fbpx
ต่อหน้าความตาย กับ ส.ศิวรักษ์

ต่อหน้าความตาย กับ ส.ศิวรักษ์

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ ภาพ

27 มิถุนายน 2475 เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่สยามประเทศประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ตามที่คณะราษฎรขอรับพระราชทานรัฐธรรมนูญจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน ศกนั้น

9 เดือนต่อมา ในวันที่ 27 มีนาคม 2475 (สมัยนั้นขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ถ้านับอย่างสมัยนี้ก็จะเป็นปี 2476) นางสุพรรณ ภรรยานายเฉลิม ได้ให้กำเนิดทารกน้อยเพศชายผู้หนึ่ง ชื่อ “สุลักษณ์” ในตระกูลแซ่เซียว ที่ใช้นามสกุล “เซียวเกษม” แล้วแปลงให้เป็นไทยขึ้นว่า “ศิวรักษ์” ตามลำดับ

เมื่อเจริญวัยขึ้น บุรุษผู้นี้จึงมักโฆษณาว่า ตนเองปฏิสนธิในครรภ์มารดาวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกนั่นเอง

นี่จะนับว่าชายผู้นี้เป็น “มรดก” ของคณะราษฎรได้หรือไม่นั้น ชวนคิดนัก  ยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ ที่อนุสาวรีย์และความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรถูกทำให้ปลาสนาการไปอย่างเอิกเกริก

“ส. ศิวรักษ์” ในวัย 87 ปี ก็เช่นกัน  พญามัจจุราชเริ่มนับถอยหลังที่จะนำเขาไปสู่ปรโลกแล้วในไม่ช้า  ต่อหน้าความตายที่เข้ามาใกล้ทุกที น่าสนใจว่า ชายชราที่ได้สมญาว่า “ปัญญาชนสยาม” ผู้นี้ เตรียมตัวเผชิญหน้ากับความตายอย่างไร

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ครั้งแรกที่รู้จักความตาย

ผมตระหนักถึงความตายครั้งแรกเมื่อพ่อผมตาย  ตอนนั้นผมอยู่มัธยม 2 เรียนหนังสืออยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ มีคนมาตามกลับบ้านว่า ตอนนี้พ่อไม่รอดแน่แล้ว  ก็กลับมาบ้าน เรานั่งล้อมวงกัน แล้วท่านก็สิ้นไปที่บ้าน

ทีนี้ ในฐานะที่ผมเคยบวชเรียนมา ก็โศกเศร้าไม่มาก และมันมีกิจการงานต้องทำทันทีเลย  สมัยก่อนนี้โทรศัพท์ยังไม่มี ผมยังต้องเดินไปบอกญาติทางฝั่งธนบุรี แถววัดทองธรรมชาติ ญาติข้างพ่อผม  อีกสายก็ไปบอกที่ทางบ้านล่าง วัดทองนพคุณ

พอผมบอกญาติที่วัดทองบนแล้ว ก็ต้องไปขอยืมของที่วัดทองล่าง เช่น ตู้พระธรรม อะไรต่างๆ เพราะตั้งศพสวดที่บ้าน

พ่ออาจารย์ได้สั่งเสียอะไรไว้ครั้งสุดท้ายไหม

ไม่มี  พ่อผมไม่ได้สั่งเสียอะไรเลย  เจ็บอยู่นาน ทรมานมาก  รู้แต่ว่าตอนนั้นร้องห่มร้องไห้เสียใจ  สมัยก่อนนี่ยังต้องโกนหัวนะ ยังถือธรรมเนียมจีนติดมา ที่บ้านเราโกนลูกผู้ชาย

อาจารย์สนิทกับพ่อมาก หลังจากหมดงานแล้ว จัดการกับความรู้สึกอย่างไร

มันก็มีมาเป็นแวบๆ รู้สึกคิดถึง เสียดาย แต่ก็ไม่ได้โศกเศร้าอะไรมาก  ตอนนั้นก็รู้สึกว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

พอถึงคราวแม่อาจารย์ตาย ความรู้สึกต่างกันมากไหม

ต่างกัน คราวแม่ผมนี่ไปอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี ตอนแรกนึกว่าไม่เป็นไร เสร็จแล้ววูบ ก็ไปเลย  ผมได้อยู่ตอนพ่อตาย และตอนแม่ตาย ก็เป็นวาสนา  แต่ตอนแม่ตายผมเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็โทรศัพท์สั่งเรื่องจัดการศพที่วัดทองนพคุณ โทรหาสมภารจัดแจงงานศพ มีสติแล้ว

แล้วความตายของพระที่อาจารย์นับถืออย่างเจ้าคุณวัดทองนพคุณ

เจ้าคุณเทพวิมล เจ้าคุณภัทรมุนี ท่านสิ้นระหว่างที่ผมอยู่ต่างประเทศ  เจ้าคุณธรรมเจดีย์ท่านสิ้นที่โรงพยาบาล ผมก็ทำใจได้เหมือนกัน  ท่านสั่งเสียว่าให้ผมเป็นกรรมการคนหนึ่งที่จัดงานศพท่าน  ผมก็ค่อนข้างตั้งสติได้

พอถึงความตายของลูกศิษย์อย่าง โกมล คีมทอง ซึ่งจากไปในวัยหนุ่ม

พอผมรู้ข่าวว่าโกมลตาย ผมนั่งเศร้าอยู่ที่นอกชานบ้าน  แม้ไม่ได้ร้องไห้ แต่ก็รู้สึกว่า ถ้าไม่มีผม เขาก็คงไม่ตาย เพราะว่าผมเป็นคนแนะให้เขาไปอยู่ที่สุราษฎร์ธานี  ตอนแรกที่เขาจบครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีอาจารย์ชวนให้เขาเป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น แต่เขาไม่เอา  เขาเป็นคนมีอุดมคติมาก เขาก็เคยบอกว่ามีอันตรายยังไงๆ บ้าง  ผมก็เคยบอกเขาตอนสุดท้ายว่า กลับไปคราวนี้ให้ขึ้นมาเถอะนะ  ที่ไหนได้คราวสุดท้ายไปก็ถูกยิงตาย  ผมรู้สึกเศร้ามาก

อีกคนที่ตายก็ รัตนา สกุลไทย สมัยนั้นเหมือนเป็นกิ๊กกัน ก็โดนยิงตายด้วยกันทั้งคู่  รัตนาไม่สวยนะ แต่เป็นผู้หญิงฉลาด

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

เวลาคนใกล้ตัวอาจารย์ตาย เห็นอาจารย์ทำหนังสืองานศพให้ตลอด

คือไม่ใช่อะไรหรอก ผมเอาอย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เห็นท่านหาโอกาสพิมพ์หนังสือแจกตามงานต่างๆ

แต่ตอนหลังมันเลอะแล้ว หนังสืองานศพใส่รูปสีไปเที่ยวไหนๆ เชียร์คนตายกันเหลือเกิน  ผมเห็นว่าหนังสืองานศพ ควรมีประวัติผู้ตายที่เผยทั้งแง่บวกแง่ลบ  แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ไม่พูดแง่ลบ เพราะท่านเอาใจเจ้าภาพ  แต่ผมไม่เหมือนท่านตรงนี้ มีแง่ลบด้วย ผมเห็นว่าสรรเสริญเยินยอกันมาก มันน่าเกลียด

หนังสืองานศพควรเป็นที่ระลึกถึงผู้ตาย ควรเป็นหนังสือที่ให้เจริญมรณานุสติ หรือเป็นหนังสือที่ลงเรื่องดีๆ ที่น่าสนใจ

อาจารย์เคยสั่งว่า ไม่ให้ทำหนังสืองานศพให้อาจารย์

ผมทำหนังสือมาเยอะแยะแล้ว พอได้แล้ว  แต่ห้ามไป ไม่รู้เขาจะเชื่อไม่เชื่อ

วันเกิดปีนี้ เพิ่งพิมพ์ ปัญญาชราชน: ก่อนเฮือกสุดท้ายแห่งชีวิตปัญญาชนสยาม มาเล่มหนึ่ง  แล้ว 27 พฤษภาคมนี้ เมียผมอายุครบ 7 รอบนักษัตร ก็จะพิมพ์ ตำนานงานเขียน ส. ศิวรักษ์ ขึ้นอีก  ก็ยังมีหนังสือออกมาเรื่อยๆ

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

อาจารย์เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายไหม

ผมเห็นว่า ถ้าไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด ผมถือว่าเป็นมิจฉาทิฐิเลย เพราะศาสนาพุทธสอน 3 ขั้นตอน สอนให้มีชีวิตอยู่อย่างรู้เท่าทันในปัจจุบัน เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์  และท่านสอนให้รู้ เตรียมตัวถึงชีวิตเบื้องหน้า เรียกว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์  พอสุดท้าย ปรมัตถประโยชน์ ให้เข้าถึงพระนิพพาน เพราะฉะนั้น เป็นคนถือพุทธ ต้องเข้าใจประโยชน์ถึงปัจจุบัน ถึงอนาคต และถึงพระนิพพาน  ถ้าไม่ถือหลัก 3 ประการนี้ เป็นพุทธศาสนิกไม่ได้

ผมบอกเสมอ เวลาไปรับศีล 5 ตอนอานิสงส์ของศีล พระท่านจะว่า “สีเลนะ สุคติง ยันติ  สีเลนะ โภคะสัมปะทา  สีเลนะ นิพพุติง ยันติ  ตัสมา สีลัง วิโสธะเย” การถือศีลจะได้ประโยชน์สำหรับโลกหน้า (สุคติง ยันติ)  จะได้โภคะ มีชีวิตในปัจจุบันอย่างอุดมสมบูรณ์ (โภคะสัมปะทา)  และไปสู่พระนิพพาน (นิพพุติง ยันติ)  นี่สอนถึงประโยชน์ทั้ง 3 ประการ นี่จากเรื่องศีลอย่างเดียว  เพราะฉะนั้น ถ้าถือศีลโดยไม่เข้าใจอันนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องถือพุทธ

เพราะว่าคนที่ไม่นับถือศาสนา ก็เป็นคนดีได้  ไม่เอาเปรียบตัวเอง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น  อย่างที่เลสลี่ สตีเฟน ลาออกจากนักพรตนิกายอังกฤษ เพราะสงสัยว่าคำสอนในไบเบิลโกหก เขาออกมาไม่ถือศาสนา แต่เขาก็เชื่อว่าเขาจะเป็นคนดีได้ ถ้ามีมาตรการทางศีลธรรมของเขา

ฉะนั้น คนจะเป็นคนดีได้ แม้ไม่นับถือศาสนาพุทธ  แต่ถ้านับถือพุทธศาสนาแล้ว ก็ต้องถือประโยชน์ทั้ง 3 โดยมุ่งพระนิพพานในที่สุด

ความตาย ส ศิวรักษ์

ที่ว่าตายแล้วไปสู่สุคติ คือไปไหน

ก็นี่แหละ เชื่อว่าไปเกิดในที่ที่ดี อาจจะกลับมาเป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นเทวดาก็ได้ นี่สุคติ  แต่ทุคติ อาจจะมาเป็นมนุษย์อีกก็ได้ แต่เลวกว่าเดิม หรืออาจเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสูรกาย ท้ายสุดถึงลงนรกเลย  แต่นรกของฝ่ายพุทธเราก็ไม่นิรันดรเหมือนฝ่ายคริสต์  ของพุทธถึงจะลงนรก ก็มีโอกาสกลับมาเป็นมนุษย์ กลับมาเป็นเทวดาได้ เป็นไปตามพระอนิจจลักษณะ ไม่มีอะไรถาวร เปลี่ยนแปลงได้ตลอด

แล้วอาจารย์คิดว่าจะได้ขึ้นสวรรค์หรือตกนรก

ผมหวังว่า ตายไปแล้ว ผมจะไปสู่แดนสุขาวดีของพระอมิตาภพุทธ นี่เป็นเรื่องมหายานนะ  อย่างที่ญี่ปุ่น ศาสนาพุทธที่นั่นถือคำ 2 คำ สำคัญมากเลย ตีรกี หรือ จีรกี  ตีรกีนี่หมายความว่า คุณตายแล้วจะไปสวรรค์ไปนิพพาน ก็ไปได้ด้วยอำนาจของคุณเอง การภาวนาของคุณเอง พวกเซนถือเรื่องนี้มาก  แต่นิกายอื่นส่วนใหญ่ ถือจีรกี คือตายแล้วอาศัยบุญบารมีของพระอมิตาภพุทธ ไปสู่แดนสุขาวดี

ดี ที ซูซูกิ ก่อนตายแกก็หันมาอาศัยจีรกี ขอพึ่งอำนาจพระอมิตาภพุทธ เพราะอาศัยอำนาจของเราเองมันยาก นี่ยกตัวอย่าง  เพราะถ้าได้พุทธานุภาพของท่านจะช่วยมาก พวกญี่ปุ่นจะเอารูปพระอมิตาภพุทธมาให้คนเห็นก่อนตาย เพื่อจะได้ไปหาท่าน จะได้เห็นเป็นนิมิตที่ท่านมาโปรด  เพราะพระอมิตาภพุทธท่านบอกว่า คนชั่วท่านยังโปรด แล้วคนไม่ดีท่านจะไม่โปรดได้อย่างไร

ของเราก็เหมือนกันนะ เวลาเราจะตาย เขาจะเอาดอกไม้ 3 ดอกมาใส่ที่มือ แล้วกระซิบที่หูว่า ฝากไปไหว้พระจุฬามณีด้วยนะ  เพราะเชื่อว่าอำนาจนี้จะทำให้คนตายไปถึงพระจุฬามณี เพราะรับฝากมาแล้ว ย่อมไม่อยากให้เสียคำพูด  และพระจุฬามณีนี้เชื่อกันว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตัดเส้นพระเกศาออกผนวช พระอินทร์มารับเอาไปสร้างเจดีย์ไว้ที่ดาวดึงส์ เพราะฉะนั้น เราคนไทยเชื่อว่าตายแล้วจะไปไหว้พระจุฬามณีที่ดาวดึงส์

ส.ศิวรักษ์

อาจารย์คิดว่าจะกลับมาเกิดอีกไหม

ผมเชื่อคัมภีร์นะ ตราบใดที่ยังไม่ไปถึงพระนิพพาน  ถ้าเป็นโสดา ก็กลับมาเกิด  ถ้าเป็นพระอนาคา ก็กลับมาเกิดอีกหนเดียว  ถ้าเป็นพระสกาทา ก็ไม่เกิดแล้ว จากนี้ไปพระนิพพานได้เลย  ของผมไม่รู้ แต่ก็หวังว่าอย่างน้อยจะไปถึงพระโสดาได้ คือลดความเห็นแก่ตัวลง แต่ยังไม่สามารถปฏิเสธความเป็นตัวตนได้ อย่างน้อยให้กิเลสเบาบางลง

เพราะฉะนั้น ผมก็ฝัน และหวังว่าก่อนตายจะได้ภาวนา โดยอำนาจของพระอมิตาภพุทธ ให้ผมไปถึงแดนสุขาวดี  อันนี้เป็นเรื่องความเชื่อของผม

อายุปูนนี้ กลัวตายมากน้อยแค่ไหน

ความกลัวมันเป็นหัวใจของมนุษย์เลยนะ เพราะฉะนั้น ที่เราถือพระรัตนตรัยเนี่ย เวลาพระให้ศีล ท่านจะว่า “พุทธัง/ธัมมัง/สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ” และแปลด้วยว่า “ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้า ซึ่งพระธรรมเจ้า ซึ่งพระสงฆเจ้า เครื่องกำจัดภัยได้จริง”  เพราะคนเรากลัวจน กลัวไม่มีชื่อเสียง กลัวตาย ฯลฯ เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ถ้ายึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วนี่เชื่อว่า เราจะชนะความตายได้

แต่จะชนะได้จริงไม่จริง อยู่ที่ว่าเราปฏิบัติมาดีแค่ไหน  สมเด็จพระมหาโฆษนันทะ จากกัมพูชา เคยบอกเลยว่า คนที่บอกว่าไม่กลัวตายนั่นโกหก ใครๆ ก็กลัวตายกันทั้งนั้น

แล้วทำไมอาจารย์ถึงเลือกแปลงานอย่าง เตรียมตัวตายอย่างมีสติ

ผมเลือกแปลจากของทางทิเบต เพราะเข้าอธิบายได้ดีกว่าเพื่อน  ทางฝ่ายเถรวาทเราไม่อธิบายเลย เพราะเชื่อว่ามนุษย์มีขันธ์ 5 รูป เวทนา วิญญาณ สังขาร สัญญา  ตายแล้วมันแตกหมด ประเด็นคืออะไรตายแล้วไปเกิด  ทางมหายานตีประเด็นแตก อย่างพระถังซำจั๋ง ท่านสนใจเรื่องนี้ ท่านศึกษาสันสกฤตจากเมืองจีนแล้ว ยังไปศึกษาที่อินเดีย  ดังที่ผมแปล สู่ชีวิตอันอุดม ของท่านติช นัทฮันห์ ท่านอธิบายขยายความจากพระถังซำจั๋งอีกทีว่า มันมีอาลัยวิญญาณ ซับซ้อนอยู่ข้างใน และตัวนี้เป็นตัวที่ไปเกิด น่าสนใจมาก เพราะฉะนั้นเล่มนี้เป็นงานแปลของท่านนัทฮันห์ที่ผมตั้งใจทำที่สุด ยากที่สุด คิดว่าแปลดีที่สุด และเห็นว่าคนที่สนใจศาสนาพุทธ สนใจเรื่องเตรียมตัวตาย เล่มนี้นับเป็นหัวใจเลย

อาจารย์เตรียมตัวตายอย่างไร

ก่อนนอน ผมเจริญอภิณหปัจจเวกขณ์ มีความแก่เป็นธรรมดา ความเจ็บเป็นธรรมดา ความตายเป็นธรรมดา จะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นธรรมดา แล้วเรามีกรรมเป็นของเราเอง  ก็ระลึกถึงก่อนนอนอยู่เสมอ  ถ้าไม่เมานะ  ถ้าคืนไหนดื่มไวน์มากๆ มันก็ลืมภาวนาไป  (หัวเราะ)

ส ศิวรักษ์

ถ้าพูดแบบในหนัง เมื่อถึงฉากสุดท้ายของชีวิตอาจารย์ อยากมีปัจฉิมพจน์ไหม

ผมพูดมาเยอะแล้ว คงไม่ต้องพูดอีกแล้ว

อาจารย์เขียนพินัยกรรมไว้ว่า ห้ามจัดงานศพ เพราะอะไร

ผมว่างานศพสมัยนี้มันลำบาก คนกว่าจะเดินทางมาถึงวัดนี่ก็ต้องเจอรถติดอะไรต่างๆ  และพิธีกรรมในงานศพก็หาสาระแทบไม่ได้เลย  เพราะฉะนั้น คราวก่อนๆ เวลาจัดงานศพให้แม่ผม ก็พยายามทำให้มีสาระ แต่ก็ได้ผลน้อย เพราะงานศพกลายเป็นวัฒนธรรมประเพณีไป จนแทบไม่เหลือธรรมะแล้ว  ผมเห็นว่าน่าเสียดาย ควรจะให้งานศพเป็นเครื่องเตือนใจเราว่าเราจะต้องตาย

แล้วถ้าไม่จัดงานศพแล้ว จะมีอะไรเตือนใจให้คนได้เห็น

คือโบราณนี้สำคัญมาก สมัยก่อนชักผ้าบังสุกุล ดึงมาจากผี จากศพจริงๆ แล้วเอาผ้ามาซัก มาย้อม เพราะฉะนั้น สมัยก่อนเวลาไปชักผ้าบังสุกุล เหมือนไปทดลองพระเลยนะ  อย่างศพที่ฝังไว้ก่อนรอเผา เวลาชักผ้าบังสุกุลนี่ บ้างก็ทำให้ผีลุกขึ้นมาถวายพระเลย ดูสิว่าพระจะกล้าไหม  และสมัยก่อนบรรยากาศในวัดเป็นป่า ครึ้ม น่ากลัวทั้งนั้น

อย่างวัดทองนพคุณนี่เอง ทุกกุฏิก็มีศพมาฝากไว้ทั้งนั้น แล้วเผาเสร็จก็เอาไม้จากหีบศพมาทำกระดานพื้นกุฏิ  สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมบวชเป็นเณรที่วัดนี้ ฝนตกพรำๆ เรามีอารมณ์ขึ้นมา แข็งขึ้นมา  พอได้กลิ่นศพจากไม้กระดาน หมดอารมณ์เลย  สมัยก่อนพระเลยชั่วน้อย  พระสมัยนี้ทำความชั่วได้ง่าย เพราะอยู่เหมือนฆราวาสเลย

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

เมื่ออาจารย์ตายไปแล้ว จะเหลืออะไรเป็นมรดก สิ่งแทนตัวอาจารย์ต่อไป

ผมไม่ต้องการให้เหลืออะไรไว้ เพราะงานเขียนของผมมีค่าอย่างมาก 10-20 ปีก็หมด  ผมเขียนเรื่องการเมือง วิจารณ์สังคม  ผมไม่ได้แต่งนวนิยาย ไม่ได้มีงานเป็นอมตะ  ผมเชื่อเลยว่าต่อไปไม่เกิน 20 ปี คนก็ลืม ส. ศิวรักษ์

ที่จริง ผมก็เคยคิดจะแต่งนิยาย แต่ก็ไม่สำเร็จ

คุณคิดสิ ขนาดอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทำคุณงามความดีมาเยอะแยะ สมัยหลังรัฐประหารรอบนี้ ปลัดกระทรวงการคลังยังถามเลยว่าป๋วยเป็นใคร สำคัญยังไง  เพราะฉะนั้น มนุษย์เป็นแบบนี้เสมอ  ชนชั้นปกครองจึงย้ำให้เราจำคนบางคน อย่างสมเด็จพระนเรศวร เพราะเป็นประโยชน์แก่ชนชั้นปกครอง เพื่อประโยชน์เรื่องชาตินิยมไทย  ผมเห็นว่าการย้ำแบบนี้มันเลอะเทอะ  เพราะว่าเราตายไปสู่อนิจจลักษณะ หายไปเลย เป็นธรรมดาที่คนจะลืมเลือนไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save