fbpx
Gender Identity หนึ่งเรื่องไม่น่ายินดีในวันรับปริญญา

Gender Identity หนึ่งเรื่องไม่น่ายินดีในวันรับปริญญา

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ไม่นานมานี้ ฉันมีโอกาสได้เป็นหนึ่งในบัณฑิตผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่ามกลางเทศกาลแห่งความยินดี ความวุ่นวายก็เกิดขึ้นกับบัณฑิตใหม่แทบทุกคน ทั้งการตระเวนเช่าชุด ซื้อเครื่องแต่งกายให้ถูกระเบียบ ไปจนถึงเฟ้นหาช่างแต่งหน้าแปลงโฉมฝีมือดี

แต่ในความโกลาหลที่น่าปลื้มใจนี้ ฉันอดไม่ได้ที่จะคิดถึงเพื่อนบางคน ที่น่าจะเจอกับความลำบากใจมากกว่าฉัน นั่นคือเพื่อนผู้มีเพศวิถีอันหลากหลาย Transgender ทอม กะเทย หรือมนุษย์คนใดก็ตามที่ถูกจัดให้แยกออกจากชายและหญิง ซึ่งเป็นเพศสภาพที่ใช้กำหนดการแต่งกายและระเบียบอื่นๆ ในงานรับปริญญา

ฉันพบว่าหากเพื่อนบัณฑิตเหล่านี้ต้องการจะแต่งกายตามเพศวิถีของตนเอง กล่าวคือเพศกำเนิดเป็นชาย แต่ต้องการใส่ชุดบัณฑิตหญิง หรือเพศกำเนิดเป็นหญิงแต่ต้องการใส่ชุดบัณฑิตชาย ขั้นตอนดำเนินการของพวกเขาไม่น่ายินดีสมกับความสำเร็จของชีวิตอย่างที่ควรจะได้รับ

“มหาวิทยาลัยหลายแห่งระบุขั้นตอนการแต่งกายตามเพศวิถีในวันรับปริญญา ให้นักศึกษาต้องขอใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันเพศสภาพ หากจะระบุให้ชัดขึ้น ฉันกำลังหมายถึงคำรับรองจากจิตแพทย์ เพื่อยืนยันว่าตัวตนของพวกเขาต่างไปจากเพศกำเนิด พวกเขาจะถูกระบุว่าเป็น Gender Identity Disorder ซึ่งคำไทยเลือกจะแปลให้อ้อมค้อมห่างไกลจากคำว่าโรคหรือผิดปกติ (Disorder) โดยใช้คำว่า อัตลักษณ์ไม่ตรงกับเพศกำเนิด”

ในทุกๆ ปี ความยินดีอาจดังกลบเสียงของเพื่อนๆ ที่ไถ่ถามถึงสิทธิและความเท่าเทียมของตัวเอง โอกาสนี้ฉันจึงขอยกพื้นที่ของบทความนี้ให้กับความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม ผ่านเรื่องราวและความรู้สึกของนักศึกษาบางส่วน ดังต่อไปนี้

 

ปริ๊นซ์ บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน : เข้ารับปริญญา

ปริ๊นซ์ บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน : เข้ารับปริญญา

ปริ๊นซ์เล่าที่มาที่ไปของขั้นตอนการขอแต่งกายวันรับปริญญาตามเพศวิถีว่า เคยมีปีนึงที่นักศึกษายื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัย โดยเอาใบรับรองแพทย์มายืนยันว่าป่วยทางจิตเพื่อให้ได้ใส่ชุดบัณฑิตผู้หญิง หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยก็เลยใช้ระเบียบนั้นเป็นต้นมา เป็นเหมือนมาตรฐานสำหรับคนที่มีอัตลักษณ์ไม่ตรงตามเพศกำเนิด

แต่ขณะที่ปริ๊นซ์ทำงานอยู่ที่มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ทำให้ปริ๊นซ์เรียนรู้ว่าคนที่สมควรจะเป็นผู้ยืนยันเพศสภาพให้เราได้มากที่สุด ก็คือตัวของเราเอง เพราะนี่คือสิทธิในความเป็นมนุษย์ของเรา

ปริ๊นซ์ยังเล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในวันรับปริญญาว่า

“ในวันซ้อมรับปริญญา เราก็แต่งหน้าของเราไปสวยๆ แต่แต่งกายด้วยชุดบัณฑิตชาย ตอนที่เข้าแถวเพื่อไปถ่ายรูปรวม เราตัวสูงที่สุดและได้อยู่หน้าแถว ขณะที่เดินนำเพื่อนๆ ไป ก็มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่เป็นคนคอย flow แถว ใช้โทรโข่งพูดกับนักศึกษาว่า “ให้เดินตามเพื่อนคนที่สวยๆ ไปเลยครับ โอ้โห สวยจริงๆ” ตอนนั้นเราก็พยายามทำให้สถานการณ์ปกติ ด้วยการพูดกับเขาว่า “ขอบคุณค่ะ”

“เพื่อนตุ๊ดคนที่อยู่ข้างหลังเราพูดว่า เขาล้อเล่นหรือเปล่า เราก็ตอบไปขำๆ ว่าเราสวยจริงๆ ซึ่งพอเจ้าหน้าที่คนนั้นได้ยินเรา เขาก็พูดใส่โทรโข่งอีกว่า “สวยจริงๆ สวยเหมือนผู้หญิงที่ขี้เหร่ที่สุดเลย” ณ ตรงนั้นคนก็ขำกัน มีทั้งคนในคณะเราและคณะอื่นๆ ด้วย จริงๆ ตอนนั้นเราก็ยังขำๆ นะ ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก แต่ประเด็นคือเขายังไม่หยุด”

“เขาเอาโทรโข่งมาพูดใส่หน้าเราว่า “เฮ้ย แปลงเพศหรือยัง ผ่าหรือยัง” เราไม่ได้ตอบอะไรกลับไป เริ่มไม่ตลกแล้ว แล้วเขาก็พูดมาอีกว่า “สภาพอย่างนี้คงยังไม่แปลง”

“ระหว่างที่กำลังจะถ่ายรูป เรายืนอยู่กับผู้ชายอีก 8 คน เพราะเขาจะแยกหญิงชาย ในจังหวะนั้นทุกคนอยู่ในบรรยากาศจริงจัง ยืนตัวตรงเตรียมถ่ายรูป แต่อยู่ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งวิ่งมาหาเราพร้อมกับพูดว่า “น้องคนนั้นน่ะ ติดตะขอชุดครุยด้วย” (นักศึกษาหญิงจะต้องติดตะขอบนสุดของชุดครุย – ผู้เขียน) เราก็งงเพราะว่า ระเบียบบอกว่าไม่ต้องติดตะขอ เพื่อนผู้หญิงที่อยู่ไม่ไกลกันมากเหมือนจะเข้าใจสถานการณ์ก่อน ก็หันมาบอกเราว่าไม่ต้องติด ไม่ต้องทำตาม สุดท้ายเจ้าหน้าที่เขาก็พูดออกมาว่า “อ๋อ นึกว่าเป็นผู้หญิงเลยจะให้ติดตะขอ”

ปริ๊นซ์กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้พูดเพราะคิดอย่างนั้นจริง เพราะในแถวที่ปรินซ์ยืนเป็นแถวของผู้ชาย และตัวปรินซ์ก็แต่งเครื่องแบบชายมา “เรารู้สึกเสียเซล์ฟมากๆ และตกใจมาก เรารู้ว่าเขาแค่หยอกเล่นนั่นแหละ เราสังเกตแล้วว่าเจ้าหน้าที่คนนี้เป็นคนชอบพูดเล่น ไม่ได้มีเจตนา เพียงแต่ว่าตอนนั้นเขาเจาะจงมาที่เพศของเรา แล้วยังพูดใส่โทรโข่งเสียงดัง ท่ามกลางคนจำนวนมาก มีทั้งอาจารย์ อธิการบดี และเพื่อนคณะอื่น”

“ด้วยความที่นักศึกษามหาวิทยาลัยของเราหลายคนไม่ซีเรียสกับการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร คือไม่เข้ารับก็ได้ ที่ผ่านมานักศึกษาข้ามเพศซึ่งไม่สามารถแต่งกายตามต้องการ ก็เลือกที่จะไม่เข้ารับ และอาจจะไม่ได้มีใครพยายามจะเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือระเบียบมากนัก นอกจากนั้นก็ยังมีปัจจัยที่ว่า ในงานนี้มีหน่วยงานข้างนอกเข้าร่วมด้วย ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ระเบียบยังเป็นแบบนี้อยู่”

เมื่อเราถามปริ๊นซ์ว่าหากคนรอบข้างไม่เข้าใจ และมองเรื่องการแต่งกายตามเพศวิถีเป็นเรื่องยุ่งยาก ทำนองว่า “ใส่ๆ ไปก็จบ ทำไมต้องเรียกร้องด้วย” ปริ๊นซ์จะอธิบายกับผู้คนเหล่านั้นอย่างไร ซึ่งปริ๊นซ์ได้ยกตัวอย่างความจำเป็นของการที่ทุกคนควรได้แสดงออกตามเพศวิถี ผ่านเหตุการณ์ของคนที่รู้จัก

“เพื่อนเราคนหนึ่งนางเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่โตมาเพื่อนคนนี้พยายามจะเป็นผู้หญิง และผ่านหนทางยาวนาน ทั้งกระบวณการยอมรับตัวเอง และการทำให้ครอบครัวและคนรอบข้างยอมรับ จนกระทั่งทุกวันนี้ผู้คนปฏิบัติกับนางเหมือนผู้หญิงคนนึงอย่างไม่มีการเลือกปฏิบัติแล้ว แต่ในวันรับปริญญา วันที่ทุกคนควรจะได้ภูมิใจ ยินดี นางกลับถูกเรียกโดยใช้คำนำหน้านามว่า นาย ซึ่งในกรณีนี้นางได้แต่งเครื่องแบบหญิงด้วยนะ คิดดูสิ กว่านางจะยอมรับตัวเอง กว่าเพื่อนและครอบครัวจะยอมรับ เรามองว่ามันเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ยังโดนละเมิดอยู่”

“เรื่องนี้ควรเปลี่ยนที่นโยบายไปเลย ดีกว่าจะมานั่งเปลี่ยนเฉพาะตัวบุคคล หลายคนบอกว่า ให้ใส่ๆ ไปเถอะวันเดียวก็จบ แต่เราว่า เปลี่ยนนโยบายครั้งเดียวก็จบเหมือนกัน เปลี่ยนแค่ครั้งเดียวแต่หลังจากนั้นทุกคนจะได้รับรองสิทธิอย่างเท่าเทียม”

“อย่างที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ออกประกาศเรื่องการแต่งกายของนักศึกษาที่มีอัตลักษณ์ไม่ตรงตามเพศกำเนิด ให้ทุกคนเลือกแต่งตามสิ่งที่ตัวเองเป็นได้เลย โดยไม่ต้องแจ้งหรือทำเรื่องกับมหาวิทยาลัย ขอให้เป็นเครื่องแบบถูกระเบียบก็พอ นอกจากนั้นก็ยังประกาศให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยต้องไม่ละเมิดสิทธิ และปฏิบัติกับนักศึกษาทุกเพศอย่างเท่าเทียม ครอบคลุมไปถึงการไม่กลั่นแกล้ง ดูถูก และกดขี่ “

วิว บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : เข้ารับปริญญา

วิว บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : เข้ารับปริญญา

ในวันน่าปลื้มปิติอย่างวันรับปริญญา วิวสวมชุดบัณฑิตหญิง ใบหน้าปราศจากเครื่องสำอาง ในท่าทีที่ไม่ร้อนรีบอย่างนักศึกษาหญิงคนอื่น วิวได้เล่าความอึดอัดให้ฟังว่า

อย่างแรกที่รู้สึกคืออึดอัดทางกายภาพ คือใส่ชุดนักศึกษาหญิงก็รู้สึกอึดอัดอยู่แล้ว ในวันเรียนปกติเราก็ไม่เคยใส่ชุดนักศึกษาผู้หญิง ยกเว้นสอบ แต่พอต้องมาใส่ชุดนักศึกษาหญิง มีชุดครุยคลุม ในอากาศแบบนี้ก็ทำให้อึดอัดมากขึ้น และแม้จะได้แต่งชุดนักศึกษาชายก็คงจะอึดอัดอยู่ดี เลยไม่ได้คิดจะทำเรื่องขอแต่งกายตามเพศวิถี”

“ส่วนขั้นตอนขอแต่งกายตามเพศวิถี การต้องไปขอใบรับรองแพทย์มันเกินเบอร์มาก แต่เราก็คิดว่ามันอาจจะเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่มหาวิทยาลัยจะทำอะไรได้”

ฮอล บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : ไม่เข้ารับปริญญา

ฮอล บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : ไม่เข้ารับปริญญา

แม้ฮอลจะมาที่งานรับปริญญาแต่เธอไม่ได้เข้ารับเช่นคนอื่น ฮอลดำเนินการยื่นคำขอใส่ชุดบัณฑิตตามเพศวิถีตรงตามข้อกำหนดทั้งหมด ถึงอย่างนั้นในท้ายที่สุด เธอกลับตัดสินใจไม่เข้ารับ เพราะไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่บีบให้เธอกลายเป็นคน ‘ผิดปกติ’ ฮอลในชุดบัณฑิตหญิง ปล่อยผมยาวพริ้ว ใบหน้าแต้มรอยยิ้มเล่าให้ฉันฟังว่า

“ถ้าเราจะรับปริญญาโดยใส่ชุดบัณฑิตหญิง เราต้องทำเรื่องกับคณะโดยเอกสารที่ต้องใช้ก็คือ ใบรับรองแพทย์จากจิตแพทย์ เป็นใบรับรองเดียวกับที่เราใช้ตอนเกณฑ์ทหาร ซึ่งจะระบุว่าเรามีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ในใบจะระบุว่าเป็นโรค Gender Identity Disorder”

ในระยะที่มีการเกณฑ์ทหาร ฮอลเล่าว่า เธอบอกจิตแพทย์เพียงแค่ว่า ‘ตรวจโรคเกณฑ์ทหารค่ะ’ เท่านี้จิตแพทย์ก็พอรู้อยู่แล้วว่าเธอมาทำไม

“เราก็เป็นคนปกติ แต่กลับต้องไปหาใครสักคนมายืนยันว่าเราไม่ปกติ เพื่อจะได้ใส่ชุดตามเพศวิถีที่เราใส่อยู่เป็นปกติ จริงๆ ไม่เห็นจะต้องใช้ใบรับรองแพทย์ในการที่จะเลือกว่าเราจะใส่ชุดอะไรเลย แค่แจ้งเฉยๆ ก็น่าจะจบแล้ว พอกระบวนการเป็นแบบนี้เราถึงกับต้องลางานมาทำเรื่อง ในขณะที่เพศหญิงชายไม่เห็นต้องทำอะไร มารับปริญญาก็แต่งตัวมาได้เลย”

นอกจากนั้นฮอลบอกกับฉันว่า ขั้นตอนการขอแต่งกายตามเพศวิถีไม่ใช่สิ่งเดียวที่สร้างความลำบากให้กับเธอ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องคำนำหน้านามที่คอยตีกรอบทุกอย่างอีกด้วย

“วันรับปริญญา บัณฑิตจะต้องมีบัตรติดหน้าอกที่มีรูปบัณฑิตอยู่ มหาวิทยาลัยเริ่มให้ใช้แอปพลิเคชั่นสำหรับส่งรูปบัณฑิต โดยแอปจะมีภาพชุดครุยมาให้อัตโนมัติ เราแค่ใส่รูปหน้าตรงของเราลงไปมันก็จะตัดต่อให้เสร็จสรรพ ปรากฏว่าพอ log in โดยใช้รหัสนักศึกษา แอปก็ประมวลผลอัตโนมัติตามบัตรนักศึกษาว่าเรามีคำนำหน้านามเป็นชาย ภาพครุยที่ขึ้นมาก็เป็นแบบผู้ชาย ไม่ยอมให้ใส่ชุดบัณฑิตหญิง เราก็ยังส่งรูปไปนะ แต่เพราะปล่อยผมยาวเลยไม่ผ่าน  ไม่นานมหาวิทยาลัยก็ตีกลับมาว่า บัณฑิตชายต้องผมสั้น ผูกเนกไทเท่านั้น เพราะคำนำหน้าเป็นนาย สุดท้ายเราเลยตัดสินใจไม่ส่งรูป และไม่เข้ารับปริญญา แม้จะทำเรื่องจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว”

“เราเคยต้องถ่ายรูปในชุดผู้ชายมาแล้วครั้งนึงตอนทำบัตรนักศึกษา ไม่อยากใส่หรอก แต่ตอนนั้นยังผมสั้นเลยไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมาก แต่ตอนนี้จะให้กลับไปใส่ชุดผู้ชายมันไม่ได้แล้ว”

“การที่เราแต่งชุดนักศึกษาหญิงมาตลอด 4 ปี แต่ต้องมาวุ่นวายในวันสุดท้ายของการเป็นนักศึกษา ด้วยเหตุผลเรื่องคำนำหน้านาม เป็นอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลเลยสำหรับเรา”

พิม บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : เข้ารับปริญญา

พิม บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : เข้ารับปริญญา

ฉันรู้จักกับพิมมาตั้งแต่เรายังเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง ภาพจำของพิมที่ฉันมีคือเพื่อนที่ทะมัดทะแมง พิมมักอยู่ในชุดกางเกง ไม่เคยมีสักครั้งที่จะไม่สะท้อนความเป็นตัวเองให้ใครเห็น แต่ในวันรับปริญญาที่ผ่านมา ฉันพบกับพิมในชุดนักศึกษาหญิง ในขณะหนึ่ง ใบหน้าของพิมฉายความไม่มั่นใจเล็กน้อย ซึ่งพิมให้เหตุผลกับฉันว่า

“การแต่งกายแบบบัณฑิตหญิงทำให้รู้สึกไม่เป็นตัวเองเท่าไหร่ เพราะปกติไม่ใส่กระโปรงเลย ตั้งแต่เข้าเรียนมา ปี1 ยันปี 4 นี่คือการใส่กระโปรงครั้งแรกของเรา ตอนสอบเราก็ยังใส่ชุดนักศึกษาผู้ชายเลยด้วยซ้ำ ถามว่าใส่ได้ไหมมันก็พอได้ เพราะว่ามีชุดครุยคลุมทำให้ดูไม่เห็นอะไรมาก ส่วนรองเท้าก็ใส่ผ้าใบไปก่อน พอเข้าหอประชุมก็ค่อยเปลี่ยนเป็นคัทชูเอา”

พิมยังเล่าอีกว่า ที่ไม่ได้ดำเนินเรื่องขอแต่งกายตามเพศวิถีเป็นเพราะเหตุผลเรื่องครอบครัว

“จริงๆ ถ้าที่บ้านโอเค ไม่แน่ว่าเราอาจจะทำเรื่องขอใส่ชุดครุยแบบผู้ชาย แต่ด้วยความที่ทางบ้านไม่ได้เปิดรับขนาดนั้น บางคนก็ค่อนข้างหัวโบราณด้วย เราเลยพยายามบอกตัวเองว่าไม่เป็นไรหรอก ครั้งนี้ครั้งเดียว”

“ตอนแรกเราก็ไม่รู้เลยว่าถ้าจะต้องใส่ชุดนักศึกษาผู้ชายจริงๆ ต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง ไม่รู้สึกว่าได้รับการอธิบายข้อมูลเรื่องนี้มากขนาดนั้น และพอรู้ขั้นตอนปุ๊บก็คิดว่า ถ้าถึงกับต้องไปหาจิตแพทย์เพื่อระบุว่าเราเป็นอะไรมันเกินไปหน่อย ถ้าต้องทำแบบนั้นขอยอมใส่กระโปรงแล้วกัน”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save