fbpx

อติภพ ภัทรเดชไพศาล : ดนตรีคลาสสิคเป็นของสูงส่งตั้งแต่เมื่อไหร่

หากเอ่ยถึง จอห์น เคจ (John Cage) หลายคนคงนึกถึงบทเพลง 4’33’’ อันเลื่องลือ คลิปบันทึกการแสดงที่ปรากฏภาพของมือเปียโน ผู้ถือนาฬิกาจับเวลาแล้วปล่อยให้ความเงียบบรรเลงเป็นเวลา 4 นาที 33 วินาที ยังคงสร้างความฉงนฉงายและท้าทายความหมายของ ‘ดนตรี’ มาจนถึงปัจจุบัน

 

ในเมืองไทย องค์ความรู้เรื่องดนตรีสมัยใหม่ยังจำกัดอยู่ในวงเล็กๆ อาจเพราะเป็นดนตรีที่มีความซับซ้อน แถมไม่ได้ ‘ไพเราะ’ อย่างที่คิด

ทว่าไม่นานมานี้ มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า ‘เสียงของศตวรรษ’ ตีพิมพ์ออกมา บอกเล่าเรื่องราวและแนวคิดของ 10 นักประพันธ์เพลงระดับโลก ผู้เป็นหมุดหมายของดนตรีสมัยใหม่ เป็นหนังสือที่จะช่วยเปิดโลกให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึง–และเข้าใจดนตรีแนวนี้ได้ดีขึ้น

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ อติภพ ภัทรเดชไพศาล นักเขียนหนุ่มผมยาวผู้หลงใหลในศาสตร์ของดนตรี ก่อนจะหันมาเอาดีทางด้านงานเขียน เขาเคยเป็นอาจารย์คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สนใจและเชี่ยวชาญดนตรีสมัยใหม่เป็นพิเศษ และเคยมีผลงานการประพันธ์ออกมาหลายเพลง จัดแสดงและบรรเลงโดยวงออร์เคสตราชั้นนำของไทย

ไม่มากก็น้อย เราเชื่อว่าทุกคนต้องเคยสงสัยว่าทำไมหนังสือบางเล่ม เพลงบางเพลง หรืองานศิลปะบางงาน ถึงซับซ้อนและเข้าใจยากเสียเหลือเกิน

“ศิลปะทุกชนิด เวลามันพัฒนาขึ้นมาสู่ความเป็นสมัยใหม่ มันจะทวีความซับซ้อน ทวีความยากจะเข้าถึง มีลักษณะที่แยกตัวออกจากสังคม แยกตัวออกจากความป๊อป ดนตรีสมัยใหม่ก็มีลักษณะแบบนั้น”

101 นัดหมายกับอติภพ เพื่อชวนคุยถึงประเด็นเหล่านี้ — ดนตรีคลาสสิคกลายเป็นของสูงส่งตั้งแต่เมื่อไหร่ ดนตรีสมัยใหม่คืออะไร ศิลปะบริสุทธิ์ (และอยู่เหนือการเมือง) จริงหรือไม่ ฯลฯ

 

 

ในหนังสือเล่มล่าสุดของคุณ เขียนถึงนักประพันธ์เพลงคลาสสิคร่วมสมัย ซึ่งมีแนวทางต่างจากเพลงคลาสสิคที่คนทั่วไปคุ้นเคย อยากให้ช่วยอธิบายคร่าวๆ หน่อยว่า ‘ดนตรีคลาสสิคร่วมสมัย’ คืออะไร

ดนตรีคลาสิคสมัยใหม่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 1900 เป็นต้นมา มันคือการแตกหักกับสุนทรียะดั้งเดิม ก็คือดนตรีคลาสสิคประเภทที่เรามักจะรู้จักกันในนามของโมซาร์ท หรือบีโธเฟน ที่เน้นความไพเราะของเสียงเพลง แต่ดนตรีคลาสสิคสมัยใหม่ มันกลายเป็นเรื่องของแนวคิด เป็นเรื่องของกระบวนการสร้างสรรค์ในการแต่งเพลง มากกว่าความไพเราะ

คนที่ริเริ่มแนวคิดนี้คือ อาร์โนล เชินเบิร์ก (Arnold Schoenberg) ซึ่งผมไม่ได้เขียนไว้ในเล่มนี้นะ แต่เขาเป็นคนสำคัญที่ริเริ่มเทคนิค Twelve tone ก็คือการเขียนเพลงด้วยการใช้โน้ต 12 ตัวที่ไม่ซ้ำกัน จากนั้นก็เกิดพัฒนาการต่อมาหลายๆ คน หลายๆ สาย ทั้งในยุโรป อเมริกา กระทั่งเกิดเป็นแนวคิดแบบ จอห์น เคจ (John Cage) ที่ไปสุดขั้วในลักษณะที่ทำลายฟังก์ชั่นของนักแต่งเพลงไปเลยก็มี

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดดนตรีแนวนี้ คืออะไร

มีหลายข้อสันนิษฐาน แต่หลักใหญ่ๆ ก็คือว่าดนตรีตะวันตกแบบเดิมมันไปถึงทางตัน ดนตรีตะวันตกได้รับการพัฒนามาถึงจุดสูงสุดในสมัยของวากเนอร์ (Richard Wagner) มีการเปลี่ยนคีย์ มีการ modulate ทั้งฟอร์มเพลง ทั้งเรื่องของการพัฒนาทำนอง ได้รับการคลี่คลาย ขยาย จนมีความรู้สึกว่ามันแทบจะไม่มีทางไปต่อแล้ว ในคำอธิบายส่วนใหญ่เขาจะใช้คำว่ามันไปสุดทางของมันแล้ว ในดนตรีชนิดที่เรียกว่า Tonal Music

Tonal Music ก็คือดนตรีที่มีระบบเสียงชัดเจน ตัวอย่างเช่น Sonata in C major จุดเริ่มต้นมันต้องเป็น C major จุดจบก็ต้องเป็น C major อันนี้คือขนบดั้งเดิมของมัน แม้กระทั่งเพลงของ The Beatles หรือเพลงป๊อปทุกเพลงที่เราฟัง จัดอยู่ในระบบ Tonal ทั้งหมด ก็คือเล่นตามคอร์ด มีทางดำเนินของคอร์ดที่ชัดเจน

ทีนี้เมื่อระบบ Tonal ได้รับการพัฒนาจนมาถึงทางตัน ทำให้นักแต่งเพลงอยากค้นหาอะไรที่แปลกใหม่ไปกว่านั้น มันถึงได้เกิดคนอย่างเชินเบิร์ก (Arnold Schoenberg)  ขึ้นมา

ดูเหมือนจะเป็นดนตรีที่เข้าถึงยาก มีความเฉพาะกลุ่มมากๆ

ใช่ กลุ่มผู้ฟังของมันเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเฉพาะตัว ก็คือคนที่ศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ อย่างเช่นนักแต่งเพลง ถ้าคุณเรียนแต่งเพลง คุณก็ต้องรู้จักดนตรีสมัยใหม่อยู่แล้ว แต่สำหรับคนทั่วๆ ไป ก็ต้องบอกตามตรงว่าไม่ค่อยมีใครสนใจ ผมเขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า

การเข้าถึงงานดนตรีคลาสสิคสมัยใหม่ ไม่สามารถเข้าถึงด้วยการฟังอย่างเดียว แต่คุณต้องรู้ข้อมูลว่านักแต่งเพลงเขาคิดอะไร ทำขึ้นมาเพื่ออะไร เพราะมันเป็นเรื่องของ ‘แนวคิด’ มากกว่า ‘ความไพเราะ’

แต่ส่วนตัวมองว่าปัญหาเรื่องการเข้าถึงยาก มันถูกแก้ไปพอสมควรแล้ว ด้วยการเกิดขึ้นของ Youtube เพราะถ้าเป็นสมัยก่อน ตอนที่ผมยังเรียนอยู่ เพลงหลายเพลงเราไม่มีโอกาสเข้าถึงเลยด้วยซ้ำ เราได้ยินแต่ชื่อของมัน แต่ไม่มีปัญญาไปหาซีดีหรือแผ่นเสียงมาฟัง แต่ปัจจุบันนี้เราหาฟังผ่าน Youtube ได้หมด อยู่ที่ว่าคนฟังพร้อมที่จะเข้าหามันแค่ไหนมากกว่า

การที่มันเข้าถึงยาก คุณมองว่าเป็นปัญหาไหม

ผมมองว่าศิลปะทุกชนิด เวลามันพัฒนาขึ้นมาสู่ความเป็นสมัยใหม่ มันจะทวีความซับซ้อน ทวีความยากจะเข้าถึง ศิลปะทุกสายเป็นอย่างนี้หมด ดนตรีสมัยใหม่ก็มีลักษณะแบบนั้นเหมือนกัน คือเป็นลักษณะที่แยกตัวออกจากสังคม แยกตัวออกจากความป๊อป เพราะฉะนั้นมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคนฟังน้อย แม้กระทั่งในกลุ่มนักดนตรีเองที่เขาเล่นอยู่ในวงออร์เคสตรา ก็น้อยคนมากที่จะฟังดนตรีสมัยใหม่ บางคนถึงขั้นเกลียดด้วยซ้ำไป

ผมเชื่อว่านักแต่งเพลงส่วนใหญ่ที่ทำงานแต่งเพลงอยู่ทุกวันนี้ ทำด้วยความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองเป็นหลัก ทดลองว่าทำแบบนี้ได้มั้ย แบบนั้นได้มั้ย ผลลัพธ์จะออกมายังไง เป็นความตื่นเต้นขณะที่ทำงาน ไม่เกี่ยวกับเรื่องอุดมคติอะไรหรอก เป็นแค่คนที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของเสียง เรื่องของตัวโน้ต ผมเชื่อว่านั่นเป็นแนวคิดหลักที่ผลักดันให้เราทำงานกัน

เมื่อเทียบกับดนตรีแนวอื่นๆ ดนตรีคลาสสิคถือว่าสูงส่งหรือมีคุณค่ากว่าไหม

ดนตรีคลาสสิคที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ เมื่อก่อนมันมีอยู่สองที่เท่านั้น ก็คือในวัดกับในวัง — ในโบสถ์ของศาสนาคริสต์ กับในวังของเจ้านาย

พูดง่ายๆ ว่ามันเป็นเรื่องของคนชั้นสูงมาตั้งแต่แรก ซึ่งชนชั้นสูงเหล่านั้นก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นของสูงอะไร คนที่เล่นดนตรีให้คนชั้นสูงเหล่านี้ฟัง ก็คือคนใช้ ซึ่งอยู่ในฐานะของข้าราชสำนัก บางคนไม่ได้เป็นนักดนตรีอย่างเดียว แต่เป็นพ่อครัวด้วย ทำหน้าที่อย่างอื่นด้วย พอมีคอนเสิร์ตปุ๊บก็วิ่งมาเล่น

ฉะนั้นจะเห็นว่าดนตรีคลาสสิคในสมัยก่อน มันไม่ใช่ของสูงหรือศักดิ์สิทธิ์อะไร เป็นแค่สิ่งที่ช่วยสร้างความบันเทิงของคนชั้นสูงเท่านั้น ที่สำคัญคือ ไม่ต้องตั้งใจฟังก็ได้ พวกเจ้านายก็ปล่อยให้คนใช้เล่นไป แล้วเขาก็กินข้าวกินไวน์ไปด้วย

ถ้าไปดูหนังแนวพีเรียดยุคเก่าๆ จะเห็นเลยว่า ดนตรีสำหรับคนชั้นสูงมีไว้เพื่อประกอบการเลี้ยงสังสรรค์ ไม่ได้มีไว้ตั้งใจฟัง นี่คือประเด็น

แล้วดนตรีคลาสสิคมันกลายมาเป็นของสูงส่งตั้งแต่เมื่อไหร่

ความเชื่อเหล่านี้เกิดขึ้นราวๆ ศตวรรษที่ 18 ในช่วงปลายชีวิตของโมสาร์ท เป็นวิธีคิดที่ลามไปในหลายวงการ ไม่ใช่แค่วงการดนตรีเท่านั้น ก็คือการเกิดขึ้นของแนวคิด ‘มนุษยนิยม’ (Humanism) ในยุคแห่งการรู้แจ้ง (Enlightenment) ที่เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ เชื่อในความเท่าเทียม เป็นแนวคิดที่นำมาสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งต่อมามันถูกเอาไปลิงค์เข้ากับศิลปะ ทำให้เกิดการยกย่องศิลปิน ทำให้ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ดนตรี หรือกระทั่งงานวรรณกรรม ซึ่งไม่เคยมีสถานะที่สูงส่ง กลายมาเป็นเรื่องของนักปราชญ์ กลายมาเป็นเรื่องของศิลปะบริสุทธิ์

นักปราชญ์หลายคนในสมัยนั้น เช่น เกอเธ่ (Johann Wolfgang von Goethe) หรือ เฮเกล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel) ทุกคนจะยกย่องงานศิลปะ ยกย่องงานดนตรี ยกย่องคนอย่างบีโธเฟนว่าเป็นอัจฉริยะ ว่าเป็นนักปราชญ์ เช่นเดียวกับชนชั้นกลางรุ่นใหม่ในยุคนั้นที่สรรเสริญศิลปินเหล่านี้

จากเดิมที่นักดนตรีมีสถานะเป็นแค่คนใช้ กลับถูกยกสถานะเป็นนักปราชญ์ กลายเป็นเรื่องของภูมิปัญญา ดนตรีคลาสสิคถูกทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาทีละน้อยๆ มันจึงต้องการการตั้งใจฟัง คุณจะฟังดนตรีโดยนั่งกินข้าวไปด้วยไม่ได้อีกต่อไป

ลักษณะอย่างนี้เริ่มมีให้เห็นตั้งแต่สมัยของบีโธเฟน เขาเป็น composer ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคนหงุดหงิดเวลาที่ผู้ฟังไม่ตั้งใจฟัง บางครั้งก็หยุดเล่นเอาดื้อๆ นั่นคือการพยายามแสดงให้เห็นว่าสถานะของเขาเนี่ย ไม่ใช่คนธรรมดา แต่ว่าเป็นนักปราชญ์ เป็นคนสำคัญที่กำลังบรรเลงให้คุณฟังอยู่ ถ้าคุณไม่ตั้งใจฟังเท่ากับว่าคุณไปดูถูกงานของเขา

ถ้าเราวิเคราะห์จากมุมนี้ จะพบว่าการที่ดนตรีคลาสสิคกลายเป็นของสูง ไม่ได้เกิดจากการสถาปนาของคนชั้นสูง แต่เกิดขึ้นจากคนชั้นกลางในยุคนั้นที่พยายามไปทำให้มันสูงส่งต่างหาก

หลักฐานอีกข้อก็คือว่า ดนตรีคลาสสิคสมัยก่อนจะมีการ improvise หรือการด้นเพลง แบบที่เรามักเห็นในเพลงแจ๊ซ แต่ปัจจุบันนี้คุณจะเห็นว่าดนตรีคลาสสิคจะต้องเล่นตามโน้ตเป๊ะๆ ห้าม improvise

สมัยก่อนดนตรีคลาสสิคมีการ improvise ?

ใช่ เมื่อก่อนดนตรีคลาสสิคกับการ improvise เป็นของคู่กัน มีบันทึกหลักฐานหลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้น แต่ปัจจัยหลายอย่างทำให้ดนตรีคลาสสิคถูกแช่แข็ง ปัจจัยหนึ่งคือการที่มันถูกยกเป็นของศักดิ์สิทธิ์ อีกปัจจัยคือการสืบทอดเชื้อสายของนักดนตรี อันนี้ต้องพูดยาวหน่อย ก็คือว่านักดนตรีสมัยก่อน อย่างที่บอกไปว่าเป็นนักดนตรีในราชสำนัก ฉะนั้นมันจะสืบทอดความรู้กันแบบปากต่อปาก และเป็นการสืบทอดความรู้ในครอบครัวเท่านั้น

ยกตัวอย่างกรณีของ บาค (Johann Sebastian Bach) เขาจะมีลูกมีหลานเต็มเลยที่เป็นนักดนตรีเหมือนกัน แล้วตระกูลของบาคจะมีแนวทางการแต่งเพลงที่ชัดเจน เพราะเป็นสายที่ได้รับการสืบทอดมาจากครอบครัว ฉะนั้นการ improvise ของเขา ก็จะมีสไตล์เฉพาะตัวมาก

ทีนี้พอมันเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในช่วงศตวรรษที่ 18 ขึ้น ชนชั้นกลางเริ่มเอาดนตรีเหล่านี้ไปเล่นบ้าง มันทำให้การ improvise โดยชนชั้นกลางรุ่นใหม่เหล่านั้น ถูกตำหนิว่าไม่ใช่ของจริง เพราะคุณไม่ได้สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากนักดนตรี มันจึงมีการเหยียดกันว่า “เฮ้ย improvise แบบนี้ไม่ได้” “คุณทำแบบนี้ผิด” นี่คืออีกสาเหตุหนึ่ง

ส่วนสาเหตุสุดท้าย ก็คือการที่มีสถาบันการศึกษาทางดนตรีเกิดขึ้นมาในช่วงเวลานั้น เมื่อมันเป็นสถาบัน ดนตรีจึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องเซ็ทมาตรฐาน การ improvise จึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่พึงปรารถนา เพราะมันเท่ากับว่าเป็นการทำตามใจตัวเอง

ทั้งหมดที่ว่ามา ทำให้ปัจจุบันนี้ดนตรีคลาสสิคถูกตีตราว่าเป็นของสูง-ของศักดิ์สิทธิ์ เป็นของที่คุณควรต้องฟังด้วยความเคารพ ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่จอห์น เคจ ไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับนักดนตรีอีกหลายคนในยุคเดียวกัน ซึ่งต่อต้านดนตรีคลาสสิค เพราะเห็นว่ามันกลายเป็นไอคอนที่ดูน่าหมั่นไส้ พวกนี้ก็จะเอาดนตรีคลาสสิคมาเล่น เอามาเหยียดหยาม เอามาทำลายให้มันสูญเสียสถานะไป ซึ่งเรื่องแบบนี้ ไม่ได้เกิดเกิดขึ้นเฉพาะกับดนตรีเท่านั้น อย่างงาน ‘โถฉี่’ ของมาร์แซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ก็เกิดจากแนวคิดเดียวกัน คือตั้งคำถามกับสถานะที่สูงส่งของศิลปะ

แล้วในเรื่องของการให้คุณค่า ดนตรีคลาสสิคสมัยใหม่สามารถเปรียบเทียบกับดนตรีประเภทอื่นๆ ได้ไหม

ผมไม่เชื่อในการให้คุณค่า ผมไม่เชื่อว่าศิลปะมีมาตรฐานเดียว ไม่เชื่อว่ามันมีมาตรฐานที่สามารถบอกได้ว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี อย่างการมองดนตรีคลาสคิดร่วมสมัยว่ามันดีหรือไม่ดียังไง ก็ขึ้นอยู่กับกรอบที่คุณใช้ในการมอง เราไม่สามารถตีค่าได้ว่าดนตรีชนิดไหนสูงกว่าชนิดไหน คุณไม่สามารถเอาดนตรีคลาสสิคไปเทียบกับดนตรีป็อปได้ คุณไม่สามารถเอาวรรณกรรมเยาวชนไปเทียบกับบทกวีได้ เพราะคุณต้องอาศัยกรอบการมองที่ต่างกันออกไป

เราตัดสินไม่ได้หรอก ว่าอะไรจะสูงจะต่ำกว่ากัน ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับวิธีการมองทั้งนั้น ว่าคุณมองมันจากมุมไหน เช่นเดียวกับที่ผมไม่เชื่อว่านักเขียนแต่ละคน นักแต่งเพลงแต่ละคน หรือคนทำงานศิลปะแต่ละคน จะมีตัวตนที่ชัดเจนขนาดนั้น

ทำไมถึงไม่เชื่อเรื่องตัวตน

ประการแรก ผมไม่เชื่อในเรื่องความเป็นออริจินอล ไม่เชื่อเรื่องตัวตนของศิลปิน แม้แต่งานของนักแต่งเพลงที่เก่งๆ อย่างจอห์น เคจ เราก็ไม่สามารถระบุได้ว่านี่คือเอกลักษณ์ของจอห์น เคจ เพราะว่าเขาก็ทำงานในลักษณะที่หลากหลายมาก ทั้งงานแบบ Traditional หรืองานที่สุดโต่งแบบ Avant-garde ก็มีเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นการที่เราไปตีตรา หรือพยายามไปบอกว่า นี่คือเอกลักษณ์ของจอห์น เคจ  มันเป็นไปไม่ได้หรอก แม้กระทั่งกับนักเขียนทุกคนก็ด้วย ผมไม่เชื่อว่ามีนักเขียนที่ทำงานแบบเดียวทั้งชีวิต ศิลปะมันมีความหลากหลายมากกว่าที่เราจะไประบุว่าเอกลักษณ์ต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

ย้อนกลับมาถึงงานที่คุณทำ ไม่ว่าจะเป็นงานเพลง งานเขียน นอกจากการทดลองสร้างสรรค์ใหม่ๆ มีจุดประสงค์อื่นอีกไหม

บางชิ้นก็มี อย่างเช่นงานออร์เคสตราชิ้นหลังๆ ที่ผมทำ ชื่อเพลง กาลเมื่อก่อนนั้นก็เป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน งานนั้นก็มี agenda อยู่ในใจชัดเจนว่าเป็นการต่อต้านปฏิวัติช่วง 2549

ส่วนงานเขียนมันสื่อความหมายได้ค่อนข้างชัดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นความมี agenda ของมันจะชัดกว่า อย่างนิยายสามเรื่องที่ผ่านมาของผม ก็ชัดเจนว่ามี agenda ทางการเมืองแน่ๆ แต่ก็มีเรื่องการทดลองทางวรรณกรรมอยู่ด้วย มีทั้งสองอย่างผสมกัน ทั้ง agenda ทางการเมือง และเรื่องของความอยากรู้อยากเห็น

พูดได้ไหมว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองแบบหนึ่ง

ใช่ พูดได้เลย ทุกวันนี้ผมก็ยังทำอยู่ ทั้งบทกวีที่ลงในมติชน หรือว่าเรื่องสั้นที่เขียน ทุกวันนี้ก็ยังมี agenda ทางการเมืองอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์อย่างทุกวันนี้

ผมจะเป็นคนที่รู้สึกโกรธมาก เวลาเห็นการกระทำที่หลายมาตรฐาน เห็นคนโดนเหยียดหรือถูกกระทำแบบไม่เป็นคน อย่างกรณี 6 ตุลาฯ หรือกรณีปี 53 คุณทำกับฝ่ายตรงข้ามเหมือนว่าเขาไม่ใช่คน คุณไม่ให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กับคนอื่น

ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยก็คือความเชื่อที่เห็นคนไม่เท่ากัน มันมีความเชื่อว่าคนๆ หนึ่งควรจะอยู่เหนืออีกคนหนึ่ง ซึ่งผมไม่ปฏิเสธหรอกว่าทุกสังคมก็มีทั้งนั้นแหละ แต่อย่างน้อยเราต้องให้ค่าความเท่าเทียมบางอย่าง ให้ค่าเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือให้ค่าเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์กับคนทุกคนเท่าๆ กัน ไม่ใช่ว่าคุณไปกระทำกับเขาเหมือนเขาไม่ได้เป็นผู้เป็นคน

แต่พูดก็พูดเถอะ บางเรื่องที่เราคิดว่าแย่มากในสังคมไทย พอเอาไปเล่าให้เพื่อนผมที่เป็นคนรัสเซียฟัง มันบอกว่า “แล้วไงล่ะ?” เพราะในสหภาพโซเวียต มันเคยโดนหนักยิ่งกว่าเมืองไทยอีก หลายๆ ประเทศเขาเคยแย่กว่าเราเยอะ ที่เราเจออยู่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้แย่ที่สุด แต่เรารู้สึกแย่เพราะเราคาดหวังกับมันไง

ในยุคหนึ่งเราเคยสัมผัสเสรีภาพ เราหายใจได้อย่างบริสุทธิ์ เคยหายใจได้อย่างเต็มปอดมาแล้ว พออยู่ดีๆ เราโดนดึงกลับมาสู่ยุค 2500 ก็ไม่แปลกที่เราจะรู้สึกอึดอัด

แล้วถ้าคนมองไม่เห็น agenda ที่ซ่อนไว้ จะถือว่าล้มเหลวไหม อย่างนิยายเรื่อง ประวัติศาสตร์ของความเงียบ ที่สะท้อนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ถ้าคนที่ไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์ อาจจะอ่านแล้วไม่เข้าใจ

มันเป็นเรื่องธรรมดามาก ที่ว่าคนอ่านที่ไม่มีพื้นความรู้ จะอ่านแล้วไม่เข้าใจ ไม่มีใครสามารถเข้าใจอะไรได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เช่นเดียวกับคำที่ว่า ไม่มีศิลปะชิ้นไหนบริสุทธิ์สมบูรณ์ ที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ นี่คือหัวใจที่เราควรจะคุยกัน ว่าสุดท้ายแล้วมันไม่มีหรอก งานศิลปะแบบนั้นน่ะ กระทั่งดนตรีคลาสสิคที่มักจะมีการพยายามกล่าวอ้างว่าเป็นดนตรีบริสุทธิ์ ทุกคนฟังแล้วต้องเพราะ เป็นดนตรีที่สามารถยกระดับจิตใจคน–ก็ไม่จริง ไม่มีทางเป็นไปได้

ยกตัวอย่างเช่น การฟัง sonata ถ้าคุณไม่มีความรู้เรื่องฟอร์มของเพลง คุณก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่ามันดีตรงไหน เพราะ sonata เป็นเรื่องของฟอร์ม เป็นเรื่องของการพัฒนาทำนอง ซึ่งมีขนบของดนตรีคลาสสิคอยู่ ถ้าเกิดคุณไม่รู้ขนบนี้ คุณก็ไม่มีทางฟังแล้วเข้าใจ หนังสือก็เช่นกัน มันไม่มีเล่มไหนหรอกที่ทุกคนสามารถอ่านแล้วเข้าใจเหมือนกันหมด

 

 

แล้วหนังสือเล่มนี้ (เสียงของศตวรรษ) มี agenda อะไรไหม

คุณจะเห็นว่าเกือบทุกคนในเล่มนี้เป็นพวกฝ่ายซ้ายหมดเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า แนวคิดฝ่ายซ้ายเป็นแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์กับแนวคิดหลักในช่วงเวลานั้น ก็คือแนวคิดแบบขวาหรืออนุรักษนิยม แน่นอนว่าคนที่คิดอะไรใหม่ๆ มันต้องแอนตี้อนุรักษนิยมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมนักแต่งเพลงพวกนี้ถึงมีความเชื่อในแบบฝ่ายซ้าย และหลายคนก็เคยไปรบ บางคนเป็นคอมมิวนิสต์เลยก็มี

ที่สำคัญคือในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงที่กระแสซ้ายกำลังมาแรงในหมู่ปัญญาชน คนพวกนี้ก็คือปัญญาชนกลุ่มหนึ่งเหมือนกัน แล้วทุกคนก็ไม่ปฏิเสธที่จะเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง สังเกตได้ว่านักแต่งเพลงแต่ละคนอยู่ในเล่มนี้ ทุกคนมี agenda ทางการเมืองที่ชัดมาก

หมายถึงว่าแสดง agenda ทางการเมืองผ่านผลงาน?

ใช่ หรือบางทีอาจไม่ได้ผ่านผลงานโดยตรง แต่ว่าเขาประกาศความเชื่อทางการเมืองของเขาออกมาอย่างชัดเจน ไม่ปิดบัง และไม่พยายามเป็นกลางแบบที่ศิลปินไทยพยายามเรียกร้อง

คนไทยยังมีชุดความเชื่อที่ว่าดนตรีต้องบริสุทธิ์ ดนตรีจะต้องไม่ยุ่งกับการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ผมเคยพูดไว้ว่า ศิลปินไม่มีความเป็นกลางหรอก เหมือนที่ผมบอกว่าศิลปะมันไม่มีความบริสุทธิ์ ฉะนั้นไม่จำเป็นหรอกว่าศิลปินจะต้องเป็นกลาง ศิลปินทุกคนเลือกข้างได้หมด เพราะศิลปินก็คือมนุษย์ธรรมดา ไม่ใช่มนุษย์มหัศจรรย์หรือบุคคลวิเศษ มันจึงมีศิลปินที่เลือกข้างเผด็จการ และมีศิลปินที่ไม่เอาเผด็จการ เป็นเรื่องปกติ และเป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะเลือก

แล้วทำไมคุณถึงเลือกทางนี้

ผมเชื่อว่าในสถานการณ์แบบนี้ ก็คงมีคนทำงานศิลปะไม่น้อยที่รู้สึกถึงความอึดอัด เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมชาติที่ความอึดอัดเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอดออกมาในงาน เพื่อประท้วงต่อสภาพที่เราเป็นอยู่หรืออะไรก็ตาม

ในส่วนของผมเอง ผมไม่ได้ทำด้วยความรู้สึกที่ว่า เฮ้ย กูต้องสู้ หรืออะไรทำนองนั้น ผมแค่รู้สึกว่าอยากเขียน อยากประท้วงด้วยวิธีนี้ แต่จะได้ผลหรือไม่ เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของเรา ซึ่งถ้าพูดกันตรงๆ คิดว่าคงไม่ได้ผลหรอก เพราะเอาคนไปสู้กับปืน มันสู้ไม่ได้อยู่แล้ว

ระหว่างเขียนหนังสือ กับเขียนเพลง ถนัดอะไรมากกว่ากัน

งานเขียน กับ งานแต่งเพลง เป็นสองสิ่งที่เปรียบเทียบกันแล้วเห็นความแตกต่างชัดมาก เวลาเขียนเพลงเสร็จ มันยังจับต้องไม่ได้ มันต้องการการจัดการ มันต้องการนักดนตรี ต้องการหาที่ซ้อม มีปัจจัยหลายอย่างมาก กว่าที่เพลงๆ หนึ่งจะสำเร็จออกมาแล้วถูกบรรเลงได้

ขณะที่งานเขียน ต้นฉบับมันเสร็จในตัวมันเอง จะมีใครตีพิมพ์หรือเปล่าก็อีกเรื่อง อันนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตอนนี้ผมหันมาให้ความสนใจกับงานเขียนมากกว่า เพราะว่าการทำงานเพลงมันต้องพึ่งพาปัจจัยนอกเหนือตัวเราเองเยอะ

แล้วตอนนี้เขียนเรื่องอะไรอยู่

ล่าสุดผมเพิ่งจบชุดเรื่องสั้นไปสิบเรื่อง เป็นแนวขำขัน เสียดสีรัฐบาลคสช. แนวนี้เพิ่งเคยทำครั้งแรกเหมือนกัน

ดูแล้วก็เป็นวิธีที่กำลังฮิตอยู่เหมือนกัน

ใช่ แล้วเป็นวิธีที่ได้ผลด้วยนะ ก็คือเหยียดแม่งเลย ทำให้เป็นตัวตลกไปเลย ในแง่หนึ่งก็เพลย์เซฟได้ด้วย บางคนอาจจะเข้าใจ แต่บางคนอาจไม่รู้เรื่อง

เหตุผลหนึ่งที่ผมหันมาเขียนเรื่องสั้นตลกชุดนี้ ก็เพราะผมรู้สึกว่าผมอยากเข้าหาคนอ่านในกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นด้วย เรื่องซีเรียสๆ ใครมันจะไปอยากอ่านล่ะ กระทั่งทุกวันนี้เราเองก็ยังเบื่อ

สุดท้ายก็อย่างที่บอกไปแต่แรก ผมคิดว่านักเขียนหรือนักแต่งเพลง ควรทำงานได้หลายๆ แบบ ใครคิดอะไรได้ก็ทำไป แต่ไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่ในกรอบใดกรอบหนึ่ง

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save