fbpx

ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล: โอกาสและความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจปลายด้ามขวาน

เมื่อเอ่ยถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ – ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส หลายคนคงมีภาพจำของเหตุการณ์ความรุนแรง ควันระเบิด ทหาร และความสูญเสีย ซึ่งเป็นภาพที่ถูกฉายซ้ำๆ บนหน้าสื่อทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ และเป็นเช่นนี้มาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว จนดูเหมือนว่าประเด็นด้านความมั่นคงที่หมุนวนอยู่กับเรื่องทางทหารจะบดบังทั้งโอกาสและความท้าทายอื่นๆ ที่ยังรอวันสังคมไทยหันมาสนใจ

ปัญหาปากท้องเป็นหนึ่งในความท้าทายใหญ่ที่ทับซ้อนอยู่กับประเด็นความไม่สงบในพื้นที่ ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเผยให้เห็นว่า จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสติดอันดับจังหวัดที่ยากจนมากที่สุดในประเทศ 10 อันดับแรก ซึ่งเป็นอันดับที่ไม่ขยับเขยื้อนมานานกว่า 16 ปีแล้ว การยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องในพื้นที่สามจังหวัดให้กินดีอยู่ดี จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนไม่น้อยไปกว่าการจัดการความมั่นคง

แต่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ก็ไม่เคยสิ้นไร้ซึ่งความหวังและศักยภาพ ประวัติศาสตร์การเป็นเมืองท่าที่ติดต่อค้าขายกับนานาประเทศ ทำให้วัฒนธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดมีการผสมผสานทั้งความเป็นมลายู ไทย และจีน สังคมพหุวัฒนธรรมนี้เป็นวัตถุดิบชั้นดีที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้จากหลายเชื้อชาติ เช่นเดียวกับด้านการค้า ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสมีความพร้อมทั้งทรัพยากร โครงสร้างพื้นฐาน และกำลังคน ที่ต้องการโอกาสในการต่อยอดเพื่อนำความมั่งคั่งมาสู่บ้านเกิดเมืองนอนของตน

101 พาสำรวจแง่มุมด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เปิดพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ทางการค้าและการลงทุนในธุรกิจฮาลาล ทั้งภาคการผลิตสินค้าและบริการ ในโครงการนำคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิมเดินทางเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 25 – 27 กรกฎาคม 2566

คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิมขณะเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนบาราโหมบาร์ซาร์ จังหวัดปัตตานี | ภาพจาก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

ฮาลาล การกระจายอำนาจ และโอกาสทางเศรษฐกิจ

ทุกครั้งที่จับจ่ายอาหารจากร้านสะดวกซื้อ หลายคนคงเคยสังเกตว่าสินค้าหลายอย่างจะมีสัญลักษณ์ฮาลาล (Halal) ปรากฏอยู่ในส่วนของข้อมูลบรรจุภัณฑ์ ตราฮาลาลหมายความว่าขั้นตอนการผลิตสินค้าชิ้นนั้นๆ ได้มาตรฐาน และไม่ขัดต่อบัญญัติศาสนาอิสลาม แต่มาตรฐานฮาลาลไม่ได้ใช้กับเพียงสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างที่เราคุ้นเคย แต่หมายรวมไปถึงการบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล ซึ่งการรับรองมาตรฐานฮาลาลในภาคส่วนนี้ยังไม่อยู่ในการรับรู้กระแสหลักมากนัก

สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ข้อมูลว่าประชากรกว่า 80% ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้วิถีปฏิบัติทั่วไปของคนในพื้นที่จึงอยู่ในกรอบศาสนาอยู่แล้ว นี่จึงเป็นจุดแข็งของภูมิภาคชายแดนใต้ในการเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการตามมาตรฐานฮาลาล จนเกิดเป็นแนวนโยบายจากภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้เป็น ‘ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล’ (Halal Economic Corridor: HEC) เพื่อเชื่อมไทยเข้ากับประเทศกลุ่มมุสลิม ที่มีประชากรรวมกันกว่า 1,600 ล้านคน และคาดว่าจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนแตะ 2,000 ล้านคนในอนาคต

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวครอบคลุมไปยังพื้นที่ 4 จังหวัด 4 อำเภอ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอเทพา จะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย โดยมีการกำหนดกรอบการพัฒนาในโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ จุดบนสุดคืออำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ผลักดันโรงงานเกษตรแปรรูป จุดซ้ายล่างคืออำเภอเบตง จังหวัดยะลา ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และฝั่งขวาล่างคืออำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่ที่ชูการค้าชายแดนระหว่างประเทศ

จากข้อมูลการค้าชายแดนของไทยกับเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ โดยสภาพัฒน์ การค้าชายแดนกับประเทศมาเลเซียมีมูลค่าการค้าสูงที่สุด โดยในปี 2561 มีมูลค่าถึง 571,928 ล้านบาท พื้นที่ชายแดนเหล่านี้จึงเป็นชัยภูมิสำคัญในการผลักดันสินค้ามาตรฐานฮาลาลออกสู่โลกมุสลิม

“ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลเป็นโอกาสสำหรับพี่น้องชายแดนใต้ทุกคน ไม่ใช่แค่ชาวมุสลิม จะคนพื้นที่ไหนหรือนับถือศาสนาอะไรก็ดำเนินการได้หมด เพราะคำว่าฮาลาลคือได้มาตรฐานตามหลักศาสนาอิสลาม ไม่ได้ผูกขาดว่าผู้ประกอบการต้องเป็นมุสลิมเท่านั้น” สมเกียรติขยายความว่าเศรษฐกิจฮาลาลคือโอกาสของประชาชนทุกกลุ่ม

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันความริเริ่มทางเศรษฐกิจนี้ไปได้สุดทาง คือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้เข้าถึงการรับรองมาตรฐานฮาลาลทำได้สะดวกและมีต้นทุนในการเข้าถึงต่ำ ในขณะที่การรักษามาตรฐานยังต้องเป็นไปตามหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัด สมเกียรติกล่าวว่าปัจจุบันการขอตรารับรองฮาลาลทำได้ผ่าน 2 ช่องทาง คือ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และได้มีการปรับเปลี่ยนให้สามารถขอได้จากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอีกช่องทาง การเข้าถึงการรับรองมาตรฐานได้ในพื้นที่ โดยไม่ต้องมุ่งตรงเข้าสู่เมืองหลวงเพียงช่องทางเดียว ทำให้ผู้ประกอบการสนใจที่จะยื่นขอการรับรองมาตรฐานมากขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายไม่สูง สิ่งนี้สะท้อนให้เราเห็นว่าการกระจายอำนาจคือหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่น

สิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการรักษาคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานที่คงเส้นคงวา จังหวัดชายแดนใต้มีมหาวิทยาลัยที่พร้อมจะเผยแพร่องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ. ปัตตานี) มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อีกทั้งมีบทบาทในการผลิตกำลังคนให้สามารถเป็นฟันเฟืองสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล

ปัจจุบัน ม.อ. ปัตตานี โดยคณะวิทยาการอิสลาม ได้เปิดหลักสูตรการจัดการระบบกิจการฮาลาล (Halal System Management) โดยมุ่งป้อนกำลังคนเข้าสู่สถานประกอบการในพื้นที่ ที่ ม.อ. ปัตตานี ยังมีการผลักดันองค์ความรู้ด้านการบริการใหม่ๆ เช่น สปาฮาลาล ที่มุ่งตอบสนองความต้องการรับบริการด้านสุขภาพจากนักท่องเที่ยวประเทศมุสลิม การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่จึงเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการพัฒนา

สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี | ภาพจาก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

ใบเหลือง IUU x โควิด : ฝ่าวิกฤต คืนชีวิตให้อุตสาหกรรมสามจังหวัด

อุตสาหกรรมประมงและการแปรรูปอาหารทะเลเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลต้องการผลักดันให้เป็นอุตสาหกรรมเรือธง โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดเดิม คือ ยุโรปและตะวันออกกลาง และขยายตลาดใหม่ ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เผยว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.โรงงานทั้งสิ้น 522 โรงงาน โดยมีเงินลงทุนกว่า 26,000 ล้านบาท และมีแรงงานราว 16,000 คน โดยโรงงานที่มีจำนวนมากที่สุดคืออุตสาหกรรมอาหาร ทั้งนี้จำนวนโรงงานที่เหลืออยู่คือผู้มีชีวิตรอดจากการเผชิญ 2 มรสุมใหญ่

มาลี ทองเกลี้ยง อุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของโรงงานมากในสุดในกลุ่ม 3 จังหวัดให้ข้อมูลกับ 101 ว่า มรสุมลูกแรกคือการให้ใบเหลืองการทำประมง IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) โดยสหภาพยุโรป แก่ประเทศไทยในปี 2558 ทำให้รัฐบาลไทยต้องเพิ่มมาตรฐานการทำประมง ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายปรับตัวได้ไม่ทัน การทำประมงซบเซา และส่งผลต่อการจ้างงานในที่สุด

อีกทั้งเรือทำประมงพาณิชย์ไทยจำนวนมากได้ย้ายไปจดทะเบียนกับรัฐบาลมาเลเซียเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้แบบไม่สะดุด สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจน้อยใหญ่ที่เคยอยู่ได้จากการมีเรือมาเทียบท่า เช่น ธุรกิจต่ออุตสาหกรรมซ่อมเรือและต่อเรือ มาลีกล่าวว่าแม้จะมีการปลดใบเหลืองแล้ว แต่ธุรกิจเหล่านี้ยังไม่สามารถกลับมาอยู่ในระดับก่อนจะมีประเด็น IUU ได้

“เมื่อก่อนจะมีเรือจากต่างชาติ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เข้ามาจอดซ่อม พอมี IUU ก็หายกันไปเยอะ เขาเลือกจะไปจอดที่มาเลเซียแทน จากประมาณ 4,000 ลำต่อปีที่มาจอดซ่อม เดี๋ยวนี้เหลือแค่ราวๆ 1,000 ลำ” มาลีกล่าว

หลังปลดใบเหลือง IUU ได้เพียง 1 ปี ก็เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ในครั้งนี้ไม่เพียงกระทบธุรกิจที่เกี่ยวกับประมง แต่กระทบกับทุกอุตสาหกรรม มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทำให้โรงงานเปิดดำเนินงานต่อไม่ได้ แรงงานขาดรายได้ ในกลุ่มแรงงานพลัดถิ่นจากพื้นที่อื่นและแรงงานข้ามชาติมีการย้ายกลับถิ่นฐานจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังร้านค้าและผู้ประกอบการรายย่อยที่เคยขายสินค้าและบริการให้กับแรงงานเหล่านี้

การย้ายออกของแรงงานต่างถิ่น ทำให้แรงงานที่เหลืออยู่ในภาคการผลิตปัจจุบันนี้เป็นคนในพื้นที่ทั้งหมด มาลีให้ข้อมูลที่น่าสนใจขณะเยี่ยมชมเขตอุตสาหกรรมบานา จังหวัดปัตตานีว่า แรงงานในโรงงานราว 90% ของที่นี่เป็นผู้หญิงมุสลิม ซึ่งมีบทบาทในการทำมาหากินเพื่อช่วยจุนเจือครอบครัวไม่ต่างจากผู้ชาย

แม้วิกฤตทั้งสองจะคลี่คลาย แต่ยังมีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่รอโอกาสกลับเข้าสู่การจ้างงาน มีผู้ประกอบการที่อยากกลับเข้าสู่ตลาด แต่ยังขาดทุนดำเนินการ คนในพื้นที่เองก็คาดหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีนโยบายดึงดูดนักลงทุนและอำนวยความสะดวกให้การดำเนินธุรกิจในพื้นที่ 3 จังหวัด

มาลีกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่รอวันถูกปลดล็อก เช่น ธุรกิจแช่แข็งอาหาร ที่นักลงทุนคนไทยยังมีน้อย ซึ่งควรถูกผลักดันไปพร้อมกับการส่งออกเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ปรากฏอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล ปัจจุบันมีนักธุรกิจชาวมาเลเซียมาร่วมลงทุนในธุรกิจดังกล่าวบ้างแล้ว และคาดหวังว่าการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียจะทำให้พื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ได้มีโอกาสต้อนรับนักลงทุนหน้าใหม่เพื่อเข้ามาเติมเต็มความหลากหลายให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่นี้มากขึ้น

Community Based Tourism: กระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างคนให้เข้มแข็ง

หลังมีการเปิดประเทศ ภาคการท่องเที่ยวของแต่ละพื้นที่ต่างงัดกลยุทธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภายในและต่างประเทศ สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สถิตินักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกทางด่านพรมแดนสะเดา เบตง และสุไหงโกลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปีที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังเผยว่าเพียงครึ่งปีแรกของปี 2565 นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติมาเยือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนในท้องที่กว่า 215 ล้านบาท

ความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่ 3 จังหวัดคือ การท่องเที่ยวโดยชุมชน (community based tourism) ซึ่งเป็นช่องทางกระจายรายได้สู่ชุมชนและสร้างความเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ให้คนในสังคม

บาราโหมบาซาร์ คือวิสาหกิจชุมชนตำบลบาราโหม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ที่เคยปรากฏอยู่ในหน้าสื่อหลายสำนักเมื่อช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ในฐานะวิสาหกิจที่มีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในยุคที่โลกเคลื่อนสู่ออนไลน์

สิรินทิพย์ ทองศรีจันทร์ พัฒนากรตำบลบาราโหม ให้ข้อมูลว่าบาราโหมบาซาร์ ก่อตั้งขึ้นผ่านโครงการ OTOP นวัตวิถี ที่มุ่งยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้สูงขึ้น และเปิดตลาดใหม่เพื่อสร้างช่องทางการขายที่กว้างขึ้น พื้นที่ตำบลบาราโหมเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สืบค้นถึงความเป็นมาได้ตั้งแต่ 400 กว่าปีที่แล้ว โดยเป็นที่ตั้งของสุสานราชินี 3 พี่น้อง และยังมีการขุดพบเศษกระเบื้องโบราณตั้งแต่ยุคที่มีการค้าขายกับจีนในสมัยอยุธยา เหล่านี้คือทุนทางวัฒนธรรมในการรังสรรค์หัตถกรรมท้องถิ่น

แรกเริ่มมีการแกะสลักบล็อกไม้ที่มีลวดลายความเป็นมลายูเพื่อพิมพ์ผ้าบาติก ต่อมาได้ขยายสู่การจำหน่ายอาหารท้องถิ่น เช่น นาสิอีแดกำปง อาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นที่นำมาจัดวางบนใบตอง สิรินทิพย์ยังเสริมว่าปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจบาราโหมขยายไปยังภาคบริการ โดยจำหน่ายแพ็กเกจสำหรับท่องเที่ยวเพื่อศึกษาธรรมชาติและวิถีชีวิตริมอ่าวปัตตานี

เมื่อเกิดวิกฤตโควิด บาราโหมบาซาร์ปรับเปลี่ยนไปขายผลิตภัณฑ์ผ่านโซเชียลมีเดีย มีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่คือหน้ากากผ้าลวดลายมลายู ในช่วงนั้นมียอดสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้มากถึงเดือนละ 100,000 บาท ทำให้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างผ้าบาติกได้รับความสนใจไปด้วย จนถึงปัจจุบันนี้ยอดสั่งซื้อผ้าบาติกยังคงหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของบาราโหมบาร์ซาร์ | ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Barahom Barzaar

ก๊ะอามีเน๊าะ พูดคุยกับเราขณะกำลังแต่งแต้มสีสันและลวดลายลงบนผืนผ้าสีขาวที่ยังว่างเปล่า เธอเพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกของบาราโหมบาร์ซาร์ได้ราว 2 เดือน ก่อนหน้านี้เธอทำงานร่วมกับศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ ที่ดูแลโดย ม.อ. ปัตตานี อามีเน๊าะเล่าว่าสำหรับหญิงที่ก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างเธอ การได้ออกมาทำงานทำให้รู้สึกมีคุณค่าและคลายความเหงา เพราะในหมู่บ้าน คนหนุ่มสาวมักจะย้ายไปทำงานในเขตเมือง หากเป็นผู้ชายก็มักจะไปออกเรือ การได้มาวาดลายผ้าบาติกช่วยให้เธอมีรายได้เสริม เป็นอีกทางที่จะช่วยจุนเจือครอบครัว

ไม่ว่าจะธุรกิจขนาดใหญ่ในเขตอุตสาหกรรม หรือสถานประกอบการรายย่อยในระดับชุมชน เสี้ยวเสียงจากผู้คนที่เราได้พูดคุยด้วยกำลังบอกเราว่าคนในพื้นที่สามจังหวัดยังคาดหวังการสนับสนุนและนโยบายที่สอดรับกับบริบทในพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสและกระจายความเจริญสู่ดินแดนนี้ การสร้างงานจะช่วยดูดซับความยากจนได้อย่างยั่งยืน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และหนุ่มสาวไม่ต้องจากบ้านไปหางานทำต่างถิ่น ซึ่งการจะเดินไปสู่จุดนั้นทุกภาคส่วนควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจของคนในพื้นที่ เพราะไม่มีใครรู้จักพวกเขาได้ดีกว่าพวกเขาเอง

อย่างไรก็ตาม ปลายด้ามขวานแห่งนี้ยังมีหลากหลายประเด็นที่เราไม่มีโอกาสได้ค้นหาในระหว่างการเดินทางครั้งนี้ แม้จะยังอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ และสถานการณ์ความรุนแรงยังไม่สงบ แต่เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่จะเบ่งบานได้มากกว่านี้ในเร็ววัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save