fbpx
นาฬิกาประวิตร : อย่าหยุดที่การแซะ

นาฬิกาประวิตร : อย่าหยุดที่การแซะ

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

“จงจริงจังและอย่าจริงจัง เป็นสิ่งที่พึงประสงค์ทั้งสองอย่าง จงจริงจังกับสิ่งที่เป็นสาระ อย่าจริงจังกับสิ่งที่ไม่เป็นสาระ”

                                                                                                                                        –ศรีบูรพา

 

คำเตือน : บทความนี้เต็มไปด้วยความจริงจัง

29 มี.ค. 2561 ป.ป.ช. แถลงผลสอบนาฬิการหรู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พบมีเพียง 22 เรือนและยืมจากเพื่อนที่ตายแล้วทั้งหมด ส่วนแหวนเป็นของพ่อและมีมูลค่าไม่ถึงจำนวนที่ต้องแจ้งต่อ ป.ป.ช. ผลการสอบเช่นนี้ก่อความกังขาไม่น้อย กระทั่งเกิดคำถามว่า เหตุใดผู้มีอำนาจจึงกล้าสบประมาทคนไทย สื่อมวลชนไทย และสถาบันทางปัญญาทุกสถาบันในสังคมไทยถึงเพียงนี้

เราก้าวมาถึงจุดที่คนนับล้านช่วยกันจับตาการทุจริตแบบ 4.0 อย่างพร้อมเพรียง ตื่นตัว เป็นเอกฉันท์ แล้วยังไม่สามารถสร้างความระคายเคืองให้ผู้ที่เราจับตานั้นได้อย่างไร? นอกจากเหตุผลเรื่องอำนาจการตัดสินที่ไม่ได้มาจากเราแล้ว เมื่อพิจารณาถึงอารมณ์ขัน ความไม่จริงจัง และวัฒนธรรมการแซะที่เกิดขึ้นเพื่อต่อกรอำนาจรัฐในช่วงหลายปีมานี้ เราอาจพบช่องว่างที่น่าเติมเต็ม

 

เขาให้แซะ ไม่ใช่เขาใจดี

 

หลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้อารมณ์ขันเพื่อเสียดสี ล้อเลียน (หรือกระทั่งข้ามเขตแดนอันก้ำกึ่งไปถึงการจิกกัด เหน็บแนม ด่าทอที่เจือปนด้วยอารมณ์ขัน) นับเป็นพลังสำคัญในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ พื้นที่นี้ยังคงเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้คนได้ส่งเสียง ยังไม่มีกฎหมายใดๆ มาห้ามไม่ให้ใครจิกกัดหรือล้อเลียนใครได้ พื้นที่เสรีภาพนี้จึงยังคงอยู่

ในแง่หนึ่ง วิธีเหล่านี้มีประโยชน์คือได้ท้าทาย บ่อนเซาะ สั่นคลอน เขย่าความมลังเมลือง ความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจ สร้างวัฒนธรรมการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (free speech) ให้เข้มแข็ง

ทว่าในอีกแง่หนึ่ง วิธีเหล่านี้อาจเป็นการเปิดช่องให้เราได้ระบายความรู้สึกจนความรู้สึกโกรธแค้นบางส่วนได้รับการชดเชยแล้ว และจากงานวิจัยทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาหลายชิ้นพบว่า ช่องทางการแสดงออกช่องทางนี้ไม่ได้ให้คุณต่อผู้กำลังต่อกรกับอำนาจรัฐเท่านั้น แต่ดีต่อรัฐเองด้วย เพราะการปิดกั้นไม่ให้ผู้คนแสดงออกหมดทุกช่องทางย่อมนำไปสู่การลุกฮือ

การยอมให้ผู้คนได้ใช้อารมณ์ขัน การแซะ หรือกระทั่งการยอมถูกมองเป็นตัวตลกบางครั้งคราว ในแง่หนึ่งคือสิ่งที่ผู้มีอำนาจปล่อยให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ป้องกันไม่ให้นำไปสู่จุดแตกหัก อีกทั้งยังเป็นการปล่อยพื้นที่ไว้เช็กสถานการณ์และหยั่งความรู้สึกที่แท้จริงของผู้คนในสังคมเพื่อเตรียมรับมือ

การได้แซะจึงอาจไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจเสมอไป แต่อาจหมายถึงการได้หายใจในตู้ปลาที่หย่อนออกซิเจนไว้ เพื่อไม่ต้องฝันใฝ่ถึงมหาสมุทรกว้างใหญ่ก็เป็นได้

 

สร้างวัฒนธรรม “ไม่ตลกด้วย”

 

คำถามต่อมาคือเราไม่ควรมีอารมณ์ขันหรือควรหยุดวัฒนธรรมการแซะหรือไม่ ? คำตอบคือไม่ อารมณ์ขันเป็นอาวุธที่ทรงพลังอย่างยิ่งสำหรับคนธรรมดา เพียงแต่เราควรใช้อย่างมีความรู้เท่าทัน (humour literacy) ทั้งในฐานะผู้รุกและผู้รับ

อารมณ์ขันไม่ได้น่ารักสำหรับทุกเรื่อง โดยเฉพาะอารมณ์ขันของนักการเมืองที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการสร้างสายสัมพันธ์ กลบเกลื่อนความผิด เบี่ยงประเด็น เลี่ยงการตอบคำถาม หักเหความสนใจ สร้างบรรยากาศผ่อนคลายในสถานการณ์ที่ควรต้องถูกต้อนจนมุมหรือแสดงความรับผิดชอบบางประการ ฯลฯ

“การไม่ตลกด้วย” แม้จะเป็นเรื่องหนึ่งที่ธรรมชาติคนไทยอาจทำได้ยาก แต่หากแยกแยะไม่เด็ดขาดหรือผู้รับรู้อารมณ์ขันนั้นขาดความรู้เท่าทันและใช้ปะปนกับการให้คุณค่าอื่นๆ เช่น ตีความว่าอารมณ์ขันหมายถึงการเป็นคนน่ารัก เข้าถึงง่าย จิตใจดี ฯลฯ อาจเป็นจุดหยวนยอมเล็กๆ ที่นำมาสู่ความเสียหายบานปลายร้ายแรงต่อมาได้

เมื่อเร็วๆ นี้ได้เกิดเหตุการณ์ที่ทดสอบความรู้เท่าทันอารมณ์ขันของสื่อมวลชนไทยได้ดี เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ บอกให้นักข่าวสัมภาษณ์สแตนดี้แทนตนเองระหว่างการตอบคำถามสาธารณะ ความรู้เท่าทันอารมณ์ขันคือการสามารถนิยามได้ว่าเหตุการณ์นี้ถือเป็นอารมณ์ขันที่ยอมรับได้หรือไม่? ถ้าเราเป็นนักข่าวอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นเราจะทำอย่างไร? หัวเราะไปด้วย กลับมาเขียนข่าวแซวน่ารักๆ หรือกลับมาเขียนข่าวเรียกร้องวุฒิภาวะผู้นำและความนับถือต่อสื่อมวลชนที่หายไปจากการกระทำนั้น?

ผู้สื่อข่าวอาวุโสจาก ข่าวสดอิงลิช ประวิตร โรจนพฤกษ์ เป็นคนหนึ่งที่เคยตั้งข้อสังเกตถึงความหยวนยอมหัวเราะไปด้วยเล็กๆ น้อยๆ ของสื่อมวลชนครั้งหนึ่งไว้ในบทความของเขาเรื่อง “THE DEATH OF YUWADEE AND RISE OF SING-ALONG JOURNALISM” โดยกล่าวถึงการสูญเสีย ยุวดี ธัญญศิริ นักข่าวที่กล้ารุกถามเพื่อหาความจริงจากนักการเมืองระดับสูง และเขียนถึงเหตุการณ์ในวันที่ 15 กันยายน 2559 เมื่อพลเอกประยุทธ์ชวนนักข่าวมาร้องเพลงด้วยกัน แล้วมีนักข่าวร่วมร้องอย่างสนุกสนาน

ประวิตรแสดงความห่วงใยว่าสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่เต็มไปด้วยนักข่าวที่ “ร้องเพลงคลอตามไป” (Sing-along journalism) หรือนักข่าวที่คอยฟัง คล้อยตาม และเล่าสิ่งต่างๆ ต่อผู้อ่านตามที่ได้ฟังมาจากแหล่งข่าวเหมือนเครื่องบันทึกเสียง ในกรณีเช่นนี้ การตำหนิของประวิตร นับว่าเป็นเรื่องที่ “จริงจังเกินไป” หรือไม่ คำถามนี้เป็นข้อสอบวิชา humour  literacy ที่ขอชวนทุกคนตอบในใจ

 

ภาพ l ทวิตเตอร์ ประวิตร โรจนพฤกษ์

ยกระดับจากความเร้าอารมณ์เป็นวาระทางสังคม

 

ในแง่มุมของสื่อมวลชน อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสื่อมืออาชีพมาเสมอ ในสื่อที่เติบโตจนเป็นสถาบัน นอกจากเนื้อหาหนักหน่วงล้วนมีเนื้อหาเกี่ยวกับอารมณ์ขันและการล้อเลียนที่สร้างความผ่อนคลายและยุแหย่ให้เกิดประเด็นทางสังคมขึ้น

แต่สิ่งที่นับว่าเปลี่ยนไปในปัจจุบัน คือหลายสำนักข่าวได้สร้างความสนิทสนมให้ผู้เสพสื่อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เช่น ใช้การแซว เสียดสี หยิกแกมหยอก ทีเล่นทีจริง เข้ามาปะปนใน “คำโปรย” ด่านแรกสุดของการอ่านข่าวในโซเชียลมีเดียมากขึ้น เช่นการโปรยว่า Seriously? ของสื่ออย่าง The Independent  ซึ่งต่อมาเราจะพบสำนักข่าวในไทยใช้วิธีนี้แพร่หลายมากขึ้น นั่นคือนิยมการโปรยด้วยถ้อยคำสั้นๆ ที่แฝงเซนส์ของการแซะ แซว ประชด หรือจิกกัดเล็กๆ น้อยๆ

26 มีนาคม 2561 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ขอถอนตัวไม่ร่วมประชุมกับคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีตรวจสอบการครอบครองนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตรนัดสุดท้าย  ในวันนั้น หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งรายงานข่าวโดยใช้คำโปรยในการโพสต์บนเฟซบุ๊กว่า “ถอนตัว….เพราะว่ากลัวจะเสียน้ำตา”  ซึ่งเป็นท่อนหนึ่งของเพลงรักติดหูคนไทย โดยที่เนื้อหาข่าวได้รายงานอย่างจริงจังตามโครงสร้างข่าวปกติ

การหยิกแกมหยอก และตั้งประเด็นด้วยท่าทีสบายๆ ติดตลก แฝงการประชดเล็กๆ ได้คืบคลานเข้ามาในความเป็นข่าวมากขึ้น เทรนด์นี้จะนำไปสู่อะไรในอนาคต ขณะนี้ยังคงตอบไม่ได้ และต้องรอคอยผลการศึกษาวิจัยและผลในอนาคตที่เป็นรูปธรรมกันต่อไป แต่ประเด็นเกี่ยวกับภาษาข่าวที่มีผลการศึกษามาแล้วมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศคือผลจากการใช้ถ้อยคำเร้าอารมณ์  (drama) ที่บ่อยครั้งทำให้สื่อสูญเสียโอกาสในการผลักประเด็นต่างๆ ไปถึงขั้นการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าเสียดาย

เว็บไซต์ Knowledge Farm: ฟาร์มรู้สู่สังคม ได้ตั้งคำถามว่า เพราะอะไร คอร์รัปชันครั้งแล้วครั้งเล่า แม้จะจุดความโกรธเกรี้ยวของคนไทยให้ระเบิดได้ แต่ไม่สามารถนำไปสู่จุดเปลี่ยนเชิงระบบหรือนำตัวผู้คอร์รัปชันมาลงโทษได้สักที แล้วอีกไม่นานก็มีผู้สร้างความโกรธเกรี้ยวรายใหม่แจ้งเกิดทดแทนไม่รู้จบ

ใน Knowledge Farm ได้ตอบคำถามนี้ผ่านผลการศึกษาของนักวิจัยจาก SIAM Lab (Social Integrity Architecture and Mechanism design Lab) หนึ่งในนั้นคือ ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พบว่า “ภาษาข่าว” มีผลต่อปรากฏการณ์คอร์รัปชันมากกว่าที่คิด

จากผลการศึกษาพบว่าวัฒนธรรมการเปรียบเปรยหรือการใช้อุปลักษณ์ในหนังสือพิมพ์ไทยมักกระตุ้นความเร้าอารมณ์ ทำให้คนเสพดรามาแล้วชอบ ตื่นเต้นอยากมีส่วนร่วมทันที แต่ข้อเสียคือข่าวเป็นกระแสขึ้นมาวูบวาบแล้วหายไป ส่วนปัญหาเชิงระบบไม่ถูกแก้ไข เมื่อเปรียบเทียบกับสื่อหนังสือพิมพ์ของอินโดนีเซียที่มีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันรุดหน้าไปมากพบว่ามีการใช้ “ภาษาข่าว” ต่างออกไป

“คำที่เจอในสื่ออินโดนีเซีย มีคำว่ากฎหมาย ระเบียบ ผิดจริยธรรม สื่อ หนังสือ การสร้างอาชญากรรม เสียหาย ทำลาย การกระทำ การสร้าง การมีส่วนร่วม ดูเป็นเรื่องใหญ่ กล่าวถึงเรื่องเชิงระบบมาก และไม่ใช่เป็นการเล่นงานเจาะจงเฉพาะกรณีไป ซึ่งช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในความใกล้ชิดทางมโนทัศน์ (conceptual proximity) ของคำในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันได้ และที่สำคัญที่สุด มีการพูดคำว่าการมีส่วนร่วมมากกว่าสื่อไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งช่วยกระตุ้นทั้งทางความคิดและทางพฤติกรรมให้คนจับตาการทุจริตคอร์รัปชัน” ดร.ต่อภัสสร์กล่าว

ก้าวต่อไปของสังคมหลังการตัดสินของ ป.ป.ช.

 

อารมณ์ขันย่อมเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา คือที่มาของเสียงหัวเราะและความสุข (และความสะใจในบางครั้ง) แต่บางครั้งความจริงจังก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง และนำออกมาใช้ในเวลาที่สมควร ไม่เช่นนั้นอาจเป็นการสูญเสียโอกาสการรวบรวมแรงกดดันทางสังคมที่เกิดขึ้นมาแล้วไปอย่างน่าเสียดาย

กรณีนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตรไม่ต่างจากหลายกรณีช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งผลการตัดสินมีข้อพิพาทและสร้างข้อกังขาให้กับสังคม บางครั้งคำตัดสินค้านกับหลักฐานที่มัดแน่น บางครั้งผู้มีอภิสิทธิ์พ้นผิดได้โดยง่าย บางครั้งผู้ไม่น่าต้องโทษกลับต้องโทษ เพราะการบิดและขยายกรอบหลักการของกฎหมายออกไปจนตีความฐานความผิดได้กว้างและกำกวม

จากหลายกรณีที่เกิดขึ้น จะพบว่าผู้ต้องการรักษาความยุติธรรมที่เหลือน้อยนิดไว้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักกฎหมาย ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคดีดังกล่าว หรือประชาชนทั่วไป มักเลือกหาทางออกโดยการ “ทวงถามถึงหลักการ” ให้ถึงที่สุด เช่นหากเป็นคดีปกครอง จะพบว่ามีนักกฎหมายจำนวนหนึ่งพยายามยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อตีความคำสั่งคดีทางปกครองว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ หรือหากคดีไม่ได้อยู่ในขอบเขตของศาลปกครอง การตามหาคำอธิบายออกมาสู่สังคมให้ได้ว่า แนวทางการตัดสินเช่นนี้ จะใช้เป็นบรรทัดฐานต่อกรณีอื่นๆ ด้วยใช่หรือไม่? ถูกหลักการแล้วจริงๆ หรือไม่? ต่อไปนี้ไม่ว่าใครก็สามารถยกข้อกล่าวอ้างเช่นนี้เพื่อพ้นผิดโดยเท่าเทียมกันได้ใช่หรือไม่? ย่อมเป็นสิ่งที่ควรได้รับการบันทึกไว้

การให้ความสำคัญต่อการย้ำถึงหลักการที่ถูกต้อง ทวงถามความชอบธรรมตามสิทธิที่เรามีตรงๆ ยกกฎเกณฑ์ที่บิดเบี้ยวขึ้นมาถกเถียงตรงๆ และการตั้งคำถามเชิงระบบ สิ่งเหล่านี้คือการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองที่ทุจริต ผู้ได้รับอภิสิทธิ์ทั้งที่ทำผิด หรือให้ใครก็ตามที่สถาบันทางสังคมรัดล้อมอยู่รู้สึกและตระหนักว่าการกระทำความผิดนั้นกำลังตกอยู่ท่ามกลางกติกาบางอย่างที่สังคมกำหนด ไม่ได้อยู่ท่ามกลางคลื่นขึ้นลงของอารมณ์และความสนใจวูบวาบที่อาจบริหารจัดการได้ เช่น การเอา “บุพเพสันนิวาส” มาเบนความสนใจสักนิดหนึ่ง คลื่นความโกรธนั้นก็ซ่านเซ็นไป

คงน่าเสียดายไม่น้อย หากว่าสังคมไทยไม่สามารถยกระดับการตรวจสอบผู้มีอำนาจให้เข้มข้นและจริงจังได้

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save