fbpx

เราล้วนถูกชักจูงด้วยเหตุผล แต่ถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ : ตกลงมนุษย์เป็นสัตว์เจ้าอารมณ์หรือเป็นคนมีเหตุผลกันแน่?

เมื่อคุณต้องรับมือกับผู้คน จำไว้ว่าคุณไม่ได้จัดการกับสิ่งมีชีวิตที่มีตรรกะ

แต่กำลังจัดการกับสิ่งมีชีวิตที่เต็มไปด้วยอารมณ์ เต็มไปด้วยอคติ

เป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความเย่อหยิ่งและความไร้สาระ

เดล คาร์เนกี นักเขียน


เห็นข่าวดราม่าเรื่องรักสามเส้าของคนดัง กับเนื้อเรื่องชนิดที่เรียกว่าถอดมาจากคลับฟรายเดย์ยังไงยังงั้น ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่าเรื่องแบบนี้ทำไมจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำไมมนุษย์เราไม่สามารถยับยั้งชั่งใจหรือใช้เหตุผลช่วยตัดสินใจได้เลย ทำไมอารมณ์ถึงชนะทุกอย่าง และแทบทุกครั้งจนมันพาเรื่องราวลามไปใหญ่โต สร้างความเสียหายมากกว่าที่เราคิด

แบบนี้เราจะยังพูดได้ไหมว่ามนุษย์เป็นผู้มีเหตุและผล มีสติยั้งคิด และเราเป็นอย่างนั้นได้จริงแค่ไหน – ผมคิดว่านี่เป็นคำถามคลาสสิกพอๆ กับว่าอะไรเกิดก่อนบิ๊กแบง

ชาร์ล ดาร์วิน อาจไม่เคยเจอปัญหาเรื่องรักสามเส้าเคล้าน้ำตา แต่เขาเองก็มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ของมนุษย์ และพยายามหาคำตอบ โดยเขียนไว้ในหนังสือ The Expression of Emotions in Man and Animals ปี 1872 ว่าจิตใจของคนเราประกอบด้วยพลังที่แข่งกันอยู่สองด้าน คือด้านเหตุผลและด้านอารมณ์ ดาร์วินเชื่อว่าอารมณ์มีบทบาทต่อชีวิตของสัตว์มากกว่ามนุษย์ อารมณ์ของมนุษย์เป็นเพียง ‘ร่องรอย’ ที่หลงเหลือในฐานะสัตว์ และในการวิวัฒน์ของมนุษย์ อารมณ์จะถูกแทนที่ด้วยพัฒนาการทางการคิดแบบมีตรรกะ ซึ่งแตกต่างจากสัตว์ แนวความคิดนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง สร้างความเข้าใจเรื่องอารมณ์และตรรกะในระดับสากล

แต่ในช่วง 50 ปีหลังมานี้ เราพบว่ามันอาจไม่ใช่อย่างที่ดาร์วินเสนอทั้งหมด การศึกษาด้านจิตวิทยาและสมองทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าความซับซ้อนและอิทธิพลของอารมณ์ยังมีผลต่อมนุษย์อยู่มาก ทั้งเรื่องการกระทำ การตัดสินใจต่างๆ มากเสียจนทุกวันนี้ ไม่ว่าจิตแพทย์หรือนักประสาทวิทยาก็ยังเชื่อว่าการคิดเชิงเหตุผลของมนุษย์ไม่สามารถเอาชนะความคิดเชิงอารมณ์ได้เลย ที่ผ่านมามีความพยายามพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้มากมาย และสุดท้าย ผลก็ลงเอยเหมือนเดิม

การทดลองหนึ่งซึ่งทำติดต่อกันมาหลายปีต่างกรรมต่างวาระ และเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกัน คือเรื่องของอารมณ์กับการตัดสินใจในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง นักวิจัยอยากรู้ว่าท่ามกลางแรงกดดันและต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เหตุผลหรืออารมณ์กันแน่ที่ทำให้พ่อค้าวาณิชประสบความสำเร็จ

ในปี 1979 แดเนียล คาห์นแมน (Daniel Kahneman) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2002 เคยทดลองร่วมกับ เอมอส ทเวอร์สกี (Amos Tversky) ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเลือกระหว่างสองตัวเลือก ตัวเลือกหนึ่ง เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง แต่โอกาสได้รับผลตอบแทนสูง อีกตัวเลือกหนึ่งมีความเสี่ยงต่ำ โอกาสได้รับผลตอบแทนต่ำ แต่ปลอดภัยกว่า ผลการทดลองพบว่าผู้เข้าร่วมทดลองส่วนใหญ่เลือกตัวเลือกที่มีความเสี่ยงสูง โดยบอกว่าอยากลุ้นรับผลตอบแทนสูงแม้ว่ามีโอกาสพลาดมากกว่าก็ตาม แสดงให้เห็นว่าอารมณ์ความโลภ (greed) มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของมนุษย์มากกว่าเหตุผลหรือความปลอดภัย

เวลาต่อมา ในยุคของการค้าขายบนกระดานและเทรดเดอร์กลายเป็นผู้กุมชะตากรรมของนักลงทุนทั้งหลาย มาร์ก เฟนตอน-โอ ครีวี (Mark Fenton-O’Creevy) และทีม ทำการศึกษาเรื่องอารมณ์ความรู้สึกที่มีผลต่อการเทรดหุ้นของนักเทรด โดยสนใจว่าคนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพเทรดหุ้น ซึ่งต้องดูแลเงินหลายพันล้านบาท ใช้อารมณ์หรือเหตุผลในการตัดสินใจมากกว่ากัน

พวกเขาเก็บข้อมูลจากเทรดเดอร์มืออาชีพ 118 ราย ที่ทำงานซื้อขายหุ้น พันธบัตรและอนุพันธ์ของธนาคารเพื่อการลงทุนทั้งหมด 4 แห่ง บางคนประสบความสำเร็จอย่างสูงแต่บางคนไม่ การศึกษาพยายามทำความเข้าใจว่าทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างไร และมีทัศนคติต่อบทบาทของอารมณ์ในงานอย่างไรบ้าง

คำตอบของการศึกษาชิ้นนี้น่าสนใจไม่แพ้หัวข้อ พวกเขาพบว่าเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จในระดับค่อนข้างต่ำส่วนใหญ่ปฏิเสธบทบาทของอารมณ์ในการทำงาน พวกเขาพยายามระงับอารมณ์และไม่ยอมให้อารมณ์มีผลต่อการตัดสินใจของพวกเขา ในทางตรงกันข้าม เทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จมากกลับมีทัศนคติต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง คนกลุ่มนี้แสดงความเต็มใจอย่างยิ่งที่จะไตร่ตรองถึงพฤติกรรมการทำงานของพวกเขา ซึ่งมีอารมณ์ความรู้สึกเป็นปัจจัยหลัก อารมณ์คือสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า แถมยังรู้ด้วยว่าการตัดสินใจที่ดีเชื่อมโยงกับอารมณ์อย่างแยกจากกันไม่ขาด พูดง่ายๆ ก็คือคนที่ประสบความสำเร็จมักยอมรับบทบาทของอารมณ์และใช้อารมณ์เชิงบวกในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม เทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จล้วนเข้าใจว่า เมื่ออารมณ์รุนแรงเกินไป ต้องหาวิธีลดอารมณ์ลงให้ได้ ปัญหาสำหรับพวกเขาจึงไม่ใช่วิธีหลีกเลี่ยงการแสดงอารมณ์ แต่เป็นวิธีการควบคุมอารมณ์มากกว่า

งานวิจัยนี้ทำให้ผมนึกไปถึง Billions ซีรีส์เกี่ยวกับเรื่องการเงิน ที่ตัวเอกของเรื่อง บ็อบบี้ แอกซ์ลอร์ด เทรดเดอร์และผู้บริหารกองทุนต้องจ้างโค้ชด้านจิตวิทยาช่วยในการตัดสินใจและควบคุมอารมณ์ของพวกเขาเมื่อต้องการตัดสินใจเรื่องใหญ่


อารมณ์เป็นเรื่องของเหตุผล (จริงๆ นะ)


แล้วมนุษย์จะสามารถเอาชนะอารมณ์ของตัวเองได้หรือไม่ โดยเฉพาะอารมณ์ด้านมืดของเรา

นี่คือคำถามที่ท้าทายต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติอย่างมาก เพราะความยับยั้งชั้งใจไม่ได้นี่เอง ที่ทำให้มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับความฉิบหายหลายต่อหลายครั้ง สงครามนับครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์เป็นหลักฐานที่ดีสำหรับข้อนี้ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะหากเราทำได้ ยุคนี้ก็ไม่ควรมีสงครามเกิดขึ้นอีก

เจอรัลด์ ซัลต์แมน (Gerald Zaltman) ศาสตราจารย์จาก Harvard Business School ระบุว่า 95% ของการตัดสินใจของมนุษย์เกิดขึ้นจากจิตไร้สำนึกซึ่งใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นหลัก และโดยทั่วไปจะเกิดขึ้นเร็วมาก อันที่จริง จิตไร้สำนึกสามารถประมวลผลข้อมูลได้มากกว่าจิตสำนึกถึง 500,000 เท่าต่อวินาที เราอาจใช้เวลาแค่ 0.1 วินาทีในบางเรื่อง ก่อนที่สมองส่วนคอร์เทกซ์ที่ทำงานเรื่องเหตุผลจะเริ่มตอบสนอง โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องที่สมองรู้สึกว่ามันอันตราย เช่น ชักมือออกเมื่อจับของร้อนโดยที่ไม่ต้องคิด

หรือการตอบสนองต่อข้อมูลทางอารมณ์ ก็จะถูกถอดรหัสเร็วกว่าข้อมูลอย่างอื่น และดึงดูดให้เราตอบสนองโดยไม่รู้ตัวมากกว่าข้อมูลประเภทอื่นๆ หากคุณเห็นใครทำอะไรออกไปโดยไม่รู้ตัว เช่น ทำตัวร้ายกาจกับคนรักเมื่อเห็นภาพบาดตาบาดใจ แต่มาเสียใจทีหลัง ก็เป็นไปได้เช่นกันว่านั่นคือกระทำที่ยังไม่ผ่านการตระหนักคิด และสิ่งที่ซับซ้อนกว่านั้น คือจนถึงเดี๋ยวนี้ มนุษย์เรายังไม่สามารถแยกส่วนที่เป็นอารมณ์ออกจากการคิดเชิงเหตุผลได้

การศึกษาชิ้นหนึ่งของนักประสาทวิทยาและนักเขียนหนังสือขายดี อันโตนิโอ ดามาซีโอ (Antonio Damasio) ที่ปรากฏในหนังสือ The Strange Order of Things: Life, Feeling andthe Making of Cultures ระบุว่าเคยทำการทดสอบกับผู้มีอาการบาดเจ็บที่สมองส่วนลิมปัส ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการตอบสนองเชิงอารมณ์ เขาพบว่าการบาดเจ็บไม่เพียงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแสดงความรู้สึกของพวกเขาเท่านั้น แต่ความสามารถในการตัดสินใจยังบกพร่องอย่างร้ายแรง

คนเหล่านี้สามารถอธิบายสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างมีเหตุมีผล ว่าควรทำหรือไม่ทำอะไร แต่หากสิ่งนั้นไม่มีตรรกะรองรับ พวกเขาจะไปไม่เป็นเลย ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ กลายเป็นว่าคนที่ไม่มีอารมณ์ใดๆ มีสภาพเหมือนหุ่นยนต์และต้องดิ้นรนอย่างจริงจังในการตัดสินใจแม้แต่เรื่องง่ายๆ เช่น เราควรจะกินอะไรเป็นอาหารกลางวันดี ก็กลายเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับคนกลุ่มนี้ เพราะการรับรู้กว่า 95% ของมนุษย์เกิดขึ้นในสมองส่วนอารมณ์ของเราก่อนส่วนอื่น จากนั้นเราถึงใช้สมองส่วนอื่นช่วยในการตัดสิน การสร้างความคิดเชิงเหตุและผลเป็นส่วนช่วยเสริมน้ำหนักให้กับอารมณ์และช่วยในการตัดสินใจให้ดีขึ้นเท่านั้นเอง 

อาจกล่าวได้ว่าเราไม่สามารถตัดสินใจหรือคิดอะไรโดยปราศจากอิทธิพลจากอารมณ์ความรู้สึกของเราได้เลย เพราะอารมณ์คือสารกระตุ้นที่ทำให้สมองและจิตใจของของเราทำงาน นักประสาทวิทยาอธิบายว่าอารมณ์คือสภาวะการทำงานของจิต ซึ่งไปกระตุ้นสมองให้รู้ว่าต้องทำงานให้สัมพันธ์กับความรู้สึก กำหนดทิศทางความสนใจ ปรับเปลี่ยนการตอบสนอง ความหนักเบาของการแสดงออก และแสดงออกไป กระบวนการนี้อาจกินเวลาสั้นมากจนเราไม่รู้ตัว  

ถึงตรงนี้ เราน่าจะพอได้คำตอบว่าการตัดสินใจของเราขึ้นกับอารมณ์ล้วนๆ เราใช้เหตุผลเพื่อพิสูจน์การกระทำของตนเองต่อผู้อื่น  ฉะนั้นเขาถึงบอกว่าการจัดการกับอารมณ์ของตัวเองคือเรื่องจำเป็นและต้องได้รับการสั่งสอน ฝึกฝนจนมีสติรับรู้ถึงสิ่งที่อารมณ์กำลังจะพาไป และฝึกยับยั้งชั่งใจให้ได้ในบางสถานการณ์

เพราะนี่คือหัวใจของการมีชีวิตที่ยุ่งเหยิงน้อยลง


อารมณ์ VS เหตุผล : ความอลหม่านในความสัมพันธ์ 


เวลาที่เราตัดสินใจ ในหัวของเราจะมีวิธีคิดอยู่สองแบบ แบบแรกคือตัดสินใจด้วยอารมณ์ที่ประกอบด้วยตรรกะบางอย่างแต่แรงผลักดันหลักคืออารมณ์ แบบที่สองคือตัดสินใจบางอย่าง ที่เริ่มต้นด้วยความพยายามใช้เหตุผล แต่ท้ายที่สุดก็ใช้อารมณ์ตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ดี

ไม่ว่าอย่างไรทั้งสองสิ่งต้องมาด้วยกันเสมอ หากเข้าใจในสิ่งนี้ เราจะเข้าใจว่าท้ายที่สุดเราไม่สามารถทำตามเหตุผลและตรรกะในชีวิตของเราได้เป๊ะๆ พอๆ กับที่เราไม่สามารถทำตัวเป็นคนเจ้าอารมณ์ได้ตลอดเวลา

หากเราเข้าใจความจริงข้อนี้ เราจะทุกข์น้อยลง การที่เราต้องอดทน ถอยหลัง ถอนหายใจ หรือถอดใจเวลาที่อะไรๆ ไม่เป็นไปตามที่มันควรจะเป็น ถือว่าปกติเพราะเราไม่สามารถกำหนดสิ่งเร้าทางอารมณ์ของเราทั้งหมด ที่เราทำได้คือทำความเข้าใจกับธรรมชาติของมนุษย์ ของตัวเราเอง

ไม่ว่าคุณจะเกลียดความเป็นคนเจ้าอารมณ์ของคุณแค่ไหน อารมณ์ก็ทำให้เราแสดงออกต่อสิ่งต่างๆ ได้มีน้ำหนักและน่าสนใจ และการคิดอย่างมีเหตุผลทำให้เราอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ ช่วยให้เราใช้อารมณ์ได้อย่างเหมาะสม

ท้ายที่สุด ผมคิดว่าชีวิตคือ ‘ศิลปะแห่งความสมดุล’ เราต้องเรียนรู้การเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไรอย่างชาญฉลาด และทำอย่างมีสติ รวมถึงฝึกฝนศิลปะแห่งความสมดุลนี้ไปเรื่อยๆ หากเรารู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองได้เร็วเท่าไหร่ ผมคิดว่ามีแต่ผลดี ยิ่งในโลกยุคนี้ทุกคนรู้แล้วว่าความฉลาดทางอารมณ์สำคัญไม่น้อยไปกว่าความฉลาดทางสติปัญญา เราผ่านยุคที่คนเลี้ยงลูกเพื่อให้เป็นอัจฉริยะ และพบว่ามันอาจไม่ใช่หนทางเดียวที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จ เราควรเลี้ยงลูกให้เป็นคนมีจิตใจเปิดกว้าง มีทัศนคติที่ดีต่อชีวิต ทุกวันนี้มีหนังสือมากมายและงานวิจัยนับไม่ถ้วนที่ยืนยันว่า คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งเรื่องฐานะ หน้าที่การงานและการยอมรับจากสังคม ต้องเป็นคนที่มีทักษะความฉลาดทางอารมณ์ประกอบด้วย เราจะเป็นคนที่ทั้งประสบความสำเร็จและมีความสุขไม่ได้เลยหากเราไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ความตอนหนึ่งของหนังสือที่โด่งดังในแวดวงจิตวิทยา ชื่อ ‘The Influence of Emotional Subject Matter on Logical Reading‘ เขียนโดยอาเธอร์ เลฟฟอร์ด (Arthur Lefford) ตั้งแต่ปี 1962 แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า

“คนมักคิดว่าการตัดสินใจของตัวเองนั้น ขึ้นกับข้อเท็จจริงเสมอ แต่จากประสบการณ์ของผม ผมพบว่าเมื่อคนเห็นด้วยกับข้อความใดข้อความหนึ่ง พวกเขามักจะรับรู้ว่าข้อความนั้นมีเหตุผลหรือมีเหตุผลมากกว่า ในทางกลับกันเมื่อผู้คนไม่เห็นด้วยกับข้อความนั้นพวกเขาจะมองว่านั่นมันเป็นแค่คำวิงวอนทางอารมณ์”

สรุปสั้นๆ เลยว่า รู้อะไรไม่สู้รู้จักตัวเองดีที่สุด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save