fbpx

สู่อนาคตแห่งความร่วมมือ: ความสัมพันธ์สหภาพยุโรป-ไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่

เป็นเวลานานกว่า 60 ปีแล้วที่ไทยและสหภาพยุโรปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน แม้จะผูกพันกันมายาวนานแต่ความสัมพันธ์กลับยิ่งพัฒนาในเชิงบวกหลังผ่านช่วงเวลาที่สูญหายไปหลังการรัฐประหาร ประทับตราความเหนียวแน่นในความร่วมมือด้วยการลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement – PCA) ในเดือนธันวาคม 2022 และการกลับมาฟื้นการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement – FTA) ในเดือนกันยายน 2023

ความสัมพันธ์ดังกล่าวดำเนินอยู่ท่ามกลางภูมิทัศน์การเมืองโลกที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้พลวัตระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปแปรเปลี่ยนตามไปด้วย การเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จึงจุดประกายความคาดหวังและการตั้งตารอว่าทิศทางความสัมพันธ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร และนำมาซึ่งคำถามว่ารัฐบาลใหม่จะแสวงหาความร่วมมือที่เพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางความท้าทายรอบด้านเพื่อปลดล็อกศักยภาพของความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปได้อย่างไร

101 ชวนทบทวนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและไทย สำรวจพลวัตและความท้าทายที่รออยู่ในรัฐบาลใหม่ พร้อมมองโอกาสและความท้าทายร่วมระหว่างสหภาพยุโรปและไทยในอนาคต ท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเก็บความจากงานเสวนาหัวข้อ ‘The Prospects of EU-Thai Relations: The way forward under the new government

งานเสวนาครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายภายใต้ซีรีส์งานเสวนาที่จัดขึ้นโดยสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (Institute of Security and International Studies – ISIS) และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (Delegation of the European Union to Thailand) โดย ปกรณ์ ศิริประกอบ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดโดยเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ 60 ปีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป และกล่าวว่า

“ในวาระที่ภูมิทัศน์การเมืองไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่ภายใต้รัฐบาลใหม่ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งไทยและสหภาพยุโรปจะแสวงหาจินตนาการร่วมใหม่และเสริมพลังความร่วมมือให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ท่ามกลางการขับเคี่ยวทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมไปถึงสถานการณ์ในพม่า การเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เพิ่มมากขึ้นของสหภาพยุโรปเพิ่มโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างกันทั้งไทยและอาเซียน เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้กับภูมิภาค”

ปกรณ์ ศิริประกอบ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ภาพจาก สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ

“ไทยเป็นประเทศสำคัญในภูมิภาคที่สำคัญ” ทัศนะสหภาพยุโรปต่อไทย – เดวิด เดลี (David Daly)

บนสายธารความสัมพันธ์กว่าหกทศวรรษ แม้จะมีช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและไทยชะงักงันไปบ้างหลังเกิดการรัฐประหารในปี 2014 แต่สหภาพยุโรปก็ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังมีการจัดการเลือกตั้งในปี 2019 ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ได้รัฐบาลพลเรือนเข้ามาบริหารจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะมองไปถึงอนาคตร่วมกัน

เดวิด เดลี (David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่าในทัศนะของสหภาพยุโรป “ไทยเป็นประเทศสำคัญในภูมิภาคที่สำคัญ” เห็นได้จากการการเผยแพร่เอกสารยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกของสหภาพยุโรป (EU Strategy for Cooperation in the Indo-Pacific) เมื่อเดือนกันยายน ปี 2021 ที่เป็นการวางกรอบการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในภูมิภาคและการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (strategic partnership) ระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน เมื่อปลายปี 2022 เป็นอีกการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันระหว่างสององค์การความร่วมมือระดับภูมิภาค ในช่วงเดียวกันนั้นสหภาพยุโรปก็ได้ยกระดับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับไทยด้วยการลงนามในความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (EU-Thailand Partnership and Cooperation Agreement – PCA) และอีกก้าวของความสัมพันธ์ซึ่งเป็นที่น่าจับตาคือการฟื้นฟูการเจรจา FTA ระหว่างสหภาพยุโรปและไทย ที่เพิ่งมีการเจรจารอบแรก ระหว่างวันที่ 18-22 กันยายนที่ผ่านมา ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

เดวิด เดลี (David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย | ภาพจาก สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ

หลากยุทธศาสตร์และหลายข้อตกลงเหล่านี้เป็นการวางกรอบความร่วมมือในหลากมิติ ที่ตั้งอยู่บนกฎหมายระหว่างประเทศ คุณค่า และปทัสถานอันเป็นสากลว่าด้วยประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การเสริมสร้างระบบพหุภาคีนิยม และภูมิภาคนิยม ความร่วมมืออย่างเป็นทางการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในแต่ละด้าน ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับที่สี่ของไทย และลงทุนในไทยมากเป็นลำดับที่สาม นอกจากนี้ มูลค่าการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและไทยสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท ทั้งในภาคการผลิตและการบริการ เดลีเชื่อว่าทั้งสหภาพยุโรปและไทยอยากให้สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจนี้กระชับแน่นยิ่งขึ้นผ่าน FTA ซึ่งจะช่วยเพิ่มการค้าและการลงทุนให้เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีขอบเขตเนื้อหาอีกหลายประการที่ต้องหารือกันในวงเจรจาต่อไป อาทิ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้า การค้าดิจิทัล การบริการ การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และแรงงาน เดลีมองว่าความสำเร็จของ FTA ระหว่างสหภาพยุโรปและไทยจะเป็นก้าวที่สำคัญในการผลักดันให้เกิด FTA ระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียนในอนาคต

ด้านสิ่งแวดล้อม สหภาพยุโรปได้ประกาศแผนปฏิรูปสีเขียว หรือ European Green Deal ในปี 2021 โดยมีมาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างน้อยร้อยละ 55 ในปี 2030 (Fit for 55 Package) และลดลงเหลือศูนย์ (net zero) ภายในปี 2050 ขณะที่ไทยก็มี BCG Model หรือแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนาสามเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy), เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ซึ่งวางเป้าหมายในการบรรลุการเปลี่ยนผ่านสีเขียวไว้ในทิศทางเดียวกัน

เดลีกล่าวว่าสหภาพยุโรป ไทย และนานาชาติต้องร่วมมือกันมากกว่านี้เพื่อรับมือกับความท้าทายในด้านสิ่งแวดล้อม ในระดับทวิภาคี สหภาพยุโรปและไทยจะทำงานร่วมกันในการช่วยให้ภาคเอกชนปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism – CBAM) ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรฐานการผลิตที่หากมีการปล่อยคาร์บอนเกินเกณฑ์ที่กำหนดจะต้องซื้อสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนเพิ่มจากธุรกิจอื่นจึงจะสามารถส่งออกสินค้าไปตลาดยุโรปได้

ส่วนในระดับนานาชาติ สหภาพยุโรปต้องการผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามข้อตกลง Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use เพื่อยุติการตัดไม้ทำลายป่าที่ลงนามโดย 140 ประเทศ ตั้งแต่การประชุม COP26 ในปี 2021

มิติด้านสิ่งแวดล้อมยังสัมพันธ์อยู่กับด้านเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากมาตรการจำกัดการปล่อยมลพิษต่างๆ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจสูงขึ้น ซึ่งเป็นราคาของการเปลี่ยนผ่านที่ทุกภาคส่วนต้องหาทางออกร่วมกันเพื่อให้ทั้งสังคมสามารถปรับตัวไปพร้อมกันได้อย่างราบรื่น

“มีสองมุมที่ต้องพิจารณาเมื่อกล่าวถึงการปฏิบัติตามมาตรการ CBAM คือด้านกฎหมายและด้านตลาด แต่ตลาดเป็นด้านที่มีพลังมากๆ เพราะผู้บริโภคในยุโรปต้องการความมั่นใจและความเชื่อมั่นว่าสินค้าที่พวกเขาซื้อไม่ส่งผลกระทบหรือซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นกฎหมายหรือมาตรการเหล่านี้จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในตลาดสหภาพยุโรป”

นอกจากนี้ยังมีด้านการศึกษา วิจัย และนวัตกรรมที่สหภาพยุโรปอยากสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการมากขึ้น

ด้านความมั่นคง สหภาพยุโรปมีความร่วมมือกับสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในประเด็นที่เป็นความท้าทายของยุคสมัย เช่น ความมั่นคงทางไซเบอร์ การจัดอบรมและวงเสวนาจะครอบคลุมในหลายประเด็นยิ่งขึ้นในอนาคต โดยมีความร่วมมือที่ระบุไว้ใน PCA เป็นสะพานเชื่อม

ด้านสิทธิมนุษยชน สหภาพยุโรปเล็งเห็นถึงพัฒนาการในเชิงบวกจากการผลักดันให้มีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และการออกแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่สอง (National Action Plan on Business and Human Rights – NAP) อีกทั้งไทยยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการผลักดันให้มีกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ

ส่วนพัฒนาการด้านประชาธิปไตย สหภาพยุโรปยินดีที่เห็นไทยกลับมาสู่วิถีทางแบบประชาธิปไตย อย่างน้อยที่สุดก็เห็นได้จากการจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตลอดหลายปีที่ผ่านมาสหภาพยุโรปยังได้สังเกตการณ์การอภิปรายในรัฐสภาและการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม สหภาพยุโรปอยากร่วมมือกับไทยในระดับที่กว้างขึ้น เช่น ภายในประชาคมอาเซียนต่อประเด็นพม่า และในเวทีสหประชาชาติต่อประเด็นที่ละเมิดต่อระเบียบและกติการะหว่างประเทศ เช่น การรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย เดลียังได้กล่าวถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อสหภาพยุโรปในประเด็นเหล่านี้ว่า

“บางครั้งผมได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสหภาพยุโรปสนใจจะคุยกับไทยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือประชาธิปไตย ซึ่งผมมองว่าการให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้เป็นรากฐานที่สำคัญ มีหลายประเด็นที่เรามีการพูดคุยกันแล้ว และควรพูดคุยกันมากกว่านี้ ซึ่ง PCA จะช่วยให้เราบรรลุการพูดคุยนี้ได้

“เราทราบถึงความประสงค์ของไทยที่ต้องการเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ซึ่งเป็นบทบาทที่จะนำมาซึ่งเกียรติภูมิ ขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบ สหภาพยุโรปเชื่อมั่นว่า PCA จะช่วยให้ไปบรรลุพันธกิจนี้ได้”

เดลีกล่าวปิดท้ายว่าสหภาพยุโรปตั้งตาที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลใหม่ ภายใต้แกนนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไป นับว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตความสัมพันธ์ของสหภาพยุโรปและไทย

สหภาพยุโรปปรารถนาจะได้รับการสนับสนุนจากไทยในการเข้าไปมีบทบาทในเวทีต่างๆ ของอาเซียน เช่นการสนับสนุนให้เป็นร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ (observer) ในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defence Ministers’ Meeting – ADMM) ในอนาคต เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับอาเซียน สหภาพยุโรปคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือที่มากขึ้นในด้านที่หลากหลายขึ้น จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกันที่เพิ่มมากขึ้น

นโยบายการต่างประเทศในรัฐบาลใหม่ต่อสหภาพยุโรป – อสิ ม้ามณี

อสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า “ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สหภาพยุโรปเข้ามาตั้งสำนักงานคณะผู้แทน ตลอด 60 ปีที่มีความสัมพันธ์ต่อกันมา ไทยได้รับการสนับสนุนและมีความร่วมมือต่อกันอย่างต่อเนื่อง การลงนามใน PCA เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเป็นอีกหนึ่งตราประทับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้” ส่วนการเดินหน้าเจรจา FTA อสิกล่าวว่าการเจรจารอบที่สองจะมีขึ้นที่ไทยในต้นปี 2024 และคาดหวังว่าการเจรจาจะบรรลุผลภายในสองปีข้างหน้า ซึ่งจะเปิดประตูไปสู่การค้าและการลงทุนระหว่างกันที่เพิ่มมากขึ้น

อสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ | ภาพจาก สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ

ความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาค อาเซียนเพิ่งเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 45 ปี กับสหภาพยุโรปไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ด้วยการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (strategic partnership) ซึ่งเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น เมื่อขยับมามองภาพกว้าง การสร้างความร่วมมือในการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนับวันยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ สหภาพยุโรปมีการออกเอกสารยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ขณะที่อาเซียนเองก็มีแถลงการณ์ร่วมกันของ 10 ประเทศอาเซียนเกี่ยวกับทัศนะอาเซียนว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific – AOIP) ซึ่งมีการวางยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกันในหลายมิติ สะท้อนว่าทั้งอาเซียนและสหภาพยุโรปสามารถเสริมบทบาทซึ่งกันและกันได้

ส่วนความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป นอกจาก PCA และ FTA ที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น แนวนโยบายต่างประเทศภายใต้รัฐบาลใหม่ก็เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และเปิดพื้นที่ความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป อสิกล่าวว่าปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้แนวนโยบายที่วางประเด็นสำคัญไว้สามด้าน ได้แก่

ด้านแรก สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแกนหลักในการดำเนินนโยบายทางการทูตภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ไทยจะเปิดเจรจา FTA กับประเทศต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยให้ความสำคัญกับสหภาพยุโรปมาเป็นลำดับแรก อสิเชื่อว่าเป้าหมายของไทยสอดคล้องกับเป้าหมายของสหภาพยุโรปที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองฝ่ายให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และคาดหวังว่า FTA จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับไทย รวมถึงพาภาคธุรกิจไทยปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานและกฎระเบียบทางการค้าของสหภาพยุโรป

ด้านที่สอง เสริมสร้างพันธมิตรเพื่อรับมือกับประเด็นด้านความมั่นคง ทั้งรูปแบบเดิม และความมั่นคงรูปแบบใหม่ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ความมั่นคงทางไซเบอร์ และความมั่นคงทางพลังงาน

ด้านที่สาม สร้างความร่วมมือทางเทคโนโลยีกับนานาประเทศและภาคเอกชน เนื่องจากเทคโนโลยีคือหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลและการเสริมสร้างทักษะให้กับแรงงานในภาคเศรษฐกิจไทย ไทยมองว่าโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรม ‘Horizon’ ของสหภาพยุโรป เป็นประตูสู่การเพิ่มโอกาสและยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีให้กับไทย

ท่ามกลางยุทธศาสตร์และเป้าหมายที่หลากหลายซึ่งวางกรอบการดำเนินความสัมพันธ์ต่อกันไว้ อสิมีข้อเสนอสามประการเพื่อเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปอย่างรอบด้าน

ประการแรก ผลักดันให้รัฐสภาเห็นชอบในการให้สัตยาบัน PCA เพื่อปูทางไปสู่การนำข้อตกลงที่ระบุไว้ไปปฏิบัติใช้ได้จริง อสิกล่าวว่าขั้นถัดจากการให้สัตยาบันคือการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการระหว่างสหภาพยุโรปและไทย เพื่อวางแนวทางการดำเนินการอย่างมีแบบแผนและเป็นระบบ และเกิดผลลัพธ์อันเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและสหภาพยุโรป

ประการที่สอง ผลักดันให้เกิดข้อสรุปเบื้องต้นในการเจรจา FTA ในประเด็นที่ว่าด้วยมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ไทยคาดหวังจะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนี้จากสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิดเพื่อหาทางออกในประเด็นที่เป็นข้อกังวล เช่น การปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตให้ได้มาตรฐานของสหภาพยุโรป ซึ่งถือว่าต้นทุนสูงในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และสร้างความท้าทายแก่ภาคเกษตรที่มีความเปราะบางสูงอยู่แล้ว โดยคาดว่าทั้งไทยและสหภาพยุโรปจะสามารถหามาตรการบรรเทาผลกระทบจากกฎระเบียบ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาและการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ประการที่สาม ผลักดันให้มีเวทีพูดคุยที่มีความหลากหลายและก่อให้เกิดผลลัพธ์อันมีความหมายต่อความสัมพันธ์ ในระดับทวิภาคี อสิเสนอว่าควรมีการจัดประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยและสหภาพยุโรปบ่อยครั้งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยหารือกันมากขึ้นถึงความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ในระดับพหุภาคี ไทยสนับสนุนการเข้ามามีบทบาทในเวทีการพูดคุยที่นำโดยอาเซียน และคาดหวังว่าจะเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้กับกลไกอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy – ACMECS) หรือกลไกที่เป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ เช่น คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific – UNESCAP) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพ การใช้กลไกที่หลากหลายจะนำมาซึ่งโอกาสที่หลากหลายในการเกี่ยวพันกับพันธมิตรอื่นๆ มากขึ้น

A Closer Europe: พันธกิจสหภาพยุโรปในห้วงการนำของสเปน – เฟลิเป เด ลา โมเรนา กาซาโด

เฟลิเป เด ลา โมเรนา กาซาโด (Felipe de la Morena Casado) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย กล่าวในวาระที่สเปนรับหน้าที่ประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (The Council of the European Union) โดยมีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคมปีนี้ การเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่มีวี่แววว่าสันติภาพจะมาถึงในเร็ววัน

เฟลิเป เด ลา โมเรนา กาซาโด เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย | ภาพจาก สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ

ในฐานะประธานองค์กรตัดสินใจหลักของสหภาพยุโรป สเปนหมายมั่นที่จะเห็นการมีส่วนร่วมจากชาติสมาชิกทั้ง 27 ประเทศในการผลักดันวาระร่วมของสหภาพยุโรป ซึ่งมาพร้อมกับแนวนโยบาย ‘A Closer Europe’ กาซาโดกล่าวว่าบทบาทประธานของสเปนจะให้ความสำคัญใน 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรกคือการผลักดันให้มีความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์ (strategic autonomy) โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ข้อตกลง FTA จะเป็นรากฐานการเจริญเติบโตของยุโรป การค้าและการลงทุนกับพันธมิตรที่หลากหลาย และจะเป็นการกระจายความเสี่ยงเพื่อลดการพึ่งพาชาติใดชาติหนึ่งมากเกินไป ในไม่กี่ปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราได้เห็นความเปราะบางในห่วงโซ่อุปทาน และสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ให้บทเรียนเรื่องความมั่นคงทางพลังงานที่ไม่ควรหาสมดุลในการพึ่งพาพลังงาน สหภาพยุโรปยังมุ่งจะพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความก้าวหน้า ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจยุคดิจิทัล

ประเด็นที่สองคือการเปลี่ยนผ่านสีเขียว กาซาโดมีความเห็นสอดคล้องกับอสิว่าการเปลี่ยนผ่านควรมาพร้อมกับการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ สหภาพยุโรปมีความคาดหวังจะปฏิรูปตลาดพลังงาน โดยหันมาใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดมากขึ้น นอกจากจะลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลแล้วยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่ของหลายประเทศทั่วโลก

ประเด็นที่สามคือการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรม สเปนในฐานะประธานจะเป็นผู้นำในการปฏิรูปธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากระบบภาษีและการกระจายความมั่งคั่ง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเร่งด่วนในการฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนที่บอบช้ำจากวิกฤตโรคระบาด

กาซาโดกล่าวว่า “การเจริญเติบโตคือเป้าหมายของการพัฒนา แต่การเจริญเติบโตเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องคำนึงถึงความทั่วถึงในการกระจายการเติบโตนี้ด้วยว่าคนทุกกลุ่มในสังคมต้องเข้าถึงดอกผลของการพัฒนา”

ประเด็นสุดท้ายคือการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวภายในสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นขุมพลังในการรับมือกับความท้าทายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อม และขณะนี้สหภาพยุโรปกำลังวางแนวนโยบายในประเด็นการอพยพและการย้ายถิ่น

แนวนโยบายเหล่านี้จะถูกปรับใช้ในการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่สหภาพยุโรปเห็นความสำคัญในกลไกของอาเซียนและบทบาทที่ขันแข็งของพันธมิตรอย่างไทย กาซาโดเห็นด้วยกับเดลีและอสิในประเด็นที่ว่าการพูดคุยหารือคือก้าวที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือ การจัดการประชุมระดับสูงจึงเป็นสิ่งที่ควรจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสหภาพยุโรปได้เห็นความพยายามในการสร้างการมีส่วนร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลายในด้านการเชื่อมโยง ความมั่นคง และการทหารไปแล้ว โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงทางทะเล กาซาโดกล่าวในมุมของสเปนอีกด้วยว่าไทยเป็นอีกชาติพันธมิตรที่เปิดพื้นที่แห่งโอกาสของความร่วมมือ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ

สำหรับการวางกรอบการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก กาซาโดกล่าวว่าสเปนไม่มีแผนยุทธศาสตร์เฉพาะของสเปนเอง เนื่องจากให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหภาพยุโรป กาซาโดเห็นตรงกับผู้ร่วมอภิปรายท่านอื่นว่ารายละเอียดที่ระบุไว้ในเอกสารยุทธศาสตร์ฉบับนี้สอดคล้องกับเนื้อหาใน AOIP ของอาเซียน ซึ่งน่าจะทำให้การร่วมมือกันเกิดขึ้นอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น

“เราวางกรอบยุทธศาสตร์ไว้อย่างชัดเจนบนเป้าหมายที่ว่าจะพาสหภาพยุโรปเข้าไปมีบทบาทในระดับโลก ซึ่งหมายความว่าสหภาพยุโรปเปิดกว้างสำหรับทุกพันธมิตรในการเข้ามาเกี่ยวพันกัน ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญในการสร้างความร่วมมือเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงแห่งศตวรรษ เช่น ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทางดิจิทัล” กาซาโดกล่าวปิดท้าย

Trusted partner: โจทย์ใหญ่รัฐบาลไทยในการเกี่ยวพันกับสหภาพยุโรป – ณัฐนันท์ คุณมาศ

ณัฐนันท์ คุณมาศ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ของสหภาพยุโรปและไทยตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ที่เริ่มจากความสัมพันธ์แบบผู้ให้ (donor) กับผู้รับ (recipient) ซึ่งสหภาพยุโรปได้ให้ความช่วยเหลือทั้งในรูปแบบของเงินและความช่วยเหลือด้านการศึกษา พัฒนาเรื่อยมาจนปี 2009 ที่คณะผู้แทนกรรมาธิการยุโรปเปลี่ยนสถานะเป็นคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สายสัมพันธ์ในฉากใหม่ที่จัดวางอยู่บนสถานะเท่าเทียมกันก็เริ่มต้นขึ้น มีการเผยแพร่เอกสารทางยุทธศาสตร์ในช่วงทศวรรษ 2010 ที่มีการระบุถึงการทำข้อตกลง PCA และ FTA เอาไว้ แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองที่นำไปสู่การทำรัฐประหาร ทำให้ข้อตกลงเหล่านี้หยุดชะงักไปพร้อมๆ กับความสัมพันธ์สหภาพยุโรปและไทย

ณัฐนันท์ คุณมาศ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ภาพจาก สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ

การหวนกลับมาฟื้นฟูข้อตกลงเหล่านี้อีกครั้งในรัฐบาลที่มาจากวิถีทางประชาธิปไตยจึงเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญต่อกันระหว่างไทยและสหภาพยุโรป ทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ ณัฐนันท์ขยายความให้เห็นภาพของความสัมพันธ์ในสองระดับ ดังต่อไปนี้

ระดับแรกคืออาเซียน การเกี่ยวพันกับไทย ซึ่งเป็นสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญในประชาคมอาเซียนจะเป็นประตูสู่การเกี่ยวพันกับชาติอื่นๆ ในภูมิภาค ตลอด 45 ปีที่สหภาพยุโรปและอาเซียนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต มีการลงนาม PCA ร่วม 6 ฉบับกับประเทศสมาชิกอาเซียน และความตกลง FTA กับสองชาติ ได้แก่สิงคโปร์และเวียดนาม อีกทั้งมีบทบาทในกลไกที่นำโดยอาเซียน เช่น ADMM plus, การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit – EAS)

ประการต่อมาคือระดับทวิภาคี ณัฐนันท์มองว่าการมีสายสัมพันธ์อันดีกับไทยยังเป็นประตูไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง (Free and Open Indo-Pacific) ของสหรัฐฯ การเข้าไปมีบทบาทในยุทธศาสตร์นี้ของสหภาพยุโรปเป็นไปเพื่อสร้างความเป็นภูมิภาคนิยม (regionalism) ส่งเสริมคุณค่าและปทัสถานซึ่งเป็นจุดแข็งของการเป็น normative power ของสหภาพยุโรป

“อาจกล่าวได้ว่าสหภาพยุโรปต้องการไทยในระดับที่ไม่เท่ากับที่ไทยต้องการสหภาพยุโรป แต่โจทย์ใหญ่สำหรับไทยคือจะสามารถแสดงบทบาทเป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อ (trusted partner) ได้มากน้อยแค่ไหน การแสดงบทบาทนี้มิใช่มาจากรัฐบาลเพียงเท่านั้น แต่รวมถึงภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจด้วย ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในความสัมพันธ์นี้ย่อมมีส่วนรับผิดชอบในการปฏิบัติตามคุณค่าและมาตรฐานอันเป็นสากล”

“ยกตัวอย่างประเด็นการทำประมงผิดกฎหมายในไทย (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing – IUU Fishing) ที่ตัวแสดงอันหลากหลายในห่วงโซ่อุปทานต้องเร่งปรับตัวเพื่อแสดงให้สหภาพยุโรปเห็นว่าไทยมีศักยภาพในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมประมง กรณีของ IUU ทำให้เราได้เห็นความช่วยเหลือเชิงเทคนิคจากสหภาพยุโรปในการให้ความรู้และจัดเวทีหารือพูดคุยกับผู้ประกอบการเพื่อรักษามาตรฐานให้ได้อย่างต่อเนื่อง”

ก้าวที่สดใสของความสัมพันธ์สหภาพยุโรป-ไทย ผ่านการลงนาม PCA และการเจรจา FTA ที่เพิ่งเริ่มขึ้น มีโอกาสและประเด็นหลากหลายที่ต้องหาข้อสรุปร่วมกัน เช่น การเปิดตลาดเนื้อสัตว์ มีประเด็นว่าด้วยการใช้วัตถุเจือปนอาหารที่ยังขัดต่อกฎหมายและมาตรการควบคุมการใช้สารเคมีของไทย ซึ่งเป็นผลจากความแตกต่างในการบริโภคชิ้นส่วนต่างๆ ของผลิตภัณฑ์สัตว์

ณัฐนันท์ยังกล่าวว่าการเจรจาและการนำข้อตกลงไปปฏิบัติใช้จริงไม่สามารถมองข้ามความท้าทายร่วมที่นานาชาติเผชิญได้ โดยเฉพาะปัญหาสภาพอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ และได้รับความสนใจในหมู่คนรุ่นใหม่ไม่น้อยไปกว่าประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

ด้านทัศนะต่อทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตในรัฐบาลใหม่ ณัฐนันท์ชี้ชวนให้พิจารณาภูมิหลังของผู้นำรัฐบาลอย่างเศรษฐา ทวีสิน ที่มาจากภาคธุรกิจและชูนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นจุดแข็งมาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง นายกฯ เศรษฐายังเคยกล่าวว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมาขาดศักยภาพในการผลักดันให้ FTA ไทย-สหภาพยุโรปบรรลุผล จนเวียดนามมีความตกลงล่วงหน้าไปก่อน เช่นนั้นแล้วรัฐบาลชุดนี้น่าจะมีความกระตือรือร้นในการจัดทำ FTA ให้สำเร็จ

ในประเด็นรัสเซีย-ยูเครน ณัฐนันท์มองว่าขณะนี้ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากรัฐบาลปรากฏให้เห็น แต่คาดว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยน่าจะรักษาระยะ เพื่อคงความสัมพันธ์กับทุกมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐฯ จีน รวมถึงสหภาพยุโรป ณัฐนันท์กล่าวปิดว่าฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้องกับด้านการต่างประเทศน่าจะกระตุ้นให้รัฐบาลทำงานหนักขึ้นในการผลักดันให้ FTA เกิดขึ้นจริง หากพิจารณาผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็เคยเป็นผู้แทนการค้ามาก่อน ฉะนั้นแล้วการเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่น่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในเร็ววัน


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (Delegation of the European Union to Thailand) และ The101.world โดยเนื้อหาที่ปรากฏเป็นการทำงานอย่างอิสระของกองบรรณาธิการ 101 และไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสหภาพยุโรป

      MOST READ

      World

      1 Oct 2018

      แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

      ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

      ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

      1 Oct 2018

      World

      16 Oct 2023

      ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

      7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

      จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

      พิมพ์ชนก พุกสุข

      16 Oct 2023

      World

      9 Sep 2022

      46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

      ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

      ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

      9 Sep 2022

      เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

      Privacy Preferences

      คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

      Allow All
      Manage Consent Preferences
      • Always Active

      Save