fbpx
คนสมัยใหม่กับอินเทอร์เน็ต

คนสมัยใหม่กับอินเทอร์เน็ต

จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล เรื่อง

พัชรพร หุ่นเจริญวงศ์ ภาพประกอบ

 

พฤติกรรมการใช้งานเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยเรื่องน่าประหลาดใจ ถ้าสังเกตดีๆ เรามักพบการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ ในแง่มุมที่คาดไม่ถึงเสมอ ยกตัวอย่างเช่น การใช้โปรแกรม Google Docs ที่ออกแบบมาเพื่อการแก้เอกสารพร้อมๆ กัน เป็นช่องทางในการพูดคุยสนทนาในหมู่นักเรียน (อาจเพราะความสะดวก หรือเพราะว่ามีการห้ามใช้โปรแกรมสนทนาจริงๆ ในห้องเรียน) การเกิดขึ้นของวิธีการ retweet ในทวิตเตอร์เพื่อส่งต่อข้อความ หรือกระทั่งการใช้งานเว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อการส่งต่อข่าวปลอม ก็อาจนับว่าเป็นหนึ่งในการใช้งานที่คาดไม่ถึงได้เช่นเดียวกัน

เทคโนโลยีที่มีความสามารถหลากหลาย จึงไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือที่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นเครื่องมือที่เป็นพื้นฐานในการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ด้วย ถ้ามองเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ในแง่ที่เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ เราจะพบหลายเหตุการณ์ที่น่าสนใจ

 

การสนทนาออนไลน์ผ่านทางโปรแกรมส่งข้อความ ทำให้เราสามารถติดต่อพูดคุยกับผู้คนต่างๆ ได้ตลอดเวลาโดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ การสนทนานั้นอาจดำเนินไปในแบบที่คู่สนทนาโต้ตอบกันไปมาทันทีก็ได้ แต่ด้วยความสามารถในการเก็บข้อความเก่าไว้เป็นเวลานาน ก็อาจทำให้คู่สนทนานั้นไม่จำเป็นต้องตอบหรืออ่านข้อความในทันทีได้เช่นเดียวกัน คุณสมบัติเช่นนี้ทำลายข้อจำกัดของระยะทางและเวลาในการสื่อสารแบบก่อนๆ และเปิดโอกาสให้ผู้คนทำความรู้จักและสานความสัมพันธ์กันได้ในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม

แต่ความเป็นอิสระด้านระยะทางและเวลานี้เอง ทำให้ข้างหนึ่งของความสัมพันธ์นั้นสามารถตีตัวออกห่าง หรือจบเรื่องราวทั้งหมดลงได้ โดยการไม่ตอบหรือไม่สนใจข้อความของอีกฝ่าย คนยุคใหม่น่าจะเคยพบเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ หรือไม่ก็เป็นหนึ่งในคนที่เลือกจะยุติความสัมพันธ์ด้วยวิธีแบบนี้เองด้วยซ้ำ พฤติกรรมแบบนี้เรียกว่าการ ghosting (การหายตัวไปในโลกออนไลน์หรือกลายเป็นผี)

อย่างไรก็ดี การหายไปหรือโต้ตอบช้านั้นอาจไม่ได้หมายความถึงการจบความสัมพันธ์เสมอไป ดังนั้นลักษณะพิเศษของการหายตัวไปในโลกออนไลน์ (ghosting) ก็คือสภาวะที่กำกวมไม่แน่นอน กล่าวคือคู่สนทนาไม่แน่ใจว่านี่คือการจบการสนทนาหรือว่าอีกฝ่ายนั้นยุ่งมากจนไม่สามารถโต้ตอบได้นั่นเอง

พร้อมๆ กับความสามารถในการหายตัวไปกลายเป็นผี โลกออนไลน์ที่ผู้ใช้ต่างแบ่งปันเรื่องราวในชีวิตประจำวันบนสื่อสังคมกับเพื่อนๆ (ที่อาจกว้างขวางและรวมคนที่กลายเป็นผีไว้แล้วด้วย) ก็ทำให้ผู้ใช้แต่ละคนสามารถสอดส่องติดตามคนอื่นๆ ที่สนใจได้อย่างง่ายดาย ประกอบกับความคงทนของความสัมพันธ์แบบเพื่อนบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ กลุ่มคนที่เราอนุญาตให้เข้าถึงเรื่องราวและความเห็นของเราได้ มักมีขนาดใหญ่กว่าที่เราคาดคิดเสมอ เช่นเวลาที่คนมีชื่อเสียงหลายคนแสดงความคิดเห็นบางอย่างโดยไม่ระวัง ก็อาจพบกับปัญหาที่คาดไม่ถึงตามมา

ในกลุ่มคนที่ติดตามเราอยู่นั้น เราอาจสังเกตเห็นบางคน หรือถ้าพูดให้ตรงๆ ก็คือ มีบางคน (รวมทั้งคนที่หายไปแล้ว) ทำตัวให้สังเกตได้ โดยอาจกดไลค์ข้อความหรือสถานะของเราแทบทุกอัน รวมทั้งแสดงความเห็นกับบางสถานะของเรา ผู้ใช้เหล่านั้นเหมือนเป็นคนตามติดชีวิตออนไลน์ของเราทุกฝีก้าว ไม่ต่างจากดาวเคราะห์หรือดาวเทียมที่โคจรรอบตัวเรา ลักษณะเช่นนี้ว่า orbiting (การวนเวียนโคจรอยู่รอบตัว)

การมีคนโคจรรอบตัวนั้นอาจสร้างความรู้สึกได้หลายแบบ ถ้าคนที่มาโคจรนั้นเป็นคนที่เลิกรากันไปแล้ว หรือคนที่กลายเป็นผี ก็มักสร้างความอึดอัดหรือกระอักกระอ่วนใจ หลายคนเลิกใช้งานบางเครือข่ายสังคมเพราะต้องการจะหนีจากสภาวะอึดอัดเหล่านี้

นอกจาก ghosting และ orbiting แล้ว ยังมีพฤติกรรมอีกหลากหลายที่กำเนิดขึ้นจากลักษณะเฉพาะของการสื่อสารในโลกออนไลน์และเครือข่ายสังคม (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากลิงก์ท้ายบทความ)

ข้อสังเกตหนึ่งคือ ไม่ว่าจะเป็นการ ghosting หรือ orbiting สภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นได้เนื่องจากผู้ให้บริการเครือข่ายสังคม เลือกที่จะเปิดข้อมูลบางอย่างและซ่อนข้อมูลบางอย่างจากผู้ใช้ ยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่เฟซบุ๊กจะแสดงสถานะเป็นวงกลมเขียวๆ ข้างผู้ใช้ที่ออนไลน์ เราจะไม่สามารถสังเกตกรณีที่ผู้ใช้นั้นออนไลน์อยู่ แต่ไม่ตอบข้อความได้เลย หรือในกรณีที่มีการสอดส่องติดตามผู้ใช้ ถ้าไม่มีการกดไลค์หรือแสดงความเห็น ผู้ใช้ที่ถูกติดตามก็ไม่อาจทราบได้เลย ในขณะที่แพลตฟอร์มผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมนั้นทราบแน่นอนว่าใครอ่านสถานะของใครบ้าง

 

ความคุ้นเคยกับความสัมพันธ์ที่มีลักษณะผสมระหว่างโลกออนไลน์และโลกจริงนั้น มักเกิดขึ้นกับกลุ่มคนในช่วงวัยที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี ดังนั้นเรามักพบว่าสำหรับผู้ใช้บางวัย การ ghosting นั้นก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการตีตัวออกห่าง และเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่กับบางกลุ่มกลับคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ

สำหรับเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีความสามารถหลากหลาย ช่วงจังหวะที่ผู้ใช้เริ่มเรียนรู้และหัดใช้เทคโนโลยี รวมทั้งเป้าหมายในการใช้งานที่แตกต่างกัน ทำให้พฤติกรรมการใช้งานรวมทั้งทัศนคติต่อการใช้งานก็แตกต่างกันด้วย

สมัยที่อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งแปลกใหม่ กลุ่มคนที่เข้าถึงเทคโนโลยีและหมกตัวอยู่กับสังคมออนไลน์ มักเป็นคนที่มีความสนใจเฉพาะด้าน สังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นมักเกิดจากกลุ่มคนที่สนใจเรื่องใกล้เคียงกัน รวมตัวกันอยู่ตามกระดานสนทนา (เว็บบอร์ด) หรือชุมชนออนไลน์ตามเว็บต่างๆ หลายคนเข้ามาในโลกออนไลน์เพื่อหาพื้นที่ใหม่ๆ ในการพูดคุย ปรึกษา และแสดงออกถึงความสนใจของตนเอง

ในวันที่อินเทอร์เน็ตได้พัฒนาเป็นกระดูกสันหลังของการเชื่อมต่อสื่อสาร ครอบคลุมคนจำนวนมากและหลากหลายในสังคม ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เข้ามาในยุคหลัง จะมีภาพความเข้าใจแตกต่างจากผู้ใช้ยุคก่อน และแตกต่างกันเองตามช่วงวัยด้วย ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้อายุมากใช้เครือข่ายออนไลน์ในการเชื่อมต่อกับเพื่อนที่เคยรู้จักแต่อยู่ห่างไกล ผู้ใช้วัยรุ่นกลับใช้เครือข่ายออนไลน์เป็นส่วนต่อขยายของความสัมพันธ์ในโลกจริง สำหรับผู้ใช้กลุ่มนี้โลกออนไลน์กับโลกจริงนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน และไม่สามารถแยกขาดจากกันได้

ความเชี่ยวชาญในการใช้งานและอยู่ในโลกออนไลน์ของวัยรุ่นนั้น บางครั้งมีมากกว่าที่คนรุ่นก่อนจะคาดคิด ตรอกซอกซอยที่พวกเธอและเขาเดินในแต่ละวัน คือเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ตหรือเพจในเฟซบุ๊ก ซึ่งสร้างให้วัยรุ่นมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นด้านความเป็นส่วนตัว และเตือนให้ระมัดระวังเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้งาน นอกจากนี้ผู้ใช้วัยรุ่นยังตระหนักถึงประเด็นด้านข่าวลวงมากกว่าคนยุคก่อน อาจเพราะมีประสบการณ์ในการพบเจอข่าวปลอมมากกว่า หรือไม่ก็เพราะว่าพวกเขาอยู่ในยุคที่ไม่สามารถเชื่อใจใครก็ได้ในโลกทั่วไปอยู่แล้ว

เนื่องจากทักษะการใช้งานที่แตกต่างกัน รวมทั้งการให้คุณค่ากับรูปแบบของการสื่อสารของคนแต่ละวัยก็แตกต่างกัน ทำให้โปรแกรมสื่อสารรวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ที่คนแต่ละกลุ่มเลือกใช้ก็แตกต่างกันด้วย ผู้ใช้บางคนมีบัญชีอยู่ในทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ สแนปแชท และอื่นๆ และใช้งานเครือข่ายแต่ละกลุ่มด้วยเป้าประสงค์แตกต่างกัน

ด้วยความหลากหลายและแตกต่างในแง่มุมเหล่านี้ เราอาจพบว่าโปรแกรมสื่อสารยอดฮิตบางโปรแกรม เช่น สแนปแชท ที่วัยรุ่นใช้ คนยุคอื่นๆ ก็ไม่สามารถใช้ได้อย่างเข้าใจและรู้สึกเป็นธรรมชาติกับมันได้

 

อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไปตลอดเวลา พร้อมๆ กับกลุ่มผู้ใช้ที่ปรับพฤติกรรมไปตามประสบการณ์และเป้าหมายในการใช้งาน ในวันที่เฟซบุ๊กประกาศว่าจะพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานให้สนับสนุนความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มากขึ้น รูปแบบการใช้งานของผู้ใช้ก็คงจะเปลี่ยนไปตามความสามารถที่โปรแกรมจะอนุญาตให้ทำหรือโน้มน้าวให้ทำ โดยผู้ใช้บางกลุ่มอาจย้ายไปใช้แพลตฟอร์มอื่นที่ตอบสนองพฤติกรรมการใช้งานได้ดีกว่า ความสามารถในการจะเลือกแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมที่จะใช้นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บริการบนอินเทอร์เน็ตพัฒนา

ในโลกที่มีทางเลือกมากมาย บางครั้งคนยุคเก่าอาจไม่เข้าใจว่า ทำไมคนยุคใหม่ถึงเลือกใช้บางเครือข่ายสังคมหรือบางโปรแกรม แต่กลับไม่ชอบใช้หรือรังเกียจบางโปรแกรมเลยด้วยซ้ำ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ถ้าคนยุคเก่าไม่ไปผูกขาดความคิด ความเชื่อ รวมถึงอนาคตของคนยุคใหม่ไว้ใต้ความเชื่อ ประสบการณ์ และมุมมองเดิมๆ ของตนเอง

 

หมายเหตุ : ขอขอบคุณทีมงานต่างวัยเบื้องหลัง (ที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ, ทั้งที่นกและไม่นก) ที่ช่วยให้ความเห็นเกี่ยวกับบางส่วนของบทความนี้

 


 

อ่านเพิ่มเติม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save