ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง
ฐานะและบทบาทหลักของสำนักงานสืบสวนกลางหรือที่รู้จักกันทั่วไปในนามของ ‘เอฟบีไอ’ นั้น คือเป็นมือขวาที่ทรงพลังของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะประธานาธิบดี ในการปกป้องและรักษาความมั่นคงของสหรัฐฯ แต่ในทางปฏิบัติก็เหมือนประเทศที่ใช้อำนาจทหารในการปกครอง คือทำหน้าที่รักษาความมั่นคงให้แก่ประธานาธิบดี และดำเนินนโยบายตามที่ประธานาธิบดีสั่งหรือต้องการ
ผมนึกถึงหัวหน้าเอฟบีไอที่โด่งดังและน่าหวาดกลัวที่สุดในประวัติศาสตร์ กับผลงานมากมายในการปราบปรามจับกุมนักเคลื่อนไหว นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและอื่นๆ ในยุคสงครามเย็นกับสงครามเวียดนาม ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อเสียงและกิตติศัพท์ของ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ (J. Edgar Hoover 1895-1972)
ฮูเวอร์เป็นผู้อำนวยการคนแรก และช่วยก่อตั้งสำนักงานเอฟบีไอให้กลายเป็นหน่วยงานในการควบคุมฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพยิ่ง สร้างระบบแฟ้มและลายนิ้วมือผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหา เรียกว่าเป็นหน่วยงานที่เต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บอย่างที่หน่วยงานอื่นสู้ไม่ได้ ฮูเวอร์ใช้ทุกวิธีการทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมายในการเล่นงานฝ่ายปรปักษ์อย่างไม่ปราณี แน่นอน รวมถึงการสร้างข้อมูลเท็จกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามด้วย
อำนาจและอิทธิพลของฮูเวอร์มีมากกระทั่งกล่าวกันว่า ไม่มีประธานาธิบดีคนไหนกล้าปลดเขาออกจากตำแหน่ง รวมถึงนิกสันด้วย เพราะกลัวว่าจะถูกฮูเวอร์เปิดโปงเรื่องราวเบื้องหลัง ทั้งจริงและไม่จริงของประธานาธิบดีออกมา ไม่ต้องบอกก็คงเดาได้ว่า บรรดาสมาชิกสภาคองเกรสก็ยังหัวหดเมื่อพูดถึงฮูเวอร์
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 เจมส์ โคมีย์ (James Comey) ผู้อำนวยการเอฟบีไอในขณะนั้น ถูกโดนัลด์ ทรัมป์ ปลดกลางอากาศอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เมื่อดูคำให้การของโคมีย์ต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาหลังจากถูกปลดอย่างมีเงื่อนงำ เขาแถลงอย่างมีหลักการและเหตุผลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่การงานในฐานะผู้อำนวยการ ตอบโต้ข้อกล่าวหาของทรัมป์อย่างตรงไปตรงมาและมีน้ำหนักความน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง ท่วงทีและเนื้อหาในคำให้การของเขาไม่ด้อยไปกว่านักวิชาการหรือนักกฎหมายอาชีพเลย
จริงๆ แล้วผมให้คะแนนเต็มแก่โคมีย์ในการตอบคำถามและอธิบายถึงหลักการทำงานของเขาและสำนักงาน ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีกับเอฟบีไอ ความเป็นอิสระและไม่ฝักใฝ่ในพรรคการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด นอกจากยึดถือหลักการและภารกิจของสำนักงานในเรื่องความมั่นคงของรัฐ
ถึงตรงนี้ทำให้ผมนึกกลับไปถึงช่วงปลายปี 2016 ระหว่างที่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่างฮิลลารี คลินตันกับโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้าย จู่ๆ โคมีย์ซึ่งยังเป็นผู้อำนวยการอยู่ ก็ประกาศว่าเอฟบีไอจะทำการสอบสวนการใช้อีเมลส่วนตัวของคลินตันในระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยถูกตรวจสอบแล้วและยกข้อกล่าวหาไป ว่าละเมิดกฎหมายและมีความเสียหายอะไรบ้างไหม
กรณีนี้เป็นเสมือนระเบิดปรมาณูที่ตกใส่ทีมหาเสียงของคลินตันอย่างจัง ฝ่ายเดโมแครตหาทางแก้เกม เปลี่ยนประเด็นด้านลบไม่ได้เลย ทรัมป์เลยได้โอกาสฉวยเอาประเด็นอีเมลมาถล่มว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย ขนาดประกาศว่า “จับเธอเข้าคุกเลย” (Lock her up)
การไล่โคมีย์ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการเอฟบีไอนั้น นักวิเคราะห์การเมืองอเมริกันลงความเห็นว่า เพราะโคมีย์ไม่ยอมทำตามคำร้องขอของทรัมป์ ซึ่งเรียกเข้าพบในห้องรูปไข่ ทำเนียบขาว พร้อมกับแกนนำคนสำคัญของทรัมป์ ว่าให้ลดละเลิกการให้เอฟบีไอไปทำการสอบสวนกรณีไมเคิล ฟลินน์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นที่ปรึกษาใหญ่ด้านความมั่นคง (Chief National Security Council) กับขอให้เลิกการไต่สวนเรื่องการร่วมมือกันระหว่างทรัมป์กับรัสเซียในการเลือกตั้งเสีย มันไม่จริง
ตอนนั้นทรัมป์คิดว่าโคมีย์รับปากเพราะเห็นแกก้มหัวฟังเงียบๆ ไม่ได้สั่นหน้าหรือปฏิเสธแต่อย่างใด แต่หลังจากการพบปะครั้งประวัติศาสตร์วันนั้นแล้ว สัมพันธภาพระหว่างทรัมป์กับโคมีย์ก็ไม่มีทีท่าจะอบอุ่นขึ้นเลย สำนักงานเอฟบีไอยังคงเดินหน้าเก็บข้อมูลและเตรียมดำเนินการต่อไป นอกจากนั้นแล้ว เอฟบีไอยังเป็นตัวแสบที่คอยทำรายงานประวัติส่วนตัวของแกนนำที่ทรัมป์นำเข้ามาช่วยงานในทำเนียบขาว เช่น จาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขย เป็นต้น ว่าคนพวกนี้มีประวัติด่างพร้อยบางอย่าง ไม่อาจอนุญาตให้เข้าถึงเอกสารที่เป็นความลับฝ่ายความมั่นคงได้
น่าสนใจว่าการทำงานดังกล่าวของเอฟบีไอ ซึ่งคงทำมาเป็นกิจจะลักษณะนานมาแล้วในทุกรัฐบาลของประธานาธิบดีคนใหม่ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยเป็นข่าว เพราะประธานาธิบดีต้องรู้อยู่ก่อนแล้วถึงกฎระเบียบความมั่นคงต่างๆ จึงไม่ต้องเสียเวลาแต่งตั้งคนที่มีภูมิหลังและประวัติการงานสีเทาๆ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับรัฐบาลอยู่ มาคราวนี้ทรัมป์แต่งตั้งคนที่มีภูมิหลังแบบนักผจญโชคหากินกับกิจการที่สีเทาๆ เสียเป็นส่วนมาก จึงไม่ยากเลยสำหรับเอฟบีไอที่จะเปิดแฟ้มแล้วหาประวัติของคนพวกนี้
ประเด็นที่ผมต้องการพูดถึงคือ ผลจากการไล่โคมีย์ออกนั้น ยิ่งนำไปสู่การเปิดเผยเบื้องหลังการเคลื่อนไหวของทรัมป์ ว่าส่อไปในทางไม่สุจริต ถ้าไม่มีอะไรจะกลัวการสอบของเอฟบีไอทำไม ปล่อยให้เขาทำงานไปแล้วเมื่อถึงเวลาเรื่องก็จะจบลงเท่านั้นเอง แต่การที่ทรัมป์ดิ้นรนมากขนาดยอมเอาฐานะของประธานาธิบดีเข้าแลก ด้วยการใช้อำนาจอันเป็นของประธานาธิบดีฝ่ายเดียวในการปลดผู้อำนวยการเอฟบีไอ สิ่งที่ตามมาคือกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นเจ้าสังกัดของเอฟบีไอ จึงต้องออกมารับลูกเพื่อไม่ให้สังคมครหา อันจะเป็นการเสื่อมเสียต่อหน่วยงานและประธานาธิบดี
รอด โรเซ็นสไตน์ รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขณะนั้น จึงใช้อำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษาพิเศษ โรเบิร์ต มูลเลอร์ ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอมือทองมาก่อน ให้มาทำหน้าที่สืบสวนกรณีการแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งต่อไป ด้วยหวังว่าจะช่วยดับข่าวลือและข่าวปลอมไม่ให้ลุกลาม
แรกๆ ก็ดูเหมือนว่าจะช่วยทำให้กรณีไล่โคมีย์สงบเงียบลงได้ เป็นผลดีต่อทำเนียบขาว แต่หลังจากนั้นมา การทำงานของมูลเลอร์กับคณะไต่สวนเริ่มสร้างผลงานขึ้นมาทีละน้อยๆ กระทั่งนำไปสู่การตั้งข้อกล่าวหาไมเคิล ฟลินน์ ซึ่งถูกให้ออกเพราะโกหก ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีว่าไม่เคยพบกับเอกอัครรัฐทูตรัสเซียประจำวอชิงตันเลย แต่ตอนหลังเอฟบีไอบอกมีหลักฐานมัดตัวแน่นหนาว่าทั้งคู่เคยพบกันทั้งในสหรัฐฯ และในมอสโก ทำให้ในที่สุดฟลินน์ต้องยอมรับว่าที่ให้ปากคำแก่เอฟบีไอแต่แรกตอนจะรับตำแหน่งหัวหน้าที่ปรึกษาสภาความมั่นคงของทรัมป์นั้นล้วนเป็นความเท็จ
ฟลินน์ยอมให้การในชั้นศาลแลกกับการไม่ถูกฟ้องในคดีอาญา นอกจากฟลินน์แล้วยังมีอีกหลายคนที่ทีมมูลเลอร์รวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินการฟ้องร้องต่อไป คนเหล่านี้ล้วนอยู่ในทีมหาเสียงให้ทรัมป์ ทำให้มองได้ว่าทรัมป์น่าจะมีส่วนรู้เห็นเป็นใจไม่มากก็น้อยกับการติดต่อไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับสายของรัสเซียในการตัดแต่งการเลือกตั้งและอาจรวมถึงช่องทางประกอบธุรกิจนานาประการ
ตอนหลังเอฟบีไอเปิดเผยว่ามีบริษัทรัสเซียบังหน้าทำเป็นธุรกิจสื่อออนไลน์ มีรายชื่อนักธุรกิจรัสเซียปลอมว่าเป็นใครบ้าง กระทั่งเอฟบีไอประกาศจับคนเหล่านั้นว่าเป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว แสดงว่าคดีการแทรกแซงการเลือกตั้งโดยสายลับรัสเซียนั้นเป็นเรื่องจริง ในขณะที่ทรัมป์ทวีตทุกวันว่า “การสอบสวนของคณะมูลเลอร์นั้นเป็นการล่าแม่มดของพรรคเดโมแครต และยืนยันว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่มีการสมรู้ร่วมคิดอะไรทั้งสิ้น (No collusion)”
การทำงานสืบสวนสอบสวนของหัวหน้ามูลเลอร์นับวันยิ่งทำให้ความหวังของฝ่ายต่อต้านทรัมป์ดูมีแสงสว่างรำไรขึ้นมาบ้าง จนมูลเลอร์กล้าทำเรื่องถึงทรัมป์ว่าจะขอสัมภาษณ์ประธานาธิบดีหน่อย เพราะมีข้อมูลพาดพิงถึง เลยอยากฟังจากปากของประธานาธิบดีเองว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไร
การทาบทามครั้งนี้ ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ ทรัมป์คงออกมาด่ามูลเลอร์ไม่เป็นผู้เป็นคนแน่ๆ แต่จากการคลี่คลายของการสืบสวน ทำให้มูลเลอร์มั่นใจในการทำงาน จนอาจหาญเปิดฉากรุกทรัมป์ได้ ก่อนหน้านี้มีข่าวเล็ดรอดออกมาว่า ทรัมป์ปรึกษาเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาวเรื่องการไล่มูลเลอร์ออกจากตำแหน่ง เพราะเป็นอำนาจของประธานาธิบดีที่จะทำได้ คองเกรสเองก็ยากจะคัดค้าน แต่แมกกาน เจ้าหน้าที่อาวุโสคัดค้านอย่างหนักแน่น ถึงขนาดว่าถ้าทรัมป์ลงมือทำจริงๆ เขาก็จะขอลาออกจากทำเนียบขาว ทำให้ทรัมป์จำต้องหยุดความกร่างของตนเอาไว้แต่เท่านี้ เพราะคนทำงานระดับหัวหน้าในทำเนียบขาวมีการเปลี่ยนตัวกันมากเหลือเกิน จนคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นในทำเนียบขาวสมัยนี้
ข้อที่น่าสนใจคือ ขณะนี้คนที่ก้าวขึ้นมาเทียบบารมีกับทรัมป์ ไม่ใช่แกนนำพรรคเดโมแครต ฝ่ายค้านอย่าง ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา หรือแนนซี เพโลซี ผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร หากแต่กลับเป็นมูลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอ คนนี้
คำถามที่ผมสนใจคือ ทำไมฝ่ายการเมืองในระบบรัฐสภาซึ่งมีอำนาจเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญในการถ่วงดุลและตรวจสอบจนถึงถอดถอนประธานาธิบดีได้ กลับไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ ปล่อยให้เรื่องราวดำเนินมาเหมือนกับเป็นลิเกมากขึ้นทุกวัน พูดได้ไหมว่าระบบการเมืองประชาธิปไตยในอเมริกาที่ผู้คนชื่นชมสดุดีกันมานับศตวรรษกำลังถึงวาระตกต่ำและกระทั่งกลายเป็นการเมืองสามานย์เหมือนอย่างประเทศโลกที่สามและสี่ไปด้วย
ว่าไปแล้ว ผมสังเกตว่าคุณภาพของการเมืองอเมริกันในฝ่ายอนุรักษนิยมหรือเอียงขวานั้นเริ่มสำแดงอาการที่เป็นปฏิกิริยาออกฤทธิ์อย่างไร้เหตุผลและความชอบธรรม หลังจากชัยชนะในการเลือกตั้งของบารัค โอบามา คนผิวดำคนแรกที่สามารถก้าวขึ้นมาถึงตำแหน่งอันทรงเกียรติและอำนาจสูงสุดของสหรัฐฯ ได้
คนที่มีวิจารณญาณและใจเป็นธรรมทั่วโลกต่างพากันสดุดีและยกนิ้วให้กับความใจกว้างและขันติธรรมของระบบการเมืองประชาธิปไตยอเมริกา แต่เมื่อมองเข้าไปในสภาพการเคลื่อนไหวของผู้คนที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมผิวขาวในอเมริกา กลับพบภาพของความล้าหลังและติดยึดกับลัทธิเหยียดผิวที่มีมาแต่สมัยหลังสงครามกลางเมืองฟื้นคืนมาอีก แม้จะไม่หนักหน่วงและรุนแรงเท่ากับสมัยจิม โครว์ และยุค “แบ่งแยกแต่เท่าเทียมกัน” (separate but equal) พร้อมกับการเกิดขบวนการคูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan, KKK) ที่ออกมาเผาบ้านและเข่นฆ่าคนดำ ตั้งศาลเตี้ยประหารชีวิตคนดำทั้งเป็นในช่วงทศวรรษแรกๆ ของศตวรรษที่ 20 โดยส่วนมากเกิดในรัฐทางภาคใต้ซึ่งเป็นอดีตสังคมทาสและมีนายทาส
ผมเชื่อว่าคนอเมริกันเองและคนต่างชาติส่วนมากยังไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์อเมริกานั้นเต็มไปด้วยความรุนแรงและความอยุติธรรมโดยเฉพาะต่อคนผิวดำ คนผิวน้ำตาล และคนผิวเหลืองมานานนับศตวรรษ
ดูจากภายนอก ในรัฐบาลและรัฐสภาเต็มไปด้วยความเป็นระเบียบ มีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ มากกว่าระบบและนักการเมืองประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ถ้าหากเราสามารถเข้าไปนั่งข้างในจริงๆ คงเห็นความไร้ระเบียบ ไร้ประสิทธิภาพ และความไม่น่าไว้ใจของบรรดาคนที่เป็นผู้แทนประชาชนเหล่านั้นด้วยเหมือนกัน
ที่น่าตลกคือ ขณะนี้คนที่ช่วยเปิดหน้าฉากของทำเนียบขาวและรัฐสภาคองเกรสให้เห็นถึงธาตุแท้และความไร้น้ำยาของฝ่ายการเมืองอเมริกันอย่างโจ๋งครึ่มคือ โดนัลด์ ทรัมป์ นั่นเอง ไม่น่าเชื่อ มันเป็นไปได้อย่างไร การได้ประธานาธิบดี “คนนอก” อย่างทรัมป์ก็ดีไปอย่าง ความที่เป็นคนนอกและ “นอกคอก” (ไม่ใช่สมาชิกหรือแกนนำของพรรครีพับลิกัน) ทำให้เขามีอิสระเสรีในการทำอะไรอย่างไรก็ได้กับอำนาจปกครองสูงสุดที่ผู้เลือกตั้งมอบให้เขาโดยไม่ต้องเกรงใจและกลัวใครในโลก
ทรัมป์น่าจะเป็นคนในฝันของเผด็จการและผู้นำอำนาจนิยมทั้งหลายที่ใช้อำนาจปกครองได้ตามใจตัวเอง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่เกือบที่สุดในโลก ทำให้รัฐธรรมนูญสยามฉบับ “ไทยนิยมตลอดกาล” (เพิ่งอ่านเรื่องสมัย “พิบูลตลอดกาล”) ต้องชิดซ้ายไปเลย
ทรัมป์เปิดหน้าต่างและประตูแห่งอำนาจสูงสุดอันเป็นของประธานาธิบดีออกมาให้ผู้คนได้เห็นอย่างเต็มตาว่า มันมีเยอะแยะไปหมด ถ้าหากจะใช้จริงๆ ก็มีช่องทางและเรื่องราวให้ทำได้ไม่เหงาเลย
เท่าที่ผมสังเกตดู หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ คนที่ถูกละเมิดหรือถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม ก็ตอบโต้ด้วยการฟ้องศาลสหพันธ์หรือศาลชั้นต้นแล้วแต่กรณี เช่นผู้อพยพทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมาย (undocumented immigrants) ไปจนถึงหน่วยงานรัฐที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งฝ่ายบริหาร แต่ถ้าหากเป็นคนทั่วไปหรือเป็นบริษัทห้างร้าน แม้จะมีชื่อเสียงใหญ่โตและมีธุรกรรมไม่น้อย เช่น อเมซอน ซีเอ็นเอ็น นิวยอร์กไทมส์ ก็ปล่อยให้ทรัมป์ทวีตด่าไปตามเรื่อง ให้สังคมเป็นผู้ตัดสินก็แล้วกัน ตราบเท่าที่เขายังไม่กระทำการถึงขั้นผิดกฎหมายอย่างอุกฉกรรจ์
การก้าวเข้ามาทำหน้าที่ถ่วงดุลและตรวจสอบอำนาจประธานาธิบดีโดยสำนักเอฟบีไอ ไม่อาจปรากฏเป็นจริงได้หากไม่มีผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง ตรงนี้ก็น่าสนใจว่า ทำไมหน่วยงานความมั่นคงอย่างเอฟบีไอถึงกลายมาเป็นหน่วยงานที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองของการปฏิวัติอเมริกาที่ยึดหลักเสรีภาพ ความยุติธรรมและปกปักรักษารัฐธรรมนูญอย่างสุดจิตสุดใจ จะพูดอย่างหยาบๆ ก็ได้ว่าเอฟบีไอมีความรักชาติมากกว่านักการเมืองไปเสียแล้ว
การที่คณะสอบสวนของมูลเลอร์ในกรณีการแทรกแซงของรัสเซียดำเนินไปอย่างได้ผลและมีแรงสะเทือนไปทั้งยุทธจักรนั้น แยกไม่ออกจากบุคลิกภาพและประสบการณ์ในการนำสำนักงานเอฟบีไอมาก่อนแล้วของมูลเลอร์ เขาเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการไม่ถึงอาทิตย์ก่อนเกิดเหตุการณ์ 9/11 ที่ฝ่ายก่อการร้ายของกลุ่มอัลกออิดะฮ์วางแผนโจมตีมหานครนิวยอร์กและวอชิงตันด้วยเครื่องบินโดยสารอย่างคาดไม่ถึง จากนั้นเป็นต้นมางานหลักอันแรกของมูลเลอร์ ได้แก่ การยกเครื่องปรับปรุงระบบไอทีและคอมพิวเตอร์ในการทำงานของเอฟบีไอให้มีประสิทธิภาพทันสถานการณ์และเทคโนโลยี
เล่ากันว่าในสมัยนั้น เจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่ติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ในลอสแอนเจลีส เมื่อจะส่งข้อมูลนี้ไปให้สายเอฟบีไอในมหานครนิวยอร์ก ยังต้องบันทึกข้อมูลทั้งหมดลงในแผ่นดิสก์ แล้วบินไปถึงนิวยอร์กเพื่อมอบหลักฐานทั้งหมดให้ ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ 11 กันยาแล้ว เอฟบีไอจะส่งภาพของผู้ก่อการร้ายไปให้สำนักงานทั่วประเทศ ยังไม่มีวิธีส่งทางอีเมลแนบแฟ้มภาพไปได้ จึงต้องส่งทาง FedEx บริการด่วน เรียกว่าเครื่องมือยังล้าหลังมาก มูลเลอร์เป็นคนนำระบบคอมพิวเตอร์และอื่นๆ เข้ามาใช้ในสำนักงาน
ที่ผ่านมาเอฟบีไอเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานจากการเกิดการกระทำที่เป็นอาชญากรรม เป็นการทำงานตามหลังหลักฐานข้อมูล หลังจากการถูกผู้ก่อการร้ายถล่มมหานคร มูลเลอร์พูดกับรัฐมนตรีจอห์น แอชคอร์ฟและประธานาธิบดีบุช ว่าถ้าจะป้องกันการก่อการร้ายได้ เอฟบีไม่อาจใช้วิธีการทำงานตามหลักฐานแบบเก่าได้อีกต่อไป เพราะไม่มีหลักฐานให้เห็นก่อนเกิดเหตุการณ์ นอกจากต้องไปค้นหาแผนการนั้นก่อน จึงนำไปสู่การเปลี่ยนวิธีการสืบสวน จากการไต่สวนตามหลักฐานที่ปรากฏ มาสู่การสอบสวนหาแหล่งต้นตอของเรื่องเอง ไม่ต้องรอหลักฐานให้เห็นก่อนถึงจะทำงานได้
แต่ที่สำคัญกว่านี้คือ การที่มูลเลอร์เป็นคนมีสำนึกและอุดมการณ์ของการทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างจริงจัง ตั้งแต่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยร่วมรุ่นกับ จอห์น แคร์รี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มูลเลอร์สมัครเป็นทหารไปรบในเวียดนาม ได้รับบาดเจ็บและได้เหรียญเงินและหัวใจสีม่วง (Purple Heart) กล้าหาญ หลังจากนั้นก็เข้าไปทำงานในกระทรวงยุติธรรม จนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเอฟบีไอจนครบ 10 ปี แล้วได้ต่ออายุอีกสองปีโดยประธานาธิบดีโอบามา ทั้งๆ ที่เขาเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันมาตลอด แต่คองเกรสไม่เคยมีปัญหากับเขา เพราะเขาวางตัวไม่ฝักใฝ่พรรคหนึ่งพรรคใด
ในสมัยที่เขาเป็นผู้อำนวยการและจิม โคมีย์เป็นรอง รมต.ยุติธรรม หลังเหตุการณ์ 9/11 ประธานาธิบดีบุชประกาศใช้แผนต่อต้านการก่อการร้าย “Stellar Wind” เพื่อให้สอดแนมพลเมืองทั่วไปได้ และในการปฏิบัติ กระทรวงยุติธรรมต้องอนุมัติแผนนี้ทุก 90 วัน เมื่อรัฐมนตรีแอชคอร์ฟเข้าโรงพยาบาล โคมีย์ต้องเป็นคนอนุมัติ แต่เขาเห็นว่าประกาศแผนดังกล่าวนี้เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ เพราะละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เขาจึงไปปรึกษากับมูลเลอร์ซึ่งเป็นหัวหน้าเอฟบีไอให้ช่วยคานประธานาธิบดี ซึ่งมูลเลอร์เห็นด้วยและทั้งคู่ร่วมกันร่างจดหมายลาออกหากบุชไม่เห็นด้วย
ทั้งสองคนเข้าไปพบประธานาธิบดีบุชและแจ้งความเห็นที่ไม่อนุมัติแผนการดังกล่าวให้ทราบ ปรากฏว่าบุชผงะไปเหมือนกัน เพราะคาดไม่ถึงว่าจะถูกคัดค้านจากฝ่ายปฏิบัติการความมั่นคงเอง แต่ถ้าปล่อยให้สองคนลาออก เรื่องต้องดังไปทั่วประเทศและกระเทือนต่อสถานภาพของรัฐบาลได้ เขาจึงต้องยอมยกเลิกแผนการนั้นเสีย ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมทั้งจิม โคมีย์ และบ๊อบ มูลเลอร์ ถึงไม่เกรงใจและเกรงกลัวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เหมือนอย่างสมาชิกสภาคองเกรสบางคน
นี่เป็นคำพูดของมูลเลอร์ที่สะท้อนถึงความคิดทางการเมืองของเขาเป็นอย่างดี
“We live in dangerous times, but we are not the first generation of Americans to face threats to our security. Like those before us, we will be judged by future generations on how we react to this crisis. And by that, I mean not just whether we win the war on terrorism – because I believe we will – but also whether, as we fight that war, we safeguard for our citizens the very liberties for which we are fighting.”
สั้นๆ คือเขาบอกว่า เราอยากได้ความมั่นคง และต้องการเอาชนะการก่อการร้าย แต่ท่ามกลางการต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย เราก็ยังต้องรักษาเสรีภาพทั้งปวงของพลเมืองเราไว้ด้วย ที่สุดแล้วสิ่งที่เราต่อสู้เพื่อให้มีคือเสรีภาพ ไม่ใช่ความมั่นคงอย่างเดียว