fbpx
“เราคงต้องดูแลผู้ป่วยหนักไปแบบนี้ จนกว่าทุกคนจะได้วัคซีน” เสียงจากห้องไอซียูบนเส้นความเป็น-ตาย

“เราคงต้องดูแลผู้ป่วยหนักไปแบบนี้ จนกว่าทุกคนจะได้วัคซีน” เสียงจากห้องไอซียูบนเส้นความเป็น-ตาย

“เวลาเข้าไปดูแลผู้ป่วยในห้องไอซียู เราไม่ได้กินข้าวกินน้ำ ไม่ได้ฉี่ ต้องกลั้นไว้ก่อน บางครั้งก็นานถึง 6 ชั่วโมง” 

เอื้อง (นามสมมติ) อายุ 26 ปี พยาบาลประจำแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เล่าถึงประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยคนไข้โควิดระดับวิกฤต ที่หนักหนาและเข้มข้นมาตั้งแต่การระบาดระลอกสามในเดือนเมษายน 2564

ตั้งแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งจากหลักพันสู่หลักหมื่นต่อวัน สปอตไลต์ก็ฉายไปที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร เกิดปัญหาเตียงเต็ม การดูแลไม่ทั่วถึง และการทำ ‘home isolation ทิพย์’ เพราะระบบการจ่ายยาและการดูแลที่บ้านไม่เป็นจริง ปัญหาเหล่านี้ถูกพูดถึงอย่างมากตลอดการระบาดในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันโรงพยาบาลต่างจังหวัดก็ต้องรับมือผู้ติดเชื้อโควิดที่กลับมารักษาที่บ้านเกิดตัวเอง เหตุผลสำคัญคือกรุงเทพมหานครไม่สามารถรองรับผู้ป่วยโควิดได้เพียงพอต่อความต้องการ บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ห่างไกลศูนย์กลางการระบาด จึงต้องปรับแผนรับมือกับผู้ป่วยหนักด้วยวิถีปฏิบัติที่ไม่เหมือนเดิม

“เราทำงานที่แผนกไอซียูอยู่แล้ว พอโควิดระบาด ทางโรงพยาบาลเลยต้องเตรียมทีมไอซียูให้พร้อมไว้ เผื่อมีคนไข้โควิดที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ พอการระบาดระลอกสามรุนแรงขึ้นเลยทำให้มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น แต่ละคนมีโรคประจำตัวไม่เหมือนกัน พอติดเชื้อโควิดขึ้นมาเลยทำให้มีผู้ป่วยหนัก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจมากขึ้น โรงพยาบาลต้องนำทีมพยาบาลที่อยู่ไอซียูไปดูแลคนไข้ส่วนนี้ เราเลยอาสาไป” เอื้องเล่าถึงการคัดเลือกบุคลากรไปดูแลผู้ป่วยโควิด

โรงพยาบาลใช้ระบบอาสาในการเลือกคนก่อน ในแต่ละเดือนมีความต้องการบุคลากรไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยต้องการเดือนละ 40 คนเพื่อแบ่งเวรกันดูแลผู้ป่วย ถ้ามีคนอาสาไม่พอ ก็จะเปลี่ยนไปใช้ระบบจับสลากเพื่อให้พอต่อความต้องการ ซึ่งคัดเอาเฉพาะพยาบาลในห้องไอซียูที่เคยมีประสบการณ์ในการดูแลคนไข้หนักเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นพยาบาลก็ยังไม่พอในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่เข้ามาเรื่อยๆ 

แผนกไอซียูของโรงพยาบาลที่เอื้องทำงานอยู่รับผู้ป่วยได้ 8 เตียง ซึ่งจะรับเฉพาะผู้ป่วยระดับสีแดง ส่วนระดับสีเหลืองจะอยู่แผนกผู้ป่วยในส่วนที่แยกไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด และผู้ป่วยระดับสีเขียวจะอยู่ที่โรงพยาบาลสนามหรือกักตัวอยู่ที่บ้าน

ในหนึ่งเวร พยาบาลจะเข้าไปดูแลผู้ป่วยประมาณ 2-3 รอบ ในแต่ละรอบดูแลผู้ป่วย 4-5 คน 

ความแตกต่างสำคัญระหว่างการดูแลผู้ป่วยหนักทั่วไปกับผู้ป่วยหนักจากการติดเชื้อโควิด คือการแต่งตัวของบุคลากรทางการแพทย์ก่อนสัมผัสผู้ป่วย เอื้องเล่าว่าก่อนจะเข้าไปดูแลผู้ป่วยได้ ต้องใช้เวลาแต่งตัวนานกว่า 10 นาที โดยเริ่มจากเปลี่ยนชุดที่ทางโรงพยาบาลจัดให้ ล้างมือ ใส่หมวกคลุมผม ใส่ถุงครอบเท้า สวมชุด PPE ใส่แมสก์ N95 เอาเทปมาซีลแมสก์อีกชั้น ใส่แว่นตา สวมถุงมือยาง ก่อนจะสวมถุงมือสีฟ้าที่ไว้ป้องกันสารอันตราย และสวมถุงมือยางธรรมดาทับอีกชั้น รวมเป็นถุงมือสามชั้น ก่อนจะปิดท้ายด้วยเสื้อกาวน์กันน้ำ และสวม face shield

“ความรู้สึกตอนแรกที่ต้องใส่ชุดแบบนี้คืออึดอัดและร้อนมาก ยิ่งถ้าต้องเข้าทำหัตถการ ต้องยกคนไข้ออกนอกตึกเพื่อไปเอ็กซเรย์ก็จะเหนื่อยมากๆ พอเสร็จงานแล้วเพลียเลย เหงื่อเต็มตัว ชุดเปียกไปหมด” เอื้องเล่า 

ถ้าเป็นการทำหัตถการทั่วไปจะใช้เวลาดูแลผู้ป่วยประมาณ 1-2 ชั่วโมง แต่ถ้ามีกรณี ‘ผู้ป่วยแอ็กทีฟ’ ก็อาจใช้เวลาในนั้นกว่า 3-6 ชั่วโมง คือมีผู้ป่วยที่อาการทรุดหนัก หากพยาบาลและหมอไม่เข้าไปแก้ไขสถานการณ์ตอนนั้นก็อาจเกิดหัวใจหยุดเต้นได้ 

“เคยมีเหมือนกันที่เจอคนไข้แอ็กทีฟแล้วเราไม่ไหว ต้องเปลี่ยนให้คนอื่นมาสลับแทน” เอื้องเล่าถึงการเผชิญหน้ากับความเป็นความตาย 

ในช่วงปกติ การ ‘เข้าเคส’ ไอซียูของพยาบาล จะมีวัตรปฏิบัติหลายอย่าง เอื้องเล่าว่าทำตั้งแต่ดูดเสมหะ ล้างปาก พลิกตะแคงตัวคนไข้ เช็กการขับถ่าย เจาะเลือด วัดความดัน และคำนวณการให้ยา ส่วนในกรณีผู้ป่วยโควิดก็จะมีการจับพลิกนอนคว่ำเพิ่มเข้ามาด้วย เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดให้มากขึ้น เพราะผู้ป่วยในระดับวิกฤตไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

“การรักษาผู้ป่วยโควิด เราให้ยาเป็นหลัก ดูเครื่องช่วยหายใจ และให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ” เอื้องสรุป

การจับผู้ป่วยนอนคว่ำ แม้จะฟังดูเป็นเรื่องง่ายดาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถแม้แต่จะยกมือหยิบแก้วน้ำเอง การพลิกตัวย่อมเป็นเรื่องยากลำบาก และยิ่งเชื้อโควิดกระจายได้ในอากาศ ยิ่งทำให้ครอบครัวไม่สามารถดูแลกันเองในบ้านได้หากไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่เพียงพอ ซึ่งเมื่อการระบาดไต่ไปในระดับติดเชื้อหลักหมื่นคนต่อวัน ผู้ป่วยหนักย่อมมีเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขจะรับไหว

ในจำนวนผู้ป่วยกว่าร้อยคนที่มาแล้วจากไป – ทั้งที่มีลมหายใจและไร้ลมหายใจ มีผู้ป่วยหนึ่งรายที่เอื้องยังรู้สึกกับเรื่องราวจนถึงตอนนี้

“มีคนไข้หญิงคนหนึ่งอายุ 29 ปี เขามาผ่าคลอดที่โรงพยาบาลแล้วตรวจเจอโควิด ปรากฏว่าหลังผ่าคลอดมีอาการตกเลือด ปอดติดเชื้อรุนแรง ตอนแรกเหมือนจะไม่รอด แต่ตอนนี้อาการเริ่มดีขึ้น ซึ่งก็ยังไม่หายดี เหมือนเขามีภาวะแทรกซ้อนที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ เราสงสารลูกเขาที่เกิดมาแล้วแม่ป่วยหนัก

“ช็อตที่สะเทือนใจคือตอนที่แฟนเขาโทรมาคุยตอนที่คนไข้อาการดีขึ้นช่วงหนึ่ง เราเป็นคนถือโทรศัพท์ให้ เขาเปิดกล้องคุยกัน ดีใจที่เขาได้คุยกันอีกครั้งหนึ่ง ถึงคนไข้จะทำได้แค่พยักหน้าเราก็ดีใจกับเขา” 

ในห้วงเวลากว่า 3 เดือนที่เอื้องและเพื่อนพยาบาลคนอื่นต้องรับมือกับความเครียดและความสูญเสีย ทำให้พวกเขาต้องหากิจกรรมทำเพื่อคลายเครียด ทั้งปลอบโยนกันเอง ฟังเพลง และเต้นบาสโลบ ส่วนทางโรงพยาบาลก็จัดหอพักให้สำหรับพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด เปิดให้มีการตรวจหาเชื้อโควิดหากมีอาการ และมีเงินค่าเสี่ยงภัยเพิ่มให้เวรละ 500 บาท แม้เอื้องจะบอกว่ายังไม่มีใครได้เงินส่วนนี้ก็ตาม

ส่วนประเด็นเรื่องการฉีดวัคซีนให้บุคลากรด่านหน้า เอื้องบอกว่าตนเองได้ฉีดซิโนแวค 2 เข็มแรก และบูสต์เข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการนำไฟเซอร์เข้ามาให้บุคลากรทางการแพทย์ เพราะ ‘ด่านหน้า’ ที่ต้องเจอกับผู้ป่วยโควิดโดยตรงต้องรีบบูสต์เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการระบาดที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

หากมองอายุ เอื้องเพิ่งเริ่มต้นอาชีพการทำงานพยาบาลได้ไม่นานก็ต้องรับมือกับโรคระบาดร้ายแรง “เรากำลังอยู่ในวัยสร้างเนื้อสร้างตัว แล้วมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ ก็ทำให้ทุกอย่างต้องชะลอ” เอื้องว่า

เมื่อถามถึงความคาดหวังในอนาคตและประเมินว่าต้องรับมือผู้ป่วยไปอีกนานเท่าไหร่ เอื้องตอบว่า “เราคงต้องดูแลผู้ป่วยหนักไปแบบนี้ จนกว่าทุกคนจะได้วัคซีนครบ อยากให้ได้ฉีดวัคซีนกันทุกคน เพื่อชะลอการระบาดของโรคลง”

ไม่ใช่แค่พยาบาลในแผนกผู้ป่วยหนักเท่านั้นที่ต้องเจอความเปลี่ยนแปลงในการทำงาน แต่พยาบาลในแผนกอื่นๆ ของโรงพยาบาลก็เจอความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน 

ภา (นามสมมติ) อายุ 53 ปี พยาบาลประจำแผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เล่าให้ฟังว่าต้องเตรียมพร้อมอย่างดีเมื่อมีผู้ป่วยโควิดมาเอ็กซเรย์ที่แผนก ทั้งสวมชุด PPE และต้องทำหัตถการผ่านช่องแคปซูลที่มีคนไข้โควิดนอนอยู่ในนั้น ยังไม่นับว่าพยาบาลและพนักงานในโรงพยาบาลต้องเจอกับคนไข้มากหน้าหลายตา โดยไม่รู้ว่าใครบ้างที่มีเชื้อโควิด จึงทำให้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

หากเป็นคนทั่วไป การเว้นระยะห่างทางสังคมอาจทำได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับอาชีพพยาบาล ความใกล้ชิดกับคนไข้เป็นเรื่องปกติที่ต้องทำ และนั่นทำให้เข้าใกล้ความเสี่ยงมากกว่าเดิม

“เราต้องทำงานใกล้ชิดคนไข้ เช่น บางทีคนไข้หูไม่ดี เราก็ต้องพูดใกล้ๆ หู หรือบางคนลุกเองไม่ได้ เราก็ต้องเข้าไปช่วยพยุง กลายเป็นทำตามความเคยชิน ทั้งที่ตอนเริ่มงานจะเตือนตัวเองเสมอว่าต้องระมัดระวังนะ แต่พอทำงานไปสักพักก็กลายเป็นอัตโนมัติว่าเราต้องช่วยคนไข้ ก็ต้องปรับตัวเยอะเหมือนกัน” ภาเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในการทำงานช่วงโควิด แม้ว่าจะไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยโควิดโดยตรงก็ตาม

ภาเล่าว่าช่วงเวลา 1 ปีตั้งแต่โควิดระบาดรอบแรกจนถึงตอนนี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาก ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องอุปกรณ์ที่พร้อมขึ้น ภาบอกว่าช่วงแรกของการระบาด หน้ากากอนามัยมีจำกัด กลายเป็นว่าแม้แต่คนทำงานในโรงพยาบาลเองก็มีหน้ากากไม่พอใช้ 

“เจ้าหน้าที่บางคนอยู่เวรเช้าต่อบ่ายต่อดึก ใช้อยู่อันเดียวนี่แหละจนถึงดึก กลับไปบ้านไปถอดแมสก์ หยิบมาดมไม่ได้เลย กลิ่นไม่ไหว บางคนใส่สองวันก็มี ถ้าย้อนกลับไปช่วงนั้นก็ถือว่าวิกฤตอยู่นะ ชีวิตลำบากพอสมควร” ภาเล่า

ยังดีที่ปัจจุบันหน้ากากอนามัยมีเพียงพอ และมีการจัดระบบแจกจ่ายให้บุคลากรชัดเจน รวมถึงมีการเตรียมชุดสำหรับทำงาน และซักอบรีดให้จากโรงพยาบาล แต่บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนก็ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงทุกวัน จากความจำเป็นที่ต้องเจอผู้คนจำนวนมาก และแน่นอนว่ายังมีผู้ป่วยโรคอื่นอีกจำนวนมากที่ยังไหลเวียนอยู่ในระบบสาธารณสุข และต้องการการดูแลรักษาไม่น้อยไปกว่าผู้ป่วยจากโควิด-19

ภาบอกว่า อย่างไรการทำงานในอนาคตก็คงยากขึ้น แต่ในฐานะคนทำงานด้านการแพทย์ก็ต้องปรับตัวไป เหมือนที่เคยปรับตัวกับโรคภัยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาตลอด ทั้งนี้บุคลากรทางการแพทย์พูดตรงกันหลายคนว่า การฉีดวัคซีนให้ครบจะช่วยให้สถานการณ์การระบาดดีขึ้น รวมถึงชีวิตคนทำงานในโรงพยาบาลก็จะดีขึ้นด้วย

เมื่อมองไปที่ตัวเลข ยอดผู้รับวัคซีนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ 30,954,477 คน จากเป้าหมายที่ต้องฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสภายใน 2564 นับตั้งแต่คิกออฟวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ในขณะที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 11,399 ราย

ในวันที่คนหน้างานต่างเหน็ดเหนื่อย ทุกคนคาดหวังว่าสถานการณ์จะไม่เลวร้ายไปกว่านี้ และการบริหารจัดการวัคซีนที่ดีคือทางออก

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save