fbpx
Happy เมียฝรั่งกับอีสานที่ขาดหาย

Happy เมียฝรั่งกับอีสานที่ขาดหาย

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

Happy (2016) เป็นสารคดีชีวิตส่วนตัวของผู้กำกับที่เริ่มต้นในวันที่มีโปสการ์ดของพ่อส่งมาจากประเทศไทย

“ลูกรัก…พ่อสบายดี พ่อได้กินผัดไทยกับเบียร์ช้าง และเจอผู้หญิงคนหนึ่งอายุเท่าๆ ลูก …รัก…พ่อ”

‘เซ็กส์ทัวร์’ เป็นคำที่ คาโรลิน เกนไรท์ (Carolin Genreith) ผู้กำกับสาวในวัย 30 นึกถึงหลังได้รับโปสการ์ดแผ่นนั้น ภาพชายแก่จูงมือสาวสวยชาวไทยไปตามถนนในกรุงเทพฯ ซ้อนทับขึ้นมากับใบหน้าของ ‘พ่อ’ แล้วคำถามต่างๆ ก็พรั่งพรู

หลังแยกทางกับแม่ พ่อของคาโรลินมาเมืองไทยทุกปีเพื่อพักผ่อนครั้งละหลายอาทิตย์ บางครั้งก็มากับเพื่อนที่เป็นพ่อม่ายวัยเกษียณ เพื่อกอบโกยช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิต

ในฐานะลูกสาว คาโรลินสามารถโยนโปสการ์ดนั้นทิ้งลงลิ้นชักแล้วปิดตายได้ แต่ในฐานะคนทำหนัง คาโรลินเลือกที่จะถ่ายสารคดีชีวิตตัวเอง เผชิญหน้ากับเรื่องราวที่เธอไม่แม้แต่จะอยากบอกกับเพื่อนสนิท

สารคดีเรื่องนี้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ภาษาเยอรมันกลางแจ้ง (Open Air Kino 2019) ที่สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ซึ่งคัดเลือกภาพยนตร์ยุโรปมาจัดฉายทุกวันอังคารไปจนถึง 5 มีนาคม 2019 ส่วนเรื่อง Happy คาโรลินบอกว่ามีการทำดีวีดีออกมาสำหรับคนที่พลาดชมการฉายตามเทศกาล

Happy ไม่ใช่สารคดีชีวิตส่วนตัวเรื่องแรกของเธอ ก่อนหน้านี้มีเรื่อง Dancing with Bellies (2013) ที่คาโรลินไปตามถ่ายแม่ตัวเองกับงานอดิเรกใหม่คือการเต้นระบำหน้าท้อง ขณะที่ใน Happy แทบไม่ได้พูดถึงแม่หรือพี่น้องของเธอเลย นั่นเป็นการเลือกของเธอเองที่จะไม่ให้หนังเรื่องนี้ไปกระทบชีวิตส่วนตัวคนอื่นเพิ่มเติม ยกเว้นแต่พ่อและตัวเธอเองที่เต็มใจออกมาอยู่หน้ากล้อง

ดีเตอร์ (Dieter Genreith) พ่อของคาโรลินอาศัยอยู่นอกเมืองในทางตะวันตกของเยอรมนี ในบ้านไม้เพดานต่ำ เตรียมตัวเกษียณ ทำฟาร์มเป็นงานอดิเรก มีเพื่อนคุยเป็นหมูกับไก่ที่เลี้ยงไว้รอเชือด วันหยุดจึงไปเรียนภาษาไทยกับพระที่วัดไทยและดื่มกับเจ้าของร้านอาหารไทย อันเป็นสังคมที่รายล้อมด้วยชายสูงวัยชาวเยอรมันที่ต้องการหาภรรยาชาวไทย

พ่อของเธอเป็นคนเปิดเผย เสียงดัง ช่างเอะอะ ชอบเล่นมุกตลก เป็นบุคลิกแบบที่เด็กสาวจะรู้สึกอายเมื่อพ่อปรากฏตัว แต่ด้วยบุคลิกแบบนี้ทำให้ดีเตอร์เป็นคนชัดเจน ไม่คิดซับซ้อนนัก และตอบตกลงทันทีที่ลูกสาวบอกว่าจะทำหนังเกี่ยวกับเขา

หนังเรื่องนี้เริ่มถ่ายเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ขณะที่ความสัมพันธ์ของพ่อและ ‘ตุ๊กตา’ เริ่มจริงจังขึ้น หลังคบกันมา 3 ปี มีการไปเยี่ยมเยียนที่ไทยเป็นครั้งคราว พูดคุยผ่านโทรศัพท์และมีการโทรปลุกทุกเช้า โดยพ่อของเธอส่งเงินไปให้ใช้อย่างสม่ำเสมอ จนคิดว่าหากจะทำให้ความสัมพันธ์นี้จริงจังขึ้น เขาจะต้องแต่งงานตามที่ฝ่ายหญิงต้องการตั้งแต่ปีแรก

หญิงสาวในวัย 30 บุคลิกดี มีพลัง มุ่งมั่นกับการงาน ไม่เข้าใจว่าการอยู่คนเดียวในวัย 60 จะกลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของพ่อถึงขนาดที่ต้องไปหาใครก็ไม่รู้มาอยู่ด้วย บทสนทนาสะท้อนให้เห็นความไม่ราบรื่นในความสัมพันธ์ของครอบครัว อาจเป็นเรื่องเจ็บปวดของลูกสาวที่ได้ยินพ่อบอกว่า อยากหาใครสักคนมาใช้เวลาร่วมกัน ทั้งๆ ที่ผ่านมาพ่อแทบไม่ให้เวลากับครอบครัวเลย

Happy Film

“พอบอกว่าจะแต่งงานกับผู้หญิงไทยที่อายุน้อยกว่ามาก ใครๆ ก็ต้องคิดว่าเธอถูกซื้อมา”

ดีเตอร์ยอมรับซื่อๆ ว่าเขาเหงา คนอายุ 60 ไม่ได้แปลว่าจะไม่ต้องการความรัก เขาเพียงแค่อยากหาคนมาใช้ชีวิตร่วมกัน ผู้หญิงสักคนที่คอยหัวเราะมุกตลกของเขา ที่ผ่านมาดีเตอร์ลองพูดคุยกับหญิงเยอรมันรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่พวกเธอบอกว่าเขา ‘แก่เกินไป’ บางคนแปลกใจที่พบว่าเขากินเนื้อสัตว์ และยิ่งดูเลวร้ายเมื่อพบว่าเขาเป็นคนฆ่ามันเองด้วย

สองพ่อลูกเดินทางมาไทยเพื่อจัดแจงเรื่องการแต่งงาน จากคนที่เคลื่อนไหวตลอดเวลาในฟาร์มที่บ้านตัวเอง เมื่อมาที่ภูเวียง จ.ขอนแก่น ดีเตอร์เป็นคนแก่ที่นั่งเฉยๆ บนเก้าอี้พลาสติกสีสดใสในอากาศร้อนอบอ้าว แวดล้อมด้วยสิ่งที่เขาจะหาไม่ได้ในเยอรมนี คือ ความสงบ ครอบครัว และผู้หญิงคนหนึ่งที่หัวเราะไปกับมุกตลกของเขา

ตุ๊กตาแก่กว่าคาโรลินแค่ปีเดียว แต่ดูเป็นผู้ใหญ่กว่าเธอมาก เธอเคยทำงานร้านอาหารบนเกาะทางใต้และงานโรงงานในกรุงเทพฯ เพื่อส่งเงินมาให้ตายายที่คอยดูแลลูกชายวัย 12 ผู้ไม่แม้แต่จะจำหน้าพ่อของตัวเองได้ การแต่งงานกับชาวต่างชาติที่สามารถเลี้ยงดูเธอและครอบครัวได้ เป็นความหวังที่จะก้าวไปให้พ้นความลำบากในชีวิต

สารคดีมุ่งตั้งคำถามไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนที่คล้ายสร้างข้อแลกเปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตทั้งคู่มีความสุข และได้พบพื้นที่สีเทาในความแตกต่างทางวัฒนธรรม

ที่ผ่านมาการแต่งงานของหญิงไทยกับชายชาวต่างชาติมักถูกมองผ่านสังคมไทยและฝ่ายหญิง คาโรลินในฐานะครอบครัวฝ่ายชาย สะท้อนความหวาดหวั่นถึงสิ่งที่ได้ยินว่ามักเป็นความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นจากเงิน และไม่เข้าใจถึงเหตุผลที่ฝ่ายชายต้องกลายเป็นผู้เลี้ยงดูคนทั้งครอบครัว

เมียฝรั่ง

“แต่งงานกับสาวไทยแล้วเหมือนแต่งงานกับทั้งครอบครัวเธอด้วย”

ประโยคคลาสสิกถูกพูดซ้ำในหนังจากปากของชาวต่างชาติที่สร้างบ้านอยู่ในภูเวียง หลังแต่งงานกับสาวไทยมาหลายปี เขาเริ่ม ‘ถอดใจ’ และคิดจะไปใช้ชีวิตที่อื่น เมื่อเจอความต้องการจากครอบครัวฝ่ายหญิงที่ไม่สิ้นสุด

เรื่องของตุ๊กตาหรือคนอื่นในภูเวียงไม่สามารถทำให้มองอย่างเหมารวมได้ แต่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านทางอีสานที่กลายสภาพเป็นหมู่บ้านเขยฝรั่ง เมื่อลูกสาวแต่งงานกับชาวตะวันตก ก็มักจะสร้างบ้านหนึ่งหลังอยู่ในละแวกบ้านญาติพี่น้อง และถูกคาดหวังให้ช่วยส่งเงินเลี้ยงดูคนในครอบครัว

สิ่งนี้ถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมการเลี้ยงดูพ่อแม่และอยู่รวมเป็นครอบครัวใหญ่ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมลุกลามมาถึงชีวิตคู่ของคนสองคน เมื่อทางเลือกในชีวิตถูกครอบครัวเข้ามามีบทบาทช่วยตัดสินใจแทน จนฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นตู้เอทีเอ็ม และรับไม่ได้ที่คนอื่นจะเดินเข้ามาในบ้านแล้วเปิดตู้เย็นหยิบของกินเสียเฉยๆ

พี่สาวของตุ๊กตาก็มีชีวิตไม่ต่างกัน เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเดินทางไปทำงานในเมือง ส่งเงินกลับมาให้ตายายเลี้ยงลูกแทน โดยคาดหวังถึงการยกระดับชีวิตที่จะทำให้ครอบครัวถูกเติมเต็ม

หมู่บ้านที่ขาดคนหนุ่มสาว เหลือคนสูงวัยและเด็กที่เติบโตมาโดยไม่มีพ่อแม่เคียงข้าง ไม่ใช่สภาพที่ใครอยากให้เกิดขึ้น แต่อาชีพเดิมของครอบครัวอย่างการทำนา ไม่ทำให้เลี้ยงชีพได้จริง เหลือเป็นกิจกรรมในครอบครัวที่ทำให้ลูกหลานได้มาช่วยกันเกี่ยวข้าว

ดีเตอร์วางแผนว่าหลังแต่งงานจะย้ายไปอยู่ที่เยอรมันและกลับมาไทยเป็นครั้งคราวให้ตุ๊กตาได้เจอหน้าลูก

“คนไทยเขาให้คนเฒ่าคนแก่เลี้ยงลูกอยู่แล้วนี่”

คำตอบอันสั่นสะเทือนจากดีเตอร์ที่พูดในสายตาคนนอก ไม่ใช่ว่าคนไทยทุกครอบครัวจะทิ้งลูกไว้ให้คนแก่ที่บ้านเลี้ยง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกว้างขวางโดยเฉพาะสังคมชนบท

การแต่งงานทำให้ตุ๊กตาต้องไปจากอีสาน จากลูกไปไกลกว่าเดิม ในเงื่อนไขที่ว่าสามารถส่งเสียลูกได้ไม่ลำบากอย่างแต่ก่อน และมีเวลากลับมาอยู่กับลูกมากกว่าเดิม พร้อมความหวังว่าสามีจะสร้างบ้านบนผืนแผ่นดินที่ครอบครัวเธอจัดเตรียมไว้ให้ และกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเธอ

บนพื้นที่ซึ่งถูกตั้งคำถามมากมายนี้ ไม่ได้ทำให้คาโรลินถ่ายทอดออกมาด้วยความรู้สึกแย่ แต่เป็นการสำรวจลงไปในความไม่เข้าใจ แล้วโยนคำถามกลับมาถึงรูปแบบของ ‘ความรัก’ และ ‘ความสุข’ ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่สังคมคาดหวัง

ความคิดในช่วงต้นของคาโรลินเป็นมุมมองจากคนนอกที่มีต่อหญิงไทยที่มาแต่งงานกับฝรั่งวัยเกษียณ ชื่อของ ‘ตุ๊กตา’ เป็นเพียงการเรียกแทนผู้หญิงที่เข้ามาสร้างข้อแลกเปลี่ยนทางความสัมพันธ์กับพ่อของเธอ นอกจากเสียงที่ได้ยินผ่านโทรศัพท์แล้วเราจะแทบไม่ได้รู้จักเธอเลย แต่เมื่อเรื่องขยับมาสู่การค้นหาคำตอบในเมืองไทย ทำให้ได้มองเห็น ‘ตุ๊กตา’ ที่มีตัวตนจริงๆ เห็นผู้หญิงที่มีชีวิตจิตใจ เห็นแววตา รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ แม้ว่าเรื่องทั้งหมดจะเล่าผ่านมุมมองของลูกสาวที่พ่อกำลังจะแต่งงานใหม่ แต่ก็พอให้ได้สัมผัสแง่มุมในจิตใจของตุ๊กตาผ่านบทสนทนาไม่กี่ประโยค

หญิงสาวที่นำตัวเองเข้ามาสู่ความสัมพันธ์ที่มีข้อแลกเปลี่ยนอย่างตุ๊กตา ก็มีความเสี่ยงและความคาดหวังไม่ต่างจากดีเตอร์ที่ต้องการกำจัดความโดดเดี่ยวของชีวิต

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์ย่อมมีความคาดหวังในความสัมพันธ์ไม่ว่าจะในรูปแบบใด อย่างน้อยที่สุดหากจะมีใครสักคนเดินเข้ามาในชีวิต ก็สร้างความหวังว่าความสัมพันธ์ครั้งนี้ควรทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าตอนอยู่คนเดียว

ความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นด้วยการแลกเปลี่ยนไม่ได้หมายความถึงความไม่จริง ความสุขที่ใช้เงินแลกก็ไม่ได้เป็นสิ่งจอมปลอมเสมอไป เช่นเดียวกับที่ไม่ได้มีอะไรการันตีว่าการแต่งงานกับฝรั่งจะเจอคนรวย ชีวิตสุขสบาย ไม่สร้างประสบการณ์เลวร้ายอย่างการทำร้ายร่างกาย ขณะเดียวกันหญิงไทยก็ไม่ได้มีแต่คนสยบยอมตามสามีหรือคอยเอาอกเอาใจอย่างที่หวัง

ทุกคนแค่ลองเสี่ยง ออกจากชีวิตเดิมไปสู่ชีวิตใหม่ที่ให้ความหวังได้มากกว่า

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save