fbpx
‘ประวัติศาสตร์ตาบอด’ ของบิดาแห่งกฎหมายไทย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

‘ประวัติศาสตร์ตาบอด’ ของบิดาแห่งกฎหมายไทย  

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“หากคุณไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็ตาบอดข้างหนึ่ง แต่ถ้าคุณเชื่อประวัติศาสตร์โดยไม่มีข้อกังขา คุณตาบอดสองข้าง”

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

 

ความทรงจำของกระแสหลัก

 

ทุกวันที่ 7 สิงหาคม เหล่านักเรียนกฎหมายก็จะพากันเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาส ‘วันรพี’ พร้อมกับการถ่ายทอดคุณูปการของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (หรือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) ที่มีต่อระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยในหลากหลายแง่มุม เป็นที่ชัดเจนว่าพระองค์เจ้ารพีฯ มีบทบาทอย่างสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงในระบบกฎหมายของไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธ รวมทั้งสถานะของการเป็น ‘บิดาแห่งกฎหมายไทย’ ย่อมสามารถเป็นการยืนยันได้ถึงบทบาทของพระองค์อย่างไม่ต้องสงสัย

ในการยกย่องถึงบิดาแห่งกฎหมายไทย ได้มีการประกอบสร้างความหมายทางประวัติศาสตร์ให้เกิดขึ้นในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นคำขวัญ เรื่องเล่า การกล่าวถึงผลงาน ความสามารถและการทุ่มเทส่วนตัว อันส่งผลให้พระองค์เจ้ารพีฯ สามารถดำรงสถานะอันสูงส่งในแวดวงความรู้ทางกฎหมายมาอย่างต่อเนื่องนับจากทศวรรษ 2500 จวบจนกระทั่งปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่า “My life is service” คือประโยคสำคัญอันหนึ่งที่มักถูกนำมาอธิบายถึงการปฏิบัติหน้าที่ของพระองค์รพีฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระองค์ได้ใช้กำลังและความสามารถอย่างเต็มที่โดยมุ่งประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ  ถ้อยคำดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นวรรคทองที่นักกฎหมายจำนวนไม่น้อยมักจะนำมากล่าว รวมถึงกลาย ‘คำโปรย’ ที่วารสารประกอบวันรพีของสถาบันการศึกษาด้านกฎหมายนิยมนำมาใช้อธิบายถึงบิดาแห่งกฎหมายไทย

ทั้งนี้ ที่มาของประโยคดังกล่าวซึ่งมักถูกอ้างอิงกันในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย ได้อ้างอิงว่ามาจากบทสนทนาระหว่างพระยามานวราชเสวีกับพระองค์เจ้ารพีฯ ซึ่งทางพระยามานวราชเสวี ได้ทูลถามว่า “ไม่เคยเห็นใครทำงานมากอย่างใต้ฝ่าพระบาท ใต้ฝ่าพระบาทมีพระประสงค์อย่างไร”

พระองค์เจ้ารพีฯ ได้ตอบว่า “รู้ไหมว่า My life is service ซึ่งหมายความว่า ชีวิตของฉันเกิดมา เพื่อรับใช้ประเทศชาติ”[1]

ประโยคดังกล่าวนี้มักถูกนำมากล่าวถึงแทบในทุกคราวที่มีการยกย่องบทบาทของพระองค์ หากพิจารณาจากการปฏิบัติหน้าที่ในการปฏิรูปงานของศาลยุติธรรม โรงเรียนกฎหมาย และการจัดทำกฎหมายหลายฉบับ ก็จะพบว่าพระองค์เจ้ารพีฯ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างเข้มแข็งและแสดงให้เห็นถึงการทุ่มเทต่อการปฏิบัติหน้าที่ จนถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญต่อการปฏิรูประบบกฎหมายที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาของสมัยรัชกาลที่ 5 จนทำให้ภาพความทรงจำที่มีต่อพระองค์ของนักกฎหมายทั้งหลายก็คือ การยึดมั่นประเทศชาติเป็นหัวใจสำคัญ

อย่างไรก็ตาม มีความทรงจำในแบบอื่นๆ ต่อพระองค์เจ้ารพีฯ ที่แตกต่างออกไปแต่มักไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาหรือให้ความสำคัญ ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สามารถเข้าใจและประเมินถึงบทบาทของพระเจ้ารพีฯ ได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น

 

เมื่อนายใหญ่กว่าเจ้า

 

การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งถูกกล่าวถึงในท่วงทำนอง My life is service อาจทำให้เข้าใจไปได้ว่าพระองค์ได้เสียสละเพื่อประเทศชาติอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย หากพิจารณาจากหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ จะพบว่าในระยะเริ่มต้นของความพยายามปรับเปลี่ยนระบบกฎหมายไทยให้สอดคล้องตามมาตรฐานของตะวันตกนั้นเป็นภาระที่หนักหน่วงเป็นอย่างมาก เนื่องจากยังไม่มีบุคลากรที่มีความรู้และความเหมาะสม พระองค์จึงต้องรับบทบาทในงานเป็นจำนวนมาก

ดังจะพบว่าในขณะที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม พระองค์ต้องปฏิบัติหน้าที่ในงานหลากหลายหน้าที่ทั้งภายในและภายนอกกระทรวง ดังที่พระองค์ได้อธิบายว่าต้องทำงานใน 9 หน้าที่ ด้วยกัน กล่าวคือ 1. งานในกระทรวงยุติธรรม 2. งานในกระทรวงต่างประเทศ 3. งานหนักงานสำคัญของกระทรวงเกษตร 4. ต้องเปนผู้พิพากษาเองในคดียาก ๆ 5. เปนผู้แนะนำผู้พิพากษาไทยในทางกฎหมาย 6. เปนผู้แนะนำแก่ฝรั่งผู้แนะนำในทางกฎหมายไทย 7. เปนผู้โต้รับพวกฝรั่งเศสที่ไม่รู้กฎหมาย แลเปนคนที่เข้าบีบในระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสนั้น 8. เปนครูสอนกฎหมายแก่นักเรียน เพื่อไม่ให้ขาดคนไทยเปนผู้พิพากษา 9. เปนเยอเนอร์ราลแอดไวเซอร์ในเวลาที่เวสเตนการ์ดไม่อยู่[2]

ท่ามกลางการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เหล่านั้น พระองค์เจ้ารพีฯ จะได้มีลายพระหัตถ์ถึงถึงรัชกาลที่ 5 (ผู้เป็นพระราชบิดา) พรรณนาถึงความยากลำบากในการทำงานว่างานที่ทำนั้นมีอยู่มากเกินหน้าที่ และเมื่อไปช่วยงานของผู้อื่นก็ไม่มีใครแบ่งเงินเดือนให้

“น่าที่เท่านี้คนๆ เดียวทำไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้เพียรทำมาตั้งแต่ย่ำรุ่งจนเวลาบ่ายที่ได้ไปเข้าเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททุกวันกว่า 8 เดือนมาแล้ว ไม่ได้แสวงหาความสนุกสนานเลย ได้แต่เพียงวันเดียว รู้สึกกำลังน้อยลงไปทุกที จนเดี๋ยวนี้ทำอะไรไม่ได้เลย งานทั้งหลายที่ได้ทำมาเจ้าน่าที่อื่นไม่ได้แบ่งเงินเดือนเพิ่มเติมให้ หาคนใช้ต่อก็ไม่มี กลับยิ่งกว่านั้นคือ ถูกตัดเงินลงอีก”[3]

รวมทั้งในระยะการให้ความช่วยเหลือต่อบุคคลต่างๆ พระองค์ก็ได้แสดงความเห็นที่แสดงถึงภาระงานที่ต้องรบกวนเวลาของพระองค์อย่างมาก “หม่อมเจ้าจรูญยังไม่ชำนาญในกฎหมาย การที่เกี่ยวข้องถึงข้อกฎหมาย ข้าพระพุทธเจ้าต้องเข้าช่วย ทั้งข้อกฎหมายพอเอินเปนข้อยากๆ ขึ้น … หม่อมเจ้าจรูญได้มาปรกษา กินเวลาข้าพเจ้าเกือบหมด”[4]

ดังนั้น หากพิจารณาแนวทางการอุทิศตนเพื่อชาติของพระองค์แล้ว จึงย่อมเป็นการเสียสละที่เป็นไปเฉกเช่นปุถุชนธรรมดาซึ่งสามารถรู้ร้อน รู้หนาว ได้เช่นกัน และในยามที่เหนื่อยยากก็ย่อมมีเสียงพร่ำบ่นเกิดขึ้นได้

แต่กรณีที่ดูเหมือนจะสร้างปมปัญหาอย่างสำคัญซึ่งอาจก่อให้เกิดคำถามถึงการอุทิศตนเพื่อประเทศชาติ เป็นผลมาจากข้อพิพาทระหว่างพระองค์กับกรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์ ในข้อพิพาทซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ‘คดีพญาระกา’ โดยคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 สืบเนื่องมาจากกรมพระนราธิปฯ ได้ทรงพระนิพนธ์บทละครเรื่อง ปักษีปกรณัม กล่าวถึงพักตร์ ซึ่งเป็นละครและหม่อมของกรมพระนราธิปฯ ได้หลบหนีออกไปจากวังและไปพึ่งบารมีของพระองค์เจ้ารพีฯ กลวิธีที่ทรงพระนิพนธ์ก็คือใช้ความเปรียบกล่าวถึงนางไก่ญี่ปุ่นผู้มักมากในกามหนีจากพญาระกาไปพึ่งบุญผู้อื่นแต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ท้ายที่สุดจึงไปหาพญานกเค้าแมวซึ่งต่อมาก็ได้นางไก่ญี่ปุ่นเป็นเมีย และสร้างความบาดหมางให้เกิดขึ้นจนเกือบจะเกิดเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายพญาระกาและพญานกเค้าแมว

บทละครเรื่องนี้กรมพระนราธิปฯ ได้ทูลเกล้าให้รัชกาลที่ 5 เพื่อจะไปแสดงถวาย แต่ได้มีผู้นำไปให้พระองค์เจ้ารพีฯ อ่านและเกิดความเข้าใจว่าพระองค์ถูกทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศโดยที่ผู้เป็นพระราชบิดามิได้ปกป้อง พระองค์จึงน้อยใจและได้ทำการ ‘ประท้วง’ ด้วยการลงเรือไปอยู่ที่ศาลเจ้าองครักษ์ปลายคลองรังสิต ต่อมาได้มีผู้พิพากษาซึ่งเป็นลูกศิษย์และผู้ใกล้ชิดในกระทรวงยุติธรรมจำนวน 28 คน ทำหนังสือถวายฎีกามีใจความว่ามีผู้กล่าวสบประมาทพระองค์เจ้ารพีฯ อีกทั้งเข้าใจว่าพระองค์ก็ได้กราบถวายบังคมลาออกจากเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม จึงขอลาออกจากตำแหน่งไปพร้อมกัน เพราะเห็นว่า “เมื่อไร้กรมหมื่นราชบุรีผู้ทรงเปนครูและผู้อุปถัมภ์เสียแล้ว ก็รู้สึกว่าจะหาความเจริญ หรือความอยู่โดยผาสุกต่อไปมิได้ต่อไป”[5]

การกระทำของพระองค์เจ้ารพีฯ และกลุ่มผู้พิพากษาในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่องานในกระทรวงยุติธรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากแทบทั้งหมดเป็นผู้พิพากษาระดับสูง การ ‘ตบเท้าลาออก’ อย่างพร้อมเพรียงจึงย่อมส่งผลต่อการชะงักงันของงานของกระทรวงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง รัชกาลที่ 5 ทรงมีความเห็นต่อการกระทำในครั้งนี้อย่างรุนแรง

“ไม่มีแบบแผนอะไรเลยที่จะทำเช่นนี้, ทั้งในเมืองไทยเมืองฝรั่ง. จะหาอะไรที่แก้แค้นคนพวกนี้ไม่ได้จนนิดเดียว, เปนอย่างอัปรีย์ที่สุดแล้ว, หาอะไรเปรียบไม่ได้. เอาการส่วนตัวมายกขึ้นเปนเหตุที่จะงดไม่ทำการตามน่าที่ราชการ, นับว่าปราศจากความคิด, ปราศจากความกตัญญูต่อพระเจ้าแผ่นดิน และต่อแผ่นดิน, ถือนายมากกว่าเจ้า”[6]

และเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีต้นเรื่องมาจากพระองค์เจ้ารพีฯ จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่รัชกาลที่ 5 ย่อมจะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการกระทำของพระองค์

“นี่ไม่ฟังอิร้าค่าอิรม, ไปเอะอะประชุมรุมกรรมพวกข้าราชการ, เล่าเรื่องให้ฟังและบอกว่าจะลาออก, ทำให้การสู้ส้ามากมาย, แล้วก็เปิดไปโดยมิได้กราบถวายบังคมลาก่อน, ข้อนี้ก็นับว่าผิดแบบธรรมเนียมอยู่แล้ว, ตามความเห็นของไทยๆ แต่ถึงจะดูด้วยนัยน์ตาอย่างใหม่ๆ ก็ยังไม่พ้นผิด, คือกรมราชบุรีเปนผู้ที่ได้รับมอบงานให้ไปทำ, เมื่อจะไปเสียเช่นนั้นอย่างน้อยก็ควรจะมาส่งงานกับผู้ที่รับมอบเสียก่อน. นี่พอเกิดเหตุก็ทิ้งงานฟาดผลุงทีเดียว, นับว่าไม่ได้เห็นแก่งานหรือบ้านเมืองเลย, ไม่ได้คิดถึงใครนอกจากตนเองและรู้สึกตนเปนคนสำคัญเสียจนเกินประมาณ”[7]

ในความเห็นของรัชกาลที่ 5 การลาออกของบรรดาผู้พิพากษาถือเป็นการให้ความสำคัญกับ ‘นายมากกว่าเจ้า’ โดยไม่ได้ตระหนักถึงพระมหากษัตริย์และแผ่นดิน ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้พิพากษาภายใต้การนำของพระองค์เจ้ารพีฯ อาจถูกอธิบายว่าเป็นเรื่องของประเด็นส่วนตัวมากกว่าเรื่องของแบบแผน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การกระทำเช่นนี้ย่อมไม่ได้ถือว่าเป็นการเห็นแก่ ‘แผ่นดิน’ แต่อย่างใดหากมองผ่านแว่นตาของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในแง่นี้ อาจเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ‘ประเทศชาติ’ ในความหมายของรัชกาลที่ 5 อาจไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับในความเห็นของพระองค์เจ้ารพีฯ เป็นที่ชัดเจนว่าพระองค์เจ้ารพีฯ ไม่ได้ปรารถนาที่จะเปลี่ยนการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน จากบทบาทของพระองค์ตลอดเวลาของการปฏิบัติราชการก็ไม่ได้เห็นพ้องกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปทั้งหมด

ย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปรากฏการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นถึงเครือข่ายของคนกลุ่มใหม่ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับระบบราชการที่รัชกาลที่ 5 เป็นผู้วางรากฐาน แต่ระบบราชการที่เกิดขึ้นก็ได้มีส่วนต่อการสร้างระบบคุณธรรมแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากการรับราชการในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[8] เช่น การประเมินวัดบุคคลด้วยความรู้ความสามารถมากกว่าชาติกำเนิด, การพึ่งพากับหลักวิชาในการปฏิบัติหน้าที่, การขึ้นตรงต่อผู้บังคับบัญชาในฐานะผู้ให้คุณให้โทษ เป็นต้น เครือข่ายของคนกลุ่มนี้จึงไม่ได้หมายความไปถึงการสร้างพวกพ้องหากแต่ยังรวมไปถึงอุดมการณ์ที่มิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแนบแน่น

ความเปลี่ยนแปลงในลักษณะเช่นนี้ย่อมส่งผลไม่มากก็น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาวที่จะทำให้สำนึกของข้าราชการในระบบใหม่แตกต่างไปจากเดิม รวมไปถึง ‘รัฐ’ หรือ ‘ประเทศชาติ’ ที่ความหมายจะค่อยๆ ผันเปลี่ยนไป

การลาออกของผู้พิพากษาได้กลายเป็นการแสดงพลังของกระฎุมพีราชการครั้งแรกๆ ที่ทำให้ผู้นำของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในห้วงเวลานั้นได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมและกำกับให้มากขึ้น มากกว่าการปล่อยให้ระบบราชการแต่ละส่วนมีอิสระไปจากพระมหากษัตริย์อย่างสิ้นเชิง ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่าในภายหลังโดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการสร้างกลไกและระบบเพื่อทำให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการต้องอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาและการครอบงำจากสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มมากขึ้น

ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์คดีพญาระกาในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ทำให้พระองค์เจ้ารพีฯ พ้นไปจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ในรัชสมัยต่อมา รัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงมีความเห็นว่าควรที่จะต้องชักชวนให้กลับมารับราชการ

“กรมราชบุรีนั้นทิ้งไว้ลอยๆ ไม่ให้ทำราชการนั้นไม่เหมาะ เพราะมีผู้ที่นิยมนับถือกรมราชบุรีอยู่มาก, เห็นว่าเปนผู้ที่มีความรู้เก่งต่างๆ, และถ้าทิ้งไว้ให้อยู่ลอยๆ ผู้ที่ไม่รู้ความจริงว่ากรมราชบุรีรักฉันแท้ๆ ก็อาจเข้าใจผิดคิดเห็นไปว่ากรมราชบุรีอยู่ในจำพวกที่แค้นและ ‘แอนตี้’ รัฐบาล และกรมราชบุรีเองหรือก็เปนผู้ที่มีปัญญามากกว่ามีสติ, เมื่อเกิดโทโษขึ้นมาแล้วก็มักไม่ใคร่จะระวัง, พูดหรือทำอะไรอย่างรุนแรงเกินกว่าที่ควร เช่นในเรื่องคดี ‘พญาระกา’ ในปลายรัชกาลที่ 5 นั้นเปนตัวอย่าง, จึ่งรู้สึกว่าถ้าหาตำแหน่งราชการให้ท่านเสียจะดีกว่า”[9]

เมื่อรัชกาลที่ 6 โปรดให้พลเรือตรีพระยาราชวังสรรค์ (ฉ่าง แสง – ชูโต) ผู้บัญชาการกรมเรือกรมและป้อม กระทรวงทหารเรือ ไปเจรจาทาบทามพระองค์เจ้ารพีฯ

“กรมราชบุรีได้ตอบพระยาราชวังสรรค์ว่า การที่พระองค์ท่านจะเข้ารับราชการในตำแหน่งน่าที่สำคัญใดๆ อีก ท่านเห็นว่าไม่เปนการสมควร ดูจะเปนทางให้คนกล่าวได้ว่า ความเห็นของฉันกับทูลกระหม่อม (หมายถึงรัชกาลที่ 5 – ผู้เขียน) ไม่ตรงกัน เปนเหมือนหนึ่งฉันไม่นับถือพ่อ กรมราชบุรีจึงไม่รับตำแหน่งใด ฉันก็งดการชักชวนไว้อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาฉันได้เตือนให้พระยาราชวังสรรค์ไปทาบทามอีก คราวนี้พระยาราชวังสรรค์กลับมารายงานว่า กรมราชบุรีได้ตอบเปนคำถามว่า ถ้าพระองค์ท่านเข้ารับราชการอีกแล้ว การงานแพนกโรงสีและแพนกค้าข้าวของท่าน จะรับรองได้ฤาว่าท่านจะไม่เสียหาย ฉันรับสารภาพว่าเมื่อฉันได้ยินคำตอบเช่นนี้ฉันมีความขุ่นเคืองกรมราชบุรีอยู่บ้าง ถึงแก่ได้ออกปากว่า ฉนี้ฤาเป็นผู้ที่รักชาติบ้านเมือง แต่ผลประโยชน์ส่วนตัวยังไม่ยอมสละให้แล้ว”[10]

หากพิจารณาจากทรรศนะของรัชกาลที่ 6 ย่อมเห็นได้ว่าพระองค์ทรงมีคำถามกับเงื่อนไขของพระองค์เจ้ารพีฯ ต่อการที่จะมาดำรงตำแหน่งเสนาบดี อันเนื่องมาจากการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประเทศชาติ การกระทำในลักษณะดังกล่าวจะสามารถเข้าใจได้ว่า “ฉะนี้ฤาเป็นผู้ที่รักชาติบ้านเมือง”

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะได้มารับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ทางพระยาราชวังสรรค์ก็ได้จัดการหาบุคคลเข้ามาเช่ากิจการโรงสีของพระองค์เจ้ารพีฯ รวมทั้งขอคำสัญญาว่าเมื่อหากพระองค์พ้นจากตำแหน่งก็จะให้กลับไปดำเนินกิจการโรงสีได้อีก และเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการก็เป็นตำแหน่งสุดท้ายของพระองค์ก่อนที่จะประชวรและสิ้นพระชนม์เมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463

 

ภาวะหยุดนิ่งของความทรงจำคัดสรร

 

พระองค์เจ้ารพีฯ มีบทบาทต่อการปฏิรูปกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างไม่อาจปฏิเสธ บทความนี้ไม่ได้ต้องการที่จะกล่าวว่าพระองค์ไม่มีความสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมและระบบกฎหมายของไทย

อย่างไรก็ตาม ความทรงจำของนักกฎหมายที่มีต่อ ‘บิดาแห่งกฎหมายไทย’ นับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ได้กลายเป็นความเชื่อมั่นว่าบรรดาเรื่องเล่า ข้อความ หรือการยกย่องที่มีต่อพระองค์เจ้ารพีฯ เป็นความจริงที่ไม่อาจโต้แย้ง ไม่จำเป็นต้องมีข้อสงสัยหรือคำถาม หรือไม่อาจให้คำอธิบายในลักษณะอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากมาตรฐานกระแสหลักที่ครอบงำความทรงจำในบรรดานักกฎหมาย

ทั้งที่หากพิจารณาแล้ว แม้กระทั่งการถือกำเนิดสถานะของบิดาแห่งกฎหมายไทยที่เพิ่งปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในองค์กรและสถาบันทางด้านกฎหมายเมื่อทศวรรษ 2500 ก็สามารถกลายเป็นคำถามได้ไม่ยากว่าเพราะเหตุใดการยกย่องอย่างเอิกเกริกจึงเพิ่งมาเกิดขึ้นภายหลังจากที่พระองค์เจ้ารพีฯ สิ้นพระชนม์ไปราว 4 ทศวรรษ ทำไมในช่วงเวลาระหว่างนั้นจึงไม่มีการเฉลิมฉลองในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ความพลิกผันเช่นนี้ไม่ใช่เพราะพระองค์เจ้ารพีฯ แต่เป็นผลอย่างสำคัญมาจากสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ไม่ต้องกล่าวถึงการเสนอภาพของพระองค์เจ้ารพีฯ ที่กลายเป็น ‘ไอดอล’ ของนักกฎหมายจำนวนมาก การนำถ้อยคำ “My life is service” มากล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกในแต่ละปีเมื่อวันรพีเวียนมาถึง เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างความทรงจำที่มีต่อพระองค์ด้วยการเลือกใช้ ตัดต่อ ลดทอน ข้อเท็จจริงในบางแง่มุมทางประวัติศาสตร์ออกไป ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

การพิจารณาที่รอบด้านมากยิ่งขึ้นจะทำให้สามารถมองเห็นบุคคลในทางประวัติศาสตร์ในฐานะของ ‘ปุถุชน’ คนหนึ่ง การเป็นมนุษย์ก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะมีรัก โลภ โกรธ หลง การตระหนักถึงผลประโยชน์ส่วนตัวหรือมีอารมณ์โกรธ ก็ล้วนเป็นธรรมดาของมนุษย์ทั่วไป มุมมองเช่นนี้คือการคืนความเป็นมนุษย์ให้กับบุคคลในประวัติศาสตร์ มิใช่การยกย่องจนเกินกว่าความจริง

สิ่งที่ควรพิจารณาอาจไม่ใช่ว่าพระองค์เจ้ารพีฯ ได้กระทำหรือไม่ได้กระทำอะไรในยุคสมัยของการปฏิรูปการปกครอง ประเด็นที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ เพราะเหตุใดแวดวงวิชาการความรู้ทางด้านกฎหมายของไทยจึงไม่สามารถสร้างมุมมองเชิงวิพากษ์ที่มีต่อระบบความรู้ที่ครอบงำอยู่ในระบบกฎหมายของไทย โดยยังคงมีความเชื่อแบบปราศจากข้อกังขามาอย่างต่อเนื่อง

และใช่หรือไม่ว่าสภาพปัญหาดังกล่าวนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับความทรงจำที่มีต่อบิดาแห่งกฎหมายไทยเท่านั้น หากเป็นสถานการณ์โดยทั่วไปที่แผ่กระจายอยู่ในระบบความรู้ทางกฎหมายของสังคมไทยแทบทุกด้าน

 


[1] สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์. วันรพี ประวัติวันรพี 7 ส.ค. วันรำลึกพระบิดาแห่งกฎหมายไทย. สืบค้นระบบออนไลน์

[2] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, มร 5 ย/2 อ้างใน กฤษณ์พชร โสมณวัตร, “ระบบกฎหมาย/ระบบตุลาการในยุคปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2434 – 2454 ใน อรรถจักร สัตยานุรักษ์, มนุษยศาสตร์ที่แปรเปลี่ยนในโลกที่เปลี่ยนแปลง รวมบทความจากการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 8 (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2559) หน้า 129

[3] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, มร 5 ย/2 อ้างใน กฤษณ์พชร โสมณวัตร, เพิ่งอ้าง, หน้า 129

[4] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, มร 5 ย/4 อ้างใน กฤษณ์พชร โสมณวัตร, เพิ่งอ้าง, หน้า 128

[5] อ้างใน ราม วชิราวุธ, ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559) หน้า 319

[6] อ้างใน ราม วชิราวุธ, เพิ่งอ้าง, หน้า 320

[7] อ้างใน ราม วชิราวุธ, เพิ่งอ้าง, หน้า 345 – 346

[8] สนใจรายละเอียดในประเด็นพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของระบบราชการกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สามารถอ่านได้ในงานของ กุลดา เกษบุญชู มี้ด, ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: วิวัฒนาการรัฐไทย (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562)

[9] วรชาติ มีชูบท, เบื้องลึก เบื้องหลัง ในพระราชบันทึกเรื่อง “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6”, พิมพ์ครั้งแรก (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559) หน้า 105

[10] วรชาติ มีชูบท, เพิ่งอ้าง, หน้า 105, 107

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save