fbpx
การหมดอายุของนักเขียน

การหมดอายุของนักเขียน

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

1

 

นานมาแล้ว มีคนเคยถามผมว่า – นักเขียนคืออะไร?

ถ้าตอบตามพจนานุกรมวิกิพีเดีย คำตอบนี้จะง่ายมาก เพราะนักเขียนย่อมคือคนที่นำเอาถ้อยคำมาจารึกไว้ในรูปแบบต่างๆ บนกระดาษ บนคอมพิวเตอร์ หรือบนอะไรก็แล้วแต่ โดยมีเป้าหมายเพื่อสื่อสารความคิดของตัวเองออกไป ดังนั้น นักเขียนจึงมีได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งนักเขียนนิยาย นักเขียนเรื่องสั้น นักเขียนสารคดี นักเขียนบทละคร นักเขียนเพลง นักเขียนอุปรากร นักเขียนข่าว นักเขียนชีวประวัติ นักเขียนพจนานุกรม นักเขียนผี (Ghost Writer) และอื่นๆ อีกมากมาย

พักเรื่องนักเขียนไว้ก่อน เพราะอยากเล่าให้คุณฟังถึงประโยคสั้นๆ ประโยคหนึ่งของนักเขียนดังอย่าง ชาร์ลส์ บูคอวสกี้ (Charles Bukowski) เขาเขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติ (แต่เป็นนิยาย เพราะมีการสร้างตัวละครขึ้นมาโดยอิงจากชีวิตจริงของเขา) ชื่อ Post Office

ประโยคนั้นตั้งคำถามว่า “Can you remember who you were, before the world told you who you should be?” หรือ คุณจำคนที่คุณเคยเป็น ก่อนที่โลกจะบอกคุณว่าคุณควรจะเป็นใคร, ได้ไหม

ตอนที่มีคนถามผมว่า – นักเขียนคืออะไร ผมไม่อยากตอบด้วยความหมายแบบเดียวกับวิกิพีเดีย แต่กระนั้น ผมก็ตอบไม่ได้ ผมจนแต้ม ผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่านักเขียนควรเป็นสิ่งมีชีวิตแบบไหน

ผมตอบไม่ได้ – จนกระทั่งนึกถึงคำพูดของบูคอวสกี้ขึ้นมาได้นี่แหละ

และผมนึกถึงบูคอวสกี้ขึ้นมา – ก็เพราะนักเขียนอีกคนหนึ่ง

 

2

 

ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาดและเงินทอง การทำงานเขียนเพื่อเลี้ยงชีพเป็นเรื่องปกติที่สุด ไม่ได้สูงส่งหรือต่ำต้อยอะไรไปกว่าอาชีพอื่นๆ เลย

แต่กระนั้น ก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นบ่อยครั้งว่า คนแบบนั้นนับเป็นนักเขียนไหม คนแบบนี้นับเป็นนักเขียนไหม

ตัวอย่างเช่น

นักเขียนพจนานุกรมที่รับจ้างรวบรวมศัพท์แล้วทำงานอย่างซังกะตายไปวันๆ เพื่อรอรับเงิน กับนักรวบรวมพจนานุกรมอย่าง สอ เศรษฐบุตร ที่ใช้วันเวลาในเรือนจำที่เกาะตะรุเตาเพื่อรวบรวมศัพท์แสงต่างๆ แปลจากอังกฤษเป็นไทย ด้วยมุ่งหมายจะให้พจนานุกรมของตนเป็นเหมือนประตูสู่โลกกว้าง เปิดเชื่อมระหว่างภาษาไทยที่มีความรู้ ความงาม และความจริงแบบหนึ่ง ไปสู่ภาษาอังกฤษที่มีความรู้ ความงาม และความจริงอีกชุดหนึ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในที่สุด – ควรจัดว่าเป็นนักเขียนเหมือนๆ กันหรือเปล่า

หรือนักเขียนอย่างทรูแมน คาโพที ที่ไปเช่าวิลล่าในอิตาลีตอนใต้นานเป็นเดือนๆ เพื่อเขียนนิยายให้จบ (สุดท้ายเขาได้ทั้งเงินก้อนโตพร้อมชื่อเสียงแบบเซเล็บฯ แต่นิยายนั้นก็ได้รับคำยกย่องในเชิงวรรณกรรมด้วย) กับกวีอย่างปาโบล เนรูด้า ที่ถูกเนรเทศออกจากประเทศเพราะอุดมการณ์ทางการเมือง แล้วไปอยู่บนเกาะในอิตาลีตอนใต้ (แบบเดียวกับคาโพที) เป็นเวลานาน นักเขียนสองแบบนี้ควรจัดว่าเป็นนักเขียนเหมือนๆ กันหรือเปล่า

หรือนักเขียนนิยายวายที่เขียนเรื่องราวของตนขึ้นเพราะเดินทางตามจินตนาการของตัวเองเข้าไปในโลกที่ไม่มีอยู่จริงอย่างลุ่มหลง ทุ่มเท และปลดปล่อยตัวเองจนหมดสิ้นทุกสิ่ง กับคนที่ลุกขึ้นมาเขียนนิยายวายเพราะเห็นว่านิยายแบบนี้ทำเงินได้ จึงเขียนออกมาโดยไม่ได้อินอะไรกับความวายในสิ่งที่ตนเขียนมากนัก นักเขียนสองแบบนี้ควรจัดว่าเป็นนักเขียนเหมือนกันหรือเปล่า

หรือ ฯลฯ

โปรดอย่าเข้าใจผิดนะครับ ผมไม่ได้จะมาจัดลำดับชนชั้นของนักเขียนอะไร โดยส่วนตัวเชื่อว่า ใครจะเลือกทางเดิน วิธีคิด เป้าหมาย วิธีการ อุดมคติ ฯลฯ แบบไหนก็ได้ทั้งนั้น ไม่มีใครผิดอะไรเลย เพียงแต่เมื่อจะตอบคำถามว่า – นักเขียนคืออะไร, ด้วยคำตอบที่สั้นกระชับที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็ต้องมานั่งพิจารณาอย่างละเอียด ว่าในสังคมของเรา มีผู้ให้ความหมายของความเป็นนักเขียนไว้อย่างไรบ้าง คนที่ทำงานแบบไหน ด้วยวิธีคิดและเป้าหมายแบบไหนถูกจัดว่าเป็นนักเขียน และแบบไหนถูกมองด้วยสายตาเคลือบแคลง เพื่อให้คำตอบนั้นกินความถึง ‘ความเป็นนักเขียน’ ที่ครอบคลุมที่สุดเท่าที่จะทำได้

จำได้ว่า – แม้คิดอยู่นาน แต่ผมก็ตอบคำถามนั้นไม่ได้

คำถามนี้คล้ายคำถามที่ว่า – ผู้หญิงคืออะไร / ผู้ชายคืออะไร ซึ่งในแง่ของเพศ มีผู้วิเคราะห์เอาไว้มากมาย ถึงขั้นมีหนังสือเล่มหนาปึ้ก ชื่อ ‘What is a Woman?’ ที่นักคิดมากมายมารวมกันเขียนบทความเพื่อหาคำตอบว่า – ผู้หญิงคืออะไร? ซึ่งเป็นคำถามที่ถามง่ายแต่ตอบยากมาก เพราะคำตอบขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางวัฒนธรรม ชีววิทยา การประกอบสร้างทางสังคม และอื่นๆ อีกมากมาย ที่นำทางเราไปสู่ ‘ความเป็นหญิง’ หรือ ‘ความเป็นชาย’ อันเป็นฐานที่ซ่อนอยู่ข้างใต้

แล้วนักเขียนเล่า – นักเขียนก็เป็นแบบเดียวกับเรื่องเพศด้วยเหรือเปล่า

‘ความเป็นนักเขียน’ คืออะไรกันแน่?

 

3

 

ผมทิ้งความคิดที่จะตอบคำถามนี้ให้ลุล่วงไปเป็นเวลานาน เพราะจนใจ ไม่รู้จะตอบอย่างไรจริงๆ จนเมื่อไม่นานมานี้ เกิดกรณีนักเขียนดังคนหนึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนักเขียนที่ ‘หมดอายุ’ แล้ว เพราะว่าวิธีคิดของเขาที่เคยสดใหม่ เคยเป็นที่นิยมในความ ‘ล้ำ’ ของวิธีการ บัดนี้ปรากฏว่าหลายความคิดของเขาที่แสดงออกมาผ่านสื่อโซเชียล กลับกลายเป็นความคิดที่ไม่รัดกุม บางคนถึงกับบอกว่าเป็นแนวคิดที่ตื้นเขิน อนุรักษนิยม เร่อร่าล้าหลัง และบางคนก็ถึงขั้นบอกว่าไร้มนุษยธรรมด้วยซ้ำไป

ปรากฏการณ์นี้ทำให้คำถามที่ว่า – นักเขียนคืออะไร, หวนกลับมาใหม่อีกครั้ง

ทำไมนักเขียนคนนี้จึงทำให้ผมนึกถึงคำถามนั้นขึ้นมา?

ย้อนกลับไปในอดีต เท่าที่พอจะจำได้ ผมคิดว่าที่ก่อนหน้านี้ผู้คนชื่นชอบใน ‘วิธีการ’ นำเสนอของนักเขียนดังกล่าว เป็นเพราะมันแปลกใหม่ และหลายชิ้นก็มี Wow Factor ในเรื่อง ‘วิธีการ’ เอามากๆ จนกระทั่ง Wow Factor ทำให้คนมองข้าม ‘สาร’ หรือเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ภายในไป

พูดอีกแบบก็คือ คนชื่นชมที่ ‘รูปแบบ’ ของเขา มากกว่าตัว ‘เนื้อหา’

ประเด็นถัดมาก็คือ เมื่องานที่แปลกใหม่ของเขาได้รับรางวัล ก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขนานใหญ่จาก ‘โลกเก่า’ ที่เก่าเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง เป็นโลกประเภทที่เห็นว่า ‘นักเขียน’ คือนักใช้ถ้อยคำ นักเขียนต้องสร้างเรื่องให้สมจริงและงดงามผ่านภาษาและอักษร ตัวละครต้องมีชีวิต ไม่ใช่แข็งทื่อเอามารับใช้ ‘วิธีการ’ เท่านั้น นั่นทำให้เขาโดนวิจารณ์เรื่องนี้ไม่น้อย

อีกเรื่องหนึ่งที่เขาถูกวิจารณ์มาก ก็คือการนำเอาวิธีใหม่ๆ เช่น วิธีเชิง Visual หรือวิธีแบบนักโฆษณาเข้ามาใช้กับงานวรรณกรรม เป็นคล้ายๆ การลดสถานะ ‘ความเป็นนักเขียน’ ของตัวเองลง ถ้าไม่ได้รางวัลก็ไม่เท่าไหร่ แต่พอได้รับรางวัลนักเขียน ก็คล้ายความเป็นนักเขียนถูกปนเปื้อน (contaminate) ด้วยศาสตร์และศิลป์อื่น จึงมีคนวิจารณ์กระทั่งว่า – รางวัลที่ควรให้กับ ‘นักเขียน’ จึงไม่ควรให้กับงานเขียนแบบนี้

นั่นจึงทำให้ผมหวนกลับมาสู่คำถามที่ว่า – นักเขียนคืออะไร, นั่นเอง

การวิพากษ์วิจารณ์ทำนองนี้ พูดให้ถึงที่สุดคือการวิพากษ์เชิงอักษรศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด และที่จริงก็เป็นเรื่องจำเป็นด้วย แต่กระนั้นก็มีงานวิพากษ์วิจารณ์แนวอื่นน้อยเกินไป ผมจำไม่ได้เลยว่ามีการวิพากษ์หรือวิเคราะห์ในแนวทางสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ หรือเปล่า ด้วยเหตุนี้จึงพอพูดได้ว่า การตรวจสอบส่วนใหญ่เป็นไปในแง่ของการตรวจสอบ ‘วิธีสร้าง’ มากกว่า ‘วิธีคิด’

เราจึงแทบไม่เกิดการรับรู้เลยว่า – วิธีคิดของเขาเป็นอย่างไร

 

4

 

ผ่านมาถึงยุคปัจจุบัน สังคมบีบคั้นในทางอุดมการณ์มากขึ้น อัดตัวและกรีดแบ่งมากขึ้น วันเวลาที่ผ่านไป พรากความสดใหม่เยาว์วัยในการคิดสร้าง ‘วิธีการ’ ของนักเขียนไป สิ่งที่เรียกว่า creativity เริ่มถดถอยลง เห็นได้ชัดเจนว่า ที่เคยตั้งใจ ‘คิด’ วิธีนำเสนอให้แปลกใหม่ล้ำยุคจนกลายเป็นแบรนด์ (และในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นตัวห่อกรอง เป็นอาภรณ์งดงามน่าทึ่งด้านนอก) เริ่มหดหาย

เมื่อสายน้ำแห่ง ‘ไอเดีย’ หรือ ‘วิธีสร้าง’ ลดระดับลง ความจริงของ ‘วิธีคิด’ จึงแสดงออกมาชัดเจนขึ้น และนั่นเอง – ที่ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์สาหัส เพราะหลายคนรู้สึกผิดหวังกับ ‘อดีตไอดอล’ ของตัวเอง หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมจึงเกิดการ ‘เปลี่ยนไป’ ของวิธีคิด แต่หลายคนก็ตั้งข้อสงสัยไปในด้านตรงข้าม – นั่นคือฐานเดิมของความคิดอาจเป็นเช่นนี้อยู่แล้วก็ได้

            เขาไม่ได้เปลี่ยนไป เขาเพียงแต่ไม่อาจเปลี่ยนไป

 

5

 

เรื่องทั้งหมดนี้ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึงคำถามที่เคยถูกถามเมื่อนานมาแล้วนั้นอีกครั้ง,

นักเขียนคืออะไร?

ปรากฏการณ์วิพากษ์วิจารณ์นักเขียนที่ว่ามานี้ ทำให้ผมนึกถึงคำพูดประโยคน้ันของชาร์ลส์ บูคอวสกี้ ใน Post Office ขึ้นมา ประโยคนั้นตั้งคำถามเอาไว้ว่า คุณจำคนที่คุณเคยเป็น ก่อนที่โลกจะบอกคุณว่าคุณควรจะเป็นใคร, ได้ไหม

คำพูดประโยคนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ ‘ความเป็นนักเขียน’ เท่านั้น แต่แท้จริงแล้วมันหมายถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ผ่านการเติบโต การต่อสู้ต่อรอง การขบถ การจำยอม และอาจหมายรวมถึงการสมยอมในความเป็นมนุษย์ด้วย โดยเฉพาะเมื่อแส้แห่งอำนาจทางสังคมโอบรัดน้ำเนื้อแห่งความเป็นมนุษย์จนปริแตก

ในความหมายเดียวกันนี้ นักเขียนก็ย่อมไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการตระหนักถึง ‘คนที่ตัวเองเคยเป็น’ ก่อนที่จะมาเป็น ‘คนที่ควรเป็น’ อย่างที่สังคมพยายามบอก พยายามตีกรอบ และกระทั่งพยายามกำกับควบคุมให้ ‘ต้องเป็น’ ผ่านกลไกต่างๆ ในทุกมิติ ทั้งสังคม วัฒนธรรม และกระทั่งเศรษฐกิจหรือเงินในกระเป๋าข้าวในหม้อ

ในความหมายที่กินลึกลงไปถึงตัวตนและความเป็นมนุษย์ นักเขียนจึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากพยายามเป็น คนที่เขาเคยเป็น ก่อนจะเป็นคนอย่างที่โลกบอกว่าเขาควรเป็น, ให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

หากมองในแง่นี้ การหมดอายุของนักเขียนบางคนจึงอาจซับซ้อนกว่าที่เราคิด เพราะมันอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเขาจะเริ่มจรดปากกาลงเขียนอักษรตัวแรกด้วยซ้ำไป

เพราะถ้าหากว่าเราเป็นแต่ คนอย่างที่โลกบอกว่าเราควรเป็น ทว่าไม่เคยเป็น คนที่เราเคยเป็น มาก่อนเลย

ก็แล้วเราจะเปลี่ยนไปได้อย่างไรกันเล่า

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save