชาวบ้านในบุรีรัมย์ที่ถูกไล่ที่ ชาวบ้านออกไปประท้วงก็ถูกจับ ถูกทารุณ ร้องเรียน”

อาจารย์นิธิจึงยกโจทย์เล็กๆ นี้มาเพื่อเปรียบเทียบว่า ในขณะที่ประชาธิปไตยชนชั้นกลางได้รับการตอบรับ แต่ชาวบ้านที่ตกระกำลำบากถูกทำให้กลายเป็นอาชญากร คนส่วนนี้ไม่ถูกตอบรับเลย ไม่มีใครเดินขบวนเพื่อชาวบ้าน

และการวิเคราะห์เช่นนี้ปรากฏขึ้นอีกครั้งในยุคที่มีการชุมนุมสีเสื้อ อาจารย์ได้ยกตัวอย่างว่าคำปราศรัยของผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองมักจะมีอุดมคติของชนชั้นกลางอยู่ โดยคราวนี้เน้นความชาตินิยมไปอยู่ที่กษัตริย์ พุทธศาสนา และการเมืองคนดี เพราะฉะนั้นสูตรนี้จะไม่มีทางออกมาเป็นชีวิตของชนชั้นล่าง ไม่มีประชาธิปไตยแบบที่เป็นพื้นฐานอยู่ในนั้น เป็นประชาธิปไตยของชนชั้นกลางที่ต้องการจะสร้างประโยชน์เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ตัวเองเท่านั้น

ขณะที่คำปราศรัยของเสื้อแดงที่ถูกนำเสนอว่าเป็นชนชั้นล่างหรือคนรากหญ้า กล่าวหาโดยชาวกรุงว่าปราศรัยด้วยภาษาที่รุนแรง หยาบคาย ไม่ใช่เรื่องปกติของคนมีการศึกษา กลับมีเบื้องลึกที่นอกจากการร้องเรียน การด่ารัฐบาล หรือโจมตีรัฐบาลแล้ว ยังมีมิติของความยุติธรรมในความไม่เท่าเทียม คือไม่ใช่การเรียกร้องว่าฉันต้องได้ หรือฉันเป็นคนจน แต่พวกเขามายืนยันว่าพวกเขามีความเป็นคนเหมือนกันกับชนชั้นกลางในกรุงเทพ ฉะนั้น คำปราศรัยของเสื้อแดงจึงสะท้อนถึงวัฒนธรรมการต่อสู้ของคนรากหญ้า เป็นการพูดถึงความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) 

“การค้นพบเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าอาจารย์นิธิต้องมีสายตาที่เฉียบแหลมมาก สั่งสมความรู้ ตัวอย่างข้อมูลที่เกิดขึ้นในก่อนจะถึงยุคเสื้อแดงต่างๆ มาระดับหนึ่งแล้ว เขาจึงสามารถสะท้อนมันออกมาผ่านงานเขียนได้อย่างเป็นระบบ อาจารย์นิธิจึงเป็นแนวหน้าของนักสังเกตการณ์ นักเขียน นักวิชาการที่รวบรวมข้อเท็จจริง แล้วประมวลออกมาได้อย่างงดงาม ”

ธเนศกล่าวจบในตอนท้ายว่า “หากมีการเอาปรัชญาความจนเหล่านี้ออกมานำเสนอในงานวรรณศิลป์ วรรณกรรม งานละครต่างๆ ได้ และหากอาจารย์นิธิยังอยู่ เขาจะเป็นที่ปรึกษาชั้นเยี่ยมที่จะทำให้กระบวนการสร้างงานเหล่านี้เผยแผ่ออกไปได้อย่างดียิ่งแน่นอน”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save