fbpx
บอกลาเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

บอกลาเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

หากใครมีโอกาสแวะไปตามอุทยานต่างๆ จะพบว่า มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าลดน้อยลงผิดสังเกต

จุดตรวจ จุดเฝ้าระวัง หรือหน่วยพิทักษ์ป่าในพื้นที่หลายแห่ง ก็ปราศจากเจ้าหน้าที่คอยดูแล

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชั่วคราวของกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถือเป็นกำลังสำคัญทำหน้าที่เฝ้าป่า ปกป้องผืนป่าแทนคนทั้งประเทศ

คนเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่ในป่าเดือนละ 15-20 วัน เพื่อดูแลปกป้องทรัพยากรธรรมชาติด้วยวิธีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol) ที่ต้องใช้บุคลากรในการเดินลาดตระเวนป้องปรามผู้กระทำผิดจากการตัดไม้หรือลักลอบล่าสัตว์ป่า พร้อมเก็บข้อมูลเชิงนิเวศ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ การขาดบุคลากรเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่า และสัตว์ป่าของประเทศ

หลายปีที่ผ่านมาในอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่ง มีจำนวนประชากรสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นมาก อันเป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักของพนักงานพิทักษ์ป่า อาทิ จากการสำรวจวิจัยเสือโคร่งในประเทศไทย พบเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ 130–160 ตัว

และหากประเมินเฉพาะในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตกเป็นป่าอนุรักษ์ที่มีความต่อเนื่องขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ พื้นที่รวม 11.7 ล้านไร่ หรือ 18,727 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง และอุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัดคือ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี พบว่าในระยะเวลา 10 ปี ประชากรเสือโคร่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 42 ตัว เป็น 79 ตัว ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญของโลกที่มีการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติ ประเทศไทยจึงได้รับคำชื่นชมจากหน่วยงานต่างประเทศ ในฐานะที่ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วในหลายประเทศ

แต่พอเริ่มต้นปีใหม่ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจำนวนมากกำลังถูกปลดหรือถูกลดเงินเดือนลงจำนวนมาก

นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า

“ภาพรวมปีงบประมาณ 2565 กรมอุทยานฯ ถูกปรับลดงบภาพรวมลงไปเฉลี่ย 900 ล้านบาท ซึ่งในช่วงย้อนหลัง 5 ปีมีการปรับลดงบลงมาต่อเนื่อง และมีการปรับลดงบมาต่อเนื่อง ปรับลดมาทุกปี แต่หนักสุดคือปี 2565 …จากปัญหาดังกล่าว กรมอุทยานฯ ให้นโยบายแต่ละอุทยานฯ ไปพิจารณา 2 ทางเลือกคือปรับคนออก และปรับลดเงินเดือนลง ซึ่งจากการไปตรวจเยี่ยมยอมรับว่าสะเทือนใจพอสมควร”

ในปี 2565 อัตราจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจากเดิม 5,163 ลดลงเหลือ 3,432 คน หายไป 1,731 คน คิดเป็นร้อยละ 33 ด้วยเหตุผลสำคัญคือไม่มีเงินจ้าง

ส่วนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ทางกรมอุทยานฯ จ้างต่อ ก็ถูกปรับลดเงินเดือนจากเฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาท เหลือเพียงเดือนละ 7,500 บาท ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบถึงครอบครัวพวกเขาแล้ว ยังส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการทำงานที่หนักและเสี่ยงอันตราย

สมชาย ขันธารักษ์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเล่าว่า

“มีกำหนดว่า 1 ชุดลาดตระเวนต้องมีอย่างน้อย 5 คน เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องออกลาดตระเวนทุกรอบ เฉลี่ยเดือนนึงก็ 15-20 วัน เมื่อก่อนยังได้สลับกันพัก สลับกันเฝ้าหน่วย ไม่ได้ออกเดินทุกรอบอย่างนี้ พอคนขาด ก็อาศัยไปยืมคนหน่วยอื่นมา พอถึงเวลาเราก็ต้องไปเดินช่วยคืนตามที่ยืมมาด้วย เหนื่อยเหมือนกัน แต่เราก็ต้องยึดเอางานลาดตระเวนเป็นหลัก อย่างงานอื่น เช่น ซ่อมทาง หรืออะไร ก็ต้องปล่อยไปก่อน”

ด้าน ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติยอมรับว่า หลังจากมีการปรับลดกำลังคนไปแล้ว ก็เป็นห่วงพื้นที่การลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ป่ามากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเตรียมติดตามว่าจะส่งผลกับคดีป่าไม้ คดีสัตว์ป่ามากขึ้นหรือไม่ แต่ก็ได้กำชับให้สแกนพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติในภาคเหนือ ภาคอีสาน และโซนป่าตะวันตก

น่าสนใจว่างบของหน่วยงาน กรม กอง ที่เกี่ยวข้องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี

ในภาพรวม งบประมาณแผ่นดินด้านสิ่งแวดล้อมประจำปี 2565 ถูกหั่นลงจาก 16,143 ล้านบาทในปี 2564 เหลือ 8,534 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 47% ซึ่งนับว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปี

ดูเหมือนว่างบประมาณด้านการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเรื่องน้ำเน่า หมอกควันพิษ อากาศเสีย การล่าสัตว์ ตัดไม้ทำลายป่า และการแก้ไขปัญหาโลกร้อน จะถูกตัดออกมากที่สุด ขณะที่งบประมาณทหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับแต่การรัฐประหารในปี 2557

รัฐบาลมีเงินจับจ่ายใช้สอยซื้ออาวุธสงครามเป็นว่าเล่นหลายหมื่นล้านบาท ขณะที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ทำงานหนักปกป้องป่าแทนพวกเราทุกวัน กลับถูกให้ออกจากงาน หรือไม่ก็รับเงินเดือนต่ำกว่าค่าแรงรายวันเกือบเท่าตัว

นี่ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่ว่า

“ผมขอย้ำว่าเราทุกคนไม่มี ‘แผนสอง’ ในเรื่องของการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี ‘โลกที่สอง’ ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว”

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์นี้ไว้กลางที่ประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564  เป็นการยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือปัญหาโลกร้อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตัดไม้ทำลายป่า

คำพูดอันสวยหรูกับการกระทำ มักสวนทางกันเสมอ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save