fbpx

หมอกควันอาเซียน: วิกฤตตามฤดูกาลและ knee jerk solution

หลังจากที่ปล่อยให้ประชาชนสูดดมหมอกควันพิษจนปอดพังล้มป่วยกันเป็นทิวแถว เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลไทยอาจเพิ่งนึกขึ้นได้ว่ากลุ่มอาเซียนซึ่งไทยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งอยู่ด้วยนั้น มีความตกลงและเครื่องไม้เครื่องมือจำนวนหนึ่งในการรับมือกับปัญหานี้มานานถึง 20 ปีแล้ว นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงหยิบเรื่องนี้ขึ้นหารือกับเกา กิม ฮวน เลขาธิการอาเซียนคนใหม่ชาวกัมพูชาที่เดินทางมาเยี่ยมคำนับผู้นำของไทยเมื่อตอนสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่สาระสำคัญของการพูดคุยเรื่องนี้ของบุคคลทั้งสองไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการที่นายกรัฐมนตรีของไทยเน้นย้ำว่าปัญหาหมอกควันเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบทั่วทั้งภูมิภาคที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและอยากได้แรงสนับสนุนจากกลุ่มอาเซียน อีกทั้งขอร้องให้เลขาธิการอาเซียนช่วยประสานงานในเรื่องนี้ เกา กิม ฮวนแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีของไทยว่ากลุ่มอาเซียนมีกลไกรับมือกับปัญหานี้ (มาตั้งนานแล้ว ไม่รู้หรือไง) กลุ่มอาเซียนก็พร้อมจะสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมและทันท่วงที

ถัดจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ นายกรัฐมนตรีของไทยประชุมทางวิดีโอร่วมกับนายกรัฐมนตรี สอนไซ สีพันดอนของลาว และ นายกรัฐมนตรี มิน อ่อง หล่าย ของพม่า ซึ่งก็เป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียนด้วยกันทั้งหมด เรื่องการจัดการกับปัญหาหมอกควันพิษข้ามพรมแดน หลังการประชุมโฆษกรัฐบาลแถลงว่าผู้นำทั้งสามเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือในการแก้ไขปัญหานี้และกล่าวชื่นชมกันไปมาตามประเพณีของกลุ่มอาเซียน

สิ่งที่นายกรัฐมนตรีของไทยนำเสนอในที่ประชุมนั้นกลุ่มอาเซียนพูดกันเป็นประจำอยู่แล้วคือ ประการแรกให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการเชียงรายที่มีมาตั้งแต่ปี 2017 เพื่อควบคุมมลพิษในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จัดตั้งระบบเตือนภัยและส่งเสริมประสิทธิภาพการดับไฟ ประการที่สอง ให้ใช้กลไกทุกระดับทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีของภูมิภาค และที่ชวนขันน่าหัวเราะคือนายกรัฐมนตรีบอกว่าจะนำเสนอในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งต่อไปให้ “ผู้นำอาเซียนพิจารณาสั่งการ เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมและรอบด้าน” เพราะจนป่านนี้แล้วนายกรัฐมนตรีของไทยยังไม่รู้ตัวอีกเลยหรือว่าผู้นำอาเซียน (รวมทั้งตัวของเขาเอง) สั่งการอะไรก็ไม่เคยได้ผลเลย และประการที่สาม ข้อเสนอสำเร็จรูปที่พูดกันแบบทั่วๆ ไปว่าให้มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลและประสบการณ์รวมทั้งดำเนินการตามกฎหมายของแต่ละประเทศเพื่อควบคุมต้นตอของปัญหา

บทความนี้ต้องการที่จะชี้ให้เห็นในเชิงโต้แย้งว่าสิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์หยิบยกขึ้นมาทั้งหมดดังที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นเพียงปฏิกิริยาหัวเข่ากระตุก (knee jerk reaction) – ปฏิกิริยาของการเอาค้อนเคาะบริเวณเข่าแล้วขากระตุกขึ้นมาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ – เพื่อตอบสนองกับแรงกดดันจากสาธารณะในยามวิกฤตเท่านั้น ไม่ได้มุ่งแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอและรากเหง้าจริงๆ มิหนำซ้ำผู้นำของไทยและอีกหลายชาติในอาเซียนเคยชินกับการใช้ท่าทีในการรับมือกับปัญหาในทำนอง ‘พิจารณาสั่งการ’ ตามแบบฉบับของผู้นำหัวหน้าส่วนราชการที่ไร้ความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำเสนอทางออกใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา

วิกฤตที่ยาวนานเป็นงานประจำ

กลุ่มอาเซียนเริ่มตระหนักว่าหมอกควันข้ามพรมแดนเป็นปัญหาในภูมิภาคนี้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980-1990 เฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในช่วงปี 1997-1998 เมื่อไฟไหม้ป่าในอินโดนีเซียสร้างผลกระทบไปทั่วภูมิภาคตั้งแต่อินโดนีเซียเอง สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และภาคใต้ของไทย ซึ่งคาดว่าตอนนั้นสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมคิดเป็นมูลค่ามากถึง 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไฟไหม้ในครั้งนั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ออกมาราวๆ 1,000-2,000 ล้านตัน

แต่กลุ่มอาเซียนใช้เวลาพูดคุยหารือกันนานกว่าทศวรรษกว่าจะบรรลุความตกลงว่าด้วยหมอกควันพิษข้ามพรมแดนในปี 2002 (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) ที่มีวัตถุประสงค์ว่าจะติดตามสถานการณ์และหาทางป้องกันหมอกควันพิษร่วมกันทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค โดยมาตรการที่ระบุเอาไว้ในความตกลงนี้ประกอบไปด้วย 1) มาตรการติดตามและประเมินสถานการณ์ 2) การป้องกันเหตุ 3) การเตรียมความพร้อม 4) การรับมือในภาวะฉุกเฉิน 5) การพัฒนาบุคลากร ระดมวัสดุอุปกรณ์ 6) ความร่วมทางเทคนิคและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

ความตกลงนี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบในตัวของมันเอง ดูเหมือนมันเกิดขึ้นมาในเวลาที่สมาชิกอาเซียนทั้งมวลยังไม่ได้มองเห็นความสำคัญของปัญหากันอย่างพร้อมเพียง ผู้แทนรัฐบาลที่ลงนามในเอกสารนี้มีระดับไม่เท่ากัน บางประเทศเช่นไทยและกัมพูชา ผู้แทนลงนามเป็นเอกอัครราชทูต ในขณะที่ประเทศอื่นเป็นระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม ความตกลงนี้เป็นเครื่องมือในการเจรจามากกว่าจะรองรับการปฏิบัติการให้บรรลุผล ไม่มีบทลงโทษ ทุกอย่างเป็นไปตามความสมัครใจและความพร้อมของรัฐสมาชิกเอง แม้แต่บทที่ว่าด้วยการแก้ไขข้อขัดแย้ง (ในเรื่องการตีความ) ก็ยังให้ใช้วิธีการปรึกษาหารือและเจรจามากกว่าระบบอนุญาโตตุลาการ

ความตกลงนี้ไม่ใช่ยาวิเศษที่ว่าพอลงนามกันแล้วแล้วปัญหาหมดไปเลยในทันที เอาเข้าจริงกลุ่มอาเซียนไม่เคยบรรลุเป้าหมายเลยนับแต่มีความตกลงนี้มา การบังคับใช้ความตกลงนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก หลายประเทศใช้เวลาค่อนข้างนานในการให้สัตยาบันและบังคับใช้ความตกลงดังกล่าว ในขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ของอาเซียนคือ 5 ใน 10 (รวมทั้งไทย) ให้สัตยาบันในปี 2003 ประเทศที่เคยเป็นต้นทางของปัญหาคืออินโดนีเซียใช้เวลาถึง 12 ปีคือเพิ่งจะให้สัตยาบันในความตกลงนี้ในปี 2014 เพราะติดปัญหาภายในหลายประการ ตั้งแต่ความล่าช้าในระบบราชการ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ขาดแคลนกฎหมายและการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ รวมตลอดถึงการทุจริต ส่วนฟิลิปปินส์และกัมพูชาซึ่งเชื่อว่าตัวเองไม่ค่อยได้รับผลกระทบให้สัตยาบันในปี 2010 และ 2006 ตามลำดับ

ถึงจะเนิ่นนานปานนั้น แต่เมื่อพร้อมกันหมดแล้วกลุ่มอาเซียนจึงได้จัดทำโร้ดแมปในปี 2016 ที่ตั้งเป้าว่าจะทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ปลอดหมอกควันภายในปี 2020 โดยมีดัชนีชี้วัด 3 ตัวคือ จำนวนวันที่อากาศดีเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ของ Pollutant Standard Index (PSI) หรือ Air Quality Index จำนวน hotspot ในการเตือนภัยระดับสองลดลง และลดจำนวนพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากหมอกควันพิษ

ในแผนนี้กำหนด 8 ยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติการคือ 1) บังคับใช้ความตกลงว่าด้วยหมอกควันพิษข้ามแดนปี 2002 2) จัดการพื้นที่พรุ (พื้นที่ชุ่มน้ำ)และควบคุมไฟในพื้นที่พรุอย่างยั่งยืน 3) จัดการและป้องกันไฟในพื้นที่การเกษตรและป่าผืนใหญ่อย่างยั่งยืน 4) สร้างความเข้มแข็งให้กับกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพ 5) ส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของสถาบันที่เกี่ยวข้องทุกระดับ 6) สร้างความรับรู้และตระหนักในปัญหาพร้อมทั้งระดมการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วน 7) ระดมทรัพยากรจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด 8) ลดความเสี่ยงทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปกป้องสิ่งแวดล้อมของโลก

ว่ากันตามไสตล์กลุ่มอาเซียนเมื่อได้ทำความตกลงแล้ว ก็ต้องมีกลไกเชิงสถาบันเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามแผน ซึ่งก็เริ่มจากการประชุมของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า Conference of Parties หรือ COP ซึ่งเริ่มประชุมกันมาตั้งแต่ปี 2003 และภายใต้ COP จะมีคณะกรรมาธิการเพื่อคอยช่วยงานในรายละเอียดอีกชั้นหนึ่ง

แต่เนื่องด้วยสถานการณ์หมอกควันในอาเซียนนั้นไม่ได้เกิดที่เดียวและเวลาเดียวกันทั้งหมด หากแต่แตกต่างกันระหว่างส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่และรัฐในมหาสมุทร ดังนั้นจึงจัดแบ่งคณะทำงานในระดับระดับมนตรี (Sub-regional Ministerial Standing Committee – SMC) เป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกดูแลสมุทรรัฐ ประกอบไปด้วย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ซึ่งมักจะรับมือกับปัญหาที่มาจากอินโดนีเซียที่จะเริ่มจากเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของทุกปี ส่วนคณะที่สองดูแลลุ่มแม่น้ำโขงประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม ซึ่งหมอกควันพิษมักจะเกิดช่วงฤดูแล้งช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม โปรดสังเกตว่าประเทศไทยอยู่ร่วมทั้งสองคณะเพราะไม่ว่าปัญหาจะเกิดจากที่ใดเวลาใดก็ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ในขณะที่ฟิลิปปินส์ทำตัวไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้เลย

ว่าแต่เฉพาะในส่วนที่ประเทศไทยเกี่ยวข้องมากหน่อยในฐานะที่เป็นทั้งต้นตอและรับผลกระทบ คือในส่วนของลุ่มแม่น้ำโขงนั้นมีแผนปฏิบัติการเชียงรายที่ออกมาในปี 2017 กำหนดเป้าหมายในการลด hotspot ที่มามากกว่า 150,000 ในแต่ละปีให้เหลือ 75,000 แห่งในปี 2017 และให้มีไม่เกิน 50,000 แห่งภายในปี 2020 เพื่อใช้เป็นหลักหมายในการดำเนินการลดปัญหาหมอกควันในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง แต่ปัญหาในพื้นที่ก็ซับซ้อนไม่น้อยไปกว่าพื้นที่ของประเทศในมหาสมุทร จนถึงปี 2023 นี้จำนวน hotspot ในภูมิภาคนี้นอกจากจะไม่ลดลงตามเป้าแล้วยังเพิ่มมากถึง 123,062 แห่ง (โปรดดูแผนภูมิ)

แผนภูมิจำนวน hotspot ในอาเซียน 2013-2023

นอกจากนี้อาเซียนยังมีคณะทำงานที่ดูแลเรื่องพื้นที่พรุเป็นการเฉพาะเนื่องจากพบว่าพื้นที่ซึ่งถูกไฟไหม้ส่วนมากแล้ว โดยเฉพาะในอินโดนีเซียเกิดในพื้นที่ชุ่มน้ำ ดังนั้นอาเซียนจึงตั้ง ASEAN Taskforce on Peatlands (ATFP) ขึ้นในปี 2013 เพื่อช่วยดูแลและติดตามสถานการณ์สภาพแวดล้อมและนิเวศวิทยาของพื้นที่พรุ รวมตลอดถึงประสานงานกับภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

แม้ว่าจะมีกลไกและแผนการทำงานมากมายขนาดนั้นและสมาชิกส่วนใหญ่ก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อควบคุมหมอกควันพิษอาเซียน (ASEAN Coordinating Centre for Transboundary Haze Pollution Control) ตามมาตรา 5 ของข้อตกลงปี 2002 และแผนปฏิบัติการที่จะให้มีสำนักงานที่อินโดนีเซียภายในปี 2016 แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีศูนย์ประสานงานคอยทำหน้าที่ ประสานงาน อำนวยความสะดวก ศึกษาวิจัย เรื่องเกี่ยวกับหมอกควัน มีแต่พากันเรียกร้องให้มีการจัดตั้งโดยเร็วแต่ไม่มีความพยายามจะทำให้เกิดขึ้นได้จริง[1]

ทางด้านงบประมาณนั้นกลุ่มอาเซียนมีกองทุน ASEAN haze fund ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกลงขันกันตั้งเป้าให้มีเม็ดเงินเริ่มต้น 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ[2] และนอกจากนี้ก็ขอรับบริจาคจากประเทศที่ร่ำรวย แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะว่ากองทุนนี้มีเงินเพียงพอหรือใช้จ่ายเพื่อรับมือกับปัญหานี้อย่างไร  

ที่สมควรจะได้รับการไฮไลต์ในที่นี้เพราะดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดที่ใช้ในการรับมือกับปัญหาหมอกควันพิษอาเซียน คือศูนย์อุตุนิวิทยาอาเซียน ซึ่งตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1993 ก่อนที่จะมีความตกลงเรื่องหมอกควันข้ามพรมแดนนับสิบปี ความจริงแนวคิดที่จะมีศูนย์อุตุนิยมวิทยานั้นพูดกันมาตั้งแต่ปี 1985 เสียด้วยซ้ำไป เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านอุตุนิยมวิทยาให้ได้ใช้กันในระดับภูมิภาค ปัจจุบันศูนย์อุตุนิยมวิทยาตั้งอยู่ในสิงคโปร์โดยมีศูนย์อุตุนิยมวิทยาของสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ บทบาทหลักของศูนย์แห่งนี้คือวิจัย พัฒนา ปรับปรุงระบบการพยากรณ์อากาศและสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อภูมิภาค ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประเมินสถานการณ์ทางด้านหมอกควันและคอยเตือนภัยไปด้วยในตัว นอกจากนี้ก็ทำหน้าที่ในการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ เพื่อช่วยให้ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของสมาชิกแต่ละชาติมีศักยภาพและสมรรถนะในการพยากรณ์อากาศในระดับท้องถิ่นเพื่อให้มีความแน่นอนแม่นยำมากขึ้น

สิงคโปร์นั้นเป็นประเทศที่ให้บริการข่าวสารข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ได้ดี ทันสมัย ถูกต้อง แม่นยำ มากกว่าหลายประเทศในอาเซียน ในเว็บไซต์ของศูนย์อุตุนิยมวิทยาอาเซียนนั้นได้จัดแสดงข้อมูลแบบเรียลไทม์ในหลายหมวดหมู่ได้แก่ การเตือนภัย ภาพรวมหมอกควัน ภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลเกี่ยวกับ hotspot ข้อมูลเกี่ยวกับหมอกควัน ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ และระบบเรตติ้งไฟอันตราย (Fire Danger Rating System) ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ผลิตและแสดงโดยอุตุนิยมวิทยามาเลเซียเป็นประจำรายวัน

มองปัญหาที่สาเหตุ

หมอกควันที่เป็นพิษไม่ว่าจะเป็นขนาด 2.5 ไมครอนหรือขนาดอื่นใดส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เช่น การเผารื้อสวนปาล์มในอินโดนีเซียและการเผาป่าเพื่อทำลายอินทรียวัตถุหรือแผ้วถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือของพม่า ไทย และลาว รวมตลอดถึงการเผาไร่อ้อยเพื่ออำนวยความสะดวกในการเก็บเกี่ยวผลผลิตในหลายประเทศ

องค์ประกอบที่ก่อหรือเอื้อให้เกิดการเผาหรือทำให้ปัญหามันลุกลามยืดเยื้อมีอยู่หลายประการด้วยกัน ประการแรกเลยรัฐบาลมักจะชี้นิ้วไปที่ประชาชนที่ทำการเกษตรแบบนี้หรือเผาป่าเพื่อให้เห็ดหรือผักหวานเกิดเพื่อเก็บมาบริโภคหรือขายบ้าง หรือจำเป็นต้องเผาซังข้าวเพื่อกำจัดไข่ของแมลงศัตรูพืชก่อนฤดูเพาะปลูกต่อไปจะมาถึง ส่วนผู้ที่พอจะมองปัญหาในภาพใหญ่ได้ชัดกว่านั้นมักจะโทษไปที่บริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างที่ไปส่งเสริมให้ประชาชนปลูกปาล์มในอินโดนีเซีย ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ภาคเหนือของลาวและไทย แต่ประเด็นนี้จะสัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจอีกด้วย หมายความว่าถ้าต้องการผลผลิตทางการเกษตรมากเพื่อการพาณิชย์ ต้องส่งเสริมการผลิตให้มากขึ้น การบุกเบิกพื้นที่เพาะปลูกก็เกิดขึ้นมาและการบุกเบิกที่เร็วทำได้โดยการเผา

องค์ประกอบประการที่สองคือ การบังคับใช้กฎหมาย ปัญหานี้ควรเริ่มต้นจากข้อเท็จจริงที่ว่ามีกฎหมายสำหรับดูแลอากาศของแต่ละประเทศอย่างเพียงพอหรือไม่ และจากนั้นก็ไปสู่การบังคับใช้กฎหมายนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้อาจจะมีอีกหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งอาจมาจากทัศนคติของราชการหรือรัฐบาลด้วยว่าเป็นอย่างไร บางครั้งการทุจริตหรือระบบอุปถัมภ์ก็เป็นอุปสรรคสำหรับการบังคับใช้กฎหมาย หรือในบางประเทศเช่นไทย รัฐบาลและเจ้าหน้าที่มักมุ่งสนใจเพียงแต่จะใช้กฎหมาย เช่น ไล่จับกุมชาวบ้านที่ไปหาของป่าหรือเผาไร่นาของตัวเองเพื่อกำจัดศัตรูว่า เพื่ออวดอ้างเอาผลงานว่าได้ทำการแก้ไขปัญหาหมอกควันนี้แล้วโดยไม่ได้คำนึงถึงทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาเลย

ประการที่สาม ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นปรากฏการณ์เอลนีโน ซึ่งทำให้เกิดความร้อนและความแห้งแล้งก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายไปได้มาก อากาศที่แห้งทำไฟลามไปได้อย่างรวดเร็วเกินกว่าจะควบคุมได้ง่ายๆ

ประการที่สี่ รัฐสมาชิกของอาเซียนมีขีดความสามารถในการระบุ วิเคราะห์ และประเมินประสิทธิภาพในการรับมือกับปัญหานี้ไม่เท่ากัน สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือพื้นที่ปรากฏทางภาพถ่ายดาวเทียมว่าเป็น hotspot หรือเป็นต้นตอของหมอกควันอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ซึ่งกำลังตกอยู่ในความตึงเครียดเพราะความขัดแย้งทางการเมือง แม้ว่ามิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีพม่าจะยอมรับว่าปัญหาเกิดขึ้นจากประเทศของเขา แต่เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ของหรือแม้แต่ทหารของตัดมาดอว์ก็ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่เหล่านั้นได้ ส่วนลาวนั้นอาจไม่มีกำลังและทรัพยากรเพียงพอในการเข้าไปจัดการกับปัญหาได้ก็ได้แต่ปล่อยธรรมชาติจัดการตัวเองด้วยการทนรอให้ถึงฤดูฝนในอีกเดือนหรือสองเดือนข้างหน้านี้เท่านั้น

เพื่อที่จะระบุปัญหาได้ตรงจุดที่รากเหง้าของมันต้องอาศัยความรู้ ข้อมูล และวิสัยทัศน์ที่แจ่มชัดของเจ้าหน้าที่และรัฐบาลในการแสวงหาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีอย่างทันท่วงที การดำเนินการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหมอกควันในปัจจุบันจัดได้ว่าอ่อนด้อยและไร้ประสิทธิภาพอย่างมาก เพราะความคิดที่ตื้นเขินและวิสัยทัศน์ที่ไม่ชัดเจนทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าปัญหานี้เกิดขึ้นเป็นประจำสม่ำเสมอทุกปีเพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น และกลไกในการตรวจสภาพอากาศพร้อมทั้งประเมินความเสี่ยงของกลุ่มอาเซียนก็มีอยู่แล้วอย่างพร้อมมูลในสิงคโปร์ แต่กลับละเลยและนิ่งดูดายปล่อยให้เกิดปัญหาเสียก่อนค่อยมานั่งประชุมกันเพื่อสร้างภาพว่าได้ดำเนินการแล้วเท่านั้นเอง เพราะหลังจากประชุมแล้วก็ไม่ได้มีปฏิบัติการอะไรที่จะทำให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพเลย

สรุป/ข้อเสนอแนะ

เมื่อการดำเนินการโดยกลุ่มอาเซียนไม่ค่อยประสบผลสำเร็จหรือมีปัญหาอุปสรรคมากมาย จัดได้ว่าพึ่งพิงได้ยากในยามวิกฤต สิ่งหนึ่งที่จะต้องตระหนักเอาไว้เป็นเบื้องต้นเลยคือปัญหานี้มีผู้มีส่วนได้เสียและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ได้มีเฉพาะแต่เจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คนที่นั่งชี้นิ้วสั่งการด้วยภาษาที่ฟังไม่รู้เรื่องเท่านั้น หากแต่เกษตรกรทั้งที่ร่ำรวยและยากจน บริษัทธุรกิจทั้งใหญ่และเล็กที่ทำการเกษตรในพื้นที่ต่างๆ ประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ และองค์กรเอกชนทั้งที่แสวงหากำไรและไม่แสวงกำไรที่ให้ความสนใจเรื่องหมอกควันพิษอยู่ทั่วภูมิภาค กลุ่มอาเซียนและรัฐสมาชิกสมควรที่จะได้ระบุหน่วยงานและกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ให้ชัดเจนแล้วสร้างเครือข่ายประสานงาน แสวงหาความร่วมมือและที่สำคัญลงทุนทางด้านอุปกรณ์ เทคโนโลยีและเครื่องมือในการป้องกันและควบคุมไฟ เช่นกลุ่มพันธมิตรปลอดไฟ Fire Free Alliance ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรและบริษัทธุรกิจตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2016 เพื่อป้องกันและควบคุมไฟอินโดนีเซีย หรือในประเทศไทยมีเครือข่ายอากาศสะอาด Thailand Clean Air Network ซึ่งกำลังผลักดันพระราชบัญญัติอากาศสะอาดที่ถูกรัฐบาลประยุทธ์ดองจนกลายเป็นหมันไปแล้ว

มีตัวแบบที่น่าสนใจสำหรับการแก้ปัญหานี้คือโครงการหมู่บ้านปลอดไฟ (Fire Free Village Program) ที่เปิดตัวและดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2014 โดยกลุ่มเมษายน (APRIL Group) เพื่อป้องกันไฟใน Riau อินโดนีเซีย โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือขององค์กรเอกชน ภาครัฐ ทหาร ตำรวจ และองค์กรบรรเทาสาธารณภัยในท้องถิ่น Riau มาถึงปัจจุบันโครงการนี้ทำงานกับ 27 ชุมชนครอบคลุมพื้นที่มากถึง 3.8 ล้านไร่ ลดพื้นที่การเผาได้ถึง 97 เปอร์เซ็นต์ตลอดระยะเวลาประมาณ 5 ปี[3]

โครงการนี้มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการคือ สร้างความตระหนักถึงอันตรายของไฟ โดยมีเป้าหมายในการสร้างสำนึกเรื่องนี้ให้กับประชาชนและเยาวชนในพื้นที่ องค์ประกอบที่สองคือ กำหนดหมู่บ้านเป้าหมายที่จะให้ปลอดจากการเผาทำลายทุกชนิดในระยะเวลา 2 ปี และส่วนที่สามคือการติดต่อและติดตามหมู่บ้านที่ผ่านโครงการและประสบความสำเร็จมาแล้ว

แม้ว่าหมู่บ้านหรือชุมชนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับแรงจูงใจหลายอย่างในการร่วมกันป้องกันไฟหรือตระหนักถึงภัยอันตรายของการเผาทำลายพื้นที่การเกษตร หมู่บ้านใดทำสำเร็จก็จะได้รับรางวัลมากถึง 100 ล้านรูเปี๊ยะ (228,184 บาทตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) เพื่อซื้อหรือสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคในชุมชน เช่นมีหมู่บ้านที่ได้รับเครื่องสูบน้ำไว้ใช้สำหรับทำประปาหมู่บ้าน แต่หากมีการฝ่าฝืนพวกเขาก็อาจจะถูกปรับเป็นเงิน 20 ล้านรูเปี๊ยะ[4] (45,636 บาท)

โครงการประเภทนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมแรงของทุกภาคส่วนไม่ใช่จาก ‘การพิจารณาสั่งการ’ แน่นอน และที่สำคัญไม่จำเป็นจะต้องชี้นิ้วใส่ใครว่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบปัญหานั้นแต่เพียงผู้เดียว บริษัทเอกชนที่ส่งเสริมการทำการเกษตรในพื้นที่ก็สมควรจะมีส่วนร่วมด้วยการลงทุนทั้งทางด้านบุคคลากรและเทคโนโลยี วัสดุอุปกรณ์ หรือสมทบเงินทุนเพื่อทำโครงการคล้ายๆ โครงการหมู่บ้านปลอดไฟได้ด้วยเช่นกัน แน่อนการลงทุนนั้นต้องเป็นสิ่งที่มากและจริงจังกว่าการทำ Corporation Social Responsibility – CSR ที่ฉาบฉวยซึ่งหวังผลเฉพาะเรื่องภาพพจน์องค์กรเท่านั้น


[1] Kung Phoak “ASEAN Cooperation to address transboundary haze amid pandemic” Jakarta Post July 20, 2020 (https://www.thejakartapost.com/academia/2020/07/20/asean-cooperation-to-address-transboundary-haze-amid-pandemic.html) และ “ASEAN strengthens concreted efforts to fight transboundary haze pollution” Vietnam+ July 6, 2022 (https://en.vietnamplus.vn/asean-strengthens-concerted-efforts-to-fight-transboundary-haze-pollution/232271.vnp)

[2] Roadmap on ASEAN Cooperation towards transboundary haze pollution control with means of implementation. p. 31 ข้อมูลจากแห่งอื่น เช่น Noppachai Fongisara, Watcharabon Buddharaksa “ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution Management in Mainland Southeast Asia” Asia Social Issues Vol.15 No. 6 (2022) November-December p.5 บอกว่า เม็ดเงินเริ่มต้นนั้นมีเพียง 50,000 ดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น

[3] “Fire Free Village Program helps communities, environment in Riau” Jakarta Globe August 1, 2018 (https://jakartaglobe.id/press-release/fire-free-village-program-helps-communities-environment-riau)

[4] “Building healthy community with Fire-Free Village Program” Jakarta Post April 4, 2017 (https://www.thejakartapost.com/adv/2017/04/04/building-healthy-communities-with-fire-free-village-programme.html)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save