fbpx
รัฐ: ต้นตอของเฮทสปีช

รัฐ: ต้นตอของเฮทสปีช

สนิทสุดา เอกชัย เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

คนที่บอกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ ชอบทำบุญทำทาน นั่งสมาธิ สวดมนต์ได้เป็นชั่วโมงๆ น่าจะเป็นคนมีเมตตา แต่ทำไมพอมีใครพูดหรือทำอะไรที่ขัดกับสิ่งที่ตนรักเทิดทูนบูชา กลับแปลงร่างเป็นยักษ์มารในโลกออนไลน์ได้ทันที

ไม่ใช่แค่ด่าสาดเสียเทเสีย แช่งให้บรรลัย ไสหัวให้ออกไปจากเมืองไทย แต่ยังสนับสนุนให้ทำร้ายคนที่ตนคิดว่าเป็นศัตรูของชาติ เห็นพ้องกันว่าควรกำจัดให้สิ้นซาก

กรณีล่าสุดคือปรากฏการณ์สมน้ำหน้า ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่โดนลอบทำร้ายระหว่างเดินกลับบ้าน ถากถางเยาะเย้ยว่าเป็นการสร้างฉาก หรือกรณีการล่าแม่มด ชักชวนกันไปตบนักการเมืองพรรคอนาคตใหม่ พรรณิการ์ วานิช เพราะหมั่นไส้เธอเหลือกำลัง

ช่วยกันปลุกผีทักษิณยังไม่พอ ยังพากันปลุกผีคอมมิวนิสต์ ใครที่ต้านเผด็จการทหารก็หาว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มเจ้า

ย้อนยุคกันอย่างหนัก อยากจะย้อนไปถึงสมัยไหนกันนี่ แต่ที่แน่ๆ จีนคอมมิวนิสต์แบบยุคสงครามเย็นหมดสมัยไปแล้ว มีแต่จีนเผด็จการทุนนิยมที่เป็นมหาอำนาจใหม่ของโลก จีนที่รัฐไทยซูฮกจนแทบไม่เหลือศักดิ์ศรี แต่ก็ยังคงปลุกผีคอมมิวนิสต์ให้เกลียดชังฆ่าฟันกันต่อเพราะต้องการทำลายคนต้านเผด็จการ

ถึงไม่คิดจะฟังใครทักท้วง  ก็น่าจะหยุดฟังสมเด็จพระสังฆราชบ้าง

เมื่อวันอาสาฬหบูชาที่ผ่านมา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรมมุ่งตรงไปที่นักรบคีย์บอร์ด เฮทสปีชทั้งหลายที่ปลุกปั่นให้เกลียดชังกัน กระตุ้นความรุนแรงต่อกัน โดยทรงเรียกการกระทำนี้ว่าเป็นการประพฤติชั่วทางวาจา หรือ ‘วจีทุจริต’

จากส่วนหนึ่งของพระโอวาท:

“ในสังคมที่มีบุคคลหลายหมู่คณะอยู่ร่วมกัน มีผู้คนเจรจาติดต่อกันผ่านอุปกรณ์การสื่อสารอันรวดเร็วและง่ายดายขึ้นนั้นย่อมทำให้ ‘วจีทุจริต’ หรือการประพฤติชั่วทางวาจาปรากฏขึ้นอย่างกว้างขวาง 

“ทั้งนี้ คำเท็จ คำหยาบ คำส่อเสียดและคำเพ้อเจ้อเหลวไหล ล้วนเป็นต้นเหตุใหญ่ของความวิวาทบาดหมาง ความขุ่นเคืองและความคลางแคลงใจกัน

“เพราะฉะนั้นจึงขอสาธุชนทุกท่าน อาศัยดิถีอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาที่มาบรรจบถึงเป็นโอกาสทบทวนจิตใจและตั้งปณิธานว่าจะดำเนินชีวิตด้วย ‘ปิยวาจา’ พูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน จริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ เพื่อความผาสุกร่มเย็นของตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคมประเทศชาติสืบไป”

สรุปก็คือ ทรงขอให้หยุด หยุดประพฤติชั่วทางวาจาด้วยประการทั้งปวง ให้พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ด้วยถ้อยคำที่สุภาพ จริงใจ และต้องเป็นประโยชน์ เหมาะกับกาลเทศะ  ถ้าไม่เกิดประโยชน์หรือก่อให้ความแตกร้าวก็ให้ละเสีย

ทำอย่างนี้ถึงจะถือว่าเป็นประโยชน์แก่ชาติ

ถ้ายังคงสร้างเรื่องเท็จต่อไป หรือส่งต่อเรื่องเท็จโดยไม่ตรวจสอบเพราะความรักความชังของตน เพราะอคติ เพราะความกลัว กระพือความเกลียดชัง ความรุนแรงให้แพร่หลายไปในสังคม การประพฤติชั่วทางวาจานี้ไม่ใช่แค่ทำให้จิตของตนมีมลทิน ยังทำร้ายสังคม ทำร้ายชาติอีกด้วย

พระโอวาทนี้เหมาะกับกาลเวลาเป็นอย่างยิ่ง ทรงเตือนสติบ้านเมืองที่มีแต่ความแตกแยกเกลียดชังกันให้หยุดประทุษวาจา แต่ไม่ทราบว่าจะมีคนหยุดใคร่ครวญและทำตามสักกี่คน ช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นเวลาชาวพุทธควรต้องสำรวมกายวาจาใจ แต่โลกออนไลน์ก็ยังดุเดือดด้วยเฮทสปีชเช่นเดิม และผู้บริหารระดับชาติก็ยังคงโป้ปดมดเท็จ กลั่นแกล้งคู่แข่งทางการเมืองไม่หยุดหย่อน

เวลาพูดถึงศีลที่เกี่ยวกับวาจา เรามักจะคิดถึงแค่การละเว้นการพูดเท็จเท่านั้น ความเข้าใจแบบนี้มีปัญหามาก เพราะเมื่อเรากล่าววาจาเชือดเฉือนด้วยความโกรธ นินทา หรือกล่าวประทุษวาจา ไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือในโลกออนไลน์ เราก็มักจะเข้าข้างตนเองว่าไม่ผิดอะไร เพราะไม่ใช่เรื่องเท็จ เป็นเรื่องจริง ทำไมจะพูดไม่ได้

ต้องถามว่า ที่ว่าเป็นเรื่องจริงนั้น จริงหรือ หรือเป็นสิ่งที่ตนเองคิดว่าจริง และอะไรเป็นแรงขับเคลื่อนให้เชื่อว่าจริง เราไร้อคติแน่หรือ หรือเต็มไปด้วยความโกรธความเกลียด เมื่อความเชื่อที่ผูกกับอัตตาของตนโดนท้าทาย

ความเชื่อว่าแรงมาต้องแรงไปแบบนี้ เป็นวิถีพุทธหรือ

และก็ต้องถามต่ออีกว่า ที่อ้างว่าต้องออกมาปกป้องไม่ให้ศาสนาอื่นมากลืนศาสนาพุทธนั้น แท้จริงแล้วเข้าใจและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ขนาดไหน

แก่นของศาสนาพุทธที่สำคัญอย่างยิ่งอันหนึ่งคือการไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ในเรื่องสัมมาวาจา จึงไม่ได้กำหนดแค่ไม่ให้โกหก แต่ให้ละการทำร้ายผู้อื่นด้วยวาจา การพูดจาข่มขู่ ดูถูก เสียดสี แบ่งแยก นินทาว่าร้าย แม้กระทั่งพูดเพ้อเจ้อ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านผู้นำทำทั้งนั้น) เพราะการกระทำเหล่านั้นเป็นการเติมไฟความโกรธความเกลียดชังในใจ กระพือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนให้แข้งกล้าขึ้นไปอีก ถือเป็นการทำร้ายทั้งตนเองและผู้อื่น

การเลือกสิ่งที่จะพูด เวลาที่จะพูดก็สำคัญ ถ้าเป็นเรื่องจริง แต่ยังไม่ถึงเวลา พูดไปก็ไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ควรพูด หรือเป็นเรื่องจริงแต่ทำให้บาดหมางกัน ก็ควรละเว้นเช่นกัน

แต่ถ้าเป็นเรื่องจริง มีประโยชน์ สมควรแก่เวลา ถึงแม้ตนเองอาจจะได้รับผลกระทบ ก็ต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะทำความจริงให้ปรากฏ และก็ทำด้วยความปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง

ในความสัมพันธ์ระดับบุคคลนั้น การเน้นการสำรวมทางวาจาเป็นเรื่องสำคัญ เจ็บกายยังมีวันหาย แต่ความเท็จและวาจาเชือดเฉือนนั้นมันทำลายชีวิต ทำร้ายจิตใจคนที่ถูกกระทำ ให้เจ็บลึกเจ็บนานอาจถึงวันตายเลยทีเดียว

แต่สำหรับการแก้ไขปัญหาประทุษวาจาในสื่อ ไม่ว่าจะออนไลน์ออฟไลน์ การเน้นสัมมาวาจาในระดับบุคคลไม่เพียงพออย่างแน่นอน

เฮทสปีชที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมนั้น มาจากความคิดความเชื่อที่เป็นผลของการหล่อหลอมทางสังคมอย่างเป็นระบบ เป็นความตั้งใจของรัฐให้เกิดความเชื่อนั้นๆ เป็นต้นว่าสอนให้เชื่อว่าประเทศไทยเป็นของคนเชื้อชาติไทยที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น จึงเกิดความเชื่อว่ามุสลิม ชาวเขา หรือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นคนแปลกหน้า เป็นภัยต่อความมั่นคง จำเป็นต้องจัดการเพื่อความปลอดภัยของประเทศชาติ

แต่ความเชื่อที่รัฐสร้างขึ้นนี้เหล่าเป็นความเท็จ ดินแดนด้ามขวานนี้ไม่ได้เป็นที่อยู่ของเผ่าไทเท่านั้น แต่เป็นบ้านของชาติพันธุ์หลากหลายมาแต่โบราณ เชื้อชาติบริสุทธิ์ก็ไม่มีจริงในโลกนี้ การที่ระบบการศึกษาของรัฐสอนให้เชื่อว่าประเทศนี้เป็นดินแดนพุทธของเชื้อชาติไทยเท่านั้น จึงทำเกิดความเชื่อผิดๆว่าคนไทยชาวพุทธเป็นเจ้าของดินแดน และเป็นใหญ่กว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศ ปัญหาการแบ่งแยก การเอารัดเอาเปรียบ ความไม่ยุติธรรมต่างๆ จึงตามมาเป็นกระบวน

และจะปฏิเสธได้อย่างไรว่า หน่วยปฏิบัติการทางจิตวิทยาของรัฐนั่นแหละ ที่มีส่วนสำคัญในการปั่นเฮทสปีชในโลกออนไลน์ ใส่ไคล้ให้คนเข้าใจผิดและเกลียดชังคนที่ต้านเผด็จการทหาร เลยเถิดไปถึงการใส่ร้ายว่าไม่จงรักภักดีกับสถาบันเพียงเพื่อจะขจัดคู่แข่งทางการเมือง

จะต้านทานเฮทสปีชได้ก็ต้องให้รัฐหยุดสร้างกระแสคลั่งชาติที่ตั้งอยู่บนความเท็จ และหยุดการส่งต่อความเท็จไปล้างสมองเยาวชนรุ่นแล้วรุ่นเล่าจากระบบการศึกษาและสื่อ

สถาบันศาสนาก็ต้องหลุดออกมาจากความอหังการ์ว่าเป็นใหญ่กว่าศาสนาอื่น ต้องเป็นอิสระจากความกลัวว่าจะต้องสูญเสียสถานะของตน สั้นๆ ก็คือต้องเริ่มปฎิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ให้พ้นจากโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่อ้างศาสนาเพื่อคงอำนาจของตน

ส่วนผู้ที่คลั่งสถาบันก็ควรตั้งสติ ต้องถามตนเองว่ากำลังรักษาหรือทำลายสถาบัน การหวั่นไหวจากผู้ที่คิดต่างจนต้องใช้ความรุนแรงตอบโต้ทั้งทางกฎหมายและการทำร้ายทางร่างกายนั้น สะท้อนความกลัวที่ไร้เหตุผล และยังสะเทือนต่อภาพพจน์ของสถาบันอีกด้วย แล้วยังจะทำต่อเพียงเพื่อตอบสนองอัตตาและโทสะของตนเองหรือ

ถ้าเป็นชาวพุทธจริงจังอย่างที่อ้าง ก็น่าควรจะรู้ว่าต้องทำอย่างไร

ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์โดนพราหมณ์ผู้หนึ่งจาบจ้วง ด่าทออย่างหยาบคาย พระองค์ทรงนิ่งด้วยอุเบกขา เมื่อพราหมณ์เหนื่อยจนหยุดด่า จึงทรงถามว่าเมื่อใครเอาอะไรมาให้เรา แต่เราไม่รับไว้ ของนั้นจะเป็นของใคร พราหมณ์ตอบทันทีว่าก็เป็นของคนที่เอาของเหล่านั้นมานั่นแหละ

แล้วเราจะรับโทสะจากสิ่งที่เราไม่พอใจมาเป็นยาพิษในใจทำไม จะนำมาเป็นเหตุให้ก่อกรรมต่อทำไม

ชาวพุทธควรตระหนักว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรมคือการดำรงอุเบกขาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่โต้ตอบกับสิ่งที่มากระทบหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ อุเบกขาเป็นการหยุดการวงล้อของกรรม เป็นการสร้างสันติในใจอย่างถาวร

แต่ก็นั่นแหละ ความเป็นจริงก็คือสังคมนี้เป็นพุทธแต่ลมปาก ดังนั้นไม่ว่าใคร ถ้ากระตุ้นให้เกิดการทำร้ายกัน ก็ต้องถือว่าผิดกฎหมาย และเมื่อการประพฤติชั่วทางวาจาเกิดอย่างเป็นระบบเช่นนี้ ก็ต้องแก้ไขระบบอำนาจด้วย ซึ่งหมายความว่าปัญหาความประพฤติชั่วทางวาจานี้ ไม่สามารถแก้ได้เพียงการสั่งสอนให้คนถือศีล

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023