fbpx
Free Solo : เมื่อความตายไม่ทำให้มนุษย์พ่ายแพ้เท่าการร่วงหล่น

Free Solo : เมื่อความตายไม่ทำให้มนุษย์พ่ายแพ้เท่าการร่วงหล่น

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

 

-1-

 

“ผมนี่ แค่ปีนต้นไม้ยังร่วงเลยครับ”

น้องชายมาดเข้มเปรยขึ้นห​ลังเดินออกจากโรง ความรู้สึกแปลบปลาบฝ่ามือยังไม่จาง เช่นเดียวกับภาพชายหนุ่มที่ร่วงจากหน้าผาสูงระดับหลายพันฟุตที่ยังติดตา

เอาเข้าจริง นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินคำว่า ‘Free Solo’ อันหมายถึงการปีนหน้าผาแบบไม่ใช้เชือก ไม่มีอุปกรณ์กันตกใดๆ มีเพียงสองมือสองเท้าที่ใช้ยึดเกาะและปีนป่าย ความผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย อาจหมายถึงการร่วงหล่นสู่ความตาย

อย่างที่น้องชายบอก เอาแค่ปีนต้นไม้ยังตก นับประสาอะไรกับการปีนผาหินความสูงเกือบหนึ่งกิโลเมตรที่แทบไม่มีอะไรให้ยึดเกาะ ไม่มีเบาะนิ่มๆ รองรับ

แค่คิดก็เข่าอ่อน ขอกางเต้นท์นอนนับดาวเพลินๆ ดีกว่า ไม่รู้จะเอาชีวิตไปเสี่ยงทำไม

แต่ถ้าลองไปถาม ‘อเล็กซ์ ฮอนโนลด์’ นักปีนผาที่หลงใหล Free solo เป็นชีวิตจิตใจ และเป็นตัวละครหลักในสารคดี ‘Free Solo’ ที่เพิ่งดูไปหมาดๆ เขาคงมองบน ยิ้มอ่อน พลางคิดในใจว่าถ้าคุณอยากจะนอนเต้นท์ ก็นอนไป แต่แน่ใจได้อย่างไรว่าการกางเต้นท์นอนดูดาวชิลล์ๆ จะเสี่ยงชีวิตน้อยกว่า การใช้ชีวิตแบบปกติธรรมดาไม่ได้แปลว่าคุณจะตายช้ากว่าเสมอไป

เหนืออื่นใด ถ้าหากคุณรู้ว่าวันใดวันหนึ่งก็ต้องตาย การปีนผาแบบ Free solo นี่แหละที่เปิดโอกาสให้คุณได้ทำความคุ้นเคยกับความตายมากขึ้น

 

-2-

 

หลังดูสารคดีเรื่องนี้จบ ผมพบว่ามีประเด็นที่กระทบใจตัวเองอยู่สองอย่าง

อย่างแรกคือความมุ่งมั่นในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแรงกล้า ในที่นี้คือการมุ่งพิชิตหน้าผาแบบ Free Solo ของอเล็กซ์ สารคดีพาเราไล่ย้อนที่มาที่ไปตั้งแต่เขายังเป็นเด็กติ๋มๆ มีคุณพ่อเป็นคนปลูกฝังการปีนป่าย ความห่างเหินในครอบครัวสร้างปมให้เขาตั้งแต่ยังไม่รู้เดียงสา มารู้ตัวอีกทีก็ค้นพบว่ารักการปีนผาเป็นชีวิตจิตใจ และความฝันยิ่งใหญ่ที่อยู่ในใจเสมอมาคือการพิชิต ‘เอล แคพิทัน’ ผาหินแกรนิตความสูงเกือบหนึ่งกิโลเมตร ด้วยการปีนแบบ Free solo ซึ่งยังไม่เคยมีมนุษย์คนไหนทำได้

พูดให้ตรงกว่านั้น คือยังไม่มีใครบ้าระห่ำพอที่จะทำ

ทว่าคนอีกกลุ่มที่บ้าระห่ำพอกัน คือทีมงานผู้ถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ นำโดยสองผู้กำกับ จิมมี่ ชิน และ อลิซาเบธ ไช ที่ตกลงปลงใจว่าจะบันทึกภารกิจเสี่ยงตายนี้ไว้ทุกกระเบียดนิ้ว อันหมายรวมถึงการเก็บภาพปลายนิ้วมือและเท้าที่เกาะเกี่ยวแง่งหินในระดับเซนติเมตร บนความสูงหลายพันฟุต และบนความเสี่ยงที่ว่าคนที่ถูกถ่ายอาจร่วงลงไปตายได้ทุกเมื่อ

แต่อย่างที่หลายคนทราบดีตั้งแต่ก่อนเข้าไปดูหนัง ว่าจุดจบของเรื่องนี้ไม่มีใครตาย และอเล็กซ์ ฮอนโนลด์ ก็สามารถพิชิตเอล แคพิทัน ได้สำเร็จ เช่นเดียวกับสารคดีเรื่องนี้ที่คว้าออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมปีล่าสุด ฉะนั้นหัวใจของหนังจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าอเล็กซ์และทีมถ่ายทำจะทำภารกิจสำเร็จหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าพวกเขาทำได้อย่างไร

ในพาร์ทของอเล็กซ์ สิ่งที่ทำให้ภารกิจที่ดูเป็นไปไม่ได้ สามารถเป็นไปได้ กระทั่งดูเหมือนง่ายดายกว่าที่คิด คือการมีวินัยในการฝึกฝน ฟิตร่างกายสม่ำเสมอ และทำการบ้านอย่างละเอียด

มีตอนหนึ่งที่เขาพูดถึงเพื่อนนักปีนเขาที่เพิ่งจบชีวิตไปไม่นาน ว่าสไตล์ของเพื่อนคนนี้คือการปีนแบบ ‘ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก’ พูดง่ายๆ คือเตรียมตัวไปในระดับหนึ่ง นอกเหนือจากนั้นคือไปวัดกันหน้างาน เจออุปสรรคอะไรก็พลิกแพลงแก้ปัญหากันตรงนั้น ซึ่งอเล็กซ์มองว่า “นั่นแหละคือจุดที่ทำให้เขาพลาด”

ในทางกลับกัน สิ่งที่อเล็กซ์ทำทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นจากการฝึกซ้อม คือการจดบันทึกแบบละเอียดยิบ

ถ้าเป็นคนทั่วไป คงยากจะจินตนาการว่าการปีนผาสูงแบบ Free solo ต้องวางแผนอย่างไร สิ่งที่อเล็กซ์ทำคือการซ้อมปีนแบบมีเชือกก่อนจนกว่าจะมั่นใจ ควบคู่ไปกับการจดบันทึก ความน่าทึ่งคือเขาสามารถจดจำรายละเอียดตลอดเส้นทางที่ปีนขึ้นไปได้แบบมือต่อมือ ก้าวต่อก้าว ปลายนิ้วต่อปลายนิ้ว

หากหน้าผาที่เขากำลังปีนคือเรือนร่างของคู่รัก เขาย่อมรู้จักเป็นอย่างดี พนันได้ว่าไม่มีจุดไหนที่ไม่เคยสัมผัส

แต่นอกจากปัจจัยทางร่างกาย การพิชิตความเสี่ยงและเสียวในระดับนั้นได้ อย่างน้อยจิตใจต้องแข็งแกร่งพอๆ กับภูผาหินตรงหน้า

แม้จะรู้แก่ใจว่าจุดจบของนักปีน Free solo แทบทุกคนคือความตาย แต่การได้ทำในสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตมากๆ และพร้อมทุ่มทั้งชีวิตเพื่อสิ่งนั้น ความตายก็อาจไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ อเล็กซ์เปรียบเปรยสิ่งนั้นว่าคือ ‘จิตวิญญาณนักรบ’ อันมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวเป็นเชื้อไฟ มีความสันโดษเป็นสายลมคอยเลี้ยงเปลวเพลิงให้ลุกโชน

เท่าที่เคยพบเจอมา ผมคิดว่าคนประเภทนี้มีอยู่ไม่มากนัก คุณสมบัติสำคัญคือการสร้างสรรค์บางสิ่งที่ยิ่งใหญ่ สามารถทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ผมทั้งชื่นชมและอิจฉาคนประเภทนี้ ชื่นชมที่เขาสามารถชัดเจนและมุ่งมั่นกับอะไรสักอย่างอย่างเต็มที่ และอิจฉาเมื่อได้เห็นสิ่งที่พวกเขาทำ ขณะเดียวกันก็นึกโกรธตัวเองที่ดันพอใจกับการย่ำอยู่ในที่ปลอดภัย นอนกางเต้นท์นับดาวไปวันๆ

สำหรับผม ความพิเศษของหนังเรื่องนี้เกิดจากการที่อเล็กซ์ได้โคจรมาพบกับคนประเภทเดียวกัน ก็คือคนอย่างจิมมี่ ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็นงานที่ทะลุขีดจำกัดและกรอบเดิมๆ ของการถ่ายทำหนังอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการใช้ทีมบันทึกภาพที่เป็นนักปีนผามืออาชีพ ใช้กล้องที่สั่งทำพิเศษเพื่อให้ถ่ายมือเดียวได้เพราะอีกมือต้องคอยไต่เชือกไปด้วย ประกอบกับการใช้โดรนที่ทำให้เห็นความอลังการของทัศนียภาพที่ชวนให้วาบหัวใจ

เทคนิคเหล่านี้เองที่ทำให้คนดูรับรู้ถึงความเสี่ยงและความยากที่อเล็กซ์กำลังเผชิญ และแทบจะหยุดหายใจทุกครั้งที่มีช็อตของการ ‘ร่วงหล่น’ หากจะพูดว่านี่คือประสบการณ์การดูหนังที่วูบวาบแปลบปลาบที่สุดในชีวิตก็คงไม่ผิดนัก

ทว่าหนังไม่ได้ถ่ายทอดแค่การพิชิตยอดผาเท่านั้น อีกพาร์ทที่สำคัญและกระทบใจผมเป็นอย่างที่สอง คือพาร์ทที่ว่าด้วยเรื่องของความสัมพันธ์

 

-3-

 

คำถามสำคัญที่ผุดขึ้นมาตั้งแต่ต้นเรื่อง คือเราสามารถทำตามความฝันไปพร้อมๆ กับการมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนได้หรือไม่ และหากเรารู้สึกว่าความสัมพันธ์ที่มีอยู่นั้นเริ่มบั่นทอนความฝัน เราจะยังรักษามันอยู่ไหม

ถ้าต้องเลือกสักอย่าง เราจะเลือกอะไร

คนอย่างอเล็กซ์ ตอบแบบไม่ต้องคิดว่ายังไงเขาก็เลือกการปีนผา

แต่ขึ้นชื่อว่าความรักความสัมพันธ์ บางครั้งก็ไม่ง่ายเสมอไป ไม่ว่าคุณจะมีหัวใจเด็ดเดี่ยวหรือมีจิตวิญญาณนักรบเข้มข้นแค่ไหนก็ตาม

ในช่วงที่อเล็กซ์กำลังไล่ตามความฝันครั้งสำคัญ เขาตัดสินใจคบหากับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นนักปีนเขามือสมัครเล่น เธอเป็นคนสวย บุคลิกมีประกายสดใส และพร้อมสนับสนุนอเล็กซ์ทุกอย่างเพื่อให้ความฝันของเขาสำเร็จ

ทว่าลึกๆ ในใจ เธอรู้ดีว่าความฝันนั้นอาจแปรเปลี่ยนเป็นความตาย และมันคงทำให้เธอหัวใจสลาย ไม่ช้าก็เร็ว

ในฝั่งของอเล็กซ์ เขายอมรับว่าตัวเองรู้สึกดีที่มีเธอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต แต่ไม่นานก็เริ่มรับรู้ถึงความผิดปกติบางอย่าง

จากที่ไม่เคยบาดเจ็บจากการปีนเขามาตลอดเจ็ดปี จู่ๆ เขาก็ร่วงลงมากระแทกพื้นถึงสองครั้งในรอบสี่สัปดาห์ เขาอธิบายว่าเป็นการร่วงที่ไม่รู้ตัว และไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าร่วงลงมาได้ยังไง

ที่รู้แน่ๆ คือเธออยู่ตรงนั้น และเห็นเขาร่วงลงมาต่อหน้าต่อตาทั้งสองครั้ง แม้จะมีเชือกที่ช่วยรั้งก็ตาม

“ผมคิดว่าอาจจะบอกเลิกเธอ” เขาเผยความรู้สึกขณะพักฟื้นอาการบาดเจ็บ “ผมกับเธอคิดไม่เหมือนกัน เธอต้องการมีชีวิตที่มั่นคง สุขสบาย แต่ผมไม่ สำหรับผมชีวิตที่สุขสบายมันไม่ทำให้เกิดอะไรขึ้นมาได้หรอก”

ประโยคของอเล็กซ์ทำให้คิด ผิดไหมที่เราจะเห็นแก่ตัวในความสัมพันธ์ หรือมันอาจไม่จำเป็นต้องเท่ากันเสมอไป

“พวกเขาเข้ากันได้ดี เป็นคู่ที่น่ารัก ผมไม่มีข้อสงสัยอะไรในความสัมพันธ์ของพวกเขาเลย แต่ถ้ามองจากมุมนักปีนเขา เราจำเป็นต้องมีโฟกัส และอาศัยความมุ่งมั่นที่เข้มข้นจากภายใน ซึ่งการมีใครอีกคนเข้ามาในชีวิต อาจลดทอนความเข้มข้นนั้นไป…” ใครบางคนแสดงข้อกังวลใจเมื่อเห็นอเล็กซ์เริ่มออกอาการไม่ดี

ประโยคนี้ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของพี่นักเขียนคนหนึ่ง เขาเล่าว่าช่วงที่มุ่งมั่นจะเป็นนักเขียน เขาเคยมีความคิดอย่างหนึ่งว่า ถ้าหากเขามีความสัมพันธ์ที่จริงจัง กระทั่งตัดสินใจแต่งงาน มีลูก เขาจะสามารถเป็นพ่อที่ดีได้ เป็นสามีที่ดีได้ แต่จะไม่มีทางเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ได้

ผลที่เกิดขึ้นจากความคิดแบบนั้น คือเขาสามารถผลักดันตัวเองเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ได้จริงๆ แต่สิ่งที่เขามาคิดได้ในภายหลัง คือเขาน่าจะยังเป็นพ่อและสามีที่ดีได้ด้วย

“มองย้อนไป ผมรู้สึกว่าเป็นความคิดที่ไร้สาระมาก ถ้าผมจะบอกอะไรคุณได้สักอย่าง ผมอยากจะบอกว่าคุณไม่จำเป็นต้องเลือกแบบผม คุณสามารถมีความรักที่ดี และเป็นในสิ่งที่คุณอยากเป็นไปพร้อมๆ กันได้” ในน้ำเสียงมีทั้งความปลงและความเหงา

ไม่แน่ใจว่าถ้าอเล็กซ์ได้ฟังคำนี้ เขาจะรู้สึกอย่างไร คิดถูกหรือผิดที่เปิดรับผู้หญิงคนนี้เข้ามาในชีวิต แต่ในฐานะคนดู ผมรู้สึกว่าแววตาของเขาตอนที่ปีนไปถึงยอดหน้าผา แล้วโทรบอกแฟนว่าทำสำเร็จแล้ว ช่างเป็นแววตาที่มีความสุข สุขในแบบที่คนเย็นชาที่สุดในโลกคนหนึ่งจะแสดงออกมาได้

ชีวิตที่ผ่านมา แม้จะไม่เคยปีนผา แต่ก็มีหลายครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากับความหนักหนาในชีวิต ซึ่งผมพบว่าสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด คือการฝืนใจตัวเองไม่ให้หันหลังกลับ ไม่แสร้งทำเป็นหลับตา

ทว่าในสถานการณ์ที่เห็นว่ามีคนหนุนหลัง ให้กำลังใจ หรือรู้ว่ามีใครสักคนที่รออยู่บนนั้น ผมจะมั่นใจและกล้า

เป็นไปได้หรือไม่ว่า คนเราอาจไม่ได้กลัวความสูง กระทั่งไม่ได้กลัวความตาย เราเพียงแต่กลัวการร่วงหล่นอย่างเดียวดาย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save