fbpx

‘หนังใหญ่สิงห์บุรี’ แสงสี กลิ่นอาย และท่วงทำนองมหรสพไทยโบราณที่(อาจ)หลับใหลไปกับกาลเวลา

‘หนังใหญ่’ – มหรสพไทยชั้นครูที่กำลังถูกลืมเลือน

หากเอ่ยถึงแขนงต่างๆ ของนาฏศิลป์ไทย ชื่อแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงคงไม่พ้นไปจากการฟ้อน รำ ระบำ โขน ทว่าในความเป็นจริงนั้นยังมีการแสดงมหรสพดั้งเดิมของไทยอีกมากที่กำลังจางหายไปตามกาลเวลา หรือบางส่วนมีเพียงแสงไฟส่องริบหรี่ และหนึ่งในนั้นคือ ‘หนังใหญ่’ มหรสพแห่งแสงที่เคยเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างมากในสังคมไทยยุคโบราณ ทว่าในปัจจุบันกลับมีคณะการแสดงอยู่เพียงไม่กี่จังหวัดเท่านั้น

หนึ่งในตำนานของมหรสพโบราณกาลอย่าง ‘หนังใหญ่’ ที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์สืบสานไว้มากกว่าร้อยปี ทั้งตัวหนังอันเก่าแก่และนักเชิดหนังใหญ่ผู้เจนวิชาต่างได้ซ่อนตัวและรอให้ผู้คนเข้าไปยลโฉมมหรสพแห่งแสงที่เคยรุ่งโรจน์มาในอดีต ณ จังหวัด ‘สิงห์บุรี’

หากจะกล่าวถึง ‘ของดี’ ประจำจังหวัดสิงห์บุรี นอกเหนือจากเมนูปลาช่อนที่แม่ลาเป็นของเด็ดประจำจังหวัด และเรื่องราวของชาวบ้านบางระจันที่ผู้คนต่างคุ้นเคยกันดี จังหวัดเล็กๆ แห่งนี้ยังเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ชุมชนหนังใหญ่’ แหล่งเก็บรวบรวมและจัดแสดงตัวหนังที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ใน ‘วัดสว่างอารมณ์’ และ ‘โรงเรียนสิงห์บุรี’

แรกเริ่มเดิมที วัดสว่างอารมณ์เป็นแหล่งเก็บรักษาและรวบรวมหนังใหญ่ประจำจังหวัด วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นโพธิ์ อยู่ชิดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตามข้อมูลที่บันทึกไว้ในประวัติของวัดสว่างอารมณ์ วัดแห่งนี้สร้างขึ้นโดยการนำของพระครูสิงหมุนี (หลวงพ่อเรือง) ผู้เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดองค์แรกของสิงห์บุรี ทั้งยังเป็นผู้นำในการสร้างวัดสว่างอารมณ์ และจุดเริ่มต้นของชุมชนหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์เริ่มต้นจากที่พระครูสิงหมุนีได้รวบรวมตัวหนังใหญ่เก่าแก่จากฝีมือช่างในสมัยอยุธยาตอนปลายเอาไว้จำนวนมาก และได้ให้ช่างพื้นบ้านที่มีความรู้ทางด้านจิตรกรรมและงานหัตถกรรมช่วยกันสร้างหนังใหญ่ขึ้นมา ณ วัดแห่งนี้ไว้มากมาย

นอกจากนี้ ในสมัยนั้นยังมี ‘ครูเปีย’ ผู้เข้ามาบุกเบิกการเชิดหนังใหญ่ขึ้นที่วัดสว่างอารมณ์เป็นคนแรก จากคำบอกเล่าปากต่อปากของชาวบ้าน ระบุว่า ‘ครูเปีย’ เป็นหัวหน้าคณะนักแสดงเร่ที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นผู้ที่สืบทอดเชื้อสายมาจากผู้แสดงละครในวังเมื่อสมัยอยุธยา ครั้งเมื่อคราวเสียกรุงคงได้อพยพหนีภัยสงครามและเร่แสดงดนตรีมหรสพตามสถานที่ต่างๆ เลี้ยงชีพ และได้นำเอาหนังใหญ่ส่วนหนึ่งมาถวายพระครูสิงหมุนีอีกด้วย 

จากเรื่องราวของคนในชุมชนที่เล่าขานต่อกันมา ครูเปียขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการเชิดและพากย์หนังใหญ่อย่างมาก และได้ฝึกหัดให้ชาวบ้านบางมอญเชิดและพากย์หนังใหญ่ ซึ่งผู้ที่ได้รับการฝึกหัดการเชิดและพากย์หนังใหญ่จากครูเปียได้ดี และได้ถ่ายทอดวิธีการเชิดตลอดจนการพากย์หนังใหญ่จนมีชื่อเสียงสืบต่อมาคือ นายนวม ศุภนคร (ขุนบางมอญกิจประมวญ) อดีตกำนันตำบลบางมอญและยังเป็นต้นตระกูล ‘ศุภนคร’ ที่มีลูกหลานผู้สืบทอดวิชาสร้างตัวหนัง เชิดหนังและพากย์หนังใหญ่ต่อมาไม่ขาดจวบจนปัจจุบัน

ในอดีตคณะหนังใหญ่ของขุนบางมอญกิจประมวญนับว่าเป็นที่รู้จักในระดับจังหวัด และได้ออกเดินสายการแสดงตามสถานที่ต่างๆ อยู่สม่ำเสมอ และมักจะมีบุตรชายตามไปช่วยแสดงด้วยทุกครั้ง กระทั่งขุนบางมอญกิจประมวญเสียชีวิต ‘ครูเชื้อ ศุภนคร’ บุตรชายคนโตจึงรับหน้าที่เป็นผู้สืบทอดการแสดงหนังใหญ่และฝึกสอนผู้แสดงเรื่อยมา จนถึงช่วงที่การแสดงหนังใหญ่ต้องหยุดไปชั่วระยะหนึ่ง เนื่องจากผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และด้วยสภาพบ้านเมืองในขณะนั้นไม่เอื้ออำนวยให้มีมหรสพ การแสดงหนังใหญ่จึงเริ่มซบเซาลงไปนับแต่นั้น 

กระทั่งวิกฤตการณ์เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2485 ด้วยอุทกภัยน้ำท่วมที่รุนแรง หนังใหญ่ที่เก็บไว้ในกุฏิวัดสว่างอารมณ์ถูกน้ำท่วมเสียหายจำนวนมาก แม้ต่อมาชาวบ้านในชุมชนมีความคิดที่จะอนุรักษ์หนังใหญ่ที่หลงเหลืออยู่ซึ่งถูกเก็บไว้ในหีบไม้ขนาดใหญ่ของวัด ทั้งยังมีคณะอาจารย์ภาควิชานาฏศิลป์วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาเข้ามาช่วยรื้อฟื้นให้มีการเชิดหนังใหญ่ขึ้นอีกครั้ง แต่ด้วยกรรมวิธีการแสดงที่สำคัญในทุกขั้นตอนและความยากในการฝึกหัด ทำให้การแสดงหนังใหญ่ลดน้อยลงและเสื่อมความนิยมลงทุกขณะ นับแต่นั้น การแสดงหนังใหญ่จึงแทบจะกลายเป็นเพียงตำนานที่ยังคงทำการแสดงอยู่แค่เพียงในเรื่องเล่าของคนเฒ่าคนแก่

จากวัดสว่างอารมณ์สู่โรงเรียนสิงห์บุรี

นอกเหนือจากหนังใหญ่ ณ วัดสว่างอารมณ์ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคบุกเบิกการแสดงมหรสพอันมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครนี้ ไม่ไกลนักจากตัววัด ยังมีสถานที่อีกหนึ่งแห่งที่เรียกได้ว่าเป็นผู้สืบทอดการสืบสานหนังใหญ่ประจำจังหวัด เพราะที่ ‘โรงเรียนสิงห์บุรี’ สถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาแห่งแรกของจังหวัดสิงห์บุรี ได้กลายเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงคนรุ่นใหม่กับหนังใหญ่ที่มีอายุมากกว่าร้อยปีให้ได้มาพบเจอกัน

ครูคณิต ภักดี ครูหนังใหญ่รุ่นที่สี่ ผู้สืบทอดการแสดงหนังใหญ่จังหวัดสิงห์บุรีที่มีอายุมากกว่าร้อยปี และเป็นผู้รักษาตัวหนังของช่างฝีมือตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน เกริ่นถึงประวัติศาสตร์ของหนังใหญ่ว่า หนังใหญ่เป็นการละเล่นเชิดตัวหนังที่ประกอบด้วยแสงเงาของไทยแต่โบราณ ตามประวัติศาสตร์พบว่าการละเล่นหนังใหญ่นั้นมีมากกว่าสองพันปีแล้ว โดยถือกำเนิดครั้งแรกในประเทศอินเดียและแพร่หลายสู่อาณาจักรศรีวิชัย เรื่อยมาสู่อาณาจักรขอม จนกระทั่งเข้าสู่ประเทศไทยโดยพ่อค้าวาณิชและคณะเผยแผ่ศาสนาที่นำศิลปะการแสดงและวัฒนธรรมแขนงนี้เข้ามาเผยแพร่ควบคู่กันไป

กระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ใน พ.ศ.1901 หนังใหญ่ได้ปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาลว่าเป็นมหรสพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของชาติ โดยในยุคนั้นมีการแสดงหนังใหญ่เฉลิมฉลองกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีและมีการละเล่นหนังใหญ่สืบทอดเรื่อยมา แต่ส่วนใหญ่มักแสดงอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากถูกจัดเป็นมหรสพชั้นสูงของชาติ อีกทั้งหนังใหญ่นิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์เช่นเดียวกับการแสดงโขน และเป็นศิลปะการแสดงที่ใช้การเชิด การแสดงท่าทางของตัวหนัง และการพากย์ให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่องในการแสดง 

ทั้งนี้ ปัจจุบันในประเทศไทยมีคณะหนังใหญ่ที่ยังคงมีชีวิต คือยังคงมีการเชิดทำการแสดงกันอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันเหลือเพียงสามคณะเท่านั้น ได้แก่ หนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี และหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี

นอกจากนี้ ครูคณิตเสริมว่า เสน่ห์ของการการจัดการแสดงหนังใหญ่ในอดีตอยู่ที่ไฟสำหรับให้เงาหนังใหญ่ตกกระทบลงบนจอผ้าขาว โดยสมัยก่อนจะใช้เชื้อเพลิงจากกะลามะพร้าวเผาไฟ เนื่องจากกะละมะพร้าวจะให้แสงสว่าง สีนวลตาและติดไฟทนนาน และจะทำนั่งร้านสำหรับสุมไฟสูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตรอยู่ด้านหลังจอ บนร้านไฟใช้ไม้ต่อเป็นรูปคล้ายเตาไฟโบราณ มีหยวกกล้วยรองพื้น ใช้ดินเหนียวยารองก่อนที่จะสุมกะลามะพร้าวกันไฟลามไหม้ร้านไฟและเวที โดยคณะแสดงจะต้องจุดไฟเผากะลามะพร้าวเพื่อเตรียมไฟก่อนการแสดงเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงด้วยกัน แต่ในปัจจุบันการแสดงจะใช้แสงไฟฟ้าแทนเพื่อความสะดวกตามยุคสมัย

ครูคณิต ภักดี

ครูคณิตเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า มารดาของตนเป็นลูกเลี้ยงของขุนบางมอญกิจประมวญ ดังนั้น ตำราและความรู้ต่างๆ ครูคณิตล้วนได้มาจากแม่ทั้งสิ้น พร้อมอธิบายว่าแม้หนังใหญ่ในไทยจะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย แต่ก็มีการนำมาประยุกต์ให้เข้ากับประเทศไทยและศาสนาพุทธ เช่น มีการเรียบเรียงเนื้อหาใหม่บางส่วนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย ในขณะเดียวกันก็ยังคงสงวนรักษาลวดลายดั้งเดิมที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตของตัวหนังไว้เช่นเดิม

“ความโดดเด่นที่ทำให้หนังใหญ่สิงห์บุรีไม่เหมือนที่อื่นคือลวดลายของตัวหนัง โดยหนังใหญ่ของสิงห์บุรีเป็นลายแบบช่างในวังที่สืบสานมาร้อยกว่าปี ไปจนถึงเอกลักษณ์เฉพาะของตัวละครและการแสดง หลักสำคัญในการแสดงหนังใหญ่คือ อย่าแสดงเกินตัวหนัง เพราะตัวหนังนั้นมีท่วงหน้า รูปลักษณ์ และอากัปกิริยาด้วยตัวเองแล้ว” 

“การแสดงของสิงห์บุรีถือเป็นที่เดียวที่ยังคงการแสดงดั้งเดิม ทั้งท่วงท่าการเชิดที่ไม่มีการต่อตัวหรือดัดแปลงให้หวือหวา ลวดลายของหนังใหญ่ที่มีความหมายในตัวเองทุกตัว ตัวหนังมีมิติเดียวคือด้านข้าง ซึ่งเลียนแบบภาพสลักเรื่องรามเกียรติ์ของประติมากรในอดีตและวิธีการเชิดที่ต้องใช้ข้อมือสองมือและต้องเต้นไปด้วยอยู่ตลอดเวลา” ครูคณิตกล่าว

แต่ถึงอย่างไร คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าศิลปะการแสดงของไทยที่คุ้นหูคุ้นตาและเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นนาฏศิลป์อย่างการรำและการแสดงโขน ทว่าเมื่อเอ่ยถึงมหรสพโบราณอย่าง ‘หนังใหญ่’ คงมีเพียงน้อยคนนักที่จะรู้จัก ยิ่งทุกวันนี้ผู้ที่สามารถแสดงหนังใหญ่ได้ยิ่งมีจำนวนน้อยลงทุกวัน เมื่อเป็นเช่นนั้น แสงไฟที่สาดสะท้อนลงไปให้ตัวหนังมีชีวิตชีวาก็ยิ่งริบหรี่ลงทุกที ซึ่งเรื่องนี้ครูคณิตก็รู้ดีอยู่เต็มอกเช่นกัน แต่ถึงกระนั้น ความใฝ่ฝันและอุดมการณ์สุดท้ายของเขาก็พร้อมทุ่มเทให้ ‘หนังใหญ่’ ยังคงมีลมหายใจต่อไปได้เสมอ แม้จะไม่ยิ่งใหญ่อย่างในอดีต แต่แค่เพียงศิลปะโบราณแขนงนี้ยังไม่สูญหายไปตลอดกาล เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับครูคณิต

“หนังใหญ่จังหวัดสิงห์บุรีอาจหายไป ถ้าไม่มีใครสืบทอด” คือคำพูดของครูคณิตที่เป็นแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจให้ ครูอุเทน เปียหลอ คุณครูประจำโรงเรียนสิงห์บุรีมีความคิดอยากเปิดหลักสูตรหนังใหญ่ที่จังหวัดสิงห์บุรีเป็นที่แรกและที่เดียวในไทย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และช่วยรักษามรดกทางวัฒนธรรมนี้ไว้ตราบนานเท่านาน ซึ่งหลังจากเปิดการสอนในโรงเรียนอย่างเป็นทางการได้ 2-3 เดือนก็พบว่ามีนักเรียนจำนวนมากให้ความสนใจและตั้งใจฝึกซ้อมกันอย่างสม่ำเสมอ

“ผมช่วยงานครูคณิตมานานแล้ว แต่เพิ่งเข้าวงการหนังใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา จริงๆ ที่มาเรียนก็เพราะอยากรู้ด้วยว่าหนังใหญ่สิงห์บุรีมีความแตกต่างกับหนังใหญ่ที่อื่นอย่างไร และที่เริ่มต้นวิชาสอนหนังใหญ่ที่จังหวัดสิงห์บุรี เพราะตั้งใจจะสอนให้เด็กได้รู้ว่าหนังใหญ่คืออะไร แสดงกันอย่างไร อีกอย่างคือเรากลัวว่าวันหนึ่งหนังใหญ่อาจจะสูญหายไป” 

“ตอนแรกผมสอนวิชาดนตรีไทยในโรงเรียนสิงห์บุรีมาก่อน เป็นครูสอนที่นี่มา 6 ปี แต่เพิ่งจะนำมาการสอนหนังใหญ่เข้ามาสอนปีนี้ จริงๆ สิ่งนี้เป็นความใฝ่ฝันของครูคณิต เขาเป็นคนมีความคิดริเริ่มอยากสานต่อหนังใหญ่สิงห์บุรี อยากให้มีการสอนหนังใหญ่ในจังหวัด ซึ่งเราก็คิดว่ามันน่าจะมีความเป็นไปได้”

“ทีนี้พอได้เจอผู้อำนวยการโรงเรียนสิงห์บุรีก็มีการคุยปรึกษากันว่าอยากจะทำหลักสูตรหนังใหญ่ โชคดีว่าผู้อำนวยการก็สนใจ ช่วงเริ่มต้นเรามีเงินและทุนมาทำหลักสูตรได้ก็เพราะผู้อำนวยการเรียนเปิดโอกาสให้คนที่สนใจร่วมเข้ามาบริจาคเข้ากองทุนอนุรักษ์หนังใหญ่ แรกเริ่มเราได้มาเงินทุนมาประมาณสองแสน จึงได้เริ่มจัดทำหลักสูตรหนังใหญ่ ณ โรงเรียนสิงห์บุรีขึ้นมา” ครูอุเทนอธิบาย

นอกจากนี้ ครูอุเทนเสริมว่า หนังใหญ่ที่โรงเรียนจะเป็นการเรียนการสอนหลังเลิกเรียน โดยจะนำมาบูรณาการกับวิชาดนตรีไทยที่เป็นวิชาสาระเพิ่มเติมอยู่ก่อนแล้ว โดยหลักสูตรของโรงเรียนสิงห์บุรี ณ ตอนนี้จะมีวิชาให้เลือกสองอย่าง คือดนตรีไทยกับหนังใหญ่ และเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกเรียนได้ตามความต้องการ โดยครูอุเทนและครูคณิตจะร่วมกันสอนให้เด็กที่สมัครใจมาเรียน พร้อมระบุว่าการเรียนการสอนในรุ่นบุกเบิกนี้อาจยังเป็นช่วงทดลองอยู่ แต่ปีหน้าครูอุเทนมีความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเปิดการสอนหนังใหญ่เป็นอีกหนึ่งในเป็นวิชาสาระเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนโรงเรียนสิงห์บุรีที่มีความสนใจ

ครูอุเทน เปียหลอ

วิชาหนังใหญ่ หลักสูตรใหม่ที่มีแห่งเดียวในไทย

จากแต่เดิมที่ครูคณิตจะคอยเป็นคนสอนวิชาหนังใหญ่ให้คนในจังหวัดที่สนใจ ทั้งยังเคยเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ ณ วัดสว่างอารมณ์มานานหลายปี แต่เมื่อได้ร่วมกับครูอุเทนที่เป็นครูในโรงเรียนสิงห์บุรีในการผลักดันหลักสูตรวิชาหนังใหญ่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูคณิตย้ายมาปักหลักถ่ายทอดวิชาหนังใหญ่ให้กับเยาวชนในโรงเรียนสิงห์บุรีแทน ด้วยความตั้งใจที่ทำให้หนังใหญ่แห่งสิงห์บุรีไม่ใช่เรื่องไกลตัวของคนรุ่นใหม่ในจังหวัด ซึ่งการส่งต่อวิชาหนังใหญ่ที่ว่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการเชิดหนัง แต่รวมถึงการทำพิธีท่องคาถา, การลงมือตอกหนังใหญ่ให้มีลวดลายวิจิตรตระการตา, การทำพิธีเบิกเนตรลงเวทมนตร์, พิธียกครู, การขับเสภา การพากย์และการฝึกเชิดตามท่วงท่าที่สง่างาม

“ก่อนหน้านี้หนังใหญ่สิงห์บุรีอยู่แค่ที่วัดสว่างอารมณ์ สมัยเด็กผมก็โตมาที่วัดสว่างอารมณ์ 5-6 ขวบก็วิ่งเล่นอยู่ในวัด คือโตมากับหนังใหญ่ หนังใหญ่คือชีวิตของผม แล้วพอดีช่วงต้นปีก็มีโอกาสได้ช่วยสร้างหลักสูตรให้โรงเรียนสิงห์บุรีร่วมกันครูอุเทนซึ่งเคยทำงานด้วยกันนานแล้ว ประกอบกับเราเล็งเห็นว่าโรงเรียนนี้น่าสนใจ น่าจะเอาความรู้ที่เรามาฝากไว้ที่นี่” ครูคณิตกล่าว

ครูคณิตยังอธิบายว่าการสอนเด็กๆ ให้เข้าใจ ‘หนังใหญ่’ จะเริ่มต้นจากการอธิบายประวัติความเป็นมาของหนังใหญ่ว่าเข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างไร จากนั้นจึงจะเริ่มเข้าสู่เนื้อหาเกี่ยวกับเพลงหนังใหญ่ เครื่องหนังใหญ่ การทำตัวหนัง และสอนการฝึกเชิดหนังใหญ่ด้วยตัวเอง ทั้งยังเล่าด้วยความภาคภูมิใจพร้อมรอยยิ้ม ถึงพัฒนาการของนักเรียนที่มาเรียนวิชาหนังใหญ่ที่ต่างมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ จนเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าหนังใหญ่ไม่ได้เป็นเรื่องยากและไกลตัวสำหรับเด็กๆ ในชุมชนอย่างที่คิด

แรกเริ่มเดิมที การทำตัวหนังในสมัยโบราณในส่วนของการลงสีตัวหนังจะมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนกับที่อื่น อีกทั้งตัวหนังจะมีสามตัวหลัก คือ หนังใหญ่ตัวฤษีที่ต้องทำจากหนังหมี เพราะมีความเชื่อว่าเป็นการเสริมอำนาจบารมี ตัวหนังพระนารายณ์และพระอิศวรที่ต้องทำจากหนังวัวหรือหนังควายที่ถูกฟ้าผ่าตาย คลอดลูกตาย หรือถูกเสือกัดตาย และตัวหนังจะต้องมีลักษณะทึบเพื่อให้กลางคืนแสงไฟที่สะท้อนจากหลังจอจะทำให้เห็นเงาและลวดลายของตัวหนังได้ชัดเจน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทุกวันนี้การทำตัวหนังจึงเปลี่ยนมาใช้หนังวัวที่มาจากโรงฆ่าสัตว์แทน 

“ท่วงท่าของหนังใหญ่อยู่ที่จอ เมื่อราตรีอัคคีแจ่มใส หนังส่องแสงไฟจึงประจักษ์เห็นด้วยลวดลาย หนังใหญ่สวยได้ด้วยแสงที่ส่องมายังลายเจาะ” ครูคณิตพูดพลางตอกตัวหนังตรงหน้าให้เราดู ตามมาด้วยการโชว์ฝีไม้ลายมือจากนักเรียนของโรงเรียนสิงห์บุรีที่บรรจงตอกตัวหนังทีละเล็กละน้อยอย่างประณีต

“แค่ตัวหนังตัวเดียวต้องตอกทีละนิดๆ ทำตัวเดียวกว่าจะเสร็จก็เป็นเดือน ยิ่งถ้าเป็นตัวหนังตั้งสี่สิบกว่าตัวทำคนเดียวต้องใช้เวลาเป็นปีเลยนะ แต่ที่นี่เด็กๆ ทำกันเอง 2-3 เดือนได้เกือบครบแล้ว มีตัวหนังเยอะพอจะเล่นฉากที่เป็นศึกใหญ่ได้” ครูคณิตกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

จากการพูดคุยกับครูคณิตและสังเกตการณ์เรียนวิชาหนังใหญ่ในห้องเรียนโรงเรียนสิงห์บุรี เราก็รับรู้ได้ถึงบรรยากาศอันน่าเอ็นดูที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนการสอน เพราะกลุ่มนักเรียนที่กำลังเรียนวิธีการตอกตัวหนังอยู่ตรงหน้าเรานั้น ไม่มีใครเรียกครูคณิตว่า ‘ครู’ หรือ ‘อาจารย์’ แม้แต่คนเดียว ทว่าจะเรียกขานด้วยคำว่า ‘ตา’ และตัวของครูคณิตก็ใช้สรรพนามแทนตัวเองด้วยคำเดียวกัน ความสัมพันธ์ในห้องเรียนหนังใหญ่นั้นจึงไม่ใช่เรื่องของ ‘อาจารย์กับนักเรียน’ แต่เป็นเรื่องของ ‘ตากับหลานๆ’ ที่ช่วยกันสานต่อความรู้ที่มีมาแต่โบราณต่อไป

“ผมมาสอนเด็กๆ ก็ไม่ได้คิดเงินนะ มาด้วยใจ ถ้ายังมาไหวก็จะมาตลอด วิชาที่เราได้มาจากคนเก่าคนแก่อาจสูญหายไปถ้าเราไม่ส่งต่อ ผมจึงตั้งใจจะฝากฝังไว้กับเด็กๆ เมื่อเรียบร้อยแล้วผมถึงจะพัก แต่ตอนนี้เด็กๆ ยังไม่คล่องผมก็จะเป็นพี่เลี้ยงให้ไปก่อน และถ้าเด็กเหล่านี้ทำได้ก็ถือเป็นความสำเร็จของเขาและของเราด้วย” 

ทว่าอุปสรรคใหญ่หลวงในการต่อยอดวิชาหนังใหญ่ให้คนภายนอกเข้าถึงได้ มีทั้งเรื่องของทรัพยากรด้านอุปกรณ์และบุคลากร เนื่องด้วยจำนวนคนแสดงหนังใหญ่มีน้อยลงทุกวัน และเมื่อผู้เรียนที่เคยแสดงหนังใหญ่ได้ในอดีตไม่ได้กลับมาแสดงหรือเชิดหนังอีก อาจด้วยภารกิจทางด้านการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นทำให้ขาดช่วงการสืบทอดวิชาหนังใหญ่ และด้วยการทำตัวหนังที่ต้องใช้เวลานาน ทั้งยังไม่มีบุคลากรมากพอจะช่วยกันทำตัวหนังจำนวนมากได้ แต่ถึงกระนั้น ต่อให้จะลำบากหรือมีความไม่ราบรื่นถึงเพียงไหน แต่เมื่อมีคนติดต่อให้คณะหนังใหญ่โรงเรียนสิงห์บุรีไปแสดงนอกสถานที่ ครูคณิตและครูครูอุเทนก็ไม่เคยอิดออดที่ช่วยเด็กๆ ซักซ้อมเพื่อให้การแสดงออกมาอย่างดีที่สุด

“หนังใหญ่ของเรามีข้อจำกัดตรงที่เราแสดงหลายตอนมากไม่ได้ เพราะตัวหนังมีจำกัดจึงไม่เพียงพอจะแสดงในบางตอน เช่น รามเกียรติ์มีหลายศึก ถ้าเป็นพวกศึกใหญ่ๆ เราเล่นไม่ได้ เพราะต้องใช้ตัวหนังเยอะ และต้องมีคนแสดงประมาณสิบคนเป็นอย่างต่ำต่อตอน ระหว่างการแสดงต้องมีคนคอยเปลี่ยนสลับกันตลอด”

“เพราะความตั้งใจของเราคือตั้งใจสืบสานหนังใหญ่ให้คงอยู่ต่อไป ฉะนั้น เวลาไปแสดงหนังใหญ่นอกสถานที่กับเด็กๆ ช่วงแรกๆ เราคิดค่าแสดงแค่หมื่นห้าถึงสองหมื่น ทั้งที่จริงๆ ราคาสูงกว่านี้เป็นหมื่น แม้จะไม่เคยได้กำไรก็มาเป็นไร เพราะไม่เคยคิดถึงมูลค่าของการแสดงในแง่นั้น” ครูคณิตอธิบาย

เพราะการสานต่อหนังใหญ่เป็นความตั้งใจสุดท้ายของครูคณิต ทว่าไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการจะผลักดันให้หนังใหญ่เป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอย่างในอดีตนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแม้แต่น้อย ครั้นเมื่อถามถึงอนาคตว่ามีความกังวลมากน้อยแค่ไหน หากว่าวันหนึ่งหนังใหญ่จะหลับใหลไปกับกาลเวลาอย่างสมบูรณ์ ครูคณิตตอบกลับมาอย่างเรียบง่ายว่า “อะไรจะเกิดก็คงต้องปล่อยให้เกิด อะไรที่เหนื่อยที่หนักเราก็ต้องวางมันลงบ้าง”

“เวลามีคนมาคุยมาถามผมมักจะบอกเสมอว่าผมคุยนอกเรื่องไม่ได้นะ นอกเรื่องในที่นี้คือ นอกจากเรื่องหนังใหญ่ผมก็ไม่รู้เรื่องอะไรดีกว่านี้แล้ว เพราะชีวิตนี้ผมรู้แต่เรื่องหนังใหญ่ และหนังใหญ่คือความสำเร็จของเรา ผมอยู่กับหนังใหญ่มาร่วมสามสิบปี ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะมาถึงขนาดนี้ แต่เด็กทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลย แต่ถ้าทำสำเร็จสิ่งนี้ผมก็หมดห่วง” 

“ในอนาคตถ้าเด็กๆ อยากจะนำหนังใหญ่ที่เราสอนไปประยุกต์ในทางใดทางหนึ่งในอนาคตเราก็ไม่ห้ามนะ เพราะอนาคตเป็นเรื่องที่เราไม่อาจรู้ คงแล้วแต่ความนิยมของคนในยุคสมัยนั้นๆ แล้ว” ครูคณิตกล่าวประโยคนี้ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

ตำนานหนังใหญ่ที่รอให้คนรุ่นใหม่มาสานต่อ

หลักสูตรหนังใหญ่ ณ โรงเรียนสิงห์บุรีจะมีทั้งการสอนภาคทฤษฎี ไปจนถึงภาคปฏิบัติทั้งการฝึกเต้น ฝึกเชิดและฝึกพากย์ ไปจนถึงให้ลองลงมือตอกตัวหนังด้วยตัวเอง บนกระดานของห้องเรียนนอกจากจะเต็มไปด้วยรายชื่อแต่ละบทเพลงสำหรับการแสดงหนังใหญ่แล้ว ยังประดับประดาไปด้วยตัวหนังขนาดใหญ่เรียงรายเต็มผนัง พร้อมด้วยแสงไฟจากนอกหน้าต่างที่ลอดผ่านเข้ามาทำให้ตัวหนังมีชีวิตชีวามากขึ้น

ด้วยความที่เราเดินทางไปที่โรงเรียนสิงห์บุรีช่วงเย็นวันที่มีคลาสเรียนวิชาหนังใหญ่พอดิบพอดี หลังจากพูดคุยถึงชีวิตที่เติบโตมาพร้อมกับหนังใหญ่ของครูคณิตและครูอุเทน หลังจากเด็กนักเรียนทั้งชายหญิง 7-8 คน ฝึกตอกตัวหนังกันไปได้สักพัก การเรียนการสอนภาคปฏิบัติของวิชาหนังใหญ่ในโรงเรียนแห่งเดียวในประเทศไทยก็เริ่มต้นขึ้นในตอนนั้น ครูคณิตหยิบตัวหนังให้นักเรียนใช้ซักซ้อม ส่วนครูอุเทนทำหน้าที่ขับร้องประกอบทำนองดนตรีไทย นักเรียนแต่ละคนค่อยๆ ยกไม้ค้ำตัวหนังขึ้นสูงเหนือศีรษะ พร้อมเคลื่อนไหวอย่างแช่มช้าไปตามจังหวะดนตรี กระทั่งบทร้องในท่อนแรกจบลง ครูอุเทนจึงหันมาบอกเราว่าบทเรียนในวันนี้เรียกว่า ‘การฝึกเชิด’

“ช่วงแรกๆ ก็ยาก แต่เรียนไปเรียนมาก็สนุกดีครับ” คือประโยคสั้นๆ ที่ ‘พลู’ หนึ่งในนักเรียนคลาสหนังใหญ่ที่เป็นถึงลูกหลานของขุนบางมอญกิจประมวลตอบกลับมา เมื่อเราถามถึงความรู้สึกของการได้เรียนวิชาหนังใหญ่ 

ด้วยการแสดงหนังใหญ่เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชาวบ้านที่ได้รับการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง และเป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมชองชาติไว้ให้คงอยู่ ทางวัดสว่างอารมณ์จึงได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ไว้ตั้งแต่ปี 2543 เพื่อรวบรวมตัวหนังใหญ่ทั้งของโบราณและที่ใช้ในการแสดงจัดแสดงไว้บนศาลาการเปรียญของวัด จนกระทั่งในวันนี้ที่มีการพัฒนาการเรียนการสอนมายังโรงเรียนสิงห์บุรี มากไปกว่านั้น ความพิเศษของคณะหนังใหญ่แห่งจังหวัดสิงห์บุรีคือการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มาร่วมแสดงในการเดินสายตามสถานที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้หนังใหญ่ถูกวางแสดงไว้เพียงแค่บนฝาผนัง แต่ได้ออกมาโลดแล่นในคนภายนอกได้รับชมกันต่อไป

ทั้งพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์และโรงเรียนสิงห์บุรีจึงเป็นสถานที่ที่ทำให้หนังใหญ่ยังคงมีชีวิต และมีเรื่องราวของหนังใหญ่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอันทรงคุณค่า แม้ว่าสถานการณ์การแสดงหนังใหญ่ในปัจจุบันดูจะไม่ค่อยคึกคักเท่าใดนัก แต่ก็มิใช่ว่าจะห่างหายไปเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยที่จังหวัดสิงห์บุรีแห่งนี้ คณะหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ยังคงรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น มีการจัดงานไหว้ครูหรือครอบครูเป็นประจำ ท่ามกลางผู้สนใจมาร่วมพิธีอย่างมากมายทั้งผู้ที่อยู่ในคณะหนังใหญ่เองและผู้ที่อยู่ในแวดวงใกล้ชิด ด้วยความหวังว่าเยาวชนรุ่นใหม่จะยังคงมองเห็นคุณค่า และมารับช่วงต่อมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าชิ้นนี้ต่อไปได้ทันท่วงที เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอด วัฒนธรรมการเชิด-ตอก-พากย์หนังใหญ่นี้ไว้

“ความยากของการเรียนหนังใหญ่ น่าจะเป็นความเหนื่อยในช่วงแรกๆ แต่เราเชื่อมั่นเสมอว่าถ้าใจรักถึงอย่างไรก็ทำได้ และเสน่ห์ของหนังใหญ่สิงห์บุรี คือความสวยงามของตัวหนัง และความโบราณที่ยังรักษาเอาไว้จนถึงวันนี้”

“อยากเชิญชวนให้ทุกคนได้มาดูการแสดงโบราณต้นตำรับที่หาชมได้ยากแล้วในปัจจุบัน เราจะตั้งใจและมุ่งมั่นถ่ายทอดให้ทุกคนได้เห็นแสงแห่งความงามที่ส่องผ่านจอหนังใหญ่ และได้รับชมสีสันของการแสดงอันทรงคุณค่าและมีแค่ที่สิงห์บุรีจังหวัดเดียวเท่านั้น” ครูอุเทนทิ้งท้าย ก่อนจะลุกขึ้นไปซักซ้อมวิธีการเชิดหนังใหญ่ให้เด็กนักเรียนที่อยู่เบื้องหลังต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save