fbpx
Freeganism ขบวนการเก็บขยะเพื่อโลก

Freeganism ขบวนการเก็บขยะเพื่อโลก

คุณเคยได้ยินคำว่า Freegan ไหมครับ

ฟรีแกน มาจากคำว่า Free ผสมกับ Vegan แต่ถ้า Vegan คือคนที่กินแต่ผัก Freegan ก็คือคนที่ถ้าทำได้ ก็จะเลือกกินเลือกบริโภคแต่ ‘ของฟรี’

แต่ช้าก่อน ฟรีแกนไม่ใช่นักชักดาบแต่อย่างใด ฟรีแกนคือกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์บางอย่างอยู่ในตัว โดยอุดมการณ์ที่ว่า ก็คือการทำตัวเป็น ‘นักเก็บขยะ’ ที่มีเป้าหมายคือการ ‘ลด’ ของเสียจากโลกยุคใหม่ที่มีการบริโภคโน่นนั่นนี่เสียจนล้นเกิน

คุณอาจจะเคยเห็นห้างหรูๆ ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ซึ่งต้องขายแต่ของที่ ‘ดีเลิศ’ นะครับ ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นผักก็ต้องเป็นผักที่สดใหม่ ออร์แกนิค กรอบ ถ้าเป็นขนมปัง ก็ต้องอบเสร็จมาใหม่ๆ จะมาปล่อยให้หืนหรือทิ้งข้ามวันนั้นไม่ได้เป็นอันขาด

เพราะฉะนั้น ในเมืองใหญ่ๆ อย่างนิวยอร์กหรือซานฟรานซิสโก (รวมถึงเมืองอื่นๆ อีกหลายที่) ก็เลยจะมี ‘ขยะ’ เหลือทิ้งพวกนี้เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นของกินดีๆ ผักที่ช้ำนิดเดียว ขนมปังที่เกินเวลาขายมาสองนาทีแต่ยังหอมกรุ่น และอื่นๆ อีกมากมาย รวมไปถึงอาหารปรุงสำเร็จแล้วด้วย

ซึ่งพวก ‘ฟรีแกน’ เหล่านี้รู้สึก ‘รับไม่ได้’ ที่ต้องมาเห็นอาหารพวกนี้กลายเป็นขยะ

ด้วยเหตุนี้ ขบวนการ ‘ฟรีแกน’ จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1994 โดยผู้ก่อตั้งคือ คีธ แม็คเฮนรี่ (Keith McHenry) ซึ่งเอาเข้าจริงเขามีแนวคิดแบบอนาธิปไตยอยู่ในตัวด้วย รวมทั้งต่อต้านลัทธิทหาร (Militarism) ก็เลยไม่จำเป็นต้อง ‘แคร์’ กับกฎระเบียบอะไรมากนัก เช่นตามเมืองใหญ่ก็จะมีกฎห้ามคนไปคุ้ยขยะ เพราะการเก็บขยะเป็นหน้าที่ของเทศบาล การไป ‘คุ้ยขยะ’ (หรือที่เรียกว่า Dumbster Diving) อะไรทำนองนี้ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แล้วพวกห้างใหญ่ๆ ร้านอาหารหรูก็ไม่อยากให้ใครมาคุ้ยเขี่ยขยะของพวกเขาด้วย

ฟรีแกนค่อยๆ ขยายแนวคิดของตัวเองจนกว้างขวางขึ้น จากแค่เรื่องกินก็ไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น เวลากินก็ต้องขูดจานให้หมด (เรียกว่า Plate Scraping) เพื่อ ‘ช่วยชีวิตอาหาร’ ไม่ให้มันต้องกลายเป็นขยะ (แต่กลายเป็นอุจจาระในลำไส้ของเราแทน!) รวมไปถึงการเก็บ ‘ของป่า’ ในเมืองกิน เช่น แอปเปิ้ลในสวนสาธารณะ หรือการใช้พื้นที่ว่าง (ที่เจ้าของไม่ยอมมาใช้) ในการทำสวนปลูกผัก และใช้ระบบบาร์เตอร์หรือแลกสิ่งของกันในกลุ่ม เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้เงิน และบางครั้งก็ถึงขั้น ‘บุกรุก’ เช่นในนิวยอร์กจะมีตึกร้างหลายแห่งที่คนเหล่านี้จะเข้าไปอาศัยอยู่ เพื่อไม่ให้ตึกนั้นต้อง ‘เสียเปล่า’ ไป

คนที่เป็นฟรีแกนนั้นมีทุกกลุ่ม ตั้งแต่คนจนไปจนกระทั่งถึงคนที่ไม่ได้จน มีแม้กระทั่งคนที่ทำงานวิชาชีพต่างๆ เช่น วิศวกร สถาปนิก ฯลฯ เคยมีหนังสือบันทึกความทรงจำชื่อ The Glass Castle ของ Jeannette Walls เล่าถึงชีวิตของพ่อแม่เธอที่ไม่ได้ยากจน แต่เลือกใช้ชีวิตแบบนี้ ด้วยการไป ‘จับจอง’ พื้นที่บนตึกร้างร่วมกับคนอื่นๆ อีกหลายคน แล้วเมื่อเวลาผ่านไปตามกฎหมายกำหนด ก็ได้รับสิทธิครอบครองพื้นที่บนตึกนั้นจริงๆ

นิตยสาร Wired เคยไปสัมภาษณ์ แม็ตต์ มาโลน (Matt Malone) ที่เป็นฟรีแกน เขาเริ่มต้นชีวิตแบบนี้ตอนที่ไปทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นพนักงานระดับล่างที่ไม่รู้เรื่องในบริษัทเลย วันหนึ่งเขาได้ได้กล่องเอกสารความลับบริษัทที่ทิ้งแล้วมา แต่เขาพบว่าในกล่องนั้นมีเครื่องพรินเตอร์ที่บริษัททิ้งแล้ว ทั้งที่มันยังดีอยู่ เป็นเครื่องพรินท์ที่ยังไม่ได้แกะกล่องเสียด้วยซ้ำ เขาเลยคิดขึ้นมาได้ว่า ตัวเองน่าจะเจอ ‘สมบัติ’ อื่นๆ ในถังขยะได้อีกมาก

ด้วยเหตุนี้ เขาเลยค่อยๆ หันมาเป็นนักเก็บขยะตัวยง ในแต่ละปี เขาทำรายได้จากการ ‘คุ้ยขยะ’ ได้มากกว่าหนึ่งแสนเหรียญ

แถมยังบอกด้วยว่า ถ้าเขาทำงานเก็บขยะแบบเต็มเวลาจริงๆ เขาน่าจะมีรายได้อย่างน้อยๆ 250,000 เหรียญต่อปี ซึ่งเยอะมาก

เขาไม่ได้ทำงานนี้เพื่อเงินเท่านั้น เขามีความรู้สึกว่า การทำงานนี้เหมือนกับเป็น ‘นักโบราณคดี’ คือได้ขุดคุ้ยค้นหาสิ่งของต่างๆ ที่คนไม่ใช้แล้ว แล้วนำมาขายหากำไรมากกว่า

ในวันที่นิตยสาร Wired ติดตามเขาไปเก็บขยะ แม็ตต์เจอกล่องใส่กล้องวงจรปิดทั้งเซ็ต ซึ่งปกติราคา 419 เหรียญ เขาบอกว่าเจออะไรแบบนี้ทุกวัน ดังนั้น คุณูปการอย่างหนึ่งของแม็ตต์ก็คือ เขาทำตัวเป็นเหมือน Scavenger หรือ ‘สัตว์กินซาก’ ที่ช่วยกำจัดขยะ และนำสิ่งที่บางคนทิ้งกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ เขาจึงช่วยลดการสร้างสินค้าใหม่ๆ เพื่อการบริโภคได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่แม็ตต์กังวล ก็คือการนำระบบบดอัดขยะอัตโนมัติมาใช้ เพราะจะทำให้ขยะที่ยังดีๆ อยู่ต้องเสียหายไป

เหล่าฟรีแกนตั้งข้อสังเกตกันว่า Civilization’s Trash หรือ ‘ขยะแห่งอารยธรรม’ ที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น แสดงให้เราเห็นว่า ดูเหมือนเราจะไม่ได้ ‘ให้คุณค่า’ กับสิ่งที่ ‘มีคุณค่า’ กันอีกต่อไปแล้ว แต่เราเน้นเสพ ‘สัญญะ’ หรือความหมายของมันมากกว่า ด้วยเหตุนี้ ของที่ยังดีๆ อยู่ แต่ขาดความสามารถทางสัญญะ (เช่นขนมปังที่เลยเวลาขายแล้ว) จึงต้องถูกโยนทิ้งที่ยังบริโภคได้

ความหรูหราของวิถีชีวิตหรูหรามี ‘ต้นทุน’ ของมัน และต้นทุนเหล่านี้หลายเรื่องผูกโยงมาถึงระบบโลก สิ่งแวดล้อม และกระทั่งก๊าซเรือนกระจก

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ขบวนการฟรีแกนกำลังพยายามทำบางสิ่งเพื่อลด ‘ต้นทุน’ เหล่านั้น

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความ The Pro Dumpster Diver Who’s Making Thousands Off America’s Biggest Retailers ของ Randall Sullivan จาก Wired, February 3, 2015

-หนังสือ The Glass Castle

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save