fbpx
‘ท่าเตียน’ กับความเป็นไทย : จากร้านโชห่วยรุ่นสุดท้าย ถึงนิทรรศการใหม่ในมิวเซียมสยาม

‘ท่าเตียน’ กับความเป็นไทย : จากร้านโชห่วยรุ่นสุดท้าย ถึงนิทรรศการใหม่ในมิวเซียมสยาม

 เกตน์สิรี น้อมระวี เรื่อง

“แม่ค้าหน้านวล                เคยนั่งเรือด่วนสายบ้านแพ

ไยหลบหน้าตาหนีแฟน     เห็นเรือด่วนแล่นคิดถึงเธอ

เคยฝากจดหมาย             นายท้ายเรือให้เสมอ

พี่หลงคอยคอยน้องเก้อ    เฝ้าหลงคอยเธอท่าเตียนทุกวัน

 

นี่คือเพลง ‘แม่ค้าตาคม’ ที่คุณป้าเจ้าของร้านโชห่วยคนหนึ่งบอกให้เราลองไปหามาฟังดู ถ้าอยากเห็นวิถีชีวิตของผู้คนแถวนี้ เพลงที่เล่าถึงวิถีชีวิตของย่านท่าเตียนสมัยก่อน ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญของการค้าขายทางเรือ ความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นเมื่อผู้คนทำการติดต่อค้าขายกัน ดังเช่นในเนื้อเพลง

‘ท่าเตียน’ ทำเลทองของกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่บริเวณป้อมบางกอก หน้าด่านตรวจสินค้าที่มีอายุยาวนานกว่า 300 ปี ห่างออกไปไม่ไกลคือแม่น้ำเจ้าพระยาที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของการสัญจรในอดีต เป็นศูนย์กลางในการติดต่อค้าขาย มีตลาด ร้านค้าขายส่ง ร้านโชห่วย และโกดังจำนวนมาก นับเป็นย่านชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีกแห่งหนึ่งที่มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตัวเอง

 

 

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมและการค้าขายที่รุ่งเรืองในสมัยก่อน ปัจจุบันท่าเตียนกลายเป็นแลนด์มาร์คท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติและคนทั่วไปที่อยากสัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทย

ตึกแถวเก่าแก่ได้รับการบูรณะโดยยังคงลักษณะดั้งเดิมไว้ เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสความเป็นไทยในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่ร้านขายสินค้าพื้นเมือง ร้านอาหารไทยสไตล์โมเดิร์น ร้านขายยาแผนโบราณ ไปจนถึงอดีตร้านขายน้ำตาลปี๊บ สินค้าขึ้นชื่อของท่าเตียน ที่บัดนี้กลายมาเป็นโฮสเทลสุดชิคที่นำวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสานได้อย่างลงตัว

จุดขายอีกอย่างที่ได้รับความนิยมในย่านนี้ คือร้านอาหารหรูและคาเฟ่ริมแม่น้ำ ที่เชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสทัศนียภาพอันงดงามของพระปรางค์วัดอรุณฯ

 

 

 

แม้วิถีชีวิตหลายอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ความเป็นท่าเตียนแบบดั้งเดิมยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง หนึ่งในนั้นคือร้านโชห่วยหลายร้านที่ยังคงสืบทอดกิจการมาจนถึงปัจจุบัน

คุณลุงจำลอง สันติชัยกูล เจ้าของร้านโชห่วย ‘รุ่งเรืองพานิชย์’ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนท่าเตียนเคยเป็นตลาดผลไม้และของสดที่ใหญ่ที่สุดในย่านพระนคร ถ้าบ้านไหนไม่ขายของสด ก็จะเปิดเป็นร้านโชห่วย พูดง่ายๆ ว่าใครอยากได้อะไรก็ต้องมาหาซื้อที่นี่

“เดี๋ยวนี้มีแต่ร้านอาหารกับโรงแรม อีกไม่เกิน 5 ปีก็คงเปลี่ยนไปหมดแล้ว ต่อไปคงกลายเป็นธุรกิจท่องเที่ยวหมด ร้านโชห่วยก็เริ่มหมดไป เพราะคนรุ่นใหม่เขาไม่เอาแล้ว”

เมื่อความเจริญคืบเข้ามา แน่นอนว่าทุกคนต้องปรับตัว และความเปลี่ยนแปลงก็ใช่ว่าจะเลวร้ายเสมอไป

“แต่วิถีชีวิตก็ไม่เปลี่ยนไปเท่าไหร่นะ คนเก่าคนแก่ก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม การมีนักท่องเที่ยวมาก็ดี สมัยก่อนจอแจเพราะการค้าขาย ตอนนี้กลายเป็นเรื่องท่องเที่ยวแทน…”

 

 

เดินเลยจากร้านของคุณลุงจำลองมาไม่ไกล มีร้านโชห่วยอีกร้านตั้งอยู่บริเวณริมน้ำ เจ้าของร้านคือคุณป้าพฤษชาติ สุขธรรมสถิต ผู้ใช้ชีวิตอยู่กับกิจการร้านโชห่วยมาตั้งแต่เกิด

คุณป้าเล่าให้เราฟังในทำนองเดียวกันว่า อนาคตร้านโชห่วยคงลดลงไปเยอะ ขึ้นอยู่กับลูกหลานว่าจะทำต่อหรือไม่ คุณป้ามองว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา และเสน่ห์ของท่าเตียนในปัจจุบัน คือการผสมผสานกันระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่

“สวนดอกไม้จะสวย ต้องมีหลายสี และต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ร้านอาหารยุคใหม่อาจดูมีสีสัน แต่ร้านโชห่วยก็ยังมีเสน่ห์ในแบบของมัน” คุณป้าพูดพร้อมรอยยิ้ม

เวลาเปลี่ยน วัฒนธรรมเปลี่ยน สิ่งที่เราพอจะสัมผัสได้จากการเดินสำรวจย่านท่าเตียนในช่วงเวลาสั้นๆ คือการปรับตัวเข้าหากันระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ และการปะทะกันของความหลากหลาย ทั้งในแง่ผู้คน วัฒนธรรม วิถีชีวิต ภายใต้กรอบกว้างๆ ที่เรียกว่า ‘ความเป็นไทย’ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีนิยามที่ตายตัว

 

 

อีกหนึ่งสถานที่สำคัญในย่านท่าเตียน ก็คือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ ‘มิวเซียมสยาม’ ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีนิทรรศการชื่อ ‘ถอดรหัสไทย’ นิทรรศการถาวรชุดใหม่ที่ชวนให้ทุกคนตั้งคำถามถึงความเป็นไทยในแง่มุมต่างๆ มีกำหนดเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2560 ที่จะถึงนี้

จากที่เราได้มีโอกาสเข้าร่วมชมนิทรรศการรอบพิเศษ พบว่ามีหลายส่วนที่น่าสนใจ ภายในนิทรรศการจะแบ่งเป็นห้องต่างๆ แต่ละห้องจะนำเสนอสิ่งที่สะท้อนความเป็นไทยที่แตกต่างกันไป เช่น ห้องที่ชื่อว่า ‘ไทยชิม’ ถูกออกแบบให้เป็น ‘ห้องครัวมีชีวิต’ โดยนำเทคโนโลยีคิวอาร์สแกนมาประยุกต์ใช้ ให้ผู้เข้าชมได้ลองตอบคำถามจากเมนูจานโปรดที่คุ้นเคย พร้อมโมชันกราฟิกที่บอกเล่าข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสนุก ชวนให้สงสัยไม่น้อยว่าอาหารไทยคืออะไรกันแน่

แม้แต่เมนูยอดฮิตอย่าง ‘ผัดไทย’ ก็อาจพูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นอาหารไทยจริงๆ

อีกห้องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือห้องที่ชื่อว่า ‘ไทยตั้งแต่เกิด’ ที่บอกเล่าพัฒนาการของความเป็นไทย ผ่านระบบ Module Hydraulic ที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกของประเทศ ไล่เรียงสิ่งที่เป็นหมุดหมายสำคัญในแต่ละยุคสมัย ทั้งศิลปะ ภาพยนตร์ สถาปัตยกรรม บุคคลสำคัญ และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์

หลายสิ่งที่ปรากฏในห้องนี้ดูมีความเป็นไทยในแบบที่เราคุ้นเคย แต่กับบางสิ่ง เราอาจไม่เคยรู้สึกมาก่อนเลยว่ามันมีความเป็นไทยซ่อนอยู่เหมือนกัน

 

 

 

โดยรวมแล้ว สิ่งที่นิทรรศการนี้พยายามสื่อสาร ก็คือการตั้งคำถามกับความเป็นไทย ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างอาหาร ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างศิลปวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็ปลุกเร้าให้เราอยากรู้ที่มาที่ไปว่าของไทยๆ แต่ละอย่างนั้น มันมีจุดเริ่มต้นมาจากไหน กระทั่งถูก ‘สร้าง’ ให้เป็นของไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ อย่างไร

ไม่แน่เหมือนกันว่า ในอนาคตอีก 30-40 ปี สยามสแควร์ที่เคยเป็นศูนย์กลางของการชอปปิงและความทันสมัย อาจกลายเป็นย่านเมืองเก่าที่สะท้อนวิถีชีวิตแบบไทยๆ สำหรับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ดังเช่นย่านท่าเตียนในปัจจุบัน และร้านสะดวกซื้อชื่อดังที่มีอยู่ทุกตรอกซอกซอย อาจกลายเพียงร่องรอยแห่งอดีต

ท้ายที่สุดแล้ว ความเป็นไทยอาจไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทของประเทศไทย ถูกให้คุณค่าและความหมายโดยคนไทย ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเก่าแก่หรือล้ำสมัยแค่ไหนก็ตาม.

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save