วจนา วรรลยางกูร เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
ชื่อของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักจากการจัดรายการโทรทัศน์วิเคราะห์สังคมไทย และยิ่งเป็นที่พูดถึงในฐานะนักวิชาการด้านนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์จากการเสนอแนวคิดเรื่อง ‘รัฐพันลึก’ (Deep State) ในการมองสังคมไทย ซึ่งต่อมาเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในแวดวงวิชาการไทย
เออเชนี เมรีโอ (Eugénie Mérieau) นักวิชาการฝรั่งเศส ศึกษานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และภาษาศาสตร์ ที่ Sorbonne, Sciences-Po และ Inalco ในปารีส เคยทำงานวิจัยและสอนที่ Sciences-Po ปารีส, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเคยเป็นนักวิจัยรับเชิญที่ Centre for Asian Legal Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ก่อนเรียนจบปริญญาเอกซึ่งทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไทย จากนั้นจึงทำงานสอนและวิจัยที่มหาวิทยาลัย Göttingen เยอรมนี ในปี 2017-2019
ปัจจุบันเป็นนักวิจัยรับเชิญสถาบัน Institute for Global Law and Policy มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
เออเชนีติดตามศึกษาสังคมไทยและมีงานวิชาการเกี่ยวกับสังคมไทยจำนวนมาก พร้อมๆ กับการศึกษาเชิงเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพกว้างขึ้น
มุมมองจากงานวิชาการของเออเชนีมีส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบันที่ประเทศอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นจากการรัฐประหาร อันมีแนวคิดที่สืบทอดมาจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่มีส่วนสร้าง ‘รัฐพันลึก’ โดยเธอเปรียบเทียบประเทศไทยในปัจจุบันว่าเป็น ‘ประชาธิปไตยแบบถูกควบคุม’ (tutelary democracy) คล้ายกับเมียนมาร์และตุรกีในยุคหนึ่ง
เธอเห็นอะไรในรัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ผ่านๆ มาจนถึงฉบับปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้มีส่วนสร้าง ‘ความเป็นไทย’ อย่างไร และจะส่งผลไปในทิศทางใดในอนาคต
ทราบว่าล่าสุดมีงานเขียนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไทย
มีหนังสือภาษาอังกฤษที่เขียนเกี่ยวกับไทย ชื่อ Constitutional Bricolage ความคิดหลักคือรัฐธรรมนูญของไทยรับมาจากหลายประเทศ บางทีเราคิดว่าประเทศไทยเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) แต่มันไม่ใช่ เพราะมีการเอาหลักการของยุโรปในศตวรรษที่ 19 มาใช้ ซึ่งเป็น ruling monarchy ที่ผสมให้ดูเหมือนราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของศตวรรษที่ 20 ในยุโรป รวมถึงมีการหยิบเอารัฐธรรมนูญของเมจิในญี่ปุ่นมาใช้ด้วย
ราชาธิปไตยแบบศตวรรษที่ 19 ของยุโรปมีหลายแบบ ฝรั่งเศสจะเป็นการปกครองโดยตรง (1814, 1830) เยอรมนี (หรือ Prussia) ช่วงปี 1850 มีรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจรัฐสภามากขึ้น แต่กษัตริย์ยังมีอำนาจวีโต้อยู่ อำนาจอยู่ที่กษัตริย์แต่เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญให้ดูดี เป้าหมายคือไม่อยากให้มีปฏิวัติ เพราะตอนนั้นเป็นช่วงที่มีกระแสแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ กษัตริย์จึงทำสิ่งที่เรียกว่า conservative modernization ให้สภามีอำนาจมากขึ้น แต่ยังรักษาอำนาจของตัวเองไว้อยู่ เป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมในเอเชีย
ปี 1889 ญี่ปุ่นมีรัฐธรรมนูญที่เอาโมเดลจาก Prussia ในเยอรมนีมาใช้ โดยมีเป้าหมาย 2 อย่าง 1. เป้าหมายเดียวกับเยอรมนี เพื่อไม่ให้เกิดการปฏิวัติแบบถึงรากถึงโคน เลยต้องเกิด conservative modernization 2. เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้อำนาจของประเทศในยุโรป จึงต้องมีรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงว่าตัวเองศิวิไลซ์แล้ว
ญี่ปุ่นมีการเขียนรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ดีมาก และดูเหมือนว่าจักรพรรดิไม่ค่อยมีอำนาจ แต่อยู่ในสถานะเป็นที่สักการะ มีรัฐสภาที่พัฒนาการได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คือทหารไม่ยอมเชื่อฟังรัฐสภา เพราะถือว่าเป็นทหารของจักรพรรดิ ทหารเลยเริ่มมีอำนาจมากขึ้นแล้วมาทำร้ายรัฐสภา
เมืองไทยเริ่มมีความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 มีการร่างรัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนของจักรพรรดินโปเลียน โบนาบาร์ต ของฝรั่งเศส คือ ruling monarchy แบบ absolute จากนั้นรัชกาลที่ 6 ทำดุสิตธานีโดยเอาโมเดลของอังกฤษมาใช้ แต่ไม่ได้ใช้จริง หลังจากนั้นรัชกาลที่ 7 มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับซึ่งเป็น ruling monarchy ทั้งสองฉบับ
จากนั้นมีปฏิวัติ 2475 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก คือ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม 27 มิถุนายน 2475 ของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งรัชกาลที่ 7 เห็นว่าราดิคัลไปและคณะราษฎรทำกันเอง จึงให้ร่างใหม่ ในกระบวนการร่างเราพบว่าเป็นการ copy and paste รัฐธรรมนูญปี 1889 ของญี่ปุ่น แต่ใช้การอธิบายแบบอังกฤษเรื่อง ‘เหนือการเมือง’ (above politics)
รัฐธรรมนูญนิยมหรือประชาธิปไตยในไทย เริ่มต้นด้วยความเข้าใจผิด ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจกษัตริย์เหมือนญี่ปุ่น อีกฝ่ายเห็นว่าให้อำนาจรัฐสภามากกว่าเหมือนของอังกฤษ ฝ่ายทหารไทยก็ใช้ข้อโต้แย้งแบบทหารญี่ปุ่น ทำให้เกิดปัญหาจนถึงทุกวันนี้ ที่เรียกว่า Bricolage เพราะเป็นการเอากฎหมายมาตีความใหม่เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของแต่ละฝ่าย ผสมเนื้อหาแบบหนึ่งเข้ากับคำอธิบายอีกแบบหนึ่ง
แม้แต่ในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่พูดกันว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดก็ยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ไหม
รัฐธรรมนูญ 2540 ก็เหมือนกัน เขียนแบบการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐสภา (parliamentary monarchy) แต่ในขณะเดียวกันก็ตีความตรงกันข้ามได้ สิ่งที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 1889 ของญี่ปุ่นก็ยังอยู่เหมือนเดิม เช่น การไม่ได้เขียนถึงเรื่องอำนาจวีโต้ของกษัตริย์ แต่เขียนว่าต้องลงพระปรมาภิไธยร่างกฎหมายใน 90 วัน แล้วไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมทำให้เกิดการตีความหลายแบบ แต่ก็มีธรรมเนียมที่นักการเมืองไทยทำมาโดยตลอดคือถ้าไม่ลงพระปรมาภิไธย อย่าเพิ่งเสนอต่อ ต้องถอนกฎหมายออก
เนื้อหารัฐธรรมนูญมีความคลุมเครือว่าจะต้องตีความโดยอ้างอิงจากอะไร สังคมมีฉันทมติเรื่องการตีความอย่างไร แต่จะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการตีความแบบหนึ่ง เช่นในปี 2556 ที่มีการเสนอให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทำไม่ได้ ตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เริ่มมีการตีความอย่างเป็นทางการว่า ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หมายถึงอะไรบ้าง โดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้มีอำนาจเป็นพิเศษที่จะบอกว่าข้อความเหล่านี้จะตีความอย่างไร ซึ่งเราเห็นว่าการจะตีความอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการเมือง แต่ปัญหาของไทยคือการตีความแบบหนึ่งอาจไม่ถูกต้อง แต่นักการเมืองก็ไม่กล้าชน ซึ่งเข้าใจได้ เพราะอาจโดนรัฐประหารและอื่นๆ
สำหรับฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าจะสู้กันตั้งแต่เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเอาเรื่องเหล่านี้มาคุยกันด้วย
หากจะเริ่มพูดกันเรื่องการตีความ ต้องคุยกันตั้งแต่องค์ประกอบพื้นฐานของสถาบันทางการเมืองต่างๆ คิดว่าจะเกิดขึ้นได้จริงไหม
หากสุดท้ายแล้วการตีความเป็นลักษณะตามอำเภอใจหรือกลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นฝ่ายเดียวที่มีอำนาจหยิบใช้การตีความนี้ ก็ควรพูดคุยกันให้มากกว่านี้
อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ ก็ไม่เคยมีการตีความหรือวิเคราะห์กันในสังคมไทยนัก ทั้งที่คำวินิจฉัยนี้มีอะไรที่ให้ตีความเยอะมาก ควรจะเป็นประเด็นที่คนในสังคมมาคุยกัน แม้ว่าในหลายสังคมจะไม่ตีความหรือวิจารณ์ศาล แต่อย่างน้อยต้องมีเวทีสาธารณะที่คนมาแสดงความคิดเห็นได้ เพราะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของคนหลายคนที่เลือกพรรคนี้ เมื่อไม่มีพรรคนี้อยู่ในเขต ก็จะไม่มีพรรคเพื่อไทยด้วย เขาเลือกพรรคที่อยากจะเลือกไม่ได้ แต่ไม่เห็นมีการเปิดประเด็นนี้มากเท่าที่ควร
มองการเมืองไทยปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
เวลามีรัฐสภาที่ฟังเสียงผู้คนได้มันก็เป็นความหวังอยู่แล้ว ตอนนี้เปรียบเทียบเมียนมาร์กับไทยได้ง่าย เป็น ประชาธิปไตยแบบถูกควบคุม (tutelary democracy) คือประชาธิปไตยที่ผู้มีอำนาจวีโต้ (veto player) ยังไม่ได้รับการเลือกตั้ง รัฐสภาฟังเสียงได้ในกรอบแค่นี้ แล้วเมื่อไหร่ออกนอกกรอบก็จะโดนรัฐประหารหรือติดคุก
ในเมียนมาร์ก็เหมือนกัน ที่นั่ง 25% เป็นของทหาร แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐสภาไม่ฟังก์ชันหรือไม่สร้างผลอะไร
เมื่อเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบถูกควบคุมแล้วเดินหน้าต่อได้ รัฐสภาก็ต้องพยายามทำในกรอบให้ได้ผลมากที่สุด รักษาความชอบธรรมของรัฐสภาเอาไว้แล้วค่อยๆ พัฒนาไป
ตอนแรก ช่วงปี 2012 เมียนมาร์มีศาลรัฐธรรมนูญที่ไปในทิศทางเดียวกับทหาร ศาลก็พยายามทำร้ายรัฐสภาเมียนมาร์ แต่รัฐสภาต่อสู้กลับ สุดท้ายก็ชนะได้ ทุกอย่างคือการต่อสู้ทางการเมือง แม้ว่าอยู่ในระบบนี้แต่ก็เดินหน้าต่อได้
เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี ก็เริ่มด้วยการอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบถูกควบคุมมาก่อน เขาโดนยุบพรรค โดนหลายอย่าง แต่ตอนนี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ (ซึ่งก็เป็นเผด็จการมาแทนเผด็จการ) ที่สำคัญคือ มันขึ้นอยู่กับการต่อสู้ทางการเมือง
สิ่งที่แน่นอนคือ โลกในวันนี้ เผด็จการจะอยู่รอดนานๆ ได้ ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งบ้าง เผด็จการก็ต้องการความชอบธรรมเพื่ออยู่ต่อได้ ดังนั้น การที่ทหารจัดให้มีการเลือกตั้ง ปี 2019 ก็ต้องถือว่าเป็น smart move
หลังจากที่คุณเสนอเรื่อง ‘รัฐพันลึก’ ในสังคมไทย เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรที่น่าสนใจไหม
เครือข่ายนี้สามารถสืบทอดตัวเองต่อไปได้ ไม่ว่าตัวบุคคลจะเป็นใคร ระบบก็สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ เพราะสิ่งสำคัญคือการมีโครงสร้างเชิงสถาบันที่ขึ้นอยู่กับกฎหมายและผลประโยชน์เชิงวัตถุหรือทรัพย์สินที่ทำให้ระบบอยู่ต่อได้และสืบทอดตัวเองโดยอัตโนมัติ
คิดอย่างไรกับที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่าสิบกว่าปีนี้รัฐพันลึกไม่ได้ลึกเท่าไหร่ แต่โผล่มาให้เห็นชัดเจน
ก็ถูก ถ้ามองในภาพนี้จะมีรัฐและรัฐพันลึก มีรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญพันลึก ซึ่งในประชาธิปไตยแบบถูกควบคุม รัฐหรือรัฐธรรมนูญจะขยับไปในทิศทางที่ลึกขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐสภาจะมีอำนาจมากขึ้นหรือน้อยลง ตอนนี้เราอยู่ในระบบประชาธิปไตยแบบถูกควบคุมที่ทหารมีอำนาจควบคุมชัดเจน ไม่ได้แอบอยู่หลังฉาก ในขณะที่ยังมีการเลือกตั้ง มีรัฐสภาที่ฟังก์ชันได้
รัฐพันลึกขึ้นอยู่กับกฎหมาย เขียนชัดเจนในรัฐธรรมนูญ แล้วแต่ว่าคนจะเห็นหรือไม่ ไม่ได้ ‘ลึก’ ในความหมายของนิธิ ขึ้นอยู่กับวิธีมองมากกว่า

งานเขียนเกี่ยวกับประเทศไทยล่าสุดคือเรื่อง ‘รัฐธรรมนูญพันลึก’ มีแนวคิดอย่างไร
งานเขียนเกี่ยวกับประเทศไทยล่าสุด คือ การนำบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในโลกภาษาอังกฤษ มาแปลเป็นภาษาไทยและรวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำ บทความเหล่านี้ได้พูดถึงแนวคิดเรื่อง รัฐพันลึก (deep state), รัฐธรรมนูญพันลึก (deep constitution) และอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญ (constitutional identity) ของประเทศไทย
รัฐธรรมนูญพันลึกเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างยาวนาน แนวคิดนี้อาจคล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของนิธิ เอียวศรีวงศ์ แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แนวคิดของเราคือรัฐธรรมนูญพันลึก ได้แก่ กฎอัยการศึก รัฐธรรมนูญชั่วคราว และบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญถาวร
กฎอัยการศึกของไทยเป็นกฎหมายที่มีมายาวนานกว่า 100 ปี และมีอยู่มาโดยตลอดแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมา 20 ครั้ง หรือมีการพยายามสู้จากฝ่ายที่ไม่ได้เป็นทหาร เช่น รัฐบาลพลเรือนพยายามตรากฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษของตนเอง เช่น พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แต่สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดคือกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำรัฐประหารด้วย
ประเทศไทยมี พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ตราขึ้นตั้งแต่สมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อมามีความพยายามสถาปนาอำนาจพิเศษในสภาวะยกเว้น (state of exception) เข้าไปไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน คือ ธรรมนูญการปกครอง 2502 มาตรา 17 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ และรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะรัฐประหารก็จะมีมาตราที่ให้อำนาจพิเศษนี้มาตลอด เมื่อออกจากระบบรัฐประหาร กลับเข้าสู่การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับถาวรก็รับรองการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารไว้ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และพัฒนาการล่าสุด คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยังกำหนดให้หัวหน้า คสช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ต่อไป จะเห็นได้ว่า อำนาจพิเศษแบบนี้มีอยู่อย่างต่อเนื่องว่าไม่ว่าไทยจะเป็นประชาธิปไตย เผด็จการ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ ยังไงก็จะมีกฎอัยการศึกหรืออำนาจพิเศษซ่อนอยู่ตลอด
รัฐธรรมนูญพันลึกเป็นสิ่งที่ทำให้ทหารมีอำนาจพิเศษ โดยมีอุดมการณ์ ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ กำกับ เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ 2490 จนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันกลายเป็นหลักการทางกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญเอามาใช้อ้างได้ อย่างกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติก็มีการอ้างถึงอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญของไทย คือ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จากแนวคิดเรื่องรัฐพันลึก, รัฐธรรมนูญพันลึก และอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญ สุดท้ายไม่ว่าไทยจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก เพราะอุดมการณ์รัฐไทยยังอยู่เหมือนเดิม
ไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียวที่มีกฎอัยการศึก แต่ประเทศอื่นก็มี อะไรคือความเหมือนและความต่างของกฎอัยการศึกไทยและระดับสากล
จริงๆ ทุกรัฐสร้างขึ้นมาด้วยกฎอัยการศึก อำนาจพิเศษเบ็ดเสร็จ การทำสงครามและการทหาร ไทยไม่ได้ต่างจากประเทศอื่น แต่ประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะเห็นชัดเจนว่ากฎอัยการศึกและอำนาจพิเศษอยู่ในพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทยมาโดยตลอด และยังกลายเป็นเครื่องมือในการทำรัฐประหารอีกด้วย
งานชิ้นนี้ไม่ได้ทำในเชิงไทยศึกษา แต่เป็นการใช้กรณีของไทยเป็นกรณีศึกษาในทางทฤษฎีรัฐธรรมนูญ ทฤษฎีของรัฐ หรือทฤษฎีของอำนาจ ศึกษาว่าอำนาจเผด็จการทำงานกับระบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายได้อย่างไรมากกว่า
รัฐธรรมนูญพันลึกมีฟังก์ชันอย่างไร เข้ามาช่วยเสริมเครือข่ายของรัฐพันลึกอย่างไร
มีความเชื่อกันว่ารัฐพันลึกในประเทศไทย เป็นรัฐแบบไม่เป็นทางการ ยึดโยงกันเป็นเครือข่าย เป็นเหมือนมาเฟียบ้าง เป็นเหมือนเครือข่ายชนชั้นนำบ้าง แต่ในความเห็นของเรา คิดว่าไม่ใช่ แต่รัฐพันลึกของไทยนั้นเกิดขึ้นจากโครงสร้างของรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมายทั้งสิ้น หากเราบอกว่า ‘อำนาจพิเศษ’ ก็ดี หรือ ‘รัฐพันลึก’ ก็ดีที่เป็นฝ่ายทหารนั้นปรากฏในรูปของอะไร? ปรากฏในรูปของกฎอัยการศึก กฎหมายที่ให้อำนาจ กอ.รมน. อำนาจพิเศษที่ฝังไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่รัฐแบบไม่เป็นทางการเลย แต่มีกฎหมายสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น หรือในแง่ขององค์กรตรวจสอบหรือศาลก็เช่นกัน รัฐธรรมนูญ 2540-2550-2560 สร้างศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ หรือองคมนตรีเอง ซึ่งก็ไม่ใช่องค์กรไม่เป็นทางการ แต่เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญ 2490 สร้างขึ้นมาจนทุกวันนี้ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสถาบัน มีกฎหมายรองรับทั้งสิ้น
เอาเข้าจริง รัฐพันลึกในประเทศไทยดำเนินการแบบ ‘รัฐคู่ขนาน’ (dual state) คือ รัฐที่มีอำนาจเด็ดขาด กับรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อไรก็ตามที่รัฐที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มออกนอกกรอบ รัฐที่มีอำนาจเด็ดขาดก็เข้าจัดการในรูปแบบต่างๆ เช่น รัฐประหาร หรือใช้ศาลตัดสินคดีต่างๆ
ในทางทฤษฎี รัฐพันลึกมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่อะไรได้บ้างไหม
อย่างสิ่งที่ แอร์โดอาน (ประธานาธิบดีตุรกี) ทำคือทำลายสถาบันทั้งหมด เขาเอาทหารและศาลในระบบเก่าออกเป็นพันๆ คน จึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่สิ่งที่แอร์โดอานใช้คือเผด็จการเบ็ดเสร็จ ซึ่งเราคิดว่าถ้าทักษิณไม่ได้โดนรัฐประหาร เขาอาจจะพัฒนาไปเป็นแบบแอร์โดอานก็ได้ คือการเปลี่ยนรัฐได้โดยใช้เผด็จการเบ็ดเสร็จ
สิ่งที่ต่างกันคือในไทยมีแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นอัตลักษณ์ที่คนไทยพร้อมสู้เพื่อรักษาไว้ จึงไม่แน่ใจว่าถ้ามีนักการเมืองที่มีอำนาจมาก แล้วสามารถนำทหาร ศาล และข้าราชการที่เป็นของระบบเก่าออก แล้วประชาชนจะเป็นยังไง รู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะจบด้วยดี
คอนเซ็ปต์รัฐพันลึกไม่ได้มีอุดมการณ์ในตัวมันเอง เราสามารถมีรัฐพันลึกที่ส่งเสริมอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ไหม
ไม่ ขึ้นชื่อว่า ‘รัฐ’ มันไม่เป็นประชาธิปไตยโดยตัวมันเอง รัฐคือความรุนแรง เราต้องสืบค้นว่าอะไรคือความรุนแรงในรัฐ การสร้างรัฐมาจากความรุนแรง ทีนี้จะทำอย่างไรให้รัฐซึ่งคือความรุนแรงนั้นชอบธรรม ก็ต้องสร้างความชอบธรรม คือการให้ความปลอดภัยและสิทธิต่างๆ กับประชาชน ให้ประชาชนยอมอยู่ภายใต้อำนาจรัฐเพื่อความมั่นคงปลอดภัย เพื่อสิทธิเสรีภาพ รัฐจึงเป็นทั้งเสรีนิยมและอำนาจนิยมไปพร้อมกัน คือความรุนแรงควบคู่กับสิทธิ เป็นรัฐที่คู่ขนานกัน ด้านหนึ่งรัฐเสรีนิยมให้สิทธิเสรีภาพ อีกด้านหนึ่งรัฐอำนาจนิยมใช้ความรุนแรงจัดการ ซึ่ง ‘กฎหมาย’ เป็นกลไกของทั้งสองด้านนี้ กฎหมายประกันสิทธิเสรีภาพ และกฎหมายก็เป็นเครื่องมือของการปราบปรามและใช้ความรุนแรงด้วย
ปัญหาก็คือระหว่างรัฐคู่ขนานนี้ใครใหญ่กว่าใคร ก็ต้องดูว่าใครเป็นผู้ทรงอำนาจในการตัดสินใจ ใครเป็นผู้ทรงอำนาจในการวีโต้ ซึ่งของไทยชัดเจนว่ารัฐแบบอำนาจนิยมใหญ่กว่า บทพิสูจน์ก็คือหากรัฐที่มาจากการเลือกตั้งทำอะไรออกนอกกรอบก็จะถูกรัฐประหาร
ในทุกรัฐจะต้องมีความลับบางอย่างเพื่อรักษาความรุนแรงของรัฐเอาไว้ สหรัฐหรือฝรั่งเศสก็มี แต่เราต้องสู้ รัฐพันลึกพยายามซ่อนตัว พยายามซ่อนความรุนแรงของตนเองเอาไว้ ดังนั้น เราต้องสู้เพื่อเปิดเผยหรือกระชากหน้ากากของรัฐพันลึกออกมา นี่เป็นเป้าหมายที่รัฐสภาและนักการเมืองจากการเลือกตั้งต้องทำให้ได้ มิใช่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นลูกน้องของรัฐพันลึก
รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีความเป็นรัฐธรรมนูญพันลึกแค่ไหน ชัดเจนกว่าฉบับก่อนๆ หรือเปล่า
ชัดเจนมาก เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่ดูเป็นเสรีนิยม แต่จริงๆ แล้วเป็นอำนาจนิยม ซึ่งมีการเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศไทยมาโดยตลอด อำนาจพิเศษแปลงมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แล้วแปลงมาเป็นบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญถาวร นี่เป็นมรดกของกฎอัยการศึกในการปกครองรัฐที่เราเห็นมาโดยตลอด ไม่ว่าอยู่ในช่วงเป็นประชาธิปไตยหรือช่วงรัฐประหาร อำนาจวีโต้ของทหารก็ยังอยู่
รัฐธรรมนูญไทยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 4.5 ปี บทเฉพาะกาลส่วนใหญ่สร้างให้มีวุฒิสภาหรือกลไกลักษณะนี้อยู่ประมาณ 6 ปี ดังนั้นแปลว่า สิ่งที่ปกครองประเทศไทยอยู่ตลอดอย่างแท้จริง คือ บทเฉพาะกาล เพราะกว่าจะถึงเวลาที่จะเริ่มต้นใช้บทปกติของรัฐธรรมนูญก็มีรัฐประหารใหม่แล้วเกิดบทเฉพาะกาลใหม่
แต่ต้องให้ความยุติธรรมกับรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ไม่มีบทเฉพาะกาล ส่วนเสรีนิยมของรัฐธรรมนูญได้ปกครองรัฐตั้งแต่แรก ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญอื่นที่จะมีบทเฉพาะกาลเป็นส่วนใหญ่
รัฐธรรมนูญ 2560 จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการเมืองไทยแค่ไหน อะไรคือสิ่งสุ่มเสี่ยงที่รัฐธรรมนูญนี้ทิ้งไว้
การมีวุฒิสภา แต่ต้องดูว่าหลังจาก 5 ปีนี้จะเป็นยังไงต่อ แต่คิดว่าน่าจะมีรัฐประหารก่อน ส.ว.หมดวาระ แล้วก็มีการเปลี่ยนไปก่อน
ตอนนี้รัฐประหารไทยทำเป็นเชิงสัญลักษณ์มากกว่า การรัฐประหารในประเทศอื่นจะมีความรุนแรง มีการฆ่า การจับคนจำนวนมาก ของไทยจับอยู่สามวัน เอารถถังออกมานิดหน่อยเป็นสัญลักษณ์ เพราะมีบทเรียนจากการรัฐประหารก่อนๆ จนมีประสบการณ์
เราโดนวิจารณ์ว่า การเขียนว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ประเทศไทยเป็นเผด็จการ หรือการเขียนถึงอำนาจต่างๆ ที่ฝังตัวอยู่ในรัฐ ทำให้ประชาชนไม่มีพลัง ท้อแท้ สิ้นหวัง ทำให้คนไม่สู้เพราะรู้สึกว่ามันสู้ไม่ได้ เพราะสู้กับโครงสร้างใหญ่โตแบบนี้ยากมาก แต่เราคิดว่าพลังของประชาชน นักการเมือง และทุกคนยังมีอยู่และเปลี่ยนแปลงได้ เช่นถ้าดูอนาคตใหม่ก็สามารถสร้างอะไรใหม่ได้โดยที่โครงสร้างไม่ได้เอื้อให้ทำ
‘พลังของประชาชน’ กับ ‘โครงสร้าง’ เป็นปฏิกิริยาต่อกันมาโดยตลอด ไม่ว่าโครงสร้างจะเป็นยังไง ประชาชนมีพลังสู้กับมันได้อยู่แล้ว
ปัญหาคือโลกประชาธิปไตยถดถอยลง ตั้งแต่ปี 2549 ที่มีรัฐประหารในไทย ประชาธิปไตยในยุโรปก็มีลักษณะอำนาจนิยมมากขึ้น ประชาธิปไตยทั่วยุโรปกำลังถูกทำร้าย ในสหรัฐก็ชัดเจนมาก คนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทยจึงยากขึ้นด้วย เพราะว่าโมเดลประชาธิปไตยที่เคยฝันกันนั้นถูกทำลายความเชื่อไปหมดด้วยโมเดลแบบจีนหรือสิงคโปร์ที่มีความสำเร็จทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีมากกว่าประเทศประชาธิปไตยในยุโรป สถานการณ์การเมืองโลกตอนนี้ จึงไม่ได้เอื้อต่อคนที่สู้เพื่อประชาธิปไตยในไทยเท่าไหร่
นอกจากนี้ ปัญหาของประเทศไทย ไม่อยู่ใน global conversation การต่อสู้ที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ทั่วโลก แทบไม่มีเรื่องของไทยปรากฏ การประท้วง การต่อต้าน ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในรอบปีที่ผ่านมา เช่น ฮ่องกง ชิลี เลบานอน อิหร่าน เอกวาดอร์ แอลจีเรีย สังคมโลกต่างก็เห็นประเด็นร้อยรัดร่วมกันว่า นี่คือการต่อสู้กับเผด็จการอำนาจนิยม นี่คือการต่อสู้กับ establishment นี่คือการต่อสู้กับระบบเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ แต่การต่อสู้กับ คสช. ของไทย กลับไม่ถูกนับรวมเข้าไปอยู่ในนี้เท่าที่ควร
ในอีกทางหนึ่งคนก็บอกว่าประชาธิปไตยตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ๆ ของโลกได้น้อยลง หรือมีปัญหาว่าไม่ได้เกลี่ยผลประโยชน์ให้ทุกคน
อันนี้เป็นคำถามใหญ่มาก แต่คิดว่าไม่ใช่เพราะประชาธิปไตยไม่สามารถตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ได้ ประชาธิปไตยมีปัญหาในตัวเองตั้งแต่แรกแล้ว เพราะประชาธิปไตยที่พูดกันทั่วโลก มันคือเสรีประชาธิปไตยที่สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนทุนนิยม และเกิดปัญหา สร้างความเหลื่อมล้ำ สร้างความไม่ยุติธรรม ที่ผ่านมาเราเชื่อกันว่า ถ้ามีการเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตดี ปัญหาปากท้องได้รับการแก้ไข ก็จะสามารถสร้างความชอบธรรมให้กับประชาธิปไตยได้ มีวาทกรรมที่ครอบงำโลกว่า ความเป็นสมัยใหม่ ความเป็นประชาธิปไตย ทำให้โลกดีขึ้นทั้งหมด ประชาธิปไตยกับทุนนิยมช่วยกันนำไปสู่ความก้าวหน้า แต่ตอนนี้มีหลายปัจจัยที่ทำให้วาทกรรมที่ครอบงำโลกแบบนี้ถูกท้าทาย และพังไปหมดเลย เช่น สภาวะโลกร้อน หรือ climate change ที่ยืนยันว่า สุดท้ายความก้าวหน้าแบบที่ดำเนินการกันมากลับไม่ได้นำไปสู่อะไรที่ดีขึ้น
คนมักอ้างกันว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่เลวร้ายน้อยกว่าระบอบอื่น ดังนั้นระบอบอื่นต้องเลวร้ายมาก ประชาธิปไตยจึงจะดูดี จึงมีการสร้างความคิดว่าระบอบเผด็จการแย่มากๆ พยายามนำภาพความเลวร้ายของระบอบเผด็จการออกมา เพื่อที่ว่าอย่างน้อยๆ เราอยู่อาศัยในระบอบประชาธิปไตย อึดอัดกับมันบ้าง ติดขัดกับมันบ้าง ไม่พอใจกับมันบ้าง ก็ยังดีกว่าเป็นเผด็จการ ซึ่งข้ออ้างแบบนี้ไม่มีน้ำหนักเพียงพอและอาจใช้การไม่ได้นักในปัจจุบัน เพราะมีเผด็จการที่ทำอะไรสำเร็จอย่างสิงคโปร์หรือจีน ความสำเร็จของประเทศเหล่านี้ ทำให้คนเริ่มคิดกันว่า อยู่กับเผด็จการทันสมัยแบบจีน แบบสิงคโปร์ ก็ได้
ชีวิตคนในประเทศไทย ส่วนใหญ่ไม่ได้แย่มาก ไม่มีคนว่างงาน คนมีงานทำ อยากค้าขายก็ทำได้ ตกงาน ก็ดิ้นรนหางานทำใหม่ ขายของบ้าง รับจ้างบ้าง อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้นก็ทำได้ ขยัน อดทน ทำงาน จะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการก็ไม่ส่งผลกับคุณภาพชีวิต ดังนั้น การเชิดชูประชาธิปไตย การเรียกร้องให้คนเห็นความสำคัญของประชาธิปไตย ก็ทำได้ยากขึ้น คนที่สนับสนุน คสช. สนับสนุนประยุทธ์ เขาอาจรู้สึกว่าไม่มีปัญหา จะประชาธิปไตยหรือเผด็จการ พวกเขาก็ไม่มีปัญหา ตรงกันข้าม ประยุทธ์มายิ่งทำให้บ้านเมืองสงบด้วย
ดังนั้น การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทย ต้องพยายามหาคำอธิบายใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น โยงเข้ากับชีวิตของคนให้มากขึ้น เพื่อทำให้คนที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย เห็นความสำคัญของประชาธิปไตย
ไทยเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับความคิดว่าประชาธิปไตยคืออะไรด้วย เรามีหนังสือที่เพิ่งเขียนเสร็จชื่อว่า ‘เผด็จการ คือ ระบอบที่เป็นขั้วตรงข้ามกับประชาธิปไตย?’ พิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสในเดือนตุลาคมและอาจจะแปลเป็นอังกฤษ เป็นหนังสือทฤษฎีกับกรณีศึกษาทั่วโลก ซึ่งมีเรื่องประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ต้องการวิจารณ์ทั้งระบอบเผด็จการและระบอบเสรีประชาธิปไตย ชี้ชวนให้เห็นว่าการออกจากระบอบเผด็จการ อาจไม่จำเป็นต้องไปหาประชาธิปไตยที่เป็นแบบเสรีประชาธิปไตย แต่เราสามารถไปหาประชาธิปไตยในรูปแบบใหม่ๆ ที่เพิ่มอำนาจประชาชนมากกว่าเดิม หรือไม่ได้สร้างความเหลื่อมล้ำ เช่น ประชาธิปไตยแบบถึงราก หรือ radical democracy
ปัจจุบันความหวังทางการเมืองตั้งไว้ที่การแก้รัฐธรรมนูญ คิดว่าเป็นหัวใจสู่ทางออกไหมและจะเป็นไปได้ไหม
ไม่อยากพูดถึงกลยุทธ์ทางการเมือง แค่เห็นว่าต้องสู้เท่าที่ทำได้ แน่นอนว่าถ้าพยายามแก้รัฐธรรมนูญ จะมีปฏิกิริยาอยู่แล้ว เพราะประชาธิปไตยแบบถูกควบคุมให้สภาเล่นในกรอบได้ แต่ถ้าเล่นนอกกรอบจะโดนรัฐประหาร ซึ่งเป็นการรัฐประหารในหลายรูปแบบ อาจเป็นรัฐประหารโดยศาล รัฐประหารโดยทหาร หรือรัฐประหารแบบอำนาจวีโต้ก็ได้ นี่เป็นการวิเคราะห์แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะต้องโดนรัฐประหารรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอย่างแน่นอน
มองความยั่งยืนของรัฐบาลประยุทธ์ 2 อย่างไร
เผด็จการที่ยั่งยืนที่สุดคือเผด็จการที่ยอมให้มีการเลือกตั้ง เขาฉลาดที่เอาการเลือกตั้ง การเลือกตั้งทำให้พวกที่อยากจะสู้ มาสู้ในรัฐสภา ไม่ได้สู้ริมถนน และทำให้พวกที่มีพลังและความสามารถที่จะสู้กับทหารอยู่ภายใต้การถูกควบคุมในสภา ถ้าดูทฤษฎีหรือกรณีศึกษาของประเทศอื่น อย่างเม็กซิโกมีเผด็จการอยู่ได้เป็น 70 ปี เพราะมีการเลือกตั้ง ฝ่ายค้านในสภาก็ไม่ค่อยมีอำนาจเปลี่ยนแปลงอะไร สิ่งที่เผด็จการต้องทำ คือ ‘ปราบปราม’ ส่งไปคนติดคุก และ ‘คัดเลือก’ ให้คนเข้ามาอยู่ในสภา ถ้ามีสองอย่างนี้พร้อมกันก็อยู่ได้เป็นร้อยปี
ย้ำว่าไม่มีอะไรที่เขียนไว้ล่วงหน้า ใครต้องการต่อสู้ก็ทำต่อไป อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่กรณีศึกษาของต่างประเทศจะเห็นว่าเผด็จการที่มีการเลือกตั้งแล้วมีคนส่วนหนึ่งสนับสนุนอย่างแท้จริงจะทำให้ยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย ไม่ว่าจะโกงหรือไม่โกงเลือกตั้ง ทหารก็ยังมีคนสนับสนุนหลายล้านคน

จากกรณีศึกษาในต่างประเทศพอจะเห็นไหมว่ามีปัจจัยอะไรที่จะพาเราออกจากสถานการณ์นี้ได้
มีตุรกีอย่างที่บอกไป หลังการเปลี่ยนระบบต้องไล่ข้าราชการออกหมดเลย แต่ไทยทำยากกว่าที่อื่น เพราะมีการปกครองที่ครอบงำเครือข่ายทรัพย์สินของหลายบริษัทในไทย มีคนที่มีผลประโยชน์กับระบบจำนวนมาก อาจจะเปรียบเทียบได้กับโมร็อกโก ที่แม้ว่าไม่ได้ปกครองโดยทหารแต่มีเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ บริษัทต่างๆ ขึ้นอยู่กับระบบ ชนชั้นสูงก็ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ต้องรักษาความมั่นคงไว้
แต่ละกรณีศึกษาที่ยกมาดูจะไม่มีความหวังเลย เอาจริงๆ แล้วตัวคุณเองคิดว่ามีความหวังที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยสำเร็จไหม
คิดว่าทำได้ การจะแก้ไขอะไรต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ปัญหาที่ถูกต้องก่อนจึงจะเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ได้ ดังนั้นที่เราเขียนถึงความเป็นเผด็จการ ไม่ได้หมายถึงว่าไม่มีความหวัง คุณต้องรู้ต้นเหตุของปัญหาก่อน แล้วต้องเห็นชัดเจนว่าสภาพของการเมืองเป็นยังไง ก่อนที่จะสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงได้ โดยเริ่มต้นที่เรื่องประวัติศาสตร์ด้วย
หลังศึกษาเรื่องประเทศไทยมานาน ตอนนี้เริ่มขยับไปศึกษาเชิงเปรียบเทียบมากขึ้น?
งานที่ทำอยู่ตอนนี้ กำลังลดเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทย รู้สึกว่าคนที่ทำเฉพาะไทยศึกษาจะคิดเรื่อง exceptionalism คิดว่าประเทศนี้เป็นแบบนี้ประเทศเดียวในโลก ไม่ว่าจะคิดในแง่ดีหรือไม่ การบอกว่าเป็นเผด็จการที่แย่ที่สุดในโลก ก็เป็นชาตินิยมในแง่ที่ว่าคุณรู้สึกว่าประเทศไทยพิเศษมากจนเปรียบเทียบไม่ได้และไม่เห็นถึงความเหมือนกับประเทศอื่น คล้ายพวกที่ทำอเมริกาศึกษาแล้วคิดว่าอเมริกาไม่เหมือนประเทศอื่น เป็นสิ่งที่พิเศษมากๆ อันนี้ก็ชาตินิยมเหมือนกัน ซึ่งเป็นการจำกัดวิธีคิด ทั้งที่มันต้องขยาย ต้องเปลี่ยนแปลงได้
ตอนนี้เรามีบทความเชิงเปรียบเทียบหลายชิ้นที่กำลังจะออกมา มีบทความหนึ่งเกี่ยวกับตุรกีกับไทยที่รู้สึกว่าเหมือนกันมาก อีกบทความหนึ่งเปรียบเทียบภูฏานกับไทยเรื่องศาสนาพุทธ และมีโปรเจ็กต์ที่ทำร่วมกับคนอื่นเป็นหนังสือเปรียบเทียบญี่ปุ่น ไทย จีน จักรวรรดิออตโตมัน ในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 เรื่องการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการหลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่น โดยสร้างอำนาจของกษัตริย์
ในฐานะที่เป็นทั้งคนนอกและคนใน เวลาศึกษาเรื่องเมืองไทย รู้สึกอย่างไร
อยู่ประเทศไทยมาประมาณ 8 ปีแล้ว มีครอบครัวในไทยยังไงก็ต้องกลับมาบ่อยอยู่แล้ว รู้สึกว่าไทยเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากในแง่นักวิชาการ เพราะมีประเด็นท้าทายหลายอย่าง เรื่องเผด็จการที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อ consolidate อำนาจของตนเอง เรื่องสถาบันกษัตริย์ เรื่องบทบาทของทหาร และเรื่องการล่าอาณานิคม ไทยเหมือนจีน ญี่ปุ่น หรือตุรกีที่ไม่เคยโดนยึดเป็นอาณานิคม แล้วพยายามสร้างระบบที่เป็นเอกลักษณ์ น่าสนใจที่ทำให้เราเห็นวิวัฒนาการทางการเมืองที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบของลัทธิอาณานิคม (colonialism)
ในช่วงนี้มีงานเขียนเกี่ยวกับประเทศไทยตีพิมพ์ใหม่ไหม
มีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับความคิดผิดๆ เกี่ยวกับไทยของคนต่างประเทศหรือคนไทยเอง เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่อยากแปลเป็นภาษาไทย หนังสือเล่มนี้กึ่งวิชาการ ไม่มีเชิงอรรถ พูดถึงทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเมือง และกฎหมาย เช่น ความคิดว่าประเทศไทยเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ, ประชาธิปไตยไทยเริ่มที่ 2475, การค้าประเวณีเกิดจากสหรัฐหรือเวียดนาม ฯลฯ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด
อีกเล่มหนึ่งเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสเพิ่งออกมาช่วงสิ้นปี 2561 อยากแปลเป็นภาษาไทยเหมือนกัน เป็นรวมบทสัมภาษณ์คนไทยประมาณ 20 คนมาพูดถึงประเทศไทย เช่น อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, ธงชัย วินิจจะกูล, ผาสุก พงษ์ไพจิตร, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, อั้ม เนโกะ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าอคติ ทำไมมีแค่ฝ่ายเดียว คำตอบง่ายๆ คืออีกฝ่ายเป็นคนผูกขาดการพูดถึงประเทศไทยในต่างประเทศมาโดยตลอด ตั้งแต่เมื่อก่อนฝ่ายเสื้อเหลืองจะได้พูดกับนักวิจัยในต่างประเทศทั้งในทางวิชาการและแบบไม่เป็นทางการมาตลอด เกิดเป็นขอบเขตความคิดที่คนต่างประเทศมีต่อไทย
ขอถามถึงเรื่องชีวิตส่วนตัว เมื่อ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล มาเป็นนักการเมือง เริ่มมีการโจมตีไปจนถึงการหยิบงานวิชาการของคุณมาเชื่อมโยงกับตัวอ.ปิยบุตร เรื่องนี้สร้างผลกระทบไหมและมีการพูดคุยกันอย่างไร
ไม่กระทบ ไม่ได้คุยกันในเรื่องพวกนี้ ปิยบุตรก็ไม่ได้มาพูดถึงด้วย ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าโดนอะไรเป็นพิเศษ เห็นอะไรบางอย่างบ้าง แต่ไม่ได้สนใจ
ก่อน อ.ปิยบุตร ไปทำงานการเมืองได้พูดถึงการวางบทบาทการทำงานที่อาจส่งผลกระทบถึงกันไหม
ไม่เลย independent สุดๆ ด้วย