fbpx
จริยธรรมของผู้ทรงความยุติธรรม

จริยธรรมของผู้ทรงความยุติธรรม

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

“เรามีคำพูดหนึ่งในวงการตุลาการว่าผู้พิพากษาไม่เพียงต้องซื่อสัตย์สุจริต แต่จะต้องทำตัวให้ไม่มีฉายาแห่งความไม่สุจริต คือไม่ให้มีเงาให้คนเขาสงสัยในความสุจริตด้วย” [1]-โสภณ รัตนากร อดีตประธานศาลฎีกา (ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม 2533 – 30 กันยายน 2534)

 

พ่อ เพื่อน พวกพ้อง และผู้พิพากษา

 

การอ้างถึงผู้มีตำแหน่งใหญ่โตไม่ว่าจะในฐานะพ่อ เพื่อน หรือพวกพ้อง ดูราวจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกินความคาดหมายมากนักในสังคมไทย หากยังจำวลี “รู้ไหม พ่อกูเป็นใคร” ก็เป็นตัวอย่างชัดเจนอันหนึ่งสำหรับการบ่งบอกสถานะของตนเองว่าจะต้องมีแหล่งอ้างอิงซึ่งเป็นคนใหญ่ๆ โตๆ มาประกอบ

ยิ่งในกรณีที่ต้องการเข้าถึงทรัพยากรบางอย่าง ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ลองนึกถึงเมื่อต้องการใบขับขี่คืนโดยไม่จ่ายค่าปรับ, การหาโควตาให้กับลูกตัวหรือลูกเพื่อนในโรงเรียนมีชื่อเสียง, การหาห้องว่างเตียงว่างในโรงพยาบาลรัฐให้กับญาติพี่น้อง เป็นต้น ล้วนแต่ต้องมีบุคคลที่สามารถเชื่อมโยงตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง (ส่วนใหญ่ของคนที่ไม่กล่าวอ้างก็คือบุคคลประเภทที่ต้องตื่นตีสี่ไปเข้าคิวโรงพยาบาลรัฐเพื่อรอตรวจเวลาสิบเอ็ดโมง)

เราอาจเรียกความสัมพันธ์เหล่านี้รวมๆ ว่า “เครือข่าย“ แม้จะไม่ได้มีกฎหมายรองรับถึงสถานะและความสำคัญเอาไว้ แต่ในความเป็นจริงของสังคมไทยก็เป็นที่รับรู้กันว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นไม่น้อย หากต้องการบรรลุถึงความมุ่งหมายของตน แม้หลายครั้งอาจต้องเป็นการเบียดหรือข้ามหัวคนอื่นไปบ้างก็ตาม แต่ก็นั่นแหละ มันเป็นสิ่งที่เราควรได้นี่หว่า

ถ้าการกล่าวอ้างถึงเครือข่ายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป คำถามคือว่าทำไมกรณี “เพื่อนชื่อโชค” ถึงกลายเป็นเรื่องใหญ่โตที่ได้รับความสนใจและนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เพราะบุคคลที่ตกเป็นจำเลยของสังคมในเรื่องนี้มีตำแหน่งใหญ่โต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีเพื่อนหรือคนรู้จักระดับใหญ่โตเหมือนกัน และรวมไปถึงการกล่าวอ้างเพื่อให้สามารถได้สิทธิบางอย่างแตกต่างและเหนือกว่าคนอื่น

 

ความเสมอภาคแบบปิดตา

 

Lady Justice หรือเทพธิดาแห่งความยุติธรรมถูกถือเป็นสัญลักษณ์อันหนึ่งของความยุติธรรมในโลกตะวันตก โดยเป็นรูปปั้นของผู้หญิงซึ่งในมือข้างหนึ่งถือตาชั่งซึ่งแสดงถึงการให้ความเที่ยงธรรม และมืออีกข้างถือดาบอันหมายถึงอำนาจ โดยลักษณะเด่นประการหนึ่งก็คือมีผ้าปิดตาของเธอไว้

การมีผ้าปิดตาไว้หมายถึงในการตัดสินปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ จะต้องบังเกิดขึ้นโดยไม่ต้องสนใจว่าบุคคลที่เป็นคู่ขัดแย้งนั้นเป็นใคร มีตำแหน่งแห่งที่อย่างไร ผิวสี ศาสนา ชาติพันธุ์ หรือเพศใด ก็จะต้องถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

ผ้าซึ่งปิดตาจึงเป็นการเปรียบเปรยถึงการละทิ้งเงื่อนไขหรือปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้การพิจารณาข้อขัดแย้งเป็นไปอย่างลำเอียงด้วยการนำเอาปัจจัยเหล่านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสิน อันจะทำให้การวินิจฉัยปมปัญหาไม่อาจนำมาซึ่งความเที่ยงตรงได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือการสื่อว่าความยุติธรรมจะบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย (equality before the law)

ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายอาจสืบค้นรากฐานความคิดย้อนกลับไปได้ถึงยุคโรมัน แต่แนวความคิดนี้ได้ถูกพัฒนาและต่อยอดจนกลายเป็นคุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของระบบกฎหมายสมัยใหม่ นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ในขอบเขตความหมายอย่างกว้าง

ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย หมายถึงการยอมรับบุคคลไม่ว่าจะมีสถานะอย่างใดก็จะต้องได้รับการจัดวางและถูกปฏิบัติตามกฎหมายหรือด้วยการใช้มาตรฐานเดียวกัน

ไม่ใช่บุคคลกลุ่มหนึ่งได้รับการปฏิบัติแบบหนึ่ง ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งได้รับการปฏิบัติแบบที่แตกต่างออกไป

เช่น หากบุคคลสองกลุ่มกระทำการในลักษณะเดียวกันเมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดก็ควรต้องเป็นความผิดทั้งสองกลุ่ม ไม่ใช่เพียงบุคคลกลุ่มเดียวที่ถูกพิจารณาว่าเป็นความผิดแต่อีกกลุ่มกลับไม่มีการดำเนินการเกิดขึ้น หรือในการกล่าวหาก็ควรต้องมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ไม่ใช่กล่าวหาอย่างรุนแรงกับเพียงคนกลุ่มเดียวเท่านั้น

พูดในภาษาปัจจุบันมากขึ้น ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายก็คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับปรากฏการณ์ “สองมาตรฐาน” ซึ่งรับรู้กันอย่างแพร่หลายในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายมิได้หมายความเราไม่อาจปฏิบัติต่อบุคคลในลักษณะที่แตกต่าง การปฏิบัติในลักษณะเช่นนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขว่าบุคคลมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญอย่างเห็นได้ชัด

เช่น การให้ปากคำของเด็กกับผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะในระหว่างการพิจารณาของศาลนั้น บุคคลกลุ่มแรกสามารถได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษมากกว่าคนกลุ่มหลัง ไม่ว่าจะด้วยการมีนักจิตวิทยาอยู่ร่วมหรือการให้ปากคำผ่านโทรทัศน์วงจรปิด แต่การปฏิบัติเช่นนี้ก็เป็นการคำนึงถึงลักษณะบางประการที่แตกต่างและมีความจำเป็นอันชอบธรรมสนับสนุนอยู่

ในขณะเดียวกัน ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายก็ต้องปฏิบัติต่อบุคคลในลักษณะเดียวกัน ถ้าไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญให้เห็น เช่น การตรวจค้นใบขับขี่รถยนต์ของผู้ขับรถไม่ว่าจะเป็นชาวเขา นักธุรกิจ หรือผู้พิพากษา ก็ล้วนแต่ต้องถูกปฏิบัติในลักษณะเดียวกันในฐานะของคนขับรถ สถานะใดสถานะหนึ่งทางสังคมไม่อาจก่อให้เกิดอภิสิทธิ์ขึ้นได้

ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายมีความหมายสำคัญสำหรับสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตย เพราะจะเป็นหลักประกันที่สร้างความมั่นคงและความมั่นใจแก่สมาชิกทุกคนในสังคมว่าจะได้รับการปฏิบัติเหมือนกันในด้านต่างๆ

แน่นอนว่าคงยากที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคแบบสัมบูรณ์ในโลกของความเป็นจริง แต่อย่างน้อยก็ต้องมีการยอมรับว่าพอจะมีความเสมอภาคดำรงอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจของคนส่วนใหญ่ จึงจะทำให้สังคมสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างปกติสุข

ถ้าเมื่อใดที่เกิดความรู้สึกอย่างแพร่หลายว่าในอำนาจในทางกฎหมายถูกใช้โดยที่ผ้าปิดตาของผู้ทรงความยุติธรรมถูกเปิดออกและมีการให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆ จนเห็นได้ชัดว่าความเสมอภาคถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง ก็นับเป็นปัญหาสำคัญ และยิ่งเลวร้ายมากขึ้นหากปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นโดยบุคคลที่ดำรงฐานะเป็นผู้ใช้กฎหมายเอง

ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมามีคำครหาถึงปัญหาลักษณะนี้ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่มีอะไรพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน จวบจนกระทั่งกรณี “เพื่อนชื่อโชค” จึงเป็นการยืนยันถึงความเข้าใจที่มีกันมาอย่างต่อเนื่องว่าไม่ได้ห่างไกลจากความจริงเลย

ลองคิดดูว่ากรณีการตรวจใบขับขี่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูเหมือนง่ายดายก็ยังต้องมีการใช้เครือข่าย แล้วถ้าในเรื่องอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ อุดมการณ์ จุดยืนทางการเมือง จะเชื่อได้อย่างไรว่าจะเกิดขึ้นอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

         

Law in books ชื่อประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ

 

ด้วยสถานะของการทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นภายในสังคม ตำแหน่งผู้พิพากษาจึงมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งความไว้วางใจ (trust) แม้ว่าอำนาจในการตัดสินชี้ขาดคดีจะเป็นผลมาจากบทบัญญัติทางกฎหมายอย่างเป็นทางการ แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ไม่อาจขาดหายไปได้คือความไว้วางใจของสังคมที่มีต่อสถาบันตุลาการ (พึงตระหนักว่ากำลังพิจารณาถึงตุลาการในสังคมประชาธิปไตย มิใช่ในระบอบการปกครองแบบอื่น ซึ่งความไว้วางใจของประชาชนอาจไม่ได้มีความสำคัญแต่อย่างใด)

ผู้พิพากษาของไทยในอดีตต่างตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวและได้พยายามสร้างบรรทัดฐานการปฏิบัติตัวของผู้พิพากษาเอาไว้ในประมวลจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2529 ด้วยเหตุผล ดังนี้

“ผู้พิพากษาที่ดีควรจะปฏิบัติหน้าที่ราชการยุติธรรมอย่างไร และควรจะครองตนในสังคมอย่างไร เป็นเรื่องของจริยธรรม ซึ่งบรรพตุลาการถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีไม่เพียงแต่อยู่ที่การให้ความเที่ยงธรรมแก่คู่ความเท่านั้น หากแต่อยู่ที่คู่ความและประชาชนเชื่อถือและศรัทธาในตัวผู้พิพากษาและสถาบันตุลาการเพียงใดด้วย”

ทั้งนี้ ได้มีการวางจริยธรรมของผู้พิพากษาในสองส่วนสำคัญ ในส่วนแรกจะเป็นจริยธรรมเกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี ข้อกำหนดในส่วนนี้จะเป็นการวางบรรทัดฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาและการตัดสินคดีโดยตรง เช่น การวางตนเป็นกลาง, การสำรวมตนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่, ผู้พิพากษาต้องพิจารณาคดีโดยไตร่ตรองอย่างสุขุมรอบคอบ และควบคุมการดำเนินการพิจารณาในศาลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีจริยธรรมที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางอรรถคดี เช่น การปฏิบัติหน้าที่ในทางธุรการ, การไม่เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งในบริษัทเอกชนหรือไม่ประกอบอาชีพที่กระทบกระเทือนต่อการทำหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ดังเช่นหากผู้พิพากษามีหุ้นในอาบอบนวดย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม [2]

ข้อกำหนดในลักษณะดังกล่าวย่อมสืบเนื่องมาจากความเข้าใจว่าศรัทธาและความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อสถาบันตุลาการย่อมไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการทำหน้าที่ในชั้นศาล หากรวมถึงการปฏิบัติและการดำรงตนที่แสดงออกต่อสาธารณะด้วย ซึ่งย่อมเป็นสิ่งไม่ห่างไกลไปจากความจริงแต่อย่างใด

ในส่วนนี้ก็มีการกำหนดจริยธรรมเกี่ยวกับการดำรงตนของผู้พิพากษาไว้ ในข้อ 35

“ผู้พิพากษาจักต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อยู่ในกรอบของศีลธรรมและพึงมีความสันโดษครองตนอย่างเรียบง่าย สุภาพ สำรวมกิริยามารยาท มีอัธยาศัย ยึดถือจริยธรรมและประเพณีอันดีงามของตุลาการ ทั้งพึงวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไป”

การปฏิบัติตนของผู้พิพากษาจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของการปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น หากยังต้องคำนึงถึงศีลธรรมประกอบด้วย ในประมวลฯ ก็ได้ให้ความหมายที่ชัดเจนมากขึ้นทั้งในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและกรอบของศีลธรรม ดังนี้

“(1) จักต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด: ในฐานะที่เป็นผู้รักษากฎหมายของบ้านเมือง ผู้พิพากษาไม่พึงหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัติตนเสมือนหนึ่งว่าอยู่เหนือกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายประเภทใดทั้งสิ้น เช่น เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายจราจร และหากมีกรณีที่จะต้องเสียค่าปรับเพราะฝ่าฝืนกฎจราจรก็ไม่ควรขอยกเว้นด้วยประการใดๆ

(2) อยู่ในกรอบของศีลธรรม: การที่จะวินิจฉัยว่าเรื่องใดอยู่ในกรอบของศีลธรรมหรือไม่นั้น ไม่น่าจะถือเอาหลักของศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นเกณฑ์วินิจฉัย หากแต่ต้องถือตามความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคนส่วนใหญ่ในแต่ละสมัยเป็นสำคัญ เรื่องใดก็ตามแม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ แต่เป็นเรื่องผิดศีลธรรมก็จักต้องไม่ปฏิบัติดุจกัน ทั้งจักต้องไม่หมกมุ่นมัวเมากับอบายมุขด้วย” [3]

ในมุมมองของอดีตตุลาการอย่างโสภณ รัตนากร เห็นว่าแนวทางปฏิบัติตนของข้าราชการตุลาการที่ได้เขียนเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและมีการประกาศใช้อย่างชัดเจน ถือเป็น “วรรณกรรมชิ้นหนึ่งซึ่งกระทรวงยุติธรรมหรือวงการศาลควรจะภาคภูมิใจ” [4]

แต่ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามต่อไปคือว่าบทบัญญัตินี้จะสามารถมีผลมากน้อยเพียงใด จะมีความสอดคล้องระหว่าง Law in books กับ Law in action หรือไม่ มีการสร้างกลไกให้สอดรับกับระบอบประชาธิปไตยเพื่อทำให้ประมวลจริยธรรมนี้กลายเป็นหลักการที่ได้รับการประพฤติตามมากหรือน้อยเพียงใด การตรวจสอบ การประเมินผล การลงโทษ โดยอาศัยประมวลจริยธรรมฯ ได้เกิดขึ้นหรือไม่

หรือประมวลนี้ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่เป็นตัวหนังสืออีกฉบับหนึ่งเท่านั้น แต่มีผลน้อยมากในโลกความเป็นจริง.

 

_________________________________

[1] โสภณ รัตนากร, “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย: ตุลาการ” ใน แสวง บุญเฉลิมวิภาส (บรรณาธิการ), รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2548) หน้า 159

[2] โสภณ รัตนากร, “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย: ตุลาการ” ใน แสวง บุญเฉลิมวิภาส (บรรณาธิการ), รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย, หน้า 164

[3] ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ, ใน แสวง บุญเฉลิมวิภาส (บรรณาธิการ), รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย, หน้า 351

[4] โสภณ รัตนากร, “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย: ตุลาการ” ใน แสวง บุญเฉลิมวิภาส (บรรณาธิการ), รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย, หน้า 166

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save